ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 115อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 116อ่านอรรถกถา 26 / 117อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ จูฬวรรคที่ ๓
๖. เสรินีเปตวัตถุ

               อรรถกถาเสรินีเปติวัตถุที่ ๖               
               พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภนางเสรินีเปรต จึงได้ตรัสพระคาถามีคำเริ่มต้นว่า นคฺคา ทฺพฺพณฺณรูปาสิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในหัตถินีบุรี ในแคว้นกุรุรัฐ มีหญิงคนหนึ่งชื่อว่าเสรินี ได้เป็นผู้อาศัยรูปเลี้ยงชีวิต.
               ก็ภิกษุทั้งหลายจากที่นั้นๆ ได้มาประชุมกันในหัตถินีบุรีนั้น เพื่อต้องการทำอุโบสถ. ได้มีภิกษุจำนวนมากมาประชุมกันอีก. มนุษย์ทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงจัดเตรียมเครื่องอุปกรณ์ในการบำเพ็ญทานเป็นอันมาก มีเมล็ดงาและข้าวสารเป็นต้น และมีเนยใส เนยข้นและน้ำผึ้งเป็นต้น บำเพ็ญมหาทาน.
               ก็สมัยนั้น นางคณิกาคนนั้นไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส จิตถูกกลุ้มรุมด้วยมลทินคือความตระหนี่ แม้จะถูกพวกมนุษย์เหล่านั้นให้กำลังใจว่า มาซิเธอ ก่อนอื่นจงอนุโมทนาทานนี้ ก็ประกาศยืนยันความไม่เลื่อมใสแก่มนุษย์เหล่านั้นว่า จะประโยชน์อะไรด้วยทานที่ให้แก่พวกสมณะโล้น การบริจาคสิ่งของมีประมาณเล็กน้อยจักมีแต่ไหน.
               สมัยต่อมา นางทำกาละแล้ว บังเกิดเป็นเปรตที่หลังคูแห่งปัจจันตนครแห่งหนึ่ง.
               ลำดับนั้น อุบาสกชาวเมืองหัตถินีบุรีคนหนึ่งไปยังนครนั้นเพื่อการค้า ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ได้ไปยังหลังคูด้วยประโยชน์เช่นนั้น. นางเห็นเขาที่นั้นก็จำได้ เป็นคนเปลือยมีร่างกายเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก เห็นเข้าน่าสะพึงกลัวยิ่งนัก ได้ยืนแสดงตนอยู่ในที่ไม่ไกล.
               อุบาสกนั้นเห็นนางนั้นแล้ว ถามเป็นคาถาว่า :-
               ท่านเปลือยกาย มีรูปพรรณน่าเกลียด ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอมจนเห็นแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครหนอ มายืนอยู่ที่นี้.
               ฝ่ายนางเปรตจึงประกาศตนแก่อุบาสกนั้นด้วยคาถาว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นเปรต ตกทุกข์ได้ยาก เกิดในยมโลก ทำกรรมอันลามกไว้ จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก.
               นางถูกอุบาสกนั้นถามถึงกรรมที่ตนกระทำด้วยคาถาอีกว่า :-
               ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกายวาจาและใจหรือ เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร ท่านจึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก
               จึงบอกกรรมที่ตนกระทำไว้ และประโยชน์ที่เขาพึงกระทำให้แก่ตนอีก ด้วยคาถา ๖ คาถานี้ว่า :-
               ดิฉันได้ค้นหาทรัพย์มาได้กึ่งมาสก ในที่ที่ไม่มีใครหวงห้าม เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ดิฉันไม่ได้กระทำที่พึ่งแก่ตนไว้ ดิฉันกระหายน้ำเข้าไปยังแม่น้ำ แม่น้ำก็กลับว่างเปล่าไป ในเวลาร้อน ดิฉันเข้าไปยังร่มไม้ ร่มไม้กลับกลายเป็นแดดไป ทั้งลมก็กลับกลายเป็นเปลวไฟไป เผาร่างของดิฉันฟุ้งไป
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันควรจะเสวยทุกข์มีความกระหายเป็นต้นตามที่ท่านกล่าวแล้วนี้ และทุกข์อย่างอื่นอันชั่วช้าทารุณกว่านั้น ท่านไปถึงหัตถินีนครแล้ว ขอช่วยบอกแก่มารดาดิฉันว่า เราเห็นธิดาของท่านตกทุกข์ เกิดในยมโลก เขาจากโลกนี้ไปยังเปตโลก เพราะทำบาปกรรมไว้.
               ทรัพย์ของดิฉันมีอยู่ ๔๐๐,๐๐๐ ดิฉันซ่อนไว้ภายใต้เตียง ไม่ได้บอกแก่ใครๆ ขอมารดาของดิฉันจงถือเอาทรัพย์จากที่ซ่อนไว้นั้นเถิด ให้ทานบ้าง เลี้ยงชีวิตบ้าง ครั้นให้ทานแล้ว ขอจงอุทิศส่วนบุญมาให้แก่ดิฉันบ้าง เมื่อนั้นดิฉันก็จะมีความสุข สำเร็จความประสงค์ทั้งปวง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนาวเฏสุ ติตฺเถสุ ความว่า ในถิ่นที่เป็นท่าของแม่น้ำและสระน้ำเป็นต้นที่ใครๆ ไม่หวงห้าม คือในที่ที่พวกมนุษย์อาบและทำกิจด้วยน้ำเช่นนั้น.
               บทว่า วิจินึ อฑฺฒมาสกํ ความว่า ดิฉันถูกความโลภครอบงำ ค้นหาคือแสวงหาได้ทรัพย์เพียงกึ่งมาสก ด้วยคิดว่า ไฉนหนอ เราพึงได้อะไรๆ สักอย่างหนึ่ง ในที่นี้ที่พวกมนุษย์วางลืมไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อนาวเฏสุ ติตฺเถสุ ความว่า เมื่อสมณพราหมณ์อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย โดยความเป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์อันเนื่องด้วยความพยายามของปวงสัตว์ ซึ่งไม่มีใครหวงห้าม โดยการเข้าไปหามีอยู่.
               บทว่า วิจินึ อฑฺฒมาสกํ ความว่า ดิฉันมีจิตถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม จึงไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ จึงเก็บทรัพย์ไว้เป็นพิเศษกึ่งมาสก จึงไม่สั่งสมบุญไว้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ดิฉันจึงไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ตสิตา ได้แก่ ผู้กระหายแล้ว.
               บทว่า ริตฺตกา ความว่า แม่น้ำที่กาพอจะพึงดื่มได้ ไหลไปอยู่ ก็กลับกลายเป็นแม่น้ำว่างเปล่าจากน้ำ มีเพียงทราย เพราะกรรมชั่วของดิฉัน.
               บทว่า อุณฺเหสุ ได้แก่ ในฤดูร้อน.
               บทว่า อาตโป ปริวตฺตติ ความว่า ที่ที่มีร่มเงา เมื่อดิฉันเข้าไป ก็กลับกลายเป็นแดดไป.
               บทว่า อคฺคิวณฺโณ ได้แก่ มีสัมผัสเช่นกับไฟ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า แผดเผาฟุ้งตลบไป ดังนี้เป็นต้น.
               นางเปรตเรียกอุบาสกนั้นด้วยความเคารพว่า ภนฺเต ในบทว่า เอตญฺจ ภนฺเต อรหามิ นี้ อธิบายว่า
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ดิฉันสมควรเสวยทุกข์อันเกิดแต่ความกระหายเป็นต้นตามที่กล่าวแล้วนี้ และทุกข์อย่างอื่นอันลามกทารุณกว่านั้น เพราะดิฉันได้กระทำกรรมชั่วอันเกิดแต่การกระทำนั้น.
               บทว่า วชฺเชสิ แปลว่า พึงกล่าว.
               บทว่า เอตฺถ นิกฺขิตฺตํ อนกฺขาตํ ความว่า ดิฉันไม่ได้บอกว่าทรัพย์มีประมาณเท่านี้ เก็บไว้ในที่นี้. บัดนี้ นางเปรตเมื่อจะแสดงปริมาณของทรัพย์นั้น จึงกล่าวว่า ทรัพย์ ๔๐๐,๐๐๐ ดิฉันได้เก็บซ่อนไว้ภายใต้เตียง ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลฺลงฺกสฺส ได้แก่ บัลลังก์อันเป็นที่นอนของตนในกาลก่อน.
               บทว่า ตโต ความว่า ขอมารดาจงถือเอาทรัพย์ส่วนหนึ่ง จากทรัพย์ที่ดิฉันฝังไว้ แล้วจงให้ทานอุทิศถึงดิฉัน.
               บทว่า ตสฺสา ได้แก่ มารดาของดิฉัน.
               เมื่อนางเปรตนั้นกล่าวอย่างนี้ อุบาสกนั้นรับคำของนางนั้นแล้ว พิจารณากรณียกิจของตนในที่นั้น จึงไปยังหัตถินีนคร แจ้งเรื่องนั้นแก่มารดาของนาง.
               เพื่อจะแสดงเรื่องนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า :-
               อุบาสกนั้นรับคำของนางเปรตนั้นแล้วกลับไปสู่หัตถินีนคร บอกแก่มารดาของนางว่า ข้าพเจ้าเห็นธิดาของท่าน เขาตกทุกข์ เกิดในยมโลก เพราะได้กระทำกรรมชั่วไว้ จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก นางได้สั่งฉันในที่นั้นว่า ท่านไปถึงหัตถินีนครแล้ว จงบอกแก่มารดาของดิฉันด้วยว่า ธิดาของท่านเราเห็นแล้ว ตกทุกข์ เกิดอยู่ในยมโลก เพราะทำกรรมชั่วไว้ จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก
               ทรัพย์ของดิฉันมีอยู่ ๔๐๐,๐๐๐ ดิฉันซ่อนไว้ภายใต้เตียงไม่ได้บอกแก่ใครๆ ขอมารดาของดิฉันจงถือเอาทรัพย์จากที่ซ่อนไว้ นั้นมาให้ทานบ้าง เลี้ยงชีวิตบ้าง ครั้นให้ทานแล้วจงอุทิศส่วนบุญไปให้แก่ดิฉัน เมื่อนั้นดิฉันจักมีความสุข สำเร็จความประสงค์ทั้งปวง.
               ก็มารดาของนางเปรตนั้นถือเอาทรัพย์ที่นางเปรตซ่อนไว้นั้น มาให้ทาน ครั้นแล้วอุทิศส่วนบุญไปให้นางเปรต นางเปรตเป็นผู้มีความสุข แม้มารดาของนางก็เป็นอยู่สบาย.
               คาถาเหล่านั้นรู้ได้ง่ายทีเดียว.
               มารดาของนางได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ อุทิศไปให้นาง. เพราะเหตุนั้น นางตั้งอยู่ในความสมบูรณ์ด้วยเครื่องอุปกรณ์ที่ได้มาแสดงตนแก่มารดา บอกเหตุนั้นให้ทราบ. มารดาแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ จึงทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชนฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาเสรินีเปติวัตถุที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ จูฬวรรคที่ ๓ ๖. เสรินีเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 115อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 116อ่านอรรถกถา 26 / 117อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4186&Z=4223
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=4696
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=4696
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :