ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 224อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 225อ่านอรรถกถา 26 / 226อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๙
๘. อัชชุนคาถา

               อรรถกถาอัชชุนเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระอัชชุนเถระ เริ่มต้นว่า อสกฺขึ วต อตฺตานํ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในกำเนิดราชสีห์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี.
               วันหนึ่งเห็นพระศาสดาประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่งในป่า คิดว่า พระศาสดาพระองค์นี้แลเป็นผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง เป็นบุรุษผู้สีหะในกาลนี้ ดังนี้แล้วเป็นผู้มีใจเลื่อมใส หักกิ่งรังที่มีดอกบานสะพรั่งแล้วบูชาพระศาสดา.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลเศรษฐี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่าอัชชุนะ.
               เขาถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เป็นผู้มีความสนิทสนมกับพวกนิครนถ์ บวชใน (ลัทธิ) นิครนถ์ แต่ในเวลาที่ยังเล็กอยู่นั่นแล ด้วยคิดว่า เราจักบรรลุอมตธรรมด้วยอุบายอย่างนี้ เมื่อไม่ได้สาระในลัทธินั้น เห็นยมกปาฏิหาริย์ ได้มีศรัทธาจิตแล้ว บวชในพระศาสนา ปรารภวิปัสสนา ได้เป็นพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เวลานั้นเราเป็นราชสีห์ พระยาเนื้อมีสกุล เราแสวงหาห้วงน้ำแห่งภูเขา ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นนายกของโลก จึงดำริว่า พระมหาวีรเจ้าพระองค์นี้ ย่อมยังมหาชนให้ดับเข็ญ อยู่เย็นเป็นสุขได้ ถ้าเช่นนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ผู้องอาจกว่านระเถิด เราจึงหักกิ่งรังแล้วนำเอาดอกมาพร้อมด้วยกระออมน้ำ เข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ถวายดอกรังอันงาม ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้
               และในกัปที่ ๙ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ พระองค์มีนามว่าวิโรจนะ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๔๑

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อเปล่งอุทานด้วยกำลังแห่งปีติอันเกิดจากการบรรลุความสุขอันยอดเยี่ยม ได้กล่าวคาถาว่า
                         เราอาจยกตนจากน้ำคือกิเลส ขึ้นบนบกคือพระนิพพานได้
                         เหมือนคนที่ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดไปแล้วยกตนขึ้นจากน้ำ
                         ฉะนั้น เราแทงตลอดสัจจะทั้งหลายแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสกฺขึ แปลว่า เราสามารถ.
               ศัพท์ว่า วต เป็นนิบาตใช้ในการแสดงความอัศจรรย์. เพราะว่า การแทงตลอดอริยสัจนี้พึงเป็นสิ่งน่ามหัศจรรย์.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน? อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือจะทำให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน คือ การแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน ดังนี้.
               บทว่า อตฺตานํ ท่านกล่าวหมายถึงจิตที่เป็นไปในภายในอันแน่นอน เพราะไม่มีสภาพอื่นที่จะเป็นอัตตา.
               บทว่า อุทฺธาตุํ แปลว่า เพื่อยกขึ้น. บางแห่ง ปาฐะเป็น อุทฺธฏฺํ.
               บทว่า อุทกา ได้แก่ จากน้ำกล่าวคือห้วงแห่งสงสาร.
               บทว่า ถลํ ความว่า สู่บกคือพระนิพพาน.
               บทว่า วุยฺหมาโน มโหโฆว ความว่า เหมือนคนที่ลอยไปในห้วงน้ำใหญ่.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้
               เปรียบเหมือนบุรุษที่ถูกกระแสน้ำพัดลอยไปโดยเร็วในห้วงน้ำใหญ่ ทั้งลึกทั้งกว้าง ไม่มีเกาะแก่งอันเป็นแหล่งพักพิง ได้เรือที่มั่นคง แข็งแรง สมบูรณ์ด้วยพายและถ่อที่ผู้หวังจะช่วยเหลือบางคนนำไปให้ พึงสามารถเพื่อยกตนขึ้นจากน้ำนั้น คือถึงฝั่งโดยง่ายทีเดียวฉันใด
               เราก็ฉันนั้นเหมือนกันลอยไปด้วยกำลังแห่งอภิสังขารคือกิเลส ในห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร ได้เรือคืออริยมรรคอันเข้าถึงสมถะและวิปัสสนา อันพระบรมศาสดาทรงนำไปมอบให้ สามารถเพื่อจะยกตนขึ้นจากน้ำคือกิเลสนั้น คือเพื่อบรรลุถึงฝั่ง คือพระนิพพาน เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์.
               พระเถระกล่าวว่า เราแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย ดังนี้ เพื่อแสดงถึงความสามารถตามที่ตนได้แสดงแล้ว.
               ประกอบความว่า เพราะเหตุที่เราแทงตลอดอริยสัจ ๔ มีทุกขสัจเป็นต้น ด้วยการแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้ การละ การทำให้แจ้ง และการเจริญ คือได้รู้แล้วด้วยอริยมรรคญาณ ฉะนั้น เราจึงอาจเพื่อยกตนขึ้นจากน้ำคือกิเลส สู่บกคือพระนิพพาน.

               จบอรรถกถาอัชชุนเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๙ ๘. อัชชุนคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 224อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 225อ่านอรรถกถา 26 / 226อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5485&Z=5489
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=6437
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=6437
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :