ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 43อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 44อ่านอรรถกถา 26 / 45อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔
๖. วิหารวิมาน

               อรรถกถาวิหารวิมาน               
               วิหารวิมาน มีคาถาว่า อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน เป็นต้น.
               วิหารวิมานนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน กรุงสาวัตถี.
               สมัยนั้น มหาอุบาสิกาวิสาขาพร้อมด้วยเพื่อนหญิงและบริวารชน ต่างขะมักเขม้นอาบน้ำแต่งตัว เพื่อจะเที่ยวอุทยานในวันรื่นเริงวันหนึ่ง นางบริโภคโภชนะอย่างดี ประดับมหาลดาประสาธน์แวดล้อมไปด้วยเพื่อนหญิงประมาณ ๕๐๐ คน ออกจากเรือนด้วยอิสริยะอันยิ่งใหญ่ ด้วยการกำหนดการที่ยิ่งใหญ่ กำลังเดินตรงไปยังอุทยาน คิดว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยการเล่นที่เปล่าประโยชน์ เหมือนเด็กหญิงโง่ๆ เอาละ เราจักไปวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าและไหว้พระคุณเจ้าทั้งหลายที่น่าเจริญใจ และจักฟังธรรม. ถึงวิหารแล้วหยุดในที่สมควรแห่งหนึ่ง เปลื้องมหาลดาประสาธน์มอบไว้ในมือของหญิงรับใช้ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่วิสาขามหาอุบาสิกานั้น.
               นางฟังธรรมถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทำประทักษิณ และไหว้ภิกษุทั้งหลายที่น่าเจริญใจ ออกจากวิหารไปได้หน่อยหนึ่ง กล่าวกะหญิงรับใช้ว่า เอาละแม่สาวใช้ ฉันจักประดับเครื่องประดับ.
               หญิงรับใช้นั้นห่อเครื่องประดับวางไว้ในวิหารแล้วเที่ยวไปในที่นั้นๆ ลืมของไว้ เมื่อประสงค์จะกลับนึกขึ้นได้จึงพูดว่า ดิฉันลืมของไว้เจ้าค่ะ หยุดก่อนนายท่าน ดีฉันจักไปนำมา.
               นางวิสาขากล่าวว่า นี่เจ้า ถ้าเจ้าลืมเครื่องประดับนั้นไว้ในวิหาร ฉันจักบริจาคเครื่องประดับเพื่อสร้างวิหารนั้นนั่นแหละ นางไปวิหารเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วแจ้งความประสงค์ของตน กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักสร้างวิหาร ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดอนุเคราะห์รับไว้เถิด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับโดยดุษณีภาพ.
               นางวิสาขาสละเครื่องประดับนั้นซึ่งมีราคาถึงเก้าโกฏิเจ็ดพันเหรียญ สร้างปราสาทหลังใหญ่สมควรเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเป็นที่อยู่ของภิกษุสงฆ์ ประดับด้วยห้องหนึ่งพันห้อง คือชั้นล่างห้าร้อยห้อง ชั้นบนห้าร้อยห้อง เช่นเสมือนเทพวิมานมีภูมิพื้นดุจคลังแก้วมณี มีส่วนของเรือนเป็นต้นว่า ฝา เสา ขื่อ จันทัน ช่อฟ้า บานประตู หน้าต่างและบันไดที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระผู้ควบคุมการก่อสร้าง จัดไว้อย่างดี น่าจับใจ งานไม้ที่น่ารื่นรมย์ก็ตกแต่งสำเร็จเป็นอย่างดี งานปูนก็พิถีพิถันทำอย่างดีน่าปลื้มใจ วิจิตรไปด้วยจิตรกรรมมีมาลากรรม ลายดอกไม้ และลดากรรมลายเถาไม้เป็นต้นที่ประดับตกแต่งไว้อย่างงดงาม และสร้างปราสาทห้องรโหฐานหนึ่งพันปราสาทเป็นบริวารของปราสาทใหญ่นั้น และสร้างกุฎีมณฑป และที่จงกรมเป็นต้นเป็นบริวารของปราสาทเหล่านั้น ใช้เวลา ๙ เดือนจึงสร้างวิหารเสร็จ
               เมื่อวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว นางวิสาขาใช้เงินฉลองวิหารถึงเก้าโกฏิเหรียญ นางพร้อมด้วยหญิงสหายประมาณ ๕๐๐ คนขึ้นปราสาท ได้เห็นสมบัติของปราสาทนั้น ดีใจกล่าวกะพวกเพื่อนหญิงว่า เมื่อฉันสร้างปราสาทหลังนี้งามถึงเพียงนี้ ขอเธอทั้งหลายจงอนุโมทนาบุญที่ฉันขวนขวายนั้น ฉันขอให้ส่วนบุญแก่พวกเธอ.
               เพื่อนหญิงทั้งหมดมีใจเลื่อมใสต่างอนุโมทนาว่า อโห สาธุ อโห สาธุ ดีจริงๆ ดีจริงๆ.
               บรรดาเพื่อนหญิงเหล่านั้น เพื่อนอุบาสิกาคนหนึ่งได้ใส่ใจถึงการแผ่ส่วนบุญให้นั้นเป็นพิเศษ ต่อมาไม่นาน นางได้ตายไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ ด้วยบุญญานุภาพของนางได้ปรากฏวิมานหลังใหญ่ ยาวกว้างและสูงสิบหกโยชน์ ประดับประดาด้วยห้องรโหฐาน กำแพงอุทยานและสระโบกขรณีเป็นต้นมิใช่น้อย ล่องลอยอยู่ในอากาศ แผ่รัศมีของตนไปได้ร้อยโยชน์ อัปสรนั้นเมื่อจะเดินก็เดินไปพร้อมกับวิมาน.
               สำหรับมหาอุบาสิกาวิสาขา เพราะมีจาคะไพบูลย์และมีศรัทธาสมบูรณ์จึงบังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ได้ดำรงตำแหน่งอัครมเหสีของท้าวสุนิมมิตเทวราช.
               ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเที่ยวจาริกไปเทวโลก เห็นเพื่อนหญิงของนางวิสาขานั้นเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงถามด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               ดูก่อนเทพธิดา ท่านมีวรรณะงาม เปล่งรัศมีสว่างไปทุกทิศ เหมือนดาวประกายพรึก เมื่อท่านฟ้อนรำอยู่ เสียงอันเป็นทิพย์ น่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจ ก็เปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน กลิ่นทิพย์ที่หอมหวนยวนใจก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน เมื่อท่านเคลื่อนไหวกาย เครื่องประดับช้องผมก็เปล่งเสียงกังวานน่าฟังไพเราะ ดุจดนตรีเครื่อง ๕ มาลัยประดับศีรษะที่ช้องผมถูกลมพัดไหว ก็ส่งเสียงกังวานไพเราะดุจดนตรีเครื่อง ๕ แม้พวงมาลัยบนศีรษะของท่านก็มีกลิ่นหอมหวนยวนใจ หอมฟุ้งไปทุกทิศ ดุจต้นอุโลกฉะนั้น
               ดูก่อนเทพธิดา ท่านสูดดมกลิ่นที่หอมหวน เห็นรูปทิพย์ซึ่งมิใช่ของมนุษย์ ท่านถูกอาตมาถามแล้วโปรดบอกทีเถิด นี้เป็นผลของกรรมอะไร.
               แม้เทพธิดานั้นก็ได้พยากรณ์แก่พระอนุรุทธเถระอย่างนี้ว่า
               ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกาสหายของดีฉันอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดีฉันเห็นมหาวิหารและการบริจาคทรัพย์อุทิศสงฆ์ ซึ่งเป็นที่รักของดีฉัน เลื่อมใสในบุญนั้นจึงอนุโมทนา ดีฉันได้วิมานที่อัศจรรย์น่าทัศนา ด้วยอนุโมทนาอันบริสุทธิ์นั้นเอง วิมานลอยไปในเวหาเปล่งรัศมี ๑๒ โยชน์ โดยรอบด้วยฤทธิ์ของดีฉัน ห้องรโหฐานที่อยู่อาศัยของดีฉัน อันบุญกรรมจัดไว้เป็นพิมพ์เดียวกัน ประหนึ่งเนรมิตไว้เป็นส่วนๆ เมื่อส่องแสงก็ส่องสว่างไปร้อยโยชน์โดยรอบทิศ.
               อนึ่ง ที่วิมานของดีฉันนั้นมีสระโบกขรณีที่หมู่มัจฉาชาติอยู่อาศัยประจำ มีน้ำใสสะอาดปูลาดด้วยทรายทอง ดาดาษไปด้วยปทุมบัวหลวงหลากชนิดอันบุณฑริกบัวขาวรายล้อมไว้รอบ ยามลมรำเพยพัดก็โชยกลิ่นหอมระรื่น จรุงใจ มีรุกขชาตินานาชนิด คือ หว้า ขนุน ตาล มะพร้าวและวนะทั้งหลาย เกิดเองภายในนิเวศน์ มิได้มีใครปลูก. วิมานนี้กึกก้องไปด้วยนานาดนตรี เหล่าอัปสรเทพนารีก็ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว แม้นรชนที่ฝันเห็นแล้วก็จะพึงปลื้มใจ.
               วิมานมีรัศมีสว่างไสวไปทุกทิศ น่าอัศจรรย์จิต น่าทัศนาเช่นนี้ บังเกิดเพราะกุศลกรรมของดีฉัน (ฉะนั้น) จึงควรแท้ที่สาธุชนจะทำบุญกันไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาวตฺถิยํ มยฺหํ สขี ภทนฺเต สงฺฆสฺส กาเรสิ มหาวิหารํ ความว่า ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ มหาอุบาสิกาวิสาขา เพื่อนคือสหายของดีฉันผู้นี้แหละ ได้สร้างวิหารใหญ่นามว่าบุพพาราม ด้านทิศตะวันออกแห่งกรุงสาวัตถี ด้วยการบริจาคทรัพย์เก้าโกฏิเหรียญ อุทิศภิกษุสงฆ์ทั้งสี่ทิศที่พากันมา.
               บทว่า ตตฺถ ปสนฺนา อหมานุโมทึ ความว่า เมื่อสร้างวิหารนั้นสำเร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังมอบถวายแด่สงฆ์อยู่ และนางทำปัตติทานให้ส่วนบุญ ดีฉันเลื่อมใสว่า โอ! เขาบริจาคสมฐานะจริงๆ และเกิดปสาทะในพระรัตนตรัยและผลแห่งกรรม จึงได้อนุโมทนา.
               เพื่อแสดงว่าการอนุโมทนาของนางโอฬารยิ่งใหญ่ เพราะอำนาจวัตถุ เทพธิดาจึงกล่าวว่า ทิสฺวา อคารญฺจ ปิยญฺจ เมตํ ดังนี้ ประกอบความว่า ดีฉันเห็นอาคารนั้นคือปราสาทใหญ่มีห้องหนึ่งพันห้องน่ารื่นรมย์เหลือเกิน คล้ายเทพวิมาน และเห็นการบริจาคทรัพย์มากเช่นนั้น อุทิศภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งเป็นที่รักของดีฉัน จึงอนุโมทนา.
               บทว่า ตาเยว เม สุทฺธนุโมทนาย ความว่า ด้วยอนุโมทนาอันบริสุทธิ์ สิ้นเชิง เพราะไม่มีการบริจาคไทยธรรมดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า ลทฺธํ วิมานพฺภูตทสฺสเนยฺยํ ความว่า วิมานนี้ ชื่อว่าอัศจรรย์ เพราะไม่เคยมีวิมานเช่นนี้มาก่อน และชื่อว่าน่าทัศนา เพราะน่าเจริญใจรอบด้าน และเพราะน่ารักเหลือเกิน ดีฉันก็ได้แล้ว คือประสบแล้ว.
               ครั้นแสดงว่าวิมานนั้นสวยงามอย่างนี้แล้ว บัดนี้ถึงจะแสดงว่าวิมานนั้นใหญ่โดยขนาด ใหญ่โดยอำนาจ และใหญ่โดยเป็นของใช้ เทพธิดาจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า สมนฺตโต โสฬสโยชนานิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทฺธิยา มม ความว่า ด้วยบุญฤทธิ์ของดีฉัน.
               บทว่า โปกฺขรญฺโญ แปลว่า สระโบกขรณี.
               บทว่า ปุถุโลมนิเสวิตา แปลว่า มัจฉาทิพย์ทั้งหลายเข้าอยู่อาศัย.
               บทว่า นานาปทุมสญฺฉนฺนา ความว่า ปกคลุมด้วยปทุมแดงและบัวแดงหลากอย่างต่างโดยชนิดร้อยกลีบและพันกลีบเป็นต้น.
               บทว่า ปุณฺฑรีกสโมตตา ความว่า มีบัวขาวชนิดต่างๆ รายล้อมโดยรอบ. ประกอบความว่า รุกขชาตินานาชนิดที่มิได้มีใครปลูก โชยกลิ่นหอมตลบอบอวล.
               บทว่า โสปิ ได้แก่ ผู้นั้น คือคนแม้ที่ฝันเห็น.
               บทว่า วิตฺโต แปลว่า ยินดีแล้ว.
               บทว่า สพฺพโส ปภํ ความว่า ส่องสว่างอยู่โดยรอบ.
               บทว่า กมฺเม แปลว่า ในเพราะกรรม.
               บทว่า หิ เป็นเพียงนิบาต. อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า กมฺเมหิ เพราะอปราปรเจตนาที่เกิดขึ้นดีมาก.
               บทว่า อลํ แปลว่า ควร.
               บทว่า กาตเว แปลว่า เพื่อทำ.
               บัดนี้ พระอนุรุทธเถระประสงค์จะให้นางบอกสถานที่ที่นางวิสาขาบังเกิด จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
               ท่านได้วิมานที่อัศจรรย์น่าทัศนา ด้วยอนุโมทนาอันบริสุทธิ์นั้นเอง ขอท่านจงบอกคติของนางวิสาขาผู้ที่ได้ถวายทานนั้น นางวิสาขานั้นเกิดที่ไหน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยา เจว สา ทานมทาสิ นารี ความว่า ท่านได้เฉพาะสมบัติเช่นนี้ ด้วยอนุโมทนาทานใด พระเถระกล่าวทานนั้นหมายถึงมหาอุบาสิกาวิสาขาว่า ยา เจว สา นารี อทาสิ ดังนี้.
               พระอนุรุทธเถระประสงค์จะให้เทพธิดานั้นแหละบอกถึงสมบัติของนางวิสาขา จึงได้กล่าวว่า ตสฺสา คตึ พฺรูหิ กุหึ อุปฺปนฺนา สา ดังนี้.
               บทว่า ตสฺสา คตึ ได้แก่ การบังเกิดของนางวิสาขานั้นคือเทวคติ.
               บัดนี้ เมื่อเทพธิดาจะแสดงเนื้อความที่พระเถระนั้นถาม จึงได้กล่าวว่า
               ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ วิสาขามหาอุบาสิกานั้นเป็นสหายของดีฉัน ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ เธอรู้แจ้งธรรม ได้ถวายทานเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นปชาบดีของท้าวสุนิมมิตนั้น วิบากแห่งกรรมของนางวิสาขามหาอุบาสิกานั้น อันใครๆ ไม่ควรคิด ดีฉันได้พยากรณ์ที่เกิดของนางวิสาขาที่พระคุณเจ้าถามว่า นางวิสาขานั้นเกิดที่ไหน โดยถูกต้อง ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิญฺญาตธมฺมา ได้แก่ รู้แจ้งศาสนธรรม. อธิบายว่า เป็นผู้แทงตลอดธรรมคืออริยสัจ ๔.
               บทว่า สุนิมฺมิตสฺส ได้แก่ ของท้าวสุนิมมิตเทวราช.
               บทว่า อจินฺติโย กมฺมวิปาก ตสฺสา เป็นนิทเทสชี้แจงที่ลบวิภัตติ. ความว่า วิบากแห่งกรรมของเพื่อนหญิงของดีฉันผู้เกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้น เป็นวิบากแห่งบุญกรรม คือเป็นทิพยสมบัติอันใครๆ ไม่พึงคิด คือประมาณไม่ได้.
               บทว่า อนญฺญถา ได้แก่ ไม่ผิด คือตามเป็นจริง.
               ถามว่า ก็นางเทพธิดานี้รู้ถึงสมบัติของนางวิสาขาได้อย่างไร.
               ตอบว่า แม้วิสาขาเทพธิดาก็ไปหาเทพธิดาองค์นั้น เหมือนเทพธิดานางสุภัททาไปหานางภัททา.
               บัดนี้ เทพธิดาเมื่อจะแนะพระเถระให้ช่วยชักชวนคนอื่นๆ ถวายทาน จึงแสดงธรรมด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               ถ้าอย่างนั้น ขอพระคุณเจ้าโปรดชักชวน แม้คนอื่นๆ ว่า พวกท่านจงปลื้มใจถวายทานแด่สงฆ์เถิด และจงมีใจเลื่อมใสฟังธรรม ลาภคือการได้ความเป็นมนุษย์เป็นการได้แสนยาก พวกท่านก็ได้แล้ว พระพุทธเจ้ามีพระสุรเสียงดังพรหม มีพระฉวีวรรณดังทองคำ เป็นอธิบดีแห่งมรรคา ได้ทรงแสดงมรรคาไรเล่าไว้ ท่านทั้งหลายจงปลื้มใจถวายทานแด่สงฆ์ซึ่งเป็นเขตที่ทักษิณามีผลมาก บุคคลเหล่าใด ๘ จำพวก ๔ คู่ที่ท่านผู้รู้สรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นเป็นพระทักขิไณยบุคคลเป็นสาวกของพระสุคต ทานที่ถวายในบุคคลเหล่านี้มีผลมาก ท่านที่ปฏิบัติอริยมรรค ๔ และท่านที่ดำรงอยู่ในอริยผล ๔ นี้ คือสงฆ์ เป็นผู้ซื่อตรง มั่นคงอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญบูชา กระทำบุญอย่างยิ่ง ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก ด้วยว่า พระสงฆ์นี้เป็นเขตที่กว้างใหญ่ คำนวณนับมิได้เหมือนสาครมหาสมุทร นับจำนวนน้ำมิได้ ก็พระสงฆ์เหล่านี้เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียร เป็นผู้สร้างแสงสว่าง กล่าวสอนธรรม
               ชนเหล่าใดถวายทานอุทิศพระสงฆ์ ทานของชนเหล่านั้นเป็นอันถวายดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว บูชาดีแล้ว ทักษิณานั้นถึงสงฆ์ดำรงมั่น มีผลมาก พระผู้รู้โลกทรงสรรเสริญแล้ว
               ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก หวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้เกิดความรู้ พึงกำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งมูลราก ไม่ถูกเขาติเตียน ย่อมเข้าถึงสัคคสถานแดนสวรรค์ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตนหญฺเญปิ ตัดบทเป็น เตนหิ อญฺเญปิ และบทว่า เตน ได้แก่ ด้วยเหตุนั้น.
               บทว่า หิ เป็นเพียงนิบาต. เทพธิดากล่าวว่า สมาทเปถ แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า สงฺฆสฺส ทานาปิ ททาถ ดังนี้ เพื่อแสดงอาการชักชวน.
               เทพธิดากล่าวว่า สุทุลลโภ ลทฺโธ มนุสฺสลาโภ ดังนี้ หมายเอาความเป็นมนุษย์ซึ่งเว้นจากอขณะ ๘ อย่าง.
               ในข้อนั้น อขณะ ๘ ได้แก่ อบายส่วนอรูป ๓ อสัญญีสัตว์ ๑ ปัจจันตประเทศ ๑ อินทรีย์บกพร่อง ๑ ความเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๑ ความไม่ปรากฏพระพุทธเจ้า ๑.
               บทว่า ยํ มคฺคํ ได้แก่ ทานใด ที่กระทำในเขตอันพิเศษ ทำทานนั้นให้เป็นทางไปสู่สุคติ เพราะให้ถึงสุคติโดยส่วนเดียว ให้เป็นอธิบดีแห่งทาง เพราะเป็นทางประเสริฐเหลือเกิน กว่าทางอบาย และกว่าทางเดินเท้าเป็นต้น ความจริง แม้ทาน ท่านก็เรียกว่าทางไปเทวโลก เหมือนศรัทธาและหิริ.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ศรัทธา หิริและกุศลทาน ธรรมเหล่านี้ไปตามสัตบุรุษ สัตบุรุษกล่าวธรรมนี้แหละว่าเป็นทางทิพย์ เพราะสัตว์ย่อมไปเทวโลกด้วยทางทิพย์นี้.
               ปาฐะว่า มคฺคาธิปติ ดังนี้ก็มี. พึงเห็นเนื้อความของปาฐะนั้นว่า
               พระศาสดาทรงเป็นอธิบดีของโลกพร้อมทั้งเทวโลกด้วยอริยมรรค. เทพธิดาเมื่อจะประกอบชนไว้ในการจำแนกทานในทักขิไณยบุคคลอีก จึงกล่าวด้วยคำเป็นต้นว่า สงฺฆสฺส ทานานิ ททาถ ดังนี้.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงอริยสงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลนั้นโดยย่อ เทพธิดาจึงกล่าวคาถาว่า เย ปุคฺคลา อฏฺฐ สตํ ปสตฺถา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย เป็นนิทเทสชี้แจงโดยไม่แน่นอน.
               บทว่า ปุคฺคลา ได้แก่ สัตว์.
               บทว่า อฏฺฐ เป็นการกำหนดจำนวนพระอริยบุคคลเหล่านั้น ด้วยว่า พระอริยบุคคลเหล่านั้นมี ๘ คือผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ และผู้ตั้งอยู่ในผล ๔.
               บทว่า สตํ ปสตฺถา ความว่า อันสัตบุรุษทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวก และเทวดาและมนุษย์อื่นๆ สรรเสริญแล้ว
               เพราะเหตุไร?
               เพราะประกอบด้วยคุณมีศีลที่เป็นสหชาตเกิดพร้อมกันเป็นต้น.
               ความจริง คุณทั้งหลายมีศีลและสมาธิที่เกิดพร้อมกันเป็นต้นของพระอริยบุคคลเหล่านั้น เหมือนสีและกลิ่นที่เกิดพร้อมกันเป็นต้นของดอกไม้ทั้งหลายมีดอกจำปาและดอกพิกุลเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น คุณเหล่านั้นจึงเป็นคุณที่รักที่ชอบใจและเป็นที่สรรเสริญของสัตบุรุษทั้งหลาย เหมือนดอกไม้ที่สมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นเป็นต้น เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เย ปุคฺคลา อฏฺฐ สตํ ปสตฺถา ดังนี้.
               อนึ่ง พระอริยบุคคลเหล่านั้น โดยสังเขปมี ๔ คู่ คือ พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล รวมเป็น คู่ ๑ จนถึงพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล รวมเป็นคู่ ๑ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า จตฺตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนฺติ เต ทกฺขิเณยฺยา ดังนี้.
               บทว่า เต เป็นบทแสดงกำหนดแน่นอนถึงพระอริยบุคคลที่ยกขึ้นแสดงไว้ไม่แน่นอนทีแรก จริงอยู่ พระอริยบุคคลเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมควรทักษิณา กล่าวคือไทยธรรมที่บุคคลเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมพึงถวาย ดังนั้น จึงชื่อว่าทักขิเณยยะ ผู้ควรทักษิณา เพราะทำทานให้สำเร็จเป็นทานมีผลมาก เพราะประกอบด้วยคุณวิเศษ [คุณาติเรกสัมปทา].
               บทว่า สุคตสฺส สาวกา ความว่า ชื่อว่า สาวก เพราะฟังธรรมนั้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเกิดโดยอริยชาติ เมื่อฟังธรรมจบ.
               บทว่า เอเตสุ ทินฺนานิ มหปฺผลานิ ความว่า ทานทั้งหลายแม้น้อย ที่ถวายสาวกของพระสุคตเหล่านี้ ก็ชื่อว่ามีผลมาก เพราะทักษิณาบริสุทธิ์โดยปฏิคาหก เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่ก็ตาม คณะก็ตาม มีประมาณเพียงใด หมู่สาวกของตถาคต เรากล่าวว่าเป็นยอดของหมู่คณะเหล่านั้น ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า จตฺตาโร ปฏิปนฺนา เป็นต้น มีเนื้อความดังกล่าวมาแล้วในหนหลัง.
               บทที่เหลือก็มีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกันแล.

               จบอรรถกถาวิหารวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔ ๖. วิหารวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 43อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 44อ่านอรรถกถา 26 / 45อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=1507&Z=1579
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=4483
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=4483
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :