ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 392อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 393อ่านอรรถกถา 26 / 394อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต
๙. อนุรุทธเถรคาถา

               อรรถกถาอนุรุทธเถรคาถาที่ ๙               
               คาถาของท่านพระอนุรุทธเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปหาย มาตาปิตโร ดังนี้.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน บังเกิดเป็นกุฏุมพีผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ วันหนึ่ง เขาไปวิหารฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุผู้มีจักษุทิพย์ แม้ตนเองก็ปรารถนาฐานันดรนั้น จึงยังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วันแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุบริวารแสนหนึ่ง ในวันที่ ๗ ได้ถวายผ้าชั้นเลิศแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วกระทำปณิธานความปรารถนาไว้.
               ฝ่ายพระศาสดาทรงทราบว่าความปรารถนาของเขาจะสำเร็จโดยไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล จักเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้มีจักษุทิพย์ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม.
               แม้เขาก็ทำบุญทั้งหลายในพระศาสดานั้น เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อพระเจดีย์ทองสูง ๗ โยชน์สำเร็จแล้ว ก็ทำการบูชาประทีปอย่างโอฬาร ด้วยต้นไม้ประดับประทีปและตัวประทีปหลายพัน โดยอธิษฐานว่า ขอจงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่ทิพยจักษุญาณเถิด.
               เขากระทำบุญทั้งหลายจนตลอดชีวิตด้วยประการอย่างนี้ แล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป บังเกิดในเรือนกุฏุมพีในเมืองพาราณสี ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อสร้างพระเจดีย์ทองโยชน์หนึ่งสำเร็จแล้วให้สร้างถาดสำริดเป็นจำนวนมาก บรรจุเต็มด้วยเนยใสอย่างใส แล้ววางก้อนงบน้ำอ้อยก้อนหนึ่งๆ ไว้ตรงกลาง วางล้อมพระเจดีย์ให้ขอบปากกับขอบปาก (ถาด) จดกัน ส่วนตนให้สร้างถาดสำริดใหญ่ถาดหนึ่ง บรรจุเต็มด้วยเนยใสอย่างใส ตามไส้ ๑,๐๐๐ ไส้ให้สว่างโพลง แล้วทูนศีรษะเดินเวียนพระเจดีย์ตลอดคืนยังรุ่ง.
               ในอัตภาพแม้นั้น เขาทำกุศลจนตลอดชีวิตด้วยประการอย่างนี้ จุติจากอัตภาพนั้นไปบังเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ในเทวโลกนั้นจนตลอดอายุ จุติจากเทวโลกนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ ได้บังเกิดในตระกูลเข็ญใจ ในเมืองพาราณสีนั่นแล ได้มีชื่อว่าอันนภาระ. นายอันนภาระนั้นกระทำการงานในเรือนของสุมนเศรษฐีเลี้ยงชีวิตอยู่.
               วันหนึ่ง เขาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว เหาะจากภูเขาคันธมาทน์ มาลงใกล้ประตูเมืองพาราณสี ห่มจีวรแล้วเข้าไปบิณฑบาตในเมือง มีจิตเลื่อมใสรับบาตร เริ่มประสงค์จะใส่ภัตตาหารที่เขาแบ่งไว้ส่วนหนึ่งซึ่งเขาเก็บไว้เพื่อตน ในบาตรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า. ฝ่ายภรรยาของเขาก็ใส่ภัตตาหารอันเป็นส่วนของตนในบาตรนั้นเหมือนกัน. เขานำบาตรนั้นไปวางในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ารับบาตรนั้น กระทำอนุโมทนาแล้วหลีกไป. เพราะได้เห็นการกระทำนั้น ตกกลางคืน เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ฉัตรของสุมนเศรษฐี ได้อนุโมทนาด้วยเสียงดังๆ ว่า โอ ทาน เป็นทานอย่างเยี่ยม นายอันนภาระประดิษฐานไว้ดีแล้วในพระอริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า.
               สุมนเศรษฐีได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า ทานที่เทวดาอนุโมทนาอย่างนี้นี่แหละ เป็นอุดมทาน จึงขอส่วนบุญในทานนั้น. ฝ่ายนายอันนภาระได้ให้ส่วนบุญแก่ท่านเศรษฐีนั้น. สุมนเศรษฐีมีจิตเลื่อมใสกับนายอันนภาระนั้น ได้ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่เขาแล้วกล่าวว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านไม่มีกิจในการทำงานด้วยมือของตน ท่านจงสร้างบ้านให้เหมาะสมแล้วอยู่ประจำเถิด.
               เพราะเหตุที่บิณฑบาตซึ่งถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมมีวิบากโอฬารมากในวันนั้นเอง เพราะฉะนั้น ในวันนั้น สุมนเศรษฐีเมื่อจะไปเฝ้าพระราชา จึงได้พานายอันนภาระนั้นไปด้วย. แม้พระราชาก็ทรงทอดพระเนตรด้วยความเอื้อเฟื้อ. เศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้นี้สมควรเป็นผู้จะพึงทอดพระเนตรทีเดียว พระเจ้าข้า. แล้วกราบทูลถึงบุญที่เขาทำในกาลนั้น ทั้งความที่ตนได้ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่เขาให้ทรงทราบ.
               พระราชาทรงสดับดังนั้นก็ทรงโปรด ได้ประทานทรัพย์พันหนึ่ง แล้วทรงสั่งว่า เจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในที่ชื่อโน้น.
               เมื่อนายอันนภาระกำลังชำระสถานที่นั้นอยู่ หม้อทรัพย์ใหญ่ก็ผุดขึ้น เขาเห็นดังนั้นจึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ.
               พระราชารับสั่งให้ขนทรัพย์ทั้งหมดมากองไว้แล้วตรัสถามว่า ในนครนี้ ในเรือนของใครมีทรัพย์ประมาณเท่านี้บ้าง. อำมาตย์ราชบริพารพากันกราบทูลว่า ของใครๆ ไม่มีพระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น อันนภาระนี้จงเป็นผู้ชื่อว่าอันนภารเศรษฐีในนครนี้ ดังนี้แล้ว พระราชทานฉัตรเศรษฐีแก่เขาในวันนั้นเอง.
               จำเดิมแต่นั้น เขากระทำกุศลกรรมจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้น ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้ถือปฏิสนธิในพระราชมนเทียรของพระเจ้าสุกโกทนศากยะ ในเมืองกบิลพัสดุ์ ได้มีพระนามว่าอนุรุทธะ.
               เจ้าอนุรุทธะนั้นเป็นพระกนิษฐภาดาของเจ้ามหานามศากยะ เป็นโอรสของพระเจ้าอาของพระศาสดา เป็นผู้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง มีบุญมาก อันพวกหญิงนักฟ้อนผู้ประดับประดาแวดล้อมอยู่ในปราสาท ๓ หลังอันเหมาะสมแก่ฤดูทั้ง ๓ เสวยสมบัติดุจเทวดา เข้าไปเฝ้าพระศาสดาผู้เสด็จประทับอยู่ในอนุปิยอัมพวัน กับกุมารทั้งหลายมีภัททิยกุมารเป็นต้น ผู้อันเจ้าศากยะทั้งหลายซึ่งพระเจ้าสุทโธทนมหาราชให้กำลังใจสั่งไปเพื่อเป็นบริวารของพระศาสดา จึงบวชในสำนักของพระศาสดา.
               ก็ในภายในพรรษานั่นเอง ทำทิพยจักษุให้บังเกิด แล้วเรียนเอากรรมฐานในสำนักของพระธรรมเสนาบดี แล้วไปยังปาจีนวังสทายวัน ในเจติยรัฐ กระทำสมณธรรมอยู่ ตรึกถึงมหาปุริสวิตกได้ ๗ ประการ ไม่อาจรู้ประการที่ ๘.
               พระศาสดาทรงทราบความเป็นไปของเธอ จึงตรัสมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ แล้วทรงแสดงมหาอริยวังสปฏิปทาอันประดับด้วยความยินดีในการเจริญสันโดษด้วยปัจจัย ๔.
               ท่านพระอนุรุทธะนั้นเจริญวิปัสสนาตามแนวแห่งพระธรรมเทศนานั้น ได้ทำให้แจ้งพระอรหัตมีอภิญญาและปฏิสัมภิทาเป็นองค์ประกอบ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธ เชษฐบุรุษของโลก เป็นนระผู้องอาจ ผู้นายกของโลก เสด็จหลีกเร้นอยู่ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระสุเมธสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก แล้วได้ประคองอัญชลี ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดว่า ข้าแต่พระมหาวีรเจ้าผู้เชษฐบุรุษของโลกเป็นนระผู้องอาจ ขอจงทรงอนุเคราะห์เถิด ข้าพระองค์ขอถวายประทีปแก่พระองค์ผู้เข้าฌานอยู่ที่ควงไม้
               พระสยัมภูผู้ประเสริฐธีรเจ้านั้นทรงรับแล้วจึงห้อยไว้ที่ต้นไม้ ประกอบยนต์ในกาลนั้น เราได้ถวายไส้ตะเกียงน้ำมันพันหนึ่ง แก่พระพุทธเจ้าผู้เผ่าพันธุ์ของโลก ประทีปลุกโพลงอยู่ ๗ วันแล้วดับไปเอง ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้นและด้วยการตั้งเจตนาไว้ เราละกายมนุษย์แล้วได้เข้าถึงวิมาน
               เมื่อเราเข้าถึงความเป็นเทวดา วิมานอันบุญกุศลนิรมิตไว้เรียบร้อย ย่อมรุ่งโรจน์โดยรอบ นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป. เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๘ ครั้ง เวลานั้น เรามองเห็นได้ตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบทั้งกลางวันกลางคืน เราย่อมไพโรจน์ทั่วโยชน์หนึ่งโดยรอบ ในกาลนั้น ย่อมครอบงำเทวดาทั้งปวงได้ นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป. เราได้เป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐ กัป ใครๆ ย่อมไม่ดูหมิ่นเราได้ นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป. เราได้บรรลุทิพยจักษุมองเห็นได้ตลอดพันโลกด้วยญาณในศาสนาของพระศาสดา นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป.
               พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธ เสด็จอุบัติในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ นับแต่กัปนี้ เรามีจิตผ่องใสได้ถวายประทีปแก่พระองค์ คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ ... ฯลฯ ... คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๖

               ครั้นในกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีจักษุทิพย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนุรุทธะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้มีจักษุทิพย์.
               ท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ วันหนึ่งพิจารณาข้อปฏิบัติของตนแล้วเกิดปิติโสมนัส ได้กล่าวคาถาด้วยสามารถอุทานมีอาทิว่า เราละพระชนกและพระชนนี ดังนี้.
               ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อจะประกาศการบรรพชาและการบรรลุพระอรหัตของพระเถระ ได้กล่าวคาถา ๔ คาถาข้างต้น คาถาต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระทัยโปรดปรานอริยวังสปฏิบัติของพระเถระ จึงตรัสไว้. คาถานอกนี้แม้ทั้งหมด พระเถระเท่านั้นกล่าวไว้ตามเหตุการณ์นั้นๆ.
               ดังนั้น คาถาเหล่านี้ทั้งที่พระเถระกล่าวไว้ ทั้งที่ตรัสไว้โดยเฉพาะพระเถระ ก็พึงทราบว่า เป็นคาถาของพระเถระแม้โดยประการทั้งปวง.
               คือท่านกล่าวคาถาเหล่านี้ไว้ว่า
                         พระอนุรุทธะละพระชนกชนนี ละพระประยูรญาติ
               ละเบญจกามคุณได้แล้ว เพ่งฌานอยู่ บุคคลผู้เพียบพร้อม
               ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง มีดนตรีบรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจ
               อยู่ทุกเช้าค่ำ ก็ไม่บรรลุถึงความบริสุทธิ์ด้วยการฟ้อนรำ
               ขับร้องนั้นได้ เพราะยังเป็นผู้ยินดีในกามคุณอันเป็นวิสัย
               แห่งมาร.
                         พระอนุรุทธะก้าวล่วงเบญจกามคุณนั้นแล้ว ยินดีใน
               พระพุทธศาสนา ก้าวล่วงโอฆะทั้งปวงแล้ว เพ่งฌานอยู่.
               พระอนุรุทธะได้ก้าวล่วงกามคุณเหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น
               รส โผฏฐัพพะอันรื่นรมย์ใจ เพ่งฌานอยู่.
                         พระอนุรุทธะเป็นนักปราชญ์ หาอาสวะมิได้ ผู้เดียว
               ไม่มีเพื่อน กลับจากบิณฑบาตแล้วเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุล
               อยู่. พระอนุรุทธะเป็นนักปราชญ์ มีปรีชา หาอาสวะมิได้
               เที่ยวเลือกหาเอาแต่ผ้าบังสุกุล ครั้นได้มาแล้ว ก็มาซักย้อม
               เอาเองแล้วนุ่งห่ม.
                         บาปธรรมอันเศร้าหมองเหล่านี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้มัก
               มาก ไม่สันโดษ ระคนด้วยหมู่ มีจิตฟุ้งซ่าน.
                         อนึ่ง ภิกษุใดเป็นผู้มีสติ มักน้อย สันโดษ ไม่มีความ
               ขัดเคือง ยินดีในวิเวก ชอบสงัด ปรารภความเพียรเป็นนิตย์
               กุศลธรรมซึ่งเป็นฝ่ายให้ตรัสรู้เหล่านี้ย่อมมีแก่ภิกษุนั้น ทั้ง
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ก็ตรัส
               สรรเสริญภิกษุนั้นว่า เป็นผู้หมดอาสวะ.
                         พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริ
               ของเราแล้ว เสด็จมาหาเราด้วยมโนมยิทธิทางกาย เมื่อใด
               ความดำริได้มีแก่เรา เมื่อนั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบความ
               ดำริของเราแล้ว ได้เสด็จเข้ามาหาเราด้วยพระฤทธิ์ แล้ว
               ทรงแสดงธรรมอันยิ่งแก่เรา
                         พระพุทธเจ้าผู้ทรงยินดีในธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้า ได้
               ทรงแสดงธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้าแก่เรา เรารู้ทั่วถึงพระธรรม
               เทศนาของพระองค์แล้ว เป็นผู้ยินดีในพระศาสนา ปฏิบัติ
               ตามคำพร่ำสอนอยู่ เราบรรลุวิชชา ๓ โดยลำดับ ได้ทำตาม
               คำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว.
                         เราถือการไม่นอนเป็นวัตรมาเป็นเวลา ๕๕ ปี เรากำจัด
               ความง่วงเหงาหาวนอนมาแล้วเป็นเวลา ๒๕ ปี
                         ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
               ภิกษุทั้งหลายถามเราว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว
               หรือยัง เราได้ตอบว่า ลมหายใจออกและหายใจเข้ามิได้มีแก่
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น ผู้คงที่ แต่พระองค์
               ยังไม่ปรินิพพานก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระจักษุ ผู้ไม่
               มีตัณหาเป็นเครื่องทำใจให้หวั่นไหว ทรงทำนิพพานให้เป็น
               อารมณ์ คือเสด็จออกจากจตุตถฌานแล้วจึงจะเสด็จปรินิพพาน
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอดกลั้นเวทนาด้วยพระหฤทัยอันเบิก
               บาน
                         ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นดวงประทีปของชาวโลก
               พร้อมเทวโลก เสด็จดับขันธปรินิพพาน ความพ้นพิเศษแห่ง
               พระหฤทัยได้มีขึ้นแล้ว บัดนี้ ธรรมเหล่านี้อันมีสัมผัสเป็นที่ ๕
               ของพระมหามุนี ได้สิ้นสุดลงแล้ว ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
               เสด็จปรินิพพานแล้ว จิตและเจตสิกธรรมเหล่าอื่นจักไม่มีอีก
               ต่อไป.
                         ดูก่อนเทวดา บัดนี้การอยู่อีกต่อไปด้วยอำนาจการอุบัติ
               ในเทพนิกายย่อมไม่มี ชาติสงสารสิ้นไปแล้ว บัดนี้การเกิดใน
               ภพใหม่มิได้มี.
                         ภิกษุใดรู้แจ้งมนุษยโลก เทวโลกพร้อมทั้งพรหมโลก อัน
               มีประเภทตั้งพันได้ในเวลาครู่เดียว ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณ
               คืออิทธิฤทธิ์ และในการจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ภิกษุ
               รูปนั้นย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ตามความประสงค์.
                         เมื่อก่อนเรามีนามว่า อันนภาระ เป็นคนยากจนเที่ยวรับ
               จ้างหาเลี้ยงชีพ ได้ถวายอาหารแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า
               ผู้เป็นสมณะผู้เรืองยศ. เพราะบุญกรรมที่ได้ทำมาแล้ว เราจึง
               ได้มาเกิดในศากยตระกูล พระประยูรญาติได้ขนานนามให้
               เราว่า อนุรุทธะ เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำและขับร้อง
               มีเครื่องดนตรีบรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า.
                         ต่อมาเราได้เห็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มี
               ภัยแต่ที่ไหนๆ ได้ยังจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ท่านแล้ว ออก
               บวชเป็นบรรพชิต
                         เราระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ เราได้เคยเป็นท้าวสักกรินทร์
               เทวราช อยู่ดาวดึงส์เทพพิภพมาแล้ว เราได้ปราบปรามไพรี
               พ่ายแพ้แล้ว ขึ้นผ่านสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์
               นิกรในชมพูทวีป มีสมุทรสาครทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ๗ ครั้ง
               ได้ปกครองปวงประชานิกรโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญา
               หรือศาสตราใดๆ
                         เราระลึกชาติหนหลังในคราวที่อยู่ในมนุษยโลกได้ดังนี้
               คือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ เป็นพระอินทร์ ๗ ชาติ รวม
               การท่องเที่ยวอยู่เป็น ๑๔ ชาติด้วยกัน.
                         ในเมื่อสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นธรรมอันเอก
               ปรากฏขึ้น ที่เราได้ความสงบระงับกิเลส ทิพยจักษุของเราจึง
               บริสุทธิ์. เราดำรงอยู่ในฌานอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ
               รู้จุติและอุปบัติ การมา การไป ความเป็นอย่างนี้และความเป็น
               อย่างอื่นของสัตว์ทั้งหลาย.
                         เรามีความคุ้นเคยกับพระบรมศาสดาเป็นอย่างดี เราได้
               ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนัก
               ลงได้แล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว เป็นผู้ไม่มี
               อาสวะ จักนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภายใต้พุ่ม
               กอไผ่ ใกล้บ้านเวฬุวคาม แคว้นวัชชี.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหาย แปลว่า ละแล้ว.
               บทว่า มาตาปิตโร แปลว่า พระชนนีและพระชนก.
               จริงอยู่ ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ :-
               ใครๆ อื่นถูกความเสื่อมญาติและความเสื่อมโภคทรัพย์ครอบงำ จึงบวช และบวชแล้วก็ขวนขวายกิจอื่นอยู่ฉันใด เราฉันนั้นหามิได้ ก็เราละวงญาติใหญ่และกองโภคทรัพย์มาก ไม่อาลัยในกามทั้งหลายบวชแล้ว.
               บทว่า ฌายติ ได้แก่ เป็นผู้ขวนขวายฌานแม้ทั้งสอง คือ อารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิฌานอยู่.
               บทว่า สเมโต นจฺจคีเตหิ ได้แก่ เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยการฟ้อนและการขับ.
               อธิบายว่า ดูการฟ้อน ฟังการขับร้องอยู่.
               บางอาจารย์กล่าวว่า สมฺมโต ดังนี้ก็มี.
               อธิบายว่า อันเขาบูชาแล้วด้วยการฟ้อนและการขับร้อง.
               บทว่า สมฺมตาฬปฺปโพธโน ความว่า เป็นผู้อันเขาพึงปลุกให้ตื่นในเวลาใกล้รุ่งด้วยเสียงดนตรีทั้งหลาย.
               บทว่า น เตน สุทฺธิมชฺฌคํ ความว่า เราไม่ได้บรรลุถึงความบริสุทธิ์ในสงสาร เพราะการบริโภคกามนั้น.
               บทว่า มารสฺส วิสเย รโต ได้แก่ เป็นผู้ยินดีในกามคุณอันเป็นอารมณ์ของกิเลสมาร.
               อธิบายว่า ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สังสารสุทธิ ความบริสุทธิ์ในสงสาร ย่อมมีเพราะการบริโภคกามคุณอันเป็นอารมณ์ของกิเลสมาร.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก้าวล่วงเบญจกามคุณนั้น ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตํ ได้แก่ กามคุณทั้ง ๕ ประการนั้น.
               บทว่า สมติกฺกมฺม แปลว่า ก้าวล่วงพ้นไปแล้ว. อธิบายว่า เป็นผู้ไม่ห่วงใยละทิ้งไป.
               บทว่า สพฺโพฆํ ได้แก่ โอฆะทั้งปวง มีโอฆะคือกามเป็นต้น.
               เพื่อจะแสดงกามคุณ ๕ โดยสรุปจึงกล่าวคำมีอาทิว่า รูป เสียง ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มโนรมา มีวิเคราะห์ดังต่อไปนี้ :-
               กามคุณมีอาทิว่า เสียง ชื่อว่าเป็นที่รื่นรมย์ใจ คือเป็นที่ทำใจให้เอิบอาบ เพราะทำใจให้ยินดี โดยอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ.
               บทว่า ปิณฺฑปาตมติกฺกนฺโต ได้แก่ ผู้ล่วงพ้นการรับบิณฑบาต.
               อธิบายว่า กลับจากการรับบิณฑบาต.
               บทว่า เอโก ได้แก่ เป็นผู้เดียวไม่มีปัจฉาสมณะ.
               บทว่า อทุติโย ได้แก่ ผู้หมดตัณหา.
               จริงอยู่ ตัณหาชื่อว่าเป็นเพื่อนสองของคน. เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง.
               บทว่า เอสติ แปลว่า แสวงหา.
               บทว่า วิจินิ ความว่า เมื่อแสวงหา ได้เลือกหาในที่ที่เกิดผ้าบังสุกุลมีกองหยากเยื่อเป็นต้นในที่นั้นๆ .
               บทว่า อคฺคหิ ความว่า ครั้นเลือกหาแล้ว ไม่เกลียดแม้ผ้าที่เปื้อนของไม่สะอาด จึงถือเอา.
               บทว่า โธวิ แปลว่า ทำให้สะอาดแล้ว.
               บทว่า รชยิ ได้แก่ ซักแล้วเย็บให้ติดกัน แล้วย้อมด้วยการย้อมอันเป็นกัปปิยะของสมควร.
               บทว่า ธารยิ ได้แก่ ครั้นย้อมแล้ว ทำพินทุกัปแล้วใช้ครอง คือนุ่งและห่ม.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อแสดงโอวาทที่พระศาสดาทรงประทานในปาจีนวังสทายวัน และความที่ตนถึงที่สุดแห่งโอวาทนั้น จึงได้กล่าวคาถามีอาทิว่า ผู้มักมาก ไม่สันโดษ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหิจฺโฉ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความอยากได้ปัจจัยมาก. อธิบายว่า ปรารถนาปัจจัยอันยิ่งใหญ่และมาก.
               บทว่า อสนฺตุฏฺโฐ ได้แก่ ผู้ไม่สันโดษ คือเว้นจากสันโดษมียถาลาภสันโดษเป็นต้น.
               บทว่า สํสฏฺโฐ ได้แก่ ผู้ระคนด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิต ด้วยการระคนอันไม่ควร.
               บทว่า อุทฺธโต แปลว่า ผู้ฟุ้งซ่าน.
               บทว่า ตสฺส ได้แก่ บุคคลที่กล่าวโดยนัยมีอาทิว่า ผู้มักมาก.
               บทว่า ธมฺมา ได้แก่ ธรรมทั้งหลายเช่นนี้ คือความมักมาก ความไม่สันโดษ ความเป็นผู้ระคนด้วยหมู่ ความฟุ้งซ่าน. ชื่อว่าบาป เพราะอรรถว่าลามก.
               บทว่า สงฺกิเลสา ได้แก่ ธรรมทั้งหลายชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะกระทำความเศร้าหมองให้แก่จิตนั้น.
               บทว่า สโต จ โหติ อปฺปิจฺโฉ ความว่า ก็ในกาลใด บุคคลนี้เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตร ฟังสัทธรรม ใส่ใจโดยแยบคาย เป็นผู้มีสติ และละความมักมากเสีย เป็นผู้มักน้อย. ในกาลนั้น ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ เพราะละความไม่สันโดษ. ชื่อว่าผู้ไม่ขัดเคือง เพราะละความฟุ้งซ่านอันกระทำความขัดเคืองจิต. ผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตเป็นสมาธิ. ชื่อว่าผู้ยินดีในความสงัด เพราะละการคลุกคลีกับหมู่. ชื่อว่าเป็นผู้สงัดแล้วเพราะยินดียิ่งในความวิเวก ด้วยความหน่าย (และ) ด้วยความเอิบอิ่มในธรรม คือมีใจดี มีจิตยินดี. ชื่อว่าปรารภความเพียร เพราะละความเกียจคร้าน.
               บุคคลนั้นผู้ประกอบด้วยคุณมีความมักน้อยเป็นต้นอย่างนี้ ย่อมมีโพธิปักขิยธรรมอันนับเนื่องในมรรคมี ๓๗ ประเภทมีสติปัฏฐานเป็นต้นอันสงเคราะห์เอาวิปัสสนา ๓ อย่าง. ชื่อว่าเป็นกุศล เพราะอรรถว่าเกิดจากความฉลาด.
               บุคคลนั้นผู้ประกอบด้วยโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีอาสวะ จำเดิมแต่ขณะแห่งอรหัตมรรค เพราะทำอาสวะทั้งหลายให้สิ้นไปด้วยประการทั้งปวง.
               อธิบายว่า ด้วยอำนาจการให้ถึงที่สุดในมหาปุริสวิตก ในป่าปาจีนวังสทายวัน อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ตรัสไว้ดังนี้คือด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า มม สงฺกปฺปมญฺญาย ความว่า ทรงรู้ความดำริของเราผู้ปรารภมหาปุริสวิตกโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้สำหรับผู้มักน้อย ธรรมนี้ไม่ใช่สำหรับผู้มักมาก และซึ่งตั้งอยู่โดยภาวะไม่สามารถเพื่อจะให้มหาปุริสวิตกเหล่านั้นถึงที่สุดลงได้.
               บทว่า มโนมเยน ได้แก่ ดุจสำเร็จด้วยใจ.
               อธิบายว่า เปลี่ยนแปลงไปได้เหมือนกับเนรมิตด้วยใจ.
               บทว่า อิทฺธิยา ได้แก่ ด้วยอธิษฐานฤทธิ์ซึ่งเป็นไปอย่างนี้ว่า กายนี้จงเป็นเหมือนจิตนี้.
               บทว่า ยทา เม อหุ สงฺกปฺโป มีวาจาประกอบความว่า
               ในกาลใด เราได้มีความปริวิตกว่า มหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ เป็นเช่นไรหนอแล ในกาลนั้น ทรงทราบความดำริของเรา ได้เสด็จเข้าไปหาเราด้วยพระฤทธิ์.
               บทว่า อุตฺตริ เทสยิ ความว่า ทรงแสดงสูงขึ้นให้มหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ ครบบริบูรณ์ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้สำหรับผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นที่มายินดี ผู้ยินดีในธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่สำหรับผู้มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าเป็นที่มายินดี ผู้ยินดีในธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า.
               ก็พระเถระเมื่อจะแสดงธรรมที่ทรงแสดงแล้วนั้น จึงกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงยินดีในธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้า ทรงแสดงธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้า.
               อธิบายว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ชื่อว่าปปัญจธรรม ธรรมเครื่องเนิ่นช้า. โลกุตรธรรมทั้งหลาย ชื่อว่านิปปปัญจธรรม ธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้า เพราะเข้าไปสงบระงับกิเลสเหล่านั้น และเพราะกิเลสเหล่านั้นไม่มี,
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยินดี คือทรงยินดียิ่งในธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้านั้น ได้ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงบรรลุเช่นนั้น คือทรงประกาศพระธรรมเทศนาว่าด้วยสัจจะทั้ง ๔ ที่พระองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง.
               บทว่า ตสฺสาหํ ธมฺมมญฺญาย ความว่า เรารู้พระธรรมเทศนาของพระศาสดานั้นแล้ว ปฏิบัติตามที่ทรงพร่ำสอนอยู่ เป็นผู้ยินดีคือยินดียิ่งในคำสอนอันสงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓.
               พระเถระครั้นแสดงการสมาคมการอยู่ร่วมของตน ซึ่งเป็นประโยชน์อันพระศาสดาทรงให้สำเร็จแล้วด้วยการสมาคมนั้น บัดนี้เมื่อจะแสดงความเป็นผู้ปรารภความเพียร จำเดิมแต่กาลที่ตนบวชแล้ว และการเสียสละความสุขในการนอนและความสุขในการนอนข้าง เพราะความเป็นผู้ไม่ห่วงในร่างกายและความเป็นผู้ปรารภความเพียร จำเดิมแต่กาลที่มีมิทธะน้อย จึงกล่าวคาถาว่า ปญฺจปญฺญาสวสฺสานิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต เนสชฺชิโก อหํ ความว่า
               จำเดิมแต่กาลที่เราได้เห็นคุณมีอาทิอย่างนี้ว่า ความเกื้อกูลแก่การประกอบความเพียร ความประพฤติของสัปบุรุษอันเกี่ยวเนื่องด้วยกรรมฐาน และความประพฤติขัดเกลากิเลส แล้วเป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรนั้นเป็นเวลา ๕๕ ปี.
               บทว่า ยโต มิทฺธํ สมูหตํ ความว่า จำเดิมแต่กาลที่เราเสียสละการนอนหลับนั้นเป็นเวลา ๒๕ ปี.
               บางอาจารย์กล่าวว่า พระเถระเป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ๕๕ ปี เบื้องต้นไม่ได้หลับ ๒๕ ปี ต่อแต่นั้นจึงได้หลับในเวลาปัจฉิมยาม เพราะร่างกายอ่อนเปลี้ย.
               คาถา ๓ คาถามีอาทิว่า นาหุ อสฺสาสปสฺสาสา นี้ พระเถระถูกภิกษุทั้งหลายถามในเวลาที่พระศาสดาเสด็จปรินิพพานว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วหรือ? เมื่อจะประกาศภาวะคือการปรินิพพานจึงกล่าวไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาหุ อสฺสาสปสฺสาสา ฐิตจิตฺตสฺส ตาทิโน ความว่า
               ลมอัสสาสปัสสาสะมิได้มีแก่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าผู้คงที่ ผู้เข้าสมาบัติทุกอย่างอันเกลื่อนกล่นด้วยอาการต่างๆ โดยอนุโลมและปฏิโลม แล้วออกจากสมาบัติในตอนหลังสุด มีพระหฤทัยตั้งมั่นอยู่ในจตุตถฌาน.
               ด้วยคำนั้น ท่านแสดงว่า กายสังขารของท่านผู้เข้าจตุตถฌาน ย่อมดับไป และลมอัสสาสปัสสาสะ ท่านเรียกว่ากายสังขาร เพราะเหตุนั้น จำเดิมแต่ขณะอยู่ในจตุตถฌาน ลมอัสสาสปัสสาสะจึงไม่มี.
               ชื่อว่าผู้ไม่หวั่นไหว เพราะไม่มีความหวั่นไหว กล่าวคือตัณหา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผู้ไม่หวั่นไหว เพราะเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ.
               บทว่า สนฺติมารพฺภ ได้แก่ ปรารภ คืออาศัย หมายเอาอนุปาทิเสสนิพพาน.
               บทว่า จกฺขุมา ได้แก่ ผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕.
               บทว่า ปรินิพฺพุโต แปลว่า ปรินิพพานแล้ว.
               จริงอยู่ ในคำนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าผลสมาบัติในจตุตถฌานอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในลำดับแห่งจตุตถฌานนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า อสลฺลีเนน ได้แก่ มีพระหฤทัยไม่หดหู่ คือเบิกบานดีแท้.
               บทว่า เวทนํ อชฺฌวาสยิ ความว่า เป็นผู้มีสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนาอันเกิดในเวลาใกล้มรณะ. คือไม่เป็นไปตามเวทนาดิ้นรนไปรอบๆ.
               ด้วยบทว่า ปชฺโชตสฺเสว นิพฺพานํ วิโมกฺโข เจตโส อหุ ท่านแสดงว่า ประทีปที่ลุกโพลง อาศัยน้ำมัน อาศัยไส้ จึงโพลงอยู่ เมื่อน้ำมันและไส้หมด ย่อมดับไป และดับแล้ว ย่อมไม่ไปอยู่ที่ไหนๆ ย่อมหายไปโดยแท้ ย่อมถึงการมองไม่เห็นฉันใด ขันธสันดานก็ฉันนั้น อาศัยกิเลสและอภิสังขารเป็นไปอยู่ เมื่อกิเลสและอภิสังขารเหล่านั้นสิ้นไป ย่อมดับไป และดับไปแล้วย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ย่อมอันตรธานไปโดยแท้ ย่อมถึงการมองไม่เห็นเลย
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมดับไป เหมือนดวงประทีปนี้ดับไปฉะนั้น และมีอาทิว่าเหมือนเปลวไฟถูกกำลังลมเป่าฉะนั้น.
               บทว่า เอเต นี้ ท่านกล่าวโดยความที่ธรรมทั้งหลายอันเป็นไปในพระสันดานของพระศาสดา ในขณะเวลาจะปรินิพพาน ได้ประจักษ์แก่ตน. ชื่อว่ามีครั้งสุดท้าย เพราะเบื้องหน้าแต่นั้นไม่มีการเกิดขึ้นแห่งจิต.
               บทว่า ทานิ แปลว่า บัดนี้.
               บทว่า ผสฺสปญฺจมา นี้ ท่านกล่าวโดยความที่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ ปรากฏขึ้น. จริงอย่างนั้น แม้ในกถาว่าด้วยจิตตุปบาท ท่านก็กล่าวธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ ไว้ข้างต้น.
               บทว่า อญฺเญ ธมฺมา ได้แก่ ธรรม คือจิตและเจตสิกเหล่าอื่นพร้อมด้วยที่อาศัย ไม่ใช่จิตและเจตสิกในเวลาปรินิพพาน.
               ถามว่า แม้จิตและเจตสิกในเวลาปรินิพพาน ก็จักไม่มีเลยมิใช่หรือ?
               ตอบว่า จักไม่มีก็จริง แต่เพราะไม่มีความกินแหนงใจ ไม่ควรกล่าวหมายเอาจิตและเจตสิกธรรมเหล่านั้นว่า จักไม่มี. หากจะพึงมีความแหนงใจว่า ก็ธรรมอื่นจักมี ดุจมีแก่พระเสขะและปุถุชนไหม ดังนั้น เพื่อจะห้ามความแหนงใจข้อนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรมเหล่าอื่นจักไม่มี ดังนี้.
               พระเถระเรียกเทวดาว่า ชาลินิ ในคำว่า นตฺถิ ทานิ ปุนาวาโส เทวกายสฺมึ ชาลินิ นี้ อธิบายว่า บัดนี้เราไม่มีการอยู่อีกต่อไป ด้วยอำนาจการเกิดในเทวดา คือในเทพนิกาย ได้แก่ในหมู่เทพ. ท่านกล่าวเหตุในข้อนั้นด้วยบทมีอาทิว่า วิกฺขีโณ หมดสิ้นแล้ว.
               ได้ยินว่า เทวดานั้นเป็นหญิงบำเรอของพระเถระในชาติก่อน เพราะฉะนั้น บัดนี้ เทวดานั้นเห็นพระเถระแก่เฒ่าแล้ว จึงมาด้วยความสิเนหาอันมีในก่อน อ้อนวอนขอให้อุปบัติในเทวดาว่า ท่านจงตั้งจิตไว้ในเทพนิกายที่ท่านเคยอยู่ในกาลก่อน.
               ลำดับนั้น พระเถระได้ให้คำตอบแก่เทวดานั้น ด้วยคำมีอาทิว่า บัดนี้ (การอยู่ในภพใหม่) ไม่มี. เทวดาได้ฟังดังนั้นหมดความหวัง ได้หายไปในที่นั้นเอง.
               ลำดับนั้น พระเถระเหาะขึ้นสู่เวหาส เมื่อจะประกาศอานุภาพของตนแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาว่า ยสฺส มุหุตฺเตน ดังนี้.
               ความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า
               ภิกษุขีณาสพใดรู้แจ้ง คือรู้ได้โดยชอบ ได้แก่กระทำให้ประจักษ์ซึ่งโลกพร้อมกับพรหมโลกตั้งพันประเภทคือพันประการ ได้แก่ ประเภทโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล๒- โดยกาลเพียงครู่เดียวเท่านั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้ถึงความชำนาญในคุณคืออิทธิฤทธิ์ คือในความถึงพร้อมด้วยฤทธิ์และในจุติและอุปบัติ ด้วยประการอย่างนี้ ย่อมเห็นเทวดาในเวลาเข้าไป คือพระเถระนั้นไม่เสื่อมในการเห็นเทวดาทั้งหลาย.
____________________________
๒- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ ข้อ ๕๒๐

               ได้ยินว่า เมื่อพระเถระกล่าวคาถาว่า บัดนี้ (ภพใหม่) ไม่มี ดังนี้ ด้วยการให้คำตอบแก่เทวดาชาลินี ภิกษุทั้งหลายไม่เห็นเทวดาชาลินี จึงคิดว่า พระเถระร้องเรียกอะไรๆ ด้วยการเรียกธรรมหรือหนอ.
               พระเถระรู้อาจาระแห่งจิตของภิกษุเหล่านั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า ยสฺส มุหุตฺเตน ดังนี้.
               บทว่า อนฺนภาโร ปุเร ได้แก่ ผู้มีนามอย่างนี้ในชาติก่อน.
               บทว่า ฆาสหารโก ได้แก่ ผู้กระทำการรับจ้างเพื่อต้องการเพียงอาหารเลี้ยงชีวิต.
               บทว่า สมณํ ได้แก่ ผู้มีบาปสงบแล้ว.
               บทว่า ปฏิปาเทสึ ได้แก่ มอบถวายเฉพาะหน้า.
               อธิบายว่า เป็นผู้มีหน้าเฉพาะด้วยความเลื่อมใส ได้ให้ทานอาหาร.
               บทว่า อุปริฏฺฐํ ได้แก่ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีนามอย่างนั้น.
               บทว่า ยสสฺสินํ ได้แก่ ผู้มีเกียรติ คือมียศปรากฏ.
               ด้วยคาถานี้ พระเถระแสดงถึงบุรพกรรมของตน ซึ่งเป็นเหตุให้ได้สมบัติอันยิ่งใหญ่ จนกระทั่งอัตภาพสุดท้าย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า เรานั้นเกิดในศากยตระกูล.
               บทว่า อิโต สตฺต ความว่า จุติจากมนุษยโลกนี้แล้วเป็นเทพ ๗ ครั้งด้วยความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์ในเทวโลก.
               บทว่า ตโต สตฺต ความว่า จุติจากเทวโลกนั้นแล้วเป็น ๗ ครั้งโดยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในมนุษยโลก.
               บทว่า สํสารานิ จตุทฺทส ได้แก่ ท่องเที่ยวไปในระหว่างภพ ๑๔ ครั้ง.
               บทว่า นิวาสมภิชานิสฺสํ แปลว่า ได้รู้ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในชาติก่อน.
               บทว่า เทวโลเก ฐิโต ตทา ความว่า ก็เราได้รู้ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้น ในอัตภาพนี้เท่านั้นก็หามิได้ โดยที่แท้ ในคราวที่ดำรงอยู่ในเทวโลก ในอัตภาพที่ล่วงมาติดต่อกับอัตภาพนี้ เราก็ได้รู้.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงอาการที่ตนได้ทิพจักษุญาณและจุตูปปาตญาณ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาโดยนัยมีอาทิว่า ปญฺจงฺคิเก สมาธิประกอบด้วยองค์ ๕.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจงฺคิเก สมาธิมฺหิ ได้แก่ สมาธิในจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา.
               จริงอยู่ จตุตถฌานสมาธินั้น ท่านเรียกว่า สมาธิประกอบด้วยองค์ ๕ เพราะประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ คือความแผ่ไปแห่งปิติ ความแผ่ไปแห่งสุข ความแผ่ไปแห่งใจ ความแผ่ไปแห่งอาโลกแสงสว่าง และปัจเจกขณนิมิต นิมิตสำหรับเป็นเครื่องพิจารณา.
               บทว่า สนฺเต ความว่า ชื่อว่าสงบ เพราะสงบระงับข้าศึก และเพราะมีองค์สงบแล้ว.
               บทว่า เอโกทิภาวิเต ได้แก่ ถึงความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น.
               อธิบายว่า ถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว.
               บทว่า ปฏิปฺปสฺสทฺธิลทฺธมฺหิ แปลว่า ได้ความสงบระงับกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า ทิพฺพจกฺขุ วิสุชฺฌิ เม ความว่า เมื่อสมาธิมีประการอย่างนี้พรั่งพร้อมแล้ว ทิพจักษุญาณของเราจึงบริสุทธิ์ คือได้เป็นทิพจักษุญาณอันหมดจด โดยความหลุดพ้นจากอุปกิเลส ๑๑ ประการ.
               บทว่า จุตูปปาตํ ชานามิ ความว่า เรารู้จุติและอุปบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย.
               ก็เมื่อรู้ย่อมรู้การมาและการไปของสัตว์ทั้งหลายว่า สัตว์เหล่านี้มาจากโลกโน้นแล้วอุปบัติในโลกนี้ และไปจากโลกนี้แล้วอุปบัติในโลกโน้น และเมื่อรู้นั่นแหละ ย่อมรู้ได้ก่อนกว่าอุปบัติถึงความเป็นอย่างนี้ คือความเป็นมนุษย์ของสัตว์เหล่านั้น และความเป็นประการอื่นจากความเป็นมนุษย์นั้น และความเป็นเดียรัจฉานโดยประการอื่น.
               พระเถระเมื่อจะแสดงว่า ความรู้นี้นั้นแม้ทั้งหมดย่อมมี ในเมื่อสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ ถึงพร้อม จึงกล่าวว่า ดำรงอยู่ในฌานอันประกอบด้วยองค์ ๕.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               เราเป็นผู้ดำรงคือประดิษฐานอยู่ในฌานอันประกอบด้วยองค์ ๕ นั้น จึงรู้อย่างนี้.
               พระเถระครั้นแสดงวิชชา ๓ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงวิชชาที่ ๓ พร้อมทั้งความสำเร็จแห่งกิจ แม้ที่ได้แสดงไว้แล้วในครั้งก่อน โดยประสงค์เอาวิชชา ๓ นั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาโดยนัยมีอาทิว่า พระศาสดาเราคุ้นเคยแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วชฺชีนํ เวฬุวคาเม ได้แก่ ในเวฬุวคามแห่งแคว้นวัชชี คือในเวฬุวคามซึ่งเป็นที่เข้าจำพรรษาครั้งสุดท้าย ในแคว้นวัชชี.
               บทว่า เหฏฺฐโต เวฬุคุมฺพสฺมึ ได้แก่ ในภายใต้พุ่มไผ่พุ่มหนึ่งในเวฬุวคามนั้น.
               บทว่า นิพฺพายิสฺสํ แปลว่า เราจักนิพพาน.
               อธิบายว่า เราจักปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

               จบอรรถกถาอนุรุทธเถรคาถาที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต ๙. อนุรุทธเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 392อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 393อ่านอรรถกถา 26 / 394อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7834&Z=7898
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=8541
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=8541
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :