ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 198อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 199อ่านอรรถกถา 26 / 200อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗
๒. วัชชีปุตตกเถรถาคา

               อรรถกถาวัชชีปุตตกคาถา               
               คาถาของท่านพระวัชชีปุตตกเถระ เริ่มต้นว่า เอกกา มยํ อรญฺเญ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ก็พระเถระนี้เป็นผู้มีอธิการอันเคยกระทำไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดแล้วในเรือนมีตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่งเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยเกสรดอกกระถินพิมาน.
               ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยบุญกรรมนั้น เห็นพุทธานุภาพ ในคราวเสด็จไปพระนครไพศาลี ในพุทธุปบาทกาลนี้ มีศรัทธา บวชแล้ว กระทำบุรพกิจเสร็จแล้ว เรียนกัมมัฏฐานอยู่ในไพรสณฑ์แห่งหนึ่งไม่ไกลพระนครไพศาลี.
               สมัยนั้นได้มีมหรสพในพระนครไพศาลี การฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีได้มีไปทั่วทุกแห่งหน. มหาชนพากันรื่นเริงยินดี ชื่นชมความสมบูรณ์ของมหรสพ.
               ภิกษุนั้นฟังเสียงนั้นแล้ว ดื่มด่ำตามไปโดยไม่แยบคาย ขาดวิเวก สละกรรมฐาน.
               เมื่อจะประกาศความไม่ยินดียิ่งของตน จึงกล่าวคาถาว่า
                         เราอยู่ในป่าแต่เพียงผู้เดียว เหมือนท่อนไม้ที่เขา
                         ทอดทิ้งไว้ในป่า ใครเล่าหนอจะเลว ไปยิ่งกว่าเรา
                         ในยามราตรีเช่นนี้ ดังนี้.

               เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในไพรสณฑ์ ฟังคำเป็นคาถานั้นแล้ว จะอนุเคราะห์ภิกษุนั้น เมื่อจะแสดงความนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าท่านถูกพวกที่อยู่ในป่าเบียดเบียนบีบคั้น จึงกล่าว ส่วนผู้มีปรีชา ปรารถนาวิเวก ย่อมนับถือท่านเป็นอันมากทีเดียวดังนี้ จึงกล่าวคาถาว่า
                         ท่านอยู่ในป่า แต่ผู้เดียว เหมือนท่อนไม้ที่เขา
                         ทอดทิ้งไว้ในป่า คนเป็นอันมาก ย่อมกระหยิ่ม
                         ยินดีต่อท่าน เหมือนเหล่าสัตว์นรกชื่นชมยินดี
                         ต่อผู้ที่ไปสู่สวรรค์ ฉะนั้น ดังนี้.

               แล้วขู่สำทับให้เธอสลดใจว่า ดูก่อนภิกษุ ก็เธอบวชในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันนำสัตว์ออกไปจากทุกข์ จักตรึกถึงวิตก ที่ไม่นำสัตว์ออกไปจากทุกข์ อย่างไรเล่า?
               ภิกษุนั้นอันเทวดานั้นให้สลดใจแล้วอย่างนี้ ได้เป็นเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ถูกนายสารถีหวดแล้วด้วยแส้ฉะนั้น หยั่งลงสู่แนวแห่งวิปัสสนา ขวนขวายวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตแล้ว ต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้ามีพระฉวีวรรณดังทองคำ มีพระรัศมีเปล่งปลั่ง ดุจพระอาทิตย์ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ดังพระจันทร์วันเพ็ญ อันพระสาวกทั้งหลายแวดล้อม ดุจแผ่นดินอันแวดล้อมด้วยสาคร จึงถือเอาดอกกระถินพิมานไปบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกกระถินพิมานใด ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา.
               ในกัปที่ ๔๕ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์ พระนามว่าเรณุ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระวัชชีปุตตกเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้วคิดว่า คาถานี้เป็นขอสับสำหรับบรรลุพระอรหัตของเรา ดังนี้แล้ว หวนระลึกถึงนัยอันเทวดากล่าวแล้วแก่ตน ได้กล่าวคาถาว่า
                         เราอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว เหมือนท่อนไม้ที่เขา
                         ทอดทิ้งไว้ในป่า คนเป็นอันมากกระหยิ่ม
                         ต่อเรา เหมือนสัตว์นรกกระหยิ่มยินดีต่อผู้
                         ไปสวรรค์ ฉะนั้น ดังนี้.

               คาถานั้นมีใจความดังนี้
               แม้ถึงเราจะเป็นผู้ๆ เดียววังเวง ไม่มีเพื่อน อยู่ในป่า อุปมาเหมือนท่อนไม้ที่เขาทอดทิ้งไว้ในป่า เพราะไม่มีคนเหลียวแล แต่คนเป็นอันมากย่อมกระหยิ่มต่อเราผู้อยู่อย่างนี้ คือยังมีกุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์เป็นอันมาก ปรารถนาเรายิ่งนักว่า โอหนอ แม้เราทั้งหลายพึงละเครื่องผูกพันในเรือนแล้ว อยู่ในป่าเหมือนพระวัชชีปุตตกเถระ ดังนี้.
               เหมือนอะไร? เหมือนสัตว์นรกกระหยิ่มยินดีต่อผู้ไปสวรรค์ ฉะนั้น
               อธิบายว่า เปรียบเหมือนสัตว์นรก คือสัตว์ผู้เกิดแล้วในนรกด้วยบาปกรรมของตน ย่อมยินดีต่อผู้ไปสวรรค์ คือผู้เข้าถึงสวรรค์ว่า โอหนอ แม้พวกเราละทุกข์ในนรกแล้ว พึงเสวยความสุขในสวรรค์ ชื่อฉันใด ข้ออุปมานี้ก็ฉันนั้น
               ก็ในคาถานี้ เพราะท่านมุ่งทำประโยคเป็นพหุพจน์ แสดงความหนักในตนว่า เอกกา มยํ วิหราม จึงทำประโยคเป็นเอกพจน์อีกว่า ตสฺส เม โดยที่ความของบทนั้น หมายความอย่างเดียวกัน พึงทราบการแสดงจตุตถีวิภัตติ ในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ โดยเพ่งแม้บททั้งสองที่ว่า ตสฺส เม และ สคฺคคามินํ (และ) บทว่า ปิหยนฺติ.
               ก็บทว่า อภิปตฺเถนฺติ นั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้โดยกระทำอธิบายว่า คนเป็นอันมาก ชื่อว่าย่อมปรารถนาคุณมีการอยู่ป่าเป็นต้นเช่นนั้น ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตสฺส เม มีอธิบายว่า ซึ่งคุณทั้งหลายในสำนักของเรานั้น.

               จบอรรถกถาวัชชีปุตตกคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗ ๒. วัชชีปุตตกเถรถาคา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 198อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 199อ่านอรรถกถา 26 / 200อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5337&Z=5341
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=4912
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=4912
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :