ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 359อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 360อ่านอรรถกถา 26 / 361อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต
๑๔. สัพพกามเถรคาถา

               อรรถกถาสัพพกามีเถรคาถาที่ ๑๔#-               
#- บาลีเป็น สัพพกามเถรคาถา.

               คาถาของท่านพระสัพพกามีเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ทฺวิปาทโก ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเถระนี้ได้เห็นพระเถระรูปหนึ่งชำระความแตกความสามัคคี อันเกิดขึ้นในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ แล้วจัดตั้งให้เป็นปกติตามเดิม จึงตั้งความปรารถนาว่า แม้เราก็พึงเป็นผู้สามารถชำระความแตกความสามัคคี ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต แล้วปรารถนาจัดตั้งให้เป็นปกติตามเดิม ดังนี้ แล้วกระทำบุญทั้งหลายอันสมควรแก่กรรมนั้น ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จปรินิพพาน บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ในนครเวสาลี ได้นามว่าสัพพกามะ พอเจริญวัยพวกญาติก็จัดให้มีเหย้าเรือน แต่เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในการออกจากทุกข์ เกลียดการครองเรือน จึงบวชในสำนักของพระธรรมภัณฑาคาริก กระทำอยู่ ได้เข้าไปยังนครเวสาลีพร้อมกับพระอุปัชฌาย์ จึงได้ไปยังเรือนญาติ.
               ณ เรือนญาตินั้น ภรรยาเก่าได้รับความทุกข์ เพราะพลัดพรากจากสามี ซูบผอม ผิวพรรณหมองคล้ำ ไม่แต่งตัว นุ่งผ้าเก่าๆ ไหว้ท่านแล้วได้ยืนร้องไห้อยู่ที่ส่วนสุดข้างหนึ่ง เมื่อพระเถระเห็นดังนั้นก็เกิดความเมตตาอันมีกรุณาเป็นตัวนำ พลันกิเลสก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจอโยนิโสมนสิการในอารมณ์ที่ได้เสวยมาแล้ว.
               ท่านเกิดความสลดใจเหมือนม้าอาชาไนยที่เขาหวดด้วยแส้ ทันใดนั้นเอง จึงไปยังป่าช้ากำหนดเอาอสุภนิมิต กระทำฌานที่ได้ในป่าช้านั้นให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนาก็ได้บรรลุพระอรหัต.
               ลำดับนั้น พ่อตาของท่านพาธิดาผู้ประดับตกแต่งมา ประสงค์จะให้ท่านสึก จึงได้ไปยังวิหารพร้อมด้วยบริวารมากมาย.
               พระเถระรู้ความประสงค์ของนางแล้ว เมื่อจะประกาศความที่ตนไม่กำหนัดในกามทั้งหลายและความที่ตนเป็นผู้ไม่ติดในอารมณ์ทั้งปวง จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                                   สัตว์สองเท้านี้เป็นสัตว์ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เต็ม
                         ไปด้วยซากศพต่างๆ มีของโสโครกไหลออกทั่วกาย ต้อง
                         บริหารอยู่เป็นนิตย์. เบญจกามคุณอันน่ารื่นรมย์ใจเหล่านี้
                         คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่มีปรากฏในรูปร่าง
                         หญิง ย่อมล่อลวงปุถุชนให้ลำบาก เหมือนพรานเนื้อแอบ
                         ดักเนื้อด้วยเครื่องดัก พรานเบ็ดจับปลาด้วยเบ็ด บุคคลจับ
                         วานรด้วยตังฉะนั้น
                                   ปุถุชนเหล่าใดมีจิตกำหนัด เข้าไปซ่องเสพหญิงเหล่า
                         นั้น ปุถุชนเหล่านั้นย่อมยังสงสารอันน่ากลัวให้เจริญ ย่อมก่อ
                         ภพใหม่ขึ้นอีก ส่วนผู้ใดงดเว้นหญิงเหล่านั้น เหมือนบุคคล
                         สลัดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ระงับตัณหาอันซ่านไปใน
                         โลกเสียได้
                                   เราเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นการออกบรรพชา
                         โดยความเกษม สลัดตนจากกามทั้งปวง เราได้บรรลุความ
                         สิ้นอาสวะแล้ว.

               บทว่า ทฺวิปาทโก ในคาถานั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               กายแม้ที่ไม่มีเท้าเป็นต้นเป็นกายไม่สะอาดทั้งนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านกล่าวอย่างนี้ด้วยอำนาจวิสัยที่กระทำให้ยิ่งหรือด้วยการกำหนดอย่างสูง.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่กายอื่นๆ แม้ไม่สะอาด บุคคลเอาของเค็มและของเปรี้ยวเป็นต้นมาปรุงเข้า ก็ทำให้เป็นโภชนะสำหรับมนุษย์ทั้งหลายได้ แต่กายมนุษย์ทำให้เป็นโภชนะไม่ได้.
               เพราะฉะนั้น เมื่อจะแสดงสภาวะอันไม่สะอาดยิ่งแห่งกายมนุษย์นั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทฺวิปาทโก ดังนี้.
               บทว่า อยํ นี้ ท่านกล่าวหมายเอารูปหญิงที่ปรากฏในเวลานั้น.
               บทว่า อสุจิ แปลว่า ไม่สะอาดเลย. อธิบายว่า ในรูปหญิงนี้ไม่มีความสะอาดอะไรเลย.
               บทว่า ทุคฺคนฺโธ ปริหีรติ ความว่า เป็นกายมีกลิ่นเหม็น เจ้าของปรุงแต่งด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น บริหารอยู่.
               บทว่า นานากุณปปริปูโร ได้แก่ เต็มด้วยซากศพอเนกประการมีผมเป็นต้น.
               ในบทว่า วิสฺสวนฺโต ตโต ตโต นี้ เชื่อมความว่า กายนี้ แม้เมื่อชนทั้งหลายพยายามเพื่อจะปกปิดความที่กายเป็นของน่าเกลียด ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น ก็ทำความพยายามนั้นให้ไร้ผล ทำน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้นให้ไหลออกจากทวารทั้ง ๙ และทำเหงื่อที่หมักหมมให้ไหลออกจากขุมขนทั้งหลายบริหารอยู่.
               เมื่อจะแสดงว่า ก็กายนี้แม้เป็นของน่าเกลียดอย่างนี้ ก็ยังลวงปุถุชนผู้บอดเขลาด้วยรูปเป็นต้นของตน เหมือนพรานเนื้อลวงเนื้อเป็นต้นด้วยเครื่องดักมีหลุม (พราง) เป็นต้นฉะนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า มิคํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิคํ นิลีนํ กูเฏน ความว่า เหมือนพรานเนื้อแอบคือซ่อนดักเนื้อด้วยเครื่องดักมีบ่วงเป็นต้น.
               จริงอยู่ อิวศัพท์ที่กำลังจะกล่าวถึง แม้ในประโยคนี้ก็ควรนำมาประกอบเข้า.
               บทว่า พฬิเสเนว อมฺพุชํ ความว่า เหมือนพรานเบ็ดตกสัตว์ที่เกิดในน้ำคือปลา ด้วยเบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อไว้ฉะนั้น.
               บทว่า วานรํ วิย เลเปน ความว่า เบญจกามคุณย่อมลวงปุถุชนผู้บอดให้ลำบาก เหมือนพรานเนื้อลวงจับลิงด้วยตังซึ่งวางไว้ที่ต้นไม้และศิลาเป็นต้น.
               เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามที่ว่า ใครทำให้ลำบาก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า รูป เสียง ดังนี้.
               จริงอยู่ ส่วนของกาม ๕ ส่วนมีรูปเป็นต้น โดยพิเศษเป็นที่อาศัยของวัตถุที่เป็นวิสภาคกัน ทำใจของปุถุชนผู้บอดผู้ถูกห้อมล้อม ด้วยอโยนิโสมนสิการ อันเป็นที่เข้าไปอาศัยของวิปลาส ให้ยินดี ชื่อว่าย่อมยังอันธปุถุชนเหล่านั้นให้ลำบาก เพราะนำความพินาศมาให้ โดยความที่รูปเป็นต้นเป็นวัตถุที่ตั้งของกิเลส.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า รูปเสียง ฯลฯ ปรากฏในรูปหญิง.
               ก็ศัพท์หญิง ในคำนั่น พึงทราบว่า ท่านกระทำด้วยอำนาจอารมณ์ที่ทำให้ยิ่ง.
               ด้วยเหตุนั้นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า ปุถุชนเหล่าใดซ่องเสพหญิงเหล่านั้น ดังนี้เป็นต้น.
               คำนั้นมีเนื้อความว่า ปุถุชนเหล่าใดมีจิตกำหนัด คือมีจิตถูกราคะความกำหนัดครอบงำ ย่อมซ่องเสพหญิงเหล่านั้น ด้วยการกำหนดว่าเป็นเครื่องอุปโภคใช้สอย.
               บทว่า วฑฺเฒนฺติ กฏสึ โฆรํ ความว่า ปุถุชนเหล่านั้นย่อมยังสงสาร กล่าวคือ กฏสิ การท่องเที่ยวเพราะคนอันธพาลยินดียิ่งนัก อันน่ากลัวคืออันนำความกลัวมาด้วยชาติเป็นต้น และด้วยนรกเป็นต้น ให้เจริญด้วยการเกิดและการตายเป็นต้นบ่อยๆ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ย่อมก่อภพใหม่ขึ้นอีก ดังนี้.
               บทว่า โย เจตา ความว่า ส่วนบุคคลใดงดเว้นหญิงเหล่านั้นเสียได้ด้วยการข่ม และการตัดขาดฉันทราคะในหญิงเหล่านั้น เหมือนคนสลัดหัวงูด้วยเท้า เป็นผู้มีสติล่วงพ้นตัณหากล่าวคือความซ่านไปในโลก เพราะละโลกทั้งปวงได้แล้วดำรงอยู่.
               บทว่า กาเมสฺวาทีนวํ ทิสฺวา ความว่า เห็นอาทีนพ คือโทษอันต่ำช้าโดยประการมิใช่น้อยในวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยท่อนกระดูก มีความลำบากมาก มีความคับแค้นมาก.
               บทว่า เนกฺขมฺมํ ทฏฺฐุ เขมโต ความว่า เห็นเนกขัมมะโดยภาวะ อันออกจากกามและภพทั้งหลาย ได้แก่บรรพชาและพระนิพพาน โดยความเกษมคือโดยปลอดอันตราย. สลัดออกคือพรากออกจากกรรมทั้งปวง ได้แก่ จากธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓. ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ แม้ทั้งหมดนี้ ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความใคร่.
               ก็พระเถระพรากแล้วจากกามเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เราได้บรรลุความสิ้นอาสวะแล้ว ดังนี้.
               พระเถระกล่าวธรรมด้วยคาถา ๕ คาถาเบื้องต้น ด้วยประการอย่างนี้แล้ว พยากรณ์พระอรหัตผลด้วยคาถาที่ ๖.
               พ่อตาได้ฟังดังนั้นคิดว่า ท่านผู้นี้ไม่ติดในสิ่งทั้งปวง ใครๆ ไม่อาจที่จะให้ท่านผู้นี้หมุนไปในกามทั้งหลายได้ จึงได้ไปตามทางที่มาแล้วนั่นแล.
               ฝ่ายพระเถระ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปี อุปสมบทได้ ๑๒๐ พรรษาเป็นพระเถระในแผ่นดิน ชำระเสนียดแห่งพระศาสนาที่ภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีให้เกิดขึ้น สังคายนาร้อยกรองพระธรรมครั้งที่ ๒ แล้วจึงสั่งติสสมหาพรหมว่า ท่านจงชำระสะสางเสนียดอันจะเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าธรรมาโศก ในอนาคตกาล แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

               จบอรรถกถาสัพพกามีเถรคาถาที่ ๑๔               
               จบอรรถกถาเถรคาถา ฉักกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

               ในวรรคนี้รวมคาถาได้ ๘๔ คาถา พระเถระที่ภาษิตคาถา ๑๔ รูป คือ
                         ๑. พระอุรุเวลกัสสปเถระ
                         ๒. พระเตกิจฉกานิเถระ
                         ๓. พระมหานาคเถระ
                         ๔. พระกุลลเถระ
                         ๕. พระมาลุงกยปุตตเถระ
                         ๖. พระสัปปทาสเถระ
                         ๗. พระกาติยานเถระ
                         ๘. พระมิคชาลเถระ
                         ๙. พระเชนตปุโรหิตปุตตเถระ
                         ๑๐. พระสุมนเถระ
                         ๑๑. พระนหาตกมุนิเถระ
                         ๑๒. พระพรหมทัตตเถระ
                         ๑๓. พระสิริมัณฑเถระ
                         ๑๔. พระสัพพกามเถระ
               จบฉักกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต ๑๔. สัพพกามเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 359อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 360อ่านอรรถกถา 26 / 361อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6685&Z=6708
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=3051
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=3051
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :