ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 31อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 32อ่านอรรถกถา 25 / 33อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท นิรยวรรคที่ ๒๒

               ๒๒. นิรยวรรควรรณนา               
               ๑. เรื่องนางปริพาชิกาชื่อสุนทรี [๒๒๓]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางปริพาชิกาชื่อสุนทรี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อภูตวาที" เป็นต้น.

               พวกเดียรถีย์คิดตัดลาภสักการะพระศาสดา               
               เรื่องมาโดยพิสดารในอุทานนั่นแลว่า "ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันมหาชนสักการะ ทำความเคารพ นับถือ บูชาแล้ว" เป็นต้น.
               ส่วนเนื้อความย่อในเรื่องนี้ มีดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า เมื่อลาภสักการะเช่นกับห้วงน้ำใหญ่แห่งปัญจมหานที เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์แล้ว พวกอัญญเดียรถีย์ก็เสื่อมลาภสักการะ เป็นผู้อับแสง ประหนึ่งหิ่งห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ร่วมประชุมปรึกษากันว่า "ตั้งแต่กาลแห่งพระสมณโคดมอุบัติขึ้น พวกเราก็เสื่อมลาภสักการะ ใครๆ ย่อมไม่รู้แม้ความที่เราทั้งหลายมีอยู่, พวกเราจะพึงรวมกันกับใครหนอ? ก่อโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม แล้วยังลาภสักการะของเธอให้เสื่อมสูญ."

               พวกเดียรถีย์ให้นางสุนทรี ทำลายพระเกียรติพระศาสดา               
               ครั้งนั้น ความคิดได้เกิดขึ้นแก่อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นว่า "พวกเราร่วมกับนางสุนทรีจักสามารถ (ทำได้)" วันหนึ่ง พวกเขา (แกล้ง) ไม่สนทนากะนางสุนทรี ผู้เข้าไปยังอารามเดียรถีย์ ไหว้แล้วยืนอยู่. นางแม้ปราศรัยบ่อยๆ ก็ไม่ได้คำตอบ จึงถามว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายถูกใครๆ เบียดเบียนบ้างหรือ?"
               เดียรถีย์. น้องหญิง นางไม่เห็นพระสมณโคดมที่เที่ยวเบียดเบียนพวกเรา ทำให้เสื่อมลาภสักการะหรือ?
               นางสุนทรี. ดิฉันควรจะทำอย่างไร ในเรื่องนี้?
               เดียรถีย์. น้องหญิง นางแลมีรูปสวย ถึงความเป็นผู้งามเลิศ จงยกโทษขึ้นแก่พระสมณโคดม แล้วให้มหาชนเชื่อถ้อยคำ ทำให้เสื่อมลาภสักการะ.
               นางสุนทรีนั้นรับรองว่า "ดีละ" แล้วหลีกไป.
               ตั้งแต่นั้นมา นางถือเอาสิ่งของมีระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ การบูรและของเผ็ดร้อนเป็นต้น เดินบ่ายหน้าตรงไปยังพระเชตวัน ในเวลาที่มหาชนฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วกลับเข้าพระนครในเวลาเย็น
               ถูกมหาชนถามว่า "ไปไหน" ก็ตอบว่า "ไปสำนักพระสมณโคดม ฉันอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดมนั้น" แล้วอยู่ในอารามเดียรถีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง ย่างลงสู่ทาง (ที่ไปยัง) พระเชตวันแต่เช้าตรู่ เดินบ่ายหน้าสู่พระนคร
               นางถูกมหาชนถามว่า "ไปไหนสุนทรี?" ตอบว่า "ฉันอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม ให้ท่านยินดีด้วยความยินดีเพราะกิเลสแล้ว จึงกลับมา."

               พวกภิกษุถูกพวกเดียรถีย์หาว่าฆ่านางสุนทรี               
               แต่นั้นมา โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน พวกเดียรถีย์ให้กหาปณะแก่พวกนักเลง แล้วกล่าวว่า "พวกท่านจงไปฆ่านางสุนทรี แล้วหมกไว้" ที่ระหว่างกองหยากเยื่อแห่งระเบียบดอกไม้ ที่ใกล้พระคันธกุฎีของพระสมณโคดมแล้วกลับมา." พวกนักเลงก็ได้ทำอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น เดียรถีย์ทั้งหลายได้ทำความโกลาหลขึ้นว่า "พวกเราไม่เห็นนางสุนทรี" แล้วทูลแด่พระราชา ถูกพระราชาตรัสถามว่า "พวกท่านมีความสงสัยที่ไหน?" ทูลว่า "นางสุนทรีอยู่ในพระเชตวันสิ้นวันเท่านี้ พวกอาตมภาพไม่ทราบความเป็นไปของนางในพระเชตวันนั้น."
               อันพระราชาทรงอนุญาตว่า "ถ้ากระนั้น พวกท่านจงไป ค้นพระเชตวันนั้นดูเถิด" พาพวกอุปัฏฐากของตนไปยังพระเชตวัน ค้นอยู่ก็พบนางสุนทรีนั้น ในระหว่างกองหยากเยื่อแห่งระเบียบดอกไม้ จึงยกขึ้นเตียงเข้าไปยังพระนคร ทูลแด่พระราชาว่า "พระสาวกของพระสมณโคดมฆ่านางสุนทรี แล้วหมกไว้ในระหว่างกองหยากเยื่อแห่งระเบียบดอกไม้ ด้วยคิดว่า "จักปกปิดกรรมลามกที่พระศาสดาทำ"
               พระราชาตรัสว่า "ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงไปเที่ยวประกาศให้ตลอดพระนครเถิด." พวกเดียรถีย์พากันกล่าวคำเป็นต้นว่า "ขอท่านทั้งหลาย จงดูกรรมของพวกสมณสักยบุตรเถิด" ในถนนแห่งพระนครแล้ว ได้ไปยังพระทวารแห่งพระราชนิเวศน์อีก. พระราชารับสั่งให้ยกสรีระของนางสุนทรีขึ้นใส่แคร่ในป่าช้าผีดิบแล้วให้รักษาไว้.
               ชาวพระนครสาวัตถีเว้นพระอริยสาวก ที่เหลือโดยมากพากันกล่าวคำเป็นต้นว่า "ขอท่านทั้งหลาย จงดูกรรมของพวกสมณสักยบุตรเถิด" แล้วเที่ยวด่าพวกภิกษุ ในภายในพระนครบ้าง ภายนอกพระนครบ้าง ในป่าบ้าง.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระตถาคต.
               พระศาสดาตรัสว่า "ถ้าอย่างนั้น แม้พวกเธอจงกลับโจทพวกมนุษย์เหล่านั้นอย่างนี้"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                                   ๑. อภูตวาที นิรยํ อุเปติ              
                                   โย วาปิ กตฺวา น กโรมีติ จาห
                                   อุโภปิ เต เปจฺจ สมา ภวนฺติ
                                   นิหีนกมฺมา มนุชา ปรตฺถ.
                         ผู้มักพูดคำไม่จริง ย่อมเข้าถึงนรก, หรือแม้ผู้ใดทำแล้ว
                         กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามิได้ทำ" ชนแม้ทั้งสองนั้น เป็นมนุษย์
                         มีกรรมเลวทราม ละไปในโลกอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกัน.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภูตวาที ได้แก่ ผู้ไม่เห็นโทษของบุคคลอื่นเลย ทำการกล่าวเท็จ ตู่ผู้อื่นด้วยคำเปล่า.
               บทว่า กตฺวา ความว่า หรือผู้ใดทำกรรมลามกแล้ว กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามิได้ทำกรรมนั่น."
               หลายบทว่า เปจฺจ สมา ภวนฺติ ความว่า ชนแม้ทั้งสองนั้นไปสู่ปรโลก ย่อมเป็นผู้เสมอกันโดยคติ เพราะการเข้าถึงนรก คติของชนเหล่านั้นเท่านั้น ท่านผู้รู้กำหนดไว้แล้ว
               แต่อายุของเขาท่านมิได้กำหนดไว้ เพราะว่าชนทั้งหลายทำบาปกรรมไว้มาก ย่อมไหม้ในนรกนาน ทำบาปกรรมไว้น้อย ย่อมไหม้สิ้นกาลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็เพราะกรรมที่ลามกของชนแม้ทั้งสองนั้นนั่นเอง (เป็นเหตุ)
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "นิหีนกมฺมา มนุชา ปรตฺถ."
               ก็บทว่า ปรตฺถ สัมพันธ์เข้ากับบทว่า "เปจฺจ" ข้างหน้า. อธิบายว่า ชนผู้มีกรรมเลวทรามเหล่านั้น ละไปในโลกอื่น คือไปจากโลกนี้ ย่อมเป็นผู้เสมอกันในปรโลก.
               ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               พวกฆ่านางสุนทรีถูกประหารชีวิต               
               พระราชาทรงส่งราชบุรุษไปด้วยรับสั่งว่า "พวกเธอจงรู้ความที่คนอื่นฆ่านางสุนทรี."
               ครั้งนั้น นักเลงเหล่านั้นดื่มสุราอยู่ด้วยกหาปณะเหล่านั้น ทำการทะเลาะกันและกัน. คนหนึ่งกล่าวกะคนหนึ่งว่า "แกฆ่านางสุนทรีด้วยประหารเพียงทีเดียวแล้ว หมกไว้ในระหว่างกองหยากเยื่อแห่งระเบียบดอกไม้ ดื่มสุราด้วยกหาปณะที่ได้มาจากการประหารนั้น เรื่องนั้นยกเลิกเสียเถิด." พวกราชบุรุษจึงจับนักเลงนั้นไปแสดงแด่พระราชา.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามนักเลงเหล่านั้นว่า "พวกเธอฆ่านางสุนทรีหรือ?"
               พวกนักเลง. ข้าแต่สมมติเทพ พระเจ้าข้า.
               พระราชา. ใครใช้พวกเธอให้ฆ่า?
               พวกนักเลง. พวกอัญญเดียรถีย์ พระเจ้าข้า.
               พระราชารับสั่งให้เรียกพวกเดียรถีย์มาแล้ว ทรงบังคับว่า "พวกเธอจงไปเที่ยวกล่าวทั่วพระนครอย่างนี้ว่า "นางสุนทรีนี้ถูกพวกข้าพเจ้าผู้ใคร่ยกโทษแก่พระสมณโคดมขึ้น ฆ่าแล้ว โทษของพระสาวกของพระสมณโคดมไม่มี เป็นโทษของข้าพเจ้าฝ่ายเดียว."
               พวกเดียรถีย์ได้ทำอย่างนั้น. มหาชนผู้เขลาเชื่อแล้วในคราวนั้น.
               พวกเดียรถีย์ก็ดี พวกนักเลงก็ดี ถึงอาชญาเพราะการฆ่าคน.
               จำเดิมแต่นั้นมา สักการะได้มีมากแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย (ตามเคย) ดังนี้แล.

               เรื่องนางปริพาชิกาชื่อสุนทรี จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท นิรยวรรคที่ ๒๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 31อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 32อ่านอรรถกถา 25 / 33อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1080&Z=1117
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=2371
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=2371
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :