ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 129อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 130อ่านอรรถกถา 26 / 131อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๑๐. คณเปตวัตถุ

               อรรถกถาคณเปตวัตถุที่ ๑๐               
               เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเปรตเป็นอันมาก จึงได้ตรัสพระคาถานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นคฺคา ทุพฺพณฺณรูปาตฺถ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี มนุษย์เป็นอันมาก เป็นคณะ ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส มีจิตถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม เป็นผู้เบือนหน้าต่อสุจริตมีทานเป็นต้น มีชีวิตอยู่นาน เพราะกายแตกตายไป จึงบังเกิดในกำเนิดเปรต ใกล้พระนคร.
               ภายหลังวันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังเดินบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เห็นพวกเปรตในระหว่างทาง จึงถามด้วยคาถาว่า :-
               พวกท่านเปลือยกาย มีรูปร่างผิวพรรณน่าเกลียด ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ผอมจนเห็นแต่ซี่โครงเช่นนี้ แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ พวกท่านเป็นใคร หนอ?
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุพฺพณฺณรูปาตฺถ ความว่า ท่านเป็นผู้มีร่างกายผิวพรรณน่าเกลียด.
               บทว่า เก นุ ตุมฺเหตฺถ ความว่า พวกท่านเป็นใครหนอ.
               พระมหาโมคคัลลานะเรียกเปรตเหล่านั้นโดยสมควรแก่ตนว่า มาริสา.
               เปรตได้ฟังดังนั้นจึงพากันประกาศความที่ตนเป็นเปรตด้วยคาถาว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าเป็นเปรตเสวยทุกข์ เกิดในยมโลก เพราะกระทำกรรมชั่วไว้ จึงจากมนุษยโลกไปสู่เปตโลก ดังนี้
               ถูกพระเถระถามถึงกรรมที่เขาทำไว้อีก ด้วยคาถาว่า :-
               ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ ด้วยกายวาจาและใจ เพราะผลแห่งกรรมอะไร พวกท่านจึงจากมนุษยโลกไปสู่เปตโลก.
               จึงได้กล่าวกรรมที่ตนทำด้วยคาถาว่า :-
               เมื่อสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นที่พึ่งอันหาโทษมิได้มีอยู่ ข้าพเจ้าทั้งหลายมิได้ก่อสร้างกุศลไว้แม้เพียงกึ่งมาสก เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน พวกข้าพเจ้าหิวน้ำจึงเข้าไปใกล้แม่น้ำ แม่น้ำกลับกลายเป็นว่างเปล่าไป เมื่อเวลาร้อน พวกข้าพเจ้าเข้าไปสู่ร่มไม้ร่มไม้กลับกลายเป็นแดดแผดเผาไป และลมมีสีดังไฟแผดเผาพวกข้าพเจ้า ฟุ้งไป ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าควรจะเสวยทุกข์ อันมีความกระหายเป็นต้นนี้ และทุกข์อย่างอื่นอันชั่วช้ากว่าทุกข์นั้น
               อนึ่ง พวกข้าพเจ้าเป็นผู้ถูกความหิวแผดเผาแล้ว อยากอาหาร พากันไปสิ้นทางหลายโยชน์ ก็ไม่ได้อาหารอะไรๆ เลย จึงพากันกลับมา
               พวกข้าพเจ้านี้หาบุญมิได้หนอ เมื่อมีความหิวโหยอิดโรยมากขึ้น ก็พากันล้มสลบลงที่พื้นดิน บางคราวก็ล้มนอนหงาย บางคราวก็ล้มคว่ำ ดิ้นรนไปมา ก็พวกข้าพเจ้านั้นสลบอยู่ที่พื้นดิน ตรงที่ล้มอยู่นั่นเอง เอาศีรษะชนหน้าอกกันและกัน พวกข้าพเจ้านี้หาบุญมิได้หนอ
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าควรที่จะเสวยทุกข์ มีความกระหายเป็นต้นนี้ และทุกข์อย่างอื่นอันชั่วช้ากว่าทุกข์นั้น เพราะเมื่อไทยธรรมมีอยู่ พวกข้าพเจ้าก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน ก็พวกข้าพเจ้านั้นไปจากที่นี้ ได้กำเนิดเป็นมนุษย์จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล จักทำกุศลให้มากแน่ๆ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ โยชนานิ คจฺฉาม ความว่า ข้าพเจ้าไปได้หลายโยชน์. อย่างไร? คือเป็นผู้หิวอยากกินอาหาร. อธิบายว่า พวกข้าพเจ้าถูกความหิวครอบงำมานาน อยากกินคืออยากลิ้มอาหาร แม้ครั้นไปอย่างนี้ ไม่ได้อาหารอะไรๆ เลย ก็พากันกลับมา.
               บทว่า อปฺปปุญฺญตา ได้แก่ พวกข้าพเจ้าไม่มีบุญ คือไม่ได้ทำคุณงามความดีไว้.
               บทว่า อุตฺตานา ปฏิกิราม ความว่า บางคราวเป็นผู้นอนหงาย เป็นไปเหมือนอวัยวะน้อยใหญ่กระจัดกระจายไป.
               บทว่า อวกุชฺชา ปตามเส ความว่า บางคราวก็นอนคว่ำตกลงไป.
               บทว่า เต จ ได้แก่ พวกข้าพเจ้านั้น.
               บทว่า อุรํ สีลญฺจ ฆฏฺเฏม ความว่า นอนคว่ำตกลงไป เมื่อไม่อาจจะลุกขึ้นได้ สั่นงันงกอยู่ ประสบเวทนา เอาอกและศีรษะเสียดสีกัน.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง นั้นแล.
               พระเถระกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. มหาชนฟังธรรมนั้นแล้วละมลทินคือความตระหนี่ ได้เป็นผู้ยินดีสุจริตมีทานเป็นต้น ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาคณเปตวัตถุที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๑๐. คณเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 129อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 130อ่านอรรถกถา 26 / 131อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4822&Z=4852
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=6409
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=6409
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :