ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 4อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 25 / 7อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

หน้าต่างที่ ๒ / ๔.

               แก้อรรถบท เอกํและสมยํ               
               ศัพท์ว่า เอกํ แสดงการกำหนดจำนวน. ศัพท์ว่า สมยํ แสดงกาลที่กำหนด.
               สองคำว่า เอกํ สมยํ แสดงกาลไม่แน่นอน ในคำนั้น สมยศัพท์ มีความว่า พร้อมเพรียง ขณะ กาล ประชุม เหตุลัทธิ ได้เฉพาะ ละ และแทงตลอด
               จริงอย่างนั้น สมยศัพท์นั้น มีความว่า พร้อมเพรียง ได้ในประโยคมีเป็นต้นว่า
                         อปฺเปว นาม เสฺวปิ อุปสงฺกเมยฺยาม กาลญฺจ สมยญฺจ อุปาทาย
                         ถ้ากระไร เราทั้งหลายกำหนดกาลและความพร้อมเพรียง พึงเข้าไปหาแม้ในวันพรุ่งนี้
               มีความว่า ขณะ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         เอโก ว โข ภิกฺขเว ขโณ จ สมโย จ พฺรหฺมจริยวาสาย
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โอกาสและขณะ เพื่อกาลอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ มีอย่างเดียวแล.
               มีความว่า กาล ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         อุณฺหสมโย ปริฬาหสมโย
                         กาลร้อน กาลกระวนกระวาย.
               มีความว่า ประชุม ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         มหาสมโย ปวนสฺมิ
                         การประชุมใหญ่ในป่าใหญ่.
               มีความว่า เหตุ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         สมโยปิ โข เต ภทฺทาลิ อปฺปฏิวิทฺโธ อโหสิ, ภควา โข สาวตฺถิยํ วิหรติ, โสปิ มํ ชานิสฺสติ ภทฺทาลิ นาม ภิกฺขุ สตฺถุสาสเน สิกฺขาย อปริปูรการีติ อยมฺปิ โข เต ภทฺทาลิ สมโย อปฺปฏิวิทฺโธ อโหสิ.
                         ดูก่อนภัททาลิ เธอก็ไม่รู้ตลอดถึงเหตุว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงสาวัตถี แม้พระองค์ก็จักทรงทราบตัวเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำสิกขาให้บริบูรณ์ในคำสอนของของพระศาสดา ดูก่อนภัททาลิ เธอไม่รู้ตลอดถึงเหตุแม้นี้แล.
               มีความว่า ลัทธิ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         เตน โข ปน สมเยน อุคฺคหมาโน ปริพฺพาชโก สมณมุณฺฑิกาปุตฺโต สมยปฺปวาทเก ตินฺทุกาจีเร เอกสาลเก มลฺลิกาย อาราเม ปฏิวสติ.
                         สมัยนั้น ปริพาชกชื่อ อุคคาหมานะ บุตรของนางสมณมุณฑิกา อาศัยอยู่ในอารามของพระนางมัลลิกา ซึ่งมีศาลาหลังเดียว มีต้นมะพลับเรียงรายอยู่รอบ เป็นสถานที่สอนลัทธิ
               มีความว่า ได้เฉพาะ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
               อตฺถาภิสมยา ธีโร                ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ.
                         ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้เฉพาะ
               ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายภาคหน้า.

               มีความว่า ละ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         สมฺมา มานาภิสมยา อนฺตมกาสิ ทุกฺขุสฺส
                         ทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะ ละ มานะได้โดยชอบ.
               มีความว่า แทงตลอด ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         ทุกฺขสฺส ปิฬนฏฺโฐ สงฺขตฏฺโฐ สนฺตาปฏฺโฐ วิปริฌามฏฺโฐ อภิสมยฏฺโฐ
                         มีความว่า บีบคั้นปรุงแต่ง เร่าร้อน แปรปรวน แทงตลอด.

               แต่ในที่นี้ สมยศัพท์นั้น มีความว่า กาล. ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงแสดงว่า เอกํ สมยํ สมัยหนึ่ง บรรดาสมัยทั้งหลาย ที่เรียกว่ากาล เป็นต้นว่า ปี ฤดู เดือน ครึ่งเดือน คืน วัน เช้า กลางวัน เย็น ยามต้น ยามกลาง ยามท้าย และครู่.
               ท่านอธิบายว่า สมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ใด ที่เรียกว่ากาลมีมาก ซึ่งปรากฏอย่างยิ่งในหมู่เทวดาและมนุษย์ เป็นต้นอย่างนี้คือ สมัยเสด็จลงสู่พระครรภ์ สมัยประสูติ สมัยทรงสังเวช สมัยเสด็จออกทรงผนวช สมัยทรงทำทุกกรกิริยา สมัยทรงชนะมาร สมัยตรัสรู้ สมัยประทับอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน สมัยเทศนา สมัยปรินิพพาน
               บรรดาสมัยเหล่านั้น พระเถระแสดงสมัยหนึ่ง กล่าวคือ สมัยเทศนา.
               ท่านอธิบายว่า บรรดาสมัยทรงทำกิจด้วยพระญาณ และทรงทำกิจด้วยพระกรุณา สมัยทรงทำกิจด้วยพระกรุณานี้ใด บรรดาสมัยทรงปฏิบัติเพื่อเพื่อประโยชน์ส่วนผู้อื่นนี้ใด บรรดาสมัยทรงปฏิบัติกรณียกิจทั้งสองแก่บริษัทที่ประชุมกัน สมัยทรงกล่าวธรรมีกถานี้ใด บรรดาสมัยเทศนาและปฏิบัติ สมัยเทศนานี้ใด
               บรรดาสมัยแม้เหล่านั้น พระเถระแสดงว่า เอกํ สมยํ สมัยหนึ่ง หมายเอาสมัยใดสมัยหนึ่ง.
               ในข้อนี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ก็เพราะเหตุไร ในพระสูตรนี้ ท่านจึงทำนิเทศเป็นทุติยาวิภัตติ ไม่ทำเหมือนในอภิธรรม ที่ทำนิเทศเป็นสัตตมีวิภัตติว่า ยสมึ สมเย กามาวจรํ
               และในสุตตบทอื่นนอกจากอภิธรรมนี้ว่า ยสฺมึ สมเย ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิวิจฺเจว กาเมหิ
               และเหมือนในวินัยที่ทำนิเทศเป็นตติยาวิภัตติว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา
               ขอกล่าวชี้แจงดังนี้ เพราะในพระอภิธรรมและพระวินัยนั้น สมยศัพท์มีอรรถเป็นอย่างนั้น ส่วนในพระสูตรนี้มีอรรถเป็นอย่างอื่น. ความจริงบรรดาปิฎกทั้งสามนั้น ในอภิธรรมปิฏก สมยศัพท์มีอรรถว่ากำหนดภาวะ.
               จริงอยู่ อธิกรณะ ก็คือสมัยศัพท์ที่มีความว่า กาล และมีความว่าประชุม และภาวะแห่งธรรมมีผัสสะเป็นต้นนั้นกำหนดได้ ด้วยภาวะแห่งสมัย คือขณะ ความพร้อมเพรียงและเหตุแห่งธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นที่กล่าวแล้วในอภิธรรมปิฎกและสุตตบทอื่นนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำนิเทศเป็นสัตตมีวิภัตติ ในอภิธรรมปิฏกนั้น เพื่อส่องความนั้น.
               ส่วนในวินัยปิฏก สมยศัพท์ มีความว่า เหตุ และมีความว่า กรณะ.
               จริงอยู่ สมัยทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นใด แม้พระเถระมีพระสารีบุตรเป็นต้นยังรู้ได้โดยยาก โดยสมัยนั้นอันเป็นเหตุ และเป็นกรณะ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลาย ก็ทรงเพ่งถึงเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบทจึงประทับอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำนิเทศเป็นตติยาวิภัตติไว้ในวินัยปิฏกนั้น เพื่อส่องความนั้น.
               ส่วนในสูตรนี้ และในปาฐะแห่งสุตตันตปิฏก ซึ่งมีกำเนิดอย่างนี้อื่นๆ สมยศัพท์มีอรรถว่า อัจจันตสังโยค คือทุติยาวิภัตติ ที่แปลว่าตลอด.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสูตรนี้หรือสูตรอื่น ตลอดสมัยใด ก็ประทับอยู่ด้วยพระกรุณาวิหารตลอดไป คือตลอดสมัยนั้น เพราะฉะนั้น สมยศัพท์จึงควรทราบว่า ท่านทำนิเทศเป็นทุติยาวิภัตติไว้ในสูตรนี้ ก็เพื่อส่องความนั้น
               ในข้อนี้ มีคำกล่าวว่า
                         ตํ ตํ อตฺถมเปกิขิตฺวา ภุมฺเมน กรเณน จ
               อญฺญตฺร สมโย วุตฺโต                อุปโยเคน โส อิธ.
                         ท่านพิจารณาอรรถนั้นๆ กล่าวสมยศัพท์ในปิฎกอื่น
               ด้วยสัตตมีวิภัตติและด้วยตติยาวิภัตติ แต่ในสุตตันตปิฏกนี้
               สมยศัพท์นั้น ท่านกล่าวด้วยทุติยาวิภุตติ.

               แก้อรรถบท ภควา               
               คำว่า ภควา นี้เป็นคำเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้วิเศษโดยพระคุณ เป็นยอดของสัตว์ เป็นครูและควรเคารพ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ภควาติ วจนํ เสฏฺฐํ ภควาติ วจนมุตตมํ
               ครุคารวยยุตฺโต โส                ภควา เตน วุจฺจติ.
                         คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐสุด คำว่า ภควา เป็น
               คำสูงสุด พระองค์ทรงเป็นครูและควรแก่ความเคารพ
               ด้วยเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า ภควา.

               ความจริง นามคือชื่อมี ๔ คือ อาวัตถิกะ ชื่อตามรุ่น ลิงคิกะชื่อตามเพศ เนมิตตกะ ชื่อตามคุณ อธิจจสมุปปันนะ ชื่อตั้งลอยๆ. ชื่อว่าอธิจจสมุปปันนนาม ท่านอธิบายว่า เป็นนามที่ตั้งตามความพอใจ.
               ในนามทั้ง ๔ นั้น นามเป็นต้น อย่างนี้ว่า โคลูก โคฝึก โคงาน ชื่อว่าอาวัตถิกนาม. นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า คนมีไม้เท้า [คนแก่] คนมีฉัตร [พระราชา] สัตว์มีหงอน [นกยูง] สัตว์มีงวง [ช้าง] ชื่อว่าลิงคิกนาม. นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้มีวิชชา ๓ ผู้มีอภิญญา ๖ ชื่อว่าเนมิตตกนาม. นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้เจริญด้วยสิริ ผู้เจริญด้วยทรัพย์ ซึ่งเป็นไปไม่เพ่งความของคำ ชื่อว่าอธิจจสมุปปันนนาม.
               ส่วนนามว่า ภควา นี้ เป็นเนมิตตกนามโดยพระคุณ ไม่ใช่พระนางเจ้ามหามายา พุทธมารดาตั้ง ไม่ใช่พระเจ้าสุทโธทนมหาราช พุทธบิดาตั้ง ไม่ใช่พระประยูรญาติ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ตั้ง ไม่ใช่เทวดาพิเศษมีท้าวสักกะ ท้าวสันดุสิตเป็นต้นตั้ง
               เหมือนอย่างที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า พระนามว่า ภควา นี้พระพุทธมารดามิได้ตั้ง ฯลฯ พระนามคือภควา เป็นสัจฉิกาบัญญัติ. เพื่อประกาศพระคุณทั้งหลายที่เป็นคุณเนมิตตกนาม พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถานี้ว่า
                                   ภคี ภชี ภาคี วิภตฺตวา อิติ
                         อกาสิ ภคฺคนฺติ ครูติ ภาคฺยวา
                         พหูหิ ญาเยหิ สุภาวิตตฺตโน
                         ภวนฺตโค โส ภควาติ วุจฺจติ.

                                   พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า ภควา
                         เพราะทรงเป็นผู้มีภคะคือโชค เพราะทรงเป็นผู้เสพ
                         [ที่สงัด] เพราะทรงมีภาค [ส่วนที่ควรได้รับจตุปัจจัย
                         หรือมีส่วนแห่งธรรม] เพราะทรงเป็นผู้จำแนกธรรม
                         เพราะได้ทรงทำการหักบาปธรรม เพราะทรงเป็นครู
                         เพราะทรงมีภาคยะคือบุญ เพราะทรงอบรมพระองค์ดี
                         แล้วด้วยญายธรรมเป็นอันมาก เพราะเป็นผู้ถึงที่สุดภพ.


               ก็ความแห่งพระคุณบทว่า ภควา นั้นพึงเห็นตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในนิเทศเป็นต้นนั่นแล.
               อนึ่ง ปริยายอื่นอีก มีดังนี้
                                   ภาคฺยวา ภคฺควา ยุตฺโต ภเคหิ จ วิภตฺตวา
                         ภตฺตวา วนฺตคมโน                ภเวสุ ภควา ตโต.
                                   พระองค์ทรงมีบุญ ทรงหักกิเลส ทรงประกอบ
                         ด้วยภคธรรม ทรงจำแนกธรรม ทรงเสพธรรม ทรง
                         คายกิเลสเป็นเหตุไปในภพทั้งหลายได้แล้ว เพราะ
                         ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ภควา.

               ในบทเหล่านั้น พึงทราบว่า ท่านถือลักษณะแห่งนิรุตติศาสตร์อย่างนี้ว่า ลงอักษรใหม่ ย้ายอักษร เป็นต้น หรือถือลักษณะการรวมเข้าในชุดศัพท์มี ปิโสทรศัพท์ เป็นต้น ตามนัยแห่งศัพทศาสตร์ เมื่อน่าจะเรียกว่า พระภาคยวา เพราะพระองค์มีภาคยะ คือบุญบารมีมีทานและศีลเป็นต้นอย่างเยี่ยม อันให้เกิดความสุขทั้งโลกิยะและโลกุตระ แต่ก็เรียกเสียว่า ภควา.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่พระองค์ทรงหักรานกิเลส อันทำความกระวนกระวายเร่าร้อนนับแสนประเภท คือประเภทโลภะ โทสะ โมหะ ประเภทวิปริตมนสิการ ประเภทอหิริกะ อโนตตัปปะ ประเภทโกธะ อุปนาหะ ประเภทมักขะ ปลาสะ ประเภทอิสสา มัจฉริยะ ประเภทมายา สาเถยยะ ประเภทถัมภะ สารัมภะ ประเภทมานะ อติมานะ ประเภทมทะ ปมาทะ ประเภทตัณหา อวิชชา. ประเภทอกุศลมูล ๓ ทุจริต ๓ สังกิเลส ๓ มละ ๓ วิสมะ ๓ สัญญา ๓ วิตก ๓ ปปัญจธรรม ๓. ประเภทวิปริเยสะ ๔ อาสวะ ๔ คันถะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔ อคติ ๔ ตัณหุปปาทะ ๔. ประเภทเจโตขีละ ๕ วินิพันธะ ๕ นีวรณะ ๕ อภินันทนะ ๕ ประเภทวิวาทมูล ๖ ตัณหากายะ ๖ ประเภทอนุสัย ๗ ประเภท มิจฉัตตะ ๘ ประเภทตัณหามูลกะ ๙ ประเภทอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประเภท ทิฏฐิคตะ ๖๒ ประเภทตัณหาวิจริต ๑๐๘ หรือว่าโดยสังเขป คือมาร ๕ คือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร และเทวปุตตมาร ฉะนั้น
               เมื่อน่าจะเรียกว่า ภัคควา ก็เรียกเสียว่า ภควา เพราะทรงหักรานอันตรายเหล่านั้นเสียได้ ในข้อนี้ ท่านกล่าวว่าไว้ว่า
                                   ภคฺคราโค ภคฺคโทโส ภคฺคโมโห อนาสโว
                         ภคฺคาสฺส ปาปกา ธมฺมา                ภควา เตน วุจฺจติ
                                   ทรงหักราคะ หักโทสะ หักโมหะ ไม่มีอาสวะ ทรง
                         หักบาปธรรมได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่าภควา.

               ก็แลความถึงพร้อมแห่งพระรูปกายของพระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบุญลักษณะนับร้อย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงมีภาคยะคือบุญ ความถึงพร้อมแห่งพระธรรมกาย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงหักโทสะได้แล้ว. ความเป็นผู้ที่ชาวโลกและคนใกล้เคียงนับถือมากก็ดี ความเป็นผู้ที่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายไปมาหาสู่ก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันช่วยขจัดทุกข์กายและทุกข์ใจแก่ผู้ไปมาหาสู่ก็ดี ความเป็นผู้ทำอุปการะเขาด้วยอามิสทานและธรรมทานก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันประกอบเขาไว้ด้วยโลกิยสุขและโลกุตตรสุขก็ดี เป็นอันท่านแสดงด้วยพระคุณสองอย่างนั้น.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่ ภค ศัพท์ในโลก เป็นไปในธรรม ๖ คือ อิสริยะ ธรรมะ ยสะ สิริ กามะ ปยัตตะ. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีอิสริยะความเป็นใหญ่ในจิตของพระองค์เองอย่างเยี่ยม หรือทรงมีอิสริยะบริบูรณ์โดยอาการทุกอย่างที่สมมติว่าเป็นโลกิยะ มีอณิมา ทำตัวให้เล็ก [ย่อส่วน] ลังฆิมาทำตัวให้เบา [เหาะ] ทรงมีโลกุตรธรรมก็เหมือนกัน ทรงมียศบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ที่ทรงได้โดยพระคุณตามเป็นจริง ปรากฏทั่วสามโลก ทรงมีพระสิริสง่างามทั่วสรรพางค์ บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ทรงสามารถให้เกิดขวัญตาขวัญใจแก่ผู้ขวนขวายเข้าชมพระรูปพระโฉมได้ ทรงมีพระกามะ อันหมายถึงความสำเร็จแห่งประโยชน์ที่ทรงประสงค์ เพราะประโยชน์ใดๆ ที่ทรงประสงค์แล้ว ปรารถนาแล้ว จะเป็นประโยชน์ตนก็ตาม ประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม ประโยชน์นั้นๆ ก็สำเร็จสมพระประสงค์ทั้งนั้น และทรงมีพระปยัตตะ กล่าวคือ สัมมาวายามะ อันเป็นเหตุเกิดความเป็นครูของโลกทั้งปวง ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภควา โดยอรรถนี้ว่าทรงมีภคธรรม เพราะความที่ทรงประกอบด้วยภคธรรมเหล่านี้.

               แก้บท วิภตฺตวา               
               อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็น วิภตฺตวา ท่านอธิบายว่า ทรงจำแนก เปิดเผย แสดง ซึ่งธรรมทั้งปวงโดยประเภทมีประเภทกุศลเป็นต้น หรือซึ่งธรรมมีกุศลธรรมเป็นต้น โดยประเภทมีขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น หรือซึ่งทุกขอริยสัจ โดยอรรถ คือปีฬนะบีบคั้น สังขตะอันปัจจัยปรุงแต่ง สันตาปะแผดเผา วิปริณามะแปรปรวน
               หรือซึ่งสมุทัยอริยสัจ โดยอรรถ คืออายูหนะประมวลทุกข์มา นิทานะเหตุแห่งทุกข์ สังโยคะผูกไว้กับทุกข์ ปลิโพธะหน่วงไว้มิให้ถึงมรรค ซึ่งนิโรธอริยสัจ โดยอรรถคือ นิสสรณะออกไปจากทุกข์ วิเวกะสงัดจากทุกข์ อสังขตะอันปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง อมตะเป็นสภาพไม่ตาย ซึ่งมรรคอริยสัจ โดยอรรถ คือนิยยานิกะ นำออกจากทุกข์ เหตุ เหตุแห่งนิโรธ ทัสสนะเห็นพระนิพพาน อธิปไตยใหญ่ในการเห็นพระนิพพาน ฉะนั้น เมื่อน่าจะเรียก วิภตฺตวา แต่ก็เรียกเสียว่า ภควา.

               แก้บท ภตฺตวา               
               อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงคบ ทรงเสพ ทรงทำให้มากซึ่งธรรมอันเป็นทิพพวิหาร พรหมวิหารและอริยวิหาร ซึ่งกายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และ อนิมิตตวิโมกข์ และซึ่งอุตตริมนุสสธรรมทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระอื่นๆ ฉะนั้น เมื่อน่าที่จะเรียกว่า ภตฺตวา แต่ก็เรียกเสียว่า ภควา

               แก้บท ภเวสุ วนฺตคมน               
               อนึ่งเล่า เพราะเหตุที่การไป กล่าวคือตัณหาในภพทั้ง ๓ อันพระองค์ทรงคายเสียแล้ว ฉะนั้น เมื่อน่าที่จะเรียกว่า ภเวสุ วนฺตคมน แต่ท่านถือภอักษรจากภวศัพท์ อักษรจากคมนศัพท์ และ อักษรจากวันตศัพท์ แล้วทำให้เป็นทีฆะเสียงยาว เรียกเสียว่า ภควา เหมือนในทางโลก เมื่อน่าจะเรียกเต็มๆ ว่า เมหนสฺส ขสฺส มาลา แต่ปราชญ์ท่าน [ถือเอา เม จาก เมหนสฺส ข จาก ขสฺส ลา จากมาลา] ก็เรียกเสียว่า เมขลา ฉะนั้นแล.
               ก็ท่านพระอานนท์เถระเมื่อแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา เล่าเรียนมา จึงประกาศพระสรีรธรรม [ตัวธรรม] ของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประจักษ์ ด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ ในพระสูตรนี้ ด้วยคำเพียงเท่านี้ ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงปลอบชนผู้มีใจพลุ่งพล่าน เพราะไม่พบพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ปาพจน์ [คือธรรมวินัย] นี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงแล้ว หามิได้ ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย.
               ด้วยคำว่า เอกํ สมยํ ภควา พระเถระเมื่อแสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีอยู่ในสมัยนั้น ชื่อว่าแสดงปรินิพพานแห่งพระรูปกาย. ด้วยคำนั้น พระเถระย่อมยังชนผู้มัวเมา เพราะมัวเมาในชีวิตให้สลดใจ และยังอุตสาหะในธรรมให้เกิดแก่ชนนั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นั้น ผู้ทรงแสดงอริยธรรมนี้อย่างนั้น ทรงทศพล มีพระกายดุจร่างเพชร ก็ยังเสด็จปรินิพพาน ในข้อนั้น คนอื่นใครเล่าจะพึงให้เกิดความหวังในชีวิตได้.
               ก็พระเถระเมื่อกล่าวว่า เอวํ ชื่อว่าแสดงเทศนาสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งเทศนา เมื่อกล่าวคำว่า เม สุตํ ชื่อว่าแสดงสาวกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งสาวก. เมื่อกล่าวคำว่า เอกํ สมยํ ชื่อว่าแสดงกาลสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งกาล เมื่อกล่าวคำว่า ภควา ชื่อว่าเทสกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งผู้แสดง.

               แก้บท สาวตฺถิยํ วิหรติ               
               คำว่า สาวตฺถี ในคำว่า สาวตฺถิยํ วิหรติ นี้ ได้แก่นครอันเป็นสถานที่อยู่ประจำของฤษี ชื่อสวัตถะ เหมือนคำว่า กากนฺที มากนนฺที ฉะนั้น ดังนั้น ท่านจึงเรียกว่า สาวัตถี เป็นศัพท์อิตถีลิงค์ [เพศหญิง] ปราชญ์ทางอักษรศาสตร์กล่าวกันอย่างนี้. ส่วนพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า เครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับมนุษย์มีอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างในนครนั้น เหตุนั้น นครนั้นจึงชื่อว่า สาวัตถี. แต่ในการประกอบศัพท์ เมื่อถูกถามว่า มีสิ่งของอะไร จึงอาศัยคำว่ามีทุกอย่าง ประกอบว่า สาวัตถี มีของทุกอย่าง.
                                   เครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง มีพร้อมในกรุงสาวัตถี
                         ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น หมายถึงของทุกอย่างจึงเรียกว่า
                         สาวัตถี.
                                   ราชธานีแห่งแคว้นโกศล น่ารื่นรมย์ น่าชม น่า
                         ชื่นใจ ไม่เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ พรั่งพร้อมด้วยข้าวน้ำ.
                                   กรุงสาวัตถีราชธานี ถึงความเจริญไพบูลย์มั่งคั่ง
                         รุ่งเรือง น่าระรื่นใจ ดังกรุงอาฬกมันทาเทพธานีของ
                         เหล่าทวยเทพ ฉะนั้น.

               ใกล้กรุงสาวัตถีนั้น คำนี้เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่า ใกล้.
               คำว่า วิหรติ นี้ เป็นคำแสดงความพร้อมด้วยวิหารการอยู่ บรรดาอิริยาบถวิหาร ทิพวิหาร พรหมวิหาร และอริยวิหาร แบบใดแบบหนึ่งโดยไม่แปลกกัน, แต่ในพระสูตรนี้ แสดงความประกอบพร้อมด้วยอิริยาบถวิหาร ในบรรดาอิริยาบถต่างโดยยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถหนึ่ง. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนก็ดี ทรงดำเนินก็ดี ประทับนั่งก็ดี บรรทมก็ดี ก็พึงทราบว่า วิหรติ อยู่ทั้งนั้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงตัดความลำบากแห่งอิริยาบถอย่างหนึ่งด้วยอิริยาบถอีกอย่างหนึ่ง [เปลี่ยนอิริยาบถ] ทรงบริหารอัตภาพให้เป็นไปไม่ลำบาก เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า วิหรติ ประทับอยู่.

               แก้อรรถบท เชตวเน               
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า เชตวเน นี้ ดังนี้. พระราชกุมารชื่อว่าเชตะ เพราะชนะชนผู้เป็นศัตรูของตน หรือว่าเชตะ เพราะประสูติ เมื่อพระราชาทรงชนะชนผู้เป็นศัตรู หรือว่า ชื่อว่าเชตะ แม้เพราะพระราชาทรงขนานพระนามอย่างนี้แก่พระราชกุมาร เพราะมีพระราชประสงค์จะให้เป็นมงคล. ที่ชื่อว่าวนะ เพราะให้คบหา อธิบายว่า ให้ทำความภักดีแก่ตน เพราะความถึงพร้อมแห่งตน คือให้เกิดความรักในตน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วนะ เพราะเรียกร้อง อธิบายว่า ประหนึ่งว่า วอนขอสัตว์ทั้งหลายว่า เชิญมาใช้สอยเราเถิด. วนะของเชตราชกุมาร ชื่อว่าเชตวัน. จริงอยู่ เชตวันนั้น อันพระราชกุมารพระนามว่า เชตะ ปลูกสร้างบำรุงรักษา เชตราชกุมารนั้นเป็นเจ้าของเชตวันนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันว่าเชตวัน. ในพระเชตวันนั้น.

               แก้อรรถบท อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม               
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม นี้ ดังนี้.
               คฤหบดีนั้น ชื่อสุทัตตะ โดยบิดามารดาตั้งชื่อให้ อนึ่งท่านได้ให้ก้อนข้าวเป็นทานแก่คนอนาถาเป็นประจำ เพราะท่านเป็นคนปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ และเพราะเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณ มีกรุณาเป็นต้น เหตุท่านเป็นผู้มั่งคั่งด้วยสมบัติที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้รับขนานนามว่า อนาถปิณฑิกะ.
               ประเทศที่ชื่อว่า อาราม เพราะเป็นที่สัตว์ทั้งหลาย หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรพชิตทั้งหลาย พากันมาอภิรมย์ อธิบายว่า บรรพชิตทั้งหลายพากันมาจากที่นั้นๆ ยินดีอภิรมย์อยู่อย่างไม่เบื่อหน่าย เพราะพระเชตวันนั้นงดงามด้วยดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้อ่อนเป็นต้น และเพราะถึงพร้อมด้วยองค์ของเสนาสนะ ๕ ประการ มีไม่ไกลเกินไปไม่ใกล้เกินไปเป็นต้น.
               อีกประการหนึ่ง ชื่อว่า อาราม เพราะนำท่านที่ไปในที่นั้นๆ มาภายในของตนแล้วยินดี เพราะสมบัติดังกล่าวมาแล้ว จริงอยู่ อารามนั้นอันท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีซื้อจากพระหัตถ์ของเชตพระราชกุมาร ด้วยปูเงิน ๑๘ โกฏิ ให้สร้างเสนาสนะเป็นเงิน ๑๘ โกฏิ เสร็จแล้วฉลองวิหารเป็นเงิน ๑๘ โกฏิ มอบถวายพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยบริจาคเงิน ๕๔ โกฏิ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันว่า อารามของท่านอนาถปิณฑิกะ. ในอารามของอนาถปิณฑิกะนั้น.
               ก็ในคำเหล่านั้น คำว่า เชตวเน ระบุถึงเจ้าของคนก่อน คำว่า อนาถปิณฑิกสฺส อาราเม ระบุถึงเจ้าของคนหลัง.
               มีคำทักท้วงว่า ในการระบุถึงพระเชตวันและอารามเหล่านั้น มีประโยชน์อะไร.
               ขอชี้แจงดังนี้ กล่าวโดยอธิการก่อน ประโยชน์ก็คือเป็นการทำการกำหนด [ตอบ] คำถามที่ว่า ตรัสไว้ ณ ที่ไหนอย่างหนึ่ง เป็นการประกอบผู้ที่ต้องการบุญอื่นๆ ไว้ในการถึง [ถือเอา] แบบอย่าง อย่างหนึ่ง จริงอยู่ ในประโยชน์สองอย่างนั้น ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ที่ได้จากการขายที่ดิน ในการปลูกสร้างปราสาทที่มีประตูและซุ้มและต้นไม้ทั้งหลายที่มีค่าหลายโกฏิ เป็นการบริจาคของพระเชตราชกุมาร. ทรัพย์ ๕๔ โกฏิ เป็นการบริจาคของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี. ด้วยการระบุถึงพระเชตวันและอารามนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อแสดงว่าผู้ต้องการบุญย่อมทำบุญทั้งหลายอย่างนี้ ก็ย่อมประกอบผู้ต้องการบุญอื่นๆ ไว้ในการถือเอาเป็นแบบอย่างโดยประการใด. การประกอบผู้ต้องการบุญไว้ในการถือเอาแบบอย่าง ก็พึงทราบว่าเป็นประโยชน์ในข้อนี้โดยประการนั้น.
               ในข้อนี้ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ผิว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้กรุงสาวัตถีก่อน ท่านพระอานนท์ก็ไม่ควรกล่าวว่า ในพระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกะ แต่ถ้าประทับอยู่ในพระเชตวันนั้น ก็ไม่ควรกล่าวว่า ใกล้กรุงสาวัตถี. ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่อาจประทับอยู่ในสถานที่สองแห่งในเวลาเดียวกันได้.
               ขอชี้แจงดังนี้ ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วมิใช่หรือว่า
               คำว่า สาวตฺถิยํ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่าใกล้ เพราะว่า เปรียบเหมือนฝูงโคเที่ยวไปอยู่ใกล้แม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นต้น เขาก็เรียกว่า เที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคา เที่ยวไปใกล้แม่น้ำยมุนาฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกะใกล้กรุงสาวัตถี แม้ในพระสูตรนี้ ก็ฉันนั้น
               จริงอยู่ คำว่า สาวัตถี ของพระเถระ ก็เพื่อแสดงโคจรคาม คำที่เหลือก็เพื่อแสดงสถานที่อยู่ประจำอันเหมาะแก่บรรพชิต
               ในคำทั้งสองนั้น พระเถระแสดงการอนุเคราะห์คฤหัสถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยการระบุกรุงสาวัตถี แสดงการอนุเคราะห์บรรพชิตด้วยการระบุพระเชตวันเป็นต้น. อีกนัยหนึ่ง แสดงการงดเว้นอัตตกิลมถานุโยค เพราะถือเอาปัจจัยด้วยคำต้น แสดงอุบายงดเว้นกามสุขัลลิกานุโยค เพราะละวัตถุกามด้วยคำหลัง.
               อนึ่ง แสดงความพากเพียรในเทศนาด้วยคำต้น แสดงความน้อมไปในวิเวกด้วยคำหลัง แสดงการเข้าไปด้วยกรุณาด้วยคำต้น และแสดงการเข้าไปด้วยปัญญาด้วยคำหลัง. แสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงน้อมไปในอันจะให้สำเร็จหิตสุขแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยคำต้น แสดงความที่ทรงไม่ติดอยู่ในการบำเพ็ญหิตสุขแก่ผู้อื่นด้วยคำหลัง. แสดงความอยู่ผาสุกอันมีการทรงสละสุขที่ประกอบด้วยธรรมเป็นนิมิต ด้วยคำต้น แสดงการอยู่ผาสุกอันมีการประกอบเนืองๆ ซึ่งอุตตริมนุสสธรรมเป็นนิมิต ด้วยคำหลัง แสดงความที่ทรงมีอุปการะมากแก่มนุษย์ทั้งหลาย ด้วยคำต้น. แสดงความที่ทรงมีอุปการะมากแก่เทวดาทั้งหลาย ด้วยคำหลัง. แสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติในโลก เจริญเติบใหญ่ในโลก ด้วยคำต้น แสดงความที่โลกฉาบทาพระองค์ไม่ได้ ด้วยคำหลัง มีอย่างดังกล่าวมานี้เป็นต้น.
               คำว่า อถ ใช้ในอรรถว่าไม่ขาดสาย ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่า แสดงเรื่องอื่นๆ ด้วยสองคำนั้น พระเถระแสดงว่า เรื่องอื่นๆ นี้เกิดขึ้นในพระวิหารของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ขาดสายเลย. เรื่องนั้นคืออะไร.คือเรื่องเทวดาองค์หนึ่งเป็นต้น.
               ศัพท์ว่า อญฺญตรา องค์หนึ่ง ในคำว่า อญฺญตรา เทวดาองค์หนึ่งนั้น แสดงความไม่แน่นอน จริงอยู่ เทวดานั้นไม่ปรากฏนามและโคตร เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อญฺญตรา เทวดาก็คือเทพนั่นแล คำว่า อญฺญตรา นี้ สาธารณะทั่วไปแก่หญิงและชาย แต่ในที่นี้ผู้ชายเท่านั้น คือเทพบุตร. ก็คำอะไรเล่า เทพบุตร ท่านกล่าวว่าเทวดา โดยเป็นสาธารณนาม.

               แก้ อภิกฺกนฺตศัพท์               
               ในคำว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา นี้ อภิกกันตศัพท์ใช้ในความทั้งหลาย มี สิ้นไป ดี งาม ยินดียิ่ง เป็นต้น.
               ในความเหล่านั้น ใช้ในความว่า สิ้นไป ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
               อภิกฺกนฺตา ภนฺเต รตฺติ, นิกฺขนฺโต ปฐโม ยาโม จิรนิสินฺโน ภิกฺขุสงฺโฆ อุทฺทิสตุ ภนฺเต ภควา ภิกฺขูนํ ปาฏิโมกฺขํ
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีสิ้นไปแล้ว ปฐมยามล่วงไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งนานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิดพระเจ้าข้า.

               ใช้ในความว่า ดี ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         อยํ อิเมสํ จตุนฺนํ ปุคฺคลานํ อภิกฺกนฺตตโร จ ปณีตตโร จ
                         นี้ดีกว่า ประณีตกว่า บุคคล ๔ จำพวกนี้.

               ใช้ในความว่า งาม ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         โก เม วนฺทติ ปาทานิ อิทฺธิยา ยสสา ชลํ
               อภิกนฺเตน วณฺเณน                สพฺพา โอภาสยํ ทิสา.
                         ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ด้วยยศ มีวรรณะงาม
               ส่องรัศมีสว่างทั่วทิศ มาไหว้เท้าเรา.

               ใช้ในความว่า ยินดียิ่ง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม
                         ไพเราะจริง ท่านพระโคดม ไพเราะจริง ท่านพระโคดม.

               แต่ในพระสูตรนี้ ใช้ในความว่า สิ้นไป
               ท่านอธิบายว่า บทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา แปลว่า เมื่อราตรีสิ้นไปแล้ว.
               ในคำว่า อภิกกนฺตวณฺณา นี้ อภิกกันตศัพท์ในความว่า งาม. วัณณศัพท์ ใช้ในความว่า ผิว สรรเสริญ พวกตระกูล เหตุ ทรวดทรง ขนาด รูปายตนะ เป็นต้น.
               ใช้ในความว่า ผิว ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         สุวณฺณวณฺโณ ภควา
                         พระผู้มีพระภาคเจ้ามี พระฉวี ดังทอง.

               ใช้ในความว่า สรรเสริญ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี คำสรรเสริญพระสมณโคดมเหล่านี้ ท่านรวบรวมไว้เมื่อไร.
               ใช้ในความว่า พวกตระกูล ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ท่านพระโคดม วรรณะ ๔ เหล่านี้.
               ใช้ในความว่า เหตุ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เกน นุ วณฺเณน คนฺธเถโนติ วุจฺจติ
                         เพราะเหตุอะไรเล่าหนอ จึงมาว่า เราเป็นผู้ขโมยกลิ่น.

               ใช้ในความว่า ทรวดทรง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         มหนฺตํ หตฺถีราชวณฺณํ อภินิมฺมิตฺวา
                         เนรมิตทรวดทรงเป็นพระยาช้าง.

               ใช้ในความว่า ขนาด ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         ตโย ปตฺตสฺส วณฺณา
                         ขนาดของบาตรสามขนาด.

               ใช้ในความว่า รูปายตนะ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         วณฺโณ คนฺโธ รโส โอชา
                         รูป กลิ่น รส โอชา.

               วัณณศัพท์นั้นในสูตรนี้ พึงเห็นว่าใช้ความว่า ผิว
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า บทว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา แปลว่า มีวรรณะน่ารัก.

               แก้อรรถบท เกวลกปฺปํ               
               เกวลศัพท์ในบทว่า เกวลกปฺปํ นี้ มีความหมายเป็นอเนก เช่น ไม่มีส่วนเหลือ โดยมาก ไม่ปน [ล้วนๆ] ไม่มากเกิน มั่นคง ไม่เกาะเกี่ยว
               จริงอย่างนั้น เกวลศัพท์นั้นมีความว่าไม่มีส่วนเหลือ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ
                         พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีส่วนเหลือ.

               มีความว่า โดยมาก ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เกวลกปฺปา จ องฺคมคธา ปหูตํ ขาทนียํ โภชนียํ อาทาย อุปสงฺกมิสฺสนฺติ
                         ชาวอังคะและชาวมคธะ ส่วนมาก ถือของเคี้ยว ของกิน เข้าไปเฝ้า.

               มีความว่า ไม่ปน [ล้วนๆ] ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
                         ความเกิดแห่งทุกขขันธ์ ล้วนๆ มีอยู่.

               มีความว่า ไม่มากเกิน ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เกวลํ สทฺธามตฺตกํ นูน อยมายสฺมา
                         ท่านผู้นี้มีเพียงศรัทธาอย่างเดียว แน่แท้.

               มีความว่า มั่นคง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         อายสฺมโต ภนฺเต อนุรุทฺธสฺส พาหิโย นาม สทฺธิวิหาริโก เกวลกปฺปํ สงฺฆเภทาย ฐิโต
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัทธิวิหาริกของท่านพระอนุรุทธะ ชื่อว่าพาหิยะ ตั้งอยู่ในสังฆเภท การทำสงฆ์ให้แตกกัน ตลอดกัป มั่นคง.

               มีความว่า ไม่เกาะเกี่ยว ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เกวลี วุสิตฺวา อุตฺตมปุริโสติ วุจฺจติ
                         ผู้ไม่เกาะเกี่ยวอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ท่านเรียกว่าบุรุษสูงสุด.

               แต่ในสูตรนี้ เกวลศัพท์นั้น ท่านประสงค์เอาความว่า ไม่มีส่วนเหลือ.
               ส่วนกัปปศัพท์ มีความหมายมากเป็นต้นว่า ความเชื่อมั่น โวหารกาล บัญญัติ ตัดแต่ง วิกัปป์ เลิศ และโดยรอบ.
               จริงอย่างนั้น กัปปศัพท์นั้น มีความว่า เชื่อมั่น ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         โอกปฺปนียเมตํ โภโต โคตมสฺส ยถา ตํ อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
                         นั่นเป็นความเชื่อมั่นต่อท่านพระโคดม เหมือนอย่างเชื่อมั่น ต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

               มีความว่า โวหาร ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         อนุชานามิ ภิกฺขเว ปญฺจหิ สมณกปฺเปหิ ผลํ ปริภุญฺชิตุํ
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฉันผลไม้ด้วยสมณโวหาร ๕ ประการ.

               มีความว่า กาล ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เยน สุทํ นิจฺจกปฺปํ วิหรามิ
                         ได้ยินว่า เราจะอยู่ตลอดกาล เป็นนิตย์ ด้วยธรรมใด.

               มีความว่า บัญญัติ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         อิจฺจายสฺมา กปฺโป
                         ท่านกัปปะ อย่างนี้.

               มีความว่า ตัดแต่ง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         อลงฺกโต กปฺปิตเกสมสฺสุ
                         แต่งตัว แต่งผมและหนวด.

               มีความว่า ควร ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         กปฺปติ ทฺวงฺคุลกปฺโป
                         ภิกษุไว้ผมสององคุลีย่อมควร.

               มีความว่า เลศ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         อตฺถิ กปฺโป นิปชฺชิตุํ
                         ทำเลศเพื่อจะนอนมีอยู่.

               มีความว่า โดยรอบ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เกวลกปฺปํ เวฬุวนํ โอภาเสตฺวา
                         ส่องรัศมี รอบๆ พระเวฬุวัน.

               แต่ในสูตรนี้ กัปปศัพท์นั้น ท่านประสงค์เอาความว่า โดยรอบ โดยประการที่ในคำว่า
                         เกวลกปฺปํ เชตวนํ นี้ ควรจะทราบความอย่างนี้ว่า
                         ส่องรัศมีตลอดพระเชตวัน โดยรอบไม่เหลือเลย.
               บทว่า โอภาเสตฺวา ได้แก่ แผ่ด้วยรัศมี. อธิบายว่า ทำรัศมีเป็นอันเดียวกัน รุ่งโรจน์อย่างเดียวกัน เหมือนพระจันทร์และเหมือนพระอาทิตย์.
               คำว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ โดยประการที่พึงเห็นความในคำนี้ อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด เทพบุตรก็เข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น หรือพึงเห็นความในคำนี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทวดาและมนุษย์พึงเข้าไปเฝ้า โดยเหตุใด เทพบุตรก็เข้าไปเฝ้าโดยเหตุนั้นนั่นแหละ.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทวดาและมนุษย์พากันเข้าไปเฝ้า ด้วยเหตุอะไร.
               ด้วยประสงค์จะบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ออกผลอยู่เป็นนิจ อันฝูงนกพากันเข้าไป ก็ด้วยประสงค์จะบริโภคผลไม้ซึ่งมีรสอร่อย ฉะนั้น.
               ท่านอธิบายว่า บทว่า อุปสงฺกมิ แปลว่า ไปแล้ว. คำว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นคำกล่าวถึงสุดท้ายแห่งการเข้าไปเฝ้า. อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า เทวดาไปอย่างนั้นแล้ว ต่อนั้นก็ไปยังสถานที่ต่อจากอาสนะ กล่าวคือที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า. บทว่า ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา ได้แก่ ถวายบังคม น้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ เป็นศัพท์นิเทศทำเป็น ภาวนุปํสกลิงค์ ท่านอธิบายว่า โอกาสหนึ่ง ส่วนข้างหนึ่ง. อีกนัยหนึ่ง คำนี้เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ. ศัพท์ว่า อฏฺฐาสิ ปฏิเสธอิริยาบถนั่งเป็นต้น อธิบายว่า สำเร็จการยืน คือได้ยืนแล้ว.
               ถามว่า ก็เทวดานั้นยืนอย่างไร จึงชื่อว่าได้เป็นผู้ยืนอยู่ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ตอบว่า ท่านโปราณาจารย์กล่าวว่า
                         น ปจฺฉโต น ปุรโต นาปิ อาสนฺนทูรโต
               น กจฺเฉ โนปิ ปฏิวาเต                น จาปิ โอณตุณฺณเต
               อิเม โทเส วิวชฺเชตวา                เอกมนฺตํ ฐิตา อหุ.
                         ไม่ยืนข้างหลัง ไม่ยืนข้างหน้า ไม่ยืนใกล้และ
               ไกล ไม่ยืนที่ชื้นแฉะ ไม่ยืนเหนือลม ไม่ยืนที่ต่ำและ
               ที่สูง ยืนเว้นโทษเหล่านี้ ชื่อว่ายืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ดังนี้.

               ถามว่า เพราะเหตุไร เทวดาองค์นี้ จึงยืนอย่างเดียว ไม่นั่ง
               ตอบว่า เพราะเทวดาประสงค์จะกลับเร็ว.
               จริงอยู่ เทวดาทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์บางอย่าง จึงมาสู่มนุษย์โลก เหมือนบุรุษผู้สะอาด มาเข้าส้วม. ก็โดยปกติ มนุษยโลกย่อมเป็นของปฏิกูล เพราะเป็นของเหม็นสำหรับเทวดาเหล่านั้น นับแต่ร้อยโยชน์ เทวดาทั้งหลายไม่อภิรมย์ในมนุษยโลกนั้นเลย ด้วยเหตุนั้น เทวดาองค์นั้นจึงไม่นั่ง เพราะประสงค์จะทำกิจที่มาแล้วรีบกลับไป. ก็มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมนั่งก็เพื่อบรรเทาความลำบากแห่งอิริยาบถมีเดินเป็นต้นอันใด ความลำบากอันนั้นสำหรับเทวดาไม่มี เพราะฉะนั้น เทวดาจึงไม่นั่ง.
               อนึ่ง พระมหาสาวกเหล่าใด ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนับถือตอบพระมหาสาวกเหล่านั้น [คือประทับยืน] แม้เพราะเหตุนั้น เทวดาจึงไม่นั่ง.
               อนึ่ง เทวดาไม่นั่ง ก็เพราะเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า. จริงอยู่ ที่นั่งย่อมบังเกิดแก่เทวดาทั้งหลายผู้ประสงค์จะนั่ง เทวดาองค์นี้ไม่ปรารถนาที่นั่งนั้น ไม่คิดแม้แต่จะนั่ง จึงได้ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               บทว่า เอกมนฺตํ ฐิตา โข สา เทวตา ความว่า เทวดาองค์นั้น ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ด้วยเหตุเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว. บทว่า ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ ความว่า ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำร้อยกรองอันกำหนดด้วยอักขระบท. ว่าอย่างไร. ว่าอย่างนี้ พหู เทวา มนุสฺสา จ ฯปฯ พฺรูหิ มงฺคลมุตฺตมํ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 4อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 25 / 7อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=41&Z=72
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=2022
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=2022
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :