ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 201อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 202อ่านอรรถกถา 26 / 203อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗
๕. อุกเขปกฏวัจฉเถรคาถา

               อรรถกถาอุกเขปกตวัจฉเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระอุกเขปกตวัจฉเถระ เริ่มต้นว่า อุกฺเขปกตวจฺฉสฺส.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า แม้พระเถระนั้นก็มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทั้งหลาย สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว ให้เสาแก่อุบาสกผู้สร้างเรือนยอดถวายพระศาสดา ขาดเสาอยู่ต้นหนึ่ง ได้กระทำหน้าที่ของผู้ร่วมกิจการ ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก หมั่นกระทำบุญบ่อยๆ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขามีนามที่ได้มาตามโคตรว่า วัจฉะ.
               เขาฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้เฉพาะแล้วซึ่งศรัทธา บรรพชาแล้ว อยู่ในอาวาสใกล้บ้าน แคว้นโกศล เล่าเรียนธรรม ในสำนักของภิกษุทั้งหลายผู้มาแล้วๆ. แต่ท่านไม่รู้ปริเฉท (ขั้นตอน) ว่านี้เป็นวินัย นี้เป็นพระสูตร นี้เป็นพระอภิธรรม.
               วันหนึ่ง เรียนถามท่านพระธรรมเสนาบดีแล้วกำหนดพระพุทธพจน์ทั้งหมดตามขั้นตอน แม้ในกาลก่อนแต่การสังคายนาพระธรรม. ท่านก็กำหนดชื่อแห่งปิฎกเป็นต้นไว้ในพระปริยัติสัทธรรมที่เป็นเหตุให้มีการเรียกชื่อภิกษุทั้งหลายว่า พระวินัยธรเป็นต้น. ท่านเล่าเรียนสอบถามพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกอยู่ กำหนดรูปธรรมและอรูปธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในพระไตรปิฎกนั้น เริ่มตั้งวิปัสสนา พิจารณาอยู่ บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               ได้มีการประชุมมหาสมาคม อุบาสกของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ และอุบาสกเหล่านั้นถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ มีความเชื่อเลื่อมใสพระตถาคต อุบาสกทั้งหมดมาประชุมปรึกษากันจะสร้างศาลาถวายแด่พระศาสดา ยังไม่ได้เสาอีกต้นหนึ่ง จึงพากันเที่ยวหาอยู่ในป่าใหญ่ เราพบอุบาสกเหล่านั้นในป่าแล้ว จึงเข้าไปหาคณะอุบาสกในเวลานั้น เราประนมอัญชลีสอบถามคณะอุบาสก.
               อุบาสกผู้มีศีลเหล่านั้น อันเราถามแล้ว ตอบให้ทราบว่า เราต้องการจะสร้างศาลา ยังหาเสาไม่ได้อีกต้นหนึ่ง ขอท่านจงให้เสากะเราต้นหนึ่งเถิด. เราตอบว่า ฉันจักถวายแด่พระศาสดาเอง ฉันจักนำเสามาให้ ท่านทั้งหลายไม่ต้องขวนขวายหา. อุบาสกเหล่านั้นเลื่อมใสมีใจยินดี มอบเสาให้เรา แล้วกลับจากป่ามาสู่เรือนของตนๆ.
               เมื่อคณะอุบาสกไปแล้วไม่นาน เราได้ถวายเสา ในกาลนั้น เรายินดี มีจิตร่าเริง ยกเสาขึ้นก่อนเขาด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราได้เกิดในวิมาน ภพของเราตั้งอยู่โดดเดี่ยว ๗ ชั้นสูงตระหง่าน เมื่อกลองดังกระหึ่มอยู่ เราบำเรออยู่ทุกเมื่อ.
               ในกัปที่ ๕๕ เราได้เป็นพระราชาพระนามว่ายโสธร แม้ในกาลนั้น ภพของเราก็สูงสุด ๗ ชั้น ประกอบด้วยเรือนยอดอันประเสริฐ มีเสาต้นหนึ่ง น่ารื่นรมย์ใจ
               ในกัปที่ ๒๑ เราเป็นกษัตริย์พระนามว่าอุเทน แม้ในกาลนั้น ภพของเราก็มี ๗ ชั้น ประดับอย่างสวยงาม เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือความเป็นเทวดา หรือความเป็นมนุษย์ เราย่อมเสวยผลนั้นๆ ทั้งหมด นี้เป็นผลแห่งการถวายเสาต้นเดียว.
               ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายเสาใดในกาลนั้น ด้วยบุญกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายเสาต้นเดียว. เราตัดกิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในความขยันหมั่นเพียร เพราะมุ่งกิจที่ตนทำไว้แล้ว อาศัยความอนุเคราะห์คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายที่เข้าไปสู่สำนักของตน ใคร่ครวญพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก แล้วแสดงธรรม.
               และในวันหนึ่ง แสดงธรรมอยู่ เมื่อจะแสดงเปรียบตนเหมือนคนอื่น ได้กล่าวคาถาว่า
                         ภิกษุสงบดีแล้ว มีความปราโมทย์อย่างยิ่ง ย่อมกล่าว
                         พระพุทธวจนะ ที่ได้เล่าเรียนมาเป็นเวลาหลายปีใน
                         สำนักของอุกเขปกตวัจฉภิกษุแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุกฺเขปกตวจฺฉสฺส ได้แก่ อันภิกษุชื่อว่าอุกเขปวัจฉะ กระทำแล้ว. อธิบายว่า อันภิกษุชื่อว่าวัจฉะบรรจุลงไว้ในปิฎกนั้นๆ นั่นแหละตั้งอยู่แล้วโดยที่ท่านกำหนดพิเคราะห์ส่วนแห่งพระวินัย ส่วนแห่งพระสูตรและส่วนแห่งพระอภิธรรมที่ตนแยกๆ เรียนในสำนักของภิกษุ แล้วสาธยายพระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรมนั่นแหละตาม (จำนวน) ปริจเฉท.
               ก็บทว่า อุกฺเขปกตวจฺฉสฺส นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ.
               บทว่าสงฺกลิตํ พหูหิ วสฺเสหิ ความว่า ตั้งไว้ในหทัย (ท่องจนขึ้นใจ) ด้วยสามารถแห่งการประมวลมาเป็นเวลาหลายปี.
               ปาฐะว่า สงฺขลิตํ ดังนี้บ้าง. ได้แก่ท่องจนคล่องปาก โดยว่าติดต่อเนื่องเป็นอันเดียวกันไป. กระทำให้เป็นดุจสังข์ที่เขาขัดแล้ว.
               ปาฐะว่า ยํ พุทฺธวจนํ เป็นปาฐะที่เหลือจากบาทคาถา.
               บทว่า ตํ ความว่า กล่าวคือแสดงพระปริยัติธรรมนั้น.
               บทว่า คหฏฺฐานํ ท่านกล่าวไว้ เพราะคฤหัสถ์เหล่านั้น มีจำนวนมากกว่า.
               บทว่า สุนิสินฺโน ความว่า นั่งสงบไม่ไหวติงอยู่ในธรรมวินัยนั้น. อธิบายว่า ไม่มุ่งหวังลาภและสักการะเป็นต้น ตั้งอยู่ในหัวข้อธรรม คือวิมุตตายตนะอย่างเดียวเท่านั้น แล้วกล่าว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุฬารปาโมชฺโช ซึ่งมีความว่า ผู้มีความปราโมทย์อันโอฬาร อันเกิดแล้ว ด้วยสามารถแห่งความสุขในผลสมาบัติและด้วยสามารถแห่งความสุขในธรรม.
               สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้มีอาทิว่า
               ดูก่อนอาวุโส ภิกษุย่อมแสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เรียนมาแล้วแก่คนเหล่าอื่นโดยพิสดารด้วยประการใดๆ เธอย่อมได้ความแตกฉานในอรรถในธรรมนั้น ย่อมได้ความปราโมทย์ อันเข้าไปประกอบแล้วด้วยธรรม ด้วยประการนั้นๆ ดังนี้.

               จบอรรถกถาอุกเขปกตวัจฉเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗ ๕. อุกเขปกฏวัจฉเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 201อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 202อ่านอรรถกถา 26 / 203อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5354&Z=5357
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=5103
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=5103
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :