ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 229อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 230อ่านอรรถกถา 26 / 231อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๑๐
๓. เอรกเถรคาถา

               อรรถกถาเอรกเถรคาถา               
               คาถาของท่านเอรกเถระ เริ่มต้นว่า ทุกฺขา กามา เอรกา.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ มาก บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่งเห็นพระศาสดา เป็นผู้มีใจเลื่อมใส เมื่อหาอะไรๆ ที่ควรถวายพระบรมศาสดา ไม่ได้ จึงคิดว่า เอาเถิด เราจะเอาร่างกายบำเพ็ญบุญ ดังนี้แล้วแผ้วถางทางเสด็จพระดำเนินของพระศาสดา กระทำให้เรียบเสมอ.
               พระศาสดาเสด็จดำเนินไปสู่ทางที่เขากระทำไว้แล้วอย่างนั้น.
               เขาเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปที่ทางนั้น เป็นผู้มีใจเลื่อมใส ถวายบังคมแล้วประคองอัญชลี แล้วเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จล่วงทัสนูปจาร ก็ไม่ละปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ได้ยืนอยู่แล้ว.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพอย่างเดียวเท่านั้น เกิดเป็นบุตรของกุฏุมพีชื่อว่าสัมภาวนียะ ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ มีนามว่าเอรกะ เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ในกิจการใหญ่น้อยทั้งหลาย.
               มารดาบิดาของเขานำหญิงสาวที่สมควรกันด้วยตระกูล รูปร่าง มรรยาท วัยและความฉลาด มาทำการวิวาหะ. เขาอยู่ในเรือนโดยร่วมสังวาสกับนาง แล้วเกิดความสลดใจในสงสาร ด้วยอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจบางประการ เพราะเป็นภพสุดท้าย ไปสู่สำนักของพระศาสดา ฟังธรรมแล้ว ได้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว.
               พระศาสดาได้ทรงประทานกรรมฐานแก่เขา. เขาเรียนกรรมฐานแล้ว ถูกความกระสันครอบงำ โดยผ่านไปไม่กี่วันอยู่แล้ว.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบความเป็นไปแห่งจิตของท่าน ได้ตรัสพระคาถาเป็นพระโอวาทว่า ทุกฺขา กามา เอรก ดูก่อนเอรกะ กามเป็นทุกข์ ดังนี้เป็นอาทิ.
               ท่านฟังคาถานั้นแล้วเกิดความสลดใจว่า การที่เราเรียนกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาเห็นปานนี้ แล้วสละกรรมฐานนั้น อยู่อย่างผู้มากไปด้วยมิจฉาวิตกนั้น ชื่อว่ากระทำกรรมอันไม่สมควรเลย ดังนี้แล้วหมั่นประกอบวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุเสด็จไปสู่ท่าน้ำแล้ว เสด็จดำเนินไปสู่ป่า เราได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ มีพระลักษณะอันประเสริฐพระองค์นั้น จึงได้ถือเอาจอบและปุ้งกี๋มาปราบหนทางให้ราบเรียบ เราได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ยังจิตของตนให้เลื่อมใส ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย.
               ในกัปที่ ๕๗ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมประชาองค์หนึ่งมีนามว่าสุปปพุทธะ เป็นนายก เป็นใหญ่กว่านระ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๔๙

               ก็พระเถระครั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลได้กล่าวซ้ำพระคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วนั่นแหละว่า
                         ดูก่อนเอรกะ กามเป็นทุกข์ ดูก่อนเอรกะ กามไม่เป็นสุขเลย
                         ผู้ใดใคร่กาม ผู้นั้นชื่อว่าใคร่ทุกข์ ผู้ใดไม่ใคร่กาม ผู้นั้นชื่อ
                         ว่าไม่ใคร่ทุกข์ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺขา กามา ความว่า วัตถุกามและกิเลสกามเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ และเพราะมีวิปริณามทุกข์ และสังขารทุกข์เป็นสภาพ คือยังทุกข์ให้เกิดขึ้นแน่นอน.
               สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มีอาทิว่า กามมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้ ไม่มีโทษ (อะไร) จะยิ่งไปกว่า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระเถระนั้นว่า เอรกะ เป็นครั้งแรกก่อน แต่ภายหลัง พระเถระจึงเรียกตนเองโดยนามว่า เอรกะ.
               บทว่า น สุขา กามา ความว่า ขึ้นชื่อว่ากามนี้ ไม่เป็นความสุขเลยสำหรับบุคคลผู้รู้อยู่ แต่สำหรับคนไม่รู้ ย่อมปรากฏโดยเป็นสุข.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ มีอาทิว่า ผู้ใดเห็นความสุข โดยเป็นทุกข์ ผู้นั้นชื่อว่าได้เห็นทุกข์ โดยความเป็นลูกศร.
               บทว่า โย กาเม กามยติ ทุกฺขํ โส กามยติ ความว่า สัตว์ผู้ใดใคร่กิเลสกามและวัตถุกาม ความใคร่นั้นของสัตว์ผู้นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเร่าร้อนในปัจจุบัน ทั้งชื่อว่าเป็นทุกข์ในเวลาต่อไป เพราะเป็นเหตุแห่งทุกข์ในอบายและเหตุแห่งทุกข์ในวัฏฏะ.
               ก็วัตถุกาม ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ด้วยประการฉะนี้. สัตว์ผู้นั้น ท่านจึงเรียกว่าใคร่วัตถุกามที่มีทุกข์เป็นสภาพ มีทุกข์เป็นนิมิต และเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์.
               ทุกข์นอกนี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อให้รู้เนื้อความนั้นแหละ โดยตรงข้าม เพราะฉะนั้น ใจความของทุกข์นั้น พึงทราบโดยปริยายดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว.

               จบอรรถกถาเอรกเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๑๐ ๓. เอรกเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 229อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 230อ่านอรรถกถา 26 / 231อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5520&Z=5523
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=6680
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=6680
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :