ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 245อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 246อ่านอรรถกถา 26 / 247อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๑๑
๙. สังฆรักขิตเถรคาถา

               อรรถกถาสังฆรักขิตเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระสังฆรักขิตเถระ เริ่มต้นว่า น นูนายํ ปรมหิ ตานุกมฺปิโน.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนั้นก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์อยู่ที่เชิงเขา เป็นผู้มีใจโสมนัส เก็บเอาดอกกระทุ่มไปบูชา.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาไปบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้ว ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น บังเกิดในตระกูลของผู้มั่งคั่งในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่าสังฆรักขิต.
               เขาบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้มีจิตศรัทธา บวชแล้ว เรียนกรรมฐาน กระทำภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นสหายแล้วอยู่ในป่า. ในที่ไม่ไกลจากที่ซึ่งพระเถระพำนักอยู่ มีแม่เนื้อตัวหนึ่งตกลูกอยู่ที่พุ่มไม้ เฝ้ารักษาลูกน้อยที่ยังเล็ก แม้จะถูกความหิวครอบงำ ก็ไม่ไปหากินไกล เพราะความห่วงใยในลูก และต้องระกำลำบาก เพราะหาหญ้าและน้ำในที่ใกล้ไม่ได้.
               พระเถระเห็นดังนั้นเกิดความสลดใจว่า โอหนอ สัตวโลกนี้อันเครื่องผูกคือตัณหารัดรึงไว้ ย่อมเสวยทุกข์หนัก ไม่สามารถจะตัดเครื่องผูกตัณหานั้นได้ ดังนี้แล้วกระทำเหตุการณ์นั้นแหละให้เป็นขอสับ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               มีภูเขาชื่อว่ากุกกุฏะ อยู่ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์อยู่ที่เชิงเขานั้น เราเห็นต้นกระทุ่มมีดอกบาน ดังพระจันทร์พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า จึงประคองด้วยมือทั้งสอง บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๗ องค์ ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า
               ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ พระองค์นามว่าปุปผะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๕๘

               ก็พระเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้วรู้ว่า ภิกษุผู้เป็นเพื่อนของตนอยู่อย่างผู้มากไปด้วยมิจฉาวิตก จึงกระทำนางเนื้อนั้นแหละให้เป็นอุปมาแล้ว ได้กล่าวคาถาว่า
                         ภิกษุผู้อยู่ในที่สงัดนี้ เห็นจะไม่คำนึงถึงคำสอน
                         ของพระศาสดา ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตวโลก ด้วย
                         ประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมเป็นแน่ จึงไม่สำรวม
                         อินทรีย์เหมือนแม่เนื้อลูกอ่อนในป่าฉะนั้น ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ ในบทว่า น นูนายํ นี้ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ปฏิเสธ.
               บทว่า นูน เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ปริวิตก. ตัดบทเป็น นูน อยํ.
               บทว่า ปรมหิตานุกมฺปิโน ความว่า ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีปกติอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายอย่างยอดเยี่ยมคือเปรียบไม่ได้ หรือด้วยประโยชน์อย่างยิ่งคืออย่างเยี่ยม.
               บทว่า รโหคโต ตัดบทเป็น รหสิ คโต (อยู่ในที่ลับ) อธิบายว่า อยู่ในสุญญาคาร คือเป็นผู้ประกอบด้วยกายวิเวก.
               ในบทว่า อนุวิคเณติ นี้ ต้องนำเอาบททั้งสองว่า น นนู มาเชื่อมเข้าเป็น นานุวิคเณติ นูน ได้ความว่า เห็นจะไม่คิด คือไม่ตรึกตรองว่า จะต้องขวนขวาย.
               บทว่า สาสนํ ความว่า คำสอนคือข้อปฏิบัติ. อธิบายว่า ได้แก่การเจริญจตุสัจจกรรมฐาน.
               บทว่า ตถา หิ ความว่า เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ได้แก่ เพราะไม่ขวนขวายคำสอนของพระศาสดานั่นเอง.
               บทว่า อยํ แก้เป็น อยํ ภิกฺขุ แปลว่า ภิกษุนี้.
               บทว่า ปากตินฺทฺริโย ความว่า ชื่อว่าผู้มีอินทรีย์อันเป็นแล้วตามสภาพ เพราะปล่อยอินทรีย์ทั้งหลายมีใจเป็นที่ ๖ ไปในอารมณ์ทั้งหลายตามใจของตน.
               อธิบายว่า เป็นผู้ไม่สำรวมจักษุทวารเป็นต้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าอยู่อย่างผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ เพราะไม่ตัดกิเลสเครื่องข้องคือตัณหาใด
               พระเถระเมื่อจะแสดงข้ออุปมาแห่งกิเลสเครื่องข้องคือตัณหานั้น จึงกล่าวว่า มิคี ยถา ตรุณชาติกา วเน (เหมือนแม่เนื้อลูกอ่อนในป่าฉะนั้น).
               อธิบายว่า แม่เนื้อยังมีลูกเล็กดังนี้ ย่อมเสวยทุกข์ในป่า เพราะตัดความสิเนหาในลูกไม่ขาด ได้แก่ไม่ล่วงพ้นความทุกข์นั้นฉันใด แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้น เมื่ออยู่อย่างผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ เพราะตัดกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องไม่ได้ ชื่อว่าย่อมไม่ล่วงพ้นทุกข์ในวัฏฏะ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า ตรุณวิชาติกา ก็มี. ความก็ว่า มีลูกอ่อนที่จะต้องทะนุถนอม.
               ภิกษุนั้นฟังดังนั้นแล้วเกิดความสลดใจ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.

               จบอรรถกถาสังฆรักขิตเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๑๑ ๙. สังฆรักขิตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 245อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 246อ่านอรรถกถา 26 / 247อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5596&Z=5600
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=7481
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=7481
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :