ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 317อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 318อ่านอรรถกถา 26 / 319อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต
๑๒. อุตตรปาลเถรคาถา

               อรรถกถาอุตตรปาลเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระอุตตรปาลเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปณฺฑิตํ วต มํ สนฺตํ ดังนี้.
               มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
                         อยมฺปิ ปุริมพุทฺเธสุ กตาธิกาโร ตตฺถ ตตฺถ ภเว
               ปุญ์ญานิ อุปจินนฺโต วิปสฺสิสฺส ภควโต [๑] คมนมคฺเค เสตุํ
               การาเปสิ ฯ
               # ๑. ยุ. เอตฺถนฺตเร กาเลติ ทิสฺสติ ฯ

               แม้ท่านพระอุตตรปาลเถระนี้ก็มีบุญญาธิการได้ทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เมื่อสั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ได้ให้สร้างสะพานไว้ที่ทางเสด็จพุทธดำเนินของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี.
               ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลก มาในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองพาราณสี มีชื่อว่าอุตตรปาละ เติบโตแล้วได้เห็นยมกปาฏิหาริย์ ได้ศรัทธาบวชแล้วบำเพ็ญสมณธรรม.
               อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อท่านระลึกถึงภูตารมณ์เนืองๆ ด้วยสามารถกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย กามราคะก็เกิดขึ้น. ทันใดนั้น ท่านข่มจิตของตนไว้ได้ เหมือนคนจับโจรพร้อมกับของกลางไว้ได้ เกิดความสลดใจขึ้น ข่มกิเลสไว้ด้วยการมนสิการถึงธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสนั้นแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ให้ภาวนาก้าวหน้าขึ้นไป บรรลุพระอรหัตผล.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เสด็จจงกรมอยู่ต่อหน้า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ดีใจ ได้สร้างสะพานถวาย
               ในกัปที่ ๙๑ นับถอยหลังไปแต่กัปนี้ เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าได้สร้างสะพานถวาย จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน. กิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้เผาแล้ว ฯลฯ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๕๔

               อนึ่ง ครั้นได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว พิจารณาดูข้อปฏิบัติของตนแล้ว เมื่อจะบันลือสีหนาทจึงได้กล่าวคาถาไว้ ๓ คาถาว่า
                         เบญจกามคุณ ทำเราผู้เป็นบัณฑิต สามารถคิดค้น
                         ประโยชน์ได้ ให้ลุ่มหลงหนอ ให้เราตกอยู่ในโลก
                         เราได้แล่นไปในวิสัยของมาร ถูกลูกศรปักอยู่อย่าง
                         เหนียวแน่น แต่ก็สามารถเปลื้องตนออกจากบ่วง
                         มัจจุราชได้. กามทั้งหมดเราละได้แล้ว ภพทั้งหลาย
                         เราทำลายได้หมดแล้ว การเวียนเกิดสิ้นสุดลงแล้ว
                         บัดนี้ภพใหม่ไม่มี.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑิตํ วต มํ สนฺตํ ความว่า เพราะว่าให้เราผู้ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยปัญญา ด้วยอำนาจปัญญาที่สำเร็จด้วยการฟังและการคิดที่มีอยู่.
               บทว่า อลมตฺถวิจินฺตกํ ความว่า สามารถเพื่อจะคิดค้นประโยชน์เกื้อกูลทั้งของตนเอง ทั้งของคนอื่น.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เป็นผู้ควรคิดค้นเนื้อความตามความต้องการ หรือสามารถกำจัดกิเลสได้ สำหรับผู้เห็นเนื้อความเป็นปกติ.
               พระเถระให้ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ เพราะว่าตนเป็นผู้มีภพเป็นครั้งสุดท้าย.
               บทว่า ปญฺจ กามคุณา ได้แก่ กามคุณจำนวน ๕ ส่วนมีรูปเป็นต้น.
               คำว่า โลเก เป็นคำแสดงถึงสถานที่ๆ กามเหล่านั้นเป็นไป.
               บทว่า สมฺโมหา ความว่า มีสัมโมหะเป็นนิมิต (เพราะงมงาย) คือ เหตุที่ทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สมฺโมหา ได้แก่ เพราะงมงาย คือเพราะทำให้งมงาย.
               บทว่า ปาตยึสุ ความว่า ให้ตกต่ำลงไปจากความเป็นปราชญ์
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ให้เราผู้ประสงค์จะเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าสัตวโลก ตกไปอยู่ในโลก.
               บทว่า ปกฺขนฺโท ได้แก่ ตามเข้าไป.
               บทว่า มารวิสเย ได้แก่ สถานที่ๆ กิเลสมารเป็นไป. อธิบายว่า ไปสู่อำนาจของกิเลสมารนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ติดตามมารนั้นเข้าไปดำรงอยู่ในอิสริยสถานของเทวบุตมาร.
               บทว่า ทฬฺหสลฺลสมฺมปฺปิโต ความว่า ถูกลูกศรปักไว้อย่างมั่นคง คือเหนียวแน่น.
               อีกอย่างหนึ่ง ต้องศรที่เหนียวแน่น คือถูกลูกศรคือราคะปักถึงหัวใจ.
               บทว่า อสกฺขึ มจฺจุราชสฺส อหํ ปาสา ปมุจฺจิตุํ (ข้าพเจ้าสามารถจะพ้นจากบ่วงของพญามัจจุราชได้แล้ว) ความว่า ข้าพเจ้าใช้คีมคือมรรคอันเลิศ (อรหัตมรรค) ถอนลูกศรมีราคะเป็นต้น ขึ้นได้แล้ว ไม่มีเหลืออยู่เลย สามารถพ้นจากบ่วงของพญามัจจุราช ได้แก่ เครื่องผูกคือราคะได้แล้ว คือเปลื้องตนออกจากบ่วงนั้นได้แล้ว.
               และควรทราบวินิจฉัยต่อจากนั้นไปนั่นเองว่า
               บทว่า สพฺเพ กามา ปหีนา เม ภวา สพฺเพ ปทาลิตา (กามทั้งหมด ข้าพเจ้าละได้แล้ว ภพทั้งหลาย ข้าพเจ้าทำลายหมดแล้ว) ความว่า กิเลสกามที่แตกต่างกันออกไปหลายประเภทโดยแยกไปตามวัตถุและอารมณ์ ข้าพเจ้าละได้ทั้งหมดแล้ว โดยการตัดขาดด้วยอริยมรรค. เพราะว่า เมื่อละกิเลสกามทั้งหลายได้แล้วแม้วัตถุกามก็เป็นอันละได้แล้วเหมือนกัน.
               อนึ่ง ภพทั้งหลายมีกามภพและกรรมภพเป็นต้น ข้าพเจ้าทำลายคือกำจัดได้ทั้งหมดแล้ว ด้วยดาบคือมรรค เพราะว่า เมื่อทำลายกรรมภพได้แล้ว อุปปัตติภพก็เป็นอันทำลายได้แล้วเหมือนกัน. เพราะทำลายกรรมภพได้อย่างนี้นั่นเอง สงสารคือชาติ (การเวียนเกิด) ได้สิ้นสุดลงแล้ว บัดนี้ภพใหม่ก็ไม่มี.
               เนื้อความของบทนั้นได้อธิบายไว้ในตอนหลังแล้ว.
               ก็นี้แหละคือคำพยากรณ์พระอรหัตผลของพระเถระ.
               จบอรรถกถาอุตตรปาลเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต ๑๒. อุตตรปาลเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 317อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 318อ่านอรรถกถา 26 / 319อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6144&Z=6150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=12838
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=12838
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :