ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 311อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 312อ่านอรรถกถา 26 / 313อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต
๖. ขุชชโสภิตเถรคาถา

               อรรถกถาขุชชโสภิตเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระขุชชโสภิตเถระ มีคำขึ้นต้นว่า เย จิตฺตกถี พหุสฺสุตา.
               มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ทราบว่า ท่านพระขุชชโสภิตเถระนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนามว่าปทุมุตตระ ได้เกิดในคฤหาสน์ของผู้มีสกุล รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปกับภิกษุสงฆ์จำนวนมาก มีใจเลื่อมใสได้กล่าวชมเชยด้วยคาถา ๑๐ คาถา. ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านได้ท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลก มาในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนครปาฏลีบุตร ได้มีนามว่าโสภิตะ แต่เพราะเป็นผู้ค่อมเล็กน้อย จึงปรากฏชื่อว่าขุชชโสภิตะ นั่นเทียว.
               ท่านเจริญวัยแล้ว เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้บวชในสำนักของท่านพระอานนทเถระ ได้อภิญญา ๖.
               ด้วยเหตุนั้น ในอปทานท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า๑-
               พระนราสภผู้ทรงเป็นเทพเจ้าของเทพทั้งหลาย เสด็จดำเนินไปบนถนน งดงามเหมือนเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงยังความมืดมนอนธการให้พินาศไป ให้คนจำนวนมากข้ามฟากได้ ทรงโชติช่วงอยู่ด้วยแสงสว่างคือพระญาณ ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นนายกโลก ทรงนำสัตวโลกไป ทรงยกสัตวโลกจำนวนมากขึ้นด้วย (พระปรีชาญาณ) จำนวนแสน ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงย่ำกลองคือพระธรรม บดขยี้หมู่เดียรถีย์ บันลือสีหนาทอยู่ ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส. ทวยเทพพร้อมทั้งพระพรหมตั้งแต่พรหมโลก พากันมาทูลถามปัญหาที่ละเอียด ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส. เหล่ามนุษย์พร้อมทั้งเทวดาพากันมาประนมมือทูลวิงวอนต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ก็ได้บุญ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส. ปวงชนพากันมาชุมนุมห้อมล้อมพระองค์ผู้มีพุทธจักษุ พระองค์ผู้อันเขาทูลเชิญแล้วก็ไม่ทรงสะทกสะท้าน ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส.
               เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดเสด็จเข้าพระนคร กลองจะดังขึ้นมากมาย ช้างพลายที่เมามันก็พากันบันลือ ใครเล่าเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้วจะไม่เลื่อมใส.
               เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด เสด็จดำเนินไปตามถนน พระรัศมีของพระองค์ จะพวยพุ่งขึ้นสูง สม่ำเสมอทุกเมื่อ ใครเล่าเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นแล้วจะไม่เลื่อมใส. เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสออกไป จะได้ยินกันทั้งจักรวาล ให้สรรพสัตว์เข้าใจกันทั่ว ใครเล่าเห็นพระองค์แล้วจะไม่เลื่อมใส.
               ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าพระองค์ใดไว้ ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติเลย นี้คือผลแห่งการสรรเสริญพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น. กิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้เผาแล้ว ฯลฯ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๖๒

               อนึ่ง ท่านเป็นผู้มีอภิญญา ๖ ในสมัยมหาสังคายนาครั้งแรก ท่านถูกพระสงฆ์ผู้ประชุมกันที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ มีบัญชาว่า ท่านจงไปนิมนต์ท่านพระอานนทเถระมา จึงได้ดำดินลงไปโผล่ขึ้นตรงหน้าพระเถระ กราบเรียนให้ทราบแล้ว ตนเองได้ล่วงหน้าไปทางอากาศถึงประตูถ้ำสัตตบรรณคูหาก่อน.
               ก็สมัยนั้น เทวดาบางองค์ที่หมู่เทวดาส่งไปเพื่อห้ามพญามารและพรรคพวกของพญามาร ได้ยืนที่ประตูถ้ำสัตตบรรณคูหา. พระขุชชโสภิตเถระ เมื่อจะบอกการมาของตนแก่เทวดาองค์นั้นได้กล่าวคาถาแรกไว้ว่า
                         สมณะเหล่าใดกล่าวถ้อยคำไพเราะ เป็นปกติ เป็นพหูสูต
                         เป็นชาวเมืองปาฏลีบุตร ท่านพระขุชชโสภิตะ ซึ่งยืนอยู่
                         ที่ประตูถ้ำนี้ เป็นรูปหนึ่งในจำนวนสมณะเหล่านั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิตฺตกถี คือ เป็นผู้แสดงธรรมไพเราะเป็นปกติ.
               อธิบายว่า เป็นผู้มีปกติพูดธรรม เหมาะกับอัธยาศัยของผู้อื่นโดยนัยต่างๆ มีอาทิอย่างนี้คือ ย่อ พิสดาร ทำให้ลึกซึ้ง ทำให้ตื้น (ง่าย) บรรเทาความสงสัยได้ ให้ผู้ฟังตั้งมั่นอยู่ในธรรมได้.
               บทว่า พหุสฺสุตา ความว่า ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะบริบูรณ์ด้วยความเป็นพหูสูตทั้งทางปริยัติและปฏิเวธ. ชื่อว่าเป็นสมณะ เพราะระงับบาปได้โดยประการทั้งปวง.
               บทว่า ปาฏลิปุตฺตวาสิโน เตสญฺญตโร ความว่า ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าอยู่ประจำกรุงปาฏลีบุตร เพราะอยู่ที่นครปาฏลีบุตรเป็นปกติ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ท่านผู้มีอายุ คือท่านผู้มีอายุยืนนี้ เป็นรูปใดรูปหนึ่ง.
               บทว่า ทฺวาเร ติฏฺฐติ ความว่า ยืนอยู่ที่ประตูถ้ำสัตตบรรณคูหา. อธิบายว่า เพื่อจะเข้าไปตามอนุมัติของสงฆ์.
               เทวดาครั้นได้ฟังคำนั้นแล้วจึงประกาศการมาของพระเถระให้พระสงฆ์ทราบ ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
                         สมณะเหล่าใดเป็นผู้กล่าวธรรมวิจิตร เป็นเป็นปกติ เป็นพหูสูต
                         เป็นชาวเมืองปาฏลีบุตร ท่านรูปนี้มาด้วยฤทธิ์ ดุจลมพัด ยืนอยู่
                         ที่ประตูถ้ำ เป็นรูปหนึ่งในจำนวนสมณะเหล่านั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาลุเตริโต ความว่า ผู้มาแล้วด้วยลมที่เกิดจากฤทธิ์ของจิต. อธิบายว่า มาแล้วด้วยกำลังฤทธิ์.
               พระเถระผู้ที่พระสงฆ์ให้โอกาสแล้วตามที่เทวดาองค์นั้นได้ประกาศให้ทราบอย่างนี้แล้ว เมื่อไปสำนักสงฆ์ ได้พยากรณ์พระอรหัตผลด้วยคาถาที่ ๓ นี้ว่า
                         ท่านผู้นี้ประสบความสุขด้วยอาการอย่างนี้ คือ ด้วยการรบ
                         อย่างดี ด้วยความปรารถนา (ของกัลยาณมิตร) ด้วยชัยชนะ
                         ในสงคราม และด้วยพรหมจรรย์ที่ประพฤติมาแล้วตามลำดับ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุยุทฺเธน ความว่า ด้วยการรบอย่างดีกับกิเลสทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งตทังคปหาน (การละได้ด้วยองค์นั้น) และวิกขัมภนปหาน (การละด้วยการข่มไว้).
               บทว่า สุยิฏฺเฐน ความว่า ด้วยธรรมทานเป็นที่สบายที่กัลยาณมิตรทั้งหลายให้แล้วในระหว่างๆ.
               บทว่า สงฺคามวิชเยน จ ความว่า และด้วยชัยชนะในสงครามที่ได้แล้วด้วยอำนาจแห่งสมุจเฉทปหาน (การละได้โดยเด็ดขาด).
               บทว่า พฺรหฺมจริยานุจิณฺเณน ความว่า ด้วยมรรคพรหมจรรย์ชั้นยอดที่ประพฤติมาแล้วตามลำดับ.
               บทว่า เอวายํ สุขเมธติ ความว่า ท่านพระขุชชโสภิตเถระนี้ย่อมประสบ.
               อธิบายว่า เสวยอยู่ซึ่งความสุขคือพระนิพพานและความสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ ด้วยประการอย่างนี้ คือด้วยประการดังที่กล่าวมาแล้ว.

               จบอรรถกถาขุชชโสภิตเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต ๖. ขุชชโสภิตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 311อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 312อ่านอรรถกถา 26 / 313อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6095&Z=6103
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=12100
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=12100
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :