ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 390อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 391อ่านอรรถกถา 26 / 392อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต
๗. ภัททิยกาลิโคธาปุตตเถรคาถา

               อรรถกถากาลิโคธาปุตตภัททิยเถรคาถาที่ ๗#-               
#-บาลีเป็นภัททิยกาลิโคธาปุตตเถระ.

               คาถาของท่านพระภัททิยเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ยาตํ เม หตฺถิคีวาย ดังนี้.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลมีโภคะมาก พอรู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งกำลังฟังธรรมอยู่ในสำนักของศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศของภิกษุผู้มีสกุลสูง แม้ตนเองก็ปรารถนาฐานันดรนั้น ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตลอดสัปดาห์ แล้วได้กระทำประณิธานไว้.
               ฝ่ายพระศาสดาทรงเห็นว่าประณิธานของเขานั้น สำเร็จโดยไม่มีอันตรายข้อขัดข้อง จึงทรงพยากรณ์ให้.
               ฝ่ายกุลบุตรนั้นครั้นได้สดับพยากรณ์นั้น จึงทูลถามถึงกรรมที่จะให้เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูง แล้วกระทำบุญเป็นอันมากตลอดชีวิต มีอาทิอย่างนี้คือ ให้สร้างสถานที่ฟังธรรม ๑ ถวายที่นั่งในมณฑปที่ฟังธรรม ๑ ถวายพัด ๑ กระทำสักการะบูชาพระธรรมกถึก ๑ ถวายเรือนที่อาศัยให้เป็นโรงอุโบสถ ๑ จุติจากอัตภาพนั้นท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
               ถัดจากกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้น (เขา) บังเกิดในเรือนของกุฎมพีในเมืองพาราณสี ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอันมากเที่ยวบิณฑบาต แล้วมาประชุมในที่แห่งเดียวกันแบ่งภัตตาหารกัน จึงลาดแผ่นหินดาดในที่นั้นแล้วตั้งน้ำล้างเท้าเป็นต้นไว้ ได้บำรุงจนตลอดอายุ.
               เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลศากยราชในนครกบิลพัสดุ์ ได้มีชื่อว่าภัททิยะ.
               ภัททิยะนั้นเจริญวัยแล้ว เมื่อพระศาสดาพร้อมกับภิกษุ กษัตริย์ ๕ รูปมีพระอนุรุทธะเป็นต้น ประทับอยู่ในอนุปิยอัมพวัน จึงบวชในสำนักของพระศาสดา ได้บรรลุพระอรหัต.
               กาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยะในพระเชตวัน ทรงสถาปนาท่านพระภัททิยะนั้นไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีตระกูลสูง.
               ท่านยับยั้งอยู่ด้วยผลสุขและนิพพานสุข จะอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างๆ ก็ดี เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ.
               ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า ท่านพระภัททิยะโอรสพระนางกาลิโคธา กล่าวเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ เห็นจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์.
               พระศาสดารับสั่งให้เรียกท่านมาแล้วตรัสถามว่า ภัททิยะ ได้ยินว่า เธอพูดบ่อยๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้ จริงหรือ?
               ท่านพระภัททิยะทูลรับว่า จริง พระเจ้าข้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อน เมื่อข้าพระองค์ครองราชย์ ได้มีการจัดอารักขาเป็นอย่างดี แม้ถึงอย่างนั้นข้าพระองค์ยังกลัว หวาดเสียว ระแวงอยู่ แต่บัดนี้ ข้าพระองค์บวชแล้ว ไม่กลัวไม่หวาดเสียว ไม่ระแวงอยู่ ดังนี้แล้วได้บันลือสีหนาท ณ เบื้องพระพักตร์ของพระศาสดา ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์จะไปไหน
               ก็ขึ้นคอช้างไป แม้จะนุ่งห่มผ้าก็นุ่งห่มผ้าที่ส่งมาจากแคว้น
               กาสีมีเนื้ออันละเอียด แม้จะบริโภค ก็บริโภคแต่อาหารล้วน
               เป็นข้าวสาลี พร้อมด้วยเนื้ออันสะอาดมีโอชารส ถึงกระนั้น
               ความสุขนั้น ก็หาได้ทำจิตของข้าพระองค์ให้ยินดีเหมือน
               ความสุขในวิเวกในบัดนี้ไม่.
                         แต่เดี๋ยวนี้ ข้าพระองค์ผู้มีนามว่าภัททิยะ เป็นโอรส
               ของพระนางกาลิโคธา เป็นผู้เจริญ ประกอบด้วยความเพียร
               ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วยการเที่ยวบิณฑบาต ไม่ถือมั่นใน
               สิ่งใดๆ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้มีชื่อว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระ
               นางกาลิโคธา ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ประกอบด้วย
               ความเพียร ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วยการเที่ยวบิณฑบาต
               ไม่ถือมั่นในสิ่งใดๆ เพ่งฌานอยู่. บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการ
               เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่ง
               ฌานอยู่. บัดนี้ ข้าพระองค์ใช้แต่ผ้าไตรจีวรเป็นวัตร ประกอบ
               ด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่. บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการ
               เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร ประกอบด้วยความ
               เพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการนั่งฉันบนอาสนะแห่งเดียวเป็น
               วัตร ประกอบด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการฉันอาหารเฉพาะในบาตรเป็น
               วัตร ประกอบด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการฉันอาหารที่เขานำมาถวายภาย
               หลังเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ประกอบด้วย
               ความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ประกอบ
               ด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ประกอบ
               ด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร ประกอบด้วย
               ความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่จัดให้
               เป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการไม่นอนเป็นวัตร ประกอบด้วย
               ความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่. บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการเป็นผู้
               มักน้อยเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
               บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการเป็นผู้สันโดษเป็นวัตร ประกอบด้วย
               ความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่. บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการเป็นผู้
               ชอบความสงัดเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่ง
               ฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์ถือการไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะเป็น
               วัตร ประกอบด้วยความเพียร ฯลฯ เพ่งฌานอยู่.
                         บัดนี้ ข้าพระองค์นามว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนาง
               กาลิโคธา เป็นผู้ปรารภความเพียร ประกอบด้วยความเพียร
               ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วยการเที่ยวบิณฑบาต ไม่ถือมั่นใน
               สิ่งใดๆ เพ่งฌานอยู่.
                         ข้าพระองค์ละทิ้งเครื่องราชูปโภค คือจานทองคำอันมี
               ค่า ๑๐๐ ตำลึงซึ่งประกอบด้วยลวดลายงดงาม วิจิตรด้วยภาพ
               ทั้งภายในและภายนอกนับได้ตั้ง ๑๐๐ มาใช้บาตรดินใบนี้
               นี้เป็นอภิเษกครั้งที่สอง.
                         แต่ก่อน ข้าพระองค์มีหมู่ทหารถือดาบรักษาบนกำแพง
               ที่ล้อมรอบซึ่งสูง และที่ป้อมและซุ้มประตูพระนครอย่างแน่น
               หนา ก็ยังมีความหวาดเสียวอยู่เป็นนิจ บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้ชื่อ
               ว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนางกาลิโคธา เป็นผู้เจริญ ไม่มี
               ความสะดุ้งหวาดเสียว ละความขลาดกลัวภัยได้แล้ว ได้หยั่ง
               ลงสู่ป่า เพ่งฌานอยู่.
                         ข้าพระองค์ตั้งมั่นอยู่ในศีลขันธ์ อบรมสติปัญญา ได้
               บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาตํ เม หตฺถิคีวาย ดังนี้เป็นต้น ความว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์แม้เมื่อจะไปก็นั่งบนคอช้างไป คือเที่ยวไป. แม้เมื่อจะนุ่งห่มผ้า ก็นุ่งห่มผ้าพิเศษที่ทอในแคว้นกาสีมีเนื้อละเอียด คือสัมผัสสบาย. แม้เมื่อจะบริโภคข้าวสุกก็บริโภคข้าวสาลีทั้งเก่าและหอมอันเก็บไว้ ๓ ปี ชื่อว่าลาดข้าวกับเนื้ออันสะอาด เพราะเป็นข้าวลาดด้วยเนื้อสะอาดมีเนื้อนกกระทาและนงยูงเป็นต้น.
               ความสุขนั้นไม่ได้กระทำจิตของข้าพระองค์ให้ยินดี เหมือนดังที่พระเถระแสดงวิเวกสุขในบัดนี้ จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า บัดนี้ ภัททิยะนั้นเป็นผู้เจริญ ดังนี้.
               ก็ในที่นี้ พึงทราบว่า ท่านถือเอายานคือม้าและรถด้วยศัพท์ว่าช้าง ถือเอาเครื่องราชอลังการทุกอย่างด้วยศัพท์ว่าผ้า ถือโภชนะทุกชนิดด้วยศัพท์ว่าข้าวสุก.
               บทว่า โสชฺช ความว่า วันนี้ คือบัดนี้ พระภัททิยะนั้นดำรงอยู่ในบรรพชา.
               บทว่า ภทฺโท ความว่า ชื่อว่าผู้เจริญ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลคุณเป็นต้น.
               บทว่า สาตติโก ได้แก่ ผู้ประกอบในความเพียรติดต่อกันในธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
               บทว่า อุญฺฉาปตฺตาคเต รโต ได้แก่ เป็นผู้ยินดียิ่งในอาหารที่อยู่ในบาตรคือที่นับเนื่องในบาตร ด้วยการเที่ยวแสวงหา. อธิบายว่า เป็นผู้สันโดษด้วยอาหารที่อยู่ในบาตรนั้นเท่านั้น.
               บทว่า ฌายติ ได้แก่ เพ่งอยู่ด้วยฌาน อันสัมปยุตด้วยผลสมาบัติ.
               บทว่า ปุตฺโต โคธาย ได้แก่ เป็นโอรสของพระนางกษัตริย์พระนามว่ากาลิโคธา.
               บทว่า ภทฺทิโย ความว่า พระเถระผู้มีนามอย่างนี้กล่าว กระทำตนเองให้เป็นดุจคนอื่น.
               ชื่อว่าผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เพราะห้ามคหบดีจีวร แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะห้ามสังฆภัต แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร เพราะห้ามอดิเรกจีวรแล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร. ชื่อว่าผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร เพราะห้ามการเที่ยวบิณฑบาตโลเล แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการนั่งฉันบนอาสนะเดียวเป็นวัตร เพราะห้ามการฉันบนอาสนะต่างๆ แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการนั่งฉันบนอาสนะแห่งเดียวเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร เพราะห้ามภาชนะใบที่สอง แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการห้ามอาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร เพราะห้ามโภชนะที่เหลือเฟือแล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการห้ามอาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เพราะห้ามเสนาสนะใกล้บ้าน แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร เพราะห้ามการอยู่ที่มุงบัง แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร เพราะห้ามการอยู่ที่มุงบังและโคนไม้ แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะห้ามที่ซึ่งมิใช่ป่าช้า แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เพราะห้ามความโลเลในเสนาสนะ แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร, ชื่อว่าผู้ถือการนั่งเป็นวัตร เพราะห้ามการนอน แล้วสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้ถือการนั่งเป็นวัตร.
               ความสังเขปในที่นี้มีเพียงเท่านี้ ส่วนความพิสดารพึงถือเอาธุดงค์กถา โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั่นเถิด.
               บทว่า อุจฺเจ ได้แก่ ในที่สูงเป็นต้น หรือชื่อว่าสูง เพราะเป็นปราสาทชั้นบน.
               บทว่า มณฺฑลิปากาเร ได้แก่ ล้อมด้วยกำแพง โดยอาการเป็นวงกลม.
               บทว่า ทฬฺหมฏฺฏาลโกฏฺฐเก ได้แก่ ประกอบด้วยป้อมและซุ้มประตูอันมั่นคง. อธิบายว่า ในเมือง.
               ในบทว่า สตึ ปญฺญญฺจ นี้ พระเถระกล่าวถึงสมาธิ โดยหัวข้อคือสติ ซึ่งท่านหมายเอาผลสมาบัติและนิโรธสมาบัติ กล่าวไว้ว่า อบรมสติและปัญญา ดังนี้.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวไว้ในที่นั้นๆ แล้วทั้งนั้น.
               พระเถระบันลือสีหนาท ณ เบื้องพระพักตร์ของพระศาสดาด้วยประการฉะนี้. ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ได้พากันเลื่อมใสยิ่งแล้ว.

               จบอรรถกถากาลิโคธาปุตตภัททิยเถรคาถาที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต ๗. ภัททิยกาลิโคธาปุตตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 390อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 391อ่านอรรถกถา 26 / 392อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7722&Z=7764
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=8158
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=8158
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :