ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 398อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 399อ่านอรรถกถา 26 / 400อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญญาสนิบาต
๑. ตาลปุฏเถรคาถา

               อรรถกถาเถรคาถา ปัญญาสนิบาต               
               อรรถกถาตาลปุฏเถรคาถาที่ ๑               
               ในปัญญาสนิบาต คาถาของท่านพระตาลปุฏเถระ มีคำเริ่มต้นว่า กทา นุหํ ปพฺพตกนฺทราสุ ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระเถระแม้นี้ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลแห่งนักฟ้อนแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา ถึงความสำเร็จในฐานะเป็นนักฟ้อนอันสมควรแก่ตระกูล ได้ปรากฏเป็นนักฟ้อนชื่อว่า นฏคามณิ ในชมพูทวีปทั้งสิ้น.
               เขามีมาตุคาม ๕๐๐ เป็นบริวาร แสดงมหรสพในบ้าน นิคมและราชธานี ด้วยสมบัติแห่งการฟ้อนเป็นอันมาก ได้การบูชาและสักการะเป็นอันมากเที่ยวไป มายังกรุงราชคฤห์แสดงแก่ชาวพระนคร ได้ความนับถือและสักการะ เพราะความที่ตนถึงความแก่กล้าแห่งญาณ จึงไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับฟังคำของพวกนักฟ้อนผู้เป็นอาจารย์ และอาจารย์ผู้เป็นประธานผู้เป็นหัวหน้ากล่าวอยู่ว่า นักฟ้อนนั้นใด ทำให้ชนร่าเริงยินดี ด้วยการกล่าวคำจริงและเหลาะแหละในท่ามกลางมหรสพ ในท่ามกลางเวทีโรงละคร นักฟ้อนนั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทพทั้งหลายผู้ร่าเริง ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างไร?
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสห้ามเขาถึง ๓ ครั้งว่า อย่าถามข้อนั้นกะเราเลย ถูกเขาถามครั้งที่ ๔ พระองค์ถึงตรัสว่า
               คามณิ สัตว์เหล่านี้ แม้ตามปกติก็ถูกเครื่องผูกคือราคะผูกพันแล้ว ถูกเครื่องผูกคือโทสะ และโมหะผูกพันแล้ว, ท่านนำเข้าไปเปรียบเทียบให้เกิดความเลื่อมใสในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ความขัดเคืองและอันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง แม้โดยยิ่งแห่งสัตว์เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเกิดในนรก.
               แต่ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักฟ้อนนั้นใดย่อมยังชนให้ร่าเริงให้ยินดี ด้วยคำจริงและด้วยคำเหลาะแหละ ในท่ามกลางมหรสพในท่ามกลางเวทีโรงละคร เขาเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทพทั้งหลายผู้ร่าเริง เพราะเหตุนั้น เขาจึงมีความเห็นผิดเช่นนั้น. ก็ผู้มีความเห็นผิดพึงปรารถนาคติอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาคติทั้งสอง คือนรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน.
               นายตาลปุฏคามณิได้ฟังดังนั้นแล้วก็ร้องไห้ จะป่วยกล่าวไปไยที่เราจะห้ามนายคามณิมิใช่หรือว่า อย่าได้ถามข้อนั้นกะเราเลย.
               นายคามณิกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้องค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้ร้องไห้ถึงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอภิสัมปรายภพของนักฟ้อนทั้งหลาย กะข้าพระองค์อย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกอย่างหนึ่ง ข้าพระองค์ถูกนักฟ้อนทั้งหลายผู้เป็นอาจารย์และอาจารย์ผู้เป็นประธานในก่อนหลอกลวงว่า นักฟ้อนแสดงมหรสพของนักฟ้อนแก่มหาชนแล้วเข้าถึงสุคติ.
               เขาฟังธรรมในสำนักพระศาสดา ได้ศรัทธาได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว กระทำกรรมด้วยวิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต.
               ก็ท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว ก่อนแต่บรรลุพระอรหัต โดยอาการอันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ด้วยสามารถการข่มจิตของตน เพื่อจะแสดงจำแนกอาการนั้น โดยอาการเป็นอันมาก จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า :-
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักได้อยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีตัณหา
               เป็นเพื่อนสอง ณ ภูเขาและซอกเขา เมื่อไรหนอ เราจึงจัก
               พิจารณาเห็นแจ้งภพทั้งปวง โดยความเป็นของไม่เที่ยง
               ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักได้เป็นนักปราชญ์ นุ่งห่มผ้า
               กาสาวพัสตร์อันเศร้าหมอง ไม่มีความยึดมั่น ไม่มีความ
               หวัง เป็นผู้ฆ่าราคะ โทสะและโมหะได้แล้ว เที่ยวไปตาม
               ป่าใหญ่อย่างสบาย ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อ
               ไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจะเห็นแจ้งซึ่งร่างกายนี้อันเป็น
               ของไม่เที่ยง เป็นรังแห่งโรค คือความตาย ถูกความตาย
               และความเสื่อมโทรมบีบคั้นแล้ว เป็นผู้ปราศจากภัย
               อาศัยอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จ
               เมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจักได้ถือเอาซึ่งดาบอันคมกริบ คือ
               อริยมรรคอันสำเร็จด้วยปัญญา แล้วตัดเสียซึ่งลดาชาติ
               คือตัณหาอันก่อให้เกิดภัย นำมาซึ่งทุกข์ เป็นเหตุให้คิด
               วนเวียนไปในอารมณ์ภายนอก ความตรึกเช่นนี้ของเรา
               จักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักได้ถือเอาซึ่งศาสตราอันสำเร็จ
               ด้วยปัญญา มีเดชานุภาพมากของฤาษี คือพระพุทธเจ้า
               พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอริยสาวก แล้วหักรานเสียซึ่ง
               กิเลสมารพร้อมทั้งเสนาโดยเร็วพลัน เหนือเถรอาสน์มี
               ลีลาศดังราชสีห์ ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไร
               หนอ.
                         เมื่อไรหนอ นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้
               มีความหนักแน่นในธรรม ผู้คงที่ มีปกติเห็นตามความ
               เป็นจริง มีอินทรีย์อันชนะแล้ว จักเห็นว่าเราบำเพ็ญเพียร
               ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ ความเกียจคร้าน ความหิวระหาย ลม
               แดด เหลือบ ยุง และสัตว์เสือกคลานทั้งหลายจึงจักไม่
               เบียดเบียนเรา ตามซอกเขา ข้อนั้นเป็นความประสงค์
               ของเรา ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้มีจิตมั่นคง มีสติ ได้
               บรรลุอริยสัจ ๔ ที่เห็นได้แสนยาก อันพระผู้มีพระภาค
               เจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงทราบแล้วด้วย
               ปัญญา ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักประกอบด้วยความสงบระงับ
               จากเครื่องเร่าร้อนใจในเพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
               และธรรมารมณ์ที่เรายังไม่รู้เท่าถึง พิจารณาเห็นด้วยปัญญา
               ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เมื่อเราถูกว่ากล่าวติเตียนด้วยถ้อยคำ
               ชั่วหยาบแล้ว จักไม่เดือดร้อนใจเพราะถ้อยคำชั่วหยาบ
               นั้น อนึ่ง ถึงเขาจะสรรเสริญก็จะไม่ยินดีเพราะถ้อยคำเช่น
               นั้น ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักพิจารณาเห็นสภาพภายใน
               กล่าวคือเบญจขันธ์ และรูปธรรมเหล่าอื่นที่ไม่รู้ทั่วถึง
               และสภาพภายนอก คือต้นไม้ หญ้าและลดาชาติ ว่าเป็น
               สภาพเสมอกัน ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไร
               หนอ.
                         เมื่อไรหนอ ฝนที่ตกในเวลาปัจจุสมัย จักตกรด
               เราผู้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ผู้ปฏิบัติอยู่ในมรรคปฏิปทา
               ที่นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นดำเนินไปแล้ว ด้วย
               น้ำใหม่อยู่ในป่า ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไร
               หนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักได้ฟังเสียงร่ำร้องแห่งนกยูง
               และทิชาชาติในป่าและซอกเขา ลุกขึ้นจากการนอนแล้ว
               พิจารณาธรรมโดยความไม่เที่ยง เพื่อบรรลุอมตธรรม
               ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักข้ามพ้นแม่น้ำคงคา ยมุนา
               สรัสสดี ที่ไหลไปกระทั่งถึงบาดาล เป็นปากน้ำใหญ่น่า
               กลัวนัก ไปได้ด้วยฤทธิ์โดยไม่ติดขัด ความตรึกเช่นนี้
               ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักเว้นความเห็นว่านิมิตงามทั้ง
               ปวงเสียโดยเด็ดขาด ขวนขวายอยู่ในฌาน แล้วทำลาย
               ความพอใจในกามคุณทั้งหลายเสียได้ เหมือนช้าง
               ทำลายเสา ตะลุงและโซ่เหล็กแล้ว เที่ยวไปในสงคราม
               ฉะนั้น ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไรหนอ.
                         เมื่อไรหนอ เราจึงจักละความพอใจในกามคุณ ได้
               บรรลุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
               แล้วเกิดความยินดี เปรียบเหมือนลูกหนี้ผู้ขัดสน เมื่อถูก
               เจ้าหนี้บีบคั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์มาได้และชำระหนี้เสร็จ
               แล้วพึงดีใจฉะนั้น ความตรึกเช่นนี้ของเราจักสำเร็จเมื่อไร
               หนอ.
                         ดูก่อนจิต ท่านได้อ้อนวอนเราเป็นเวลาหลายปีแล้ว
               ว่าท่านไม่สมควรอยู่ครองเรือนเลย บัดนี้เราได้บวชสม
               ประสงค์แล้ว เหตุไฉนท่านจึงละทิ้งสมถวิปัสสนา มัวแต่
               เกียจคร้านอยู่เล่า.
                         ดูก่อนจิต ท่านได้อ้อนวอนเรามาแล้วมิใช่หรือว่า
               ฝูงนกยูงมีขนปีกอันแพรวพราว และเสียงกึกก้องแห่งธาร
               น้ำตกตามซอกเขา จะยังท่านผู้เพ่งฌานอยู่ในป่าให้เพลิด
               เพลิน เรายอมสละญาติและมิตรที่รักใคร่ในตระกูล สลัด
               ความยินดีในการเล่น และกามคุณในโลกได้หมดแล้ว
               ได้เข้าถึงป่าและบรรพชาเพศนี้แล้ว.
                         ดูก่อนจิต ส่วนท่านไม่ยินดีต่อเราผู้ดำเนินตามเสีย
               เลย เมื่อเราพิจารณาเห็นว่าจิตนี้เป็นของเรา ไม่ใช่ของ
               ผู้อื่น จะประโยชน์อะไรด้วยการร้องไห้ร่ำพิไร ในเวลาทำ
               สงครามกับกิเลสมาร เพราะจิตทั้งหมดนี้เป็นธรรมชาติ
               หวั่นไหว ดังนี้จึงได้ออกบวช แสวงหาทางอันไม่ตาย.
                         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย
               ผู้เป็นจอมท้าวสักกเทวราช เป็นจอมสารถีฝึกนระ ตรัส
               สุภาษิตไว้ว่า จิตนี้กวัดแกว่งเช่นวานร ห้ามได้แสนยาก
               เพราะยังไม่ปราศจากความกำหนัด ปุถุชนทั้งหลายผู้ไม่
               รู้เท่าทัน พัวพันอยู่ในกามทั้งหลาย อันล้วนแต่เป็นของ
               งดงาม มีรสอร่อย น่ารื่นรมย์ใจ เขาเหล่านั้นเป็นผู้แสวง
               หาภพใหม่ กระทำแต่สิ่งไร้ประโยชน์ ชื่อว่าประสงค์ทุกข์
               ย่อมถูกจิตนำไปสู่นรกโดยแท้.
                         ดูก่อนจิต แต่ก่อนท่านเคยแนะนำเราไว้ว่า ท่าน
               จงเป็นผู้แวดล้อมด้วยเสียงร่ำร้องแห่งนกยูง และนกกระ
               เรียน อีกทั้งเสือเหลืองและเสือโคร่งอยู่ในป่า ท่านจงสละ
               ความห่วงใยในร่างกาย อย่ามีความอาลัยเลย.
                         ดูก่อนจิต แต่ก่อนท่านเคยแนะนำเราว่า จงอุตส่าห์
               เจริญฌาน อินทรีย์ พละ โพชฌงค์และสมาธิภาวนา จง
               บรรลุวิชชา ๓ ในพระพุทธศาสนา.
                         ดูก่อนจิต แต่ก่อนท่านเคยแนะนำเราว่า จงเจริญ
               อัฏฐังคิกมรรคเพื่อบรรลุนิพพาน อันเป็นทางนำสัตว์ออก
               จากโลก ให้ถึงความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นเครื่องชำระล้าง
               กิเลสทั้งปวง.
                         ดูก่อนจิต แต่ก่อนท่านเคยแนะนำเราว่า จงพิจารณา
               เห็นเบญจขันธ์โดยอุบายอันแยบคายว่า เป็นทุกข์ จงละ
               เหตุอันก่อให้เกิดทุกข์ จงทำที่สุดแห่งทุกข์ในอัตภาพนี้
               เถิด.
                         ดูก่อนจิต แต่ก่อนท่านเคยแนะนำเราว่า จงพิจารณา
               เบญจขันธ์โดยอุบายอันแยบคายว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็น
               ทุกข์ เป็นของว่างเปล่าหาตัวตนมิได้ เป็นวิบัติ และว่าเป็น
               ผู้ฆ่า จงดับมโนวิจารเสียโดยแยบคายเถิด.
                         ดูก่อนจิต แต่ก่อนท่านเคยแนะนำเราว่า จงปลงผม
               และหนวดแล้ว ถือเอาเพศสมณะ มีรูปลักษณะอันแปลก
               ต้องถูกเขาสาปแช่ง ถือเอาบาตรเที่ยวภิกษาตามตระกูล
               จงประกอบตนอยู่ในคำสอนของพระบรมศาสดาผู้แสวง
               หาคุณอันยิ่งใหญ่เถิด.
                         ดูก่อนจิต แต่ก่อนท่านเคยแนะนำเราว่า จงสำรวม
               ระวังเมื่อเวลาเที่ยวไปบิณฑบาตตามระหว่างตรอก อย่า
               มีใจเกี่ยวข้องในตระกูลและกามารมณ์ทั้งหลาย เหมือน
               พระจันทร์ในวันเพ็ญ เว้นจากโทษฉะนั้น.
                         ดูก่อนจิต แต่ก่อนท่านเคยแนะนำเราว่า จงยินดีใน
               ธุดงคคุณทั้ง ๕ คือถืออยู่ในป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาต
               เป็นวัตร ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
               ถือการไม่นอนเป็นวัตร ตลอดกาลทุกเมื่อเถิด.
                         บุคคลผู้ต้องการผลไม้ ปลูกต้นไม้ไว้แล้ว เก็บผล
               ไม่ได้ ก็ประสงค์จะโค่นต้นไม้นั้นเสียฉันใด. ดูก่อนจิต
               ท่านแนะนำเราผู้ใดให้หวั่นไหวในความไม่เที่ยง ท่านจง
               ทำเราผู้นี้ให้เหมือนบุคคลผู้ปลูกต้นไม้ไว้ฉันนั้นเถิด.
                         ดูก่อนจิต ผู้หารูปมิได้ ไปได้ในที่ไกล เที่ยวไปแต่
               ผู้เดียว บัดนี้เราจักไม่ทำตามคำของท่านแล้ว เพราะว่า
               กามทั้งหลายล้วนเป็นทุกข์ มีผลเผ็ดร้อน เป็นภัยใหญ่
               หลวง เราจักมีใจมุ่งนิพพานเท่านั้น เราไม่ได้ออกบวช
               เพราะหมดบุญ เพราะไม่มีความละอาย เพราะเหตุแห่ง
               จิต เพราะเหตุแห่งการทำผิดต่อชาติบ้านเมือง หรือเพราะ
               เหตุแห่งอาชีพ.
                         ดูก่อนจิต ท่านได้รับรองกับเราไว้ว่าจักอยู่ในอำนาจ
               ของเรามิใช่หรือ.
                         ดูก่อนจิต ท่านได้แนะนำเราไว้ในครั้งนั้นว่า ความ
               เป็นผู้มักน้อย การละความลบหลู่คุณท่าน และความ
               สงบระงับทุกข์ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ แต่บัดนี้ท่าน
               กลับเป็นผู้มีความมักมากขึ้น เราไม่อาจกลับไปสู่ตัณหา
               ราคะ ความรัก ความชัง รูปอันสวยงาม สุขเวทนา และ
               เบญจกามคุณอันเป็นของชอบใจที่เราคายเสียแล้วอีก.
                         ดูก่อนจิต เราได้ปฏิบัติตามถ้อยคำของท่านในภพ
               ทั้งปวงแล้ว เราไม่ได้มีความขุ่นเคืองต่อท่านหลายชาติ
               มาแล้ว เพราะความที่ท่านมีความกตัญญู จึงปรากฏมี
               อัตภาพนี้ขึ้นอีก ท่านทำให้เราต้องท่องเที่ยวไปในกอง
               ทุกข์มาช้านานแล้ว.
                         ดูก่อนจิต ท่านทำให้เราเป็นพราหมณ์ก็มี เป็นพระ
               ราชามหากษัตริย์ก็มี เพราะอำนาจแห่งท่าน บางคราว
               เราเป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นเทพเจ้าก็มี เพราะอำนาจแห่ง
               ท่าน เพราะเหตุแห่งท่าน มีท่านเป็นมูลเหตุ เราเป็นอสูร
               บางคราวเป็นสัตว์นรก บางคราวเป็นสัตว์ดิรัจฉาน บางคราว
               เป็นเปรต ท่านได้ประทุษร้ายเรามาบ่อยๆ มิใช่หรือ บัดนี้
               เราจักไม่ให้ท่านทำเหมือนกาลก่อนอีกละ แม้เพียงครู่เดียว
               ท่านได้ล่อลวงเราเหมือนกับคนบ้า ได้ทำความผิดให้แก่เรา
               มาแล้วมิใช่หรือ.
                         จิตนี้แต่ก่อนเคยเที่ยวจาริกไปในอารมณ์ต่างๆ ตาม
               ความประสงค์ ตามความใคร่ ตามความสบาย วันนี้ เราจัก
               ข่มจิตนั้นไว้โดยอุบายอันชอบ ดังนายหัตถาจารย์ข่มช้าง
               ตัวตกมันไว้ด้วยขอฉะนั้น.
                         พระศาสดาของเราได้ทรงตั้งโลกนี้ โดยความเป็น
               ของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นแก่นสาร ดูก่อนจิต ท่านจงพา
               เราบ่ายหน้าไปในศาสนาของพระชินสีห์ จงพาเราข้ามจาก
               ห้วงน้ำใหญ่ที่ข้ามได้แสนยาก.
                         ดูก่อนจิต เรือนคืออัตภาพของท่านนี้ ไม่เป็นเหมือน
               กาลก่อนเสียแล้ว เพราะจักไม่เป็นไปตามอำนาจของท่าน
               อีกต่อไป เราได้ออกบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้แสวง
               หาประโยชน์อันยิ่งใหญ่แล้ว สมณะทั้งหลายผู้ทรงความ
               พินาศไม่เป็นเช่นเรา ภูเขา มหาสมุทร แม่น้ำคงคาเป็นต้น
               แผ่นดิน ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำและ
               ภพสาม ล้วนเป็นสภาพไม่เที่ยง มีแต่ถูกเบียดเบียนอยู่เสมอ.
                         ดูก่อนจิต ท่านจะไป ณ ที่ไหนเล่า จึงจะมีความสุข
               รื่นรมย์.
                         ดูก่อนจิต เบื้องหน้าแต่จิตของเราตั้งมั่นแล้ว ท่านจัก
               ทำอะไรแก่เราได้ เราไม่เป็นไปตามอำนาจของท่านแล้ว.
                         บุคคลไม่ควรถูกต้องไถ้สองปาก คือร่างกายอันเต็มไป
               ด้วยของไม่สะอาด มีช่อง ๙ ช่องเป็นที่ไหลออก น่าติเตียน
               ท่านผู้ไปสู่เรือนคือถ้ำ ที่เงื้อมภูเขาอันสวยงามตามธรรมชาติ
               เป็นที่อาศัยอยู่แห่งสัตว์ป่า คือหมูและกวาง และในป่าที่ฝน
               ตกใหม่ๆ จักได้ความรื่นรมย์ใจ ณ ที่นั้นฝูงนกยูงมีขนที่คอ
               เขียว มีหงอนและปีกงาม ลำแพนหางมีแวววิจิตรนัก ส่ง
               สำเนียงก้องกังวานไพเราะจับใจ จักยังท่านผู้บำเพ็ญฌานอยู่
               ในป่าให้ร่าเริงได้ เมื่อฝนตกแล้วหญ้างอกยาวประมาณ ๔ นิ้ว
               ท้องฟ้างามแจ่มใส ไม่มีเมฆปกคลุม เมื่อท่านทำตนให้เสมอ
               ด้วยไม้แล้วนอนอยู่บนหญ้าระหว่างภูเขานั้น จะรู้สึกอ่อนนุ่ม
               ดังสำลี
                         เราจักกระทำให้เหมือนผู้ใหญ่ จะยินดีด้วยปัจจัยตาม
               มีตามได้ บุคคลผู้ไม่เกียจคร้าน ย่อมกระทำจิตของตนให้
               สมควรแก่การงานฉันใด เราจักกระทำจิตฉันนั้น เหมือน
               บุคคลเลื่อนถุงใส่แมวไว้ฉะนั้น
                         เราจักทำให้เหมือนผู้ใหญ่ จักยินดีด้วยปัจจัยตามมีตาม
               ได้ จักนำท่านไปสู่อำนาจของเราด้วยความเพียร เหมือนนาย
               หัตถาจารย์ผู้ฉลาดนำช้างที่ซับมันไปสู่อำนาจของตนด้วยขอ
               ฉะนั้น
                         เราย่อมสามารถที่จะดำเนินตามหนทางอันเกษมสุข ซึ่ง
               เป็นทางอันบุคคลผู้ตามรักษาจิต ได้ดำเนินมาแล้วทุกสมัย
               ด้วยหทัยอันเที่ยงตรง ที่ท่านฝึกฝนไว้ดีแล้ว มั่นคงแล้ว
               เปรียบเหมือนนายอัสสาจารย์ สามารถจะดำเนินไปตามภูมิ
               สถานที่ปลอดภัย ด้วยม้าที่ฝึกดีแล้วฉะนั้น.
                         เราจักผูกจิตไว้ในอารมณ์ คือกรรมฐานด้วยกำลังภาวนา
               เหมือนนายหัตถาจารย์มัดช้างไว้ที่เสาตะลุงด้วยเชือกอันมั่นคง
               ฉะนั้น จิตที่เราคุ้มครองดีแล้ว อบรมดีแล้วด้วยสติ จักเป็นจิตอัน
               ตัณหาเป็นต้นไม่อาศัยในภพทั้งปวง ท่านจงตัดทางดำเนินที่
               ผิดเสียด้วยปัญญา ข่มใจให้ดำเนินไปในทางที่ถูกด้วยความ
               เพียร ได้เห็นแจ้งทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป แล้วจักได้
               เป็นทายาทของพระพุทธเจ้าผู้มักแสดงธรรมอันประเสริฐ.
                         ดูก่อนจิต ท่านได้นำเราให้เป็นไปตามอำนาจของความ
               เข้าใจผิด ๔ ประการ เหมือนบุคคลจูงเด็กชาวบ้านวิ่งวนไป
               ฉะนั้น ท่านควรคบหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตัดเครื่องเกาะ
               เกี่ยวและเครื่องผูกเสียได้ เพียบพร้อมด้วยพระมหากรุณา
               เป็นจอมปราชญ์มิใช่หรือ
                         มฤคชาติเข้าไปยังภูเขาอันน่ารื่นรมย์ ประกอบด้วยน้ำ
               และดอกไม้ เที่ยวไปในป่าอันงดงามตามลำพังใจฉันใด ดูก่อน
               จิต ท่านก็จักรื่นรมย์อยู่ในภูเขา ที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คนตาม
               ลำพังใจฉันนั้น เมื่อท่านไม่ยินดีอยู่ที่ภูเขานั้น ท่านก็จักต้อง
               เสื่อมโดยไม่ต้องสงสัย.
                         ดูก่อนจิต หญิงชายเหล่าใดประพฤติตามความพอใจ
               ตามอำนาจของท่าน แล้วเสวยความสุขใดอันอาศัยเบญจกาม
               คุณ หญิงชายเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้โง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจของ
               มาร เป็นผู้เพลิดเพลิน อยู่ในภพน้อยภพใหญ่ และชื่อว่าเป็น
               สาวกของท่าน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กทา นุหํ ตัดเป็น กทา นุ อหํ เมื่อไรหนอเรา.
               บทว่า ปพฺพตกนฺทราสุ ความว่า ณ ที่ภูเขาและซอกเขา หรือที่ซอกแห่งภูเขา.
               บทว่า เอกากิโย แปลว่า ผู้ๆ เดียว.
               บทว่า อทฺทุติโย แปลว่า ไม่มีตัณหา. ก็ตัณหาชื่อเป็นที่ ๒ ของบุรุษ.
               บทว่า วิหสฺสํ แปลว่า จักอยู่.
               บทว่า อนิจฺจโต สพฺพภวํ วิปสฺสํ มีวาจาประกอบความว่า
               เราเมื่อพิจารณาเห็นภพแม้ทั้งหมด ต่างด้วยกามภพเป็นต้นว่า ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะมีแล้วกลับไม่มี ดังนี้ จักอยู่เมื่อไรหนอ ก็คำนั้นมีอันแสดงเป็นนิทัศน์ พึงทราบว่า ท่านกล่าวลักษณะทั้งสองแม้นอกนี้ไว้แล้วแล. เพราะพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา.
               บทว่า ตํ เม อิทํ ตํ นุ กทา ภวิสฺสติ ความว่า ความปริวิตกของเรานี้นั้น จักมีเมื่อไรหนอ คือจักถึงที่สุดเมื่อไรหนอ?
               ก็บทว่า ตํ ในบทว่า ตํ นุ นี้ เป็นเพียงนิบาต.
               ในที่นี้มีความสังเขปดังต่อไปนี้ว่า
               เมื่อไรหนอ เราตัดเครื่องผูกคือคฤหัสถ์ เหมือนช้างใหญ่ตัดเครื่องผูกเท้าช้าง ออกบวช พอกพูนกายวิเวก เป็นผู้โดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อนสอง ในซอกเขาทั้งหลาย ไม่อาลัยในอารมณ์ทั้งปวง พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยงจักอยู่.
               บทว่า ภินฺนปฏนฺธโร ความว่า เป็นผู้ทรงผ้าที่ถูกทำลาย, ท่านกล่าวไว้โดยลง อาคม เพื่อสะดวกแก่คาถา.
               อธิบายว่า ทรงไว้ซึ่งแผ่นผ้าเป็นจีวรที่ตัดด้วยศาสตรา ทำลายสัมผัสและสีอันเลิศ.
               บทว่า มุนิ ได้แก่บรรพชิต.
               บทว่า อมโม ความว่า ชื่อว่าไม่ยึดถือสิ่งใดว่าเป็นของตัว เพราะไม่มีความยึดถือในตระกูลหรือคณะ ว่าเป็นของๆ ตัว. ชื่อว่าไม่มีความหวัง เพราะไม่มีความหวังในอารมณ์แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า หนฺตฺวา สุขี ปวนคโต วิหสฺสํ ความว่า เราจักตัดกิเลสมีราคะเป็นต้นด้วยอริยมรรค อยู่เป็นสุข ด้วยสุขเกิดแต่มรรคและสุขอันเกิดแต่ผล ไปสู่ป่าใหญ่ จักอยู่เมื่อไรหนอ.
               บทว่า วธโรคนีฬํ ความว่า เป็นรังแห่งมรณะ และเป็นรังแห่งโรค.
               บทว่า กายํ อิมํ ได้แก่ ซึ่งกายกล่าวคือขันธ์ ๕ นี้.
               จริงอยู่ ขันธ์ทั้ง ๕ ท่านเรียกว่า กาย ในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย กายนี้แลคือนามรูปในภายนอก สำหรับบุรุษบุคคลผู้ถูกอวิชชาครอบงำ ผู้ถูกตัณหาติดตาม.
               บทว่า มจฺจุชรายุปทฺทุตํ ความว่า ถูกมรณะและชราบีบคั้น.
               อธิบายว่า เราเมื่อพิจารณาเห็น ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากภัย เพราะละเหตุแห่งภัยเสียได้ จักมีเมื่อไรหนอ.
               บทว่า ภยชนนึ ความว่า เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งภัยใหญ่ ๒๕ ชื่อว่านำมาซึ่งทุกข์ เพราะนำมาซึ่งทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นที่เป็นไปทางกายและเป็นไปทางใจ.
               บทว่า ตณฺหาลตํ พหุวิธานุวตฺตนึ ความว่า ตัณหาคือเครือเถาอันชื่อว่าเป็นไปตามมากหลาย เพราะเป็นไปตาม คือแล่นไปตามอารมณ์หรือภพเป็นอันมาก.
               บทว่า ปญฺญามยํ มีวาจาประกอบความว่า
               จับพระขรรค์คือดาบอันสำเร็จด้วยมรรคปัญญาที่ลับดีแล้วด้วยหัตถ์ คือศรัทธาอันประคองไว้ด้วยวิริยะ แล้วตัด ตรึกไปว่า เมื่อไรหนอเราพึงอยู่ เมื่อไรหนอความตรึกนั้นจักสำเร็จ.
               บทว่า อุคฺคเตชํ ความว่า มีเดชกล้า เพราะอาศัยอำนาจสมถะและวิปัสสนา.
               บทว่า สตฺถํ อิสีนํ ความว่า เป็นศัสตราของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกและฤาษีทั้งหลาย.
               บทว่า มารํ สเสนํ สหสา ภญฺชิสฺสํ ความว่า เราจักหักมารมีอภิสังขารมารเป็นต้น พร้อมด้วยเสนาคือกิเลส ชื่อสเสนะ โดยพลันคือโดยเร็วทีเดียว.
               บทว่า สีหาสเน ได้แก่ บนอาสนะอันมั่นคง. อธิบายว่า บนอปราชิตบัลลังก์.
               บทว่า สพฺภิ สมาคเมสุ ทิฏฺโว ภเว มีวาจาประกอบความว่า
               เราได้เห็นในการสมาคมด้วยคนดีทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ชื่อว่าหนักในธรรม เพราะประกอบด้วยความเคารพในธรรม. ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะถึงลักษณะแห่งผู้คงที่. ชื่อว่าผู้เห็นตามความเป็นจริง เพราะมีความเห็นไม่วิปริต. ชื่อว่าผู้มีอินทรีย์อันชนะแล้ว เพราะมีอินทรีย์อันชนะบาปด้วยอริยมรรคนั่นแล,
               ว่าเมื่อไรหนอ เราจักมีความเพียร เพราะฉะนั้น ความตรึกของเรานั้นจักสำเร็จเมื่อไร?
               โดยนัยนี้ พึงทราบบทโยชนาในที่ทั้งปวง เราจักพรรณนาเพียงอรรถเฉพาะบทเท่านั้น.
               บทว่า ตนฺทิ แปลว่า ความเกียจคร้าน.
               บทว่า ขุทา แปลว่า ความหิว.
               บทว่า กีฏสิรีสปา ได้แก่ แมลงและสัตว์เลื้อยคลาน.
               บทว่า น พาธยิสฺสนฺติ อธิบายว่า จักไม่เบียดเบียนเรา เพราะห้ามสุขทุกข์ โสมนัสและโทมนัสเสียได้ด้วยฌาน.
               บทว่า คิริพฺพเช ได้แก่ ในซอกเขา.
               บทว่า อตฺถตฺถิยํ ความว่า มีความต้องการด้วยประโยชน์ กล่าวคือประโยชน์ตน.
               บทว่า ยํ วิทิตํ มเหสินา ความว่า สัจจะ ๔ อันท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้วคือแทงตลอดแล้ว, เราผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้วด้วยมรรคสมาธิ เป็นผู้มีสติด้วยสัมมาสติ มาถึง คือจักแทงตลอด ได้แก่จักบรรลุสัจจะ ๔ เหล่านั้นที่เห็นได้แสนยาก ด้วยกุศลสมภารอันเราสั่งสมมาด้วยปัญญาในอริยมรรค.
               บทว่า รูเป ได้แก่ ในรูปอันจะรู้ได้ด้วยจักษุ.
               บทว่า อมิเต ความว่า ไม่รู้แล้วด้วยญาณ. อธิบายว่า กำหนดไม่ได้แล้ว คือกำหนดรู้ไม่ได้แล้ว.
               บทว่า ผุสิเต แปลว่า พึงถูกต้อง.
               บทว่า ธมฺเม ได้แก่ ในธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อมิเต ได้แก่ ในรูปหาประมาณมิได้ คือแตกต่างกันหลายประเภท ด้วยสามารถสีเขียวเป็นต้น, และสัททรูปเป็นต้นอันแตกต่างกันหลายประเภท ด้วยอำนาจเสียงกลองเป็นต้น ด้วยอำนาจรสที่รากเป็นต้น ด้วยสามารถความเป็นของหยาบและอ่อนเป็นต้น และด้วยอำนาจเป็นสุขและทุกข์เป็นต้น.
               บทว่า อาทิตฺตโต เพราะเป็นธรรมชาติอันไฟ ๑๑ กองติดทั่วแล้ว.
               บทว่า สมเถหิ ยุตฺโต ได้แก่ ประกอบด้วยฌาน วิปัสสนา และมรรคสมาธิ.
               บทว่า ปญฺญาย ทจฺฉํ ความว่า จักเห็นด้วยปัญญาในมรรค อันประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา.
               บทว่า ทุพฺพจเนน วุตฺโต ได้แก่ สืบต่อด้วยคำที่กล่าวชั่ว.
               บทว่า ตโต นิมิตฺตํ ได้แก่ เพราะเหตุแห่งผรุสวาจา.
               บทว่า วิมโน น เหสฺสํ ความว่า ไม่พึงเกิดโทมนัส.
               บทว่า อโถ แก้เป็น อถ แปลว่า อนึ่ง.
               บทว่า กฏฺเฐ ได้แก่ ในท่อนไม้.
               บทว่า ติเณ ได้แก่ กองหญ้า.
               บทว่า อิเม ได้แก่ ขันธ์ ๕ อันนับเนื่องในสันตติของเราเหล่านี้.
               บทว่า อมิเต จ ธมฺเม ได้แก่ ในรูปธรรม อันกำหนดนับไม่ได้ ด้วยอินทรีย์ขันธ์อื่น. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นไปในภายในและเป็นไปในภายนอก ดังนี้.
               บทว่า สมํ ตุเลยฺยํ ความว่า พิจารณาสิ่งทั้งปวงให้สม่ำเสมอทีเดียวด้วยสามารถอนิจจลักษณะเป็นต้น และด้วยสามารถอุปมาด้วยสิ่งอันหาสาระมิได้เป็นต้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญญาสนิบาต ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 398อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 399อ่านอรรถกถา 26 / 400อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8303&Z=8477
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=11694
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=11694
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :