ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 426อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 427อ่านอรรถกถา 26 / 428อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ทุกนิบาต
๘. อภยมาตาเถรีคาถา

               ๘. อรรถกถาอภยมาตุเถรีคาถา๑-               
๑- พระสูตรเป็น อภยมาตาเถรีคาถา.

               คาถาว่า อุทฺธํ ปาทตลา เป็นต้นคาถาของพระเถรีผู้เป็นมารดาของพระอภัยเถระ.
               แม้พระเถรีผู้เป็นมารดาของพระอภัยเถระองค์นี้ ก็สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าติสสะ เกิดในเรือนตระกูล รู้ความแล้ววันหนึ่งเห็นพระศาสดาเสด็จเที่ยวบิณฑบาต มีใจเลื่อมใส รับบาตรแล้วถวายภิกษาประมาณทัพพีหนึ่ง ด้วยบุญกรรมนั้น นางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก.
               ในพุทธุปปาทกาลนี้ ได้เป็นหญิงนครโสเภณีชื่อว่าปทุมวดี ในกรุงอุชเชนี ด้วยวิบากแห่งกรรมเช่นนั้น.
               พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับคุณมีรูปสมบัติเป็นต้นของเธอ จึงตรัสบอกแก่ปุโรหิตว่า ได้ข่าวว่าในกรุงอุชเชนีมีหญิงงามเมืองชื่อปทุมวดี ฉันใคร่จะเห็นเธอ. ปุโรหิตกราบทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า. นำยักษ์ชื่อกุมภีร์มาด้วยกำลังมนต์ แล้วใช้อานุภาพยักษ์นำพระราชาไปยังนครอุชเชนี ในขณะนั้นทีเดียว. พระราชาทรงสำเร็จการอยู่ร่วมกับหญิงแพศยานั้นหนึ่งราตรี นางมีครรภ์ด้วยพระราชา และได้กราบทูลพระราชาว่า หม่อมฉันตั้งครรภ์แล้ว.
               พระราชาทรงสดับดังนั้นตรัสว่า ถ้าเป็นบุตรชาย เธอจงเลี้ยงให้ดีแล้วแสดงกะเรา ได้ประทานพระธำมรงค์จารึกพระนามแล้วเสด็จไป.
               ล่วงไปสิบเดือน นางคลอดบุตรได้ตั้งชื่อว่าอภัย ในวันเป็นที่ตั้งชื่อ. และในเวลาที่บุตรมีอายุ ๗ ขวบ นางได้ส่งบุตรไปเฝ้าพระราชา ด้วยบอกว่า พระเจ้าพิมพิสารมหาราชเป็นพระบิดาของเจ้า. พระเจ้าพิมพิสารทรงเห็นพระโอรสนั้นแล้วได้ความรักในบุตร ทรงให้เจริญด้วยเครื่องบริหารกุมาร. เรื่องพระกุมารนั้นได้ศรัทธาบวชและบรรลุคุณวิเศษ มีมาแล้วในหนหลังทั้งนั้น.
               มารดาของกุมารนั้น กาลต่อมาได้ฟังธรรมในสำนักของพระอภัยเถระผู้เป็นบุตร ได้ศรัทธาบวชในหมู่ภิกษุณี เจริญวิปัสสนาไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๔๗ กฏัจฉุภิกขาทายิกาเถรีอปทาน.
               ข้าพเจ้าได้ประคองภิกษาทัพพีหนึ่งถวายแด่พระศาสดาพระนามว่าติสสะ ผู้เป็นพระพุทธเจ้าประเสริฐสุด กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตอยู่ พระศาสดาพระนามติสสะ ผู้เป็นพระสัมพุทธะเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลกทรงรับแล้ว ประทับยืนอยู่กลางถนน ได้ทรงอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าว่า เธอถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง จักไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จักได้เป็นมเหสีของเทวราช ๓๖ องค์ จักได้เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐ องค์ เธอจักได้ทุกอย่างที่ใจปรารถนา ในกาลทุกเมื่อ เธอเสวยสมบัติแล้วไม่มีกังวล จักบวช เธอกำหนดรู้อาสวะทั้งหมดแล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะนิพพาน
               พระสัมพุทธเจ้าพระนามติสสะเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก เป็นนักปราชญ์ตรัสดังนี้แล้ว ทรงเหาะขึ้นสู่นภากาศ เหมือนพญาหงส์บินร่อนอยู่ในอัมพรฉะนั้น ทานข้าพเจ้าถวายดีแล้วทีเดียว ยัญสมบัติข้าพเจ้าบูชาดีแล้ว ข้าพเจ้าถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง ถึงบทอันไม่หวั่นไหวแล้ว.
               ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้าทำกรรมใดไว้ในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติ นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษา ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๔๗ กฏัจฉุภิกขาทายิกาเถรีอปทาน

               ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พระอภัยเถระบุตรของตนเมื่อกล่าวธรรมได้ภาษิตคาถาใดๆ เป็นโอวาท เธอได้กล่าวอ้างคาถานั้นๆ แหละแม้เองเป็นอุทานว่า
                         ข้าแต่แม่ ท่านจงพิจารณากายนี้ ซึ่งไม่สะอาด มีกลิ่น
               เหม็นเน่า เบื้องบนลงมาจนจดพื้นเท้า เบื้องล่างขึ้นไปจนจด
               ปลายผม. เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ถอนราคะทั้งปวงได้ ตัด
               ความเร่าร้อนได้ เราเป็นผู้มีความเย็น ดับสนิทแล้ว.

               บรรดาสองคาถานั้น คาถาแรกมีเนื้อความย่อเท่านี้ว่า
               ข้าแต่แม่ปทุมวดี ท่านจงพิจารณาสรีระนี้ ชื่อว่ากายเพราะเป็นที่รวมของสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย ชื่อว่าไม่สะอาดเพราะเต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ชื่อว่ามีกลิ่นเหม็นเน่า เพราะกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งทุกเวลา แต่พื้นเท้าขึ้นไปเบื้องบนแต่ปลายผมลงมาเบื้องต่ำ ด้วยญาณจักษุ.
               ก็คาถานี้เป็นคาถาที่บุตรกล่าวให้โอวาทแก่พระเถรีนั้น.
               พระเถรีฟังคาถานั้นแล้วบรรลุพระอรหัต เปล่งอุทานกล่าวคาถาที่หนึ่งนั้นแหละ เป็นการบูชาอาจารย์.
               เมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติของตน จึงกล่าวคาถาที่สองว่า เอวํ วิหรมานาย เป็นต้น :-
               ในคาถาที่สองนั้น บทว่า เอวํ วิหรมานาย ความว่า เมื่อเราตั้งอยู่ในโอวาทที่พระอภัยเถระผู้เป็นบุตรให้แล้วโดยนัยว่า อุทฺธํ ปาทตลา เป็นต้น เห็นกายทุกส่วนว่าไม่งาม มีจิตแน่วแน่กำหนดรูปธรรมชนิดมหาภูตรูปและอุปาทายรูปในกายนั้น และอรูปธรรมมีเวทนาเป็นต้นที่เนื่องด้วยรูปธรรมนั้น ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์พิจารณาด้วยอนิจจานุปัสสนาญาณเป็นต้นในกายนั้น.
               บทว่า สพฺโพ ราโค สมูหโต ความว่า ราคะทั้งหมดเราถอนคือขุดขึ้นแล้วด้วยอรหัตมรรค ตามลำดับมรรคที่สืบต่อด้วยมรรค ด้วยวุฏฐานคามินีวิปัสสนา.
               บทว่า ปริฬาโห สมุจฺฉินฺโน ความว่า ต่อจากนั้นแหละ ความเร่าร้อนคือกิเลสทั้งหมด เราตัดได้โดยชอบทีเดียว และเพราะตัดความเร่าร้อนคือกิเลสนั้นได้นั่นเอง เราจึงเป็นผู้มีความเย็น ดับสนิทด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

               จบอรรถกถาอภยมาตุเถรีคาถาที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ทุกนิบาต ๘. อภยมาตาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 426อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 427อ่านอรรถกถา 26 / 428อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9024&Z=9029
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=1035
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=1035
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :