ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 155อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 156อ่านอรรถกถา 26 / 157อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ทุติยวรรค
๙. กุฬเถรคาถา

               อรรถกถากุฬเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระกุฬเถระ เริ่มต้นว่า อุทกํ หิ นยนฺติ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเถระนี้แม้ในกาลก่อนก็สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมาก ถึงพร้อมด้วยอธิการ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เสด็จไปในอากาศ มีใจเลื่อมใสแล้ว ใคร่จะถวายผลขนุนสำมะลอ แล้วจัดถวาย.
               พระบรมศาสดาทรงทราบวารจิตของเขาแล้ว เสด็จลงทรงรับแล้ว. เขาเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสเหลือเกิน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอบรรพชาแล้ว โดยการได้เฉพาะซึ่งศรัทธานั่นเอง. พระศาสดาตรัสสั่งกะภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้บวชเขา โดยพระพุทธดำรัสว่า เธอจงยังบุรุษนี้ให้บวช ดังนี้.
               เขาบรรพชาแล้วได้อุปสมบท บำเพ็ญสมณธรรม จุติจากภพนั้นแล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตลอด ๖ พุทธันดร เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้มีนามว่า กุละ.๑-
____________________________
๑- พระสูตรเป็น กุฬะ

               เขาเจริญวัยแล้วมีความเลื่อมใสในพระศาสนา บวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่สามารถจะยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นผู้มากไปด้วยความฟุ้งซ่าน.
               ครั้นวันหนึ่ง ท่านเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เห็นคนทั้งหลายกำลังขุดดินทำให้เป็นแอ่งน้ำ ชักน้ำให้ไหลไปในที่ๆ ตนปรารถนาแล้วๆ ในระหว่างทาง กำหนดแม้เหตุนั้นไว้ เข้าไปสู่บ้านเห็นช่างศรคนใดคนหนึ่งใส่ลูกศรเข้าไปแล่งศร เล็งด้วยหางตา แล้วกระทำให้ตรง จึงกำหนดเหตุนั้นไว้ เดินต่อไปเห็นช่างถากกำลังถากชิ้นส่วนของล้อรถมีกำ กงและดุมเป็นต้น ก็กำหนดเหตุแม้นั้นไว้ เข้าไปสู่วิหารกระทำภัตกิจแล้ว เก็บบาตรและจีวร นั่งในที่สำหรับพักกลางวัน ถือเอานิมิตที่ตนเห็นแล้วโดยเป็นอุปมาน้อมเข้าไปในการฝึกจิตของตน แล้วคิดว่า มนุษย์นำเอาน้ำที่ไม่มีจิตใจ ไปสู่ที่ตนปรารถนาแล้วๆ ถึงช่างศรก็เหมือนกันดัดลูกศรที่ปราศจากจิตใจ แม้คดให้ตรงได้ด้วยอุบาย ช่างถากก็เหมือนกันย่อมกระทำไม้ที่คดมีท่อนไม้เป็นต้นที่หาเจตนามิได้ให้ตรง โดยทำเป็นกงเป็นต้น.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร เราจึงไม่ทำจิตของเราให้ตรงเล่า ดังนี้แล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนา เพียรพยายามอยู่ บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               ครั้งนั้น เราเป็นคนเฝ้าสวนอยู่ในพระนครพันธุมดี ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสธุลี เสด็จเหาะไปในอากาศ เราได้หยิบเอาขนุนสำมะลอถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด พระพุทธเจ้าผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ทำให้เราเกิดความปลาบปลื้มใจ นำความสุขมาให้ในปัจจุบัน ประทับอยู่ในอากาศนั่นเอง ได้ทรงรับประเคน เราถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้าด้วยใจอันเลื่อมใสแล้ว ได้ประสบปีติอันไพบูลย์ เป็นสุขยอดเยี่ยมในครั้งนั้น รัตนะเกิดขึ้นแก่เราผู้เกิดในที่นั้นๆ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้.
               เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ท่านทำนิมิตเหล่าใดให้เป็นดังขอสับ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้วอย่างนี้ ท่านเทียบเคียงการฝึกจิตของตนกับนิมิตเหล่านั้นแล้ว
               เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผล ได้ภาษิตคาถาว่า
                         พวกคนไขน้ำก็ไขน้ำไป ช่างศรก็ดัดลูกศร
                         พวกช่างถากก็ถากไม้ พวกบัณฑิตผู้มีวัตร
                         อันงามก็ฝึกตน ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น หิ ศัพท์ในบทว่า อุทกํ หิ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า นยนฺติ ความว่า พวกคนไขน้ำ ขุดที่ๆ ดอนนั้นๆ แล้วถมที่ลุ่มทำเหมือง หรือวางรางไม้ ย่อมชักน้ำไปสู่ที่ๆ ตนปรารถนาแล้วๆ. ชื่อว่าคนไขน้ำ เพราะนำน้ำไปด้วยอาการอย่างนั้น.
               บทว่า เตชนํ แปลว่า ลูกศร.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้
               พวกคนไขน้ำก็ไขน้ำไปสู่ที่ที่ตนปรารถนาแล้วๆ ตามชอบใจของตน แม้พวกช่างศรก็ลนไม้ดัดลูกศร คือทำให้ตรง ช่างถากเมื่อถากไม้เพื่อประโยชน์แก่ดุมเป็นต้น โดยให้โน้มไป ชื่อว่าย่อมถากไม้ คือทำให้ตรงหรือคดตามชอบใจของตน.
               บัณฑิตทั้งหลายผู้มีพรตดี คือมีวัตรอันงามด้วยศีลเป็นต้นตามที่สมาทานแล้ว กระทำเหตุมีประมาณเท่านี้ให้เป็นอารมณ์อย่างนี้ เมื่อยังโสดาปัตติมรรคเป็นต้นให้บังเกิดขึ้น ชื่อว่าย่อมฝึกตน และเมื่อได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนได้เป็นเอก ดังนี้.

               จบอรรถกถากุฬเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ทุติยวรรค ๙. กุฬเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 155อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 156อ่านอรรถกถา 26 / 157อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5089&Z=5092
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=2449
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=2449
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :