ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 341อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 342อ่านอรรถกถา 26 / 343อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญจกนิบาต
๘. วักกลิเถรคาถา

               อรรถกถาวักกลิเถรคาถาที่ ๘               
               คาถาของท่านพระวักกลิเถระ มีคำเริ่มต้นว่า วาตโรคาภินีโต ดังนี้เป็นต้น.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระเถระแม้นี้ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนมีตระกูล ในหังสวดีนคร ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ไปยังวิหารกับอุบาสกทั้งหลายผู้ไปยังสำนักพระศาสดา ยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังธรรมอยู่ เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้น้อมไปในศรัทธา แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงถวายทานตลอด ๗ วันได้ตั้งความปรารถนาไว้.
               พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นความปรารถนานั้นไม่มีอันตราย จึงได้ทรงพยากรณ์.
               แม้ท่านกระทำกุศลตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระศาสดาของเราทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกรุงสาวัตถี. ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อท่านว่าวักกลิ.
               ท่านเจริญวัยแล้วเรียนเวท ๓ ถึงความสำเร็จในศิลปะแห่งพราหมณ์ เห็นพระศาสดาแล้วไม่อิ่มเพราะเห็นสมบัติพระรูปกาย จึงเที่ยวไปกับพระศาสดาเท่านั้น. คิดว่า เมื่อเราอยู่ในท่ามกลางเรือนจักไม่ได้เห็นพระศาสดาตลอดกาลเป็นนิจ จึงบวชในสำนักพระศาสดา ยืนอยู่ในที่ๆ ตนสามารถเห็นพระทศพล ในเวลาที่เหลือ เว้นเวลาฉันอาหารและเวลาทำกิจด้วยสรีระ จึงละกิจอย่างอื่น เที่ยวแลดูแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น.
               พระศาสดาทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของเธอ เมื่อเธอเที่ยวไปด้วยการดูพระรูปเท่านั้นสิ้นกาลมากมาย ไม่ได้ตรัสอะไรๆ.
               รุ่งขึ้นวันหนึ่งจึงตรัสว่า
               วักกลิ จะประโยชน์อะไรด้วยการที่เธอเห็นกายที่เปื่อยเน่านี้ วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา วักกลิ ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม วักกลิ เพราะเมื่อบุคคลเห็นธรรมชื่อว่าเห็นเรา เมื่อบุคคลเห็นเราชื่อว่าเห็นธรรม ดังนี้.
               เมื่อพระศาสดาแม้ตรัสอยู่อย่างนั้น ท่านก็ไม่สามารถจะละการดูพระศาสดาไปในที่อื่นได้.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงพระดำริว่า ภิกษุนี้ไม่ได้ความสังเวชจักไม่ตรัสรู้ ดังนี้ ในวันเข้าพรรษาจึงขับไล่พระเถระ ด้วยตรัสว่า หลีกไป วักกลิ.
               พระเถระถูกพระศาสดาทรงขับไล่ จึงไม่อาจจะอยู่ในที่พร้อมพระพักตร์ได้ จึงคิดว่าจะประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่ของเราที่จะไม่เห็นพระศาสดา ดังนี้แล้วจึงขึ้นสู่ที่เหวที่ภูเขาคิชฌกูฏ.
               พระศาสดาทรงทราบเรื่องนั้นของเธอ จึงทรงพระดำริว่า ภิกษุนี้เมื่อไม่ได้ความเบาใจจากสำนักเรา จะพึงยังธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคและผลให้พินาศไป.
               เมื่อจะทรงฉายพระรัศมีเพื่อแสดงพระองค์ จึงตรัสพระคาถาว่า
                         ภิกษุผู้มากไปด้วยปราโมทย์ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
                         พึงบรรลุบทอันสงบ เป็นที่เข้าไปสงบแห่งสังขารเป็นสุข ดังนี้.
               แล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า มาเถิด วักกลิ.
               พระเถระคิดว่า เราเห็นพระทศพลแล้ว แม้การตรัสเรียกว่า จงมา เราก็ได้แล้ว ดังนี้แล้วเกิดปีติและโสมนัสมีกำลัง ไม่รู้การไปของตนว่ามาจากไหน จึงแล่นไปในอากาศ ในที่พร้อมพระพักตร์ของพระศาสดา ยืนอยู่บนเขาด้วยก้าวเท้าแรก รำพึงถึงคาถาที่พระศาสดาตรัส ข่มปีติในอากาศนั่นเอง บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาดังนี้
               เรื่องนี้มาแล้วในอรรถกถาอังคุตตรนิกาย และอรรถกถาแห่งธรรมบท.
               ก็ในที่นี้ อาจารย์บางพวกกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ท่านพระวักกลิเถระอันพระศาสดาทรงโอวาทโดยนัยมีอาทิว่า เธอจะประโยชน์อะไร วักกลิดังนี้ อยู่บนภูเขา เริ่มตั้งวิปัสสนา เพราะท่านมีศรัทธาเป็นกำลังนั่นเอง วิปัสสนาจึงไม่ลงสู่วิถี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดังนั้น จึงได้ให้เธอชำระกรรมฐานให้หมดจดประทานให้ เธอไม่สามารถจะให้วิปัสสนาถึงที่สุดได้อีก.
               ลำดับนั้น โรคลมเพราะความบกพร่องอาหารได้เกิดขึ้นแก่ท่าน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าท่านถูกโรคลมเบียดเบียนจึงเสด็จไปในที่นั้น
               เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสว่า
                         ดูก่อนภิกษุ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ซึ่งเป็นที่ปราศจากโคจร
                         เป็นที่เศร้าหมอง ถูกโรคลมครอบงำ จักทำอย่างไร

               พระเถระได้ฟังดังนั้นจึงได้กล่าว ๔ คาถาว่า
                         ข้าพระองค์จะยังปีติและความสุขอันไพบูลย์ให้แผ่ไปสู่
                         ร่างกาย ครอบงำปัจจัยอันเศร้าหมองอยู่ในป่าใหญ่ จัก
                         เจริญสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗
                         อยู่ในป่าใหญ่ เพราะได้เห็นภิกษุทั้งหลายผู้ปรารภความ
                         เพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ มีความ
                         พร้อมเพรียงกัน มีความเห็นร่วมกัน ข้าพระองค์จึงจักอยู่
                         ในป่าใหญ่ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้มีพระ
                         องค์อันฝึกแล้ว มีพระหฤทัยตั้งมั่น จึงเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
                         ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันอยู่ในป่าใหญ่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาตโรคาภินีโต ความว่า ถูกโรคลมครอบงำ นำให้ถึงความไม่มีเสรีภาพ คือถูกพยาธิอันเกิดจากลมครอบงำ.
               พระองค์เรียกพระเถระว่า ตวํ.
               บทว่า วิหรํ ความว่า อยู่ด้วยอิริยาบถวิหารนั้น.
               บทว่า กานเน วเน ความว่า ในป่าอันเป็นดงอธิบายว่าในป่าใหญ่.
               บทว่า ปวิฏฺฐโคจเร แปลว่า เป็นที่ปราศจากโคจร คือเป็นที่หาปัจจัยได้ยาก. ชื่อว่าเศร้าหมอง คือเป็นที่เศร้าหมอง เพราะไม่มีเภสัชมีเนยใสเป็นต้น อันเป็นสัปปายะของโรคลมและเพราะเป็นภูมิภาคมีดินเค็ม.
               บทว่า กถํ ภิกฺขุ กริสฺสสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ภิกษุ เธอจักทำอย่างไร?
               พระเถระได้ฟังดังนั้น เมื่อจะประกาศการอยู่เป็นสุขแห่งตนด้วยปีติและโสมนัสปราศจากอามิสดังนี้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปีติ สุเขน ด้วยปีติและสุข.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปีติ สุเขน ความว่า ด้วยปีติอันมีความโลดลอยเป็นลักษณะ และมีการแผ่ซาบซ่านเป็นลักษณะ และด้วยสุขอันสัมปยุตด้วยปีตินั้น.
               บทว่า ผรมาโน สมุสฺสยํ ความว่า ข้าพระองค์จะยังรูปอันประณีต อันเกิดจากปีติและสุขตามที่กล่าวแล้ว ให้แผ่ซ่านเข้าร่างกายทั้งสิ้น คือกระทำให้รูปถูกต้องไม่ขาดสาย.
               บทว่า ลูขมฺปิ อภิสมฺโภนฺโต ความว่า ครอบงำ คือท่วมทับปัจจัยอันเศร้าหมองแม้อดกลั้นได้ยาก อันเป็นเหตุเป็นไปโดยความขัดเกลาซึ่งเกิดแต่การอยู่ป่า.
               บทว่า วิหริสฺสามิ กานเน ความว่า ข้าพระองค์จักอยู่ในราวป่า ด้วยสุขอันเกิดแต่ฌานและสุขอันเกิดแต่วิปัสสนา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า และข้าพระองค์เสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) และว่า
                         บุคคลพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย
                         ในกาลใดๆ ในกาลนั้นๆ เขาย่อมได้ปีติและปราโมช นั้นเป็น
                         อมตะของบุคคลผู้รู้อยู่.
               บทว่า ภาเวนฺโต สติปฏฺฐาเน ความว่า ยังสติปัฏฐาน ๔ มีกายานุปัสสนาเป็นต้นอันนับเนื่องในมรรค ให้เกิดและให้เจริญ.
               บทว่า อินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้นอันนับเนื่องในมรรคนั้นเอง.
               บทว่า พลานิ ได้แก่ พละ ๕ มีศรัทธาเป็นต้นก็เหมือนกัน.
               บทว่า โพชฺฌงฺคานิ ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้นก็เหมือนกัน.
               ด้วย ศัพท์ ท่านสงเคราะห์ สัมมัปปธาน อิทธิบาท และองค์มรรค.
               จริงอยู่ การคำนวณธรรมเหล่านั้น ย่อมมีโดยการจัดธรรมเหล่านั้นนั่นเอง เพราะไม่มีการเว้นธรรมเหล่านั้น.
               บทว่า วิหริสฺสามิ ความว่า ข้าพระองค์ เมื่อเจริญโพธิปักขิยธรรมตามที่กล่าวแล้ว จักอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่มรรค สุขอันเกิดแต่ผลอันสำเร็จมาแต่การบรรลุมรรคนั้น และสุขอันเกิดแต่พระนิพพาน.
               บทว่า อารทฺธวีริเย ความว่า ผู้ประกอบความเพียร ด้วยสามารถแห่งสัมมัปปธาน ๔.
               บทว่า ปหิตตฺเต ได้แก่ ผู้มีจิตส่งไปเฉพาะแล้วสู่พระนิพพาน.
               บทว่า นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกเม ได้แก่ ผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนตลอดกาล.
               ชื่อว่าผู้มีความพร้อมเพรียง ด้วยอำนาจไม่วิวาทกันและด้วยอำนาจการให้กายสามัคคี. เพราะเห็นเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้เสมอกันด้วยทิฏฐิและศีล.
               ด้วยคำนั้นท่านแสดงถึงความเพียบพร้อมด้วยกัลยาณมิตร.
               บทว่า อนุสรนฺโต สมฺพุทฺธํ ความว่า ไม่เกียจคร้าน ระลึกถึงพระองค์ผู้ชื่อว่า สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง ชื่อว่าผู้เลิศ เพราะเป็นผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง ชื่อว่าฝึกตนแล้วด้วยการฝึกอันสูงสุด ชื่อว่าผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิอันยอดเยี่ยม โดยนัยมีอาทิว่า แม้เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ดังนี้ ทั้งกลางคืนและกลางวันทุกเวลาอยู่. ด้วยคำนี้ ท่านจึงกล่าวการประกอบพระกรรมฐานในที่ทั้งปวง เพราะแสดงถึงอาการประกอบในการเจริญพุทธานุสสติ กล่าวถึงการประกอบปาริหาริยกรรมฐาน ด้วยคำต้น.
               ก็พระเถระครั้นกล่าวอย่างนี้แลจึงบำเพ็ญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               สมเด็จพระผู้นำมีพระนามอันรุ่งเรือง มีพระคุณนับไม่ได้ พระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ พระองค์ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ก็เพราะมีพระพักตร์เหมือนดอกปทุม มีพระฉวีวรรณงาม ไม่มีมลทินเหมือนดอกปทุม ไม่เปื้อนด้วยโลกเหมือนดอกปทุมไม่เปื้อนด้วยน้ำฉะนั้น เป็นนักปราชญ์ มีพระอินทรีย์ดังใบปทุมและน่ารักเหมือนดอกปทุม ทั้งมีพระโอษฐ์มีกลิ่นอุดมเหมือนกลิ่นในกลีบของดอกปทุม เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่าปทุมุตตระ
               พระองค์เป็นผู้เจริญกว่าโลก ไม่ทรงถือพระองค์ เปรียบเสมือนเป็นนัยน์ตาให้คนตาบอด มีพระอิริยาบถสงบ เป็นที่เก็บพระคุณ เป็นที่รองรับกรุณาและมติ ถึงในครั้งไหนๆ พระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้นก็เป็นผู้อันพรหม อสูรและเทวดาบูชา เป็นพระชินะผู้สูงสุดในท่ามกลางหมู่ชนและเกลื่อนกล่นไปทั้งเทวดาและมนุษย์ เพื่อจะยังบริษัททั้งปวงให้ยินดีด้วยพระสำเนียงอันเสนาะและด้วยพระธรรมเทศนาอันเพราะพริ้ง จึงได้ชมสาวกของพระองค์ว่า ภิกษุอื่นที่พ้นกิเลสด้วยศรัทธามีมติดี ขวนขวายในการดูเราเช่นกับวักกลิภิกษุนี้ ไม่มีเลย
               ครั้งนั้น เราเป็นบุตรของพราหมณ์ในพระนครหังสาวดี ได้สดับพระพุทธสุภาษิตนั้น จึงชอบใจฐานันดรนั้น ครั้งนั้นเราได้นิมนต์พระตถาคตผู้ปราศจากมลทินพระองค์นั้นพร้อมด้วยพระสาวก ให้เสวยตลอด ๗ วันแล้วให้ครองผ้า เราหมอบศีรษะลงแล้ว จบลงในสาครคืออนันตคุณของพระศาสดาพระองค์นั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยปีติ ได้กราบทูลดังนี้ว่า
               ข้าแต่พระมหามุนี ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเช่นกันกับภิกษุผู้ศรัทธาธิมุตติที่พระองค์ทรงชมเชยว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุมีศรัทธาในพระศาสนานี้เถิด.
               เมื่อเราได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระมหามุนีผู้มีความเพียรใหญ่ มีพระทัสสนะมิได้มีเครื่องกีดกัน ได้ตรัสพระดำรัสนี้ในท่ามกลางบริษัทว่า
               จงดูมาณพผู้นี้ ผู้นุ่งผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเหลือง มีอวัยวะอันบุญสร้างสมให้คล้ายทองคำ ดูดดื่มตาและใจของหมู่ชน ในอนาคตกาล มาณพผู้นี้จักได้เป็นพระสาวกของพระโคดมผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายศรัทธาธิมุตติ
               เขาเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตามจักเป็นผู้เว้นจากความเดือดร้อนทั้งปวง รวบรวมโภคทรัพย์ทุกอย่าง มีความสุขท่องเที่ยวไป
               ในที่แสนกัปแต่กัปนี้ พระศาสดามีพระนามว่าโคดม ทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มาณพผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่าวักกลิ
               เพราะผลกรรมที่เหลือนั้นและเพราะตั้งเจตจำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรามีความสุขในที่ทุกสถาน ท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่ ได้เกิดในตระกูลหนึ่งในพระนครสาวัตถี
               มารดาของเราถูกภัยแต่ปิศาจคุกคาม มีใจหวาดกลัวจึงให้เราผู้ละเอียดอ่อนเหมือนเนยข้น นุ่มนิ่มเหมือนใบไม้อ่อนๆ ซึ่งยังนอนหงายให้นอนลงแทบบาทมูลของพระผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ กราบทูลว่า
               ข้าแต่พระโลกนาถ หม่อมฉันขอถวายทารกนี้แด่พระองค์ ข้าแต่พระโลกนายก ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของเขาด้วยเถิด
               ครั้งนั้น สมเด็จพระมุนีผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ผู้หวาดกลัว พระองค์ได้ทรงรับเราด้วยฝ่าพระหัตถ์อันอ่อนนุ่มมีตาข่าย อันท่านกำหนดด้วยจักรตั้งแต่นั้นมา.
               เราก็เป็นผู้ถูกรักษาโดยพระพุทธเจ้า จึงเป็นผู้พ้นจากความป่วยไข้ทุกอย่าง อยู่โดยสุขสำราญ เราเว้นจากสุคตเสียเพียงครู่เดียวก็รำคาญใจ พออายุได้ ๗ ขวบเราก็ออกบวชเป็นบรรพชิต เราเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยการดูพระรูปอันประเสริฐเกิดเพราะบารมีทุกอย่าง มีดวงพระเนตรสีนิล ล้วนเกลื่อนกล่นไปด้วยวรรณสัณฐานอันงดงาม
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงทราบว่าเรายินดีในพระพุทธรูป จึงได้ตรัสสอนเราว่า อย่าเลยวักกลิ ประโยชน์อะไรในรูปที่น่าเกลียด ซึ่งคนพาลชอบเล่า ก็บัณฑิตใดเห็นสัทธรรม บัณฑิตนั้นชื่อว่าเห็นเรา. ผู้ไม่เห็นสัทธรรมถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น. กายมีโทษไม่สิ้นสุด เปรียบเสมอด้วยต้นไม้มีพิษ เป็นที่อยู่ของโรคทุกอย่างล้วนเป็นที่ประชุมของทุกข์ เพราะฉะนั้น ท่านจงเบื่อหน่ายในรูป พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย จักถึงที่สุดแห่งสรรพกิเลสได้โดยง่าย.
               เราอันสมเด็จพระโลกนายกผู้แสวงหาประโยชน์พระองค์นั้น ทรงพร่ำสอนอย่างนี้ ได้ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ เพ่งดูอยู่ที่ซอกเขา.
               พระพิชิตมารผู้มหามุนีประทับยืนอยู่ที่เชิงเขา เพื่อจะทรงปลอบโยนเราได้ตรัสเรียกว่า วักกลิ เราได้ฟังพระดำรัสนั้นเข้าก็เบิกบาน ครั้งนั้นเราวิ่งลงไปที่เงื้อมเขาสูงหลายร้อยชั่วบุรุษ แต่ถึงแผ่นดินได้โดยสะดวกทีเดียวด้วยพุทธานุภาพ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา คือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายอีก เรารู้ธรรมนั้นทั่วถึงแล้ว จึงได้บรรลุอรหัต
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระปรีชาใหญ่ ทรงถึงที่สุดแห่งจรณะ ทรงประกาศในท่ามกลางแห่งมหาบริษัทแห่งสัตบุรุษว่า เราเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายศรัทธาธิมุตติ
               ในที่แสนกัปแต่กัปนี้ เราได้ทำกรรมใดไว้ในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๒๒

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว แม้เมื่อพยากรณ์พระอรหัตผล ก็ได้กล่าวคาถานี้เหมือนกัน.
               ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้น้อมไปในศรัทธาฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาวักกลิเถรคาถาที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญจกนิบาต ๘. วักกลิเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 341อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 342อ่านอรรถกถา 26 / 343อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6418&Z=6431
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=1459
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=1459
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :