ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 387อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 388อ่านอรรถกถา 26 / 389อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต
๔. รัฏฐปาลเถรคาถา

               อรรถกถารัฐปาลเถรคาถาที่ ๔               
               คาถาของท่านพระรัฏฐปาลเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ ดังนี้.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระจะเสด็จอุบัติ พระเถระบังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล ในนครหังสวดี เติบโตแล้ว เมื่อบิดาล่วงลับไปก็ครอบครองบ้านเรือน ได้เห็นทรัพย์ที่ตกทอดมาตามวงศ์ตระกูลนับประมาณไม่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาคลังรัตนะแสดงให้ดู จึงคิดว่า บรรพชนมีบิดา ปู่และปู่ทวดเป็นต้นของเรา ไม่สามารถพาเอากองทรัพย์มีประมาณเท่านี้ไปกับตน แต่เราควรจะพาเอาไป จึงได้ให้มหาทานแก่คนเดินทางและคนกำพร้าเป็นต้น.
               ท่านได้อุปัฏฐากดาบสรูปหนึ่งผู้ได้อภิญญา อันดาบสนั้นชักนำในความเป็นใหญ่ในเทวโลก จึงได้บำเพ็ญบุญมากหลายจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นบังเกิดในเทวโลกเสวยทิพยสมบัติ ดำรงอยู่ในเทวโลกนั้นตลอดกาลกำหนดของอายุ จุติจากเทวโลกนั้น บังเกิดเป็นบุตรคนเดียวของตระกูลที่สามารถรวบรวมรัฐซึ่งต่างแบ่งแยกกันในมนุษยโลกไว้.
               ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ยังเวไนยสัตว์ให้ลุถึงภูมิอันเกษม กล่าวคือมหานครนิพพาน.
               ลำดับนั้น กุลบุตรนั้นรู้เดียงสาโดยลำดับ วันหนึ่งไปวิหารกับพวกอุบาสก เห็นพระศาสดากำลังทรงแสดงธรรม มีจิตเลื่อมใส จึงนั่งลง ณ ท้ายบริษัท.
               ก็สมัยนั้นแล พระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา เขาเห็นดังนั้นมีจิตเลื่อมใส จึงตั้งจิตไว้เพื่อต้องการตำแหน่งนั้น แล้วบำเพ็ญมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อันภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปห้อมล้อม ด้วยสักการะใหญ่ตลอด ๗ วันแล้วได้กระทำความปรารถนาไว้.
               พระศาสดาทรงเห็นว่าความปรารถนานั้นสำเร็จโดยไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล กุลบุตรผู้นี้จักเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม.
               เขาถวายบังคมพระศาสดาและไหว้ภิกษุสงฆ์แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.
               เขาทำบุญมากหลายในอัตภาพนั้นตลอดชั่วอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าผุสสะ เมื่อราชบุตร ๓ พระองค์ผู้เป็นพระภาดาต่างพระชนนีกันกับพระศาสดา ทรงอุปัฏฐากพระศาสดาอยู่ ได้กระทำกิจแห่งบุญกิริยาของราชบุตรเหล่านั้น.
               เขาสั่งสมกุศลนั้นๆ เป็นอันมากในภพนั้นๆ อย่างนี้ ท่องเที่ยวอยู่แต่เฉพาะสุคติเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนของรัฐปาลเศรษฐี ในถุลลโกฏฐิกนิคม ในกุรุรัฐ, เพราะเกิดในตระกูลที่สามารถรวบรวมรัฐที่แตกแยกออกของท่านรัฐปาลเศรษฐีนั้น จึงได้มีนามตามตระกูลวงศ์ว่ารัฐปาละ.
               รัฐปาละนั้นเจริญด้วยบริวารเป็นอันมาก ถึงความเป็นหนุ่มโดยลำดับ บิดามารดาจึงหาภรรยาที่สมควรให้ และให้ดำรงอยู่ใน ยศใหญ่ เสวยเฉพาะสมบัติดุจสมบัติทิพย์.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปยังชนบทในแคว้นกุรุรัฐ เสด็จถึงถุลลโกฏฐิกนิคมโดยลำดับ. รัฐปาลกุลบุตรได้สดับดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้วได้ศรัทธาประสงค์จะบวช ได้ทำการอดอาหาร ๗ วัน ให้บิดามารดาอนุญาตอย่างแสนยากลำบาก แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชา ได้บวชในสำนักของพระเถระรูปหนึ่ง โดยอาณัติ (คำสั่ง) ของพระศาสดา กระทำกรรมโดยโยนิโสมนสิการ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราได้ถวายช้างตัวประเสริฐมีงางอนงามควรเป็นราชพาหนะ ทั้งลูกช้างอันงาม มีเครื่องหัตถาลังการ กั้นฉัตรขาวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ เราซื้อสถานที่ทั้งหมดนั้นแล้วได้ให้สร้างอารามถวายแก่สงฆ์ ได้ให้สร้างปราสาทไว้ภายในวิหารนั้น ๕๔,๐๐๐ หลัง ได้ทำทานดุจห้วงน้ำใหญ่ มอบถวายแด่พระพุทธเจ้า.
               พระสยัมภูมหาวีรเจ้าผู้เป็นอัครบุคคล ทรงอนุโมทนา ทรงยังชนทั้งหมดให้ร่าเริง ทรงแสดงอมตบท.
               พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงกระทำผลบุญที่เราทำแล้วนั้นให้แจ้งชัดแล้ว ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้นี้ได้ให้สร้างปราสาท ๕๔,๐๐๐ หลัง เราจักแสดงวิบากของคนผู้นี้ ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
               กูฏาคารหมื่นแปดพันหลังจักมีแก่ผู้นี้ และกูฏาคารเหล่านั้นสำเร็จด้วยทองล้วน เกิดในวิมานอันอุดม ผู้นี้จักเป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติ ๕๐ ครั้ง และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ครั้ง.
               ในกัปที่แสน พระศาสดาพระนามว่าโคดม โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้อันกุศลมูลกระตุ้นเตือนแล้ว จักจุติจากเทวโลกไปบังเกิดในสกุลที่เจริญมีโภคสมบัติมาก ภายหลังอันกุศลมูลกระตุ้นเตือน จักบวช จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา โดยมีชื่อว่ารัฐปาละ. เขามีใจตั้งมั่นในความเพียร เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิกิเลส จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง แล้วไม่มีอาสวะ นิพพาน ดังนี้.
               เราจึงลุกขึ้นแล้วสละโภคทรัพย์ออกบวช ความรักในโภคสมบัติอันเปรียบด้วยก้อนเขฬะ ไม่มีแก่เรา เรามีความเพียรอันนำไปซึ่งธุระ เป็นเครื่องนำเอาธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะมา เราทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราทำเสร็จแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๒๐

               ก็ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ทูลขออนุญาตพระศาสดา ไปยังถุลลโกฏฐิกนิคม เพื่อเยี่ยมบิดามารดา ได้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกในนิคมนั้น ได้ขนมกุมมาสบูดที่นิเวศน์ของบิดา ฉันขนมกุมมาสนั้น ประดุจฉันสิ่งที่เป็นอมฤต อันบิดานิมนต์จึงรับนิมนต์เพื่อจะฉันในวัน รุ่งขึ้น.
               ในวันที่ ๒ จึงฉันบิณฑบาตในนิเวศน์ของบิดา เมื่อหญิงในเรือนตกแต่งประดับประดาแล้ว เข้าไปหากล่าวคำมีอาทิว่า พระลูกเจ้า นางฟ้าเหล่านั้นเป็นเช่นไร อันเป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้แล้วเริ่มกระทำการประเล้าประโลม จึงได้เปลี่ยนกลับความประสงค์ของเธอ เสีย.
               เมื่อจะแสดงธรรมอันปฏิสังยุตด้วยความไม่เที่ยงเป็นต้น จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ความว่า
                         เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็น
               แผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย คน
               พาลดำริหวังกันมาก ไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น.
                         เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตร ด้วยแก้วมณีและ
               กุณฑล หุ้มด้วยหนัง มีร่างกระดูกอยู่ภายใน งามพร้อมไป
               ด้วยผ้าต่างๆ. มีเท้าทั้งสองฉาบทาด้วยครั่งสด มีหน้าอันไล้
               ทาด้วยฝุ่น สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถ
               ทำผู้แสวงหาฝั่งโน้นให้ลุ่มหลง.
                         ผมทั้งหลายอันบุคคลตกแต่งเป็นลอนคล้ายกระดาน
               หมากรุก นัยน์ตาทั้งสองหยอดด้วยยาตา สามารถทำให้คน
               พาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำผู้แสวงฝั่งโน้นให้ลุ่มหลง.
                         กายอันเปื่อยเน่าอันบุคคลตกแต่งแล้ว เหมือนกล่อง
               ยาตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้คนพาล
               ลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำผู้แสวงหาฝั่งโน้นให้ลุ่มหลง.
                         นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนาย
               พรานเนื้อคร่ำครวญอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนี
               ไป บ่วงของนายพรานขาดแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนาย
               พรานเนื้อเศร้าโศกอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิตฺตกตํ แปลว่า กระทำให้วิจิตร ชื่อว่ากระทำให้วิจิตรงดงาม. อธิบายว่า กระทำให้วิจิตรงดงามด้วยผ้า อาภรณ์และระเบียบดอกไม้เป็นต้น.
               บทว่า พิมฺพํ ได้แก่ อัตภาพที่ประดับด้วยอวัยวะน้อยใหญ่มีอวัยวะยาวเป็นต้น ในที่ที่ควรเป็นอวัยวะยาวเป็นต้น
               บทว่า อรุกายํ ได้แก่ มีของไม่สะอาดไหลออกทางปากแผลทั้ง ๙ และขุมขน และกายอันเป็นแผลทั่วไป หรือกลุ่มแห่งแผลทั้งหลาย.
               บทว่า สมุสฺสิตํ ได้แก่ อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว.
               บทว่า อาตุรํ ได้แก่ ป่วยไข้เป็นนิตย์ เพราะเป็นกายที่ต้องบริหารด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นต้น ตลอดกาลทั้งปวง.
               บทว่า พหุสงฺกปฺปํ ได้แก่ อันพาลชนยกขึ้นไม่เป็นของจริงแล้วดำริตริเอาโดยมาก.
               บทว่า ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ ความว่า ความยั่งยืนคือสภาพตั้งมั่น ย่อมไม่มีแก่กายใด คือมีแต่การแตกทำลาย เรี่ยราย กระจัดกระจายไปเป็นธรรมดาโดยส่วนเดียวเท่านั้น.
               ด้วยบทว่า ตํ ปสฺส พระเถระกล่าวหมายถึงชนผู้อยู่ในที่ใกล้ หรือกล่าวหมายเอาตนเอง.
               บทว่า รูปํ ได้แก่ ร่างกาย.
               จริงอยู่ แม้ร่างกายก็เรียกว่ารูป ในประโยคมีอาทิว่า อากาศอาศัยกระดูก อาศัยเอ็น อาศัยเนื้อ และอาศัยหนังหุ้มห่อแล้ว ย่อมหมายถึงการนับว่า รูป.
               บทว่า มณินา กุณฺฑเลน จ ความว่า กระทำให้วิจิตรงดงามด้วยแก้วมณีและกุณฑล ที่จัดเป็นเครื่องอาภรณ์สวมศีรษะเป็นต้น.
               บทว่า อฏฺฐึ ตเจน โอนทฺธํ มีวาจาประกอบความว่า ท่านจงดูกระดูกอันเกินกว่า ๓๐๐ ประเภทซึ่งหนังสดหุ้มไว้.
               ด้วย ศัพท์ในบทว่า กุณฺฑเลน จ สงเคราะห์เอาอาภรณ์และเครื่องประดับอย่างอื่นเข้าด้วย.
               บทว่า สห วตฺเถหิ โสภติ ความว่า รูปนี้นั้นแม้เขาทำให้งดงามด้วยแก้วมณี ที่เขาปกปิดด้วยผ้าต่างๆ เท่านั้น จึงงดงาม ที่ไม่ปกปิดย่อมไม่งดงาม. ก็อาจารย์เหล่าใดกล่าวว่า อฏฺฐิตเจน อาจารย์เหล่านั้นอธิบายว่า ร่างกายที่มีหนังหุ้มห่อย่อมงาม เพราะหุ้มด้วยหนังที่มีประโยชน์.
               บทว่า อลตฺตกกตา แปลว่า ทำการย้อมด้วยครั่งสด คือย้อมด้วยครั่ง.
               บทว่า ปาทา แปลว่า เท้า.
               บทว่า มุขํ จุณฺณกมกฺขิตํ ความว่า มีหน้าพอกด้วยผง.
               คำนี้ ท่านกล่าวหมายเอาข้อที่ชนผู้ชอบการตกแต่ง ขจัดต่อมบนใบหน้าเป็นต้น ด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดสุก แล้วเอาดินเค็มมาถูเอาเลือดเสียออกแล้วลูบไล้ฝุ่นที่ใบหน้า.
               บทว่า อลํ ความว่า สามารถทำคนพาลคือปุถุชนผู้บอด ไม่ใช่ผู้แสวงหาฝั่ง คือผู้ยังยินดีในวัฏฏะ ให้หลงคือให้ลุ่มหลง ได้แก่สามารถทำจิตของคนพาลนั้นให้ลุ่มหลง แต่ไม่อาจคือไม่สามารถทำบุคคลผู้แสวงหาฝั่งคือผู้ยินดีในวิวัฏฏะ ให้หลง.
               บทว่า อฏฺฐปทกตา ความว่า การแต่งผมที่เขาทำ คือแต่งโดยอาการคล้ายกระดานสกา คือที่เขาแต่งโดยกำหนดเอาผมด้านหน้าปิดหน้าผาก ชื่อว่า อัฏฐปทะ ซึ่งท่านเรียกว่า อลกะ ก็มี.
               บทว่า เนตฺตา อญฺชนมกฺขิตา ความว่า แม้นัยน์ตาทั้งสองข้างก็หยอดยาตาโดยประการที่เงายาหยอดปรากฏในภายในตาและขอบตาทั้งสองข้าง.
               บทว่า อญฺชนีว นวา จิตฺตา ปูติกาโย อลงฺกโต ความว่า กล่องยาตา คือกล่องยาหยอดตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยมาลากรรม คือทำเป็นลวดลายดอกไม้และสลักเป็นฟันมังกรเป็นต้น ภายนอกเกลี้ยงเกลาขึ้นเงาน่าดู แต่ภายในไม่น่าดู ฉันใด.
               กายของหญิงเหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตกแต่งด้วยการอาบน้ำ หยอดยาตา ผ้าและเครื่องอลังการทั้งหลาย ภายนอกสดใส แต่ภายในเสีย เต็มด้วยของไม่สะอาดนานาประการตั้งอยู่.
               บทว่า โอทหิ แปลว่า ดักบ่วง.
               บทว่า มิคโว แปลว่า นายพรานเนื้อ.
               บทว่า ปาสํ ได้แก่ บ่วงมีคัน (ด้าม)
               บทว่า นาสทา แปลว่า ไม่ติด.
               บทว่า วาคุรํ แปลว่า บ่วง.
               บทว่า นิวาปํ ได้แก่ อาหารมีหญ้าเป็นต้น ที่เขาใส่ไว้เพื่อให้พวกเนื้อกิน. พระเถระยกอุปมานี้เพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง.
               ก็ในข้อนี้ มีอธิบายดังนี้ :-
               เมื่อพรานเนื้อดักบ่วงมีด้ามเพื่อต้องการฆ่าพวกเนื้อ เอาเหยื่อโปรยที่บ่วงนั้นแล้วแอบซุ่มอยู่ เนื้อตัวหนึ่งในป่านั้นฉลาดสมบูรณ์ด้วยเชาวน์และความพยายาม ไม่กระทบบ่วงเลย เคี้ยวกินเหยื่อตามสบาย. เมื่อนายพรานเนื้อรู้ว่า เนื้อมันลวง จึงร้องขึ้น ก็ไปเสียฉันใด เนื้อตัวอื่นมีกำลัง ฉลาด สมบูรณ์ เชาวน์ ไปในที่นั้นเคี้ยวกินเหยื่อ ทำบ่วงในที่นั้นๆ ให้ขาด เมื่อนายพรานเนื้อรู้ว่า เนื้อมันฉลาดทำบ่วงขาด เศร้าโศกอยู่ก็ไปเสียฉันใด
               แม้เราทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อก่อนในคราวเป็นปุถุชน บริโภคโภคะที่บิดามารดามอบให้ เพื่อให้ติดข้องอยู่ ไม่ติดข้องในโภคะนั้นๆ ออกไปเสีย ก็บัดนี้ เราทั้งหลายตัดกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว เป็นผู้ไม่มีบ่วง บริโภคโภชนะที่บิดามารดาเหล่านั้นให้ เมื่อท่านทั้งสองเศร้าโศกอยู่นั่นแล ก็ไปเสีย.
               พระเถระแสดงบิดามารดากระทำให้เป็นเสมือนพรานเนื้อ กระทำเงินทองและเรือนหญิงให้เป็นดุจบ่วง กระทำโภคะที่ตนใช้สอยในกาลก่อน และโภชนะที่ตนบริโภคในกาลนี้ ให้เป็นดุจเหยื่อคือหญ้า และกระทำให้เป็นดุจเนื้อใหญ่.
               ท่านกล่าวคาถานี้แล้วเหาะขึ้นสู่เวหาสไป นั่งอยู่ที่แผ่นศิลาอันเป็นมงคลของพระเจ้าโกรพยะ ในมิคาชินอุทยาน.
               ได้ยินว่า โยมบิดาของพระเถระให้ใส่ดาลที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ แห่ง แล้วสั่งคนปล้ำไว้ว่า อย่าให้ออกไป จงดึงผ้ากาสายะออกให้นุ่งผ้าขาว เพราะฉะนั้น พระเถระจึงไปทางอากาศ.
               ลำดับนั้น พระเจ้าโกรพยะทรงสดับว่า พระเถระนั่งอยู่ที่นั้น จึงเสด็จเข้าไปหา ทรงทำสัมโมทนียคาถาอันเป็นเครื่องระลึกถึงกันให้ผ่านไปแล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านรัฐปาละผู้เจริญ บุคคลผู้จะบวชในโลกนี้เป็นผู้ประสบความเสื่อมเพราะเป็นโรค หรือความเสื่อมเพราะชรา โภคะและญาติ จึงออกบวช ส่วนตัวท่านไม่ประสบความเสื่อมอะไรๆ เลย เพราะเหตุไร จึงออกบวช.
               ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวถึงตนผู้มีภาวะอันวิเวกต่อธัมมุทเทส ๔ ประการนี้แด่พระราชาว่า
                         โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน,
                         โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน,
                         โลกไม่เป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป,
                         โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสตัณหาดังนี้
               เมื่อจะกล่าวการร้อยกรองตามลำดับแห่งเทศนานั้น จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         เราเห็นหมู่มนุษย์ที่มีทรัพย์ในโลกนี้ ได้ทรัพย์แล้ว
               ไม่ให้ทาน เพราะความลุ่มหลง ได้ทรัพย์แล้วทำการสั่งสม
               ไว้และปรารถนาอยากได้ยิ่งขึ้นไป พระราชากดขี่ช่วงชิง
               เอาแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด ตลอด
               ฝั่งสมุทรข้างนี้แล้ว ไม่รู้จักอิ่ม ยังปรารถนาจักครอบครอง
               ฝั่งสมุทรข้างโน้นอีกต่อไป
                         พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากก็ดี ผู้ยังไม่
               ปราศจากตัณหา ย่อมเข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มความ
               ประสงค์ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย
               ย่อมไม่มีในโลกเลย
                         หมู่ญาติพากันสยายผมร้องไห้คร่ำครวญถึงผู้นั้น และ
               รำพันว่าทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราจึงจะไม่ตาย ครั้น
               พวกญาติตายแล้ว ก็เอาผ้าห่อนำไปเผาเสียที่เชิงตะกอน ผู้
               ที่ตายไปนั้นถูกเขาแทงด้วยหลาว เผาด้วยไฟ ละโภคะทั้ง
               หลาย มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัวไป
                         เมื่อบุคคลจะตายย่อมไม่มีญาติหรือมิตรสหายช่วย
               ต้านทานได้ พวกที่รับมรดกก็มาขนเอาทรัพย์ของผู้ตายนั้น
               ไป ส่วนสัตว์ที่ตายย่อมไปตามยถากรรม เมื่อตายไม่มีทรัพย์
               สมบัติอะไรๆ คือพวกบุตร ภรรยา ทรัพย์ แว่นแคว้น สิ่งใดๆ
               จะติดตามไปได้เลย
                         บุคคลจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่ จะละความ
               แก่ไปแม้เพราะทรัพย์ก็หาไม่.
                         นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั่นแลว่าเป็นของน้อย
               ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมีและคน
               ยากจนย่อมถูกต้องผัสสะเหมือนกัน ทั้งคนพาลถูกอารมณ์
               ที่ไม่ชอบใจเบียดเบียน ย่อมอยู่เป็นทุกข์เพราะความเป็น
               พาล
                         ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว
               เพราะฉะนั้นแล ปัญญาจึงจัดว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะ
               ปัญญาเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะ
               บรรลุ พากันทำกรรมชั่วต่างๆ อยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เพราะ
               ความหลง.
                         ผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว ผู้นั้นจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่
               ในวัฏสงสารร่ำไป บุคคลผู้มีปัญญาน้อย เมื่อมาเชื่อต่อการ
               ทำของบุคคลผู้ทำกรรมชั่วนั้น ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่
               ร่ำไปเหมือนกัน.
                         โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมของกลาง
               ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรม
               อันชั่วช้า ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในปรโลกเพราะกรรม
               ของตนฉันนั้น.
                         กามทั้งหลายงามวิจิตร มีรสอร่อยน่ารื่นรมย์ใจ ย่อม
               ย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ. ดูก่อนมหาบพิตร เพราะอาตมภาพ
               ได้เห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงออกบวช.
                         สัตว์ทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ ย่อมตกไปเพราะร่างกาย
               แตก เหมือนผลไม้หล่นฉะนั้น. ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพ
               เห็นความไม่เที่ยงแม้ข้อนี้จึงออกบวช.
                         ความเป็นสมณะอันไม่ผิดนั่นและประเสริฐ อาตมภาพ
               ออกบวชด้วยศรัทธา เข้าถึงการปฏิบัติชอบในศาสนาของ
               พระชินเจ้า บรรพชาของอาตมภาพไม่มีโทษ อาตมภาพไม่
               เป็นหนี้บริโภคโภชนะ อาตมภาพเห็นกามทั้งหลายโดยเป็น
               ของอันไฟติดทั่วแล้ว เห็นทองทั้งหลายโดยเป็นศาสตรา
               เห็นทุกข์จำเดิมแต่ก้าวลงในครรภ์ เห็นภัยใหญ่ในนรก จึง
               ออกบวช
                         อาตมภาพเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ได้ความสังเวชใน
               กาลนั้น ในกาลนั้น อาตมภาพเป็นผู้ถูกลูกศรคือราคะเป็น
               ต้นเสียบแทงแล้ว บัดนี้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
                         พระศาสดาอันอาตมภาพคุ้นเคยแล้ว คำสั่งสอนของ
               พระพุทธเจ้า อาตมภาพทำเสร็จแล้ว อาตมภาพได้ปลงภาระ
               อันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว บรรลุ
               ถึงประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว
               บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺสามิ โลเก ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพเห็นหมู่มนุษย์ผู้มีทรัพย์คือสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ผู้มั่งคั่งในโลกนี้ ก็หมู่มนุษย์เหล่านั้นได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ คือได้ทรัพย์แล้ว ดำรงอยู่ในโภคสมบัติ ย่อมไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ ในบรรดาสมณพราหมณ์เป็นต้น. เพราะเหตุไร? เพราะเขลา คือเพราะไม่มีกัมมัสกตาปัญญา,
               เป็นผู้โลภคือถูกโลภะครอบงำ ย่อมกระทำการสั่งสมคือสั่งสมไว้หมด ได้แต่เก็บทรัพย์ตามที่ได้ไว้ ย่อมปรารถนาคือหวังเฉพาะกามคือกามคุณที่ยิ่งขึ้น คือสูงกว่ากามที่ได้รับว่า ก็เราพึงได้โภคะเช่นนี้เหมือนอย่างนั้นดังนี้ และกระทำความพยายามอันเกิดจากความหวังนั้น.
               พระเถระเมื่อจะแสดงอุทาหรณ์แห่งการปรารถนากามที่ยิ่งๆ ขึ้น จึงกล่าวคำว่า มหาราช ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสยฺหปฺปฐวี วิเชตฺวา ความว่า ชนะวิเศษเฉพาะแผ่นดินที่อยู่ในอำนาจของตน โดยพลการ.
               บทว่า อาวสนฺโต แปลว่า ปกครองอยู่.
               บทว่า โอรํ สมุทฺทสฺส ความว่า แม้ได้ส่วนในแห่งสมุทรจนหมดสิ้น ก็ยังไม่อิ่มด้วยการได้นั้น ก็ปรารถนาฝั่งคือทวีปอื่นๆ แห่งสมุทรต่อไปอีก.
               บทว่า อวีตตณฺหา ได้แก่ ผู้ไม่ปราศจากตัณหา.
               บทว่า อูนาว ได้แก่ ผู้มีมโนรถยังไม่บริบูรณ์เลย.
               บทว่า กาเมหิ โลกมฺหิ น หตฺถิ ติตฺติ ความว่า ชื่อว่าความอิ่มด้วยวัตถุกามทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่คนผู้ยังไม่ปราศจากตัณหา.
               บทว่า กนฺทนฺติ นํ ความว่า ย่อมกระทำความคร่ำครวญระบุถึงคุณของเขา เจาะจงคนที่ตายไปแล้ว.
               บทว่า อโห วตา โน อมราติ จาหุ ความว่า ย่อมคร่ำครวญว่า ทำอย่างไรหนอ ญาติทั้งหลายของพวกเราจะพึงไม่ตาย, ก็ในที่นี้ เพื่อสะดวกในการผูกคาถา ท่านจึงทีฆะ (วต) เป็นวตา.
               บทว่า โส ฑยฺหติ สูเลหิ ตุชฺชมาโน ความว่า สัตว์ผู้ตายแล้วนั้น สัปเหร่อเอาหลาวแทงเพื่อเผาง่าย.
               บทว่า ตาณา แปลว่า ผู้กระทำการต้านทาน.
               บทว่า เยนกมฺมํ แปลว่า ตามยถากรรม.
               บทว่า ธนํ ได้แก่ วัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคลพึงออกเสียงร้อง (ว่านี้ของเรา). ท่านกล่าวว่า ธนํ ซ้ำอีก โดยหมายถึงเงินและทอง.
               ท่านกล่าวถึงความไม่มีการตอบแทนแห่งกามคุณและชรา ด้วยบทมีอาทิว่า น ทีฆายุ อายุไม่ยืน เพื่อจะแสดงซ้ำถึงความที่กามคุณนั้นเป็นฝ่ายเดียวกัน จึงกล่าวคำว่า อปฺปํ หิ = น้อยนัก ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ผุสนฺติ ความว่า ย่อมถูกต้อง คือได้รับผัสสะอันไม่น่าปรารถนา. ในการถูกต้องผัสสะนั้น ท่านแสดงว่า ความเป็นคนมั่งคั่งและขัดสน ไม่ใช่เหตุ.
               บทว่า ผสฺสํ พาโล จ ธีโร จ ตเถว ผุฏฺโฐ ความว่า คนพาลถูกต้องผัสสะทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาฉันใด นักปราชญ์ก็ย่อมถูกต้องผัสสะทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ในข้อนี้ทั้งคนพาลและบัณฑิต ไม่มีความผิดแผกอะไรกัน,
               ส่วนข้อที่แปลกกันมีดังนี้
               ก็คนพาลเป็นผู้ถูกเบียดเบียนอยู่เพราะความเป็นคนพาล
               อธิบายว่า พาลบุคคลอันทุกขธรรมอะไรๆ ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก ลำบาก คร่ำครวญทุบอก เป็นผู้ถูกเบียดเบียนอยู่เพราะความเป็นคนพาล คือคนพาลอันผัสสะถูกต้องแล้ว หมุนมาหมุนไปทางโน้นทางนี้ ร้อนใจ หวั่นไหวอยู่.
               ส่วนนักปราชญ์คือบันฑิตอันทุกขสัมผัสถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว คือแม้มาตรว่า ความหวั่นไหวก็ไม่มีแก่นักปราชญ์นั้น.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่คนพาลและบัณฑิตมีความเป็นไปในโลกธรรมเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาอันเป็นคุณเครื่องให้บรรลุถึงที่สุดในโลกนี้ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์.
               อธิบายว่า ปัญญาอันเป็นคุณเครื่องให้บรรลุถึงที่สุด คือพระนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งภพ จึงเป็นคุณชาติน่าสรรเสริญกว่าทรัพย์.
               บทว่า อโพฺยสิตตฺตา หิ ได้แก่ เพราะไม่ได้บรรลุถึงความสำเร็จ.
               บทว่า ภวาภเวสุ ได้แก่ ในภพน้อยภพใหญ่ทั้งหลาย.
               บทว่า อุเปติ คพฺภญฺจ ปรญฺจ โลกํ สํสารมาปชฺช ปรมฺปราย ความว่า
               บุคคลใดกระทำบาปทั้งหลาย ถึงการท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ย่อมเข้าถึงครรภ์และโลกหน้า คือย่อมไม่พ้นไปจากการนอนอยู่ในครรภ์และการเกิดขึ้นในโลกหน้า คนแม้อื่นผู้ไม่มีปัญญาคือคนพาล เชื่อการกระทำของบุคคลผู้มีปกติทำกรรมชั่วนั้น คือปฏิบัติอยู่ว่า เรามีตนย่อมไม่พ้นจากครรภ์และโลกหน้า โดยประการที่ตนปฏิบัติแล้วเข้าถึงอยู่นั้น.
               บทว่า โจโร ยถา ความว่า โจรผู้มีบาปธรรมตัดที่ต่อเรือน ถูกคนเฝ้าจับได้ที่ปากช่องต่อ ย่อมเดือดร้อนด้วยกรรมของตน คือด้วยกรรมคือการตัดที่ต่อของตนนั้นอันเป็นตัวเหตุ โดยการเฆี่ยนเป็นต้นด้วยแส้เป็นต้น คือถูกพวกราชบุรุษเบียดเบียนและจองจำฉันใด.
               บทว่า เอวํ ปชา ความว่า สัตว์โลกนี้ก็ฉันนั้น กระทำบาปทั้งหลายในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า คือในนรกเป็นต้นเพราะกรรมนั้น คือย่อมถูกเบียดเบียนด้วยกรรมกรณ์เครื่องจองจำ ๕ อย่างเป็นต้น.
               พระเถระประกาศธัมมุทเทส ๔ ประการตามสมควรด้วยคาถา ๑๑ คาถานี้ด้วยประการอย่างนี้ บัดนี้ เมื่อจะประกาศความที่ตนเห็นโทษในกามและสงสาร จึงบวชด้วยศรัทธา และการบรรลุถึงที่สุดแห่งกิจของบรรพชิต จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า กามา หิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามา ความว่า ธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นอันเป็นที่รักของใจ ชื่อว่าวัตถุกาม ชนิดของราคะแม้ทั้งหมด ชื่อว่ากิเลสกาม. แต่ในที่นี้ต้องเข้าใจว่า วัตถุกาม. เพราะว่าวัตถุกามเหล่านั้นชื่อว่าวิจิตร เพราะมีเป็นอเนกประการด้วยอำนาจรูปเป็นต้น.
               ชื่อว่าอร่อย เพราะมีอาการน่าปรารถนาด้วยอำนาจความยินดีแห่งชาวโลก. ชื่อว่าน่ารื่นรมย์ใจ เพราะทำใจของพวกพาลปุถุชนให้ยินดี.
               บทว่า วิรูปรูเปน ได้แก่ ด้วยรูปต่างๆ, อธิบายว่า โดยสภาวะหลายอย่าง.
               จริงอยู่ กามทั้งหลายวิจิตรด้วยรูปเป็นต้น คือมีรูปแปลกๆ โดยเป็นรูปสีเขียวเป็นต้น. กามทั้งหลายแสดงความชอบใจโดยประการนั้นๆ ด้วยรูปแปลกๆ นั้นอย่างนี้แล้ว ย่อมย่ำยีจิต คือไม่ให้ยินดีในการบรรพชา เพราะเหตุนั้น เราเห็นโทษในกามคุณทั้งหลายโดยมีความยินดีน้อย มีทุกข์มากเป็นต้น เพราะฉะนั้น คือเพราะการเห็นโทษในกามคุณนั้น เราจึงบวช.
               ผลไม้ทั้งหลายในเวลาสุกและเวลายังไม่สุก ย่อมตกไปในที่ใดที่หนึ่ง โดยความพยายามของคนอื่น หรือโดยหน้าที่ของตน ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น จะเป็นคนหนุ่มและคนแก่ ย่อมตกไปเหมือนกัน เพราะร่างกายแตก
               บทว่า เอตมฺปิ ทิสฺวา อธิบายว่า เราเห็นแม้ความไม่เที่ยงอย่างนี้ด้วยปัญญาจักษุ ไม่ใช่เห็นเฉพาะโทษ เพราะมีความยินดีน้อยเป็นต้นอย่างเดียว.
               บทว่า อปณฺณกํ ความว่า สามัญญะ คือความเป็นสมณะที่ไม่ผิดนั่นแหละประเสริฐ คือยิ่งกว่า.
               บทว่า สทฺธาย ได้แก่ เชื่อกรรม ผลของกรรม ความที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ดีแล้ว ความที่พระธรรมเป็นธรรมดี และความปฏิบัติดีของพระสงฆ์.
               บทว่า อุเปโต ชินสาสเน ได้แก่ เข้าถึงการปฏิบัติชอบในศาสนาของพระศาสดา.
               การบรรพชาของเราไม่ไร้ผล เพราะเราได้บรรลุพระอรหัต. เพราะเหตุนั้นแล เราจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีหนี้บริโภคโภชนะ เพราะบริโภคด้วยสามีบริโภค บริโภคโดยความเป็นเจ้าของด้วยอำนาจความหมดกิเลส.
               บทว่า กาเม อาทิตฺตโต ทิสฺวา ความว่า เห็นวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลายโดยภาวะที่ถูกไฟ ๑๑ กองติดโชนแล้ว.
               บทว่า ชาตรูปานิ สตฺถโต ได้แก่ สุวรรณพิกัตทุกชนิด อันต่างโดยทำเป็นรูปพรรณและไม่ได้ทำเป็นรูปพรรณ โดยเป็นศาสตรา เพราะเป็นของนำความพินาศมา.
               บทว่า คพฺภโวกฺกนฺติโต ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์อันเกิดจากความเป็นไปในสงสารทั้งปวง จำเดิมแต่ก้าวลงสู่ครรภ์.
               บทว่า นิรเยสุ มหพฺภยํ มีวาจาประกอบความว่า และเห็นภัยใหญ่ที่จะได้รับในมหานรกทั้ง ๘ ขุม พร้อมด้วยอุสสทนรก นรกที่เป็นบริวาร ในที่ทุกแห่ง.
               บทว่า เอตมาทีนวํ ญตฺวา ได้แก่ รู้อาทีนพโทษแห่งกามทั้งหลายนี้ มีความที่ไฟติดทั่วแล้วเป็นต้น ในสงสาร.
               บทว่า สํเวคํ อลภึ ตทา ความว่า ในเวลาที่ได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดานั้น เราได้ความสังเวชในภพเป็นต้น.
               บทว่า วิทฺโธ ตทา สนฺโต ความว่า ในเวลาที่เราเป็นคฤหัสถ์นั้น เราเป็นผู้ถูกเสียบแทงด้วยลูกศรคือราคะเป็นต้น บัดนี้ ได้ถึงความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยคำสอนของพระศาสดา.
               อีกอย่างหนึ่ง เรารู้แจ้งแล้ว. อธิบายว่า รู้แจ้งเฉพาะแล้วซึ่งสัจจะทั้ง ๔.
               คำที่เหลือเข้าใจได้ง่ายทั้งนั้น เพราะได้กล่าวไว้ในระหว่างๆ เป็นต้น.
               พระเถระครั้นแสดงธรรมแก่พระเจ้าโกรพยะอย่างนี้แล้ว ไปเฝ้าพระศาสดาทีเดียว และในกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถารัฐปาลเถรคาถาที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา วีสตินิบาต ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 387อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 388อ่านอรรถกถา 26 / 389อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7509&Z=7568
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=7328
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=7328
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :