ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 119อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 120อ่านอรรถกถา 26 / 121อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ จูฬวรรคที่ ๓
๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ

               อรรถกถาธาตุวิวัณณเปตวัตถุที่ ๑๐               
               เรื่องแห่งเปรตผู้ติเตียนพระธาตุนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อนฺตลกฺขสฺมึ ติฏฺฐนฺโต ดังนี้.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ในระหว่างนางรังทั้งคู่ ณ สาลวโนทยานแห่งมัลลกษัตริย์อันเป็นที่แวะเวียน ในกรุงกุสินารา และทำการจำแนกพระธาตุ พระเจ้าอชาตสัตตุทรงถือเอาการส่วนพระธาตุที่พระองค์ได้ ทรงระลึกถึงพระพุทธคุณ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วันแล้วให้การบูชาอันโอฬารเป็นไป.
               พวกมนุษย์ในที่นั้นนับไม่ได้ประมาณไม่ได้ พากันทำจิตให้เลื่อมใส ได้เข้าถึงสวรรค์.
               ก็บุรุษประมาณ ๘๖,๐๐๐ คนในที่นั้นมีจิตวิปปลาส เพราะความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา และเพราะความเห็นผิดที่ตนให้เกิดตลอดกาลนาน ประทุษร้ายจิตของตนแม้ในฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส แล้วเกิดในหมู่เปรต.
               ภรรยา ธิดา ลูกสะใภ้ของกุฏมพีผู้เพียบพร้อมด้วยสมบัติคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์นั้นนั่นเอง มีจิตเลื่อมใส พากันคิดว่าจักถวายบูชาพระธาตุ จึงถือเอาสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น เริ่มไปยังที่บรรจุพระธาตุ.
               กฎุมพีนั้นคิดว่าจะประโยชน์อะไรด้วยการบูชากระดูก จึงดูหมิ่นพระธาตุเหล่านั้น ติเตียนการบูชาพระธาตุ. หญิงเหล่านั้นก็ไม่เชื่อคำของกฎุมพีนั้น พากันไปในที่นั้นกระทำการบูชาพระธาตุ. มายังเรือนถูกโรคเช่นนั้นครอบงำ ไม่นานนักก็ทำกาละไปบังเกิดในเทวโลก.
               ส่วนกฎุมพีนั้นถูกความโกรธครอบงำ ไม่นานนักทำกาละแล้ว ไปบังเกิดในหมู่เปรตเพราะบาปกรรมนั้น.
               ภายหลังวันหนึ่ง ท่านมหากัสสปะปรุงแต่งอิทธาภิสังขารโดยประการที่พวกมนุษย์เห็นเปรตเหล่านั้น และเทวดาเหล่านั้น ก็ครั้นกระทำอย่างนั้นแล้ว ยืนอยู่ที่ลานเจดีย์ ถามเปรตผู้ติเตียนพระธาตุนั้นด้วย ๓ คาถา เปรตนั้นได้พยากรณ์แก่ท่านแล้ว.
               พระเถระถามว่า :-
               ท่านยืนอยู่ในอากาศ มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป และหมู่หนอนพากันบ่อนฟอนกินปากอันมีกลิ่นเหม็นเน่าของท่าน เมื่อก่อนทำอะไรไว้ เพราะการฟุ้งไปแห่งกลิ่นเหม็นนั้น นายนิรยบาลถือเอาศาตรามาเฉือนปากของท่านเนืองๆ รดท่านด้วยน้ำแสบด้วยเชือดเนื้อไปพลาง ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ ด้วยกาย วาจา ใจ หรือเพราะวิบากแห่งกรรมอะไร ท่านจึงได้ประสบความทุกข์อย่างนี้.
               เปรตนั้นตอบว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ เมื่อก่อนกระผมเป็นอิสรชนอยู่ที่กรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์มีภูเขาล้อมรอบ (เบญจคีรีนคร) เป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย แต่กระผมได้ห้ามปรามภรรยา ธิดาและลูกสะใภ้ของกระผม ซึ่งพากันนำพวงมาลาดอกอุบลและเครื่องลูบไล้อันหาค่ามิได้ ไปสู่สถูปเพื่อบูชา บาปนั้นกระผมได้ทำไว้แล้ว จึงได้เสวยทุกขเวทนาเห็นประจักษ์ และจักหมกไหม้อยู่ในนรกอันหยาบช้าทารุณ ๘๖,๐๐๐ ปี เพราะติเตียนการบูชาพระสถูป
               ก็เมื่อการบูชาและการฉลองพระสถูปของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอันมหาชนให้เป็นไปอยู่ ชนเหล่าใดมาประกาศโทษแห่งการบูชาพระสถูปนั้นเหมือนกระผม ชนเหล่านั้นพึงห่างเหินจากบุญ
               ขอท่านจงดูชนทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งทัดทรงดอกไม้ตบแต่งร่างกาย เหาะมาทางอากาศเหล่านี้ เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นผู้มั่งคั่งมียศ เสวยอยู่ซึ่งวิบากแห่งการบูชาด้วยดอกไม้ ชนทั้งหลายผู้มีปัญญาได้เห็นผลอันน่าอัศจรรย์ น่าขนพองสยองเกล้าอันไม่เคยมีนั้นแล้ว ย่อมทำการนอบน้อม วันทาพระมหามุนีนั้น
               กระผมไปจากเปตโลกนี้แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์จักเป็นผู้ไม่ประมาท ทำการบูชาพระสถูปเนืองนิตย์เป็นแน่แท้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุคฺคนฺโธ ได้แก่ ผู้มีกลิ่นไม่น่าปรารถนา. อธิบายว่า มีกลิ่นเหมือนกลิ่นซากศพ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป.
               บทว่า ตโต ความว่า นอกเหนือจากกลิ่นเหม็นฟุ้งไปและถูกหมู่หนอนพากันบ่อนฟอนกิน.
               บทว่า สตฺถํ คเหตฺวาน โอกฺกนฺตนฺติ ปุนปฺปุนํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายถูกกรรมตักเตือน จึงเอาศาตราอันลับคม ผ่าปากแผลนั้นบ่อยๆ.
               บทว่า ขาเรน ปริปฺโผสิตฺวา โอกฺกนฺตนฺติ ปุนปฺปุนํ ความว่า ถูกรดด้วยน้ำแสบในที่ที่ถูกผ่าแล้วก็เชือดเนื้อไปพลาง.
               อิสฺสโร ธนธญฺญสฺส สุปหูตสฺส ความว่า เป็นใหญ่ คือเป็นเจ้าของทรัพย์และธัญญาหารมากมายยิ่ง. อธิบายว่า เป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก.
               บทว่า ตสฺสายํ เม ภริยา จ ธีตา จ สุณิสา จ ความว่า ในอัตภาพก่อน ผู้นี้เป็นภรรยา เป็นธิดา เป็นลูกสะใภ้ของกระผมนั้น.
               เปรตกล่าวแสดงว่า หญิงเหล่านั้นเป็นเทวดายืนอยู่ในอากาศ.
               บทว่า ปจฺจคฺฆํ แปลว่า ใหม่.
               บทว่า ถูปํ หรนฺติโย วาเรสึ ความว่า ข้าพเจ้าติเตียนพระธาตุห้ามหญิงเหล่านั้นผู้น้อมเข้าไปเพื่อบูชาพระสถูป.
               ด้วยคำว่า ตํ ปาปํ ปกตํ มยา นี้ เปรตถึงความเดือดร้อน กล่าวว่า ความชั่วในการติเตียนพระธาตุนั้น ข้าพเจ้าได้กระทำ คือประพฤติอยู่เสมอ.
               บทว่า ฉฬาสีติสหสฺสานิ ได้แก่ ประมาณ ๘๖,๐๐๐ คน. เปรตกล่าวร่วมเปรตเหล่านั้นกับตนว่า มยํ แปลว่า พวกเรา.
               บทว่า ปจฺจตฺตเวทนา ได้แก่ ทุกขเวทนาที่กำลังครอบงำอยู่เป็นแผนกๆ.
               ด้วยบทว่า นิรเย เปรตกล่าวเปตวิสัยให้เหมือนกับนรก เพราะมีทุกข์หนัก.
               บทว่า เย จ โข ถูปปูชาย วตฺตนฺเต อรหโต มเห ความว่า เมื่อการฉลอง การบูชา อุทิศสถูปของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปอยู่ ชนเหล่าใดประกาศอาทีนพคือโทษในการบูชาพระสถูป เหมือนข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายพึงเลือกเฟ้นบุคคลเหล่านั้นจากบุญนั้น.
               เปรตประกาศความที่ตนเป็นผู้เสื่อมใหญ่ โดยอ้างผู้อื่นว่าพึงยังบุคคลผู้เหินห่างจากบุญให้เกิด.
               บทว่า อายนฺติโย แปลว่า ผู้มาทางอากาศ.
               บทว่า มาลาวิปากํ ได้แก่ วิบาก คือผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้ที่ทำไว้ในพระสถูป.
               บทว่า สมิทฺธา ได้แก่ สำเร็จด้วยทิพยสมบัติ.
               บทว่า ตา ยสสฺสิโน ได้แก่ หญิงเหล่านั้นมีบริวาร.
               บทว่า ตญฺจ ทิสฺวาน ความว่า เห็นผลพิเศษอันโอฬารยิ่งอันน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ให้เกิดขนพองสยองเกล้า ของบุญอันเกิดจากการบูชาอันนิดหน่อยยิ่งนักนั้น.
               บทว่า นโม กโรนฺติ สปฺปญฺญา วนฺทนฺติ ตํ มหามุนึ ความว่า ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ หญิงเหล่านี้ย่อมไหว้ย่อมอภิวาท. อธิบายว่า กระทำการนอบน้อม และกระทำนมัสการท่านผู้เป็นบุญเขตอันสูงสุด.
               ลำดับนั้น เปรตนั้นมีใจสลด เมื่อจะแสดงกรรมที่ตนพึงกระทำต่อไป อันควรแก่ความสลดใจ จึงกล่าวคาถาว่า โสหํ นูน ดังนี้เป็นต้น.
               คำนั้นมีอรรถง่ายทั้งนั้น.
               ท่านพระมหากัสสปะผู้อันเปรตกล่าวอย่างนี้ จึงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ แสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว.

               จบอรรถกถาธาตุวิวัณณเปตวัตถุที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
                         ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
                         ๓. รถการีเปตวัตถุ
                         ๔. ภุสเปตวัตถุ
                         ๕. กุมารเปตวัตถุ
                         ๖. เสรินีเปตวัตถุ
                         ๗. มิคลุททกเปตวัตถุที่ ๑
                         ๘. มิคลุททกเปตวัตถุที่ ๒
                         ๙. กูฏวินิจฉยกเปตวัตถุ
                         ๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ
               จบจูฬวรรคที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ จูฬวรรคที่ ๓ ๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 119อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 120อ่านอรรถกถา 26 / 121อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4290&Z=4322
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=4991
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=4991
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :