ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 34อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 35อ่านอรรถกถา 25 / 36อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕

หน้าต่างที่ ๑๒ / ๑๒.

               ๑๒. เรื่องสุมนสามเณร [๒๖๓]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในบุพพาราม ทรงปรารภสุมนสามเณร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย หเว" เป็นต้น.

               บุรพกรรมของพระอนุรุทธะ               
               อนุปุพพีกถาในเรื่องนั้น ดังต่อไปนี้ :-
               ความพิสดารว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตระ กุลบุตรผู้หนึ่ง เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ ในท่ามกลางบริษัท ๔ ปรารถนาสมบัตินั้น จึงนิมนต์พระศาสดา ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขสิ้น ๗ วัน
               แล้วตั้งความปรารถนาว่า "พระเจ้าข้า แม้ข้าพระองค์พึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต."
               พระศาสดาทรงตรวจดูสิ้นแสนกัลป์ ทรงทราบความสำเร็จแห่งความปรารถนาของเขาแล้ว จึงทรงพยากรณ์ว่า "ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ เธอจักเป็นผู้ชื่อว่าอนุรุทธเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ทิพยจักษุ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม."
               เขาฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว สำคัญสมบัตินั้นดุจว่าอันตนบรรลุในวันพรุ่งนี้, เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว จึงถามการบริกรรมเพื่ออันได้ทิพยจักษุกะพวกภิกษุ ให้ทำโคมต้นหลายพันต้น ล้อมพระสถูปทองอัน (สูงใหญ่ได้) ๗ โยชน์ แล้วให้ทำการบูชาด้วยประทีป จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเทวโลกท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษย์โลกสิ้นแสนกัลป์
               ในกัลป์นี้ เกิดในตระกูลของคนเข็ญใจ ในกรุงพาราณสี อาศัยสุมนเศรษฐี เป็นคนขนหญ้าของเศรษฐีนั้นเลี้ยงชีพแล้ว. เขาได้มีชื่อว่า "อันนภาระ." แม้สุมนเศรษฐีก็ถวายมหาทาน ในพระนครนั้น ตลอดกาลเป็นนิตย์.
               ภายหลังวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธะนามว่าอุปริฏฐะ ออกจากนิโรธสมาบัติที่เขาคันธมาทน์แล้ว คิดว่า "วันนี้ เราจักทำความอนุเคราะห์แก่ใครหนอแล?" ทราบว่า "วันนี้ การที่เราทำความอนุเคราะห์แก่บุรุษชื่ออันนภาระ ควร, ก็บัดนี้ เขาขนหญ้าจากดงแล้วจักมาเรือน" ดังนี้แล้ว จึงถือบาตรและจีวรไปด้วยฤทธิ์ ปรากฏเฉพาะหน้าของอันนภาระ.
               อันนภาระเห็นท่านมีบาตรเปล่าในมือแล้ว ถามว่า "ท่านขอรับ ท่านได้ภิกษาบ้างแล้วหรือ?" เมื่อท่านตอบว่า "เราจักได้ละ ท่านผู้มีบุญมาก" จึงเรียนว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรอหน่อยเถิด" ดังนี้แล้ว ก็ทิ้งหาบหญ้าไว้ ไปสู่เรือนโดยเร็ว
               ถามภรรยาว่า "นางผู้เจริญ ภัตส่วนที่หล่อนเก็บไว้เพื่อฉันมีหรือไม่?" เมื่อนางตอบว่า "มีอยู่ นาย" จึงกลับมาโดยเร็ว รับบาตรของพระปัจเจกพุทธะไปสู่เรือน ด้วยคิดว่า "เมื่อความที่เราเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะให้ มีอยู่ ไทยธรรมไม่มี, เมื่อไทยธรรมมี เราไม่ได้ปฏิคาหก แต่วันนี้ปฏิคาหกเราก็พบแล้ว และไทยธรรมของเราก็มีอยู่, เป็นลาภของเราหนอ" ให้เทภัตลงในบาตร แล้วนำกลับมาตั้งไว้ในมือพระปัจเจกพุทธะ
               แล้วตั้งความปรารถนาว่า :-
                         ก็ด้วยทานอันนี้ ความเป็นผู้ขัดสน อย่าได้มีแล้วแก่ข้าพเจ้า,
                         ชื่อว่าคำว่า ไม่มี อย่ามีแล้วในภพน้อยภพใหญ่.
                         ท่านเจ้าข้า ขอข้าพเจ้าพึงพ้นจากการเลี้ยงชีพอันฝืดเคือง
                         เห็นปานนี้, ไม่พึงได้ฟังบทว่า ‘ไม่มี’ เลย.
               พระปัจเจกพุทธะกระทำอนุโมทนาว่า "ขอความปรารถนาของท่าน จงเป็นอย่างนั้นเถิด ท่านผู้มีบุญมาก" ดังนี้แล้ว ก็หลีกไป.
               เทพดาผู้สิงอยู่ในฉัตรแม้ของสุมนเศรษฐี กล่าวว่า :-
                         น่าชื่นใจจริง ทานเป็นทานเยี่ยม อันนภาระ
                         ตั้งไว้ดีแล้วในพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.
               ดังนี้แล้ว ก็ได้ให้สาธุการสามครั้ง.
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะเทพดานั้นว่า "ท่านไม่เห็นเราผู้ถวายทานอยู่สิ้นกาลประมาณเท่านี้หรือ?"
               เทพดา. ข้าพเจ้าปรารภทานของท่านแล้วให้สาธุการก็หาไม่, แต่สาธุการนี่ ข้าพเจ้าให้เป็นไปแล้ว ก็เพราะความเลื่อมใสในบิณฑบาต ที่อันนภาระถวายแล้วแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.
               เศรษฐีนั้นคิดว่า "น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ, เราถวายทานสิ้นกาลเท่านี้ ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้เทพดาให้สาธุการได้, อันนภาระอาศัยเราเป็นอยู่ ยังให้เทพดาสาธุการด้วยบิณฑบาตหนเดียวเท่านั้นได้, เราจักทำสิ่งอันสมควรกันในทานของเขา แล้วทำบิณฑบาตนั้นให้เป็นของๆ เราเสีย" ดังนี้แล้ว จึงให้เรียกเขามาถามว่า "วันนี้ เจ้าได้ให้อะไรแก่ใครบ้าง?"
               อันนภาระ. นายขอรับ, วันนี้ กระผมถวายภัตตาหารแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.
               เศรษฐี. เอาเถอะ พ่อ เจ้าจงถือเอากหาปณะ แล้วให้บิณฑบาตนั่นแก่ฉันเถิด.
               อันนภาระ. ให้ไม่ได้ดอกนาย.
               เศรษฐีนั้นขึ้นราคาให้จนถึงพัน. ฝ่ายอันนภาระนี้ ก็มิได้ให้แม้ด้วยทรัพย์ตั้งพัน.
               ลำดับนั้น เศรษฐีกล่าวกะเขาว่า "ผู้เจริญ ข้อนั้นจงยกไว้เถิด ถ้าเจ้าไม่ให้บิณฑบาต จงถือเอาทรัพย์พันหนึ่ง แล้วให้ส่วนบุญแก่ฉันเถิด."
               เขากล่าวว่า "กระผมปรึกษากับพระผู้เป็นเจ้าดูแล้ว จักรู้ได้" รีบไปทันพระปัจเจกพุทธะแล้วเรียนถามว่า "ท่านผู้เจริญ สุมนเศรษฐีให้ทรัพย์พันหนึ่ง แล้วขอส่วนบุญในบิณฑบาตของท่าน, กระผมจะทำอย่างไร?"
               ทีนั้น ท่านนำข้อความมาเปรียบเทียบแก่เขาว่า "แม้ฉันใด ท่านผู้เป็นบัณฑิต ประทีปในเรือนหลังหนึ่งในบ้าน ๑๐๐ ตระกูล พึงลุกโพลงขึ้น, พวกชนที่เหลือเอาน้ำมันของตนชุบไส้แล้วพึงไปจุดไฟดวงอื่นแล้วถือเอา แสงสว่างของประทีปดวงเดิม อันบุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘มี’ หรือว่า ‘ไม่มี.’
               อันนภาระ. แสงสว่างย่อมมีมากกว่า ขอรับ.
               พระปัจเจกพุทธะ. ฉันนั้นนั่นแล ท่านผู้เป็นบัณฑิต จะเป็นข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือภิกษาทัพพีหนึ่งก็ตาม, เมื่อบุคคลให้ส่วนบุญในบิณฑบาตของตนแก่ผู้อื่นอยู่, ให้แก่คนไปเท่าใด บุญเท่านั้นย่อมเจริญ, ก็ท่านได้ให้บิณฑบาตส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่เศรษฐี บิณฑบาตชื่อว่าเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของท่าน ส่วนหนึ่งเป็นของเศรษฐี.
               เขารับว่า "ดีละ ท่านผู้เจริญ" แล้ว ไหว้พระปัจเจกพุทธะนั้น แล้วไปสู่สำนักของเศรษฐี กล่าวว่า "นาย ขอท่านจงรับเอาส่วนบุญเถิด."
               เศรษฐี. ถ้ากระนั้น พ่อจงรับเอากหาปณะเหล่านี้ไป.
               อันนภาระ. กระผมไม่ได้ขายบิณฑบาต กระผมให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา.
               เศรษฐีกล่าวว่า "เจ้าให้ด้วยศรัทธา ถึงเราก็บูชาคุณของเจ้าด้วยศรัทธา จงรับเอาไปเถิดพ่อ. อนึ่ง จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้ทำการงานด้วยมือของตน จงปลูกเรือนอยู่ริมถนนเถิด และจงถือเอาวัตถุทุกอย่างที่เจ้าต้องการ จากสำนักของฉัน."
               ก็บิณฑบาตที่บุคคลถวายแก่ท่านผู้ออกจากนิโรธ ย่อมให้ผลในวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้พระราชาทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้เรียกอันนภาระมาแล้ว ทรงรับส่วนบุญ พระราชทานโภคะมากมาย แล้วรับสั่งให้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีแก่เขา.

               ประวัติพระอนุรุทธะ               
               อันนภาระนั้นเป็นสหายของสุมนเศรษฐี ทำบุญทั้งหลายตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในตำหนักของเจ้าศากยะ พระนามว่าอมิโตทนะ ในพระนครกบิลพัสดุ์. พระประยูรญาติทั้งหลายทรงขนานพระนามแก่พระกุมารนั้นว่า "อนุรุทธะ." พระกุมารนั้นเป็นพระกนิษฐภาดาของเจ้ามหานามศากยะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าอาของพระศาสดา ได้เป็นผู้สุขุมาลชาติอย่างยิ่ง มีบุญมาก
               ได้ยินว่า วันหนึ่ง เมื่อกษัตริย์หกพระองค์เล่นขลุบเอาขนมทำคะแนนกัน, เจ้าอนุรุทธะแพ้ จึงส่งข่าวไปยังสำนักของพระมารดาเพื่อต้องการขนม. พระมารดานั้นเอาภาชนะทองคำใบใหญ่บรรจุให้เต็มแล้ว ส่งขนม (ให้). เจ้าอนุรุทธะเสวยขนมแล้ว ทรงเล่นแพ้อีก ก็ส่งข่าวไปอย่างนั้นเหมือนกัน.
               เมื่อคนนำขนมมาอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง, ในครั้งที่ ๔ พระมารดาส่งข่าวไปว่า "บัดนี้ ขนมไม่มี" เจ้าอนุรุทธะทรงสดับคำของพระมารดานั้นแล้ว ทำความสำคัญว่า "ขนมที่ชื่อว่าไม่มี จักมีในบัดนี้" เพราะความที่บทว่า "ไม่มี" เป็นบทที่ตนไม่เคยสดับแล้ว จึงทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า "เจ้าจงไป จงนำขนมไม่มีมา."
               ครั้งนั้น พระมารดาของพระกุมารนั้น เมื่อคนรับใช้ทูลว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า นัยว่า ขอพระแม่เจ้าจงให้ขนมไม่มี" จึงทรงดำริว่า "บทว่า ‘ไม่มี’ อันบุตรของเราไม่เคยฟังมาแล้ว เราพึงให้เขารู้ความที่ขนมไม่มีนั้น อย่างไรได้หนอแล?" จึงทรงล้างถาดทองคำปิดด้วยถาดทองคำใบอื่น ส่งไปว่า "เอาเถิด พ่อ เจ้าจงให้ถาดทองคำนี้แก่บุตรของเรา."
               ขณะนั้น เทพดาทั้งหลายผู้รักษาพระนครคิดว่า "เจ้าอนุรุทธะผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ถวายภัตอันเป็นส่วน (ของตน) แก่พระปัจเจกพุทธะนามว่าอุปริฏฐะ แล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า ‘เราไม่พึงได้ฟังบทว่า ไม่มี’ ในกาลแห่งตนเป็นคนขนหญ้าชื่ออันนภาระ. หากว่า เราทราบความนั้นแล้ว พึงเฉยเสียไซร้ แม้ศีรษะของเราพึงแตกออก ๗ เสี่ยง" จึงบรรจุถาดให้เต็มด้วยขนมทิพย์ทั้งหลายแล้ว.
               บุรุษนั้นนำถาดมาวางไว้ในสำนักของเจ้าศากยะเหล่านั้น แล้วเปิดออก. กลิ่นของขนมทิพย์เหล่านั้นแผ่ซ่านไปทั่วพระนคร. ก็เมื่อขนมพอสักว่าอันเจ้าศากยะเหล่านั้น ทรงวางไว้ในพระโอษฐ์ กลิ่นนั้นได้แผ่ไปสู่เส้นสำหรับรสตั้ง ๗ พันตั้งอยู่แล้ว.
               เจ้าอนุรุทธะทรงดำริว่า "ในกาลก่อนแต่นี้ พระมารดาเห็นจะไม่ทรงรักเรา เพราะในกาลอื่น พระองค์ท่านไม่เคยทอดขนมไม่มีแก่เรา." พระกุมารนั้นไปแล้ว ทูลกะพระมารดาอย่างนี้ว่า "ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันไม่เป็นที่รักของพระองค์หรือ?"
               มารดา. พ่อ พูดอะไร? เจ้าเป็นที่รักยิ่งของแม่ แม้กว่านัยน์ตาทั้งสอง แม้กว่าเนื้อในหทัย.
               อนุรุทธะ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าหม่อมฉันเป็นที่รักของพระองค์ไซร้. เพราะเหตุอะไร? ในกาลก่อน พระองค์จึงไม่ได้ประทานขนมไม่มีเห็นปานนี้แก่หม่อมฉัน.
               พระนางตรัสถามบุรุษนั้นว่า "พ่อ อะไรได้มีในถาดหรือ?"
               บุรุษนั้นทูลว่า "มี พระแม่เจ้า, ถาดเต็มเปี่ยมด้วยขนมทั้งหลาย, ขนมเห็นปานนี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น."
               พระนางดำริว่า "บุตรของเราได้ทำบุญไว้แล้ว, ขนมทิพย์จักเป็นของอันเทพดาทั้งหลายส่งไปให้บุตรของเรา."
               แม้เจ้าอนุรุทธะก็ทูลกะพระมารดาว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า ขนมเห็นปานนี้ หม่อมฉันไม่เคยกินเลย จำเดิมแต่นี้ พระองค์พึงทอดเฉพาะขนมไม่มีเท่านั้นแก่หม่อมฉัน."
               จำเดิมแต่นั้น พระนางทรงล้างถาดทองคำแล้ว ปิดด้วยถาดใบอื่น ส่งไป (ให้) ในเวลาเจ้าอนุรุทธะทูลว่า "หม่อมฉันมีประสงค์จะบริโภคขนม." เทพดาทั้งหลายย่อมยังถาดให้เต็ม (ด้วยขนม). พระกุมารนั้น เมื่ออยู่ในท่ามกลางวัง มิได้ทราบเนื้อความแห่งบทว่า "ไม่มี" ด้วยอาการอย่างนี้ เสวยแต่ขนมทิพย์ทั้งนั้น.
               ก็เมื่อโอรสของเจ้าศากยะผนวชตามลำดับตระกูล เพื่อเป็นบริวารของพระศาสดา เมื่อเจ้ามหานามศากยะตรัสว่า "พ่อ ในตระกูลของพวกเรา ใครๆ ซึ่งบวชแล้วไม่มี เธอหรือฉันควรจะบวช." เจ้าอนุรุทธะตรัสว่า "หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ไม่สามารถจะบวชได้."
               เจ้ามหานาม. ถ้ากระนั้น เธอจงเรียนการงานเสีย. ฉันจักบวช.
               เจ้าอนุรุทธะ. ชื่อว่าการงานนี้ เป็นอย่างไร?
               จริงอยู่ เจ้าอนุรุทธะย่อมไม่ทราบแม้ที่เกิดขึ้นแห่งภัต, จักทราบการงานได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น.
               ก็วันหนึ่ง เจ้าศากยะสามพระองค์ คือ อนุรุทธะ ภัททิยะ กิมพิละ ปรึกษากันว่า "ชื่อว่าภัต เกิดในที่ไหน?" บรรดาเจ้าศากยะทั้งสามพระองค์นั้น เจ้ากิมพิละตรัสว่า "ภัตเกิดขึ้นในฉาง." ได้ยินว่า วันหนึ่ง เจ้ากิมพิละนั้นได้เห็นข้าวเปลือกที่เขาขนใส่ในฉาง เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้ ด้วยสำคัญว่า "ภัตย่อมเกิดขึ้นในฉาง."
               ครั้งนั้น เจ้าภัททิยะตรัสกะเจ้ากิมพิละนั้นว่า "ท่านยังไม่ทราบ" ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ธรรมดาภัต ย่อมเกิดขึ้นในหม้อข้าว." ได้ยินว่า วันหนึ่ง เจ้าภัททิยะนั้นเห็นชนทั้งหลายคดภัตออกจากหม้อข้าวนั้นแล้ว ได้ทำความสำคัญว่า "ภัตนั่นเกิดขึ้นในหม้อนี้เอง" เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น.
               เจ้าอนุรุทธะตรัสกะเจ้าทั้งสองนั้นว่า "แม้ท่านทั้งสองก็ยังไม่ทราบ" แล้วตรัสว่า "ภัตเกิดขึ้นในถาดทองคำใบใหญ่๑- ซึ่งสูงได้ศอกกำมา." ได้ยินว่า ท่านไม่เคยเห็นเขาตำข้าวเปลือก ไม่เคยเห็นเขาหุงภัต, ท่านเห็นแต่ภัตที่เขาคดออกไว้ในถาดทองคำแล้ว ตั้งไว้ข้างหน้าเท่านั้น; เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้ทำความสำคัญว่า "ภัตนั่น ย่อมเกิดขึ้นในถาดนั่นเอง" เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น. กุลบุตรผู้มีบุญมาก เมื่อไม่รู้แม้ที่เกิดขึ้นแห่งภัตอย่างนั้น จักรู้การงานทั้งหลายอย่างไรได้.
____________________________
๑- โตก.

               เจ้าอนุรุทธะนั้นได้สดับความที่การงานทั้งหลายที่เจ้าพี่ตรัสบอก โดยนัยเป็นต้นว่า "อนุรุทธะจงมาเถิด ฉันจักสอนเพื่อการอยู่ครองเรือนแก่เธอ อันผู้อยู่ครองเรือน จำต้องไถนาก่อน" ดังนี้ เป็นของไม่มีที่สุด
               จึงทูลลาพระมารดาว่า "ความต้องการด้วยการอยู่ครองเรือนของหม่อมฉันไม่มี" แล้วเสด็จออกไปพร้อมกับพระโอรสของเจ้าศากยะห้าพระองค์ มีเจ้าภัททิยะเป็นประมุข เข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน ทรงผนวชแล้ว.
               ก็แลครั้นผนวชแล้ว พระอนุรุทธะเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ โดยลำดับ เป็นผู้นั่งบนอาสนะเดียว สามารถเล็งดูโลกธาตุพันหนึ่งได้ด้วยทิพยจักษุ ดุจผลมะขามป้อมที่บุคคลวางไว้บนฝ่ามือฉะนั้น จึงเปล่งอุทานขึ้นว่า :-
                         เราย่อมระลึกได้ซึ่งบุพเพนิวาส๑-, ทิพยจักษุ เราก็ชำระแล้ว,
                         เราเป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นผู้ถึงฤทธิ์, คำสอนของพระพุทธเจ้า
                         อันเราทำแล้ว.
               พิจารณาดูว่า "เราทำกรรมอะไรหนอ? จึงได้สมบัตินี้" ทราบได้ว่า "เราได้ตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตระ" ทราบ (ต่อไป) อีกว่า "เราท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร ในกาลชื่อโน้นได้อาศัยสุมนเศรษฐี ในกรุงพาราณสีเลี้ยงชีพ เป็นผู้ชื่อว่าอันนภาระ" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า :-
                         ในกาลก่อน เราเป็นผู้ชื่อว่าอันนภาระ เป็นคนเข็ญใจ ขนหญ้า,
                         เราถวายบิณฑบาตแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ ผู้มียศ.
____________________________
๑- ขันธ์อันอาศัยอยู่ในกาลก่อน.

               พระเถระระลึกถึงสหายเก่า               
               ครั้งนั้น ท่านได้มีความปริวิตกฉะนี้ว่า "สุมนเศรษฐีผู้เป็นสหายของเรา ให้กหาปณะแล้วรับเอาส่วนบุญจากบิณฑบาตซึ่งเราถวายแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ ในกาลนั้น บัดนี้เกิดในที่ไหนหนอแล?"
               ทีนั้น ท่านได้เล็งเห็นเศรษฐีนั้นว่า "บ้านชื่อว่ามุณฑนิคม มีอยู่ที่เชิงเขาใกล้ดงไฟไหม้ อุบาสกชื่อมหามุณฑะ ในมุณฑนิคมนั้น มีบุตรสองคน คือมหาสุมนะ, จูฬสุมนะ ในบุตรสองคนนั้น สุมนเศรษฐีเกิดเป็นจูฬสุมนะ"
               ก็แลครั้นเห็นแล้ว คิดว่า "เมื่อเราไปในที่นั้น, อุปการะจะมีหรือไม่มีหนอ?" ท่านใคร่ครวญอยู่ได้เห็นเหตุนี้ว่า "เมื่อเราไปในที่นั้น จูฬสุมนะนั้นมีอายุ ๗ ขวบเท่านั้นจักออกบวช และจักบรรลุพระอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง:"
               ก็แลท่านครั้นเห็นแล้ว เมื่อภายในกาลฝนใกล้เข้ามา จึงไปทางอากาศลงที่ประตูบ้าน. ส่วนมหามุณฑอุบาสกเป็นผู้คุ้นเคยของพระเถระแม้ในกาลก่อนเหมือนกัน. เขาเห็นพระเถระครองจีวรในเวลาบิณฑบาต จึงกล่าวกะมหาสุมนะผู้บุตรว่า "พ่อ พระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธเถระของเรามาแล้ว, เจ้าจงไปรับบาตรของท่านให้ทันเวลาที่ใครๆ คนอื่นยังไม่รับบาตรของท่านไป พ่อจักให้เขาปูอาสนะไว้."
               มหาสุมนะได้ทำอย่างนั้นแล้ว. อุบาสกอังคาสพระเถระภายในเรือนโดยเคารพแล้ว รับปฏิญญาเพื่อต้องการแก่การอยู่ (จำพรรษา) ตลอดไตรมาส. พระเถระรับนิมนต์แล้ว.
               ครั้งนั้น อุบาสกปฏิบัติพระเถระนั้นตลอดไตรมาส เป็นเหมือนปฏิบัติอยู่วันเดียว ในวันมหาปวารณา จึงนำไตรจีวรและอาหารวัตถุมีน้ำอ้อย น้ำมันและข้าวสารเป็นต้นมาแล้ว วางไว้ใกล้เท้าของพระเถระ เรียนว่า "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับเถิด ขอรับ."

               ไม่รับวัตถุกลับได้สามเณร               
               พระเถระ. อย่าเลยอุบาสก ความต้องการด้วยวัตถุนี้ของฉัน ไม่มี.
               อุบาสก. ท่านผู้เจริญ นี่ชื่อว่าวัสสาวาสิกลาภ (คือลาภอันเกิดแก่ผู้อยู่จำพรรษา) ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับวัตถุนั้นไว้เถิด.
               พระเถระ. ช่างเถิด อุบาสก.
               อุบาสก. ท่านย่อมไม่รับเพื่ออะไร? ขอรับ.
               พระเถระ. แม้สามเณรผู้เป็นกับปิยการก ในสำนักของฉันก็ไม่มี.
               อุบาสก. ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น มหาสุมนะผู้เป็นบุตรของกระผมจักเป็นสามเณร.
               พระเถระ. อุบาสก ความต้องการด้วยมหาสุมนะของฉัน ก็ไม่มี.
               อุบาสก. ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าจงให้จูฬสุมนะ บวชเถิด.
               พระเถระ. รับว่า "ดีละ" แล้วให้จูฬสุมนะบวช. จูฬสุมนะนั้นบรรลุอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง.
               พระเถระอยู่ในที่นั้นกับจูฬสุมนสามเณรนั้นประมาณกึ่งเดือนแล้ว ลาพวกญาติของเธอว่า "พวกฉันจักเฝ้าพระศาสดา" ดังนี้แล้วไปทางอากาศ ลงที่กระท่อมอันตั้งอยู่ในป่า ในหิมวันตประเทศ.

               พระเถระปรารภความเพียรเสมอ               
               ก็พระเถระ แม้ตามปกติเป็นผู้ปรารภความเพียร เมื่อท่านกำลังจงกรมอยู่ในที่นั้น ในคืนแรกและคืนต่อมา ลมในท้องตั้งขึ้นแล้ว.
               ครั้งนั้น สามเณรเห็นท่านลำบาก จึงเรียนถามว่า "ท่านขอรับ โรคอะไร? ย่อมเสียดแทงท่าน."
               พระเถระ. ลมเสียดท้องเกิดขึ้นแก่ฉันแล้ว.
               สามเณร. แม้ในกาลอื่น ลมเสียดท้องเคยเกิดขึ้นหรือ ขอรับ.
               พระเถระ. เออ ผู้มีอายุ.
               สามเณร. ความสบายย่อมมีด้วยอะไรเล่า? ขอรับ.
               พระเถระ. เมื่อฉันได้น้ำดื่มจากสระอโนดาต, ความสบายย่อมมี ผู้มีอายุ.
               สามเณร. ท่านขอรับ ถ้ากระนั้น กระผมจะนำมา (ถวาย).
               พระเถระ. เธอจักอาจ (นำมา) หรือ? สามเณร.
               สามเณร. อาจอยู่ ขอรับ.
               พระเถระ. ถ้ากระนั้น นาคราชชื่อปันนกะ ในสระอโนดาตย่อมรู้จักฉัน. เธอจงบอกแก่นาคราชนั้น แล้วนำขวดน้ำดื่มขวดหนึ่งมาเพื่อประโยชน์แก่การประกอบยาเถิด.
               เธอรับว่า "ดีละ" แล้วไหว้พระอุปัชฌายะ เหาะขึ้นสู่เวหาสได้ไปตลอดที่ ๕๐๐ โยชน์แล้ว.

               สามเณรต่อสู้กับพระยานาค               
               ก็วันนั้น นาคราชมีนาคนักฟ้อนแวดล้อมแล้ว ปรารถนาจะเล่นน้ำ. นาคราชนั้น พอได้เห็นสามเณรผู้ไปอยู่เท่านั้น ก็โกรธคิดเห็นว่า "สมณะโล้นนี้ เที่ยวโปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงกระหม่อมของเรา สมณะโล้นนี้จักเป็นผู้มาแล้วเพื่อต้องการน้ำดื่มในสระอโนดาต บัดนี้เราจะไม่ให้น้ำดื่มแก่เธอ" ดังนี้แล้ว นอนปิดสระอโนดาตซึ่งมีประมาณถึง ๕๐ โยชน์ด้วยพังพาน ดุจบุคคลปิดหม้อข้าวด้วยถาดใหญ่ฉะนั้น.
               สามเณรพอแลดูอาการของนาคราชแล้ว ก็ทราบว่า "นาคราชนี้โกรธแล้ว" จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
                         นาคราช ผู้มีเดชกล้า มีกำลังมาก ท่านจงฟัง (คำ) ของ
                         ข้าพเจ้าเถิด, จงให้หม้อน้ำดื่มแก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าเป็น
                         ผู้มาแล้วเพื่อประโยชน์แก่น้ำสำหรับประกอบยา.
               นาคราชฟังคาถานั้นแล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-
                         แม่น้ำใหญ่ชื่อคงคา ณ เบื้องทิศบูรพา ย่อมไหลไป
                         สู่มหาสมุทร, ท่านจงนำเอาน้ำดื่มจากแม่น้ำคงคา
                         นั้นไปเถิด.
               สามเณรฟังคำนั้นแล้วคิดว่า "พระยานาคนี้จักไม่ให้ตามความปรารถนาของตน เราจักทำพลการให้มันรู้อานุภาพใหญ่ จักข่มพระยานาคนี้แล้ว จึงจักนำน้ำดื่มไป" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า "มหาราช พระอุปัชฌายะให้ข้าพเจ้านำน้ำดื่มมาจากสระอโนดาตเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงจักนำน้ำดื่มนี้อย่างเดียวไป ท่านจงหลีกไปเสีย อย่าห้ามข้าพเจ้าเลย"
               ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-
                         ข้าพเจ้าจักนำน้ำดื่มไปจากสระอโนดาตนี้เท่านั้น,
                         ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความต้องการด้วยน้ำดื่มนี้เท่านั้น,
                         ถ้าเรี่ยวแรงและกำลังมีอยู่ไซร้, นาคราช ท่านจงขัด
                         ขวางไว้เถิด.
               ครั้งนั้น พระยานาคกล่าวกะเธอว่า :-
                         สามเณร ถ้าท่านมีความกล้าหาญอย่างลูกผู้ชายไซร้,
                         ข้าพเจ้าชอบใจคำพูดของท่าน, เชิญท่านนำน้ำดื่ม
                         ของข้าพเจ้าไปเถิด.
               ลำดับนั้น สามเณรตอบกะพระยานาคนั้นว่า "มหาราช ข้าพเจ้าจักนำไปอย่างนั้น" เมื่อพระยานาคพูดว่า "เมื่อท่านสามารถก็จงนำไปเถิด"
               รับปฏิญญาถึง ๓ ครั้งว่า "ถ้ากระนั้น ท่านจงรู้ด้วยดีเถิด" แล้วคิดว่า "การที่เราแสดงอานุภาพแห่งพระพุทธศาสนาแล้วจึงนำน้ำไป สมควรอยู่" ได้ไปสู่สำนักของพวกอากาสัฏฐกเทพดาก่อน. เทพดาเหล่านั้นมาไหว้แล้ว กล่าวว่า "อะไรกัน? ขอรับ" แล้วพากันยืนอยู่.
               สามเณรกล่าวว่า "สงครามของข้าพเจ้ากับปันนกนาคราชจักมีที่หลังสระอโนดาตนี่ พวกท่านจงไปในที่นั้นแล้ว ดูความชนะและความแพ้."
               สามเณรนั้นเข้าไปหาท้าวโลกบาลทั้ง ๔ และท้าวสักกะ ท้าวสุยาม ท้าวสันดุสิต ท้าวสุนิมมิตและท้าววสวัตดี แล้วบอกเนื้อความนั้นโดยทำนองนั้นแล.
               ต่อแต่นั้น สามเณรไปโดยลำดับจนถึงพรหมโลก อันพรหมทั้งหลายในที่นั้นๆ ผู้มาไหว้แล้วยืนอยู่ ถามว่า "อะไรกัน? ขอรับ" จึงแจ้งเนื้อความนั้น.
               สามเณรนั้นเที่ยวไปบอกในที่ทุกแห่งๆ โดยครู่เดียวเท่านั้น เว้นเสียแต่อสัญญีสัตว์และอรูปพรหม ด้วยอาการอย่างนี้.
               ถึงเทพดาทุกๆ จำพวกฟังคำของเธอแล้ว ประชุมกันเต็มอากาศ ไม่มีที่ว่าง ที่หลังสระอโนดาต ดุจจุรณแห่งขนมที่บุคคลใส่ไว้ในทะนานฉะนั้น.

               สามเณรเชิญเทพดามาดูการรบ               
               เมื่อหมู่เทพดาประชุมกันแล้ว สามเณรยืน ณ อากาศ กล่าวกะพระยานาคว่า :-
                         นาคราช ผู้มีเดชกล้า มีกำลังมาก ท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า
                         ท่านจงให้หม้อน้ำดื่มแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นผู้มาเพื่อต้อง
                         การน้ำประกอบยา.
               ทีนั้น นาคกล่าวกะเธอว่า :-
                         สามเณร ถ้าท่านมีความกล้าหาญอยู่อย่างลูกผู้ชายไซร้,
                         ข้าพเจ้าชอบใจคำพูดของท่าน, ท่านจงนำน้ำดื่มของ
                         ข้าพเจ้าไปเถิด.
               สามเณรนั้นรับคำปฏิญญาของนาคราชถึง ๓ ครั้งแล้ว ยืน ณ อากาศนั้นเอง นิรมิตอัตภาพเป็นพรหมประมาณ ๑๒ โยชน์ แล้วลงจากอากาศ เหยียบที่พังพานของพระยานาค กดให้หน้าคว่ำลงแล้ว. ในทันทีนั้นเอง เมื่อสามเณรพอสักว่าเหยียบพังพานของพระยานาคเท่านั้น แผ่นพังพานได้หดเข้าประมาณเท่าทัพพี ดุจหนังสดอันบุรุษผู้มีกำลังเหยียบแล้วฉะนั้น. ในที่ซึ่งพ้นจากพังพานของพระยานาคออกมา สายน้ำประมาณเท่าลำตาลพุ่งขึ้นแล้ว. สามเณรยังขวดน้ำดื่มให้เต็ม ณ อากาศนั้นเอง.
               หมู่เทพได้ให้สาธุการแล้ว.

               พระยานาคแพ้สามเณร               
               นาคราชละอาย โกรธต่อสามเณรแล้ว. นัยน์ตาทั้งสองของนาคราชนั้นได้มีสีดุจดอกชบา. พระยานาคนั้นคิดว่า "สมณะโล้นนี้ให้หมู่เทพประชุมกันแล้ว ถือเอาน้ำดื่ม ยังเราให้ละอายแล้ว เราจะจับเธอ สอดมือเข้าในปากแล้ว ขยี้เนื้อหทัยของเธอเสีย หรือจะจับเธอที่เท้า แล้วขว้างไปฟากแม่น้ำข้างโน้น" ดังนี้แล้วติดตามไปโดยเร็ว. แม้ติดตามไปอยู่ ก็ไม่สามารถจะทันสามเณรได้เลย.
               สามเณรมาแล้ว วางน้ำดื่มไว้ในมือพระอุปัชฌายะ เรียนว่า "ขอท่านจงดื่มเถิด ขอรับ."

               พระยานาคพูดเท็จแต่สามเณรไม่พูดเท็จ               
               แม้พระยานาคก็มาข้างหลัง กล่าวว่า "ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ สามเณรถือเอาน้ำซึ่งข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้เลยมา ขอท่านจงอย่าดื่ม."
               พระเถระ. ถามว่า "นัยว่า อย่างนั้นหรือ? สามเณร."
               สามเณร. ขอนิมนต์ท่านดื่มเถิด ขอรับ, น้ำดื่มอันพระยานาคนี้ให้แล้ว กระผมจึงนำมา.
               พระเถระทราบว่า "ขึ้นชื่อว่าการกล่าวคำเท็จของสามเณรผู้เป็นขีณาสพ ย่อมไม่มี" จึงดื่มน้ำแล้ว. อาพาธของท่านสงบลงในขณะนั้นเอง.
               นาคราชกล่าวกะพระเถระอีกว่า "ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้อันสามเณรให้หมู่เทพทั้งหมดประชุมกันให้ละอายแล้ว ข้าพเจ้าจักผ่าหทัยของเธอ หรือจักจับเธอที่เท้า และขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำข้างโน้น."
               พระเถระกล่าวว่า "มหาราช สามเณรมีอานุภาพมาก ท่านจักไม่สามารถเพื่อสู้รบกับสามเณรได้ ท่านจงให้สามเณรนั้น อดโทษแล้วกลับไปเสียเถิด."

               พระยานาคขอขมาสามเณร               
               พระยานาคนั้นย่อมรู้อานุภาพของสามเณรแม้เอง แต่ติดตามมา เพราะความละอาย.
               ลำดับนั้น พระยานาคให้สามเณรนั้นอดโทษตามคำของพระเถระ ทำความชอบพอกันฉันมิตรกับเธอ จึงกล่าวว่า "จำเดิมแต่กาลนี้ เมื่อความต้องการด้วยน้ำในสระอโนดาตมีอยู่ กิจด้วยการมาแห่งพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่มี พระผู้เป็นเจ้าพึงส่ง (ข่าว) ไปถึงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองจักนำน้ำมาถวาย" ดังนี้แล้วหลีกไป แม้พระเถระก็พาสามเณรไปแล้ว.
               พระศาสดาทรงทราบความมาแห่งพระเถระแล้ว ประทับนั่งทอดพระเนตรการมาแห่งพระเถระ บนปราสาทของมิคารมารดา. ถึงพวกภิกษุก็เห็นพระเถระซึ่งกำลังมา ลุกขึ้นต้อนรับ รับบาตรและจีวร.

               พวกภิกษุล้อเลียนสามเณร               
               ครั้งนั้น ภิกษุบางพวกจับสามเณรที่ศีรษะบ้าง ที่หูทั้ง ๒ บ้าง ที่แขนบ้าง พลางเขย่า กล่าวว่า "ไม่กระสันหรือ? สามเณร."
               พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงดำริว่า "กรรมของภิกษุเหล่านี้หยาบจริง ภิกษุเหล่านี้จับสามเณรเป็นดุจจับอสรพิษที่คอ พวกเธอหารู้อานุภาพของสามเณรไม่ วันนี้ การที่เราทำคุณของสุมนสามเณรให้ปรากฏ สมควรอยู่."
               แม้พระเถระก็มาถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่ง.

               พระศาสดาทรงทำคุณของสามเณรให้ปรากฏ               
               พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับด้วยท่านแล้ว ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาว่า "อานนท์ เราเป็นผู้มีความประสงค์เพื่อจะล้างเท้าทั้งสองด้วยน้ำในสระอโนดาต เธอจงให้หม้อแก่พวกสามเณรแล้วให้นำน้ำมาเถิด." พระเถระให้สามเณรประมาณ ๕๐๐ ในวิหารประชุมกันแล้ว.
               บรรดาสามเณรเหล่านั้น สุมนสามเณรได้เป็นผู้ใหม่กว่าสามเณรทั้งหมด. พระเถระกล่าวกะสามเณรผู้แก่กว่าสามเณรทั้งหมดว่า "สามเณร พระศาสดามีพระประสงค์จะทรงล้างพระบาททั้งสองด้วยน้ำในสระอโนดาต, เธอจงถือหม้อน้ำไปนำน้ำมาเถิด."
               สามเณรนั้นไม่ปรารถนา ด้วยกล่าวว่า "กระผมไม่สามารถ ขอรับ." พระเถระถามสามเณรทั้งหลายแม้ที่เหลือโดยลำดับ. แม้สามเณรเหล่านั้น ก็พูดปลีกตัวอย่างนั้นแล.
               มีคำถามว่า "ก็บรรดาสามเณรเหล่านี้ สามเณรผู้เป็นขีณาสพไม่มีหรือ?"
               แก้ว่า "มีอยู่. แต่สามเณรเหล่านั้นไม่ปรารถนา ด้วยคิดเห็นว่า "พวงดอกไม้นี้ พระศาสดาไม่ทรงผูกไว้เพื่อพวกเรา พระองค์ทรงผูกไว้เพื่อสุมนสามเณรองค์เดียว. แต่พวกสามเณรผู้เป็นปุถุชนไม่ปรารถนา ก็เพราะความที่ตนเป็นผู้ไม่สามารถนั่นเอง."
               ก็ในที่สุด เมื่อวาระถึงแก่สุมนสามเณรเข้า พระเถระกล่าวว่า "สามเณร พระศาสดามีพระประสงค์จะทรงล้างพระบาททั้งสองด้วยน้ำในสระอโนดาต ได้ยินว่า เธอจงถือเอาหม้อไปตักน้ำมา"
               สุมนสามเณรนั้นเรียนว่า "เมื่อพระศาสดาทรงให้นำมา กระผมจักนำมา" ดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ยินว่า พระองค์ให้ข้าพระองค์นำน้ำมาจากสระอโนดาตหรือ? พระเจ้าข้า"
               พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น สุมนะ."
               สุมนสามเณรนั้นเอามือจับหม้อใหญ่ใบหนึ่ง ซึ่งจุน้ำได้ตั้ง ๖๐ หม้อ ในบรรดาหม้อสำหรับเสนาสนะ ซึ่งเลี่ยมดาดด้วยทองแท่ง อันนางวิสาขาให้สร้างไว้ หิ้วไปด้วยคิดว่า "ความต้องการของเราด้วยหม้อ อันเรายกขึ้นตั้งไว้บนจะงอยบ่านี้ ย่อมไม่มี" เหาะขึ้นสู่เวหาส บ่ายหน้าต่อหิมวันตประเทศ รีบไปแล้ว.
               นาคราชเห็นสามเณรซึ่งกำลังมาแต่ไกลเทียว จึงต้อนรับ แบกหม้อด้วยจะงอยบ่า กล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า เมื่อผู้รับใช้เช่นข้าพเจ้ามีอยู่ เพราะอะไร พระผู้เป็นเจ้าจึงมาเสียเอง เมื่อความต้องการน้ำมีอยู่ เหตุไร? พระผู้เป็นเจ้าจึงไม่ส่งเพียงข่าวสาสน์มา" ดังนี้แล้ว เอาหม้อตักน้ำแบกเองกล่าวว่า "นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าล่วงหน้าไปก่อนเถิดขอรับ ข้าพเจ้าเองจักนำไป."
               สามเณรกล่าวว่า "มหาราช ท่านจงหยุด ข้าพเจ้าเองเป็นผู้อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้มา" ดังนี้ให้พระยานาคกลับแล้ว เอามือจับที่ขอบปากหม้อ เหาะมาทางอากาศ.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงแลดูเธอซึ่งกำลังมา ตรัสเรียกพวกภิกษุมาแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูการเยื้องกรายของสามเณร เธอย่อมงดงามดุจพระยาหงส์ในอากาศฉะนั้น."
               แม้สามเณรนั้นวางหม้อน้ำแล้ว ได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้วยืนอยู่.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "สุมนะ เธอมีอายุได้เท่าไร? สามเณรกราบทูลว่า "มีอายุ ๗ ขวบ พระเจ้าข้า." พระศาสดาตรัสว่า "สุมนะ ถ้ากระนั้น ตั้งแต่วันนี้ เธอจงเป็นภิกษุเถิด" ดังนี้แล้ว ได้ประทานทายัชอุปสมบท.
               ได้ยินว่า สามเณรผู้มีอายุ ๗ ปี ๒ รูปเท่านั้น ได้อุปสมบท คือสุมนสามเณรนี้รูปหนึ่ง โสปากสามเณรรูปหนึ่ง.
               เมื่อสุมนสามเณรนั้นอุปสมบทแล้วอย่างนั้น พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย กรรมนี้น่าอัศจรรย์ อานุภาพของสามเณรน้อย แม้เห็นปานนี้ก็มีได้ อานุภาพเห็นปานนี้ พวกเราไม่เคยเห็นแล้ว ในกาลก่อนแต่กาลนี้."

               สมบัติย่อมสำเร็จแก่เด็กๆ ได้               
               พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ?" เมื่อพวกเธอกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า" ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ในศาสนาของเรา บุคคลแม้เป็นเด็ก ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้สมบัติเห็นปานนี้เหมือนกัน"
               เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๑๒.  โย หเว ทหโร ภิกฺขุ    ยุญฺชติ พุทฺธสาสเน
                         โส อิมํ โลกํ ปภาเสติ    อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา.
                         ภิกษุใดแล ยังหนุ่ม พากเพียรอยู่ในพระพุทธศาสนา,
                         ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์ที่พ้นแล้ว
                         จากหมอก (เมฆ) สว่างอยู่ฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุญฺชติ ได้แก่ พากเพียร คือพยายามอยู่.
               บทว่า ปภาเสติ เป็นต้น ความว่า ภิกษุนั้นย่อมยังโลกต่างโดยขันธโลกเป็นต้น ให้สว่างได้ คือย่อมทำให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยญาณอันสัมปยุตด้วยอรหัตมรรคของตน ดุจพระจันทร์ที่พ้นแล้วจากเครื่องกำบังมีหมอกเป็นต้นฉะนั้น.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องสุมนสามเณร จบ.               
               ภิกขุวรรควรรณนา จบ.               
               วรรคที่ ๒๕ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 34อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 35อ่านอรรถกถา 25 / 36อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1244&Z=1300
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=949
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=949
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :