ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 266อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 267อ่านอรรถกถา 26 / 268อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๑
๑๐. วสภเถรคาถา

               อรรถกถาวสภเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระวสภเถระ เริ่มต้นว่า ปุพฺเพ หนติ อตฺตานํ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในโลกที่ว่างจากพระพุทธเจ้า (สุญญกัป) เจริญวัยแล้ว ถึงความสำเร็จในวิชาและศิลปะของพราหมณ์ทั้งหลาย ละการอยู่ครองเรือนบวชเป็นดาบส เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยโน้มไปในเนกขัมมะ สร้างอาศรมอยู่ที่ภูเขาชื่อว่าสมัคคะ ไม่ไกลป่าหิมพานต์ ยังฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว ให้โอวาทและอนุสาสน์แก่ดาบสทั้งหลายอยู่.
               วันหนึ่งคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ เราเองเป็นผู้อันดาบสเหล่านี้สักการะเคารพบูชาแล้วอยู่ แต่ยังหาผู้ที่เราควรบูชาไม่ได้ การอยู่โดยไม่มีครูผู้ควรเคารพนี้เป็นทุกข์ในโลก.
               ก็ครั้นคิดอย่างนี้แล้วระลึกถึงบูชาและสักการะอันตนกระทำแล้วในเจดีย์ของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทั้งหลาย เพราะความเป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ว่า ไฉนหนอแล เราพึงก่อพระเจดีย์ทราย อุทิศพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ แล้วทำการบูชา ดังนี้ เป็นผู้ร่าเริงยินดีแล้วเนรมิตพระสถูปทราย สำเร็จด้วยทองด้วยฤทธิ์ กระทำการบูชาทุกๆ วันด้วยดอกไม้ประมาณ ๓,๐๐๐ อันสำเร็จด้วยทองเป็นต้น กระทำบุญจนตลอดอายุ แล้วบังเกิดในพรหมโลก.
               เขาดำรงอยู่แม้ในพรหมโลกนั้นจนตลอดอายุแล้ว จุติจากพรหมโลกนั้นบังเกิดในดาวดึงส์ ท่องเที่ยววนไปมาอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลเจ้าลิจฉวี ในกรุงเวสาลี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่าวสภะ เจริญวัยแล้ว เห็นพุทธานุภาพ ในคราวเสด็จไปพระนครไพศาลีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เป็นผู้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมวันต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อสมัคคะ เราได้ทำอาศรม สร้างบรรณศาลาไว้ที่ภูเขานั้น เราเป็นชฎิลผู้มีตบะใหญ่ มีนามว่านารทะ ศิษย์สี่หมื่นคนบำรุงเรา
               ครั้งนั้น เราเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่คิดอย่างนี้ว่า มหาชนบูชาเรา เราไม่บูชาอะไรๆ เลย ผู้ที่จะกล่าวสั่งสอนเราก็ไม่มี ใครๆ ที่จะตักเตือนเราก็ไม่มี เราไม่มีอาจารย์และอุปัชฌาย์อยู่ในป่า ศิษย์ผู้ภักดีพึงบำรุงใจครูทั้งคู่ได้ อาจารย์เช่นนั้นของเราไม่มี การอยู่ในป่าจึงไม่มีประโยชน์.
               สิ่งที่ควรบูชา เราควรแสวงหา สิ่งที่ควรเคารพก็ควรแสวงหาเหมือนกัน เราจักชื่อว่าเป็นผู้ที่มีที่พึ่งพำนักอยู่ ใครๆ จักไม่ติเราได้ ในที่ไม่ไกลอาศรมของเรามีแม่น้ำซึ่งมีชายหาด มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ เกลื่อนกล่นไปด้วยทรายที่ขาวสะอาด.
               ครั้งนั้น เราได้ไปยังแม่น้ำชื่ออเมริกา กอบโกยเอาทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ทรายพระสถูปของพระสัมพุทธเจ้าผู้ทำที่สุดภพ เป็นมุนีที่ได้มีแล้วเป็นเช่นนี้ เราได้ทำพระสถูปนั้นให้เป็นนิมิต เราก่อพระสถูปที่หาดทรายแล้วปิดทอง แล้วเอาดอกกระดึงทอง ๓,๐๐๐ ดอกมาบูชา.
               เราเป็นผู้มีความอิ่มใจ ประนมกรอัญชลี นมัสการทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ไหว้พระเจดีย์ทราย เหมือนถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้า ในที่เฉพาะพระพักตร์ ฉะนั้น.
               ในเวลาที่กิเลสและความตรึกเกี่ยวด้วยกามเกิดขึ้น เราย่อมนึกถึงเพ่งดูสถูปที่ได้ทำไว้ เราอาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้นำสัตว์ออกจากที่กันดาร ผู้นำชั้นพิเศษตักเตือนตนว่า ท่านควรระวังกิเลสไว้ ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ การยังกิเลสให้เกิดขึ้นไม่สมควรแก่ท่าน.
               ครั้งนั้น เมื่อเราคำนึงถึงพระสถูปย่อมเกิดความเคารพขึ้นพร้อมกัน เราบรรเทาวิตกที่น่าเกลียดเสียได้ เปรียบเหมือนช้างตัวประเสริฐถูกเครื่องแทงหูเบียดเบียนฉะนั้น.
               เราประพฤติอยู่เช่นนี้ได้ถูกพระยามัจจุราชย่ำยี เราทำกาลกิริยา ณ ที่นั้นแล้วได้ไปยังพรหมโลก เราอยู่ในพรหมโลกนั้นตราบเท่าหมดอายุ แล้วมาบังเกิดในไตรทิพย์ ได้เป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๘๐ ครั้งได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๐๐ ครั้งและได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้.
               เราได้เสวยผลของดอกกระดึงทองเหล่านั้น ดอกกระดึงทอง ๒๒,๐๐๐ ดอกแวดล้อมเราทุกภพ เพราะเราเป็นผู้บำเรอพระสถูป ฝุ่นละอองย่อมไม่ติดที่ตัวเรา เหงื่อไม่ไหล เรามีรัศมีซ่านออกจากตัว โอ! พระสถูปเราได้สร้างไว้ดีแล้ว แม่น้ำอเมริกา เราได้เห็นดีแล้ว เราได้บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว ก็เพราะได้ก่อพระสถูปทราย อันสัตว์ผู้ปรารถนาจะกระทำกุศล ควรยึดเอาสิ่งที่เป็นสาระ ไม่ใช่เป็นด้วยเขตหรือไม่ใช่เขต ความปฏิบัตินั่นเองให้สำเร็จ.
               บุรุษผู้มีกำลัง มีความอุตสาหะที่จะข้ามทะเลหลวง พึงถือเอาท่อนไม้เล็ก วิ่งไปสู่ทะเลหลวงด้วยคิดว่า เราอาศัยท่อนไม้นี้จักข้ามทะเลหลวงไปได้ นรชนพึงข้ามทะเลหลวงไปด้วยความเพียรอุตสาหะแม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ทำไว้แล้ว จึงได้ข้ามพ้นสงสารไปได้.
               เมื่อถึงภพสุดท้าย เราอันกุศลมูลตักเตือนแล้ว เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลที่มั่งคั่ง ในพระนครสาวัตถี มารดาบิดาของเราเป็นคนมีศรัทธา นับถือพระพุทธเจ้า ท่านทั้งสองนี้เป็นผู้เห็นธรรม ฟังธรรม ประพฤติตามคำสอน ท่านทั้งสองถือเอาผ้าลาดสีขาวมีเนื้ออ่อนมากที่ต้นโพธิ มาทำพระสถูปทอง นมัสการในที่เฉพาะพระพักตร์แห่งพระศากยบุตร ทุกค่ำเช้าในวันอุโบสถ ท่านทั้งสองนำเอาพระสถูปทองออก กล่าวสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า ยับยั้งอยู่ตลอด ๓ ยาม.
               เราได้เห็นพระสถูปเสมอ จึงระลึกถึงเจดีย์ทรายขึ้นได้ นั่งบนอาสนะเดียวได้บรรลุพระอรหัตแล้ว เราแสวงหาพระพุทธเจ้าผู้เป็นปราชญ์นั้นอยู่ ได้เห็นพระธรรมเสนาบดีจึงออกจากเรือนบรรพชาในสำนักของท่าน เราได้บรรลุพระอรหัตแค่อายุ ๗ ขวบ.
               พระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาจักษุ ทรงทราบถึงคุณวิเศษของเรา จึงให้เราอุปสมบท เรามีการกระทำอันบริบูรณ์ดีแล้ว แต่ยังเป็นทารกอยู่ทีเดียว ทุกวันนี้กิจที่ควรทำในศาสนาของพระศากยบุตร เราทำเสร็จแล้ว
               ข้าแต่พระฤาษีผู้มีความเพียรใหญ่ สาวกของพระองค์เป็นผู้ล่วงพ้นเวรภัยทุกอย่าง ล่วงพ้นความเกี่ยวข้องทั้งปวง นี้เป็นผลแห่งพระสถูปทอง.
               เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๘๘

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะทำการอนุเคราะห์ทายก จึงไม่ห้ามปัจจัยทั้งหลายที่ทายกเหล่านั้นนำมาถวาย บริโภคปัจจัยตามที่ได้มาแล้วเท่านั้น.
               ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนสำคัญท่านว่า พระเถระนี้เป็นผู้มักมากไปด้วยการบำรุงบำเรอร่างกาย ไม่รักษาสภาพจิต จึงพากันดูหมิ่น.
               พระเถระอยู่อย่างไม่คำนึงถึงการดูหมิ่นนั้นเลย ก็ในที่ไม่ไกลที่พระเถระอยู่ มีภิกษุผู้โกหกรูปหนึ่งเป็นผู้มีความปรารถนาลามก แสดงตนเหมือนเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เหมือนเป็นผู้สันโดษ เที่ยวลวงโลกอยู่.
               มหาชนพากันยกย่องภิกษุรูปนั้น เหมือนอย่างพระอรหันต์.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพทรงทราบพฤติการณ์นั้นของเธอแล้ว จึงเข้าไปหาพระเถระ แล้วถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุผู้โกหก กระทำกรรมชื่อไร?
               พระเถระเมื่อจะตำหนิความปรารถนาลามก จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
                                   บุคคลผู้ลวงโลก ย่อมฆ่าตนก่อน ภายหลังจึง
                         ฆ่าผู้อื่น บุคคลผู้ลวงโลกนั้น ย่อมฆ่าตนได้ง่ายดาย
                         เหมือนนายพรานนก ที่หาอุบายฆ่านก และทำตน
                         ให้ได้รับความทุกข์ในอบายภูมิ ฉะนั้น
                                   บุคคลผู้ลวงโลกนั้นไม่ใช่พราหมณ์ เพียงแต่
                         มีเพศเหมือนพราหมณ์ในภายนอกเท่านั้น เพราะ
                         พราหมณ์มีเพศอยู่ภายใน บาปกรรมทั้งหลายมีใน
                         บุคคลใด บุคคลนั้นเป็นคนดำ ดูก่อนท้าวสุชัมบดี
                         ขอจงทรงทราบอย่างนี้ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ หนติ อตฺตานํ ความว่า ุบุคคลผู้โกหกเพื่อลวงโลก ด้วยประพฤติเป็นคนโกหกของตน ชื่อว่าย่อมฆ่าตน ด้วยธรรมอันลามกมีความเป็นผู้ปรารถนาลามกเป็นต้นก่อนทีเดียว คือยังส่วนแห่งความดีของตนให้พินาศไป.
               บทว่า ปจฺฉา หนติ โส ปเร ความว่า บุคคลผู้โกหกนั้นฆ่าตนเองโดยนัยดังกล่าวแล้ว ก่อนเป็นปฐม ต่อมาภายหลังจึงฆ่าคนทั้งหลายผู้สรรเสริญตนว่า ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก เป็นพระอริยะ ดังนี้ แล้วกระทำสักการะคือทำสักการะที่เขาถวายตนให้ไม่มีผลมาก ให้พินาศไปโดยการพินาศแห่งปัจจัย.
               พระเถระเมื่อจะแสดงว่า แม้ในการฆ่าทั้งสองอย่างของคนโกหกจะมีอยู่ แต่ข้อแปลกในการฆ่าตนมีดังนี้ จึงกล่าวว่า สหตํ หนติ อตฺตานํ (บุคคลผู้ลวงโลกนั้นย่อมฆ่าตนได้ง่ายดาย).
               คนโกหกนั้น เมื่อฆ่าตน ย่อมฆ่าคือทำให้พินาศได้ง่ายดาย.
               ถามว่า เหมือนอะไร?
               ตอบว่า เหมือนนายพรานนกที่หาอุบายฆ่านกฉะนั้น.
               นกต่อชื่อว่า วีตํโส. ด้วยนกต่อนั้น.
               บทว่า ปกฺขิมา ได้แก่ นายพรานนก.
               เปรียบเหมือนนายพรานนก ลวงนกเหล่าอื่นไปฆ่าด้วยนกต่อนั้น ชื่อว่าย่อมฆ่าตนแม้ในโลกนี้ เพราะเป็นกรรมที่ท่านผู้รู้ตำหนิ และเป็นกรรมที่มีโทษเป็นสภาพเป็นต้น. ส่วนในสัมปรายภพ ชื่อว่าย่อมฆ่าตนด้วยความมืดมน มัวหมองของทุคติทีเดียว แต่ในภายหลังก็ไม่สามารถจะฆ่านกเหล่านั้นได้อีกฉันใด
               คนโกหกก็ฉันนั้น ลวงโลกด้วยความเป็นคนโกหก ชื่อว่าย่อมฆ่าตนเองแม้ในโลกนี้ เพราะวิปฏิสารและถูกตำหนิจากวิญญูเป็นต้น. แม้ในปรโลกก็ชื่อว่าฆ่าตน เพราะความมืดมน มัวหมองของทุคติ ใช่แต่เท่านั้น ยังชื่อว่าทำทายกผู้ถวายปัจจัยเหล่านั้นให้ถึงทุกข์ในอบายอีกด้วย.
               อีกประการหนึ่ง คนโกหก ท่านกล่าวว่าย่อมฆ่าทายก เพราะกระทำทักษิณาไม่ให้มีผลมากเท่านั้น ไม่ใช่เพราะกระทำทักษิณาทานไม่ให้มีผล.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ทักษิณาทานที่ให้แก่มนุษย์ทุศีล พึงหวังผลได้พันเท่า ดังนี้.๒-
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๗๑๑

               ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า บุคคลผู้ลวงโลกนั้น ย่อมฆ่าตนได้ง่ายดาย.
               พระเถระเมื่อจะแสดงว่า บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอัตภาพ เพียงทำให้สะอาดในภายนอกอย่างนี้ หาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ แต่จะชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะความสะอาดในภายในเท่านั้น ดังนี้ จึงกล่าวคาถาที่สองว่า น พฺราหฺมโณ เป็นต้น.
               คาถาที่ ๒ นั้นมีอธิบายว่า
               บุคคลหาชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเหตุเพียงสมบัติภายนอก มีการวางท่า (วางมาด) เป็นต้นไม่. ก็วัณณะศัพท์ในคาถานี้มีสมบัติเป็นอรรถ (หมายความถึงสมบัติ). ก็บุคคลย่อมชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะสมบัติมีศีลเป็นต้นในภายใน โดยกระทำอธิบายว่า บุคคลผู้มีบาปอันลอยแล้ว ชื่อว่าพราหมณ์ ดังนี้.
               ดูก่อนท่านสุชัมบดีผู้เป็นจอมเทวัญ เพราะฉะนั้น ท่านจงรู้เถิดว่า บาปคือกรรมอันลามกทั้งหลายมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่าคนดำ คือเป็นคนเลวทรามโดยส่วนเดียว ดังนี้.
               ท้าวสักกะฟังดังนั้นแล้ว ทรงคุกคามภิกษุผู้โกหกแล้วโอวาทว่า ท่านจงประพฤติธรรม ดังนี้แล้วเสด็จกลับพิภพของพระองค์.

               จบอรรถกถาวสภเถรคาถา               
               จบวรรควรรณนาที่ ๑               
               ในอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่าปรมัตถทีปนี               
               -----------------------------------------------------               

               ในวรรคนี้ รวมพระเถระได้ ๑๐ องค์ คือ
                         ๑. พระอุตตรเถระ
                         ๒. พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
                         ๓. พระวัลลิยเถระ
                         ๔. พระคังคาตีริยเถระ
                         ๕. พระอชินเถระ
                         ๖. พระเมฬชินเถระ
                         ๗. พระราธเถระ
                         ๘. พระสุราธเถระ
                         ๙. พระโคตมเถระ
                         ๑๐. พระวสภเถระ ล้วนมีมหิทธิฤทธิ์.
               จบวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๑ ๑๐. วสภเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 266อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 267อ่านอรรถกถา 26 / 268อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5731&Z=5747
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=8847
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=8847
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :