ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 103อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 104อ่านอรรถกถา 26 / 105อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒
๗. ธนปาลเปตวัตถุ

               อรรถกถาธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุที่ ๗               
               พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเปรตธนบาล จึงตรัสพระคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า นคฺโค ทุพฺพณฺณรูโปสิ.
               ได้ยินว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ ในนครเอรกัจฉะปัณณรัฐยังมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่าธนปาลกะ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส เป็นคนตระหนี่ เป็นนัตถิกทิฏฐิบุคคล กิริยาของเขาปรากฏตามพระบาลีนั่นแหละ.
               เขาทำกาละแล้วบังเกิดเป็นเปรตในกันตารทะเลทราย เขามีร่างกายประมาณเท่าลำต้นตาล มีผิวหนังปูดขึ้นหยาบ มีผมยุ่งเหยิง น่าสะพึงกลัว มีรูปพรรณน่าเกลียด มีรูปขี้เหร่พิลึก เห็นเข้าน่าสะพึงกลัว เขาไม่ได้เมล็ดข้าวหรือหยาดน้ำตลอด ๕๕ ปี มีคอ ริมฝีปากและลิ้นแห้งผาก ถูกความหิวกระหายครอบงำ เที่ยวงุ่นง่านไปทางโน้นทางนี้.
               ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีโดยลำดับ. พ่อค้าชาวกรุงสาวัตถีบรรทุกสินค้าเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียนไปยังอุตตราปถชนบท ขายสินค้า แล้วเอาเกวียนบรรทุกสินค้าที่ได้กลับมา ในเวลาเย็นถึงแม่น้ำแห้งสายหนึ่ง จึงปลดเกวียนไว้ในที่นั้น พักแรมอยู่ราตรีหนึ่ง.
               ลำดับนั้น เปรตนั้นถูกความกระหายครอบงำมาเพื่อต้องการน้ำดื่ม ไม่ได้น้ำดื่มแม้สักหยาดเดียวในที่นั้น หมดหวัง ขาอ่อนล้มลง เหมือนตาลรากขาดฉะนั้น.
               พวกพ่อค้าเห็นดังนั้นจึงพากันถามด้วยคาถานี้ว่า :-
               ท่านเปลือยกายมีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เห็นกระดูกซี่โครง แน่ะเพื่อนยาก ท่านเป็นใครกันหนอ.
               ลำดับนั้นเปรตตอบว่า :-
               ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเปรตทุกข์ยาก เกิดในยมโลก ทำกรรมชั่วไว้ จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก.
               ครั้นอ้างตนดังนี้แล้ว ถูกพ่อค้าถามถึงกรรมที่เขาทำอีกว่า :-
               ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกายวาจาและใจ เพราะวิบากของกรรมอะไร จึงจากโลกนี้ไปยังเปตโลก.
               เมื่อจะแสดงประวัติของตน ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต เดิมแต่ที่ที่ตนเกิดในกาลก่อน และเมื่อจะให้โอวาทแก่พวกพ่อค้า ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ความว่า :-
               มีพระนครของพระเจ้าทสันนราช๑- ปรากฏนามว่าเอรกัจฉะ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นเศรษฐีอยู่ในพระนครนั้น ประชาชนเรียกข้าพเจ้าว่าธนปาลเศรษฐี ข้าพเจ้ามีเงิน ๘๐ เล่มเกวียน ทองคำ แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ก็มีมากมายเหลือที่จะนับ
               แม้ข้าพเจ้าจะมีทรัพย์มากมายถึงเพียงนั้นก็ไม่รักที่จะให้ทาน ปิดประตูบริโภคอาหาร ด้วยคิดว่า พวกยาจกอย่าได้เห็นเรา ข้าพเจ้าไม่มีศรัทธา เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ได้ด่าพวกยาจกและห้ามปรามมหาชนผู้ให้ทานทำบุญเป็นต้น ด้วยคำว่าผลแห่งทานไม่มี ผลแห่งการสำรวมจักมีแต่ที่ไหน ได้ทำลายสระน้ำบ่อน้ำที่ขุดไว้ สวนดอกไม้ สวนผลไม้ ศาลาน้ำและสะพานในที่เดินลำบากที่เขาปลูกสร้างให้พินาศไป.
               ข้าพเจ้านั้นไม่ได้ทำคุณงามความดีไว้เลย ทำแต่กรรมชั่วไว้ จุติจากชาตินั้นแล้ว เกิดในเปตวิสัย เพียบพร้อมไปด้วยความหิวกระหายตลอด ๕๕ ปี ตั้งแต่ตายแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่ได้กินข้าวและน้ำเลย แม้แต่น้อย.
               การสงวนทรัพย์ คือไม่ให้แก่ใครๆ เป็นความพินาศของสัตว์ทั้งหลาย ความฉิบหายก็คือความสงวนทรัพย์ ได้ยินว่า เปรตทั้งหลายรู้ว่า การสงวนทรัพย์ คือการไม่ให้แก่ใครๆ เป็นความพินาศ.
               เมื่อก่อน ข้าพเจ้าสงวนทรัพย์ไว้ เมื่อทรัพย์มีอยู่เป็นอันมาก ไม่ให้ทาน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ไม่ทำที่พึ่งแก่ตน ข้าพเจ้าได้รับผลแห่งกรรมของตน จึงเดือดร้อนในภายหลัง.
               พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว ข้าพเจ้าจักตาย จักตกนรกอันเผ็ดร้อนสาหัส มี ๔ เหลี่ยม ๔ ประตูจำแนกเป็นห้องๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกนั้นล้วนแล้วด้วยทองแดง ลุกเป็นเปลวเพลิง ประกอบด้วยความร้อน แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ.
               ข้าพเจ้าจักต้องเสวยทุกขเวทนา ในนรกนั้นตลอดกาลนาน ก็การเสวยทุกขเวทนาเช่นนี้ เป็นผลของกรรมชั่ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกที่จะไปเกิดในนรกอันเร่าร้อนนั้น.
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันในที่นี้ พวกท่านอย่าได้ทำกรรมชั่ว ในที่ไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นที่แจ้งหรือที่ลับ
               ถ้าว่าพวกท่านจักกระทำ หรือกำลังทำกรรมชั่วนั้นไว้ แม้พวกท่านจะเหาะหนีไป ในที่ไหนๆ ก็ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์. ขอท่านทั้งหลายจงเลี้ยงมารดา จงเลี้ยงบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะและพราหมณ์ ท่านทั้งหลายจักไปสวรรค์ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้
____________________________
๑- ม. พระเจ้าปัณณราช (ปณฺณานํ)

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสนฺนานํ ได้แก่ พระราชาของรัฐชื่อว่าทสันนา ผู้มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า เอรกจฺฉํ ได้แก่ เป็นชื่อของพระนครนั้น.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในนครนั้น.
               บทว่า ปุเร ได้แก่ ในกาลก่อน คือในอัตภาพอันเป็นอดีต.
               บทว่า ธนปาโลติ มํ วิทู ความว่า พวกชนเรียกเราว่าธนปาลเศรษฐี.
               เปรตเมื่อจะแสดงว่า ขึ้นชื่อว่าทรัพย์เช่นนี้นั้น ย่อมติดตามเป็นประโยชน์แก่เรา ในกาลนั้นนั่นแล จึงกล่าวคาถาว่า อสีติ ดังนี้เป็นต้น.
               มีโยชนาว่า บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสีติ สกฏวาหานํ ความว่า ๒๐ ขาริกะเป็น ๑ วาหะที่ท่านเรียกว่า ๑ เกวียน ข้าพเจ้ามีเงินและกหาปณะ ๘๐ เล่มเกวียน.
               บทว่า ปหูตํ เม ชาตรูปํ เชื่อมความว่า แม้ทองคำก็มีมากมาย คือมีประมาณหลายหาบ.
               บทว่า น เม ทาตุํ ปิยํ อหุ ความว่า ข้าพเจ้าไม่ได้มีความรักที่จะให้ทาน.
               บทว่า มา มํ ยาจนกาทฺทสุํ ความว่า ปิดประตูเรือนบริโภค ด้วยหวังว่า พวกยาจกอย่าได้เห็นเรา.
               บทว่า กทริโย ได้แก่ มีความตระหนี่เหนียวแน่น.
               บทว่า ปริภาสโก ความว่า เห็นเขาให้ทาน ก็ขู่ให้กลัว.
               บทว่า ททนฺตานํ กโรนฺตานํ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ. แปลว่า ผู้ให้ทาน ผู้ทำบุญ.
               บทว่า พหู ชเน แปลว่า ซึ่งสัตว์เป็นอันมาก.
               ข้าพเจ้าห้ามคือป้องกันชนเป็นอันมากผู้เป็นกลุ่มของคนผู้ให้ทาน หรือทำบุญจากบุญกรรม.
               บทว่า วิปาโก นตฺถิ ทานสฺส เป็นต้น เป็นบทแสดงเหตุการห้ามในการให้ทานเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปาโก นตฺถิ ทานสฺส ท่านแสดงว่า ขึ้นชื่อว่าผลแห่งการทำทานไม่มี มีแต่บุญ บุญ อย่างเดียว ฉะนั้น ทรัพย์จึงพินาศไปถ่ายเดียว.
               บทว่า สํยมสฺส แปลว่า การสำรวมศีล.
               บทว่า กุโต ผลํ ความว่า ผลจะได้แต่ที่ไหน, อธิบายว่า การรักษาศีลไม่มีประโยชน์เลย
               บทว่า อารามานิ ความว่า สวนดอกไม้และสวนผลไม้.
               บทว่า ปปาโย ได้แก่ ศาลาน้ำ.
               บทว่า ทุคฺเค ได้แก่ สถานที่ที่ไปลำบาก เพราะมีน้ำและมีโคลน.
               บทว่า สงฺกมนานิ ได้แก่ สะพาน.
               บทว่า ตโต จุโต แปลว่า จุติจากมนุษยโลกนั้น.
               บทว่า ปญฺจปญฺญาส แปลว่า ๕๕ ปี.
               บทว่า ยโต กาลงฺกโต อหํ แก้เป็น ยถา กาลกโต อหํ แปลว่า เหมือนข้าพเจ้าตายไปแล้ว คือตั้งแต่ข้าพเจ้าตายไป.
               บทว่า นาภิชานามิ ความว่า ข้าพเจ้าไม่ได้รู้อะไร ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือน้ำตลอดกาลมีประมาณเท่านี้.
               บทว่า โย สํยโม โส วินาโส ความว่า การสำรวมก็คือการไม่ให้อะไรแก่ใครๆ ด้วยอำนาจความโลภเป็นต้นนั้น ชื่อว่าเป็นความพินาศของสัตว์เหล่านี้ เพราะเปรตที่เกิดในกำเนิดเปรต เป็นเหตุแห่งความวอดวายอย่างใหญ่หลวง.
               ด้วยคำว่า โย วินาโส โส สํยโม นี้ เปรตแสดงว่า ประโยชน์ตามที่กล่าวแล้ว เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน.
               หิ ศัพท์ในคำว่า เปตา หิ กิร ชานนฺติ นี้ เป็นนิบาตใช้ในอวธารณะ,
               กิร ศัพท์เป็นนิบาติ ใช้ในอรุจิสูจนัตถะ.
               ได้ยินว่า พวกเปรตเท่านั้นจึงจะรู้ความนี้ว่า การสงวนคือการไม่บริจาคไทยธรรม เป็นเหตุแห่งความพินาศ เพราะตนถูกความหิวกระหายครอบงำอยู่โดยเห็นได้ชัด ไม่ใช่พวกมนุษย์. ข้อนี้ไม่สมควรเลย เพราะแม้พวกมนุษย์ก็ยังถูกความหิวกระหายเป็นต้นครอบงำปรากฏอยู่เหมือนพวกเปรต. แต่พวกเปรตรู้เรื่องนั้นดีกว่า เพราะกรรมที่ตนทำไว้ในอัตภาพก่อนปรากฏชัด. ด้วยเหตุนั้น เปรตนั้นจึงกล่าวว่า ในชาติก่อน เราสงวนทรัพย์ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํยมิสฺสํ ความว่า แม้ตนเองก็ได้กระทำการสงวน คือการย่นและย่อจากบุญกิริยา มีการให้ทานเป็นต้น.
               บทว่า พหุเก ธเน ได้แก่ เมื่อทรัพย์เป็นอันมากมีอยู่.
               บทว่า ตํ แปลว่า เพราะเหตุนั้น.
               บทว่า โว แปลว่า ท่านทั้งหลาย.
               บาลีที่เหลือว่า ภทฺทํ โว พึงนำมาเชื่อมเข้าด้วยคำว่า กรรมอันเจริญ คือกรรมดี ได้แก่กรรมงาม จงมีแก่พวกท่าน.
               บทว่า ยาวนฺเตตฺถ สมาคตา มีอธิบายว่า พวกท่านมีประมาณเท่าใด คือมีประมาณเพียงใด มาประชุมกันในที่นี้ ทั้งหมดนั้นจงฟังคำของข้าพเจ้า.
               บทว่า อาวี ได้แก่ คำประกาศ โดยปรากฏแก่คนเหล่าอื่น.
               บทว่า รโห ได้แก่ คำลี้ลับ โดยเป็นคำไม่ปรากฏแก่ชนเหล่าอื่น.
               อธิบายว่า ท่านทั้งหลายอย่าทำ คืออย่ากระทำซึ่งกรรมชั่วช้าลามก ได้แก่อกุศลกรรม ในที่แจ้งด้วยอำนาจกายปโยคมีปาณาติปาตเป็นต้น และวจีปโยคมีมุสาวาทเป็นต้น หรือในที่ลับด้วยอำนาจอกุศลกรรมมีอภิชฌาเป็นต้น.
               บทว่า สเจ ตํ ปาปกํ กมฺมํ ความว่า ก็ถ้าพวกท่านจักกระทำกรรมชั่วนั้นในอนาคต หรือกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน. ความหลุดพ้นจากทุกข์อันเป็นผลของกรรมชั่วนั้น ชื่อว่าความหลุดพ้นด้วยอำนาจความเป็นผู้มีอายุน้อยเป็นต้น ในอบาย ๔ มีนรกเป็นต้นและในหมู่มนุษย์ ย่อมไม่มี.
               บทว่า อุปฺปจฺจาปิ ปลายตํ ความว่า แม้เมื่อพวกท่านจะออกไปก็ตามที ก็พ้นไปไม่ได้เลย. บาลีว่า อุเปจฺจ ก็มี.
               อธิบายว่า เมื่อพวกท่าน แม้จงใจคือแกล้ง หนีไปโดยประสงค์ว่า กรรมชั่ว จักติดตามพวกท่านผู้หนีไปทางโน้นทางนี้ ความพ้นจากกรรมชั่วนั้น ย่อมไม่มี แต่เมื่อความประชุมแห่งปัจจัยอื่น มีคติและกาลเป็นต้น ยังมีอยู่ กรรมชั่วนั้น ยังให้ผลได้เหมือนกัน.
               ก็ความนี้ พึงแสดงด้วยคาถานี้ว่า :-
               บุคคลจะอยู่ในอากาศ ในท่ามกลางมหาสมุทร หรือเข้าไปสู่ช่องเขา จะพึงพ้นจากกรรมชั่วไม่มี หรือบุคคลอยู่ในส่วนแห่งภาคพื้นใด พึงพ้นจากกรรมชั่ว ส่วนแห่งภาคพื้นนั้นก็ไม่มี.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มตฺเตยฺยา แปลว่า เกื้อกูลแก่มารดา.
               บทว่า โหถ ความว่า ท่านจงกระทำอุปัฏฐากเป็นต้นแก่มารดาบิดาเหล่านั้น.
               บทว่า เปตฺเตยฺยา ก็พึงทราบอย่างนั้น.
               บทว่า กุเล เชฏฺฐาปจายิกา แปลว่า เป็นผู้กระทำการนอบน้อมแก่ผู้ใหญ่ในตระกูล.
               บทว่า สามญฺญา ได้แก่ เป็นผู้บูชาสมณะ.
               บทว่า พฺรหฺมญฺญา ก็เหมือนกัน. มีอธิบายว่า ผู้บูชาท่านผู้ลอยบาป.
               ด้วยบทว่า เอวํ สคฺคํ คิมสฺสถ นี้มีอธิบายว่า ท่านทั้งหลายกระทำบุญโดยนัยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว จักเข้าถึงเทวโลก.
               ก็ในเรื่องนี้ บทที่ไม่ได้จำแนกไว้โดยอรรถ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในขัลลาฏิยเปติวัตถุเป็นต้นในหนหลัง.
               พวกพานิชเหล่านั้นได้สดับคำของเปรตทั้งหลาย เกิดความสังเวชเมื่อจะอนุเคราะห์เปรตนั้น จึงเอาภาชนะตักน้ำดื่มมา ให้เขานอนลงแล้ว กรอกเข้าทางปาก. แต่นั้นน้ำที่มหาชนลาดลงหลายครั้ง ก็ไม่ไหลลงสู่ลำคอ เพราะพลังแห่งกรรมชั่วของเปรตนั้น. จักกำจัดความกระหายได้ที่ไหนเล่า.
               พ่อค้าเหล่านั้นจึงถามเปรตว่า ท่านได้ความโปร่งใจอะไรบ้างไหม?
               เปรตนั้นตอบว่า ถ้าน้ำที่ชนมีประมาณเพียงนี้กรอกเข้าไปตลอดเวลาเพียงเท่านี้ แม้เพียงสักหยดเดียวก็ไม่เข้าไปในลำคอเรา กลับไหลเข้าลำคอของคนอื่นไปหมด, ความหลุดพ้นไปจากกำเนิดเปรตนี้ จงอย่ามีเลย.
               ลำดับนั้น พ่อค้าเหล่านั้นได้ฟังดังนั้น จึงเกิดความสังเวชยิ่งนัก พากันกล่าวว่า ก็อุบายอะไรๆ เพื่อระงับความกระหายมีบ้างไหม?
               เปรตตอบว่า เมื่อกรรมชั่วนี้สิ้นไป เมื่อพวกญาติถวายทานแต่พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต อุทิศทานให้แก่เรา. เราก็จักพ้นจากความเป็นเปรตนี้ไปได้.
               พวกพ่อค้าได้ฟังดังนั้นจึงพากันไปกรุงสาวัตถี เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลเรื่องนั้น รับสรณคมน์และศีล ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน แล้วอุทิศส่วนบุญแก่เปรตนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ แล้วแสดงธรรมแก่บริษัททั้ง ๔. และมหาชนละมลทินคือความตระหนี่มีโลภะเป็นต้น ได้เป็นผู้ยินดียิ่งในบุญมีทานเป็นต้นฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒ ๗. ธนปาลเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 103อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 104อ่านอรรถกถา 26 / 105อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3568&Z=3614
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=2393
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=2393
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :