ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 228อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 229อ่านอรรถกถา 26 / 230อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๑๐
๒. วิชยเถรคาถา

               อรรถกถาวิชยเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระวิชยเถระ เริ่มต้นว่า ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เกิดในตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปิยทัสสี บรรลุถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ให้ช่างกระทำไพที (แท่นที่วางเครื่องสักการะ) อันขจิตด้วยรัตนะ สำหรับพระสถูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปิยทัสสี แล้วให้ทำการฉลองไพทีอย่างโอฬารที่พระสถูปนั้น.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณี ในหลายร้อยอัตภาพ.
               เมื่อเขาท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอย่างนี้ บังเกิดแล้วในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า วิชยะ.
               วิชยพราหมณ์เจริญวัยแล้ว สำเร็จการศึกษาในวิชชาของพราหมณ์ทั้งหลาย บวชเป็นดาบส เป็นผู้ได้ฌาน อยู่ชายป่าฟังข่าวการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดความเลื่อมใส เข้าไปสู่สำนักของพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว เขาฟังธรรมแล้วบวช เริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เมื่อพระโลกนาถทรงพระนามว่าปิยทัสสี ผู้สูงกว่านระ ปรินิพพานแล้ว เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัสได้กระทำแท่นบูชาพระพุทธเจ้า แวดล้อมด้วยแก้วมณีแล้วได้กระทำการฉลองอย่างมโหฬาร ครั้นทำการฉลองแท่นบูชาแล้ว เราได้ทำกาลกิริยา ณ ที่นั้น เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ เทวดาทั้งหลายย่อมทรงแก้วมณีไว้ในอากาศ นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม.
               ในกัปที่ ๑,๖๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๓๒ พระองค์พระนามว่า "มณิปภา" มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๔๕

               พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผล ได้กล่าวคาถาว่า
                         ผู้ใดมีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่ติดอยู่ในอาหาร มีสุญญตวิโมกข์
                         และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร รอยเท้าของผู้นั้น รู้ได้ยาก
                         เหมือนรอยเท้าของฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา ความว่า อาสวะ ๔ มีกามาสวะเป็นต้นของบุคคลผู้สูงสุดใด สิ้นแล้วโดยประการทั้งปวง คือให้สิ้นไปแล้วด้วยพระอริยมรรค.
               บทว่า อาหาเร จ อนิสฺสิโต ความว่า บุคคลใดไม่ติดอยู่แล้ว คือไม่ลุอำนาจของความอยาก ได้แก่ไม่ถึงความละโมบในอาหารด้วยธรรมเป็นเครื่องติด คือตัณหาและทิฏฐิ.
               บทนี้เป็นเพียงตัวอย่าง พึงทราบว่าในคาถานี้ ท่านถือเอาปัจจัยแม้ทั้ง ๔ ไว้ด้วยศัพท์ที่เป็นประธาน คืออาหารศัพท์.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่าในคาถานี้ อาหารศัพท์เป็นปริยายแห่งปัจจัย.
               ในบทว่า สุญฺญโต อนิมิตฺโต จ นี้ ท่านหมายเอาอัปปณิหิตวิโมกข์เข้าไว้ด้วย.
               ก็วิโมกข์ทั้ง ๓ แม้เหล่านี้เป็นชื่อของพระนิพพานทั้งนั้น.
               อธิบายว่า พระนิพพานชื่อว่าว่าง เพราะไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่าสุญญตวิโมกข์ เพราะว่างและพ้นจากกิเลสมีราคะเป็นต้นเหล่านั้น.
               อนึ่ง พระนิพพาน ชื่อว่าหานิมิตมิได้ เพราะไม่มีนิมิตมีราคะเป็นต้น และเพราะไม่มีสังขารนิมิต ท่านเรียกว่าอนิมิตตวิโมกข์ เพราะไม่มีกิเลสเหล่านั้นเป็นนิมิตและว่างจากกิเลสเหล่านั้น.
               พระนิพพานชื่อว่าหาที่ตั้งมิได้ เพราะไม่มีที่ตั้งมีกิเลสเป็นต้น ท่านเรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะกิเลสเหล่านั้นตั้งไม่ได้และหลุดพ้นจากกิเลสเหล่านั้น.
               วิโมกข์ทั้ง ๓ อย่างแม้นี้เป็นโคจรของภิกษุใดผู้กระทำพระนิพพานนั้นให้เป็นอารมณ์ แล้วอยู่ด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติ.
               บทว่า อากาเสเยว สกุณานํ ปทํ ตสฺส ทุรนฺวยํ ความว่า รอยเท้าของนกทั้งหลายที่บินไปในอากาศอันบุคคลไม่สามารถเพื่อจะรู้ได้ว่า นกทั้งหลายใช้เท้าเหยียบในที่นี้แล้วบินไป กระทบที่ตรงนี้ด้วยท้องแล้วบินไป กระทบที่ตรงนี้ด้วยศีรษะแล้วบินไป กระทบที่ตรงนี้ด้วยปีกแล้วบินไป ดังนี้ฉันใด สำหรับภิกษุเห็นปานนี้ก็ฉันนั้น อันบุคคลไม่สามารถเพื่อจะรู้ได้ว่าไปแล้วในทางทั้งหลายมีทางนรกเป็นต้นด้วยทางชื่อนี้ ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาวิชยเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๑๐ ๒. วิชยเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 228อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 229อ่านอรรถกถา 26 / 230อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5515&Z=5519
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=6632
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=6632
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :