ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 308อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 309อ่านอรรถกถา 26 / 310อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต
๓. พากุลเถรคาถา

               อรรถกถาพากุลเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระพากุลเถระ มีคำเริ่มต้นว่า โย ปุพฺเพ กรณียานิ.
               มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               เล่ากันมาว่า แม้ท่านพระพากุลเถระนี้ ในอดีตกาล สุดอสงไขยแสนกัป ก่อนแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นนั่นเอง ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้วได้เรียนไตรเพทจบ ไม่เห็นสาระในไตรเพทนั้น จึงบวชเป็นฤาษี ด้วยคิดว่าเราจักแสวงหาประโยชน์ภายภาคหน้า พักอยู่ที่เชิงเขาได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘.
               อยู่มาได้ทราบการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า ได้ไปยังสำนักของพระศาสดา สดับพระธรรมเทศนาแล้วตั้งอยู่ในสรณะ เมื่อพระศาสดาเกิดประชวรพระนาภีขึ้น ได้นำยาจากป่ามาถวาย ให้พระโรคสงบแล้ว ได้น้อมซึ่งบุญในการถวายยานั้นไปเพื่อประโยชน์แก่ความไม่มีโรค จุติจากอัตภาพนั้นแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก ท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลกสิ้นเวลาอสงไขยหนึ่ง.
               ในกาลของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้ถือกำเนิดในคฤหาสน์ของผู้มีสกุล ในพระนครหงสาวดี เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อย ตนเองต้องการตำแหน่งนั้น ได้ตั้งประณิธานไว้ สั่งสมกุศลตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปมาในสุคติอย่างเดียว.
               ก่อนแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เสด็จอุบัติขึ้นนั่นเอง ได้เกิดในสกุลพราหมณ์ ในพระนครพันธุมดี บวชเป็นฤาษีตามนัยก่อนนั่นแหละ ได้ฌานและอภิญญา พำนักอยู่ที่เชิงเขา ได้ทราบ (ข่าว) พระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว ได้ไปยังสำนักพระศาสดา สดับพระธรรมเทศนาแล้วตั้งอยู่ในสรณะ เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดอาพาธเพราะหญ้าและดอกไม้ (ไข้ป่า) เขารักษาโรคนั้นให้สงบแล้วอยู่ ณ ที่นั้นตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในพรหมโลก ท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลกสิ้นเวลา ๙๑ กัป.
               ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้ถือกำเนิดในคฤหาสน์ของผู้มีสกุล ในเมืองพาราณสี ครองเรือนอยู่เห็นวัดใหญ่เก่าๆ วัดหนึ่งกำลังจะร้าง จึงได้สร้างที่อยู่ทั้งหมดมีโรงอุโบสถเป็นต้น ปรุงยาทุกอย่างถวายพระสงฆ์ในวัดนั้น สร้างกุศลตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลก ตลอดเวลาหนึ่งพุทธันดร.
               ก่อนแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นนั่นเอง ได้ถือกำเนิดในคฤหาสน์ของเศรษฐี ในเมืองโกสัมพี.
               ท่านอันพี่เลี้ยงกำลังอาบน้ำให้ที่แม่น้ำมหายมุนาเพื่อความไม่มีโรค ถูกปลาฮุบไปจากมือของพี่เลี้ยง เมื่อปลาตกถึงมือของพรานเบ็ด ภรรยาของเศรษฐีเมืองพาราณสีรับซื้อเอาไป แม้ถูกผ่าท้อง (เอาออกมา) ก็ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง เพราะกำลังบุญ นางจึงรับเอาเป็นลูกเลี้ยงไว้ ได้นามว่า พากุละ (คนสองตระกูล) เพราะเมื่อมารดาบิดาผู้ให้กำเนิด ได้ทราบประวัตินั้นแล้วทวงถามบ่อยๆ ว่า เด็กคนนี้เป็นลูกของเรา ขอจงให้ลูกแก่พวกเรา.
               พระราชาทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ตั้งอยู่ โดยความเป็นทายาทของ ๒ ตระกูลว่า เด็กคนนี้เป็นเหตุทั่วไปสำหรับตระกูลแม้ทั้ง ๒ ตระกูล เจริญวัยแล้วจึงได้เสวยสมบัติมากมายมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ได้สดับพระธรรมเทศนาในสำนักของพระศาสดาแล้ว กลับได้ความเชื่อ บวชแล้วเป็นปุถุชนชั่ว ๗ วันเท่านั้น รุ่งอรุณวันที่ ๘ ก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ในคัมภีร์อปทานว่า๑-
               ในที่ไม่ไกลป่าหิมพานต์มีภูเขาชื่อโสภิตะ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายได้สร้างอาศรมไว้อย่างดี ที่ภูเขานั้นมณฑปก็มีมาก ต้นยางทรายก็ออกดอกบานสะพรั่ง บนเขานั้นมะขวิดก็มีมาก เทียนดำเทียนขาวก็ออกดอกบานสะพรั่ง คนทิสอ, พุทรา, มะขามป้อมก็ชุกชุม สวนหย่อมก็มีหลาย น้ำเต้าก็มาก บัวขาวออกดอกบานสะพรั่ง มะหวด, มะตูม, กล้วย, มะงั่วก็มีมาก สะท้อน อัญชันและประยงค์ในที่นั้นก็ชุม โกสุม ต้นสน สะเดา ต้นไทร ต้นกระสังก็มาก อาศรมของข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าพร้อมทั้งศิษย์ได้อยู่ ณ ที่นั้น
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นสยัมภู ทรงเป็นผู้นำสัตวโลก พระนามว่าอโนมทัสสี เมื่อทรงแสวงหาที่หลีกเร้น ได้เสด็จมาถึงอาศรมของข้าพเจ้า เมื่อพระมหาวีระเสด็จเข้าถึงแล้ว อาพาธเกิดแต่ลมได้เกิดขึ้นชั่วขณะแก่พระองค์ผู้พระนามว่าอโนมทัสสี มีพระยศมาก ทรงเป็นนาถะของโลก.
               ก็ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่นครั้นได้เห็นความเคลื่อนไหวแล้ว ก็กำหนดได้ว่า ความจริง พยาธิได้เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายโดยไม่สงสัย ข้าพเจ้าได้รีบมายังอาศรม ประสงค์จะปรุงยาในสำนักศิษย์ของข้าพเจ้า ครั้งนั้นจึงได้นิมนต์ศิษย์ทั้งหลาย ศิษย์ทุกคนเชื่อฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า มีคารวะประชุมร่วมกัน เพราะมีความเคารพในพระศาสดาของเรา ข้าพเจ้าจึงรีบขึ้นภูเขา บันเทิงใจกับยาทุกขนาน ข้าพเจ้าผสมยากับน้ำดื่มแล้ว (ถวาย) ได้เป็นทาสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประเสริฐที่สุด.
               เมื่อพระมหาวีรสรรเพชญ์ผู้เป็นโลกนารถเสวยแล้ว โรคลมของพระศรีสุคตมหาฤาษีก็สงบลงโดยเร็ว.
               พระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นความกระวนกระวายที่สงบลงแล้ว จึงได้ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
               ผู้ใดถวายเภสัชแก่เราตถาคต และให้พยาธิของเราสงบไป เราตถาคตจักสรรเสริญผู้นั้น เมื่อเราตถาคตกล่าวอยู่ ขอเธอทั้งหลายจงฟังเถิด
               เขาจักรื่นเริงบนเทวโลกสิ้นเวลาแสนกัป ผู้นี้จักบันเทิงใจทุกเมื่อบนเทวโลกนั้น เพราะเสียงบรรเลง เสียงประโคม เขามาสู่มนุษยโลกแล้ว ถูกบุญเก่าตักเตือนแล้วจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึงพันชาติ ในกัปที่ ๕๕ จักได้เป็นกษัตริย์พระนามว่าอโนมะ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เพรียบพร้อมด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีพลพยุหโยธามากมาย ทรงชนะดินแดนชมพูทวีป เสวยไอศุริยสมบัติ แม้เทวดาชั้นดาวดึงส์ก็กระเทือน เป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ก็จักมีอาพาธน้อย เว้นความยึดมั่นถือมั่นแล้ว จักข้ามพยาธิในโลกได้
               ตลอดกัปนับไม่ถ้วน แต่กัปนี้ไป เขาจักได้เป็นโอรสผู้เป็นธรรมทายาทที่เนรมิตขึ้นโดยธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสมภพในตระกูลโอกกากราช เป็นศาสดาในโลกพระนามว่าโคดม โดยพระโคตร จักดับกิเลสเป็นผู้หาอาสวะมิได้ เพราะกำหนดรู้อาสวะทั้งมวล ครั้นเผากิเลสแล้วจักข้ามกระแสตัณหาไป เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่าพากุละ
               พระสมณโคดมผู้สูงสุดแห่งศากยวงศ์ทรงทราบประวัติทั้งหมดนี้แล้ว จักประทับนั่งในหมู่พระสงฆ์ ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ.
               พระสยัมภูผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี นายกโลก เมื่อทรงตรวจดูที่วิเวก ได้เสด็จเข้ามายังอาศรมของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าให้พระมหาวีรสรรเพชญ์ นายกโลกผู้เสด็จเข้ามาแล้ว ให้พอพระทัยด้วยโอสถทุกอย่าง ขอพระองค์จงทรงพอพระทัยด้วยมือ (ของข้าพระองค์)
               ข้าพเจ้าได้ทำกรรมดีแด่พระองค์ไว้ ความสมบูรณ์แห่งพืช ข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้วในบุญเขตที่ดี ข้าพเจ้าไม่อาจจะให้หมดสิ้นไปได้เลย เพราะในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ดีแล้ว เป็นลาภของเรา เป็นโชคดีของเราที่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นนายก ด้วยผลกรรมที่เหลือ ข้าพเจ้าจึงได้ลุถึงทางที่ไม่หวั่นไหว
               พระสมณโคดมผู้สูงสุดแห่งศากยวงศ์ ได้ทรงทราบเรื่องทั้งหมดนี้แล้ว ได้ประทับนั่งในหมู่สงฆ์ ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตัคคะ ข้าพเจ้าได้ทำกรรมอันใดไว้ในครั้งนั้น เพราะกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติตลอดกัป นับไม่ถ้วนนับถอยหลังแต่กัปนี้ไป นี้เป็นผลแห่งเภสัช. กิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้เผาแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๓๙๘

               อนึ่ง ครั้นได้บรรลุพระอรหัตแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง ท่านเป็นผู้อันพระศาสดาผู้กำลังทรงตั้งพระสาวกทั้งหลายของพระองค์ไว้ในฐานันดรตามลำดับ ได้ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อย.
               เมื่อจะพยากรณ์อรหัตผล ด้วยโอวาทที่สำคัญแก่ภิกษุทั้งหลาย ท่ามกลางสงฆ์ในสมัยปรินิพพาน จึงได้กล่าวคาถาไว้ ๓ คาถาว่า
                         ผู้ใดไม่ทำงานที่จะต้องทำก่อน แต่มุ่งจะทำในภายหลัง
                         ผู้นั้นจะพลาดจากเหตุที่จะให้เกิดสุข และจะเดือดร้อน
                         ภายหลัง เพราะว่า ข้าพเจ้าบอกงานที่บุคคลควรทำ ไม่
                         บอกงานที่ไม่ควรทำ
                         เมื่อคนทั้งหลายบอกงานที่ไม่ใช่กำลังทำ บัณฑิตทั้งหลาย
                         ก็รู้ทัน พระนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
                         แล้ว เป็นธรรมไม่มีความโศก สำรอกแล้ว เป็นแดนเกษม
                         เป็นที่ดับทุกข์ แสนจะเป็นสุขหนอ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย ปุพฺเพ กรณียานิ ปจฺฉา โส กาตุมิจฺฉติ (ผู้ไม่ทำงานที่จะต้องทำในตอนต้น ภายหลังประสงค์จะทำ) ความว่า ผู้ใดเมื่อก่อน คือเมื่อเวลาก่อนแต่ที่ชราและโรคเป็นต้นจะครอบงำนั่นเอง ไม่ทำงานที่ควรทำ ที่จะนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้ตน ภายหลังแลคือเลยเวลาที่จะต้องทำไปแล้วจึงอยากทำ.
               คำว่า โส เป็นเพียงนิบาต.
               แต่ในกาลนั้น เขาไม่อาจจะทำได้ ไม่อาจทำได้ เพราะว่าเขาถูกชราและโรคเป็นต้นครอบงำแล้ว.
               บทว่า สุขา โส ธํสเต ฐานา ปจฺฉา จ มนุตปฺปติ (ผู้นั้นจะพลาดจากที่ที่จะให้เกิดความสุขและจะเดือดร้อนภายหลัง) ความว่า บุคคลนั้นจะเสื่อมจากที่ที่เป็นสุข คือจากสวรรค์และจากนิพพาน เพราะอุบายที่จะให้ถึงสถานที่นั้น ตนยังไม่ได้ให้เกิดขึ้น ทั้งจะเดือดร้อน คือถึงความวิปฏิสารภายหลังโดยนัยมีอาทิว่า เราไม่ได้ทำกรรมดีไว้.
                อักษรทำการเชื่อมบท.
               ก็พระเถระเมื่อจะแสดงว่า ข้าพเจ้าทำกิจที่ควรจะทำแล้วนั่นแหละ จึงบอกท่านทั้งหลายอย่างนี้ ดังนี้แล้วจึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า ยญฺหิ กยิรา เป็นต้นไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริชานนฺติ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายรู้เด็ดขาดว่า คนนี้มีเท่านี้. อธิบายว่า ไม่รู้มากไปกว่านี้. ด้วยว่า คนพูดอย่างใด ทำอย่างนั้นเท่านั้น ย่อมงดงามโดยอำนาจสัมมาปฏิบัติ ไม่ใช่งามโดยอย่างอื่นจากสัมมาปฏิบัตินั้น.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงเนื้อความที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว โดยตรงคือกิจที่จะต้องทำโดยทั่วไปไว้โดยสรุป
               พระเถระจึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ไว้โดยนัยมีอาทิว่า สุสุขํ วต ดังนี้.
               คาถาที่ ๓ นั้นมีเนื้อความว่า
               พระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้พระธรรมทั้งมวลด้วยพระองค์เองโดยชอบ ทรงแสดงไว้แล้ว ชื่อว่าไม่มีความเศร้าโศก เพราะไม่มีเหตุแห่งความเศร้าโศกโดยประการทั้งปวง. ชื่อว่าสำรอกแล้ว เพราะสำรอกราคะเป็นต้นออกไปแล้ว เป็นสุขดีจริงหนอ เพราะเหตุไร? เพราะพระนิพพานเป็นที่ดับไปโดยไม่มีเหลือ คือเป็นที่สงบระงับไปโดยส่วนเดียวนั่นเอง แห่งวัฏทุกข์ทั้งสิ้น.

               จบอรรถกถาพากุลเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต ๓. พากุลเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 308อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 309อ่านอรรถกถา 26 / 310อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6072&Z=6079
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=11834
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=11834
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :