ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 408อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 409อ่านอรรถกถา 26 / 410อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต
๘. มิตตาเถรีคาถา

               ๕-๑๐. อรรถกถาติสสาทิเถรีคาถาเป็นต้น               
               คาถาว่า ติสฺเส ยุญฺชสฺสุ ธมฺเมหิ เป็นต้นเป็นคาถาของพระเถรีชื่อติสสา.
               เรื่องของพระเถรีนั้นเหมือนกับเรื่องของนางสิกขมานาชื่อติสสา แต่องค์นี้เป็นพระเถรีบรรลุพระอรหัต ก็พระเถรีนี้ฉันใด เรื่องของพระเถรี ๕ องค์ คือ พระเถรีธีรา พระเถรีวีรา พระเถรีมิตตา พระเถรีภัทรา พระเถรีอุปสมา ต่อจากนี้ก็ฉันนั้น คือเป็นเช่นเดียวกันนั่นเอง
               พระเถรีเหล่านี้แม้ทั้งหมดเป็นชาวกบิลพัสดุ์ เป็นสนมของพระโพธิสัตว์ออกบวชพร้อมกับพระมหาปชาบดีโคตมี บรรลุพระอรหัตด้วยคาถาเกิดจากโอภาส เว้นองค์ที่ ๗ ส่วนองค์ที่ ๗ นั้นเว้นคาถาเกิดจากโอภาส อาศัยโอวาทที่ได้ในสำนักพระศาสดาไว้ก่อน ขวนขวายเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ได้กล่าวคาถาเป็นอุทานว่า ธีรา ธีเรหิ เป็นต้น
               พระเถรีแม้องค์อื่นๆ บรรลุพระอรหัตแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         ดูก่อนติสสา เธอจงประกอบด้วยธรรมทั้งหลาย
               ขณะอย่าได้ก้าวล่วงเธอไปเสีย เพราะผู้ที่มีขณะก้าวล่วง
               แล้ว ย่อมยัดเยียดกันอยู่ในนรกโศกเศร้าอยู่.
                         ดูก่อนธีรา เธอจงถูกต้องนิโรธอันเป็นที่สงบระงับ
               สัญญา เป็นสุข เธอจงทำพระนิพพานอันเกษมจากโยคะ
               ยอดเยี่ยมให้สำเร็จเถิด
                         วีราภิกษุณีผู้มีอินทรีย์ อบรมด้วยวีรธรรมทั้งหลาย
               ชนะมารพร้อมด้วยพาหนะ ทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด.
                         ดูก่อนมิตตา เธอบวชแล้วด้วยศรัทธา จงยินดีใน
               กัลยาณมิตร จงเจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมอันเกษม
               จากโยคะ.
                         ดูก่อนภัทรา เธอบวชแล้วด้วยศรัทธา จงยินดีใน
               ธรรมอันเจริญ จงเจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมอันเกษม
               จากโยคะที่ยอดเยี่ยม.
                         ดูก่อนอุปสมา เธอจงข้ามโอฆะอันเป็นบ่วงมารที่
               ข้ามได้แสนยาก เธอจงชนะมารพร้อมด้วยพาหนะ ทรง
               ไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุญฺชสฺสุ ธมฺเมหิ ความว่า จงประกอบ คือจงทำการประกอบ ด้วยธรรมคือสมถะและวิปัสสนาทั้งหลาย และด้วยโพธิปักขิยธรรมทั้งหลายอันประเสริฐ.
               บทว่า ขโณ ตํ มา อุปจฺจคา ความว่า ขณะทั้งหมดนี้คือ ขณะเกิดในปฏิรูปเทส ขณะมีอายตนะ ๖ ไม่บกพร่อง ขณะเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ขณะได้ศรัทธา ชื่อว่าย่อมก้าวล่วงบุคคลผู้ที่ไม่ทำการเจริญโยคะอย่างนี้นั้น ขณะนั้นอย่าได้ก้าวล่วงเธอไปเสีย.
               บทว่า ขณาตีตา ความว่า เพราะบุคคลเหล่าใดล่วงเลยขณะ และขณะนั้นล่วงเลยบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นย่อมยัดเยียดกันอยู่ในนรก โศกเศร้าอยู่ คือบังเกิดในนรกนั้น เสวยทุกข์ใหญ่.
               บทว่า นิโรธํ ผุเสหิ ความว่า จงถูกต้อง คือจงได้ความดับกิเลส.
               บทว่า สญฺญาวูปสมํ สุขํ อาราธยาหิ นิพฺพานํ ความว่า จงทำพระนิพพานที่มีความสงบระงับบาปสัญญา มีกามสัญญาเป็นต้นเป็นนิมิต เป็นสุขอย่างยิ่ง ให้สำเร็จ.
               บทว่า วีรา วีเรหิ ธมฺเมหิ ความว่า วีราภิกษุณีผู้อบรมอินทรีย์ คือมีอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นอันตนให้เจริญแล้ว ด้วยวีรธรรมทั้งหลาย คือด้วยธรรมคืออริยมรรคอันสมบูรณ์ด้วยเดช ด้วยความเป็นผู้มีปธานคือความเพียร ชนะกิเลสมารพร้อมด้วยพาหนะกับด้วยวัตถุกามทั้งหลาย ทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด เพราะไม่เกิดอีกต่อไป พระเถรีแสดงตนทำเป็นเหมือนคนอื่น ด้วยประการฉะนี้.
               เรียกพระเถรีนั้นด้วยบทว่า มิตฺเต
               บทว่า มิตฺตรตา ความว่า จงยินดียิ่งในกัลยาณมิตรทั้งหลาย คือจงกระทำสักการะและสัมมานะในกัลยาณมิตรเหล่านั้น.
               บทว่า ภาเวหิ กุสเล ธมฺเม ความว่า จงเจริญธรรมคืออริยมรรค.
               บทว่า โยคกฺเขมสฺส ได้แก่ เพื่อถึง คือบรรลุ ซึ่งพระอรหัตด้วย ซึ่งพระนิพพานด้วย.
               เรียกพระเถรีนั้นด้วยบทว่า ภเทฺร.
               บทว่า ภทฺรรตา ความว่า เป็นผู้ยินดีแล้ว ยินดียิ่งแล้วในธรรมมีศีลเป็นต้นอันเจริญ.
               บทว่า โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ ได้แก่ พระนิพพานอันเกษมจากโยคะ ๔ ไม่มีอันตรายยอดเยี่ยม. ความว่า จงเจริญโพธิปักขิยธรรมอันเป็นกุศล เพื่อบรรลุพระนิพพานนั้น
               เรียกพระเถรีนั้นด้วยบทว่า อุปสเม.
               บทว่า ตเร โอฆํ มจฺจุเธยฺยํ สุทุตฺตรํ ความว่า ชื่อว่ามัจจุเธยยะ บ่วงมาร เพราะเป็นที่ยึดถือของมัจจุ. ชื่อว่าสุทุตตระ ข้ามได้แสนยาก เพราะผู้ที่มิได้สร้างสมกุศลสมภารไว้จะข้ามได้ยากเหลือเกิน. พึงข้าม คือพึงใช้นาวาคืออริยมรรคข้ามโอฆะใหญ่คือสังสารวัฏ.
               บทว่า ธาเรหิ อนฺติมํ เทหํ ความว่า จงเป็นผู้ทรงกายอันมีในภพสุดท้าย ด้วยความที่กายนั้นยังแข็งแรงอยู่นั่นแล.

               จบอรรถกถาติสสาทิเถรีคาถาที่ ๕-๑๐               
               -----------------------------------------------------               
               อรรถกถาที่มีมาก่อนหน้านี้ :-
               อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต                ๔. ดิสสาเถรี http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=405                อรรถกถาที่มีถัดจากนี้ :-
               อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต                ๑๑. มุตตาเถรีคาถา http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=412

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต ๘. มิตตาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 408อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 409อ่านอรรถกถา 26 / 410อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8920&Z=8924
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :