ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 399อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 400อ่านอรรถกถา 26 / 401อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต
๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

               อรรถกถาเถรคาถา สัฏฐินิบาต๑-               
               อรรถกถามหาโมคคัลลานเถรคาถาที่ ๑               
๑- บาลีเป็น สัฏฐิกนิบาต.

               ในสัฏฐิกนิบาต คาถาของท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ มีคำเริ่มต้นว่า อารญฺญิกา ปิณฺปาติกา ดังนี้.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               เรื่องท่านพระมหาโมคคัลลานเถระนั้น ท่านได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องแห่งพระธรรมเสนาบดีนั่นแล.
               จริงอยู่ ในวันที่ ๗ แต่วันที่บวชแล้ว พระเถระเข้าไปอาศัยกัลลวาลคาม ในมคธรัฐ กระทำสมณธรรม เมื่อถีนมิทธะครอบงำ ถูกพระศาสดาทรงให้สลดด้วยคำมีอาทิว่า โมคคัลลานะ โมคคัลลานะ พราหมณ์ ท่านอย่าประมาทความเป็นผู้นิ่งอันประเสริฐ ดังนี้แล้ว บรรเทาถีนมิทธะ ฟังธาตุกรรมฐานที่พระศาสดาตรัสนั่นแล เจริญวิปัสสนา เข้าถึงมรรคเบื้องบน ๓ ตามลำดับ บรรลุสาวกบารมีญาณในขณะพระอรหัตผล.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๒-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก เป็นนระผู้องอาจ อันเทวดาและภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับอยู่ ณ ประเทศหิมวันต์. เวลานั้น เราเป็นนาคราชมีนามชื่อว่าวรุณ แปลงรูปอันน่าใคร่ได้ต่างๆ อาศัยอยู่ในทะเลใหญ่ เราละหมู่นาคซึ่งเป็นบริวารทั้งสิ้น มาตั้งวงดนตรีในกาลนั้น หมู่นาคแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประโคมอยู่ เมื่อดนตรีของมนุษย์และนาคประโคมอยู่ ดนตรีของเทวดาก็ประโคม พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียง ๒ ฝ่ายแล้ว ทรงตื่นบรรทม เรานิมนต์พระสัมพุทธเจ้า ทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปยังภพของเรา เราปูลาดอาสนะแล้วกราบทูลเวลาเสวยพระกระยาหาร
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นายกของโลก อันพระขีณาสพพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ทรงยังทิศทุกทิศให้สว่างไสว เสด็จมายังภพของเราเวลานั้น เรายังพระมหาวีรเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทวดา เป็นนระผู้องอาจ ซึ่งเสด็จเข้ามา (พร้อม) กับภิกษุสงฆ์ ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
               พระมหาวีรเจ้าผู้เป็นสยัมภูอัครบุคคลทรงอนุโมทนาแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
               ผู้ใดได้บูชาสงฆ์และได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้นายกของโลก ด้วยจิตอันเลื่อมใส ผู้นั้นจักไปสู่เทวโลก จักเสวยเทวรัชสมบัติสิ้น ๓๓ ครั้ง จักเสวยราชสมบัติแผ่นดินครอบครองพสุธา ๑๐๘ ครั้ง และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๕ ครั้ง โภคสมบัติอันนับไม่ถ้วนจักบังเกิดแก่ผู้นั้นขณะนั้น.
               ในกัปนับไม่ถ้วนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคตมะ โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ผู้นั้นเคลื่อนจากนรกแล้ว จักถึงความเป็นมนุษย์ จักเป็นบุตรพราหมณ์มีนามชื่อว่าโกลิตะ ภายหลังอันกุศลมูลตักเตือนแล้ว เขาจักออกบวช จักได้เป็นพระสาวกองค์ที่สองของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม จักปรารภความเพียรมอบกายถวายชีวิต ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะจักปรินิพพาน.
               เพราะอาศัยมิตรผู้ลามก ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ มีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว ฆ่ามารดาและแม้บิดาได้ เราได้เข้าถึงภูมิใดๆ จะเป็นนิรยภูมิ หรือมนุสสภูมิก็ตาม อันพรั่งพร้อมด้วยกรรมอันลามก เราก็ต้องศีรษะแตกตายในภูมินั้นๆ นี้เป็นกรรมครั้งสุดท้ายของเรา ภพที่สุดย่อมเป็นไป แม้ในภพนี้กรรมเช่นนี้จักมีแก่เราในเวลาใกล้จะตาย
               เราหมั่นประกอบในวิเวก ยินดีในสมาธิภาวนา กำหนดรู้อาสวะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ แม้แผ่นดินอันลึกซึ้งหนาอันอะไรขจัดได้ยาก เราผู้ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์พึงให้ไหวได้ด้วยนิ้วแม่มือซ้าย เราไม่เห็นอัสมิมานะ มานะของเราไม่มี(เราไม่มีมานะ) เรากระทำความยำเกรงอย่างหนัก แม้ที่สุดในสามเณร.
               ในกัปอันประมาณมิได้แต่กัปนี้ เราสั่งสมกรรมใดไว้ เราบรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้น เป็นผู้บรรลุถึงธรรมเครื่องสิ้นอาสวะแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.
____________________________
๒- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๔

               ครั้นในกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่แห่งพระอริยะ ในเชตวันมหาวิหาร เมื่อจะทรงตั้งสาวกทั้งหลายของพระองค์ในเอตทัคคะด้วยคุณนั้นๆ จึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคะด้วยความเป็นผู้มีฤทธิ์ว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีฤทธิ์ โมคคัลลานะเป็นเลิศ เพราะเหตุนั้น พระมหาเถระผู้ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณที่พระศาสดาทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะอย่างนี้ อาศัยนิมิตนั้นๆ จึงได้กล่าวคาถาในที่นั้นๆ ซึ่งพระธรรมสังคากาจารย์ทั้งหลาย ได้ยกขึ้นสู่สังคายนารวมกันในสังคีติกาล โดยลำดับนี้ว่า
                         ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาต
               เป็นวัตร ยินดีเฉพาะอาหารที่มีอยู่ในบาตรอันเนื่องแต่การ
               แสวงหา มีจิตใจมั่นคงด้วยดีในภายใน พึงทำลายเสนาแห่ง
               พระยามัจจุราชเสียได้
                         ภิกษุผู้ถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาต
               เป็นวัตร ยินดีเฉพาะอาหารที่มีอยู่ในบาตรอันเนื่องแต่การ
               เสาะแสวงหา พึงกำจัดเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้
               เหมือนกุญชรทำลายเรือนไม้อ้อฉะนั้น.
                         ภิกษุผู้ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร มีความพากเพียร
               เป็นนิตย์ ยินดีเฉพาะอาหารในบาตรอันเนื่องแต่การแสวงหา
               มีจิตใจมั่นคงด้วยดี พึงทำลายเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้
                         ภิกษุทั้งหลายผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร มีความพาก
               เพียรเป็นนิตย์ ยินดีเฉพาะอาหารในบาตรอันเนื่องแต่การ
               แสวงหา พึงกำจัดเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้ เหมือนช้าง
               กุญชรทำลายเรือนไม้อ้อฉะนั้น.
                         เราติเตียนกระท่อม คือสรีระร่างอันสำเร็จด้วยโครง
               กระดูกอันฉาบทาด้วยเนื้อ ร้อยรัดด้วยเส้นเอ็น เต็มไปด้วย
               ของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด ที่คนทั่วๆ ไปเข้าใจ
               ว่า เป็นของผู้อื่นและเป็นของตน ในร่างกายของเธอเช่นกับ
               ถุงอันเต็มไปด้วยคูถ มีหนังห่อหุ้มปกปิดไว้ เหมือนนางปิศาจ
               มีฝีที่อก มีช่องเก้าช่องเป็นที่ไหลออกเนืองนิตย์ ภิกษุควรละ
               เว้นสรีระของเธออันมีช่องเก้าช่อง เต็มไปด้วยกลิ่นเหม็น ดัง
               ชายหนุ่มผู้ชอบสะอาด หลีกเลี่ยงมูตรคูถไปจนห่างไกลฉะนั้น.
                         หากว่า คนพึงรู้จักสรีระของเธอเช่นเดียวกับฉันรู้จัก
               ก็จะพากันหลบหลีกเธอไปเสียห่างไกล เหมือนบุคคลผู้ชอบ
               สะอาดเห็นหลุมคูถในฤดูฝนแล้ว หลีกเลี่ยงไปเสียห่างไกล
               ฉะนั้น.
                         ข้าแต่สมณะผู้มีความเพียรมาก ท่านพูดอย่างไรก็
               เป็นจริงอย่างนั้น แต่คนบางจำพวกยังจมอยู่ในร่างกายอัน
               นี้เหมือนกับโคเฒ่าที่จมอยู่ในตมฉะนั้น.
                         ผู้ใดประสงค์ย้อมอากาศด้วยขมิ้น หรือด้วยน้ำย้อม
               อย่างอื่น การกระทำของผู้นั้นก็ลำบากเปล่าๆ จิตของเรานี้
               ก็เสมอกับอากาศ เป็นจิตตั้งมั่นด้วยดีในภายใน เพราะ
               ฉะนั้น เธออย่ามาหวังความรักที่มีอยู่ในดวงจิต อันลามก
               ของเธอจากฉันเลย เหมือนตัวแมลงถลาเข้าสู่กองไฟย่อม
               ถึงความพินาศฉะนั้น เธอจงดูร่างกายอันกระดูก ๓๐๐ ท่อน
               ยกขึ้นตั้งไว้ มีแผลทั่วๆ ไป อันบุญกรรมกระทำให้วิจิตร
               กระสับกระส่าย พวกคนพาลพากันดำริโดยมาก ไม่มีความ
               ยั่งยืนมั่นคงอยู่เลยนี้เถิด.
                         เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระ ผู้เพียบพร้อมไปด้วยอุฏ-
               ฐานะเป็นอันมาก มีศีลสังวรเป็นต้น นิพพานไปแล้ว ก็เกิด
               เหตุน่าสะพึงกลัวขนพองสยองเกล้า
                         สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความ
               เสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความที่สังขารเหล่า
               นั้นสงบระงับเป็นสุข
                         ชนเหล่าใดพิจารณาเห็นเบญจขันธ์โดยความเป็นของ
               แปรปรวน และโดยไม่ใช่ตัวตน ชนเหล่านั้นชื่อว่าแทงตลอด
               ธรรมอันละเอียด เหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วย
               ลูกศรฉะนั้น
                         อนึ่ง ชนผู้มีความเพียรเหล่าใด พิจารณาเห็นสังขาร
               ทั้งหลายโดยความเป็นของแปรปรวนและโดยไม่ใช่ตัวตน
               ชนผู้มีความเพียรเหล่านั้นชื่อว่าแทงตลอดธรรมอันละเอียด
               เหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วยลูกศรฉะนั้น.
                         ภิกษุผู้มีสติ ควรรีบละเว้นความพอใจรักใคร่ใน
               กามารมณ์เสีย เหมือนบุคคลรีบถอนหอกออกจากตน และ
               เหมือนบุคคลรีบดับไฟซึ่งไหม้อยู่บนศีรษะตนฉะนั้น ภิกษุ
               ผู้มีสติ ควรรีบละเว้นความกำหนัดในภพเสีย เหมือนบุคคล
               รีบถอนหอกออกจากกายตน และเหมือนบุคคลที่รีบดับไฟ
               ซึ่งไหม้อยู่บนศีรษะตนฉะนั้น
                         เราเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งได้ทรงอบรม
               พระองค์มาแล้ว ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสรีระอันมีในที่สุดทรงตัก
               เตือนแล้ว จึงทำปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้หวั่น
               ไหว ด้วยปลายนิ้วเท้า
                         บุคคลปรารภความเพียรอันย่อหย่อน แล้วพึงบรรลุ
               นิพพาน อันเป็นเหตุปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง
               ด้วยกำลังความเพียรอันน้อยก็หาไม่ แต่พึงบรรลุได้ด้วย
               ความเพียรชอบ ๔ ประการ
                         ก็ภิกษุหนุ่มนี้นับว่าเป็นบุรุษผู้สูงสุด ชนะมารพร้อม
               ทั้งพาหนะแล้ว ทรงร่างกายอันมีในที่สุด
                         สายฟ้าทั้งหลายฟาดลงไปตามช่องภูเขาเวภารบรรพต
               และภูเขาบัณฑวบรรพต ส่วนอาตมาเป็นบุตรของพระพุทธ
               เจ้า ผู้ไม่มีใครเปรียบ ผู้คงที่ ได้เข้าไปสู่ช่องภูเขาเจริญฌาน
               อยู่ อาตมาเป็นผู้สงบระงับ ยินดีแต่ในธรรมอันเป็นเครื่อง
               เข้าไปสงบระงับ อยู่แต่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นมุนี เป็น
               ทายาทของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นผู้อันท้าวมหาพรหม
               พร้อมทั้งเทวดากราบไหว้
                         ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงไหว้พระกัสสปะผู้สงบระงับ
               ผู้ยินดีแต่ธรรมอันสงบ อยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นมุนี เป็น
               ทายาทแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
                         อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ทั้งปวง ผู้ใดเป็นกษัตริย์หรือเป็น
               พราหมณ์สืบวงศ์ตระกูลมาเป็นลำดับๆ ตั้ง ๑๐๐ ชาติ ถึง
               พร้อมด้วยไตรเพท. ถึงแม้จะเป็นผู้เล่าเรียนมนต์ เป็นผู้ถึง
               ฝั่งแห่งเวท ๓ การกราบไหว้ผู้นั้นแม้บ่อยๆ ย่อมไม่ถึงเสี้ยว
               ที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออก ๑๖ ครั้งของบุญที่ไหว้พระกัสสปะนี้
               เพียงครั้งเดียวเลย
                         ภิกษุใดเวลาเช้าเข้าวิโมกข์ ๘ โดยอนุโลมและปฏิโลม
               ออกจากสมาบัตินั้น แล้วเที่ยวไปบิณฑบาต ดูก่อนพราหมณ์
               ท่านอย่ารุกรานภิกษุเช่นนั้นเลย อย่าได้ทำลายตนเสียเลย
               ท่านจงยังใจให้เลื่อมใสในพระอรหันต์ผู้คงที่เถิด จงรีบ
               ประนมอัญชลีไหว้เถิด ศีรษะของท่านอย่าแตกไปเสียเลย
                         พระโปฐิละไม่เห็นพระสัทธรรม เพราะเป็นผู้ถูก
               อวิชชาหุ้มห่อไว้แล้ว เดินไปสู่ทางผิดซึ่งเป็นทางคดไม่ควร
               เดิน พระโปฐิละหมกมุ่นอยู่ในสังขาร ติดอยู่ในลาภและ
               สักการะ ดังตัวหนอนที่ติดอยู่ในคูถ จึงเป็นผู้ไม่มีแก่นสาร
                         อนึ่ง เชิญท่านมาดูท่านพระสารีบุตรผู้เพียบพร้อม
               ไปด้วยคุณที่น่าดูน่าชม ผู้พ้นแล้วจากกิเลสด้วยสมาธิและ
               ปัญญา มีจิตตั้งมั่นในภายใน เป็นผู้ปราศจากลูกศร สิ้น
               สังโยชน์ บรรลุวิชชา ๓ ละมัจจุราชเสียได้ เป็นพระทักขิ
               เณยยบุคคลผู้เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของมนุษย์ทั้งหลาย
                         เทวดาเป็นอันมากที่มีฤทธิ์เดชเรืองยศศักดิ์นับ
               จำนวนหมื่น พร้อมด้วยพรหมชั้นพรหมปุโรหิต ได้พากัน
               มาประนมอัญชลีนมัสการพระโมคคัลลานเถระ โดยกล่าวว่า
               ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษผู้อาชาไนย ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้า
               แต่ท่านผู้เป็นบุรุษอุดม ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้าแต่ท่านผู้
               นิรทุกข์ พระคุณเจ้ามีอาสวะทั้งหลายสิ้นไป เป็นทักขิเณยย
               บุคคล พระโมคคัลลานเถระเป็นผู้อันมนุษย์และเทวดาบูชา
               แล้ว เป็นผู้เกิดโดยอริยชาติ ครอบงำความตายได้แล้ว ไม่
               ติดอยู่ในสังขาร เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่ในน้ำฉะนั้น
                         พระโมคคัลลานเถระรู้แจ้งโลกได้ตั้งพันเพียงครู่เดียว
               เสมอด้วยท้าวมหาพรหม เป็นผู้ชำนาญในคุณคือ อิทธิฤทธิ์
               ในจุติและอุปบัติของสัตว์ ย่อมเห็นเทวดาทั้งหลายในกาลอัน
               สมควร
                         ภิกษุใดทรงคุณธรรมชั้นสูงด้วยปัญญา ศีลและอุปสมะ
               ภิกษุนั้นคือพระสารีบุตรเป็นผู้สูงสุดอย่างยิ่ง แต่เราเป็นผู้
               ฉลาดในวิธีแสดงฤทธิ์ต่างๆ เป็นผู้ถึงความชำนาญในฤทธิ์
               พึงเนรมิตอัตภาพชั่วขณะเดียวได้ตั้งแสนโกฏิ เราชื่อว่าโมค
               คัลลานะโดยโคตร เป็นผู้ชำนาญในสมาธิและวิชชา ถึงที่
               สุดแห่งบารมี เป็นปราชญ์ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้อัน
               ตัณหาไม่อาศัย มีอินทรีย์มั่นคง ได้ตัดเครื่องจองจำคือกิเลส
               ทั้งสิ้นเสียอย่างเด็ดขาด เหมือนกับกุญชรชาติตัดปลอกที่ทำ
               ด้วยเถาหัวด้วนให้ขาดกระเด็นไปฉะนั้น
                         เราคุ้นเคยกับพระศาสดา ฯลฯ ถอนตัณหาเครื่องนำ
               ไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว เราบรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวช
               เป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้ง
               ปวงแล้ว
                         มารผู้มักประทุษร้าย เบียดเบียนพระสาวกนามว่า
               วิธูระ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนามว่ากกุสันธะ แล้ว
               หมกไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นไร คือเป็นนรก
               ที่มีขอเหล็กตั้งร้อยและเป็นที่ทำให้เกิดทุกขเวทนาเฉพาะ
               ตนทุกแห่ง
                         มารผู้มักประทุษร้าย เบียดเบียนพระสาวกนามว่า
               วิธูระ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากกุสันธะ
               หมกไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นนี้
                         ภิกษุใดเป็นสาวกแห่งพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผล
               กรรมโดยประจักษ์ ดูก่อนมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียน
               ภิกษุนั้นเข้าก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
                         วิมานทั้งหลายลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ตั้งอยู่
               ตลอดกัป มีสีเหมือนแก้วไพฑูรย์ เป็นวิมานงดงามมีรัศมี
               พุ่งออกเหมือนเปลวไฟผุดผ่อง มีหมู่นางอัปสรผู้มีผิวพรรณ
               แตกต่างกันเป็นอันมากฟ้อนรำ
                         ภิกษุใดเป็นสาวกแห่งพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผล
               กรรมโดยประจักษ์ ดูก่อนมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียน
               ภิกษุรูปนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
                         ภิกษุรูปใดที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
               เป็นอันมากก็เห็นอยู่ ได้ทำปราสาทของนางวิสาขามิคาร
               มารดาให้หวั่นไหวได้ด้วยปลายนิ้วเท้า
                         ภิกษุใดเป็นสาวกแห่งพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผล
               แห่งกรรมโดยประจักษ์ ดูก่อนมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียด
               เบียนภิกษุรูปนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
                         ภิกษุใดมีอิทธิพลอันกล้าแข็ง ทำเวชยันตปราสาท
               ให้หวั่นไหวได้ด้วยปลายนิ้วเท้า และยังเทพเจ้าทั้งหลาย
               ให้สลดใจ
                         ภิกษุใดเป็นสาวกแห่งพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผล
               กรรมโดยประจักษ์ ดูก่อนมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียน
               ภิกษุรูปนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
                         ภิกษุใดไต่ถามท้าวสักกเทวราชที่เวชยันตปราสาท
               ว่า มหาบพิตรทรงทราบวิมุตติอันเป็นที่สิ้นตัณหาบ้างหรือ
               ขอถวายพระพร ท้าวสักกเทวราชถูกถามปัญหาแล้ว ทรง
               พยากรณ์ตามแนวเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่
               ภิกษุนั้น
                         ภิกษุใดเป็นสาวกแห่งพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผล
               กรรมโดยประจักษ์ ดูก่อนมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียน
               ภิกษุนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
                         ภิกษุใดสอบถามท้าวมหาพรหมว่า ดูก่อนอาวุโส
               แม้วันนี้ ท่านยังมีความเห็นผิดอยู่เหมือนเมื่อก่อนว่า
               สุธรรมสภานี้มีอยู่บนพรหมโลกเท่านั้น ที่ดาวดึงสพิภพ
               ไม่มีหรือ หรือว่าท่านยังมีความเห็นผิดอยู่เหมือนก่อน
               คือท่านยังเห็นอยู่ว่าบนพรหมโลกมีแสงสว่างพวยพุ่งออก
               ได้เองหรือ
                         ครั้นท้าวมหาพรหมถูกถามปัญหาแล้ว ได้พยากรณ์
               ตามความเป็นจริงแก่ภิกษุนั้นว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์
               ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นผิดเหมือนเมื่อก่อน คือไม่ได้เห็นว่า บน
               พรหมโลกมีรัศมีพวยพุ่งออกไปได้เอง ทุกวันนี้ ข้าพเจ้าละ
               ทิ้งคำพูดที่ว่ามานั้นเสียได้ กลับมีความเห็นว่าไม่เที่ยง
                         ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผล
               กรรมโดยประจักษ์ ดูก่อนมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียน
               ภิกษุนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
                         ภิกษุใดแสดงยอดขุนเขาสิเนรุราช ชมพูทวีปและ
               ปุพพวิเทหทวีป ให้หมู่มนุษย์ชาวอมรโคยานทวีปและชาว
               อุตตรกุรุทวีปเห็นกันด้วยวิโมกข์
                         ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า รู้กรรมและผล
               กรรมโดยประจักษ์ ดูก่อนมารผู้มีธรรมดำ ท่านเบียดเบียน
               ภิกษุรูปนั้นเข้า ก็จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
                         ไฟไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะไหม้คนพาลเลย แต่คนพาล
               รีบเข้าไปหาไฟอันลุกโพลงให้ไหม้ตนเองฉันใด ดูก่อนมาร
               ท่านประทุษร้ายพระตถาคตนั้นแล้ว ก็จักเผาตนเอง เหมือน
               กับคนพาลถูกไฟไหม้ฉันนั้น
                         แน่ะมารผู้ชาติชั่ว ตัวท่านเป็นมาร คอยแต่ประทุษ
               ร้ายพระตถาคตพระองค์นั้น ก็ต้องพบแต่สิ่งซึ่งไม่ใช่บุญ
               หรือท่านเข้าใจว่า บาปไม่ให้ผลแก่เรา แน่ะมารผู้มุ่งแต่
               ความตาย เพราะท่านได้ทำบาปมาโดยส่วนเดียว จะต้อง
               เข้าถึงทุกข์ตลอดกาลนาน ท่านจงอย่าคิดร้ายต่อพระพุทธ
               เจ้า และภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของพระพุทธเจ้าอีกต่อไปเลย
                         พระมหาโมคคัลลานเถระได้คุกคามมารที่ป่าเภสก
               ฬาวันดังนี้แล้ว ลำดับนั้น มารนั้นเสียใจจึงได้หายไป ณ
               ที่นั้นเอง.
               ได้ยินว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิตคาถาดังพรรณนามาฉะนี้แล.
               โดยลำดับนี้ ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้ยกขึ้นรวบรวมไว้เป็นหมวดเดียวกันฉะนี้แล.
               บรรดาคาถาเหล่านั้น ๔ คาถามีอาทิว่า อารญฺญิกา ดังนี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจการให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า อารญฺญิกา ความว่า ชื่อว่าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เพราะการห้ามเสนาสนะใกล้บ้านแล้วสมาทานอารัญญิกธุดงค์. ชื่อว่าผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะห้ามสังฆภัตแล้วสมาทานบิณฑปาติกธุดงค์ คือยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตที่ตนได้ในลำดับเรือน.
               บทว่า อุญฺฉาปตฺตาคเต รตา ความว่า ยินดีเฉพาะบิณฑบาตที่มาถึงในบาตร คือที่นับเนื่องในบาตร ด้วยการเที่ยวแสวงหา ได้แก่ยินดี คือสันโดษด้วยบิณฑบาตนั้นนั่นเอง.
               บทว่า ทาเรมุ มจฺจุโน เสนํ ความว่า เราจะถอนพาหนะคือกิเลสอันเป็นเสนาของมัจจุราชจากการนำตนเข้าเป็นสหายในกิเลสอันยังความฉิบหายให้เกิด.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ สุสมาหิตา ความว่า เป็นผู้ตั้งใจมั่นดีในอารมณ์อันเป็นภายใน.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวถึงอุบายเครื่องทำลายของมัจจุราชนั้น.
               บทว่า ธุนาม ความว่า เราจะกำจัดคือทำลาย
               บทว่า สาตติกา ความว่า ผู้มีอันกระทำเป็นไปติดต่อ คือมีความเพียรเป็นไปติดต่อด้วยภาวนา.
               ท่านกล่าว ๔ คาถามีอาทิว่า อฏฺฐิกงฺกลกุฏิเก ดังนี้ ด้วยอำนาจโอวาทหญิงแพศยาผู้เข้าใกล้เพื่อประเล้าประโลมตน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฐิกงฺกลกุฏิเก ความว่า ซึ่งกระท่อมอันสำเร็จด้วยโครงกระดูก.
               บทว่า นฺหารุปสิพฺพิเต ความว่า ร้อยรัดไว้โดยรอบด้วยเส้นเอ็น ๙๐๐ เส้น ท่านแสดงไว้ว่า คนทั้งหลายยกท่อนไม้ผูกด้วยเถาวัลย์เป็นต้น กระทำให้เป็นกุฏิไว้ในป่า ก็ท่านผูกด้วยโครงกระดูกอันน่าเกลียดอย่างยิ่ง และผูกกระทำไว้ด้วยเส้นเอ็นอันน่าเกลียดอย่างยิ่งทีเดียว และมันเป็นของน่าเกลียด ปฏิกูลอย่างยิ่ง.
               บทว่า ธิรตฺถุ ปูเร ทุคฺคนฺเธ ความว่า เต็มคือเปี่ยมไปด้วยสิ่งอันน่าเกลียดมีประการต่างๆ มีผมและขนเป็นต้น น่าติเตียนท่านผู้มีกลิ่นเหม็นกว่านั้น คืออาการที่น่าติเตียนจงมีแก่ท่าน.
               บทว่า ปรคตฺเต มมายเส ความว่า ก็สรีระนี้ เป็นที่ตั้งขึ้นของหัวฝีในเบื้องบน เป็นความลำบากแก่ท่านผู้มีกลิ่นเหม็นอย่างนี้ เป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียด ถือเอาได้แต่สิ่งปฏิกูล. ท่านกระทำความสำคัญว่า กเฬวระ เช่นนั้นนั่นแหละ และกเฬวระที่เป็นร่างกายของสุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกและหมู่หนอนเป็นในที่อื่นว่าเป็นของเรา.
               บทว่า คูถภสฺเต ความว่า เป็นเสมือนถุงหนังอันเต็มไปด้วยคูถ.
               บทว่า ตโจนทฺเธ ความว่า หุ้มห่อด้วยหนัง คือสิ่งที่เป็นโทษปกปิดไว้เพียงผิวหนัง.
               บทว่า อุรคณฺฑิปิสาจินี ความว่า มีฝีที่ตั้งขึ้นที่อก เป็นเสมือนปิศาจเพราะเป็นสิ่งที่น่ากลัวและนำมาซึ่งความพินาศ.
               บทว่า ยานิ สนฺทนฺติ สพฺพทา ความว่า มีช่อง ๙ ช่อง มีแผล ๙ แห่งไหลออกคือซ่าน ได้แก่หลั่งของที่ไม่สะอาดออกตลอดกาลทุกเมื่อ คือตลอดคืนและวัน.
               บทว่า ปริพนฺธํ ความว่า เป็นการผูกพันด้วยสัมมาปฏิบัติ.
               บทว่า ภิกฺขุ ความว่า ผู้เห็นภัยในสงสาร เป็นผู้มีกิเลสอันทำลายแล้ว เว้นกิเลสนั้นให้ห่างไกล ไม่กระทำความสำคัญว่าเป็นของเรา.
               ศัพท์ว่า ในบทว่า มีฬฺหํ จ ยถา สุจิกาโม นี้ เป็นเพียงนิบาต.
               อธิบายว่า ผู้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ย่อมเป็นเหมือนคนมีชาติสะอาด ปรารถนาแต่สิ่งสะอาดเท่านั้น อาบน้ำสระผม เห็นของสกปรก เว้นเสียให้ห่างไกล ฉะนั้น.
               บทว่า เอวญฺเจ ตํ ชโน ชญฺญา ยถา ชานามิ ตํ อหํ ความว่า มหาชนพึงรู้กองแห่งของอันไม่สะอาดที่รู้กันว่า ร่างกายอย่างนี้พึงเว้นมันเสียให้ห่างไกลคือให้ไกลทีเดียว เหมือนเรารู้ตามความเป็นจริงฉะนั้น.
               บทว่า คูถฏฺฐานํว ปาวุเส อธิบายว่า เหมือนบุคคลผู้ชอบสะอาด เห็นหลุมคูถอันเป็นของไม่สะอาด ซึ่งเปื้อนในฤดูฝนเป็นนิรันตรกาล พึงเว้นเสียให้ห่างไกล. ก็เพราะเหตุที่ภิกษุไม่รู้ตามความเป็นจริง ฉะนั้น เธอจึงจมอยู่ในกองคูถคือร่างกายนั้น ยกศีรษะขึ้นไม่ได้.
               เมื่อพระเถระประกาศโทษในร่างกายอย่างนี้แล้ว หญิงแพศยานั้นละอาย ก้มหน้าลง ตั้งความเคารพในพระเถระ กล่าวคาถาว่า เรื่องนั้นย่อมเป็นอย่างนั้น มหาวีระ ได้ยืนนมัสการพระเถระอยู่แล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตฺถ เจเก ความว่า สัตว์บางพวกย่อมจมอยู่คือถึงความว้าเหว่ใจ เพราะมีความข้องอยู่เป็นกำลังในกายนี้ แม้มีสภาวะเป็นของปฏิกูลปรากฏอยู่อย่างนี้.
               อธิบายว่า เหมือนโคแก่จมอยู่ในเปือกตมฉะนั้น คือเหมือนโคพลิพัทตัวมีกำลังทุรพล ตกอยู่ในท้องเปือกตมใหญ่ ย่อมถึงความวอดวายนั่นแล.
               พระเถระเมื่อแสดงกะนางอีกว่า ดูก่อนท่านผู้เช่นเรา ข้อปฏิบัติเห็นปานนี้ไร้ประโยชน์ นำมาซึ่งความคับแค้นทีเดียว จึงกล่าว ๒ คาถาโดยนัยมีอาทิว่า อากาสมฺหิ ดังนี้.
               หมวดสองแห่งคาถานั้นมีอธิบายดังนี้
               บุคคลใดพึงสำคัญเพื่อจะย้อมอากาศด้วยขมิ้น หรือด้วยเครื่องย้อมอย่างอื่น กรรมนั้นของบุคคลนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความคับแค้น คือพึงนำมาซึ่งความคับแค้นแห่งจิตเท่านั้น ฉันเดียวกันกับการประกอบการงานในสิ่งมิใช่วิสัยฉะนั้น.
               บทว่า ตทากาสสมํ จิตฺตํ ความว่า จิตของเรานี้นั้นเสมอกับอากาศ คือตั้งมั่นด้วยดีในภายใน โดยภาวะไม่ข้องอยู่ในอารมณ์ไหนๆ เพราะฉะนั้น เธออย่ามาหวังความรักที่มีอยู่ในดวงจิตอันลามก.
               อธิบายว่า เธออย่ามาหวังความรักในคนเช่นเรา. ผู้ชื่อว่ามีจิตเลว เพราะจมอยู่ในกามทั้งหลาย.
               บทว่า อคฺคิขนฺธํว ปกฺขิมา แปลว่า เหมือนแมลงมีปีกคือตั๊กแตน เมื่อบินสู่กองไฟ ย่อมถึงความพินาศทางเดียว ท่านแสดงว่า คำอุปไมยอันยังอุปมาให้ถึงพร้อมของท่านนี้ก็ฉันนั้น.
               เจ็ดคาถาว่า ปสฺส จิตฺตกตํ ดังนี้เป็นต้น ท่านเห็นหญิงแพศยานั้นนั่นแลแล้วกล่าวว่า ด้วยอำนาจให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตวิปลาส, หญิงแพศยานั้นฟังแล้วเป็นผู้เก้อ หนีไปโดยหนทางที่ตนมาแล้วนั่นแล.
               สี่คาถาว่า ตทาสิ เป็นต้น ท่านกล่าวปรารภปรินิพพานของท่านพระสารีบุตรเถระ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกาการสมฺปนฺเน ความว่า บริบูรณ์ด้วยประการมีศีลสังวรเป็นต้นเป็นอเนก.
               บทว่า สุขุมํ เต ปฏิวิชฺฌนฺติ ความว่า พระโยคีเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมแทงตลอดธรรมอันละเอียดอย่างยิ่ง,
               ถามว่า เหมือนอะไร? เหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วยลูกศร.
               อธิบายว่า เหมือนนายขมังธนูยิงถูกปลายขนทรายที่แบ่งเป็น ๗ ส่วนเหลือเพียงส่วนเดียว ด้วยแสงสว่างแห่งสายฟ้า เพราะความมืดมิดแห่งอันธการในราตรี.
               เพื่อเฉลยคำถามว่า คนเหล่านั้นคือคนเหล่าไหน? ท่านจึงกล่าวว่า ชนเหล่าใดพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นอื่น ไม่ใช่โดยความเป็นตน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปรโต แปลว่า โดยความเป็นอนัตตา.
               จริงอยู่ บทว่า ปรโต นั้นเป็นบทแสดงถึงบทที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออัตตศัพท์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โน จ อตฺตโต ดังนี้. ด้วยคำนั้น ท่านกล่าวถึงการตรัสรู้ด้วยการกำหนดรู้ทุกขสัจ ด้วยอำนาจอริยมรรคอันเจริญแล้วด้วยอนัตตา. แต่พึงเห็นว่า ท่านกล่าวการแทงตลอดด้วยดีถึงการตรัสรู้ธรรมนอกนี้ โดยภาวะที่แยกจากอัตตานั้น.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่า ปเร เพราะเป็นตัวกระทำความพินาศ แล้วกล่าวว่า ท่านกล่าวขันธ์ทั้งหมดไว้ชอบแท้โดยพิเศษด้วยคำว่า เห็นโดยเป็นอื่น.
               บทว่า ปจฺจพฺยาธึสุ แปลว่า แทงตลอด.
               คาถาที่ ๑ ว่า สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ ท่านกล่าวปรารภพระติสสเถระ
               คาถาที่ ๒ ท่านกล่าวปรารภพระวัฑฒมานเถระ,
               คาถาเหล่านั้นมีอรรถดังกล่าวแล้วในหนหลังแล.
               คาถาว่า โจทิโต ภาวิตตฺเตน ท่านกล่าวปรารภปาสาทกัมปนสูตร
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ภาวิตตฺเตน สรีรนฺธิมธารินา ท่านกล่าวหมายถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
               สองคาถาว่า นยิทํ สถิลมารพฺภ ท่านกล่าวปรารภภิกษุหนุ่มผู้มีชื่อว่าเวทะ ผู้มีความเพียรเลว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิถิลมารพฺภ ความว่า กระทำความย่อหย่อนคือไม่ทำความเพียร.
               บทว่า อปฺเปน ถามสา ความว่า บุคคลพึงบรรลุพระนิพพานนี้ ด้วยกำลังความเพียรอันน้อยหาได้ไม่. แต่พึงบรรลุด้วยความเพียร ในสัมมัปปธาน ๔ อันใหญ่นั่นแล.
               สองคาถาว่า วิวรมนุปภํ ดังนี้เป็นต้น ท่านกล่าวปรารภความวิเวกแห่งตน.
               บรรดาบทเหล่านั้นว่า พฺรหฺมุนา อภิวนฺทิโต ท่านเป็นผู้อันมหาพรหม และมนุษยโลกพร้อมด้วยเทวโลกเป็นผู้พร้อมหน้าเชยชมและนมัสการแล้ว.
               ห้าคาถาว่า อุปสนฺตํ อุปรตํ ดังนี้เป็นต้น ท่านเห็นท่านพระมหากัสสปเถระผู้เข้าไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต เห็นพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ ผู้ยืนมองดูอยู่ว่า เราเห็นคนกาลกิณีแล้ว เพื่อจะกำจัดการว่าร้ายพระอริยเจ้า ด้วยความอนุเคราะห์ แก่เธอว่า พราหมณ์นี้อย่าฉิบหายเลยดังนี้ จึงส่งเธอไป กล่าวว่าเธอจงไหว้พระเถระดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาติสตํ คจฺเฉ ความว่า พึงเข้าถึง ๑๐๐ ชาติ.
               บทว่า โสตฺติโย ได้แก่ ผู้เกิดเป็นชาติพราหมณ์
               บทว่า เวทสมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยญาณ (ปัญญา).
               บทว่า เอตสฺส ได้แก่ พระเถระ.
               ก็ในข้อนี้มีความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               ผู้ใดเข้าถึงชาติพราหมณ์ ๑๐๐ ชาติที่เกิดขึ้นแล้วไม่เจือปนด้วยอำนาจการเกิดตามลำดับ และในชาตินั้นถึงความสำเร็จในวิชาแห่งพราหมณ์ทั้งหลาย พึงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ และพึงบำเพ็ญพราหมณวัตร การแสวงหาวิชานั้นของเขา ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของบุญที่สำเร็จด้วยการไหว้ ด้วยการไหว้พระมหากัสสปเถระนั่น บุญอันสำเร็จด้วยการไหว้นั่นแล มีผลมากกว่านั้นแล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฐ วิโมกฺขานิ ได้แก่ วิโมกข์ ๘ มีรูปฌานเป็นต้น.
               จริงอยู่ รูปฌานที่ได้ด้วยอำนาจภาวนา ท่านเรียกว่าวิโมกข์ เพราะอาศัยความหลุดพ้นด้วยดีจากปัจจนิกธรรม และความเป็นไปอันปราศจากความสงสัยในอารมณ์ ด้วยอำนาจความยินดียิ่ง, แต่นิโรธสมาบัติ ท่านเรียกว่าวิโมกข์ เพราะหลุดพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกอย่างเดียว แต่ในที่นี้พึงทราบว่า ท่านหมายเอาฌานเท่านั้น.
               บทว่า อนุโลมํ ปฏิโลมํ ความว่า ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ชื่อว่าอนุโลม ตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจนถึงปฐมฌาน ชื่อว่าปฏิโลม.
               บทว่า ปุเรภตฺตํ ได้แก่ ในกาลก่อนแต่ภัตกิจนั่นแล.
               บทว่า อผสฺสยี ได้แก่ เข้าสมาบัติอันเกลื่อนกล่นด้วยอาการและขันธ์มิใช่น้อย.
               บทว่า ตโต ปิณฺฑาย คจฺฉติ ความว่า ออกจากสมาบัตินั้น หรือหลังจากการเข้าสมาบัตินั้น บัดนี้จึงเที่ยวไปบิณฑบาต เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวหมายเอาการปฏิบัติของพระเถระที่เป็นไปในวันนั้น, ก็พระเถระปฏิบัติอย่างนั้นนั่นแลทุกวันๆ.
               บทว่า ตาทิสํ ภิกฺขุํ มาสาทิ ความว่า ท่านกล่าวคุณของภิกษุเช่นใด ท่านอย่ารุกรานภิกษุเช่นนั้น คือเห็นปานนั้น ได้แก่ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าคือพระมหาขีณาสพ.
               บทว่า มาตฺตานํ ขณิ พฺราหฺมณ ความว่า ท่านอย่าขุดตนด้วยการรุกราน คืออย่าทำลายกุศลธรรมของตน ด้วยการเข้าไปว่าร้ายพระอริยเจ้า.
               บทว่า อภิปฺปสาเทหิ มนํ ความว่า จงยังจิตของตนให้เลื่อมใสว่า สมณะนี้ดีหนอ.
               บทว่า มา เต วิชฏิ มตฺถกํ ความว่า ศีรษะของท่านอย่าแตก ๗ เสี่ยง ด้วยความผิดที่ตนทำในการว่าร้ายพระอริยเจ้านั้น. เพราะฉะนั้นท่านจงรีบประคองอัญชลีไหว้โดยพลันทีเดียว เพราะกระทำการตอบแทนท่านฉะนี้แล.
               พราหมณ์ฟังดังนั้นแล้ว กลัวสลดใจเกิดขนชูชันขอขมาโทษพระเถระในขณะนั้นนั่นเอง.
               สองคาถาว่า เนโส ปสฺสติ เป็นต้น ความว่า ท่านเห็นภิกษุชื่อว่าโปฏฐิละ ผู้ไม่ปฏิบัติโดยชอบ กระทำมิจฉาชีพ แล้วกล่าวด้วยอำนาจการโจทน์ท้วง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนโส ปสฺสติ สทฺธมฺมํ ความว่า ภิกษุโปฏฐิละนั้นไม่เห็นธรรมคือมรรคผลและนิพพานของท่านสัตบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               เพราะเหตุไร? เพราะภิกษุโปฏฐิละถูกสงสารหุ้มห่อไว้ คือถูกอวิชชาอันเป็นเครื่องผูกคือสงสารเป็นต้นหุ้มห่อไว้ จึงเกิดในอบาย แล่นไปสู่ทางเบื้องต่ำ คือทางอันเป็นที่ไปในภายใต้ ชื่อทางคด เพราะเป็นไปตามกิเลสที่เป็นกลลวงและหัวดื้อ คือแล่น ได้แก่เป็นไปตามมิจฉาชีพ. ชื่อว่าเป็นทางคด เพราะเป็นทางผิด.
               บทว่า กิมีว มีฬฺหสลฺลิตฺโต ความว่า หมกมุ่นอยู่ คือท่วมทับอยู่ในสังขารอันเจือด้วยของไม่สะอาดคือกิเลส เหมือนหนอนกินคูถติดอยู่ด้วยคูถโดยรอบฉะนั้น.
               บทว่า ปคาฬฺโห ลาภสกฺกาเร ความว่า ติดอยู่ คือหมกอยู่ในลาภและสักการะโดยประการด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า ตุจฺโฉ คจฺฉติ โปฏฺฐิโล ความว่า ภิกษุโปฏฐิละเป็นผู้เปล่าคือไม่มีสาระ เพราะไม่มีอธิศีลสิกขาไป คือเป็นไป.
               สองคาถาว่า อิมญฺจ ปสฺส เป็นต้น ท่านสรรเสริญท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้แล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมญฺจ ปสฺส ความว่า ท่านเห็นท่านพระสารีบุตรเถระแล้วมีจิตเลื่อมใส ร้องเรียกจิตตน.
               บทว่า สุทสฺสนํ ความว่า เป็นการเห็นดีด้วยความเพียบพร้อมด้วยอเสขธรรมและศีลขันธ์ และด้วยความเพียบพร้อมด้วยสาวกบารมีญาณ.
               บทว่า วิมุตฺตํ อุภโตภาเค ความว่า โดยรูปกายแห่งอรูปสมาบัติ โดยนามกายด้วยมรรค.
               อธิบายว่า หลุดพ้นแล้ว ด้วยส่วนแห่งวิกขัมภนวิมุตติและสมุจเฉทวิมุตตินั้นนั่นเองตามสมควร.
               มีวาจาประกอบความว่า ท่านจงดู ท่านผู้ชื่อว่ามีลูกศรไปปราศแล้ว เพราะไม่มีลูกศรคือราคะเป็นต้นโดยประการทั้งปวง ชื่อว่าผู้สิ้นกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในภพ. ชื่อว่าผู้ได้วิชชา ๓ เพราะบรรลุวิชชา ๓ อันบริสุทธิ์ด้วยดี. ชื่อว่าผู้ละมัจจุราชเสียได้ เพราะหักรานมัจจุราชเสียได้.
               คาถาว่า เอเต สมฺพหุลา เป็นต้น ท่านพระสารีบุตรเถระ เมื่อสรรเสริญพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้กล่าวไว้แล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปูชิโต นรเทเวน ความว่า ผู้อันนระและเทพทั้งหลายบูชาแล้วด้วยการบูชาอย่างยิ่ง.
               บทว่า อุปฺปนฺโน มรณาภิภู ความว่า เป็นผู้เกิดขึ้นในโลก ครอบงำมรณะดำรงอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้เกิดโดยชาติอันเป็นอริยะ คืออันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นเหตุ อันเทพยิ่งกว่านระบูชาแล้ว.
               จริงอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนระคือเป็นมนุษย์ด้วยกรรมก่อน แม้ภายหลังได้เป็นเทพอันสูงสุด คือเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ โดยชาติอันเป็นอริยะ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า นรเทโว ท่านผู้เป็นเทพยิ่งกว่านระ คือพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจการสรรเสริญ คืออุบัติแล้วในโลกครอบงำมรณะ คือเป็นผู้ครอบงำมรณะ เสื่อมจากมัจจุราช.
               อธิบายว่า ย่อมไม่ติดในสังขาร ด้วยการฉาบทาด้วยตัณหาและทิฏฐิ เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่ด้วยน้ำฉะนั้น.
               อธิบายว่า ไม่อาศัยแล้วในอารมณ์แม้ไรๆ.
               บทว่า ยสฺส แก้เป็น เยน.
               บทว่า มุหุตฺเต แปลว่า ในกาลเพียงขณะเดียว.
               บทว่า สหสฺสธา แปลว่า มี ๑,๐๐๐ ประการ.
               บทว่า โลโก ได้แก่ โอกาสโลก.
               จริงอยู่ ในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ว่า
               ๑,๐๐๐ แห่งโลกธาตุ เช่นกับพรหมโลกของท้าวมหาพรหมชื่อสพรหมกัป อันท่านพระมหาโมคคัลลานะใดผู้มีฤทธิ์มาก รู้แจ้งแล้วโดยชอบ คือรู้แล้วโดยประจักษ์ในขณะเดียวเท่านั้น และมีความชำนาญในจุตูปปาตญาณ เพราะถึงพร้อมด้วยฤทธิ์ อันถึงความเป็นวสีมีอาวัชชนวสีเป็นต้น.
               บทว่า กาเล ปสฺสติ ความว่า เทวดาย่อมมองเห็นด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ ในกาลอันสมควรแก่เรื่องนั้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 399อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 400อ่านอรรถกถา 26 / 401อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8478&Z=8642
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=12299
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=12299
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :