ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 168อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 169อ่านอรรถกถา 26 / 170อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต จตุตถวรรค
๒. สุปปิยเถรคาถา

               อรรถกถาสุปปิยเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระสุปปิยเถระเริ่มต้นว่า อชรํ ชีรมาเนน.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเกิดในเรือนมีตระกูล บวชเป็นดาบส อยู่ในราวป่า เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าในราวป่านั้น มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลาผลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและแก่ภิกษุสงฆ์.
               ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วเกิดในตระกูลกษัตริย์ ในกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสปะ ถึงความเป็นผู้รู้โดยลำดับ ได้ความสังเวช โดยอาศัยคบหากัลยาณมิตร บวชในพระศาสนา ได้เป็นพหูสูต ท่านทั้งยกตน ทั้งข่มผู้อื่น เพราะความเมาในชาติ และเพราะความเมาในสุตะ อยู่แล้ว.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านเกิดในตระกูลคนเฝ้าป่าช้าอันเป็นตระกูลที่คนเหยียดหยาม ในพระนครสาวัตถี ด้วยผลแห่งกรรมนั้น. ท่านได้มีนามว่าสุปปิยะ.
               ครั้งนั้น ท่านถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เข้าไปหาพระโสปากเถระผู้เป็นสหายของตน ฟังธรรมในสำนักของพระโสปากเถระนั้น แล้วได้ความสังเวช บวชแล้ว บำเพ็ญสัมมาปฏิบัติ ได้ภาษิตคาถาว่า
                         บุคคลผู้มีความเพียร ถึงจะแก่ แต่เผากิเลสให้เร่าร้อน
                         พึงบรรลุนิพพาน อันไม่รู้จักแก่ ไม่มีอามิส เป็นธรรม
                         สงบอย่างยิ่ง เกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชรํ ได้แก่ เว้นจากชรา. ท่านกล่าวหมายถึงพระนิพพาน. อธิบายว่า พระนิพพานนั้น ชื่อว่าไม่แก่ เพราะเหตุที่พระนิพพานนั้นไม่มีเกิด จึงไม่มีแก่ หรือชื่อว่าไม่แก่ แม้เพราะเหตุที่ไม่มีความแก่ เพราะเมื่อบุคคลบรรลุพระนิพพานนั้นแล้ว ชรานั้นย่อมไม่มี.
               บทว่า ชิรมาเนน ความว่าแก่อยู่ คือถึงความแก่เข้าไปทุกๆ ขณะ.
               บทว่า ตปฺปมาเนน ความว่า เผากิเลสให้เร่าร้อน คือยังไฟ ๑๑ กองมีราคะเป็นต้นให้ไหม้อยู่.
               บทว่า นิพฺพุตึ ได้แก่ พระนิพพานอันชื่อว่ามีการดับกิเลสเป็นสภาพ เพราะไม่มีความเร่าร้อนตามที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า นิมิยํ ความว่า พึงให้เป็นไป คือพึงเลือกสรร.
               บทว่า ปรมํ สนฺตึ ความว่า ชื่อว่าสงบอย่างสูง เพราะเข้าไปสงบความกระวนกระวายแห่งอภิสังขาร คือกิเลสที่เหลือได้เป็นธรรมดา.
               ชื่อว่าเกษมจากโยคะ เพราะไม่ถูกผูกพันด้วยโยคะทั้ง ๔
               ชื่อว่ายอดเยี่ยม เพราะไม่มีธรรมอะไรๆ ที่จะเหนือกว่าตนไปได้.
               ก็ในคาถานี้ มีความสังเขปดังต่อไปนี้
               บุคคลชื่อว่าแก่ เพราะความเป็นผู้อันชราครอบงำอยู่ทุกๆ ขณะ.
               อนึ่ง ชื่อว่าถึงความชรา เพราะถูกไฟคือราคะเป็นต้นเผาผลาญ.
               ชื่อว่ามีอุปัทวะ เพราะความเป็นผู้ยังไม่เข้าไปสงบระงับโดยประการทั้งปวง โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่มีสาระอย่างนี้ พึงบรรลุพระนิพพานที่ชื่อว่าไม่แก่ เพราะความเป็นปฏิปักษ์ต่อชรานั้นอันเป็นแดนเข้าไปสงบระงับอย่างยิ่ง อันอะไรๆ เข้าไปประทุษร้ายไม่ได้ ยอดเยี่ยม ไม่มีอามิส กลับได้คิดว่าลาภก้อนใหญ่ โผล่ขึ้นอยู่ในเงื้อมมือเรามากมายจริงหนอ ดังนี้.
               เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย แลกเปลี่ยนสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สนใจ (ไม่เพ่งเล็ง) ย่อมได้รับความพอใจ สินค้าที่ตนได้มาฉันใด พระเถระนี้ก็ฉันนั้น เป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ เมื่อจะประกาศความที่ตนไม่เพ่งเล็งในกายและชีวิตของตน และความที่ตนมีใจอันส่งไปสู่พระนิพพาน จึงกล่าวว่า พึงบรรลุพระนิพพานอันไม่รู้จักแก่ ไม่มีอามิส เป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง เกษมจากโยคะ ยอดเยี่ยม ดังนี้ เพิ่มพูนข้อปฏิบัตินั้นแลอยู่ ขวนขวายวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               ครั้งนั้น เราเป็นพราหมณ์มีนามว่าวรุณ เป็นผู้เรียนจบมนต์ ทิ้งบุตร ๑๐ คนเข้าไปกลางป่า สร้างอาศรมอย่างสวยงาม สร้างบรรณศาลาจัดไว้เป็นห้องๆ น่ารื่นรมย์ใจ อาศัยอยู่ในป่าใหญ่
               พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ทรงพระประสงค์จะช่วยเหลือเรา พระองค์จึงได้เสด็จมายังอาศรมของเรา พระรัศมีได้แผ่กว้างใหญ่ตลอดไพรสณฑ์ ครั้งนั้น ป่าใหญ่โพลงไปด้วยพุทธานุภาพ.
               เราเห็นปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ผู้คงที่ ได้เก็บเอาดอกไม้มาเย็บเป็นกระทง แล้วเอาผลไม้ใส่จนเต็มหาบเข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ถวายพร้อมทั้งหาบ.
               เพื่อทรงอนุเคราะห์เรา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่เราว่า ท่านจงถือเอาหาบเดินตามหลังเรามา เมื่อสงฆ์บริโภคแล้ว บุญจักมีแก่ท่าน เราได้เอาหาบผลไม้ไปถวายแด่ภิกษุสงฆ์ เรายังจิตให้เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์แล้ว ได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นผู้ประกอบด้วยการฟ้อน การขับการประโคมอันเป็นทิพย์ เสวยยศในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นโดยบุญกรรม เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ เราไม่มีความบกพร่องในเรื่องโภคทรัพย์เลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้.
               เพราะได้ถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้า เราจึงได้เป็นใหญ่ตลอดทวีปทั้ง ๔ พร้อมด้วยสมุทร พร้อมทั้งภูเขา ถึงฝูงนกมีเท่าใดที่บินอยู่ในอากาศ นกเหล่านั้นก็ตกอยู่ในอำนาจของเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
               ยักษ์ ภูต รากษส กุมภัณฑ์ และครุฑ เท่าที่มีอยู่ในไพรสณฑ์ ต่างก็บำรุงบำเรอเรา ถึงพวกเต่า หมาไน ผึ้งและเหลือบยุง ก็ตกอยู่ในอำนาจของเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้.
               แม้เหล่าสกุณปักษีที่มีกำลังชื่อสุบรรณ ก็นับถือเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ ถึงพวกนาคที่มีอายุยืน มีฤทธิ์ มียศใหญ่ ก็ตกอยู่ในอำนาจของเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้.
               ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า หมาจิ้งจอก ก็ตกอยู่ในอำนาจของเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ ผู้ที่อยู่ ณ ต้นโอสถและต้นหญ้า กับผู้ที่อยู่ในอากาศ ล้วนนับถือเราทั้งหมด นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้.
               ธรรมที่เห็นได้ยาก ละเอียด ลึกซึ้งซึ่งพระศาสดาทรงประกาศไว้ดีแล้ว เราถูกต้องแล้วอยู่นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ เราถูกต้องวิโมกข์ ๘ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส และมีปัญญารักษาตนอยู่ นี่เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
               เราเป็นผู้หนึ่งในจำนวนโอรสของพระพุทธเจ้า ที่ดำรงอยู่ในผล สิ้นโทสะ มียศใหญ่ นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ เราถึงความบริบูรณ์ในอภิญญา อันกุศลมูลตักเตือน กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ เราเป็นผู้หนึ่งในจำนวนพระโอรสของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ได้วิชชา ๓ บรรลุฤทธิ์ มียศใหญ่ สมบูรณ์ด้วยทิพโสต.
               ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระเถระแม้บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็ได้กล่าวคาถานั้นแหละ โดยนับเป็นการพยากรณ์พระอรหัตผล.

               จบอรรถกถาสุปปิยเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต จตุตถวรรค ๒. สุปปิยเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 168อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 169อ่านอรรถกถา 26 / 170อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5169&Z=5173
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=3187
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=3187
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :