ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 434อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 435อ่านอรรถกถา 26 / 436อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ติกนิบาต
๖. สุกกาเถรีคาถา

               ๖. อรรถกถาสุกกาเถรีคาถา               
               คาถาว่า กึ เม กตา ราชคเห เป็นต้นเป็นคาถาของพระเถรีชื่อสุกกา.
               แม้พระเถรีชื่อสุกกาองค์นี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เกิดในเรือนตระกูลในพระนครพันธุมดี รู้ความแล้วไปวิหารกับอุบาสิกาทั้งหลาย ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้ศรัทธาบวชแล้วได้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปฏิภาณ เธอประพฤติพรหมจรรย์ในที่นั้นหลายพันปี ตายอย่างปุถุชนนั่นเอง บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต.
               เธอรักษาศีลในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ พระองค์อย่างนี้ คือกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี แม้แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี แม้แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเวสสภู ก็เหมือนกัน ได้เป็นพหูสูต ทรงธรรม เธอบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ โกนาคมนะและกัสสปะ ได้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เป็นธรรมกถึกเหมือนกัน.
               เธอสั่งสมบุญเป็นอันมากในภพนั้นๆ ด้วยประการฉะนี้ ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายเท่านั้น ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล กรุงราชคฤห์ ได้นามว่าสุกกา เธอรู้ความแล้วได้ศรัทธาเป็นอุบาสิกาในคราวพระศาสดาเสด็จเข้าพระราชนิเวศน์ ต่อมาได้ฟังธรรมในสำนักของพระธัมมทินนาเถรี เกิดความสังเวช บวชในสำนักของพระธัมมทินนาเถรีนั้นเอง เจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า
               ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๗๕ สุกกาเถรีอปทาน.
               ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพระนามว่าวิปัสสี มีพระเนตรงาม ทรงเห็นแจ้งซึ่งธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลหนึ่งในพระนครพันธุมดีได้ฟังธรรมของพระมุนีแล้วบวชเป็นภิกษุณี เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปฏิภาณ กล่าวธรรมกถาไพเราะ ปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา. ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแสดงธรรมกถาเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนทุกเมื่อ. ข้าพเจ้าเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพธิดามียศ.
               ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารพระนามว่าสิขี มีรัศมีดังไฟ งามสง่าอยู่ในโลกด้วยยศ ประเสริฐกว่าเหล่าบัณฑิต เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชแล้ว เป็นผู้ฉลาดในพระพุทธศาสนา ยังพระพุทธพจน์ให้กระจ่าง แล้วเคลื่อนจากอัตภาพแม้นั้นไปสวรรค์ชั้นไตรทิพย์.
               ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพระนามว่าเวสสภู ผู้มีธรรมดังว่ายานใหญ่ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนอย่างก่อนนั้นแล บวชแล้วเป็นผู้ทรงธรรม ยังพระพุทธศาสนาให้กระจ่างแล้ว ไปเมืองสวรรค์ที่น่ารื่นรมย์ ได้เสวยความสุขมาก.
               ในภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารผู้อุดมพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นสรณะของนรชน เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนอย่างก่อนนั้นแล บวชแล้วยังพระพุทธศาสนาให้กระจ่างจนตลอดชีวิต เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทศเหมือนอย่างไปที่อยู่ของตน.
               ในภัทรกัปนี้แล พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพระนามว่าโกนาคมนะ ผู้ประเสริฐกว่าเหล่าบัณฑิต สูงสุดกว่าสรรพสัตว์เสด็จ อุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็บวชในศาสนาของพระองค์ผู้คงที่ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ยังพระพุทธศาสนาให้กระจ่าง.
               ในภัทรกัปนี้เหมือนกัน พระมุนีผู้สูงสุดพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นสรณะแห่งสัตว์โลก ไม่มีข้าศึก ถึงที่สุดแห่งมรณะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นปราชญ์ของนรชนแม้พระองค์นั้น ศึกษาพระสัทธรรมแล้วชำนาญในปริปุจฉา.
               ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพเจ้ามีศีลงาม มีความละอาย ฉลาดในไตรสิกขา แสดงธรรมกถามากจนตลอดชีวิต ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น และด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ ข้าพเจ้าละร่างกายมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               ในภพหลังครั้งนี้ ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่ง สั่งสมรัตนะไว้มาก ในกรุงราชคฤห์อันอุดม เมื่อพระผู้เป็นนายกของโลกอันภิกษุขีณาสพพันหนึ่งเป็นบริวารสรรเสริญแล้ว เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกอินทรีย์แล้วพ้นขาดจากสรรพกิเลส มีพระฉวีเปล่งปลั่งดังแท่งทองสิงคี พร้อมด้วยพระขีณาสพซึ่งเคยเป็นชฏิลผู้ฝึกอินทรีย์แล้ว พ้นขาดจากสรรพกิเลส เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์.
               ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธานุภาพนั้น และได้ฟังพระธรรมเป็นที่สั่งสมคุณแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า บูชาพระองค์ผู้มีพลธรรมมาก กาลต่อมา ข้าพเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นภิกษุณีในสำนักของพระธัมมทินนาเถรี ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายในเมื่อกำลังปลงผมอยู่ บวชแล้วไม่นาน ศึกษาศาสนธรรมได้ทั่ว. แต่นั้นได้แสดงธรรมในสมาคมมหาชน เมื่อข้าพเจ้าแสดงธรรมอยู่ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่ประชุมชนหลายพัน.
               มียักษ์ตนหนึ่งได้ทราบธรรมนั้นแล้วเกิดอัศจรรย์ใจเลื่อมใสข้าพเจ้า ไปยังกรุงราชคฤห์. พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไรกัน มัวดื่มน้ำผึ้งดีดนิ้วมืออยู่ ไม่เข้าไปหาพระสุกกาเถรีผู้แสดงอมตบทกันเลย เหมือนชนเหล่าอื่นผู้มีปัญญาย่อมดื่มอมตบทนั้น ซึ่งเป็นธรรมไม่นำกลับหลัง เป็นธรรมทำผู้ฟังให้ชุ่มชื่น มีโอชะ เหมือนคนเดินทางไกลดื่มน้ำฝนฉะนั้น.
               ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ มีความชำนาญในทิพโสตธาตุ มีความชำนาญในเจโตปริยญาณ รู้ปุพเพนิวาสญาณและทิพยจักษุอันหมดจดวิเศษมีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี.
               ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์มีญาณในอรรถะ ธรรมะ นิรุตติและปฏิภาณ เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์.
               ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ถอนภพทั้งหลายได้หมดแล้วตัดเครื่องผูกพันเหมือนช้างพังตัดเชือก เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของข้าพเจ้า เป็นการมาดีแล้วหนอ. ข้าพเจ้าบรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๗๕ สุกกาเถรีอปทาน

               ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้วได้เป็นมหาธรรมกถึก มีภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ องค์เป็นบริวาร. วันหนึ่ง พระเถรีนั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ฉันเสร็จแล้วเข้าไปยังสำนักภิกษุณี แสดงธรรมแก่บริษัทใหญ่ที่นั่งประชุมกันอยู่ เหมือนคั้นรวงผึ้งให้คนดื่มรสน้ำผึ้ง เหมือนรดด้วยน้ำอมฤต บริษัทเงี่ยโสตฟังธรรมกถาของพระเถรีนั้นมีใจไม่ฟุ้งซ่าน ฟังอยู่โดยเคารพ.
               ขณะนั้น เทวดาผู้สิงอยู่บนต้นไม้ท้ายที่จงกรมของพระเถรี เลื่อมใสในธรรมเทศนาจึงเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ เที่ยวประกาศคุณของพระเถรีนั้นจากถนนนี้ไปตามถนนนั้น จากสี่แยกนี้ไปสี่แยกนั้น ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาเหล่านี้ว่า
                         พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไรกัน
               มัวดื่มน้ำผึ้งดีดนิ้วมืออยู่ ไม่เข้าไปหาพระสุกกาเถรี
               ผู้แสดงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันเลย เหมือนชน
               เหล่าอื่นผู้มีปัญญา ย่อมดื่มคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
               นั้น ซึ่งเป็นธรรมไม่นำกลับหลัง เป็นธรรมทำผู้ฟังให้
               ชุ่มชื่น มีโอชะ เหมือนคนเดินทางไกลดื่มน้ำฝนฉะนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิ เม กตา ราชคเห มนุสฺสา ความว่า
               พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไร คือขวนขวายในกิจชื่ออะไร.
               บทว่า มธุํ ปีตา ว อจฺฉเร ความว่า คนทั้งหลายถือรวงผึ้ง ดื่มน้ำผึ้งอยู่ เป็นผู้ปราศจากสัญญา ไม่อาจยกศีรษะขึ้นได้ฉันใด แม้พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้ก็ฉันนั้น เหมือนเป็นผู้ปราศจากสัญญาในธรรมสัญญา ย่อมไม่อาจยกศีรษะขึ้นได้ อธิบายว่า มัวดีดนิ้วมืออยู่อย่างเดียวเท่านั้น.
               บทว่า เย สุกฺกํ น อุปาสนฺติ เทเสนฺตึ พุทฺธสาสนํ ความว่า ไม่เข้าไปหา คือไม่เข้าไปนั่งใกล้พระเถรีสุกกา ผู้แสดงคือประกาศคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยแน่นอน. ประกอบความว่า พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้นั้น มัวทำอะไรกัน.
               บทว่า ตญฺจ อปฺปฏิวานียํ ความว่า ซึ่งธรรมนั้นอันเป็นธรรมไม่นำกลับ เป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นธรรมทำความชุ่มชื่น ชื่อว่าเป็นธรรมทำผู้ฟังให้ชุ่มชื่น เพราะเป็นธรรมไพเราะหรือเป็นธรรมจับใจโดยการฟังของชนผู้ฟัง ไม่เติมของปรุงรสอาหาร มีรสมากตามปกตินั่นแหละ เพราะเหตุนั้นเองจึงชื่อว่ามีโอชะ.
               บาลีว่า โอสธํ ก็มี ความว่า เป็นยาสำหรับเยียวยาพยาธิคือวัฏทุกข์ทั้งหลาย.
               บทว่า ปิวนฺติ มญฺเญ สปฺปญฺญา วลาหกมิวทฺธคู ความว่า ผู้มีปัญญา คือคนผู้เป็นบัณฑิต เหมือนย่อมดื่มคือย่อมฟัง ราวกะว่าดื่มอยู่ซึ่งธรรมนั้น เหมือนคนเดินทางในที่กันดารเพราะขาดน้ำ ดื่มน้ำที่ไหลจากระหว่างเมฆฉะนั้น.
               มนุษย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้วมีใจเลื่อมใส เข้าไปยังสำนักของพระเถรี ฟังธรรมโดยเคารพ.
               กาลต่อมา ในกาลเป็นที่ปรินิพพาน ซึ่งเป็นกาลสิ้นสุดอายุของพระเถรี พระเถรีพยากรณ์พระอรหัตผล เพื่อประกาศว่าศาสนธรรมเป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ ได้กล่าวคาถานี้ว่า
                         พระสุกกาเถรีมีธรรมบริสุทธิ์ ปราศจากราคะ
                         มีจิตตั้งมั่น ชนะมาร พร้อมทั้งพาหนะ ทรง
                         ไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด.

               พระสุกกาเถรีแสดงตนนั่นแหละเป็นเหมือนผู้อื่น ด้วยบทว่า สุกฺกา ในคาถานั้น.
               บทว่า สุกฺเกหิ ธมฺเมหิ ได้แก่ มีธรรมบริสุทธิ์ดี คือโลกุตรธรรม.
               บทว่า วีตราคา สมาหิตา ความว่า มีราคะไปปราศแล้วโดยประการทั้งปวงด้วยอรหัตมรรค มีจิตตั้งมั่นด้วยอรหัตผลสมาธิ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาสุกกาเถรีคาถาที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ติกนิบาต ๖. สุกกาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 434อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 435อ่านอรรถกถา 26 / 436อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9091&Z=9099
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=1539
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=1539
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :