ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 273อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 274อ่านอรรถกถา 26 / 275อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๒
๗. ติสสเถรคาถา

               อรรถกถาติสสเถระ               
               คาถาของท่านพระติสสเถระ เริ่มต้นว่า พหู สปตฺเต ลภติ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปิยทัสสี บรรลุนิติภาวะแล้ว ถึงความสำเร็จในศิลปะทั้งหลาย เห็นโทษในกามทั้งหลาย สละฆราวาสวิสัย บวชเป็นดาบส ให้เขาสร้างอาศรมอยู่ในป่าดงรัง ใกล้ชัฏแห่งป่า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติ ประทับนั่งที่ดงรังไม่ไกลอาศรม เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ดาบสนั้น.
               ดาบสออกจากอาศรมเดินไปหาผลาผล เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีใจเลื่อมใส ปักเสา ๔ เสาทำปะรำด้วยกิ่งรัง อันมีดอกบานสะพรั่งไว้เบื้องบนพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยดอกรังทั้งใหม่ทั้งสดตลอด ๗ วัน ไม่ละปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์เลย.
               พอล่วงไป ๗ วัน พระศาสดาเสด็จออกจากนิโรธ ทรงดำริถึงภิกษุสงฆ์. พระขีณาสพประมาณหนึ่งแสนมาแวดล้อมองค์พระศาสดาในทันใดนั้นเอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศสมบัติที่จะเกิดมีแก่ดาบสแล้ว ตรัสอนุโมทนาแล้วเสด็จหลีกไป.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดในตระกูลพราหมณ์ กรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่าติสสะ เจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพท สอนมนต์กะมาณพประมาณ ๕๐๐ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ เห็นพุทธานุภาพในคราวที่พระศาสดาเสด็จไปพระนครราชคฤห์ ได้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราเข้าสู่ป่ารัง สร้างอาศรมอย่างสวยงาม มุงบังด้วยดอกรัง
               ครั้งนั้น เราอยู่ในป่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สยัมภู เอกอัครบุคคลตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง พระนามว่าปิยทัสสี ทรงประสงค์ความสงัด จึงเสด็จเข้าสู่ป่ารัง เราออกจากอาศรมไปป่า เที่ยวแสวงหามูลผลาผลป่า
               ในเวลานั้น ณ ที่นั้น เราได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปิยทัสสี ผู้มีพระยศใหญ่ ประทับนั่งเข้าสมาบัติ รุ่งโรจน์อยู่ในป่าใหญ่ เราปักเสา ๔ เสาทำปะรำอย่างเรียบร้อย แล้วเอาดอกรังมุงเหนือพระพุทธเจ้า เราทรงปะรำซึ่งมุงด้วยดอกรังไว้ ๗ วัน ยังจิตให้เลื่อมใสในกรรมนั้น ได้ถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.
               สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อุดมบุรุษ เสด็จออกจากสมาธิ ประทับนั่ง ทอดพระเนตรดูเพียงชั่วแอก สาวกของพระศาสดาพระนามว่าปิยทัสสี ชื่อว่าวรุณะ กับพระอรหันตขีณาสพแสนองค์ ได้มาเฝ้าพระศาสดาผู้นำชั้นพิเศษ.
               ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้พิชิตมารทรงพระนามว่าปิยทัสสี เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านรชน ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ทรงกระทำการแย้มพระสรวลให้ปรากฏ.
               พระอนุรุทธเถระผู้อุปัฏฐากของพระศาสดาทรงพระนามว่าปิยทัสสี ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระมหามุนีว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อะไรเล่าหนอเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงแย้มพระสรวลให้ปรากฏ เพราะมีเหตุ พระศาสดาจึงทรงแย้มพระสรวลให้ปรากฏ.
               พระศาสดาตรัสว่า มาณพใดธารปะรำที่มุงด้วยดอกไม้ให้ตลอด ๗ วัน เรานึกถึงกรรมของมาณพนั้นจึงได้ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ เราไม่พิจารณาเห็นช่องทางที่ไม่ควรที่บุญจะไม่ให้ผล ช่องทางที่ควรในเทวโลกหรือมนุษยโลก ย่อมไม่ระงับไปเลย
               เขาผู้เพรียบพร้อมด้วยบุญกรรมอยู่ในเทวโลกมีบริษัทเท่าใด บริษัทเท่านั้นจักถูกบังด้วยดอกรัง เขาเป็นผู้ประกอบด้วยบุญกรรม จักรื่นเริงอยู่ในเทวโลกนั้นด้วยการฟ้อน การขับ การประโคมอันเป็นทิพย์ในกาลนั้นทุกเมื่อ.
               บริษัทของเขาประมาณเท่าที่มีจักมีกลิ่นหอมฟุ้ง และฝนดอกรังจักตกลงทั่วไปในขณะนั้น มาณพนี้จุติจากเทวโลกแล้ว จักมาสู่ความเป็นมนุษย์ แม้ในมนุษยโลกนี้ หลังคาดอกรังก็จักทรงอยู่ตลอดกาลทั้งปวง ณ มนุษยโลกนี้ การฟ้อนและการขับที่ประกอบด้วยกังสดาล จักแวดล้อมมาณพนี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา และเมื่อพระอาทิตย์อุทัย ฝนดอกรังก็จักตกลง ฝนดอกรังที่บุญกรรมปรุงแต่งแล้ว จักตกลงทุกเวลา
               ในกัปที่ ๑,๘๐๐ พระศาสดามีพระนามว่า "โคดม" จึงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มาณพนี้จักเป็นทายาทในธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
               เมื่อเขาตรัสรู้ธรรมอยู่ จักมีหลังคาดอกรัง เมื่อถูกฌาปนกิจอยู่บนเชิงตะกอน ที่เชิงตะกอนนั้นจักมีหลังคาดอกรัง
               พระมหามุนีทรงพระนามว่าปิยทัสสี ทรงพยากรณ์วิบากแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัท ให้อิ่มหนำด้วยฝนคือธรรม
               เราได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ในหมู่เทวดา ๓๐ กัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๖๗ ครั้ง เราออกจากเทวโลกมาในมนุษยโลกนี้ ได้ความสุขอันไพบูลย์ แม้ในมนุษยโลกนี้ก็มีหลังคาดอกรัง นี้เป็นผลแห่งปะรำ นี้เป็นการบังเกิดครั้งหลังของเรา ภพสุดท้ายกำลังเป็นไป แม้ในภพนี้หลังคาดอกรัง ก็จักมีตลอดกาลทั้งปวง เรายังพระมหามุนีพระนามว่าโคดม ผู้ประเสริฐกว่าศากยราชให้ทรงยินดี ได้ละความมีชัยและความปราชัยเสียแล้ว บรรลุถึงฐานะที่ไม่หวั่นไหว
               ในกัปที่ ๑,๘๐๐ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าองค์ใด ด้วยพุทธบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๘๐

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้เป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศเป็นพิเศษ. ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นปุถุชนบางพวกเห็นลาภสักการะของพระเถระแล้ว แสดงความไม่พอใจออกมาด้วยความเป็นคนพาล.
               พระเถระรู้ดังนั้น เมื่อจะประกาศโทษในลาภสักการะ และความที่ตนเป็นผู้ไม่ข้องอยู่ในลาภสักการะนั้น ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
                         ภิกษุศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิได้ข้าว น้ำ ผ้าและ
                         ที่นอน ที่นั่ง ย่อมชื่อว่าได้ข้าศึกไว้มาก ภิกษุรู้โทษ
                         ในลาภสักการะว่า เป็นภัยอย่างนี้แล้ว ควรเป็นผู้มี
                         ลาภน้อย มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ มีสติงดเว้นความ
                         ยินดีในลาภ ดังนี้.

               คาถาทั้งสองนั้น มีอธิบายว่า
               ภิกษุแม้ถึงจะแสดงปลายผมก็ชื่อว่าเป็นคนโล้น เพราะความเป็นผู้มีผมอันโกนแล้ว. ชื่อว่าเป็นผู้ครองผ้าสังฆาฏิ เพราะความเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ที่เขาตัดแล้ว เอามาเย็บติดกันไว้ บรรพชิตผู้เข้าถึงความเป็นผู้มีเพศแตกต่างจากคฤหัสถ์อย่างนี้ มีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น ถ้าผู้ใดยังอยากได้ข้าวและน้ำเป็นต้น แม้ผู้นั้นย่อมชื่อว่าได้ข้าศึกไว้มาก ภิกษุเป็นอันมากจะพากันริษยาภิกษุนั้น.
               เพราะเหตุนั้น ภิกษุรู้อาทีนพคือโทษในลาภสักการะทั้งหลายว่ามีกำลังมากคือเป็นภัยอย่างใหญ่หลวง นี้คือเห็นปานนี้ พึงตั้งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยและความสันโดษไว้ในหทัยแล้วพึงเป็นผู้มีลาภน้อย โดยเว้นลาภแม้ที่ให้เกิดขึ้นโดยความเป็นของหาโทษมิได้ อันเกิดขึ้นแล้ว ต่อจากนั้นก็จะชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีจิตชุ่มด้วยราคะ เพราะไม่มีความชุ่มคือความอยากในลาภนั้น. ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเห็นภัยในสงสาร หรือเพราะความเป็นผู้มีกิเลสอันทำลายแล้ว. ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ด้วยสามารถแห่งสติและสัมปชัญญะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสันโดษ พึงเว้นรอบคือเที่ยวไปอยู่ (ตามสบาย).
               ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นฟังคำเป็นคาถานั้นแล้ว ยังพระเถระให้อดโทษในขณะนั้นเอง.

               จบอรรถกถาติสสเถระ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๒ ๗. ติสสเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 273อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 274อ่านอรรถกถา 26 / 275อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5789&Z=5793
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=9370
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=9370
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :