ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 440อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 441อ่านอรรถกถา 26 / 442อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต
๓. สีหาเถรีคาถา

               ๓. อรรถกถาสีหาเถรีคาถา               
               คาถาว่า อโยนิโสมนสิการา เป็นต้นเป็นคาถาของพระเถรีชื่อสีหา.
               แม้พระเถรีชื่อสีหาองค์นี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในพุทธุปปาทกาลนี้ เป็นธิดาของน้องสาวสีหเสนาบดี กรุงเวสาลี ญาติพี่น้องทั้งหลายตั้งชื่อให้ว่า สีหา เพราะตั้งตามชื่อลุงของเธอ.
               นางสีหานั้นรู้ความแล้ว วันหนึ่ง พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่สีหเสนาบดี เธอฟังธรรมนั้นได้ศรัทธา ขออนุญาตบิดามารดาบวช ครั้นบวชแล้วแม้เริ่มวิปัสสนาก็ไม่อาจทำจิตที่พล่านไปในอารมณ์อันกว้างใหญ่ภายนอกให้กลับได้ ถูกมิจฉาวิตกเบียดเบียนอยู่ ๗ ปี ไม่ได้ความชื่นจิตจึงคิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันลามกของเรานี้ เราจักผูกคอตายดังนี้ ถือบ่วงคล้องที่กิ่งไม้แล้วสวมบ่วงนั้นที่คอของตน น้อมจิตไปในวิปัสสนาด้วยอำนาจบุญกุศลที่ตนสั่งสมไว้ในก่อน ด้วยความเป็นผู้มีภพมีในที่สุด บ่วงที่ผูกได้อยู่ตรงที่คอ.
               พระเถรีนั้นเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายในขณะนั้นเอง เพราะญาณแก่กล้าแล้ว บ่วงที่ผูกคอไว้หลุดออกพร้อมกับเวลาที่บรรลุพระอรหัตนั่นแหละ.
               พระเถรีตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า
                         เมื่อก่อนข้าพเจ้าถูกกามราคะเบียดเบียน มีจิตฟุ้งซ่าน
               ทำจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ เพราะไม่มนสิการโดยอุบายที่
               แยบคาย
                         ข้าพเจ้าถูกกิเลสกลุ้มรุมเป็นไปตามความเข้าใจใน
               กามคุณว่าเป็นสุข ตกอยู่ในอำนาจของจิตอันสัมปยุตด้วยราคะ
               จึงไม่ได้ความสงบจิต
                         ข้าพเจ้าเป็นผู้ผอมเหลืองปราศจากผิวพรรณอยู่ ๗ ปี
               มีแต่ทุกข์ ไม่ได้ความสุขทั้งกลางวันกลางคืน เพราะเหตุนั้น
               ข้าพเจ้าจึงถือเชือกเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยคิดว่าจะผูกคอตายเสีย
               ในที่นี้ ดีกว่าที่จะกลับไปสู่ความเป็นคฤหัสถ์อีก ข้าพเจ้าทำบ่วง
               ให้มั่น ผูกที่กิ่งไม้แล้วสวมบ่วงที่คอ ทันใดนั้น จิตของข้าพเจ้า
               ก็หลุดพ้นจากกิเลส.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโยนิโสมนสิการา ได้แก่ เพราะไม่มนสิการโดยอุบาย คือเพราะถือคลาดเคลื่อนในสิ่งที่ไม่งามว่างาม.
               บทว่า กามราเคน อทฺทิตา ความว่า ถูกฉันทราคะในกามคุณทั้งหลายบีบคั้น.
               บทว่า อโหสึ อุทฺธตา ปุพฺเพ จิตฺเต อวสวตฺตินี ความว่า เมื่อก่อน เมื่อจิตของข้าพเจ้าไม่เป็นไปในอำนาจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตฟุ้งซ่าน คือมีจิตฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ คือมีจิตไม่ตั้งมั่น.
               บทว่า ปริยุฏฺฐิตา กิเลเสหิ สุขสญฺญานิวตฺตินี ความว่า อันกิเลสทั้งหลายมีกามราคะเป็นต้นที่ถึงความกลุ้มรุมครอบงำแล้ว มีปกติเป็นไปตามกามสัญญาที่เป็นไปในรูปเป็นต้นว่างาม
               บทว่า สมํ จิตฺตสฺส นาลภึ ราคจิตฺตวสานุคา ความว่า ไปตามอำนาจของจิตที่สัมปยุตด้วยกามราคะ จึงไม่ได้ความสงบแห่งจิต คือความสงบใจ คือความที่จิตมีอารมณ์เดียว แม้เล็กน้อย.
               บทว่า กิสาปณฺฑุวิวณฺณา จ ความว่า เป็นผู้ผอมคือมีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เหลืองขึ้นๆ เพราะความเป็นผู้กระสันอย่างนี้ เพราะเหตุนั้นแหละจึงเป็นผู้ปราศจากผิวพรรณ คือผู้มีผิวพรรณไปปราศแล้ว.
               บทว่า สตฺต วสฺสานิ แปลว่า ตลอด ๗ ปี.
               บทว่า จาริหํ แปลว่า ข้าพเจ้าเที่ยวไปแล้ว.
               บทว่า นาหํ ทิวา วา รตฺตึ วา สุขํ วินฺทึ สุทุกฺขิตา ความว่า ข้าพเจ้าถึงทุกข์ ด้วยกิเลสทุกข์ใน ๗ ปีอย่างนี้ ไม่ได้ความสุขของสมณะทั้งกลางวันทั้งกลางคืน.
               บทว่า ตโต ได้แก่ เพราะไม่ได้ความสุขของสมณะในเพราะความกลุ้มรุมของกิเลส.
               บทว่า รชฺชุํ คเหตฺวาน ปาวิสึ วนมนฺตรํ ความว่า ถือเชือกบ่วงเข้าไปยังราวป่า หากจะมีผู้ถามว่า เข้าไปทำไม (พึงตอบว่า).
               บทว่า วรํ เม อิธ อุพฺพนฺธํ ยญฺจ หีนํ ปุนาจเร ความว่า เพราะข้าพเจ้าไม่อาจบำเพ็ญสมณธรรม พึงกลับมาประพฤติ คือพึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ คือพึงดำรงเพศที่ทรามคือความเป็นคฤหัสถ์อีก ฉะนั้นข้าพเจ้าผูกคอตายเสียในราวป่านี้ ดีกว่าคือประเสริฐกว่าด้วยคุณตั้งร้อยตั้งพัน.
               บทว่า อถ จิตฺตํ วิมุจฺจิ เม ความว่า ข้าพเจ้าสวมบ่วงที่ผูกกับกิ่งไม้เข้าที่คอในกาลใด ในกาลนั้นคือในลำดับนั่นเอง จิตของข้าพเจ้าหลุดพ้น คือได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งปวงตามลำดับมรรค เพราะสืบต่อด้วยวุฏฐานคามินีวิปัสสนาและมรรค.

               จบอรรถกถาสีหาเถรีคาถาที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต ๓. สีหาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 440อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 441อ่านอรรถกถา 26 / 442อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9163&Z=9174
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=2145
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=2145
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :