ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 419อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 420อ่านอรรถกถา 26 / 421อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ทุกนิบาต
๑. นันทาเถรีคาถา

               อรรถกถาทุกนิบาต               
               ๑. อรรถกถาอภิรูปนันทาเถรีคาถา               
               ในทุกนิบาต มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               คาถาว่า อาตุรํ อสุจึ ปูตึ เป็นต้นเป็นคาถาสำหรับนางสิกขมานาชื่ออภิรูปนันทา.
               เล่ากันว่า นางสิกขมานาชื่ออภิรูปนันทานี้เป็นธิดาของคฤหบดีมหาศาล ในพันธุมตีนคร ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ตั้งอยู่ในสรณะและศีลห้า เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้บูชาพระธาตุเจดีย์ด้วยฉัตรทองที่ประดับด้วยรัตนะแล้ว ตายไปบังเกิดในสวรรค์ ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสุคติภูมินั่นเอง.
               ในพุทธุปปาทกาลนี้ บังเกิดในครรภ์พระอัครมเหสีของเจ้าศากยเขมกะ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เธอมีชื่อว่านันทา. พระนางนันทานั้นมีรูปงามน่าทัศนาน่าเลื่อมใส จึงได้รู้กันทั่วไปว่า ชื่อว่าอภิรูปนันทา เพราะอัตภาพร่างกายถึงความงามเลิศของรูปอย่างเหลือเกิน. เมื่อเธอเจริญวัย ศากยกุมารผู้เป็นคนรักอย่างยิ่งได้สิ้นพระชนม์เสียในวันหมั้นนั่นเอง. คราวนั้น พระชนกชนนีจึงให้บวช เธอผู้ไม่ต้องการบวช.
               ภิกษุณีอภิรูปนันทานั้นแม้บวชแล้วก็ยังมีความเมาเพราะอาศัยรูป ไม่ไปปฏิบัติบำรุงพระพุทธเจ้าด้วยเข้าใจว่า พระศาสดาทรงตำหนิติเตียนรูป ทรงแสดงโทษโดยอเนกปริยาย.
               พระศาสดาทรงทราบว่าเธอมีญาณแก่กล้าแล้ว ทรงสั่งพระมหาปชาบดีว่า ภิกษุณีทั้งหมดจงมารับโอวาทตามลำดับเมื่อถึงวาระของตน เธอส่งภิกษุณีรูปอื่นไป. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เมื่อถึงวาระ ภิกษุณีพึงไปด้วยตนเอง ไม่พึงส่งรูปอื่นไป. เธอไม่อาจละเมิดคำสั่งของพระศาสดาได้ จึงได้ไปปฏิบัติบำรุงพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุณีทั้งหลาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเนรมิตรูปหญิงงามคนหนึ่งด้วยฤทธิ์ แล้วทรงแสดงรูปแก่หง่อมให้เธอเกิดความสังเวช ได้ภาษิต ๒ พระคาถานี้ว่า
                                   ดูก่อนนันทา เธอจงเห็นร่างกายอันกระดูก ๓๐๐
                         ท่อนยกขึ้นแล้ว อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เปื่อยเน่า
                         จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นมีอารมณ์เดียวด้วยอสุภภาวนา อนึ่ง
                         เธอจงอบรมจิตให้หานิมิตมิได้ ละเสียซึ่งอนุสัยคือมานะ
                         เพราะการละมานะได้นั้น เธอจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป.

               เนื้อความของคาถาเหล่านั้น มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               ในเวลาจบคาถา ภิกษุณีอภิรูปนันทาบรรลุพระอรหัต.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ในพระนครอรุณวดี มีกษัตริย์พระนามว่าอรุณราช หม่อมฉันเป็นมเหสีของท้าวเธอ ประพฤติร่วมกัน ในกาลนั้น หม่อมฉันอยู่ในที่ลับนั่งคิดอย่างนี้ว่า บุญกุศลที่พอจะถือเอาไปได้ เราไม่ได้ทำไว้เลย เราจะต้องตกนรกที่มีความเร่าร้อนมาก ทั้งเผ็ดร้อนร้ายแรงแสนทารุณเป็นแน่ เราไม่สงสัยในเรื่องนี้
               ครั้นคิดอย่างนี้แล้วหม่อมฉันทำใจให้ร่าเริงเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ หม่อมฉันเป็นหญิงย่อมติดตามชายทุกเมื่อ ขอพระองค์โปรดประทานสมณะองค์หนึ่งแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันจักให้ท่านฉัน พระเจ้าข้า.
               พระราชาผู้ใหญ่ได้ประทานสมณะผู้อบรมอินทรีย์แล้วแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันดีใจรับบาตรของท่าน เอาภัตตาหารอย่างประณีตใส่จนเต็ม ครั้นแล้วได้ถวายผ้าคู่หนึ่งซึ่งมีราคาเป็นพันให้ท่านครอง.
               ด้วยกุศลกรรมที่ทำไว้นั้นและด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ หม่อมฉันละร่างกายมนุษย์ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นมเหสีของเทวราชหนึ่งพันองค์ ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิหนึ่งพันองค์ และได้เป็นมเหสีของพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยจะคณานับมิได้ ได้บุญมีอย่างต่างๆ เป็นอันมาก ซึ่งเกิดแต่ผลกรรมที่ถวายบิณฑบาตนั้น หม่อมฉันมีผิวพรรณเหมือนดอกบัว เป็นหญิงงามน่าทัศนา สมบูรณ์ด้วยอวัยวะทั้งปวง เป็นอภิชาติทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง.
               เมื่อเกิดครั้งสุดท้าย หม่อมฉันได้เกิดในศากยตระกูล เป็นราชธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นประมุขของนารีพันหนึ่ง เบื่อหน่ายต่อการครองเรือนจึงออกบวชเป็นภิกษุณี ครั้นถึงราตรีที่ ๗ ก็ได้บรรลุอริยสัจ ๔ หม่อมฉันไม่อาจจะประมาณจีวร บิณฑบาต ปัจจัยและเสนาสนะ (ที่ทายกทายิกาถวาย) นี้เป็นผลแห่งบิณฑบาต.
               ข้าแต่พระมุนี กุศลกรรมก่อนๆ ของหม่อมฉันอันใดที่พระองค์ทรงทราบ ข้าแต่พระมหาวีระ กุศลกรรมนั้นเป็นอันมาก หม่อมฉันได้สั่งสมเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ หม่อมฉันได้ถวายทานใดในกาลนั้น ไม่รู้จักทุคติ นี้เป็นผลแห่งทานนั้นคือบิณฑบาตทาน.
               หม่อมฉันรู้จักคติ ๒ คือเทวดาและมนุษย์ ไม่รู้จักคติอื่น นี้เป็นผลแห่งบิณฑบาต. หม่อมฉันรู้จักตระกูลสูงซึ่งเป็นตระกูลมหาศาลมีทรัพย์มาก ไม่รู้จักตระกูลอื่น นี้เป็นผลแห่งบิณฑบาต. หม่อมฉันท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่ อันกุศลมูลตักเตือนแล้วไม่เห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ นี้เป็นผลแห่งโสมนัส.
               ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์และในทิพโสตธาตุ เป็นผู้มีความชำนาญในเจโตปริยญาณ รู้ปุพเพนิวาสญาณและทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ มีอาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว. บัดนี้ภพใหม่มิได้มี.
               ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันมีญาณในอรรถ ในธรรม ในนิรุตติและปฏิภาณ เกิดขึ้นในสำนักของพระองค์ หม่อมฉันเผากิเลสแล้ว ฯลฯ หม่อมฉันปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๗๓ อุปลทายิกาเถริยาปทาน และ ข้อ ๑๗๖ อภิรูปนันทาเถริยาปทาน

               จบอรรถกถาอภิรูปนันทาเถรีคาถาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ทุกนิบาต ๑. นันทาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 419อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 420อ่านอรรถกถา 26 / 421อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8976&Z=8986
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=658
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=658
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :