ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 5อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 7อ่านอรรถกถา 25 / 8อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ

               พรรณนารัตนสูตร               

               ประโยชน์แห่งบทตั้ง               
               บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความแห่งรัตนสูตรที่ยกขึ้นตั้งในลำดับต่อจากมงคลสูตรนั้น โดยนัยเป็นต้นว่า ยานีธ ภูตานิ. ข้าพเจ้าจักกล่าวประโยชน์แห่งการตั้งรัตนสูตรนั้นไว้ในที่นี้ ต่อจากนั้น เมื่อแสดงการหยั่งลงสู่ความแห่งสูตรนี้ ทางนิทานวจนะอันบริสุทธิ์ดี เหมือนการลงสู่น้ำในแม่น้ำและหนองเป็นต้น ทางท่าน้ำที่หมดจดดี ประกาศนัยนี้ว่า สูตรนี้ ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ไหน กล่าวเพราะเหตุใด แล้วจึงทำการพรรณนาความแห่งรัตนสูตรนี้.
               ในสองสูตรนั้น เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการรักษาตัวเอง และการกำจัดอาสวะทั้งหลายที่มีการทำไม่ดี และการไม่ทำดีเป็นปัจจัยด้วยมงคลสูตร ส่วนสูตรนี้ ให้สำเร็จการรักษาผู้อื่น และการกำจัดอาสวะทั้งหลายที่มีอมนุษย์เป็นต้นเป็นปัจจัย ฉะนั้น สูตรนี้จึงเป็นอันตั้งไว้ในลำดับต่อจากมงคลสูตรนั้นแล
               ประโยชน์แห่งการตั้งรัตนสูตรนั้นไว้ในที่นี้เท่านี้ก่อน

               เรื่องกรุงเวสาลี               
               บัดนี้ ในข้อว่า เยน วุตฺตํ ยทา ยตฺถ ยสฺมา เจตํ นี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ก็สูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด. ขอชี้แจงดังนี้ ความจริงสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวตรัส พระสาวกเป็นต้นหากล่าวไม่. ตรัสเมื่อใด. ตรัสเมื่อกรุงเวสาลีถูกอุปัทวะทั้งหลาย ภัยเป็นต้นเข้าขัดขวาง พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพวกเจ้าลิจฉวีทูลร้อง ขอนำเสด็จมาแต่กรุงราชคฤห์ เมื่อนั้น รัตนสูตรนั้น พระองค์ก็ตรัสเพื่อบำบัดอุปัทวะเหล่านั้นในกรุงเวสาลี.
               การวิสัชนาปัญหาเหล่านั้นโดยสังเขปมีเท่านี้. ส่วนพิสดาร พระโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้นับแต่เรื่องกรุงเวสาลีเป็นต้นไป.
               ดังได้สดับมา พระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระครรภ์. พระนางทรงทราบแล้วก็ได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาก็พระราชทานเครื่องบริหารพระครรภ์. พระนางได้รับบริหารพระครรภ์มาเป็นอย่างดี ก็เสด็จเข้าสู่เรือนประสูติ ในเวลาพระครรภ์แก่. เหล่าท่านผู้มีบุญย่อมออกจากครรภ์ในเวลาใกล้รุ่ง.
               ก็ในบรรดาท่านผู้มีบุญเหล่านั้น พระอัครมเหสีพระองค์นั้นก็เป็นผู้มีบุญพระองค์หนึ่ง ด้วยเหตุนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระนางก็ประสูติชิ้นเนื้อ เสมือนดอกชบามีพื้นกลีบสีแดงดังครั่ง ต่อจากนั้น พระเทวีพระองค์อื่นๆ ก็ประสูติพระโอรสเสมือนรูปทอง, พระอัครมเหสีประสูติชิ้นเนื้อ ดังนั้น พระนางทรงดำริว่า “เสียงติเตียนจะพึงเกิดแก่เรา ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระราชา” เพราะทรงกลัวการติเตียนนั้น จึงทรงสั่งให้ใส่ชิ้นเนื้อนั้นลงในภาชนะใบหนึ่ง เอาภาชนะอีกใบหนึ่งครอบปิดไว้ ประทับตราพระราชลัญจกรแล้ว ให้ลอยไปตามกระแสแม่น้ำคงคา
               พอเจ้าหน้าที่ทั้งหลายทิ้งลงไป เทวดาทั้งหลายก็จัดการอารักขา ทั้งเอายางมหาหิงคุ์จารึกแผ่นทองผูกติดไว้ที่ภาชนะนั้นว่า พระราชโอรสธิดาของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้ากรุงพาราณสี. ต่อนั้น ภาชนะนั้นมิได้ถูกภัยคือคลื่นรบกวน ก็ลอยไปตามกระแสแม่น้ำคงคา.
               สมัยนั้น ดาบสรูปหนึ่งอาศัยครอบครัวของคนเลี้ยงโค อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา. เช้าตรู่ ดาบสรูปนั้นก็ลงสู่แม่น้ำคงคา แลเห็นภาชนะนั้นลอยมา ก็ถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญา ด้วยเข้าใจว่าเป็นของที่เขาทิ้งแล้ว. ต่อนั้น ก็แลเห็นแผ่นจารึกอักษรและตราพระราชลัญจกร ก็แก้ออกเห็นชิ้นเนื้อนั้น ครั้นเห็นแล้ว ดาบสรูปนั้นก็คิดว่า เห็นทีจะเป็นสัตว์เกิดในครรภ์ ดังนั้น จึงไม่เน่าเหม็น ก็นำชิ้นเนื้อนั้นไปยังอาศรม วางไว้ในที่สะอาด.
               ล่วงไปครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อก็แยกเป็น ๒ ชิ้น ดาบสเห็นแล้วก็วางไว้อย่างดี. ต่อจากนั้น ล่วงไปอีกครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อแต่ละชิ้นก็เกิดปมชิ้นละ ๕ สาขาเพื่อเป็นมือ เท้าและศีรษะ ดาบสก็บรรจงวางไว้เป็นอย่างดีอีก. ต่อนั้น อีกครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อชิ้นหนึ่งก็เป็นทารก เสมือนรูปทอง อีกชิ้นหนึ่งก็เป็นทาริกา ดาบสเกิดความรักดังบุตรในทารกทั้งสองนั้น. น้ำนมก็บังเกิดจากหัวนิ้วแม่มือของดาบสนั้น ตั้งแต่นั้นมา ดาบสได้น้ำนมและอาหารมาก็บริโภคอาหาร หยอดน้ำนมในปากของทารกทั้งสอง. สิ่งใดๆ เข้าไปในท้องของทารกนั้น สิ่งนั้นๆ ทั้งหมดก็จะแลเห็นเหมือนเข้าไปในภาชนะทำด้วยแก้วมณี. ทารกทั้งสอง ไม่มีผิวอย่างนี้. แต่อาจารย์พวกอื่นๆกล่าวว่า ผิวของทารกทั้งสองนั้น ใสถึงกันและกัน เหมือนถูกร้อยด้ายวางไว้. ทารกเหล่านั้นจึงปรากฏชื่อว่า ลิจฉวี เพราะไม่มีผิว หรือเพราะมีผิวใส ด้วยประการฉะนี้.
               ดาบสเลี้ยงทารก พอตะวันขึ้นก็เข้าบ้านแสวงหาอาหาร ตอนสายๆ ก็กลับ. คนเลี้ยงโคทั้งหลายรู้ถึงการขวนขวายนั้นของดาบสนั้น ก็กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า การเลี้ยงทารกเป็นกังวลห่วงใยของเหล่านักบวช ขอท่านโปรดให้ทารกแก่พวกเราเถิด พวกเราจะช่วยกันเลี้ยง ขอท่านโปรดทำกิจกรรมของท่านเถิด. ดาบสก็ยอมรับ.
               วันรุ่งขึ้น พวกคนเลี้ยงโคก็ช่วยกันทำหนทางให้เรียบแล้วโรยทราย ยกธง มีดนตรีบรรเลงพากันมายังอาศรม. ดาบสกล่าวว่า ทารกทั้งสองมีบุญมาก พวกท่านจงช่วยกันเลี้ยงให้เจริญวัย ด้วยความไม่ประมาท ครั้นให้เจริญวัยแล้ว จงจัดการอาวาหวิวาหกันและกัน ให้พระราชาทรงยินดีด้วยปัญจโครส จงเลือกหาภูมิประเทศช่วยกันสร้างพระนครขึ้น จงอภิเษกพระกุมารเสีย ณ ที่นั้น แล้วมอบทารกให้. พวกคนเลี้ยงโครับคำแล้วก็นำทารกไปเลี้ยงดู.
               ทารกทั้งสองเจริญเติบโตก็เล่นการเล่น ใช้มือบ้าง เท้าบ้าง ทุบถีบพวกเด็กลูกของคนเลี้ยงโคอื่นๆ ในที่ทะเลาะกัน เด็กลูกคนเลี้ยงโคเหล่านั้นก็ร้องไห้ ถูกมารดาบิดาถามว่าร้องไห้ทำไม ก็บอกว่า เจ้าเด็กไม่มีพ่อแม่ที่ดาบสเลี้ยงเหล่านี้ ข่มเหงเรา. แต่นั้น มารดาบิดาของเด็กเหล่านั้นก็กล่าวว่า ทารกสองคนนี้ชอบข่มเหงให้เด็กอื่นๆ เดือดร้อน จะไม่สงเคราะห์มัน ละเว้นมันเสีย. เขาว่าตั้งแต่นั้นมา ประเทศที่นั้นจึงถูกเรียกว่า วัชชี ขนาด ๓๐๐ โยชน์.
               ครั้งนั้น พวกคนเลี้ยงโคทำพระราชาให้ยินดีแล้ว เลือกเอาประเทศที่นั้น สร้างพระนครลงในประเทศนั้น แล้วอภิเษกพระกุมาร ซึ่งพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ตั้งเป็นพระราชา ได้ทำการวิวาหมงคลกับทาริกาของพระองค์ ได้วางกติกากฎเกณฑ์ ไว้ว่า จะไม่นำทาริกามาจากภายนอก และไม่ให้ทาริกาจากที่นี้แก่ใครๆ. โดยการอยู่ร่วมกันครั้งแรกของพระกุมารกุมารีนั้น ก็เกิดทารกคู่หนึ่ง เป็นธิดา ๑ โอรส ๑ โดยอาการอย่างนี้ ก็เกิดเป็นคู่ๆ ถึง ๑๖ ครั้ง. แต่นั้น เมื่อทารกเหล่านั้นเจริญวัยโดยลำดับ นครนั้นก็ไม่พอที่จะบรรจุอาราม อุทยาน สถานที่อยู่ บริวารและสมบัติ จึงล้อมรอบด้วยประการ ๓ ชั้น ระหว่างคาวุต หนึ่งๆ เพราะนครนั้นถูกขยายกว้างออกบ่อยๆ จึงเกิดนามว่า เวสาลี นี้แล.
               นี้เรื่องกรุงเวสาลี               

               การนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า               
               ก็กรุงเวสาลีนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติ ก็มั่นคงไพบูลย์ ด้วยว่า ในกรุงเวสาลีนั้นมีเจ้าอยู่ถึง ๗,๗๐๗ พระองค์. พระยุพราชเสนาบดีและภัณฑาคาริกเป็นต้นก็เหมือนกัน
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   สมัยนั้นแล กรุงเวสาลีมั่นคงเจริญ มีคนมาก มีคน
                         เกลื่อนกล่น มีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง
                         มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม มี
                         สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ.

               สมัยต่อมา กรุงเวสาลีนั้นเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวกล้าตายนึ่ง. คนยากคนจนตายก่อน เขาทิ้งคนเหล่านั้นไปนอกนคร. พวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตายก็พากันเข้าพระนคร. แต่นั้น ผู้คนก็ตายเพิ่มมากขึ้น. เพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรคก็เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย. ชาวกรุงเวสาลีถูกภัย ๓ อย่าง คือทุพภิกขภัย อมนุสสภัยและโรคภัยเบียดเบียน ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ เกิดภัย ๓ อย่างในพระนครนี้แล้ว พระเจ้าข้า แต่ก่อนนี้ นับได้ ๗ ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชะรอยพระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม บัดนี้ ภัยนั้นจึงเกิดขึ้น. พระราชาทรงประชุมเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ในที่ว่าราชการ ตรัสว่า ขอได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อที่เราไม่ตั้งอยู่ในธรรมเถิด.
               เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นพิจารณาทบทวนถึงประเพณีทุกอย่าง ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไรๆ แต่นั้น ก็ไม่เห็นโทษขององค์พระราชา จึงพากันคิดว่า ภัยนี้ของเรา จะระงับไปได้อย่างไร. ในที่ประชุมนั้น เจ้าลิจฉวีบางพวก อ้างถึงศาสดาทั้ง ๖ ว่า พอศาสดาเหล่านี้ย่างเท้าลงเท่านั้น ภัยก็จะระงับไป.
               บางพวกตรัสว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พอพระองค์ย่างพระบาทลงเท่านั้น ภัยทุกอย่าง ก็จะระงับไป.
               ด้วยเหตุนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นจึงดีพระทัย ตรัสว่า
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่ที่ไหนเล่า พวกเราส่งคนไปเชิญจะไม่เสด็จมาน่ะสิ. เจ้าลิจฉวีอีกพวกหนึ่งตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงเอ็นดูสัตว์ เหตุไร จะไม่เสด็จมาเล่า. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอุปฐากอยู่ เกรงท้าวเธอจะไม่ให้เสด็จมา.
               ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงเข้าพระทัยแล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา แล้วทรงมอบเครื่องบรรณาการเป็นอันมากส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์ พร้อมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ ไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร โดยสั่งว่า ขอท่านทูลพระเจ้าพิมพิสารให้เข้าพระทัย แล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา เจ้าลิจฉวีทั้งสองพระองค์เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วแจ้งให้ทรงทราบเรื่องราวแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังนครของข้าพระองค์ด้วยเถิด.
               พระราชาไม่ทรงรับรอง ตรัสว่า พวกท่านทรงรู้เอาเองเถิด.
               เจ้าลิจฉวีก็ทูลรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภัย ๓ อย่างเกิดขึ้นในนครของข้าพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงเสด็จมาไซร้ ความสวัสดีก็จะพึงมีแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่า เมื่อตรัสรัตนสูตรในกรุงเวสาลี การอารักขาจักแผ่ไปแสนโกฏิจักรวาล จบสูตร สัตว์ ๘๔,๐๐๐ จักตรัสรู้ธรรม แล้วจึงทรงรับนิมนต์. ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว โปรดให้โฆษณาไปในพระนครว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์เสด็จไปกรุงเวสาลีแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรับจะเสด็จไปกรุงเวสาลีหรือ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร. ท้าวเธอทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น โปรดทรงรอจนกว่าจะจัดแจงหนทางถวายนะ พระเจ้าข้า.
               ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงทำพื้นที่ ๕ โยชน์ ระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้ราบเรียบแล้ว ให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาที่จะเสด็จไป พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุ ๕๐๐ รูปแวดล้อมแล้วเสด็จไป พระราชาทรงเอาดอกไม้ ๕ สีโปรยหนทาง ๕ โยชน์เพียงหัวเข่า ให้ยกธงผ้า หม้อน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ทรงทำการบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้นพร้อมด้วยราชบริพารของพระองค์ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารหลังหนึ่งๆ ถวายมหาทาน ทรงนำเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ๕ วัน.
               ณ ที่นี้ ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทางถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.
               เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นตกลงกันว่าจะทำการบูชาเป็นสองเท่า ทำพื้นที่ ๓ โยชน์ระหว่างกรุงเวสาลีและแม่น้ำคงคาให้เรียบร้อย จัดเศวตฉัตร ๔ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับพระภิกษุแต่ละรูปๆ ละ ๒ ชั้น ทำการบูชา เสด็จมาคอยอยู่.
               ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงทำเรือขนาน ๒ ลำแล้วสร้างมณฑป ประดับด้วยพวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น. ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น. แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ลงน้ำประมาณแต่พระศอ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ.
               เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ ได้พากันทำการบูชา. นาคราชทั้งหลายมีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชา. ด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา สิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวี กรุงเวสาลี.
               ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ทำการบูชาเป็น ๒ เท่าที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทำการบูชา ออกไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในน้ำประมาณแค่พระศอ. ขณะนั้นเอง ครู่นั้นเอง มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืด มีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไป ส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศ. ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้นเท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน.
               พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุกๆ หนึ่งโยชน์ ในระหว่างทางถวายมหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพ อันหมู่เทพห้อมล้อมก็เสด็จมาถึง. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนใกล้ประตูพระนครทรงเรียกท่านพระอานนท์มา สั่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ ถือเครื่องประกอบพลีกรรม เที่ยวเดินไประหว่างปราการ ๓ ชั้นแห่งกรุงเวสาลีกับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตร แล้วได้ตรัสรัตนสูตร.
               การวิสัชนาปัญหาเหล่านี้ว่า ก็พระสูตรนี้ ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าวเพราะเหตุใด ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้พิสดาร ตั้งแต่เรื่องกรุงเวสาลีเป็นต้นไปด้วยประการฉะนี้.
               ดังนั้น ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลีนั่นเอง รัตนสูตรนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใกล้ประตูกรุงเวสาลี เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้น ท่านพระอานนท์ก็เรียนเอา เมื่อจะกล่าวเพื่อเป็นปริตร [ป้องกันอุปัทวะ] จึงเอาบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำมา เดินประพรมไปทั่วพระนคร. พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิญฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือนเป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔. ประตูทั้งหลายก็ไม่มีที่ว่าง อมนุษย์บางพวก เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็ทลายกำแพงเมืองหนีไป. พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลายก็พากันออกมาบูชาพระเถระด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้นทุกอย่าง มหาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลางพระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้. ทั้งภิกษุสงฆ์ คณะเจ้าและมนุษย์ทั้งหลายก็นั่ง ณ อาสนะที่เหมาะที่ควร. แม้ท้าวสักกะ จอมทวยเทพก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัท ในเทวโลกทั้งสอง ทั้งเทวดาอื่นๆ ด้วย. แม้ท่านพระอานนทเถระ ก็เที่ยวเดินไปทั่วกรุงเวสาลี ทำอารักขาแล้ว ก็มาพร้อมกับชาวกรุงเวสาลี นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.
               ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสรัตนสูตรนั้นแหละแก่ทุกคนแล.
               ก็มาติกา หัวข้อใด ข้าพเจ้าตั้งไว้ว่า ข้าพเจ้าจักประกาศนัยนี้ว่า รัตนสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด มาติกานั้นเป็นอันข้าพเจ้ากล่าวไว้พิสดารแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยถ้อยคำมีประมาณเท่านี้.

               พรรณนาคาถาว่า ยานีธ               
               บัดนี้จะเริ่มพรรณนาความ เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า จักพรรณนาความแห่งรัตนสูตรนั้น แต่อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระผู้พระภาคเจ้าตรัส ๕ คาถาต้น ที่เหลือท่านพระอานนทเถระกล่าว จะอย่างไรก็ตาม ประโยชน์อะไรของเราด้วยคาถาเล็กน้อย ที่ยังไม่ได้ตรวจตรานี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาความแห่งรัตนสูตรนี้ แม้โดยประการทั้งปวง
               จะพรรณนาคาถาแรกว่า ยานีธ ภูตานิ เป็นต้น. ในคาถาแรกนั้น บทว่า ยานิ ได้แก่ เช่นใด ไม่ว่าจะมีศักดิ์น้อยหรือศักดิ์มาก. บทว่า อิธ แปลว่า ในประเทศนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงสถานที่ประชุมในขณะนั้น.
               ในบทว่า ภูตานิ ภูตศัพท์ ใช้หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างว่า ภูตสฺมึ ปาจิตฺติยํ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะมีจริง.๑-
               ใช้หมายถึง ขันธปัญจก ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ภูตมิทํ ภิกฺขเว สมนุปสฺสถ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพิจารณาเห็นขันธปัญจกนี้.๒-
               ใช้หมายถึง รูป มีปฐวีธาตุเป็นต้น ๔ อย่าง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า จตฺตาโร โข ภิกฺขุ มหาภูตา เหตุ ดูก่อนภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แลเป็นเหตุ.๓-
               ใช้หมายถึง พระขีณาสพ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า โย จ กาลฆโส ภูโต ก็พระขีณาสพใดแล กินกาลเวลา.๔-
               ใช้หมายถึง สรรพสัตว์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า สพฺเพว นิกฺขิปิสฺสนฺติ ภูตา โลเก สมุสฺสยํ สรรพสัตว์จักทอดทิ้งเรือนร่างไว้ในโลก.๕-
               ใช้หมายถึง ต้นไม้เป็นต้น ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ภูตคามปาตพฺยตาย ในเพราะพรากภูตคาม.๖-
               ใช้หมายถึง หมู่สัตว์ภายใต้เทพชั้นจาตุมมหาราช ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ภูตํ ภูตโต สญฺชานาติ จำได้ซึ่งหมู่สัตว์โดยเป็นหมู่สัตว์๗-
               ก็จริง ถึงกระนั้น ภูตศัพท์ พึงทราบว่าใช้ในอรรถว่า อมนุษย์ โดยไม่ต่างกัน.
____________________________
๑- วิ. มหา. ๒/๓๐๕/๒๑๑ ๒- ม. มู. ๑๒/๔๔๕/๔๗๘ ๓- ม. อุ. ๑๔/๑๒๔/๑๐๓
๔- ขุ. ชา. ๒๗/๓๔๐/๙๕ ๕- ที. มหา. ๑๐/๑๔๖/๑๘๑ ๖- วิ. มหา. ๒/๓๕๔/๒๓๓
๗- ม. มู. ๑๒/๒/๒

               บทว่า สมาคตานิ แปลว่า ประชุมแล้ว. บทว่า ภุมฺมามิ ได้แก่ อันบังเกิดที่พื้นดิน.
               ศัพท์ว่า วา ใช้ในความว่า ไม่แน่นอน. ด้วย วา ศัพท์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำวิกัปอันหนึ่งนี้ว่า ยานีธ ภุมฺมานิ วา ภูตานิ สมาคตานิ แล้วตรัสว่า ยานิ ว อนฺตสิกฺเข เพื่อทรงทำวิกัปที่สองอีก.
               ความว่า หรือสัตว์เหล่าใด เป็นแล้วเกิดแล้วในอากาศ สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดมาประชุมแล้วในที่นี้.
               ก็ในข้อนี้ สัตว์ทั้งหลายที่บังเกิดแล้ว เป็นแล้ว ตั้งแต่เทพชั้นยามาจนถึงชั้นอกนิษฐะ พึงทราบว่า เป็นแล้ว [เกิดแล้ว] ในอากาศ เพราะเป็นสัตว์ที่บังเกิดในวิมานอันปรากฎในอากาศ. สัตว์ทั้งหลายภายใต้แต่นั้นตั้งแต่ขุนเขาสิเนรุ จนถึงจำพวกที่สิงอยู่ในต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้น และจำพวกที่บังเกิดแล้วเป็นแล้วที่แผ่นดิน สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด พึงทราบว่าสัตว์เกิดที่พื้นดิน เพราะเป็นสัตว์ที่บังเกิด ณ พื้นดินและ ณ ต้นไม้เถาวัลย์และภูเขาเป็นต้น ที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นดิน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงกำหนดหมู่สัตว์อมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ด้วยสองบทว่า ภุมฺมานิ วา ยานิ ว อนฺตลิกฺเข ทรงกำกับด้วยอีกบทหนึ่ง จึงตรัสว่า สพฺเพว ภูตา สุมนา ภวนฺตุ. บทว่า สพฺเพ ได้แก่ ไม่เหลือเลย. ศัพท์ว่า เอว ลงในอรรถว่าอวธารณะ ห้ามความอื่น. อธิบายว่า ไม่ละเว้นแม้แต่ผู้เดียว. บทว่า ภูตา ได้แก่ พวกอมนุษย์. บทว่า สุมนา ภวนฺตุ ได้แก่ จงเป็นผู้เกิดปีติโสมนัส. คำว่า อโถปิ เป็นนิบาต ทั้งสองคำ ลงในอรรถคือ การยึดพากย์ [ประโยค] เพื่อประกอบไว้ในกิจคือหน้าที่อื่น. บทว่า สกฺกจฺจ สุณนฺตุ ภาสิตํ ได้แก่ ทำให้เป็นประโยชน์ ทำไว้ในใจ รวบรวมโดยใจทั้งหมดแล้วจงฟังเทศนาของเรา อันจะนำมาซึ่งทิพยสมบัติและโลกุตตรสุข.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระบุพวกภูตด้วยพระดำรัสที่ไม่แน่นอนว่า ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ แล้วจึงทรงกำหนดเป็นสองส่วนอีกว่า ภุมมานิ วา ยานิ ว อนฺตลิกฺเข ต่อจากนั้น ก็ตรัสรวมอีกว่า สพฺเพว ภูตา ทรงประกอบสัตว์ไว้ในอาสยสมบัติ ด้วยพระดำรัสนี้ว่า สุมนา ภวนฺตุ ทรงประกอบสัตว์ในประโยคสมบัติ ด้วยพระดำรัส สกฺกจฺจํ สุณนฺตุ ภาสิตํ ทรงประกอบสัตว์ไว้ในสมบัติคือโยนิโสมนสิการ และในสมบัติ คือการโฆษณาจากผู้อื่น ก็เหมือนกัน ทรงประกอบสัตว์ไว้ในสมบัติ คือการตั้งตนไว้ชอบและการเข้าหาสัตบุรุษ และในสมบัติ คือเหตุแห่งสมาธิและปัญญา ก็เหมือนกัน จึงทรงจบพระคาถา.

               พรรณนาคาถาว่า ตสฺมา หิ               
               จะกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า ตสฺมา หิ เป็นต้น. ในคาถานั้น บทว่า ตสฺมา เป็นคำกล่าวเหตุ. บทว่า ภูตา เป็นคำเรียกเชิญ. บทว่า นิสาเมถ ได้แก่ จงฟัง. บทว่า สพฺเพ ได้แก่ ไม่เหลือเลย.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               ท่านอธิบายว่า เพราะเหตุที่ท่านทั้งหลายละทิพยสถานและความพรั่งพร้อมแห่งเครื่องอุปโภคบริโภคในทิพยสถานนั้น มาประชุมในที่นี้ ก็เพื่อฟังธรรม ไม่ใช่เพื่อดูการรำการฟ้อนเป็นต้น ฉะนั้นแล ขอท่านทั้งหลายที่เป็นภูตทั้งหมดโปรดตั้งใจฟัง.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยพระดำรัสว่า สุมนา ภวนฺตุ สกฺกจฺจํ สุณนฺตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ภูตเหล่านั้นมีใจดี และอยากฟัง โดยเคารพจึงตรัสว่า เพราะเหตุที่ท่านทั้งหลาย ประกอบด้วยความเป็นผู้มีใจดี ด้วยอัตตสัมมาปณิธิ โยนิโสมนสิการ และอาสยสุทธิ ด้วยความเป็นผู้อยากฟังโดยเคารพ และด้วยปโยคสุทธิ โดยเป็นปทัฏฐานแห่งการเข้าหาสัตบุรุษและการโฆษณาจากผู้อื่น ฉะนั้นแล ขอภูตทั้งหลายทั้งหมดโปรดตั้งใจฟังเถิด.
               อีกอย่างหนึ่ง คำใด ตรัสว่า ภาสิตํ ท้ายคาถาต้น ทรงอ้างคำนั้นเป็นตัวเหตุ จึงตรัสว่า เพราะเหตุที่ธรรมดาภาษิตของเรา หาได้ยากยิ่ง เพราะขณะที่เว้นจากอขณะทั้งปวง หาได้ยาก และมีอานิสงส์มาก เพราะปฏิบัติด้วยพระคุณมีปัญญาคุณและกรุณาคุณเป็นต้น ทั้งเราก็ประสงค์จะกล่าวภาสิตนั้น จึงได้กล่าวว่า สุณนฺตุ ภาสิตํ ฉะนั้นแล ขอท่านภูตทั้งหลายทุกท่านโปรดตั้งใจฟังเถิด. พระดำรัสนี้เป็นอันทรงอธิบายด้วยบทแห่งคาถานี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงยกเหตุนี้อย่างนี้ ทรงประกอบภูตทั้งหลายไว้ในการตั้งใจฟังภาษิตของพระองค์ จึงทรงเริ่มตรัสภาษิตที่พึงตั้งใจฟังว่า เมตฺตํ กโรถ มานุสิยา ปชาย.
               ภาษิตนั้นมีความว่า ประชาชนชาวมนุษย์นี้ใดถูกอุปัทวะทั้ง ๓ ขัดขวางแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงเข้าไปตั้งเมตตา ความเป็นมิตร ความมีอัธยาศัย เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนคนมนุษย์นั้นเถิด.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า มานุสิกํ คำนั้นไม่ถูก เพราะภูตที่อยู่พื้นดินไม่เกิด. อาจารย์พวกอื่นพรรณนาความแม้อันใด ความแม้อันนั้นก็ไม่ถูก.
               ส่วนในที่นี้มีอธิบายว่า เราไม่กล่าวด้วยกำลังความเป็นใหญ่ว่าเป็นพุทธะ. ก็แต่ว่า สิ่งไรเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกท่าน และแก่ประชาชนคนมนุษย์นี้ เราจะกล่าวสิ่งนั้นว่า เมตฺตํ กโรถ มานุสิยา ปชาย ขอพวกท่านจงทำเมตตาแก่ประชาชนคนมนุษย์เถิด.
               อนึ่ง ในข้อนี้ เมตตาพึงทราบว่า เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ทำเมตตา
               โดยพระสูตรทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ว่า๑-
                                   ราชฤษีเหล่าใดชนะแผ่นดิน ๗ ทวีป ท่องเที่ยว
                         บูชายัญ อัสสเมธะ ปริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ
                         และนิรัคคฬะ ราชฤษีเหล่านั้นไม่ได้เสวย แม้แต่เสี้ยว
                         ที่ ๑๖ แห่งเมตตาจิตที่อบรมดีแล้ว. ถ้าบุคคลมีจิตไม่
                         คิดร้ายสัตว์แม้แต่ตัวเดียว ประพฤติเมตตา ย่อมเป็น
                         ผู้ฉลาดด้วยจิตนั้น อริยชนมีใจเอ็นดูสัตว์มีชีวิตทุกหมู่
                         เหล่า ชื่อว่าประกอบบุญเป็นอันมาก.
ดังนี้.
               และโดยอานิสงส์ ๑๑ ประการ
               เมตตาพึงทราบว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูล แม้แก่สัตว์ทั้งหลายที่เขาทำเมตตา
               โดยพระสูตรเป็นต้นอย่างนี้ว่า๒-
                                   เทวตานุกมฺปิโต โปโส สทา ภทฺรานิ ปสฺสติ.
                         บุคคลอันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ.
____________________________
๑- ขุ. อิติ. ๒๕/๒๐๕/๒๔๕ ๒- ขุ. อิติ. ๒๕/๑๗๓/๒๒๑

               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงว่าเมตตามีประโยชน์เกื้อกูลแก่คนแม้ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้
               จึงตรัสว่า เมตฺตํ กโรถ มานุสิยา ปชาย
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงแม้อุปการะ จึงตรัสว่า
                         ทิวา จ รตฺโต จ หรนฺติ เย พลึ  ตสฺมา หิ เน รกฺขถ อปฺปมตฺตา
               เพราะฉะนั้นแล ขอท่านทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท ช่วยปกปักรักษา
               พวกคนที่นำพลีมาบูชา ทั้งกลางวันทั้งกลางคืนด้วยเถิด.
               ภาษิตนั้นมีความว่า
               มนุษย์เหล่าใดสร้างเทวดาแม้ด้วยภาพเขียนและแกะด้วยไม้เป็นต้น แล้วเข้าไปยังรุกขเจดีย์เป็นต้น ทำพลีกรรมเซ่นสรวงในเวลากลางวันและทำพลีกรรมในเวลากลางคืน วันข้างแรมเป็นต้น อุทิศเทวดาทั้งหลาย หรือถวายสลากภัตตทานเป็นอาทิ ทำพลีกรรมมุ่งถึงอารักขเทวดาจนถึงด้วยการมอบปัตติทานให้ส่วนบุญแก่พรหมและเทวดาทั้งหลาย และทำพลีกรรมในเวลากลางคืน ด้วยการยกฉัตรตามประทีปประดับมาลัย และด้วยจัดให้มีการฟังธรรมตลอดคืนยังรุ่งเป็นต้น
               มนุษย์เหล่านั้น พวกท่านจะไม่พึงอารักขาได้อย่างไร.
               เพราะเหตุที่มนุษย์พวกใดทำพลีกรรมอุทิศพวกท่านทั้งกลางวันทั้งกลางคืน อย่างนี้ ฉะนั้น พวกท่านโปรดรักษามนุษย์พวกนั้นเถิด.
               อธิบายว่า ฉะนั้น พวกท่านจงคุ้มครองรักษามนุษย์พวกนั้น คือเป็นผู้ไม่ประมาท ทำความเป็นผู้กตัญญูนั้นไว้ในดวงใจ ระลึกถึงอยู่เป็นนิตย์ จงนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเขาออกไป จงนำเข้าไปแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล.

               พรรณนาคาถาว่า ยงฺกิญฺจิ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงว่ามนุษย์มีอุปการะในเทวดาทั้งหลายอย่างนี้แล้ว จึงทรงเริ่มประกอบสัจจวจนะ โดยนัยว่า ยงฺกิญฺจิ วิตฺตํ ดังนี้เป็นต้น เพื่อทรงระงับอุปัทวะของมนุษย์เหล่านั้น และเพื่อการฟังธรรมของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยการประกาศคุณของพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               ในสัจจวจนะนั้น บทว่า ยงฺกิญฺจิ ความว่า ท่านยึดถือไม่เหลือเลยโดยไม่กำหนดไว้ คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรทำการแลกเปลี่ยนได้ในถิ่นนั้นๆ . บทว่า วิตฺตํ ได้แก่ทรัพย์. จริงอยู่ทรัพย์นั้น ชื่อว่า วิตตะ เพราะให้เกิดความปลื้มใจ. ทรงแสดงมนุษยโลกด้วยบทว่า อิธ วา. ทรงแสดงโลกที่เหลือ นอกจากมนุษยโลกนั้น ด้วยบทว่า หุรํ วา. ด้วยสองบทนั้น พึงทราบว่ากินความถึงนาคและสุบรรณเป็นต้นที่เหลือ เว้นมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เพราะเมื่อพร้อมที่จะถือเอาโลกทั้งปวง เว้นมนุษย์ทั้งหลาย ก็ได้ตรัสไว้ข้างหน้าว่า สคฺเคสุ วา.
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันใด สำหรับมนุษย์ที่เป็นทรัพย์ใช้แลกเปลี่ยน และที่ใช้เป็นเครื่องประดับเครื่องบริโภคและเครื่องอุปโภค มีทอง เงิน แก้ว มุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วประพาฬ แก้วทับทิมและแก้วลายเป็นต้น และทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันใด สำหรับนาคและครุฑ เป็นต้น ที่อุบัติในภพทั้งหลาย อันกว้างหลายร้อยโยชน์ในวิมานรัตนะ ณ ภาคพื้นดินที่ลาดด้วยทราย แก้วมุกดาและแก้วมณี ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันนั้น ก็เป็นอันแสดงแล้วด้วยบททั้งสองนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สคฺเคสุ วา ได้แก่ เทวโลกที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร. เทวโลกเหล่านั้น ชื่อว่า สัคคะ สวรรค์ เพราะดำเนินไป คือถึงได้ ด้วยกรรมอันงาม.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สัคคะ เพราะมีอารมณ์ดีเลิศ.
               บทว่า ยํ ได้แก่ ที่มีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของอันใด.
               บทว่า รตนํ ได้แก่ ชื่อว่า รัตนะ เพราะนำพาให้เกิดเพิ่มพูนความยินดี.
               คำว่า รัตนะ นี้เป็นชื่อของทุกสิ่งที่ทำให้งดงาม มีค่ามาก ชั่งไม่ได้ เห็นยาก และเป็นของบริโภคใช้สอยของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   จิตฺตีกตํ มหคฺฆญฺจ อตุลํ ทุลฺลภทสฺสนํ
                         อโนมสตฺตปริโภคํ                รตนํ เตน วุจฺจติ.
                                   ของที่ทำให้เขายำเกรง มีค่ามาก ชั่งไม่ได้
                         เห็นได้ยาก เป็นเครื่องใช้สอยของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม
                         ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า รัตนะ.

               บทว่า ปณีตํ ได้แก่ สูงสุด ประเสริฐสุด ไม่น้อยเลย น่าเอิบอาบใจ รัตนะใดในสวรรค์ทั้งหลายตั้งต้นแต่วิมานสุธรรมสภา ไพชยนต์ปราสาทที่เป็นรัตนะล้วนขนาดหลายร้อยโยชน์มีเจ้าของ และรัตนะใดที่เกี่ยวข้องอยู่ในวิมานอันว่างเปล่าในสวรรค์ทั้งหลาย ที่ทำอบายเท่านั้นให้เต็มปรี่ เพราะไม่ใช่สมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ ไม่มีเจ้าของ ก็หรือว่ารัตนะแม้อื่นใด ที่อาศัยอยู่ในพื้นดิน มหาสมุทร และภูเขาหิมวันต์เป็นต้น ไม่มีเจ้าของ รัตนะอื่นนั้น ก็เป็นอันทรงแสดงแล้วด้วยบทแห่งคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ศัพท์ว่า ในบทคาถาว่า น โน สมํ อตฺถิ ตถาคเตน ลงในความปฏิเสธ. ศัพท์ว่า โน ลงในความห้ามความอื่น. บทว่า สมํ ได้แก่ เทียบ. บทว่า อตฺถิ แปลว่า มีอยู่. บทว่า ตถาคเตน ได้แก่ ด้วยพระพุทธเจ้า.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               อธิบายไว้ดังนี้ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจและรัตนะนั้นใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศไว้แล้ว บรรดาทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และรัตนะนั้น รัตนะ แม้แต่สักอย่างหนึ่งซึ่งเสมอด้วยพุทธรัตนะ ไม่มีเลย
               จริงอยู่ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นใด ชื่อว่า รัตนะ เพราะอรรถว่า ทำให้เกิดความยำเกรง ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้นใด คืออะไร คือจักรรัตนะและมณีรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มหาชนจะไม่ทำความเคารพยำเกรงในที่อื่น ใครๆ ถือเอาดอกไม้และของหอมเป็นต้นแล้ว จะไม่ไปสถานของยักษ์หรือสถานของภูต ชนแม้ทุกคน จะทำความเคารพยำเกรง บูชาเฉพาะจักรรัตนะและมณีรัตนะเท่านั้น ปรารถนาพรนั้นๆ และพรบางอย่างที่ปรารถนาแล้วๆ ของเขาก็สำเร็จผลได้ รัตนะแม้นั้น เสมอด้วยพุทธรัตนะ ย่อมไม่มี.
               ก็หากว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่า รัตนะ เพราะอรรถว่า ทำให้เกิดความเคารพยำเกรง พระตถาคตเท่านั้น ก็ชื่อว่า รัตนะ. จริงอยู่ เมื่อพระตถาคตเสด็จอุบัติแล้ว เทวดาแลมนุษย์ผู้มีศักดิ์มากทุกหมู่เหล่า เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมไม่ทำความเคารพยำเกรงในรัตนะอื่น ย่อมไม่บูชารัตนะไรๆ อื่น. จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมก็บูชาพระตถาคตด้วยพวงรัตนะขนาดเท่าภูเขาสิเนรุ และเทวดาเหล่าอื่นและมนุษย์ทั้งหลายมีพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าโกศลและท่านอนาถบิณฑิกะเป็นต้น ก็บูชาตามกำลัง. พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์ ๙๖ โกฏิ ทรงสร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังทั่วชมพูทวีป อุทิศถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว. ก็จะป่วยกล่าวไปไย สำหรับหมู่คนที่เคารพยำเกรงเหล่าอื่นเล่า.
               อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์ไรๆ อื่น แม้ปรินิพพานแล้ว การทำความเคารพยำเกรงอุทิศสถานที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ประกาศพระธรรมจักร และสถานที่ปรินิพพาน หรือเจดีย์ คือพระปฏิมา [พระพุทธรูป] ก็เป็นไปเหมือนของพระผู้มีพระภาคเจ้า. รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่าทำให้เกิดความเคารพยำเกรง ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้.
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นใด ชื่อว่า รัตนะ เพราะอรรถว่า มีค่ามาก ก็เหมือนกัน
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้น คืออะไร. คือผ้าแคว้นกาสี เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผ้าแคว้นกาสีแม้เก่าก็ยังมีสีสรร มีสัมผัสสบาย และมีค่ามาก.๑- ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้น เสมอด้วยพุทธะรัตนะ ย่อมไม่มี. ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่ามีค่ามาก. พระตถาคตเท่านั้น ชื่อว่ารัตนะ.
               จริงอยู่ พระตถาคตทรงรับแม้บังสุกุลจีวรของชนเหล่าใด ทานนั้นของชนเหล่านั้นย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ทั้งนี้ ก็เพราะพระตถาคตนั้นมีค่ามาก.
               ด้วยคำกล่าวถึงข้อที่พระตถาคตทรงมีค่ามากอย่างนี้ พึงทราบบทแห่งพระสูตรที่สาธกความไม่มีโทษในข้อนี้ ดังนี้ว่า๑-
                                   ตถาคตนั้น รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
                         คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด ทานนั้นของ
                         ชนเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เรากล่าว
                         ดังนั้น ก็เพราะพระตถาคตนั้นมีค่ามาก ดูก่อนภิกษุ
                         ทั้งหลายเปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีนั้น มีค่ามาก
                         แม้ฉันใด เราก็กล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปมาฉันนั้น.

               รัตนะเสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่ามีค่ามาก ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- องฺ. ติก. ๒๐/๕๓๙/๓๒๐

               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ แม้นั้นใด ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า ชั่งไม่ได้ ก็เหมือนกัน.
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้นคืออะไร คือจักรรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิมีดุมเป็นมณีอินทนิล มีซี่เป็นรัตนะ ๗,๐๐๐ ซี่ มีกงแก้วประพาฬ มีที่ต่อเป็นทองสีแดง เกิดขึ้นซึ่งซี่กำเกลี้ยงวางบนซี่ทุกสิบซี่ รับลมแล้วจะทำเสียงเป็นเหมือนเสียงดนตรีเครื่อง ๕ ที่ผู้ชำนาญบรรเลงแล้ว ทั้งสองข้างของดุมมีหน้าราชสีห์สองหน้า ข้างในล้อรถมีรู ไม่มีคนทำหรือคนให้ทำ มันตั้งขึ้นแต่อุตุ มีกรรมเป็นปัจจัย ซึ่งพระราชาทรงบำเพ็ญจักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการแล้ว วันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทรงสนานพระเศียรแล้ว ทรงถืออุโบสถ เสด็จขึ้นบนพระมหาปราสาท ทรงชำระศีล ประทับนั่งแล้วจะทอดพระเนตรเห็นจักรรัตนะปรากฎขึ้น เหมือนดวงจันทร์เพ็ญและดวงอาทิตย์ จะทรงได้ยินเสียงมาตั้งแต่ ๑๒ โยชน์ เห็นสีสรรมาแต่ ๓ โยชน์ ซึ่งมหาชนแลเห็นจะพากันแตกตื่นอย่างเหลือเกินว่า ชะรอยดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ เกิดขึ้นแล้ว แล่นมาเหนือพระนคร ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ทางด้านทิศตะวันออก ภายในพระราชนิเวศน์แล้วหยุดอยู่เหมือนเพลาหัก ในที่ที่มหาชนควรบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น.
               หัตถิรัตนะ ช้างแก้วก็เกิดขึ้นติดตามจักรรัตนะนั้นนั่นแล คือช้างเผือกปลอด เท้าแดง มีกำลัง ๗ ช้างสาร มีฤทธิ์ไปทางอากาศได้ มาจากช้างตระกูลอุโบสถก็มี จากตระกูลช้างฉัททันต์ก็มี ถ้ามาจากตระกูลอุโบสถก็เป็นพี่ของช้างทั้งหมด ถ้ามาจากตระกูลฉัททันต์ก็เป็นน้องของช้างทั้งหมด มีการศึกษาที่ศึกษาแล้ว ฝึกมาแล้ว ช้างนั้นพาบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ ตระเวนทั่วชมพูทวีป ไปแล้วกลับมาเอง ก่อนอาหารเช้านั่นแล.
               อัสสรัตนะ ก็เกิดติดตามหัตถิรัตนะแม้นั้นนั่นแล คือม้าขาวปลอด เท้าแดง ศีรษะดังกา มีผมดังหญ้ามุงกระต่าย มาจากตระกูลพระยาม้าพลาหก. ในข้อนี้ คำที่เหลือก็เช่นเดียวกับหัตถิรัตนะนั่นแหละ.
               มณีรัตนะ ก็เกิดติดตามอัสสรัตนะแม้นั้น มณีนั้นเป็นแก้วไพฑูรย์งามโดยธรรมชาติ แปดเหลี่ยม เจียระไนอย่างดี โดยยาวก็เสมือนดุมแห่งจักร มาจากเวปุลลบรรพต มณีนั้น ยามมืดแม้ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ อยู่ถึงยอดธงของพระราชา ก็ส่องแสงสว่างไปตั้งโยชน์ ซึ่งโดยแสงสว่าง พวกมนุษย์สำคัญว่ากลางวันก็ประกอบการงาน มองเห็นโดยที่สุดแม้กระทั่งมดดำมดแดง.
               อิตถีรัตนะ ก็เกิดติดตามมณีรัตนะแม้นั้นแล คือสตรีที่เป็นพระอัครมเหสีโดยปกติ หรือมาจากอุตตรกุรุทวีป หรือจากราชตระกูลมัททราช เว้นจากโทษ ๖ มีสูงเกินไปเป็นต้น ล่วงวรรณะของมนุษย์ แต่ไม่ถึงวรรณะทิพย์ ซึ่งสำหรับพระราชา ก็จะมีกายอุ่นเมื่อยามเย็น จะมีกายเย็นเมื่อยามร้อน มีสัมผัสเหมือนปุยนุ่นที่ชีแล้ว ๗ ครั้ง กลิ่นจันทน์จะโชยออกจากกาย กลิ่นอุบลจะโชยออกจากปาก และเป็นผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเป็นอันมาก มีตื่นก่อนเป็นต้น.
               คหปติรัตนะ ก็เกิดติดตามอิตถีรัตนะแม้นั้นแล ก็คือเศรษฐีผู้ทำการงานโดยปกติของพระราชา ซึ่งพอจักรรัตนะเกิดขึ้น ก็ปรากฎทิพยจักษุเห็นขุมทรัพย์ได้ประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ ทั้งที่ไม่มีเจ้าของ ทั้งที่มีเจ้าของ ก็เข้าเฝ้าพระราชาทูลปรารถนาว่า ข้าแต่เทวราช ขอพระองค์โปรดทรงวางพระราชภาระกิจเถิด ข้าพระบาทจักทำกิจที่ควรทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระองค์เองพระเจ้าข้า.
               ปริณายกรัตนะ ก็เกิดติดตามคหปติรัตนะแม้นั้นแลโดยปกติ ก็คือพระเชษฐราชโอรสของพระราชา พอจักรรัตนะเกิดขึ้น ก็เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาความฉลาดอย่างเหลือเกิน สามารถกำหนดรู้จิตใจของบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ด้วยใจตนแล้ว ทำการนิคหะลงโทษและปัคคหะยกย่อง ปริณายกนั้นก็เข้าเฝ้าพระราชาทูลปรารถนาว่า ข้าแต่เทวราช ขอพระองค์โปรดทรงวางพระราชภาระเถิด ข้าพระบาทจักบริหารราชการแผ่นดินของพระองค์เองพระเจ้าข้า.
               ก็หรือว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้อื่นใด เห็นปานนั้น ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า ชั่งไม่ได้ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันใด ไม่สามารถพินิจพิจารณาตีราคาว่า มีค่าร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง หรือโกฏิหนึ่ง ในทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้น แม้รัตนะสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเสมอด้วยพุทธรัตนะ ไม่มีเลย หากว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าชั่งไม่ได้ พระตถาคตเท่านั้น ชื่อว่ารัตนะ.
               จริงอยู่ พระตถาคต ใครๆ ก็ไม่สามารถพินิจพิจารณาโดยศีล โดยสมาธิหรือโดยบรรดาปัญญาเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วกำหนดว่า ทรงมีพระคุณเท่านี้ ทรงเสมอ หรือเทียบเคียงกับผู้นี้ รัตนะเสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่าชั่งไม่ได้ ไม่มีเลย ด้วยประการฉะนี้.
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นใด ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า เห็นได้ยาก ก็เหมือนกัน.
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนี้ ก็คือความเป็นของปรากฏได้ยาก ได้แก่ พระเจ้าจักรพรรดิ และรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดินั้น รัตนะแม้นั้น ที่เสมอด้วยพุทธรัตนะไม่มี. ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า เห็นได้ยากไซร้ พระตถาคตเท่านั้น ชื่อว่า รัตนะ. ความเป็นรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น จักเห็นได้ยากมาแต่ไหนเล่า.
               จริงอยู่ รัตนะเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นเป็นอันมาก ในกัปเดียวเท่านั้น แต่เพราะเหตุที่โลกต้องว่างเปล่าจากพระตถาคตนับเป็นอสงไขยกัป ฉะนั้น พระตถาคตเท่านั้น ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะเกิดขึ้นบางครั้งบางคราว.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสมัยปรินิพพาน๒- ดังนี้ว่า
                                   ดูก่อนอานนท์ เทวดาทั้งหลายกล่าวโทษว่า พวก
                         เราพากันมาแต่ไกล หมายจะเฝ้าพระตถาคต เพราะ
                         พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลก
                         ในกาลบางครั้งบางคราว วันนี้นี่แหละ ยามท้ายแห่ง
                         ราตรี พระตถาคตก็จักเสด็จปรินิพพาน แต่ภิกษุผู้มี
                         ศักดิ์มากรูปนี้ ยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค
                         เจ้ากีดขวางอยู่ พวกเราไม่ได้โอกาสจะเฝ้าพระตถาคต

____________________________
๒- ที. มหา. ๑๐/ข้อ ๑๓๐

               รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่า เห็นได้ยาก ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นได้ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคใช้สอยของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม ก็เหมือนกัน.
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้น คืออะไร คือรัตนะเป็นต้นของพระเจ้าจักรพรรดิ. จริงอยู่ รัตนะนั้นไม่ใช่บังเกิด เพื่อเป็นเครื่องบริโภค แม้ด้วยความฝัน ของบุรุษต่ำทราม ผู้มีตระกูลต่ำ เช่นคนจัณฑาล ช่างจักสาน พราน ช่างรถ และ คนเทขยะเป็นต้น ซึ่งมีทรัพย์ตั้งแสนโกฏิก็ดี อยู่บนมหาปราสาท ๗ ชั้นก็ดี แต่เป็นเครื่องบริโภคของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม เพราะบังเกิดเพื่อเป็นเครื่องบริโภคของพระราชามหากษัตริย์ ผู้เป็นอุภโตสุชาติ บำเพ็ญจักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการบริบูรณ์ แม้รัตนะนั้นที่เสมอกับพุทธรัตนะ ไม่มีเลย.
               ก็หากว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทรามไซร้ พระตถาคตเท่านั้น ชื่อว่ารัตนะ. จริงอยู่ พระตถาคต มิใช่เป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของครูทั้ง ๖ มีบูรณกัสสปเป็นต้น ซึ่งสมมติกันว่าเป็นสัตว์ต่ำทราม ผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสสัย มีทัสสนะอันวิปริต และของสัตว์เหล่าอื่นเห็นปานนั้น แต่เป็นเครื่องบริโภคของเหล่าท่านผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสสัยผู้สามารถบรรลุพระอรหัต เมื่อจบคาถาแม้ ๔ บท ผู้มีญาณทัสสนะทำลายกิเลส มีท่านพระพาหิยทารุจีริยะเป็นต้น และของพระมหาสาวกทั้งหลายอื่นๆ ผู้เป็นบุตรของตระกูลใหญ่. จริงอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ไม่ต่ำทรามเหล่านั้น เมื่อยังทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ และปาริจริยานุตตริยะเป็นต้นให้สำเร็จ ชื่อว่าบริโภคใช้สอยพระตถาคต. รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม ไม่มีเลยด้วยประการฉะนี้.
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นใดโดยไม่วิเศษชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า ให้เกิดความยินดี
               ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้น คืออะไร คือจักรรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ. จริงอยู่ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเห็นจักรรัตนะแม้นั้นแล้ว ก็ทรงดีพระราชหฤทัย จักรรัตนะนั้นนำความยินดีมาให้แก่พระราชา แม้ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิทรงจับพระสุวรรณภิงคารด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงประพรมด้วยพระหัตถ์ขวา มีพระราชโองการว่า จักรรัตนะจงดำเนินไป จักรรัตนะจงมีชัยชนะ. แต่นั้น จักรรัตนะก็เปล่งเสียงไพเราะดังดนตรีเครื่อง ๕ เหาะไปทิศบูรพา. พระเจ้าจักรพรรดิทรงยกจตุรงคเสนาแผ่กว้างประมาณ ๑๒ โยชน์ติดตามไปด้วยอานุภาพของจักรรัตนะ ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ภาคพื้นดินอย่างต่ำแค่ต้นไม้สูง อย่างสูงแค่ต้นไม้ต่ำ ทรงรับเครื่องบรรณาการจากมือของพวกที่ถือบรรณาการ มีดอกไม้ ผลไม้และหน่อไม้ในต้นไม้เป็นต้นถวาย ฝ่ายพระราชาที่เคยเป็นปฏิปักษ์ ที่มาเฝ้าด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่งว่า ขอเชิญเสด็จมาเถิด พระมหาราชเจ้าก็ทรงอนุศาสน์สั่งสอนโดยนัยว่า ไม่ควรฆ่าสัตว์มีชีวิต ดังนี้เป็นต้น จึงเสด็จไป.
               ก็ในที่ใด พระราชามีพระราชประสงค์จะเสวย หรือประสงค์จะบรรทมกลางวัน ในที่นั้น จักรรัตนะก็จะลงจากอากาศแล้วหยุดอยู่เหมือนเพลาหัก ณ พื้นดินที่ราบเรียบเหมาะแก่กิจทุกอย่าง มีกิจเกี่ยวกับน้ำเป็นต้น เมื่อพระราชาเกิดจิตคิดจะเสด็จไปอีก จักรรัตนะก็กระทำเสียงโดยนัยก่อนนั่นแล จึงแล่นไป. ฝ่ายบริษัท [ขบวนทัพ] ขนาด ๑๒ โยชน์ ได้ยินเสียงนั้นก็พากันเหาะไป. จักรรัตนะลงสู่มหาสมุทรทิศบูรพาโดยลำดับ เมื่อจักรรัตนะนั้นลงสมุทรน้ำก็หดตัวไปประมาณโยชน์หนึ่ง หยุดนิ่งเหมือนทำความจงรักภักดี. มหาชนก็ถือรัตนะทั้ง ๗ ตามความต้องการ พระราชาทรงจับสุวรรณภิงคารอีก ทรงประพรมด้วยน้ำว่า ราชกิจของเราดำเนินตั้งต้นแต่นี้ไป แล้วเสด็จกลับ. กองทัพอยู่ข้างหน้า จักรรัตนะอยู่ข้างหลัง พระราชาอยู่กลาง. น้ำเข้าเต็มที่ตลอดสถานที่จักรรัตนะถอนตัวไป. จักรรัตนะก็ไปในสมุทรด้านทิศทักษิณ ทิศปัศจิม และทิศอุดร โดยอุบายนี้นี่แล.
               จักรรัตนะตระเวนไปตลอด ๔ ทิศอย่างนี้แล้ว ก็ขึ้นสู่อากาศประมาณ ๓๐๐ โยชน์. พระราชาประทับยืนบนจักรรัตนะนั้น ทรงพิชิตชัยชนะด้วยอานุภาพจักรรัตนะ ทรงตรวจดูจักรวาลหนึ่ง ซึ่งประดับด้วยทวีปใหญ่ ๔ ทวีปและทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีป เหมือนสวนบัวบุณฑริกที่บานเต็มที่แล้ว อย่างนี้ คือบุพพวิเทหทวีป ประดับด้วยทวีปน้อย ๕๐๐ ทวีปมีปริมณฑล ๗,๐๐๐ โยชน์ อุตตรกุรุทวีปก็เหมือนกัน มีปริมณฑล ๘,๐๐๐ โยชน์ อปรโคยานทวีปมีปริมณฑล ๗,๐๐๐ โยชน์เหมือนกัน และชมพูทวีปมีปริมณฑล ๑,๐๐๐ โยชน์. พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้นกำลังทรงตรวจดูอย่างนี้ ก็ทรงเกิดความยินดีมิใช่น้อยเลย จักรรัตนะนั้นให้เกิดความยินดีแก่พระราชา แม้ด้วยอาการอย่างนี้. จักรรัตนะแม้นั้นที่เสมอด้วยพุทธรัตนะ หามีไม่.
               ก็หากว่าชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าให้เกิดความยินดีไซร้ พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตนะ จักรรัตนะอย่างเดียวจักทำอะไรได้.
               จริงอยู่ ความยินดีในจักรวรรดิ ที่รัตนะแม้ทุกอย่างมีจักรรัตนะเป็นต้นทำให้เกิด ก็ยังไม่นับไม่เท่าเสี้ยว แม้ส่วนของความยินดีที่เป็นทรัพย์อันใด พระตถาคตทรงทำให้เกิดความยินดีในปฐมฌาน ความยินดีในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ความยินดีในอากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน และเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ความยินดีในโสดาปัตติมรรค ความยินดีในโสดาปัตติผล และสกทามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค และอรหัตผลแก่เทวดาและมนุษย์ นับจำนวนไม่ได้ ผู้รับสนองพระโอวาทของพระองค์. ยิ่งกว่า ประณีตกว่า ความยินดีแม้อันนั้น รัตนะเสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่าให้เกิดความยินดี ไม่มีด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ธรรมดารัตนะนี้มี ๒ อย่าง คือสวิญญาณกรัตนะและอวิญญาณกรัตนะ.
               บรรดารัตนะทั้งสองนั้น อวิญญาณกรัตนะ ได้แก่จักรรัตนะ และมณีรัตนะ ก็หรือรัตนะแม้อื่นใด มีทองและเงินเป็นต้นที่เกี่ยวเนื่องด้วยอนินทรีย์, สวิญญาณกรัตนะ ได้แก่รัตนะมีหัตถิรัตนะเป็นต้นมีปริณายกรัตนะเป็นที่สุด ก็หรือว่ารัตนะแม้อื่นใดเห็นปานนั้น ที่เกี่ยวเนื่องด้วยอินทรีย์. เมื่อเป็นดังนั้น ในรัตนะทั้งสองอย่าง สวิญญาณกรัตนะกล่าวกันว่าเป็นเลิศ ในข้อนี้. เพราะเหตุไร. เพราะเหตุว่า รัตนะมีทอง เงิน แก้วมณี แก้วมุกดาเป็นต้น ถูกนำเข้าไปใช้เป็นเครื่องประดับของหัตถิรัตนะเป็นต้น ที่เป็นสวิญญาณกรัตนะ.
               แม้สวิญญาณกรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือรัตนะที่เป็นสัตว์เดียรฉานและรัตนะที่เป็นมนุษย์.
               บรรดาสวิญญาณกรัตนะ ๒ อย่างนั้น รัตนะที่เป็นมนุษย์กล่าวกันว่าเป็นเลิศ. เพราะเหตุไร. เพราะเหตุว่า รัตนะที่เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ย่อมเป็นพาหนะของรัตนะที่เป็นมนุษย์. แม้มนุสสรัตนะก็มี ๒ อย่างคืออิตถีรัตนะ และปุริสรัตนะ. บรรดามนุสสรัตนะทั้งสองนั้น ปุริสรัตนะกล่าวกันว่าเป็นเลิศ. เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า อิตถีรัตนะต้องเป็นบริจาริกาของปุริสรัตนะ.
               แม้ปุริสรัตนะก็มี ๒ คือ อคาริกรัตนะ และอนคาริกรัตนะ บรรดาปุริสรัตนะทั้ง ๒ นั้น อนคาริกรัตนะ กล่าวกันว่าเป็นเลิศ. เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ในอคาริกรัตนะ แม้พระเจ้าจักรพรรดิเป็นเลิศ ก็ยังไหว้อนคาริกรัตนะ ผู้กอปรด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ บำรุงนั่งใกล้ ประสบสมบัติที่เป็นทิพย์และมนุษย์ บรรลุนิพพานสมบัติในที่สุด
               เมื่อเป็นดังนั้น แม้อนคาริกรัตนะ ก็มี ๒ อย่าง คือ อริยรัตนะ และปุถุชนรัตนะ.
               แม้อริยรัตนะ ก็มี ๒ อย่าง คือเสขรัตนะ และอเสขรัตนะ.
               แม้อเสขรัตนะ ก็มี ๒ อย่าง คือ สุกขวิปัสสกรัตนะ และสมถยานิกรัตนะ.
               แม้สมถยานิกรัตนะ ก็มี ๒ อย่าง คือที่บรรลุสาวกบารมี และไม่บรรลุ.
               บรรดาสมถยานิกรัตนะทั้งสองนั้น สมถยานิกรัตนะที่บรรลุสาวกบารมี กล่าวกันว่าเป็นเลิศ เพราะเหตุไร. เพราะเหตุว่า มีคุณมาก. ปัจเจกพุทธรัตนะ กล่าวกันว่าเป็นเลิศ แม้กว่าสาวกปารมีปัตตรัตนะ. เพราะเหตุไร. เพราะเหตุว่า มีคุณมาก. พระสาวกหลายร้อย แม้เช่นท่านพระสารีบุตร ท่านพระโมคคัลลานะ ก็ไม่ถึงแม้ส่วนร้อยแห่งคุณทั้งหลายของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียว.
               สัมมาสัมพุทธรัตนะ กล่าวกันว่าเป็นเลิศ แม้กว่าปัจเจกพุทธรัตนะ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า มีคุณมาก. ก็หากว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งขัดสมาธิเบียดกันทั่วทั้งชมพูทวีป ก็ไม่เท่า ไม่เท่าเสี้ยว ไม่เท่าส่วนเสี้ยวแห่งพระคุณทั้งหลายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า๓-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเท้าหรือ ฯลฯ
                         พระตถาคตกล่าวกันว่า เป็นเลิศแห่งสัตว์เหล่านั้น
เป็นต้น.
____________________________
๓- องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๔/๔๔; องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๓๒/๓๗; ขุ. อิติ. ๒๕/๒๗๐/๒๙๘

               รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต ไม่มีเลย โดยปริยายบางอย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                         น โน สมํ อตฺถิ ตถาคเตน รัตนะที่เสมอด้วยตถาคตไม่มีเลย.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่พระพุทธรัตนะ อันรัตนะอื่นๆ เปรียบไม่ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อระงับอุปัทวะที่เกิดแก่สัตว์เหล่านั้น ไม่ทรงอาศัยชาติ ไม่ทรงอาศัยโคตร ไม่ทรงอาศัยความเป็นกุลบุตร ไม่ทรงอาศัยความเป็นผู้มีวรรณะงามเป็นต้น หากแต่ทรงอาศัยความที่พระพุทธรัตนะ ไม่มีอะไรเทียบเทียมได้ด้วยคุณทั้งหลาย มีศีลขันธ์และสมาธิขันธ์เป็นต้น ในโลกที่มีอเวจีเป็นต้น มีภวัคคพรหมเป็นที่สุด
               จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
                         อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ

                         แม้อันนี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี
ดังนี้.
               สัจจวจนะนั้นมีความดังนี้ว่า
               ความที่พระพุทธเจ้าไม่มีใครเทียบได้โดยพระคุณทั้งหลายนั้นๆ กับทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนะทุกอย่างที่มีในโลกนี้หรือโลกอื่น หรือในสวรรค์ทั้งหลายแม้อันนี้ ชื่อว่าเป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
               ก็หากว่า ข้อนี้เป็นสัจจะไซร้ เมื่อเป็นดังนั้น ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี ขอความที่สิ่งดีงามทั้งหลายมีอยู่ ความไม่มีโรค ความปราศจากอุปัทวะ จงมีแก่สัตว์เหล่านี้.
               ก็ในข้อนี้ พึงทราบความว่า รัตนะประณีต ได้แก่ ความเป็นรัตนะประณีต คือภาวะที่พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะประณีต เหมือนความที่ว่า เพราะเป็นตน หรือเพราะเนื่องอยู่กับตน ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า๔-
                         จกฺขุํ โข อานนฺท สุญฺญํ อตฺเตน วา อตฺตนิเยน วา

                         ดูก่อนอานนท์ จักษุแลว่างเปล่าจากตน หรือจากสิ่งที่เนื่องอยู่กับตน.

____________________________
๔- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๑๐๒/๖๗

               จริงอยู่ นอกจากนี้ จักษุก็เป็นอันปฏิเสธไม่ได้ว่าตน หรือสิ่งที่เนื่องอยู่กับตนฉะนั้น. แท้จริงโดยประการนอกจากนี้ พระพุทธเจ้าย่อมไม่สำเร็จเป็นรัตนะ ด้วยว่า รัตนะไม่มีอยู่ในสิ่งใด สิ่งนั้นก็ย่อมไม่สำเร็จเป็นรัตนะ. แต่ว่ารัตนะที่เกี่ยวพันโดยวิธีไรๆ ก็ตาม ที่นับว่าเป็นประโยชน์ มีผู้คนทำความเคารพยำเกรงเป็นต้น มีอยู่ในสิ่งใด เพราะเหตุที่สิ่งนั้น ท่านมุ่งหมายเอาความเป็นรัตนะ จึงบัญญัติว่ารัตนะ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสำเร็จว่ารัตนะ เพราะรัตนะนั้นมีอยู่.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ พึงทราบความอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะ โดยประการแม้นี้.
               พอพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถา ความสวัสดีก็เกิดแก่ราชสกุล ภัยก็ระงับไป พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถานี้แล.

               พรรณนาคาถาว่า ขยํ วิราคํ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจวจนะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ จึงทรงเริ่มตรัสว่า ขยํ วิราคํ เป็นต้น.
               ในคำนั้น เพราะเหตุที่กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นหมดสิ้นไป เพราะทำให้แจ้งพระนิพพาน หรือเพราะเหตุที่พระนิพพานนั้น พอกิเลสเหล่านั้นสิ้นไปโดยดับไม่เกิด และเพราะเหตุที่พระนิพพานนั้นไม่ประกอบด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น โดยความประจวบ และโดยอารมณ์ หรือเพราะเหตุที่เมื่อบุคคลทำให้แจ้งพระนิพพานนั้นแล้ว กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นก็คลายออกไปสิ้นเชิง ปราศจากไป ถูกกำจัดไป ฉะนั้น พระนิพพาน ท่านจึงเรียกว่า ขยะ ว่า วิราคะ แต่เพราะเหตุที่พระนิพพานนั้น ความเกิดไม่ปรากฏ ความเสื่อมไม่ปรากฏ ความที่จิตแปรปรวนไม่มี ฉะนั้น พระนิพพานนั้นท่านจึงทำว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย เรียกว่า อมตะ แต่ [ในที่นี้] ท่านเรียกว่า ประณีต เพราะอรรถว่า สูงสุด และเพราะอรรถว่า ไม่อิ่ม.
               บทว่า ยทชฺฌคา ได้แก่ บรรลุ พบ ได้กระทำให้แจ้งด้วยกำลังญาณของตน ซึ่งพระนิพพานนั้น.
               บทว่า สกฺยมุนี ได้แก่ ชื่อว่า ศากยะเพราะทรงเป็นโอรสของสกุลศากยะ ชื่อว่ามุนี เพราะประกอบด้วยโมเนยยธรรม มุนี คือศากยะ ชื่อว่าพระศากยมุนี.
               บทว่า สมาหิโต ได้แก่ ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธิเป็นอริยมรรค.
               บทว่า น เตน ธมฺเมน สมตฺถิ กิญฺจิ ความว่า ธรรมชาติไรๆ ที่เสมอด้วยธรรมที่พระศากยมุนีทรงบรรลุแล้ว มีนามว่า ขยะ เป็นต้นนั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น แม้ในพระสูตรอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้เป็นต้นว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายไม่ว่าเป็นสังขตะหรืออสังขตะ เพียงใด วิราคธรรม ท่านกล่าวว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้น.

____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๔/๔๔

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่นิพพานธรรม อันธรรมอื่นๆ เทียบไม่ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อระงับอุปัทวะที่เกิดแก่สัตว์เหล่านั้น ทรงอาศัยความที่รัตนะ คือนิพพานธรรม ไม่มีธรรมอื่นจะเหมือน ด้วยคุณทั้งหลาย คือความเป็นธรรมเป็นที่สิ้นกิเลส สำรอกกิเลส เป็นอมตธรรมและธรรมอันประณีต
               จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
                         อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ

                         แม้อันนี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
                         ด้วยสัจจวจนะนี้ ขอความสวัสดีจงมี.

               ความของสัจจวจนะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้วในคาถาต้นนั่นแล. พวกอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาล ก็พากันยอมรับพุทธอาชญาแห่งพระคาถาแม้นี้แล.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 5อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 7อ่านอรรถกถา 25 / 8อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=73&Z=154
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=3641
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=3641
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :