ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 206อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 207อ่านอรรถกถา 26 / 208อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗
๑๐. ปุณณเถรคาถา

               อรรถกถาปุณณเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระปุณณเถระ เริ่มต้นว่า สีลเมว.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนั้นก็มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในโลกที่ว่างจากพระพุทธเจ้า ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เจริญวัยแล้ว สำเร็จการศึกษาในศิลปศาสตร์ของพราหมณ์ เห็นโทษในกามทั้งหลาย ละฆราวาสวิสัยแล้วบวชเป็นดาบส สร้างบรรณกุฏิ แล้วอยู่อาศัย ณ หิมวันตประเทศ.
               ณ ที่เงื้อมเขาแห่งหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากที่ซึ่งพระดาบสนั้นอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าอาพาธ ปรินิพพานแล้ว. ในสมัยที่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นปรินิพพาน ได้มีแสงสว่างลุกโพลงขึ้น.
               ดาบสเห็นแสงสว่างนั้นแล้ว เหลียวมองดูข้างโน้นข้างนี้ โดยจะพิสูจน์ว่า แสงสว่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหนอแล เห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรินิพพานที่เชิงเขา จึงลากเอาไม้ฟืนที่มีกลิ่นหอมมาเผาร่าง (พระปัจเจกพุทธเจ้า) แล้วพรมด้วยน้ำหอม.
               ที่เงื้อมเขานั้นมีเทวบุตรองค์หนึ่งยืนอยู่ในอากาศ กล่าวอย่างนี้ว่า สาธุ สาธุ ท่านสัตบุรุษ กรรมที่ยังสัตว์ให้ไปสู่สุคติอันท่านผู้ประสบบุญใหญ่ บำเพ็ญแล้ว ด้วยบุญนั้น ท่านจักบังเกิดในสุคติภพเท่านั้น และท่านจักมีนามว่าปุณณะ ดังนี้.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลคฤหบดี ที่ท่าชื่อว่าสุปปารกะ ในสุนาปรันตชนบท ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้มีนามว่า "ปุณณะ"
               ปุณณมาณพเจริญวัยแล้วไปสู่พระนครสาวัตถี พร้อมกับกองเกวียนหมู่ใหญ่ ด้วยธุรกิจทางการค้า.
               ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี.
               ลำดับนั้น ปุณณมาณพไปยังพระวิหารพร้อมกับเหล่าอุบาสกผู้อยู่ในพระนครสาวัตถี ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว ยังอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ให้โปรดปราน ด้วยข้อวัตรปฏิบัติอยู่แล้ว.
               วันหนึ่ง ท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงประทานโอวาทโดยย่อ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ข้าพระองค์สดับแล้ว ไปอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอวาทแก่ท่าน โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุ มีอยู่แล แล้วทรงบันลือสีหนาท ส่ง (ท่าน) ไป.
               ท่านถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไปสู่สุนาปรันตชนบท อยู่ที่ท่าชื่อว่าสุปปารกะ ขวนขวายสมถะและวิปัสสนา กระทำวิชชา ๓ ให้แจ้งแล้ว.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               พระปัจเจกผู้สยัมภูไม่พ่ายแพ้อะไรๆ อาพาธ อาศัยยอมเงื้อม อยู่ในระหว่างภูเขา ขณะนั้น ได้มีเสียงบันลือลั่นโดยรอบอาศรมของเรา
               เมื่อพระปัจเจกะนิพพาน ได้มีแสงสว่างในขณะนั้น หมี หมาป่า เสือดาว เนื้อร้ายและราชสีห์มีอยู่ในไพรสณฑ์ประมาณเท่าใด สัตว์ทั้งหมดนั้นได้พากันส่งเสียงร้องขึ้น ในขณะนั้น เราเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว ได้ไปสู่เงื้อม ณ ที่นั้น เราได้เห็นพระปัจเจกะผู้ไม่พ่ายแพ้อะไรๆ นิพพานแล้ว เหมือนพระยารังมีดอกบานสะพรั่ง เช่นพระอาทิตย์อุทัย ดังถ่านเพลิงปราศจากเปลวภัย ผู้ดับสนิทแล้ว ไม่แพ้อะไรๆ
               เรานำเอาหญ้าและไม้มากองให้เต็มแล้ว ได้ทำเชิงตะกอนขึ้นบนนั้น ครั้นทำเชิงตะกอนดีแล้ว ได้ถวายเพลิงพระปัจเจกพุทธสรีระ ครั้นถวายเพลิงพระสรีระแล้ว ได้นำเอาน้ำอบประพรม.
               ในขณะนั้น เทวดายืนอยู่ในอากาศได้ระบุชื่อว่า ท่านเป็นมุนีในกาลใด ท่านมีนามว่าปุณณกะในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญกิจนั้น แก่พระปัจเจกะผู้สยัมภูแล้ว
               เราจุติจากกายนั้นแล้วได้ไปสู่เทวโลก ในเทวโลกนั้น กลิ่นอันสำเร็จด้วยทิพย์ย่อมตกลงจากอากาศ แม้ในเทวโลกนั้น เราก็มีชื่อว่าปุณณกะ ในกาลนั้น เราเป็นเทวดาหรือมนุษย์ย่อมยังความดำริให้บริบูรณ์
               ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของเรา ภพที่สุดย่อมเป็นไป แม้ในภพนี้ นามของเราก็ยังปรากฏว่าปุณณกะ เรายังพระสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม ศายบุตร ให้ทรงโปรดแล้ว กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่
               ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายเพลิงพระปัจเจกพุทธสรีระ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ยังมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากให้มีความเลื่อมใสในพระศาสนา โดยที่บุรุษประมาณ ๕๐๐ คน ประกาศตนเป็นอุบาสกและสตรีประมาณ ๕๐๐ คนประกาศตนเป็นอุบาสิกา.
               ท่านให้เขาสร้างพระคันธกุฎี ชื่อว่าจันทนมาลา ด้วยไม้จันทน์แดงที่สุนาปรันตชนบทนั้น อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยทูตคือดอกไม้ว่า ขอพระบรมศาสดาจงทรงรับพวงดอกไม้พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ ดังนี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปที่พระคันธกุฎี ชื่อว่าจันทนมาลานั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านั้น ด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ ทรงรับพระคันธกุฎี ชื่อว่าจันทนมาลา เมื่อยังไม่ทันรุ่งอรุณก็เสด็จกลับ.
               ในเวลาต่อมา พระเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลในสมัยเป็นที่ปรินิพพาน ได้กล่าวคาถาว่า
                         ในโลกนี้ ศีลเท่านั้นเป็นเลิศ แต่ว่าผู้มีปัญญา
                         เป็นผู้สูงสุด ความชนะย่อมมี เพราะศีล และ
                         ปัญญา ทั้งในหมู่มนุษย์ และหมู่เทวดา ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลํ ความว่า ชื่อว่าศีล ด้วยอรรถว่าละเว้น. อธิบายว่า ชื่อว่าศีล ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้ง และด้วยอรรถว่าสมาทาน.
               แท้จริง ศีลเป็นที่ตั้งแห่งคุณทั้งปวง ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นรชนตั้งอยู่แล้วในศีลเป็นผู้มีปัญญา ดังนี้. อธิบายว่า ศีลนั้นย่อมตั้งมั่นและทำกายวาจาให้เรียบร้อย ศีลนี้นั้นเท่านั้น ชื่อว่าเป็นเลิศ เพราะความเป็นพื้นฐานและเพราะความเป็นประธานแห่งคุณทั้งปวง.
               สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้มีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงยังเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลายให้บริสุทธิ์ก่อน เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร? คือศีลที่บริสุทธิ์ดีดังนี้ด้วย และว่า ที่ชื่อว่าปาฏิโมกข์ ได้แก่ศีลที่เป็นประธาน และศีลที่เป็นประมุข ดังนี้ด้วย.
               บทว่า อิธ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ปญฺญวา แปลว่า ถึงพร้อมด้วยญาณ.
               ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยญาณนั้น เป็นผู้สูงสุด คือประเสริฐสุด ได้แก่บวร. เพราะฉะนั้น พระเถระจึงแสดงความที่ปัญญานั่นแหละประเสริฐที่สุด ด้วยคาถาอันเป็นบุคลาธิษฐาน เพราะว่า กุศลธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นยอด.
               พระเถระแสดงความที่ศีลและปัญญาเป็นเลิศและประเสริฐนั้น โดยเหตุ ในบัดนี้ว่า ความชนะย่อมมีทั้งศีลและปัญญา ทั้งในหมู่มนุษย์และหมู่เทวดาดังนี้.
               อธิบายว่า จะชนะปรปักษ์ได้ จะชนะกามกิเลสได้ เพราะศีลและปัญญาเป็นเหตุ ดังนี้.

               จบอรรถกถาปุณณเถรคาถา               
               จบวรรควรรณนาที่ ๗               
               ในอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่าปรมัตถทีปนี               
               -----------------------------------------------------               

               ในวรรคนี้ รวมพระเถระ ๑๐ องค์ คือ
                         ๑. พระวัปปเถระ
                         ๒. พระวัชชีปุตตกเถระ
                         ๓. พระปักขเถระ
                         ๔. พระวิมลโกณฑัญญเถระ
                         ๕. พระอุเขปกฏวัจฉเถระ
                         ๖. พระเมฆิยเถระ
                         ๗. พระเอกธรรมสวนิยเถระ
                         ๘. พระเอกุทานิยเถระ
                         ๙. พระฉันนเถระ
                         ๑๐. พระปุณณเถระ
               จบวรรคที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗ ๑๐. ปุณณเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 206อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 207อ่านอรรถกถา 26 / 208อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5377&Z=5389
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=5432
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=5432
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :