ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 344อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 345อ่านอรรถกถา 26 / 346อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญจกนิบาต
๑๑. โสณกุฏิกัณณเถรคาถา

               อรรถกถาโสณกุฏิกัณณเถรคาถาที่ ๑๑               
               คาถาของท่านพระโสณกุฏิกัณณเถระ มีคำเริ่มต้นว่า อุปสมฺปทา จ เม ลทฺธา ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ เป็นเศรษฐีสมบูรณ์ด้วยสมบัติในหังสวดีนคร ดำรงอยู่ด้วยอิสรสมบัติอันโอฬาร วันหนึ่งเห็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยพระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ องค์เสด็จเข้าไปสู่นครด้วยพุทธานุภาพใหญ่ ด้วยพุทธลีลาใหญ่ มีจิตเลื่อมใส ถวายบังคมแล้วได้ยืนประคองอัญชลีอยู่.
               ในปัจฉาภัต ท่านพร้อมด้วยอุบาสกทั้งหลายไปยังวิหาร ฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้นจึงได้ถวายมหาทาน ได้ตั้งความปรารถนาไว้.
               พระศาสดาทรงทราบความที่ความปรารถนาของท่านไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคต เธอจักได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม.
               ท่านบำเพ็ญบุญในนครนั้นตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี บวชในศาสนา บำเพ็ญวัตรปฏิวัตรให้บริบูรณ์ ได้เย็บจีวรถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่ง. เมื่อโลกว่างจากพระพุทธเจ้าอีก เป็นช่างหูกในกรุงสาวัตถี ได้ต่อคันกลดที่ขาดถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง.
               ท่านได้บำเพ็ญบุญในภพนั้นๆ ด้วยอาการอย่างนี้ ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติมาก ในกุลฆรนคร๑- ในอวันตีรัฐ พวกญาติได้ตั้งชื่อท่านว่า โสณะ เพราะท่านทรงเครื่องประดับหูมีราคาโกฏิ เมื่อควรจะเรียกว่าโกฏิกัณณะ กลับปรากฏชื่อว่ากุฏิกัณณะ.
____________________________
๑- บาลีเป็น กุรรฆร.

               ท่านเจริญโดยลำดับ เก็บรวบรวมทรัพย์ เมื่อท่านพระมหากัจจายนะอาศัยเรือนมีตระกูลอยู่ในปวัตตบรรพต ฟังธรรมในสำนักของท่าน ตั้งอยู่ในสรณะและศีล อุปัฏฐากท่านด้วยปัจจัย ๔.
               ครั้นจำเนียรกาลนานมา ท่านเกิดความสังเวช บรรพชาในสำนักของพระเถระ ให้ประชุมสงฆ์ทสวรรคได้โดยยาก โดยฝืดเคือง อุปสมบทแล้วอยู่ในสำนักพระเถระสิ้นกาลเล็กน้อย ลาพระเถระเข้าไปยังกรุงสาวัตถี เพื่อถวายบังคมพระศาสดา ได้อยู่ในคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา ถูกพระองค์เชื้อเชิญในเวลาใกล้รุ่ง ในที่สุดแห่งคาถาอุทานว่า เห็นโทษในโลกดังนี้ที่พระองค์ให้สาธุการกล่าวไว้ ด้วยการกล่าวพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรค๒- แล้วเจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต.
____________________________
๒- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/อัฏฐกวรรคที่ ๔ มี ๑๖ สูตร ตั้งแต่ข้อ ๔๐๘ ถึงข้อ ๔๒๓.

               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวใว้ในอปทานว่า๓-
               ครั้งนั้น พระพิชิตมารผู้สมควรรับเครื่องบูชา พระนามว่าปทุมุตตระ ได้เสด็จเข้าไปยังพระนคร พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ผู้มีอินทรีย์อันสำรวมแล้วแสนรูป ขณะนั้นได้มีเสียงสนั่นก้องไพเราะรับเสด็จพระพุทธเจ้าผู้สงบระงับผู้คงที่ ซึ่งกำลังเสด็จเข้าพระนคร โดยทางรถด้วยพุทธานุภาพ พิณที่ไม่ถูกทำเพลง ไม่ถูกเคาะ ก็บรรเลงขึ้นได้เอง ในเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่บุรี
               เรานมัสการพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เป็นพระมหามุนี และเห็นปาฏิหาริย์แล้ว ได้ยังจิตให้เลื่อมใสในปาฏิหาริย์นั้น โอ พระพุทธเจ้า โอ พระธรรม โอ สมบัติแห่งพระศาสดาของเรา ดนตรีถึงไม่มีเจตนาก็ยังบรรเลงได้เองเทียว
               ในกัปที่แสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ เราได้สัญญาใดในกาลนั้น ด้วยการได้สัญญานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งสัญญาในพระพุทธเจ้า เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๒๓

               ก็ท่านดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้วขอพร ๕ ประการ คือ การอุปสมบทด้วยคณะ มีพระวินัยธรเป็นที่ ๕ ในชนบทปลายแดน โดยทำนองที่พระอุปัชฌาย์ของท่านได้บอกไว้ การอยู่ประจำ การลาดแผ่นหนัง การสวมรองเท้าเป็นชั้นๆ การไม่อยู่ปราศจากจีวร ได้พรเหล่านั้นจากพระศาสดาแล้ว ไปยังที่ตนอยู่อีก บอกความนั้นแก่พระอุปัชฌาย์.
               ในเรื่องนี้มีความสังเขปเพียงเท่านี้. ส่วนความพิสดารพึงทราบโดยนัยที่มาแล้วในอรรถกถา. แต่ในอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านได้อุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักพระอุปัชฌาย์ของตน เจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต.
               ครั้นกาลต่อมา ท่านอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่วิมุตติ พิจารณาข้อปฏิบัติของตน เกิดโสมนัสได้กล่าวคาถา ๕ คาถาด้วยอำนาจอุทานว่า
                                   เราได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส ไม่มีอาสวะ
                         ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้อยู่ร่วมกับพระองค์ในวิหาร
                         เดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ในที่แจ้งตลอดราตรี
                         เป็นอันมากทีเดียว พระศาสดาผู้ฉลาดในธรรมเป็นเครื่องอยู่
                         ได้เสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร เมื่อนั้นพระโคดมทรงลาดผ้าสังฆาฏิ
                         แล้วสำเร็จสีหไสยา ทรงละความขลาดกลัวเสียแล้ว เหมือนราชสีห์
                         อยู่ในถ้ำภูเขา
                                   ลำดับนั้น ท่านโสณะผู้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                         ผู้กล่าววาจาไพเราะ ได้ภาษิตสัทธรรมในที่เฉพาะพระพักตร์ของ
                         พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ท่านโสณะกำหนดรู้เบญจขันธ์แล้ว อบรม
                         อัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ พึงได้บรรลุความสงบอย่างยิ่ง จักเป็น
                         ผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปสมฺปทา จ เม ลทฺธา ความว่า อุปสัมปทานั้นใดที่ตนประชุมภิกษุสงฆ์ทสวรรคได้โดยยาก ก็แลอุปสัมปทาใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตด้วยคณะ มีพระวินัยธรเป็นที่ ๕ ในชนบทปลายแดนทั้งหมด ด้วยอำนาจการประทานพร, กล่าวหมายเอาอุปสัมปทาทั้งสองนั้น.
                ศัพท์ เป็นสมุจจยัตถะ. ด้วย ศัพท์นั้น ท่านสงเคราะห์เอาพรที่ได้จากสำนักพระศาสดา แม้นอกนี้.
               บทว่า วิมุตฺโต จมฺหิ อนาสโว ความว่า และเราเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ด้วยการหลุดพ้นจากวัตถุคือกิเลสทั้งสิ้น ด้วยอรหัตมรรค. ประกอบความว่า เราเป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยกามาสวะเป็นต้นนั้นนั่นแล.
               บทว่า โส จ เม ภควา ทิฏฺโฐ ความว่า เราจากรัฐอวันตีไปยังกรุงสาวัตถี เพื่อประโยชน์แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าใด ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นที่เราไม่เคยเห็น เราได้เห็นแล้ว.
               บทว่า วิหาเร จ สหาวสึ ความว่า เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ โดยที่แท้เราได้อยู่ร่วมกับพระศาสดาผู้กำหนดเหตุการณ์ ประทับอยู่ในพระคันธกุฎีของพระศาสดาในวิหาร.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า วิหาเร แปลว่า ในที่ใกล้วิหาร.
               บทว่า พหุเทว รตฺตํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยับยั้งในโอกาสกลางแจ้ง ตลอดราตรีเป็นอันมากทีเดียว ด้วยการแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย และด้วยการชำระพระกรรมฐานให้หมดจดตลอดปฐมยาม และด้วยอำนาจตัดความสงสัยของเทวดาและพรหมตลอดมัชฌิมยาม.
               บทว่า วิหารกุสโล ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดในทิพยวิหาร พรหมวิหาร อาเนญชวิหารและอริยวิหาร.
               บทว่า วิหารํ ปาวิสิ ความว่า เข้าไปสู่พระคันธกุฎี เพื่อบรรเทาความกระวนกระวายที่เกิดขึ้น เพราะการนั่งและการจงกรมเกินเวลา.
               บทว่า สนฺถริตฺวาน สงฺฆาฏึ เสยฺยํ กปฺเปติ ความว่า ปูลาดสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วทรงสำเร็จสีหไสยา. ด้วยเหตุนั้นจึงกล่าวว่า พระโคดมเป็นประดุจสีหะในถ้ำศิลา เป็นผู้ละความขลาดกลัวเสียได้.
               พระเถระระบุพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยพระโคตรว่าโคตมะ ในพระคาถานั้น.
               บทว่า สีโห เสลคุหายํว ได้แก่ ในถ้ำแห่งภูเขาอันล้วนแล้วแต่หิน สีหมิคราชละความขลาดกลัวเสียได้ เพราะเป็นสัตว์มีเดชสูง สำเร็จการนอนเหลื่อมเท้าโดยข้างขวาฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้โคดมก็ฉันนั้น เป็นผู้ละความขลาดกลัว เพราะตัดกิเลสอันเป็นเหตุให้หวาดเสียว ขนพอง สยอง สะดุ้งแห่งจิต ทรงสำเร็จสีหไสยา.
               บทว่า ตโต แปลว่า ในภายหลัง, อธิบายว่า สำเร็จสีหไสยาแล้วลุกขึ้นจากที่นั้น ถูกพระศาสดาเชิญว่า ภิกษุ พระธรรมจงแจ่มแจ้งกะเธอเพื่อจะกล่าว.
               บทว่า กลฺยาณวากฺกรโณ แปลว่า ผู้กล่าววาจาอันไพเราะ. อธิบายว่า ลำดับแห่งถ้อยคำเพียบพร้อมด้วยความงาม.
               บทว่า โสโณ อภาสิ สทฺธมฺมํ ความว่า ท่านโสณกุฏิกัณณะได้กล่าวพระสูตรในอัฏฐกวรรค ๑๖ สูตรโดยประจักษ์ เฉพาะพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวสอนตนนั่นแหละเหมือนผู้อื่น.
               บทว่า ปญฺจกฺขนฺเธ ปริญฺญาย ความว่า กำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ด้วยปริญญาทั้ง ๓ แล้ว เมื่อกำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแหละ ทำหนทางคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดแล้ว บรรลุความสงบอย่างยิ่ง คือพระนิพพานดำรงอยู่ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จากนั้นนั่นแหละ จักปรินิพพาน ณ บัดนี้ คือจักปรินิพพานด้วยอำนาจอนุปาทิเสสนิพพาน ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาโสณกุฏิกัณณเถรคาถาที่ ๑๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญจกนิบาต ๑๑. โสณกุฏิกัณณเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 344อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 345อ่านอรรถกถา 26 / 346อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6457&Z=6468
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=1777
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=1777
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :