ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 306อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 307อ่านอรรถกถา 26 / 308อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต
๑. อังคณิกภารทวาชเถรคาถา

               ติกนิบาตวรรณนา               
               อรรถกถาอังคณิกภารทวาชเถรคาถา               
               ในติกนิบาต คาถาของท่านพระอังคณิกภารทวาชเถระ มีคำเริ่มต้นว่า สุทฺธิมเนฺวสํ ดังนี้.
               มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้ท่านพระอังคณิกภารทวาชเถระนี้ก็ได้ทำบุญญาธิการไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เมื่อสั่งสมบุญที่เป็นอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๓๑ นับถอยหลังแต่กัปนี้ไป ได้ถือกำเนิดในคฤหาสน์ผู้มีสกุล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิขี รู้เดียงสาแล้ว อยู่มาวันหนึ่งได้เห็นพระศาสดาเสด็จบิณฑบาต มีใจเลื่อมใส ประคองอัญชลี ไหว้ด้วยเบญจางประดิษฐ์.
               ด้วยบุญกรรมอันนั้น ท่านท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้ถือกำเนิดในคฤหาสน์ของพราหมณ์ผู้มีสมบัติสมบูรณ์ ในพระนครอุกกัฏฐะ เจริญวัยแล้ว ได้นามว่าอังคณิกภารทวาชะ เรียนสำเร็จวิชาและศิลปะทั้งหลาย บวชเป็นปริพาชก เพราะมีอัธยาศัยในเนกขัมมะ ประพฤติอมรตบะ (ตบะเพื่อไม่ตาย) ท่องเที่ยวไปมาในที่นั้นๆ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเสด็จจาริกชนบท มีใจเลื่อมใส สดับพระธรรมเทศนาในสำนักของพระศาสดา แล้วละการถือผิดนั้น บวชในพระศาสนา บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานเลยก็ได้เป็นพระขีณาสพผู้มีอภิญญา ๖.
               ด้วยเหตุนั้น ในคัมภีร์อปทานท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า๑-
               ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าสุมนะ มีจิตเลื่อมใสแล้ว ขอวันทาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงพระนามว่าเวสสภู ผู้ประเสริฐ องอาจกล้าหาญ ทรงมีชัยชนะ ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้าได้ทำกรรมใดไว้ในกาลครั้งนั้น เพราะกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้คือผลแห่งการวันทา.
               ในกัปที่ ๒๔ ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่าวิกตานันทะ สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลังมาก. กิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้เผาแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๒๓๒

               อนึ่ง ข้าพเจ้าได้เป็นพระขีณาสพผู้มีอภิญญา ๖ พักผ่อนอยู่ด้วยวิมุตติสุขเพื่ออนุเคราะห์ญาติทั้งหลาย จึงได้ไปยังชาติภูมิของตน ให้ญาติจำนวนมากประดิษฐานอยู่ในสรณะและศีลทั้งหลาย แล้วกลับจากชาติภูมินั้นมาอยู่ในป่า ไม่ไกลจากนิคมชื่อว่ากุณฑิยะ ในแคว้นกุรุ ได้ไปยังอุคคารามด้วยกรณียกิจบางอย่างเท่านั้น และได้พบพวกพราหมณ์ผู้เคยเห็นกันมาจากอุตตราปถนิคม ถูกพราหมณ์เหล่านั้นถามว่า ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ท่านเห็นประโยชน์อะไรจึงได้ละทิ้งลัทธิพราหมณ์ไปถือลัทธินี้?
               เมื่อจะชี้แจงแก่พราหมณ์เหล่านั้นว่า ไม่มีความบริสุทธิ์ภายนอกจากพุทธศาสนานี้ ดังนี้จึงได้กล่าวคาถาแรกไว้ว่า
                         ข้าพเจ้าตามหาความบริสุทธิ์อยู่ โดยอุบายไม่แยบคาย
                         จึงได้บูชาไฟอยู่ในป่า เมื่อไม่รู้จักทางแห่งความบริสุทธิ์
                         จึงได้บำเพ็ญอมรตบะ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโยนิ ความว่า โดยไม่แยบคาย คือไม่ใช่โดยอุบาย.
               บทว่า สุทฺธึ ได้แก่ สังสารสุทธิ คือการแล่นออกไปจากภพ.
               บทว่า อเนฺวสํ ความว่า เมื่อเสาะหาอยู่ คือแสวงหาอยู่.
               บทว่า อคฺคึ ปริจรึ วเน ความว่า ข้าพเจ้าสร้างเรือนไฟแล้วสรรเสริญการบูชาไปพลาง บำเรอพระอัคนิเทพไปพลาง คือบูชาตามวิธีที่กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์พระเวท ณ สถานที่ๆ อยู่ในป่าคือโรงบูชาไฟ โดยอธิบายว่า นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์.
               ข้อว่า สุทฺธิมคฺคํ อชานนฺโต อกาสึ อมรํ ตปํ (ข้าพเจ้าเมื่อไม่รู้จักทางแห่งความบริสุทธิ์ ได้บำเพ็ญอมรตบะ) ความว่า ข้าพเจ้าเมื่อไม่รู้จักทางแห่งความบริสุทธิ์คือพระนิพพาน จึงได้บำเพ็ญคือได้ประพฤติ ได้แก่ได้ปฏิบัติอัตตกิลมถานุโยค มีการทรมารตนด้วยตบะ ๕ อย่างเป็นต้น เหมือนการบูชาไฟ ด้วยเข้าใจว่าเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์.
               พระเถระครั้นแสดงความไม่มีแห่งความบริสุทธิ์ในภายนอกแล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงว่า ก็ความบริสุทธิ์ ข้าพเจ้าบรรลุได้ในศาสนานี้เท่านั้น เพราะความบริสุทธิ์ คนไม่ขยันแล้วจะบรรลุไม่ได้ ด้วยการบูชาไฟเป็นต้น ตามวิธีที่กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์พระเวท เหมือนไปสู่อาศรมจากอาศรม จึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ไว้ว่า
                         ความสุขนั้น ข้าพเจ้าได้มาโดยง่ายดาย ท่านจง
                         ดูความที่พระธรรมเป็นธรรมที่ดีเถิด วิชชา ๓
                         ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า
                         ข้าพเจ้าปฏิบัติแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ เป็นต้น ความว่า ข้าพเจ้าตามแสวงหาอยู่ซึ่งความบริสุทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่พระนิพพานใด เมื่อไปสู่ทางแห่งพระนิพพานนั้น จึงได้บำเรอไฟ จึงได้ประพฤติอมรตบะ ความสุขคือพระนิพพานนั้น ข้าพเจ้าได้มาแล้วคือถึงแล้ว ได้แก่บรรลุแล้วอย่างง่ายดาย คือด้วยสมถวิปัสสนา ที่เป็นปฏิปทาง่ายๆ ไม่อาศัยอัตตกิลมถานุโยค.
               บทว่า ปสฺส ธมฺมสุธมฺมตํ ความว่า พระเถระเอ่ยถึงพระธรรม หรือเอ่ยถึงตนเองว่า ท่านจงดูเถิด คือจงรู้เถิด ซึ่งศาสนธรรมของพระศาสดา ่ว่าเป็นธรรมดี คือซึ่งสภาพของนิยยานิกธรรมที่ไม่ผิดพลาด ดังนี้ แต่เมื่อจะแสดงถึงธรรมนั้นว่าได้มาแล้ว จึงได้กล่าวไว้ว่า
                         วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้ว คำสั่งสอน
                         ของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าปฏิบัติแล้ว.
               คำนั้นมีอรรถาธิบายดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง.
               พระเถระเมื่อจะแสดงว่า ตั้งแต่นี้ไปข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์โดยปรมัตถ์ เพราะว่าได้บรรลุความบริสุทธิ์ ด้วยประการอย่างนี้ จึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ไว้ว่า
                         เมื่อก่อนข้าพเจ้า เป็นเผ่าพันธุ์ของพระพรหม
                         แต่เดี๋ยวนี้แล ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ มีวิชชา ๓
                         ล้างบาปแล้ว เป็นผู้มีความสวัสดีและจบพระเวทแล้ว.

               คาถานั้นมีเนื้อความว่า
               เมื่อก่อนนี้ข้าพเจ้าได้ชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์ของพระพรหม ตามสมัญญาของพวกพราหมณ์ เพราะเป็นพราหมณ์เพียงแต่โดยกำเนิด. แต่บัดนี้แล ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์โดยปรมัตถ์ เพราะได้บรรลุพระอรหัตแล้ว.
               ก่อนแต่นี้ ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้มีวิชชา ๓ เพียงแต่ชื่อ เพราะเรียนวิชชา ๓ เมื่อพระเวท ๓ คัมภีร์ที่ทำการสั่งสมภพ แต่บัดนี้ ข้าพเจ้ามีวิชชา ๓ โดยปรมัตถ์ เพราะได้บรรลุวิชชา ๓ ด้วยสามารถแห่งวิชชาที่ทำความสิ้นภพ.
               อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้ล้างบาปแล้ว เพียงแต่ชื่อ เพราะสำเร็จด้วยพรตของผู้อาบน้ำแล้วที่ยึดถือไว้ด้วยความชอบใจในภพ แต่บัดนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ล้างบาปแล้วโดยปรมัตถ์ เพราะมลทินคือกิเลสถูกล้างสะอาดแล้วด้วยผลอันเกิดแต่อัษฏางคิกมรรค.
               เมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้มีความสวัสดี โดยเหตุเพียงการร้องเรียกกัน เพราะการเรียนมนต์ที่มีความชอบใจในภพ ยังไม่หลุดพ้นไป แต่บัดนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสวัสดีโดยปรมัตถ์ เพราะการเรียนธรรมที่มีความชอบใจในภพอันหลุดพ้นไปแล้ว.
               ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้จบพระเวท ด้วยเหตุเพียงจบพระเวทที่ยังสลัดบาปธรรมออกไปไม่ได้ แต่บัดนี้ ได้กลายเป็นผู้จบพระเวทโดยปรมัตถ์ เพราะไปถึงคือลุถึง ได้แก่รู้ฝั่งแห่งห้วงน้ำใหญ่คือสงสารด้วยมรรคญาณ กล่าวคือพระเวท และฝั่งแห่งพระเวท คือสัจจะ ๔.
               พราหมณ์ทั้งหลายครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว ได้พากันประกาศความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างโอฬาร.

               จบอรรถกถาอังคณิกภารทวาชเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต ๑. อังคณิกภารทวาชเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 306อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 307อ่านอรรถกถา 26 / 308อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6054&Z=6063
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=11690
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=11690
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :