ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 175อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 176อ่านอรรถกถา 26 / 177อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต จตุตถวรรค
๙. ติสสเถรคาถา

               อรรถกถาติสสเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระติสสเถระ เริ่มต้นว่า สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เข้าไปสั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน ไว้ในภพนั้นๆ นำใบไม้เก่าๆ ที่โคนไม้อันเป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าติสสะ ออกแล้วชำระสะสางจนสะอาด. ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นโอรสของพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ โดยนามมีชื่อว่า ติสสะ.
               ท่านบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า อุปสมบทแล้วอยู่ในราวป่า อาศัยพระชาติ มีการถือตัว มากไปด้วยความโกรธและความคับแค้น และมากไปด้วยการยกโทษเที่ยวไป ไม่ทำการขวนขวายในสมณธรรม.
               ครั้นในวันหนึ่ง พระศาสดาทรงเล็งเห็นท่านนอนหลับอ้าปากอยู่ ในที่พักกลางวันด้วยทิพยจักษุ เสด็จจากพระนครสาวัตถีไปทางอากาศ ประทับยืนอยู่ในอากาศนั่นเอง เบื้องบนของพระเถระ แผ่โอภาสไปแล้ว ยังสติให้เกิดแก่พระเถระผู้ตื่นแล้วด้วยโอภาสนั้น.
               เมื่อจะประทานพระโอวาท ตรัสพระคาถาว่า
                         บุรุษถูกแทงด้วยหอก หรือไฟไหม้ที่กระหม่อม
                         แล้วรีบรักษาฉันใด ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติเว้นรอบ
                         เพื่อละความกำหนัดยินดีในกาม ฉันนั้น ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺติยา นี้ เป็นหัวข้อเทศนา. อธิบายว่า ได้แก่ ศาสตราที่มีคมข้างเดียวเป็นต้น.
               บทว่า โอมฏฺโฐ แปลว่า ประหารแล้ว. อธิบายว่า เครื่องประหารมี ๔ อย่างคือ โอมัฏฐะ ๑ อุมมัฏฐะ ๑ มัฏฐะ ๑ วิมัฏฐะ ๑.
               ในบรรดาเครื่องประหาร ๔ อย่างนั้น เครื่องประหารที่ตั้งอยู่ข้างบนให้หน้าคว่ำลง ชื่อว่าโอมัฏฐะ. เครื่องประหารที่ตั้งอยู่ข้างล่างให้หน้าหงายขึ้น ชื่อว่าอุมมัฏฐะ. เครื่องประหารที่แทงทะลุไปดุจลิ่มและเข็ม ชื่อว่ามัฏฐะ. เครื่องประหารที่เหลือแม้ทุกอย่าง ชื่อว่าวิมัฏฐะ.
               แต่ในที่นี้ ทรงหมายถึงเครื่องประหารชื่อว่า โอมัฏฐะ.
               อธิบายว่า เครื่องประหารชื่อโอมัฏฐะนั้นทารุณกว่าทุกๆ อย่าง เป็นหอกที่ถอนขึ้นได้ยาก แก้ไขเยียวยาได้ยาก มีโทษในภายในทำให้น้ำเหลืองและเลือดตกใน. น้ำเหลืองและเลือดที่ไม่ไหลออกจะ (จับเป็นก้อน) ปิดปากแผล แล้วตั้งอยู่. ผู้ประสงค์จะเอาน้ำเหลืองและเลือดออก ต้องมัดตัวติดกับเตียงให้นอนห้อยหัว. สัตว์ทั้งหลายย่อมถึงตาย หรือทุกข์ปางตาย.
               บทว่า ฑยฺหมาเน แปลว่า อันไฟเผาอยู่.
               บทว่า มตฺถเก แปลว่า บนศีรษะ.
               ท่านกล่าวอธิบายว่า บุรุษผู้ถูกแทงด้วยหอก ย่อมปรารภความเพียรเพื่อถอนหอกออก และทำการเยียวยารักษาแผล คือประกอบความพยายามเช่นนั้น พากเพียรไปฉันใด หรือเปรียบเหมือน เมื่อถูกไฟไหม้กระหม่อม บุรุษผู้ถูกไฟไหม้ศีรษะ ย่อมเพียรพยายามเพื่อจะดับไฟนั้น คือกระทำความพยายามเช่นนั้นฉันใด
               ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พึงเป็นผู้มีสติ คือไม่ประมาท เพื่อจะละกามราคะ ได้แก่พึงเป็นผู้มีความอุตสาหะอย่างเหลือเกินอยู่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงประทานโอวาท เพื่อความเข้าไปสงบ ระงับความโกรธและความคับแค้นแก่พระเถระนั้นอย่างนี้แล้ว ทรงยังเทศนาให้จบลง ด้วยยอดคือการละกามราคะ เพราะตั้งอยู่ในฐานอันเดียวกัน.
               พระเถระฟังพระคาถานั้นแล้ว เป็นผู้มีใจสังเวช หมั่นขวนขวายในวิปัสสนาอยู่แล้ว. พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของท่านแล้ว ทรงแสดงติสสเถรสูตร ในสังยุตตกนิกาย. ในเวลาจบเทศนา พระเถระดำรงอยู่ในพระอรหัตผลแล้ว.
               สมด้วยคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราเสวยยศทั้งสองอย่าง ในเทวโลกและมนุษยโลก ในอวสาน เราได้บรรลุศิวโมกข์มหานฤพานอันยอดเยี่ยม บุรุษใดประสบบุญ เพราะเจาะจงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือโพธิพฤกษ์ ของพระศาสดาพระองค์นั้น สำหรับบุรุษเช่นนั้น สิ่งอะไรเล่าที่เขาจะหาได้ยาก เขาย่อมเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าคนอื่นๆ ในเพราะมรรคผลนิกายเป็นที่มา และคุณคือฌานและอภิญญา ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน.
               เมื่อก่อนเรามีใจยินดี เก็บเอาใบโพธิ์ไปทิ้ง จึงเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยองค์ ๒๐ ประการนี้ทุกทิพาราตรีกาล เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๑๘

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผล ได้กล่าวคาถานั้นแหละ เพื่อบูชาพระบรมศาสดา.

               จบอรรถกถาติสสเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต จตุตถวรรค ๙. ติสสเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 175อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 176อ่านอรรถกถา 26 / 177อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5207&Z=5211
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=3645
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=3645
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :