ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 316อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 317อ่านอรรถกถา 25 / 319อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค
มงคลสูตร

               อรรถกถามงคลสูตรที่ ๔               
               คาถาที่ ๑ (มี ๓ มงคล)               
               มงคลสูตร มีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
               ถามว่า พระสูตรนี้ มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร.
               ตอบว่า พระสูตรนี้ มีเหตุเกิดขึ้นดังต่อไปนี้.
               ดังได้สดับมา ในชมพูทวีป มหาชนประชุมกันในที่ทั้งหลายมีประตูพระนคร สันถาคาร (ห้องโถง) และที่ประชุมเป็นต้น ในที่นั้นๆ แม้ให้เงินและทองแล้ว ก็ชวนกันและกันกล่าวพาหิรกถา มีเรื่องการลักนางสีดาเป็นต้นมีประการต่างๆ เรื่องหนึ่งๆ กว่าจะจบลงก็ใช้เวลาถึง ๔ เดือน.
               ในบรรดาพาหิรกถาเหล่านั้น มงคลกถาก็ตั้งขึ้นว่า อะไรหนอแลชื่อว่า มงคล. สิ่งที่เห็นแล้วหรือ ชื่อว่ามงคล. สิ่งที่ฟังแล้วหรือ ชื่อว่ามงคล. สิ่งที่ได้ทราบแล้วหรือชื่อว่า มงคล. ใครเล่ารู้จักมงคล.
               ครั้งนั้น ชายคนหนึ่งชื่อว่า ทิฏฐมังคลิกะ พูดว่า ข้าพเจ้าย่อมรู้จักมงคล สิ่งที่เห็นแล้ว ชื่อว่าเป็นมงคลในโลก รูปที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสิ่งที่เห็นแล้ว คือ คนบางคนในโลกนี้ตื่นแต่เช้าตรู่ เห็นนกแอ่นลมบ้าง, เห็นต้นมะตูมหนุ่มบ้าง, หญิงมีครรภ์บ้าง, กุมารทั้งหลายซึ่งประดับตกแต่งแล้วบ้าง, หม้อน้ำที่เต็มบ้าง, ปลาตะเพียนสดบ้าง, ม้าอาชาไนยบ้าง, รถเทียมม้าอาชาไนยบ้าง, โคอุสภะบ้าง, แม่โคบ้าง, สีแดงบ้าง ก็หรือว่าเห็นรูปแม้อื่นใดที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งเห็นปานนี้ นี้เขาเรียกกันว่า ทิฏฐมงคล.
               คำของชายคนนั้น บางพวกก็ยอมรับ บางพวกก็ไม่ยอมรับ. ชนพวกใดไม่ยอมรับ ชนพวกนั้นก็ถกเถียงกับนายทิฏฐมังคลิกะนี้.
               ครั้งนั้น ชายคนหนึ่งชื่อว่า สุตมังคลิกะ กล่าวว่า แน่ะผู้เจริญ ชื่อว่าจักษุนี้ เห็นรูปที่ดีบ้าง ที่งามบ้าง ไม่งามบ้าง ที่ชอบใจบ้าง ที่ไม่ชอบใจบ้าง ถ้าหากว่ารูปที่ตานั้นเห็นแล้วจักพึงเป็นมงคลไซร้ แม้รูปทุกชนิดก็พึงเป็นมงคล รูปที่เห็นแล้วจึงไม่ใช่เป็นมงคล แต่อีกอย่างหนึ่งแล เสียงที่ฟังแล้ว (ต่างหาก) เป็นมงคล (เพราะว่า) เสียงที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสิ่งที่ได้ฟังแล้ว คือ คนบางคนในโลกนี้ลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว ย่อมฟังเสียงว่า วัฑฒะ เจริญบ้าง, ว่า วัฑฒมานะ เจริญอยู่บ้าง, ปุณณะ เต็มบ้าง, ปุสสะ ขาวบ้าง, สุมนา ดอกมะลิบ้าง, สิริ มิ่งขวัญบ้าง, สิริวัฒน์ เจริญด้วยมิ่งขวัญบ้าง, หรือว่า วันนี้ฤกษ์ดี, ยามดี, วันดี, มงคลดี หรือฟังเสียงที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่งเห็นปานนี้ นี้เขาเรียกกันว่า สุตมงคล
               คำแม้ของสุตมังคลิกะนั้น บางพวกก็ยอมรับ บางพวกก็ไม่ยอมรับ. พวกใดไม่ยอมรับ พวกนั้นก็ถกเถียงกับนายสุตมังคลิกะนั้น.
               ครั้งนั้น ชายคนหนึ่งชื่อว่า มุตมังคลิกะ พูดว่า ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ได้ฟังนี้ บุคคลย่อมได้ฟังสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ถ้าหากสิ่งที่ได้ฟังนั้นเป็นมงคลไซร้ แม้ทุกสิ่งที่ได้ฟังก็เป็นมงคลหมด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้ฟังหาเป็นมงคลไม่ แต่อีกประการหนึ่งแล สิ่งที่ได้ทราบ จัดว่าเป็นมงคล กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสิ่งที่ได้ทราบเป็นมงคล คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ตื่นแต่เช้าสูดกลิ่นดอกไม้มีกลิ่นดอกปทุมบ้าง เคี้ยวไม้ชำระฟันสีขาวบ้าง จับต้องแผ่นดินบ้าง จับต้องข้าวกล้าที่เขียวสดบ้าง จับต้องโคมัยสดบ้าง จับต้องเต่าบ้าง จับต้องเกวียนบรรทุกงาบ้าง ดอกไม้บ้าง ผลไม้บ้าง หรือว่าย่อมลูบไล้ร่างกายอย่างดีด้วยดินขาว (ดินสอพอง) นุ่งผ้าสาฎกสีขาวบ้าง โพกผ้าขาวบ้าง. ก็หรือว่าสูดกลิ่นแม้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่งที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่งเห็นปานนี้ หรือว่าลิ้มรส…. หรือว่าถูกต้องโผฏฐัพพะ…. นี้เขาเรียกกันว่า มุตมงคล.
               คำของนายมุตมังคลิกะแม้นั้น บางพวกก็เชื่อถือ บางพวกไม่เชื่อถือ.
               ในบรรดาคนเหล่านั้น นายทิฏฐมังคลิกะไม่อาจจะให้นายสุตมังคลิกะและนายมุตมังคลิกะยินยอมได้ นายสุตมังคลิกะก็ไม่อาจจะให้นายทิฏฐมังคลิกะและนายสุตมังคลิกะยินยอมได้ นายทิฏฐมังคลิกะและนายสุตมังคลิกะนอกนี้ก็ไม่อาจให้นายมุตมังคลิกะยินยอมได้.
               ก็ในบรรดามนุษย์เหล่านี้ มนุษย์เหล่าใดเชื่อถือคำของนายทิฏฐมังคลิกะ มนุษย์เหล่านั้นก็ลงสันนิษฐานกันว่า สิ่งที่เห็นแล้วเท่านั้นเป็นมงคล. มนุษย์เหล่าใดเชื่อคำของนายสุตมังคลิกะและนายมุตมังคลิกะ มนุษย์เหล่านั้นก็ลงสันนิษฐานว่าสิ่งที่ได้ฟังแล้วเท่านั้นเป็นมงคล (หรือว่า) สิ่งที่ได้ทราบแล้วเท่านั้นเป็นมงคล.
               ถ้อยคำปรารภมงคลนี้ปรากฏไปทั่วแล้วในชมพูทวีปทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้.
               ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้นรวมกันเป็นพวกๆ คิดมงคลทั้งหลายกันว่า “อะไรหนอแล เป็นมงคล” แม้อารักขเทวดาทั้งหลายของพวกมนุษย์เหล่านั้นฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ก็คิดมงคลทั้งหลายกันเหมือนกัน ภุมมเทวดาทั้งหลายที่เป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้นมีอยู่.
               ครั้งนั้น ภุมมเทวดาทั้งหลายฟังจากเทวดาเหล่านั้นแล้ว ก็คิดมงคลทั้งหลายเหมือนกัน อากาสัฏฐเทวดาที่เป็นมิตรของภุมมเทวดาแม้เหล่านั้นก็มีอยู่... ฯลฯ เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาที่เป็นมิตรของอากาสัฏฐเทวดาก็มีอยู่ โดยอุบายนี้นั้นแล จนถึงอกนิษฐเทวดาที่เป็นมิตรของสุทัสสีเทวดาก็มีอยู่ ครั้งนั้น แม้อกนิษฐเทวดาฟังจากสุทัสสีเทวดานั้นแล้วก็รวมกันเป็นพวกๆ เหมือนอย่างนั้นคิดมงคลทั้งหลาย การคิดเรื่องมงคลเกิดขึ้นในที่ทุกแห่งจนถึงหมื่นจักรวาลด้วยประการฉะนี้. ก็การคิดเรื่องมงคลนั้นซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว แม้อันนักคิดทั้งหลายวินิจฉัยกันอยู่ว่า สิ่งนี้เป็นมงคลๆ ก็ไม่ถึงการตกลงกันได้เลย คิดกันอยู่สิ้นเวลา ๑๒ ปี. พวกมนุษย์พวกเทวดาและพวกพรหมทั้งปวง เว้นพระอริยสาวกทั้งหลายแตกกันเป็น ๓ พวก คือ พวกทิฏฐมังคลิกะพวก ๑ พวกสุตมังคลิกะพวก ๑ พวกมุตมังคลิกะพวก ๑. ไม่มีใครแม้คนเดียวที่ชื่อว่าถึงการตัดสินใจได้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เท่านั้นเป็นมงคล.
               ความโกลาหลเรื่องมงคลเกิดขึ้นแล้วในโลก.

               โกลาหลมี ๕ อย่าง               
               ชื่อว่าโกลาหลมี ๕ อย่าง คือ กัปปโกลาหล ๑ จักกวัตติโกลาหล ๑ พุทธโกลาหล ๑ มังคลโกลาหล ๑ โมเนยยโกลาหล ๑.
               ในบรรดาโกลาหลเหล่านั้น พวกเทพชั้นกามาวจรสนานเกล้า สยายผม ร้องไห้น้ำตานองหน้า ใช้มือเช็ดน้ำตา นุ่งห่มผ้าสีแดง ถือเพศที่แปลกๆ อย่างยิ่ง เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไปแสนปี กัปจักสิ้น โลกนี้จักพินาศ และมหาสมุทรจักเหือดแห้ง มหาปฐพีนี้และภูเขาสิเนรุราช จักไหม้พินาศ ความพินาศแห่งโลกจักมีถึงพรหมโลก แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงเจริญเมตตา กรุณา มุทิตาและเจริญอุเบกขาเถิด ท่านทั้งหลายจงบำรุงเลี้ยงมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จงตื่นอย่าประมาท. นี้ชื่อว่า กัปปโกลาหล.
               เทวดาชั้นกามาวจรนั้นแหละเที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไป ๑๐๐ ปี พระเจ้าจักรพรรดิจักทรงอุบัติขึ้นในโลก. นี้ชื่อว่า จักกวัตติโกลาหล.
               ส่วนเทพเจ้าชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย ประดับประดาด้วยพรหมาภรณ์ กระทำผ้าโพกศีรษะสำหรับพรหมไว้บนเศียร เกิดปีติโสมนัสระลึกถึงพุทธคุณ เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไป ๑,๐๐๐ ปี พระพุทธเจ้าจักทรงอุบัติขึ้นในโลก. นี้ชื่อว่า พุทธโกลาหล.
               พวกเทพเจ้าชั้นสุทธาวาสนั้นเองทราบวาระจิตของมนุษย์แล้ว ก็เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไป ๑๒ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักตรัสมงคล. นี้ชื่อว่า มังคลโกลาหล.
               เทพเจ้าทั้งหลายชั้นสุทธาวาสนั้นแล เที่ยวบอกไปในถิ่นมนุษย์ว่า โดยกาลล่วงไป ๗ ปี ภิกษุรูปหนึ่งจักประชุมพร้อมกันกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามโมเนยยปฏิปทา. นี้ชื่อว่า โมเนยยโกลาหล.
               ในบรรดาโกลาหลทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ มังคลโกหาหลนี้เกิดขึ้นแล้วในโลก ในเมื่อพวกเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายแตกกันเป็น ๓ พวกด้วยสามารถแห่งทิฏฐมงคลเป็นต้น.
               ครั้งนั้น เมื่อเทพเจ้าทั้งหลายและมนุษย์ทั้งหลายค้นหากันแล้วๆ ไม่ได้มงคลทั้งหลายอยู่ โดยล่วงไป ๑๒ ปี เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ก็มาประชุมพร้อมกัน คิดร่วมกันอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เจ้าของเรือน (พ่อเจ้าเรือน) ย่อมบอกเนื้อความแก่พวกชนในเรือน, นายบ้าน ย่อมบอกเนื้อความแก่ชนทั้งหลายผู้อยู่ในบ้าน, พระราชาย่อมตรัสบอกเนื้อความแก่พวกมนุษย์ทั้งปวงแม้ฉันใด ท้าวสักกะจอมเทพนี้ซึ่งเป็นผู้เลิศและประเสริฐ คือเป็นอธิบดีแห่งเทวโลกทั้งสอง ด้วยบุญ ด้วยเดช ด้วยความเป็นใหญ่ (และ) ด้วยปัญญา ไฉนหนอ พวกเราจะพึงบอกเนื้อความนี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพฉันนั้นเหมือนกัน.
               เทวดาเหล่านั้นจึงพากันไปยังสำนักของท้าวสักกะ ถวายบังคมท้าวสักกะจอมเทพผู้มีพระวรกายอันเป็นสิริ ประดับด้วยฉลองพระองค์และอาภรณ์ แวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร ๒ โกฏิกึ่ง ผู้ประทับนั่งแล้วบนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ที่โคนต้นปาริฉัตร ตามสมควรแก่ขณะนั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลเนื้อความนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทราบเถิดว่า บัดนี้ มงคลปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว (คือ) เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล พวกหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่ได้ฟังแล้วเป็นมงคล อีกพวกหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่ได้ทราบแล้วเป็นมงคล. ในบรรดาทั้ง ๓ พวกนั้น พวกข้าพระองค์และพวกอื่นก็ตกลงกันไม่ได้ ดังพวกข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ (มงคลปัญหา) แก่พวกข้าพระองค์ตามความเป็นจริงเถิด.
               เทวราชแม้โดยปกติทรงมีปัญญา ตรัสถามว่า มงคลคาถานี้เกิดที่ไหนก่อน.
               เทวดาทั้งหลายก็ทูลว่า พวกข้าพระองค์ได้ฟังมงคลปัญหานี้ของพวกเทพชั้นจาตุมมหาราช ต่อจากนั้นเทวดาทั้งหลายก็ทูลว่า พวกเทพเจ้าชั้นจาตุมมหาราชทั้งหลาย (ได้ฟังปัญหา) ของพวกอากาสัฏฐเทวดา พวกอากาสัฏฐเทวดาก็ได้ฟังปัญหาของพวกภุมมเทวดา พวกภุมมเทวดาก็ได้ฟังปัญหาของพวกเทวดาผู้รักษามนุษย์ พวกเทพยดาซึ่งรักษามนุษย์ก็กล่าวว่า ปัญหาตั้งขึ้นแล้วในมนุษย์โลก.
               ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพจึงตรัสถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า (ขณะนี้) ประทับอยู่ที่ไหน. พวกเทวดาทั้งหลายก็กราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ พระองค์ประทับอยู่ในมนุษยโลก.
               ท้าวสักกะตรัสถามว่า ใครได้ทูลถามปัญหานั้นกะพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. เทพยดาทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่เทวะ ยังไม่มีใครทูลถาม. ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เพราะเหตุไรหนอแล พวกท่านจึงละเลยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้แสดงมงคลที่ไม่มีส่วนเหลือ แล้วสำคัญเราว่าเป็นผู้ควรถาม ชื่อว่าทิ้งไฟเสียแล้ว มาใช้แสงหิ่งห้อย. ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พวกท่านจงไป จงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พวกท่านก็จักได้การตอบปัญหาซึ่งมีสิริ (มีคุณค่า) อย่างแน่นอน.
               ท้าวสักกะเทวราชจึงตรัสสั่งเทพบุตรองค์หนึ่งว่า ท่านจงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า. เทพบุตรองค์นั้นประดับองค์ด้วยเครื่องอลังการตามสมควรขณะนั้น โชติช่วงอยู่ประดุจสายฟ้า มีหมู่เทพแวดล้อมมายังพระมหาวิหารเชตวัน กราบถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อจะทูลถามมงคลปัญหา จึงได้กล่าวด้วยคาถา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแก้ปัญหานั้นของเทพบุตรนั้น จึงได้ตรัสพระสูตรนี้.
               เนื้อความแห่งคำทั้งหลายมีคำว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นในพระสูตรนั้นแต่โดยย่อ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาแห่งกสิภารทวาชสูตร. ส่วนชนทั้งหลายผู้ปรารถนาความพิสดาร พึงถือเอาเนื้อความโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อปปัญจสูทนี.
               ก็ในกสิภารทวาชสูตร ท่านกล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในบ้านพราหมณ์ชื่อ เอกนาฬา ในทักขิณาคิรีชนบท ในแคว้นมคธ (แต่) ในมงคลสูตรนี้ ท่านกล่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี ข้าพเจ้าจักพรรณนาบทที่ไม่เคยพรรณาในมงคลสูตรนี้ เริ่มต้นแต่บทว่า สาวตฺถียํ เป็นต้นไป คือ
               บทว่า สาวตฺถิยํ ได้แก่ ในพระนครซึ่งมีชื่ออย่างนี้.
               ดังได้สดับมา นครนั้นได้เป็นสถานที่อยู่ของฤาษี ชื่อว่า สวัตถะ นครนั้นชาวโลกเรียกว่า สาวัตถี ด้วยสามารถที่เป็นอิตถีลิงค์ เหมือนที่อยู่ของฤาษีชื่อว่า กุสัมพะ ชาวโลกเรียกว่า โกสัมพี. ที่อยู่ของฤาษีชื่อว่า กากัณฑะ ชาวโลกเรียกว่า กากัณฑี ฉะนั้น แต่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้ว่า เพราะเหตุที่เมื่อชนทั้งหลายถามถึงกองเกวียนที่มารวมกันอยู่ ณ ที่นั้นว่า มีสินค้าอะไรบ้าง ชนทั้งหลายก็ตอบว่ามีสินค้าทุกอย่าง เพราะฉะนั้น สถานที่นี้ชาวโลกจึงเรียกว่า สาวัตถี หมายเอาคำนั้น.
               ในพระนครสาวัตถีนั้น ด้วยคำว่า สาวตฺถิยํ นี้ พระอานนทเถระแสดงถึงโคจรคามของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น.
               ราชกุมารชื่อว่า เชตะ มีอยู่. สถานที่นั้นชื่อว่าเชตวัน เพราะเป็นป่าของเจ้าเชตนั้น เนื่องจากเจ้าเช่นนั้นปลูกบำรุงให้เจริญไว้. ในพระเชตวันนั้น คหบดีชื่อว่า อนาถบิณฑิกะ เพราะอรรถว่าเป็นผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาทั้งหลาย. แห่งอนาถบิณฑิกะคหบดีนั้น. อธิบายว่า ในอารามที่คหบดีชื่อว่า อนาถบิณฑิกะ สร้างสำเร็จโดยการบริจาคทรัพย์ ๕๔ โกฏิ ด้วยคำว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม นี้เป็นอันพระอานนท์แสดงถึงที่อยู่อันสมควรแก่บรรพชิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               ศัพท์ว่า อถ ใช้ในอรรถว่า ไม่กำหนดกาล (แน่นอน)
               ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า แสดงถึงระหว่างแห่งอธิการ ด้วยคำว่า อถ โข นั้น พระอานนท์แสดงถึงเวลาที่ไม่กำหนดนั้นแลว่า ในระหว่างอธิการนี้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าในวิหารนั้น.
               ถามว่า เรื่องนั้นคืออะไร.
               ตอบว่า เรื่องนั้นคือ เทวดาองค์ใดองค์หนึ่งเป็นต้น เกิดขึ้นแล้วในระหว่างแห่งอธิการ.
               ในบรรดาคำทั้งสองนั้น คำว่า อญฺญตรา เป็นการแสดงถึงสิ่งที่ไม่ได้กำหนดแน่นอน. จริงอยู่ เทวดาองค์นั้นไม่ปรากฏชื่อและโคตร เพราะฉะนั้น พระอานนท์จึงกล่าวว่า อญฺญตรา (เทวดา) องค์ใดองค์หนึ่ง เทวดาก็คือเทพเจ้านั่นเอง คำว่า เทวดา นี้ใช้ทั่วไปทั้งเทวดาผู้หญิงและผู้ชาย แต่ในพระสูตรนี้ เทวดาเป็นผู้ชายเท่านั้น. เทวบุตรองค์นั้น. แต่ท่านกล่าวว่า เทวดา ดังนี้ เพราะเหตุไร. ตอบว่า เทวบุตรที่ท่านเรียกว่า เทวดา ก็ด้วยอำนาจสาธารณนาม.
               อภิกฺกนฺต ศัพท์ ในคำนี้ว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา ปรากฏใน อรรถว่าสิ้นไป (ขยะ) ดี (สุนทร) งาม (อภิรูป) น่าชื่นชม (อัพภานุโมทนา) เป็นต้น.
               ในบรรดาคำเหล่านั้น อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่าสิ้นไป ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์ก็นั่งอยู่นานแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด๑- ดังนี้.
               อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่าดี ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ดีกว่า ประณีตกว่า บุคคลทั้ง ๔ จำพวกเหล่านี้.๒-
               อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่างาม ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ใครนะมีผิวพรรณงามยิ่ง รุ่งเรืองอยู่ด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ ส่องทิศทั้งปวงให้สว่างไสวอยู่ ย่อมไหว้เท้าทั้งสองของเรา๓- ดังนี้.
               อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่าน่าชื่นชม ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าชื่นชม.๔-
               แต่ในมงคลสูตรนี้ อภิกฺกนฺต ศัพท์ใช้ในอรรถว่า ขยะ สิ้นไป เพราะเหตุนั้น เมื่อราตรีล่วงแล้ว อธิบายว่า เมื่อราตรีสิ้นแล้ว.
               อภิกฺกนฺต ศัพท์ ในคำว่า อภิกนฺตวณฺณา นี้ ใช้ในอรรถว่างาม.
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๔๔๗   ๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๐๐   ๓- ขุ. วิ. เล่ม ๒๖/ข้อ ๕๑
๔- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๔   องฺ. ทุก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๒๖๒

               ส่วน วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถทั้งหลายมีอรรถว่า ผิวพรรณ (ฉวิ) การชมเชย (ถุติ) สกุลวงศ์ (กุลวัคคะ) เหตุ (การณะ) รูปร่าง (สัณฐานะ) ประมาณ (ปมาณะ) และอายตนะคือสี (รูปายตนะ) เป็นต้น.
               ในบรรดาอรรถเหล่านั้น วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า ผิวพรรณ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์มีวรรณะเพียงดังทอง.๕-
               วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า การชมเชย ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี การชมเชยพระสมณโคดมเหล่านี้ ท่านรวบรวมไว้ตั้งแต่เมื่อใด.๖-
               วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า สกุลวงศ์ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะเหล่านี้มีอยู่ ๔ จำพวก.๗-
               วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า เหตุ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอแล ภิกษุ จึงถูกเรียกว่า เป็นผู้ขโมยกลิ่น.๘-
               วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า รูปร่าง ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า นิรมิตรูปแห่งพระยาช้างใหญ่.๙-
               วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า ประมาณ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า บาตรมี ๓ ขนาด.๑๐-
               วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า อายตนะคือสี ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า วรรณะ คันธะ รสะ โอชะ.
               แต่ในมงคลสูตรนี้ วณฺณ ศัพท์นั้น พึงเห็นว่า ปรากฏในอรรถว่า ผิวพรรณ.
               เพราะเหตุนั้น เทพบุตรนั้นเป็นผู้มีวรรณะงามยิ่ง อธิบายว่า มีผิวพรรณงาม.
____________________________
๕- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๖๐๙   ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๗๖
๖- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๘๓   ๗- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๔๗
๘- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๙๗   ๙- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๔๒๐
๑๐- วิ. ปา. เล่ม ๒/ข้อ ๑๑๙

               เกวล ศัพท์ ในคำว่า เกวลกปฺปํ นี้ มีอรรถเป็นอเนก คือมีอรรถว่า ไม่มีส่วนเหลือ อนวเสสะ, โดยมาก เยภุยยะ, ไม่เจือกัน อัพยามิสสะ, ไม่ใช่มาก อนติเรกะ, มั่นคง ทัฬหัตถะ, แยกจากกัน วิสังโยคะ เป็นต้น
               จริงอย่างนั้น เกวล ศัพท์นั้นมีอรรถว่า ไม่มีส่วนเหลือ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงประกาศ) พรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง (ไม่มีส่วนเหลือ).๑๑-
               เกวล ศัพท์นั้นมีอรรถว่า เป็นไปโดยมาก ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ก็ชาวอังคะและชาวมคธะส่วนมากถือขาทนียะและโภชนียะเป็นอันมากจักเข้าไปหา.๑๒-
               เกวล ศัพท์มีอรรถว่า ไม่เจือกัน ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นย่อมมีได้.๑๓-
               เกวล ศัพท์มีอรรถว่า ไม่ใช่มาก ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้จักบรรลุคุณวิเศษ เพราะอาศัยเหตุสักว่าศรัทธาอย่างเดียว แน่แท้.๑๔-
               เกวล ศัพท์มีอรรถว่า มั่นคง ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สัทธิวิหาริกของพระอนุรุทธะผู้มีอายุ ชื่อว่าพาหิกะ ดำรงอยู่เพื่อทำลายสงฆ์อย่างเดียว (มั่นคง).๑๕-
               เกวล ศัพท์มีอรรถว่า การแยกจากกัน ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้อยู่แต่ผู้เดียว ท่านเรียกว่า บุรุษผู้สูงสุด.๑๖-
               แต่ในมงคลสูตรนี้ ท่านประสงค์เอา เกวล ศัพท์นั้นซึ่งมีอรรถว่า ไม่มีส่วนเหลือ (ทั้งสิ้น).
____________________________
๑๑- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๑   ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๒๕๕
๑๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๔๓   ๑๓- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑
๑๔- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๓   ๑๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๔๓
๑๖- สํ. ขนฺธ. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๑๘

               ส่วน กปฺป ศัพท์ นี้ มีอรรถเป็นอเนกเป็นต้นว่า ความเชื่อถือ อภิสัททหนะ, โวหาร โวหาระ, กาล กาละ, บัญญัติ บัญญัติ, การตัด เฉทนะ, กำหนด วิกัปปะ, ข้ออ้าง เลสะ, โดยรอบ สมันตภาวะ เป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า เชื่อถือ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้อนั้นบุคคลพึงน้อมใจเชื่อต่อพระสมณโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นซึ่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยประการใดแล.๑๗-
               กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า โวหาระ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บริโภคผลไม้ด้วยสมณกัปปะทั้ง ๕.๑๘-
               กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า กาละ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า โดยสมัยใด เราจักอยู่ตลอดกาลเป็นนิจ.๑๗-
               กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า บัญญัติ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า เพราะเหตุนี้ พระกัปปะ ผู้มีอายุ.๑๙-
               กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า การตัด ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า เขาประดับตกแต่งแล้ว ตัดผม โกนหนวดแล้ว.๒๐-
               กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า กำหนด ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า กัปปะว่า ถ้าหากว่าตะวันคล้อยไปชั่ว ๒ องคุลี (ภิกษุวัชชีย่อมบัญญัติว่า) ย่อมควรเพื่อฉันอาหารได้.๒๑-
               กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า ข้ออ้าง ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้ออ้างเพื่อจะนอนมีอยู่.๒๒-
               กปฺป ศัพท์มีอรรถว่า โดยรอบ ในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ทำพระเวฬุวันโดยรอบทั้งสิ้นให้สว่างไสว.๒๓-
               แต่ในมงคลสูตรนี้ ท่านประสงค์เอา กปฺป ศัพท์ ในความหมายว่าโดยรอบ. เพราะเหตุนั้นในคำว่า เกวลกปฺปํ เชตวนํ นี้ พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ยังพระเชตวันทั้งสิ้นโดยรอบ.
____________________________
๑๗- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๓๐   ๑๘- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๒๕
๑๙- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๓๔   ๒๐- ขุ.ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๙๑๑
๒๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๓๐   ๒๒- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๘๕
๒๓- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๒๕๖

               บทว่า โอภาเสตฺวา ความว่า แผ่ไปแล้วด้วยแสงสว่าง อธิบายว่า กระทำแล้วให้สว่างเป็นอันเดียวกัน คือให้โชติช่วงเป็นอันเดียวกัน ดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์ฉะนั้น.
               คำว่า เยน ในคำว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถสัตตมีวิภัตติ.
               บัณฑิตพึงเห็นเนื้อความในคำว่า ยตฺถ ภควา ตตฺถ อุปสงฺกมิ นี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ใด ก็เข้าไปเฝ้าแล้วซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ในที่นั้น โดยกาลนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในคำว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเหตุใด เทวบุตรก็เข้าเฝ้าด้วยเหตุนั้น ดังนี้
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าโดยเหตุไร?
               ตอบว่า เข้าไปเฝ้าแล้ว. มีคำอธิบายว่า ไปแล้วด้วยความประสงค์ที่จะบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ ดุจไม้ใหญ่ที่ผลิดอกออกผลอยู่เป็นนิจ อันหมู่นกทั้งหลายเข้าไปหาอยู่ ด้วยประสงค์จะบริโภคผลที่อร่อยฉะนั้น.
               คำว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นการแสดงถึงการสิ้นสุดแห่งการเข้าไปเฝ้า. อีกอย่างหนึ่ง เทวดานั้นไปแล้วอย่างนี้ มีคำอธิบายว่า ไปแล้วสู่สถานที่อันใกล้กว่า คือที่ใกล้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าต่อจากนั้น.
               คำว่า ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา ความว่า ถวายบังคม คือนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               คำว่า เอกมนฺตํ เป็นคำแสดงถึงนปุสกลิงค์ มีคำอธิบายว่า ณ โอกาสข้างหนึ่ง คือ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า เอกมนฺตํ เป็นทุติยวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ (แปลว่า ณ, ใน).
               คำว่า อฏฺฐาสิ เป็นการปฏิเสธอิริยาบถอื่นมีการนั่งเป็นต้น. อธิบายว่า สำเร็จการยืน ได้แก่ เป็นผู้ยืนอยู่แล้ว.
               ถามว่า ก็เทวดานั้นยืนอย่างไร? ชื่อว่า ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ตอบว่า เทวดาเว้นแล้วซึ่งโทษ (๘ อย่าง) เหล่านี้คือ ไม่ยืนข้างหลัง ๑ ไม่ยืนข้างหน้า ๑ ไม่ยืนใกล้ ๑ ไม่ยืนไกล ๑ ไม่ยืนตรงหน้า ๑ ไม่ยืนเหนือลม ๑ ไม่ยืนต่ำกว่า ๑ ไม่ยืนสูงกว่า ๑. ชื่อว่า ยืนแล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

               เทวดายืนไม่นั่ง               
               ถามว่า ก็เทวบุตรนี้ยืนเท่านั้น ไม่นั่ง เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะเทวดาทั้งหลายประสงค์จะกลับไว. อธิบายว่า จริงอยู่ เทวดาทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์บางอย่างเท่านั้น จึงมายังมนุษยโลก ซึ่งเปรียบประดุจส้วมที่เต็มด้วยของไม่สะอาด ก็โดยปกติมนุษยโลกเป็นของปฏิกูลแก่เทวดาเหล่านั้น เพราะเป็นสถานที่มีกลิ่นเหม็นนับจำเดิมแต่ ๑๐๐ โยชน์ พวกเทวดาจึงไม่ยินดีในมนุษยโลกนั้น เพราะเหตุนั้นเทวดานั้นทำธุระที่ตนมาเสร็จแล้ว ก็ไม่ยอมนั่ง เพราะต้องการจะกลับไว ชนทั้งหลายย่อมนั่ง เพื่อจะบรรเทาความอ่อนเพลียแห่งอิริยาบถอันเกิดจากการเดินเป็นต้นอันใด ความเพลียอันนั้นของเทวดาทั้งหลายย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น เทวดาจึงไม่ยอมนั่ง
               ก็มหาสาวกทั้งหลายเหล่าใด ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่แล้ว เทวดาก็นับถือมหาสาวกเหล่านั้น จึงไม่นั่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง เทวดายืนไม่นั่งเพราะเคารพในพระพุทธเจ้า ด้วยว่าเมื่อเทวดาทั้งหลายจะนั่ง อาสนะก็บังเกิดขึ้น เทวดาไม่ปรารถนาอาสนะนั้นจึงไม่คิดแม้เพื่อจะนั่ง ได้ยืนอยู่แล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               คำว่า เอกมนฺตํ ฐิตา โข สา เทวตา ความว่า เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล ด้วยเหตุเหล่านี้อย่างนี้.
               คำว่า ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ อธิบายว่า ได้ทูลแล้วกะพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำที่นิยมอักขระบท (คือด้วยคาถา).
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า พหู เป็นการแสดงการนับที่ไม่แน่นอน มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายว่า ด้วยคำว่า พหู นั้น ย่อมมีร้อยเป็นอเนก มีพันเป็นอเนก มีแสนเป็นอเนก.

               เทวดามี ๓ ประเภท               
               สัตว์โลกที่ชื่อว่า เทพ เพราะอรรถว่าย่อมเล่น. อธิบายว่า เทวดาทั้งหลายย่อมเล่นด้วยกามคุณ ๕ หรือว่าย่อมโชติช่วงด้วยสิริของตน.
               อีกอย่างหนึ่ง เทวดามี ๓ ประเภท ด้วยอำนาจสมมติเทพ อุปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ. เหมือนอย่างที่พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ว่า คำว่า เทว ได้แก่เทพ ๓ ประเภท คือ สมมติเทพ ๑ อุปปัตติเทพ ๑ วิสุทธิเทพ ๑.
               อธิบายว่า พระราชาทั้งหลาย พระเทวีทั้งหลายและพระราชกุมารทั้งหลาย พระราชกุมารีทั้งหลาย ชื่อว่าสมมติเทพ. เทพในสวรรค์ชั้นนั้นๆ นับตั้งแต่เทพชั้นจาตุมมหาราชไป ชื่อว่าอุปปัตติเทพ. พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่าวิสุทธิเทพ.๑-
               ในบรรดาเทพ ๓ จำพวกเหล่านั้น อุปปัตติเทพ ท่านประสงค์เอาในพระสูตรนี้.
____________________________
๑- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๒๑๔   ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๖๕๔

               ความหมายของคำว่า มนุษย์               
               สัตว์โลกที่ชื่อว่า มนุษย์ เพราะอรรถว่าเป็นเหล่ากอแห่งพระมนู ก็พระโบราณาจารย์ทั้งหลายย่อมกล่าวว่า สัตว์โลกทั้งหลายที่ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเป็นผู้มีใจสูง.
               มนุษย์เหล่านั้นมี ๔ จำพวก คือ พวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ๑ พวกมนุษย์ชาวอมรโคยาน* ๑ พวกมนุษย์อุตตรกุรุ ๑ พวกมนุษย์ชาวปุพพวิเทหะ ๑.
               มนุษย์ชาวชมพูทวีป ท่านประสงค์เอาในพระสูตรนี้.
____________________________
* ในบางแห่งว่า อปรโคยานทวีป.

               สัตว์ทั้งหลายย่อมถึงความเจริญด้วยเหตุเหล่านี้ เหตุนั้น เหตุเหล่านี้จึงชื่อว่า มงคล. อธิบายว่า ย่อมถึงความสำเร็จ คือความเจริญ.
               คำว่า จินฺตยุํ ได้แก่ คิดกันแล้ว.
               คำว่า อากงฺขมานา ได้แก่ ปรารถนาอยู่ คือต้องการอยู่ หวังอยู่.
               บทว่า โสตฺถานํ ได้แก่ ความสวัสดี มีคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ซึ่งความมีอยู่แห่งคำทั้งหลายอันงาม คือดี คือสวย อันเป็นไปในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพทั้งปวง.
               คำว่า พฺรูหิ ได้แก่ จงแสดง คือจงประกาศ จงบอก จงเปิดเผย จงจำแนก จงทำให้แจ้ง.
               คำว่า มงฺคลํ ได้แก่ เหตุแห่งความสำเร็จ คือเหตุแห่งความเจริญ ได้แก่เหตุแห่งสมบัติทั้งปวง.
               คำว่า อุตฺตมํ ได้แก่ ประเสริฐ คือเลิศ ได้แก่นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่โลกทั้งปวง นี้คือการอธิบายตามลำดับบทแห่งคาถา.
               ส่วนการประมวลเนื้อความมีดังต่อไปนี้.
               เทพบุตรนั้นเชิญเทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาลให้ประชุมกันในจักรวาลอันเดียวนี้ เพื่อต้องการจะฟังมงคลปัญหา ได้เห็นแล้วซึ่งเทวดา มารและพรหมทั้งปวงผู้เนรมิตอัตภาพให้ละเอียด ประมาณเท่าปลายขนทรายเส้นหนึ่งเป็น ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ บ้าง ๓๐ บ้าง ๔๐ บ้าง ๕๐ บ้าง ๖๐ บ้าง ๗๐ บ้าง ๘๐ บ้างผู้ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งประทับนั่งเหนือบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้แล้ว ผู้รุ่งโรจน์ก้าวล่วง (เทพ, มาร, และพรหม) เหล่านั้น ด้วยพระสิริและพระเดช และได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น แม้ที่ยังไม่ได้มาในสมัยนั้นด้วยใจ เพื่อจะถอนเสียซึ่งลูกศรคือความสงสัยของเทพเจ้าและมนุษย์ทั้งปวง จึงได้ทูลว่า
               เทพเจ้าและมนุษย์เป็นอันมากหวังอยู่ซึ่งความสวัสดี คือปรารถนาความสวัสดีแห่งตน จึงพากันคิดมงคลทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นผู้ซึ่งข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ตามความอนุมัติของเทพเจ้าเหล่านั้น และด้วยความอนุเคราะห์ของมนุษย์ทั้งหลาย ขอจงตรัสบอกซึ่งมงคลอย่างสูงสุด คือว่าขอพระองค์ได้อาศัยความอนุเคราะห์ต่อข้าพระองค์ทั้งหลาย โปรดตรัสบอกมงคลอันสูงสุด เพราะจะนำประโยชน์สุขมาให้โดยส่วนเดียวแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายทั้งปวงทีเดียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของเทพบุตรนี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น. การไม่คบ คือการไม่เข้าไปนั่งใกล้ ชื่อว่า อเสวนา ในพระคาถานั้น. ในคำว่า พาลานํ มีวิเคราะห์ว่า ชนทั้งหลายเหล่าใดย่อมอ่อนแอ เหตุนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่า คนพาล.
               ถามว่า ย่อมอ่อนแอ เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า ชนทั้งหลายย่อมเป็นอยู่สักว่าลมหายใจเข้าออก. อธิบายว่า ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยปัญญา. ซึ่งคนพาลทั้งหลายเหล่านั้น.
               ในคำว่า ปณฺฑิตานํ มีวิเคราะห์ว่า ชนทั้งหลายเหล่าใด ย่อมดำเนินไปด้วยปัญญา เหตุนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่า บัณฑิต. อธิบายว่า ชนทั้งหลายย่อมดำเนินไปด้วยญาณคติในประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ. ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น.
               การคบ คือการเข้าไปนั่งใกล้ ได้แก่ การมีบุคคลนั้นเป็นสหาย การมีบุคคลนั้นเป็นเพื่อนชื่อว่า เสวนา.
               การทำสักการะ การทำความเคารพ การนับถือและการกราบไหว้ ชื่อว่า บูชา.
               คำว่า ปูชเนยฺยานํ หมายถึง ผู้ควรแก่การบูชา.
               คำว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรวบรวมการกระทำทั้งหมดคือ การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ เข้าด้วยกันแล้วตรัสว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ข้อนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด
               มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ท่านจงถือเอาในคำที่ท่านถามว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกมงคลอันสูงสุด ทั้ง ๓ นี้ว่า เป็นมงคลอันสูงสุดก่อนดังนี้ก่อน นี้คือการอธิบายบทแห่งพระคาถานี้.
               ส่วนการอธิบายเนื้อความแห่งพระคาถานั้น ผู้ศึกษาพึงทราบอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสดับคำของเทพบุตรนี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบคนพาลทั้งหลายดังนี้เป็นต้น.

               [กถา(ถ้อยคำที่ควรพูด) ของพระผู้มีพระภาคมีอยู่ ๔ ประการ]               
               ในข้อนี้มีกถา (ถ้อยคำที่ควรพูด) อยู่ ๔ ประการดังนี้
               คือ ปุจฉิตกถา ๑ อปุจฉิตกถา ๑ สานุสันธิกถา ๑ อนนุสันธิกถา ๑.
               ในถ้อยคำทั้ง ๔ ประเภทนั้น ถ้อยคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อมีผู้ทูลถามในปัญหาทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า ผู้ฟังทำอย่างไร จึงชื่อว่าเป็นผู้ฟังที่ดี๑- และว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอดังนี้.๒- ตรัสตอบแล้ว ชื่อว่า ปุจฺฉิตกถา.
               ถ้อยคำที่พระองค์ซึ่งไม่มีผู้ทูลถาม ปัญหาทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า สิ่งใดที่ชนพวกอื่นกล่าวว่าเป็นสุข สิ่งนั้นพระอริยเจ้ากล่าวว่าเป็นทุกข์๓- ดังนี้. ตรัสแล้วด้วยสามารถอัธยาศัยของตน (ผู้ฟัง) เท่านั้น ชื่อว่า อปุจฺฉิตกถา.
               พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้ทั้งปวงชื่อว่า สานุสนฺธิกถา. เพราะพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมที่มีเหตุซึ่งผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้.๔-
               อนนุสนฺธิกถา (ถ้อยคำที่พูดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล) ไม่มีในศาสนานี้.
               ในบรรดากถาทั้งหลายเหล่านี้ มงคลกถานี้ชื่อว่า ปุจฉิตกถา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเทวบุตรทูลถามแล้วได้ตรัสไว้ ดังพรรณนามานี้.
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๓๓   ๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๒
๓- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๐๖   ๔- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๖๕

               ก็ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในปุจฉิตกถา ดังต่อไปนี้ :-
               ในบรรดาบุคคลทั้งหลายที่ควรคบและไม่ควรคบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกถึงบุคคลที่ไม่ควรคบก่อน แล้วตรัสบอกถึงบุคคลที่ควรคบในภายหลัง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาด เป็นผู้ฉลาดในหนทางและที่ไม่ใช่หนทาง เมื่อมีผู้ถามถึงทาง จึงได้บอกทางที่ควรละก่อน แล้วบอกทางที่ควรถือเอาในภายหลังนั้นว่า ในสถานที่ชื่อโน้นมีทางอยู่สองแพร่ง ในบรรดาทางทั้งสองนั้น ท่านจงละทางซ้าย แล้วถือเอาทางขวาฉะนั้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเช่นกับคนที่ฉลาดในหนทาง สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนติสสะ คำว่าบุรุษผู้ฉลาดในหนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า๕- ด้วยว่าพระองค์ทรงฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกอื่น ฉลาดในบ่วงของมัจจุ ฉลาดในธรรมที่ไม่ใช่บ่วงของมัจจุ ฉลาดในบ่วงของมาร ฉลาดในธรรมที่มิใช่บ่วงของมาร.๖-
____________________________
๕- สํ. ขนฺธ. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๙๗   ๖- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๙๑

               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสบอกถึงบุคคลที่ไม่ควรเสพก่อน จึงตรัสว่า อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบคนพาลทั้งหลาย และเมื่อตรัสบอกบุคคลที่ควรเสพ จึงตรัสว่า ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา การคบบัณฑิตทั้งหลาย.
               ด้วยว่า พวกคนพาลอันบุคคลไม่ควรคบ คือไม่ควรเข้านั่งใกล้ก่อน ราวกะว่าทางที่ควรเว้น ต่อจากนั้นก็ควรคบคือควรเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตทั้งหลาย ดุจทางที่ควรถือเอา.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสมงคลจึงได้ตรัสถึงการไม่คบพวกคนพาลก่อน (ตรัส) ถึงการคบบัณฑิตทั้งหลายในภายหลัง.
               ตอบว่า เพราะเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายถือเอาแล้วซึ่งความเห็นอันเป็นมงคล ในมงคลทั้งหลายมีทิฏฐมงคลเป็นต้นนี้ เพราะด้วยการเสพกับคนพาล และมงคลทิฏฐินี้ก็เป็นอัปมงคล ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงติเตียนการคลุกคลีกับอกัลยามิตร ซึ่งหักรานประโยชน์ในโลกนี้ ในโลกอื่นนั้น และเมื่อทรงสรรเสริญการคบกัลยามิตรผู้ทำประโยชน์ในโลกทั้งสองให้สำเร็จ จึงได้ตรัสการไม่คบพวกคนพาลก่อน และตรัสการคบบัณฑิตทั้งหลายในภายหลัง แก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.
               สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบแล้วด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีปาณาติบาตเป็นต้นเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ชื่อว่า คนพาล. ในบรรดาคนพาลและบัณฑิตทั้งสองนั้น พวกคนพาลเหล่านั้น บัณฑิตจะพึงทราบได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลมีพาลลักษณะ ๓ ประการเหล่านี้๗- ดังนี้.
____________________________
๗- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๔๒

               อีกอย่างหนึ่ง ชนทั้งหลายเหล่านี้คือ ครูทั้งหกมีปูรณกัสสปเป็นต้น ชนทั้งหลายมีพระเทวทัต พระโกกาลิกะ พระกฏโมสกติสสะ พระขัณฑเทวีบุตร พระสมุททัตตะและนางจิญจมานวิกาเป็นต้น และพระภาดาของพระเจ้าทีฆวิทในอดีตกาล และสัตว์เห็นปานนี้เหล่าอื่น พึงทราบว่า คนพาล.
               ชนเหล่านั้นย่อมทำตนเองและชนทั้งหลายที่ทำตามถ้อยคำของตนให้ถึงความพินาศ ด้วยตนที่ถือเอาผิดประดุจเรือนที่ถูกไฟไหม้ทั่วแล้วฉะนั้น เหมือนอย่างพระภาดาของพระเจ้าทีฆวิทมีอัตภาพประมาณ ๖๐ โยชน์ นอนหงายตกไป อันไฟไหม้อยู่ในมหานรกสิ้น ๔ พุทธันดร และเหมือนอย่างสกุล ๕๐๐ สกุลซึ่งชอบใจทิฏฐิของพระองค์เข้าถึงความเป็นสหายของพระองค์นั้นแหละไหม้อยู่ในมหานรก.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๘-
               ภิกษุทั้งหลายไฟพ้นจากเรือนไม้อ้อ และเรือนหญ้าแล้วย่อมติดแม้เรือนยอดซึ่งฉาบทาทั่วแล้ว ลมเข้าไม่ได้ มีกลอนปิดสนิท หน้าต่างปิดแล้วแม้ฉันใด
               ภิกษุทั้งหลาย ภัยทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น ภัยเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่ อุปัทวะทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ อุปสรรคทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น อุปสรรคเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเกิดแต่คนพาล หาเกิดแต่บัณฑิตไม่
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แล คนพาลจึงเป็นผู้มีภัย บัณฑิตไม่มีภัย คนพาลมีอุปัทวะ บัณฑิตไม่มีอุปัทวะ คนพาลมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรคฉันนั้นเหมือนกันแล.
____________________________
๘- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๔๐

               อีกอย่างหนึ่ง คนพาลเป็นเช่นกับปลาเน่า บุคคลที่คบคนพาลนั้นเป็นเช่นกับใบไม้ที่ห่อปลาเน่า คนพาลจึงถึงความเป็นผู้ที่วิญญูชนทั้งหลายจะพึงทิ้งเสีย และถึงความเป็นผู้ที่วิญญูชนทั้งหลายจะพึงรังเกียจ
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   นรชนใดย่อมใช้ปลายหญ้าคาผูกซึ่ง
                         ปลาเน่า แม้หญ้าคาก็เหม็นเน่า มีกลิ่นฟุ้งไป
                         ฉันใด การคบคนพาลก็ฉันนั้น.
____________________________
๙- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๑๕๒   ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๘๖๒

               ก็แม้อกิตติบัณฑิต เมื่อท้าวสักกะจอมเทพประทานพรอยู่ ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า
                                   บุคคลไม่พึงเห็น ไม่พึงฟังคนพาล และไม่
                         พึงอยู่ร่วมกับคนพาล ไม่ควรสนทนาปราศรัยกับ
                         คนพาล และไม่ควรพอใจการสนทนาปราศรัยกับ
                         คนพาล
               (ท้าวสักกะตรัสถามว่า)
                                   ดูก่อนกัสสปะ คนพาลได้ทำอะไรให้แก่
                         ท่านแลหรือ ท่านจงบอกถึงเหตุ ดูก่อนกัสสปะ
                         เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ต้องการเห็นคนพาล
               (อกิตติดาบสตอบว่า)
                                   (เพราะ) คนพาลมีปัญญาทราม ย่อมแนะ
                         นำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ ย่อมประกอบในสิ่งที่ไม่ใช่
                         ธุระ การแนะนำในทางที่ผิดๆ เป็นความประเสริฐ
                         (ของคนพาล) คนพาลแม้เขาพูดดีๆ ก็โกรธ คน
                         พาลนั้นย่อมไม่รู้จักอุบายเครื่องแนะนำ การไม่
                         เห็นคนพาลนั้นเสียได้เป็นการดี.๑๐-
____________________________
๑๐- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๘๑๔

               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการคบคนพาลโดยประการทั้งปวงอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า การไม่คบพวกคนพาลเป็นมงคล.
               บัดนี้ เมื่อจะตรัสสรรเสริญการคบบัณฑิต จึงตรัส ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ว่าเป็นมงคล.
               สัตว์ทั้งหลายที่ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ มีปาณาติบาตเป็นต้นจำพวกใดจำพวกหนึ่งชื่อว่า บัณฑิต ในบรรดาการคบคนพาลและบัณฑิตทั้งสองนั้น บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้นจะพึงทราบได้โดยอาการ ๓ อย่าง ดังที่ตรัสไว้ในพระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตมีบัณฑิตลักษณะอยู่ ๓ ประการเหล่านี้๑๑- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑๑- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๔๒   ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๑๔๘

               อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอสีติมหาสาวกรวมทั้งสาวกของพระตถาคตเจ้าเหล่าอื่น และชนทั้งหลายมีสุเนตตดาบส มหาโควินทพราหมณ์ วิธูรบัณฑิต สรภังคดาบส มโหสถบัณฑิต สุตโสมบัณฑิต พระเจ้านิมิราช อโยฆรกุมาร และอกิตติบัณฑิตเป็นต้น พึงทราบว่า บัณฑิต.
               บัณฑิตเหล่านั้นเป็นผู้สามารถกำจัดภัยอุปัทวะและอุปสรรคทั้งปวงของพวกตน ผู้กระทำตามถ้อยคำของตน (บัณฑิต) ดุจการอารักขาในเวลามีภัย ดุจประทีปในที่มืด และดุจการได้ข้าวและน้ำเป็นต้น ในเวลาที่ถูกความทุกข์อันเกิดจากความหิวกระหายเป็นต้นครอบงำฉะนั้น.
               จริงอย่างนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนับไม่ถ้วน ไม่มีประมาณ อาศัยแล้วซึ่งพระตถาคตถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ บางพวกดำรงอยู่ในพรหมโลก บางพวกเกิดแล้วในเทวโลก สกุล ๘๐,๐๐๐ สกุลทำใจให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรเถระ อุปัฏฐากพระเถระด้วยปัจจัย ๔ บังเกิดแล้วในสวรรค์. สกุลทั้งหลายทำใจให้เลื่อมใสแล้วในพระมหาสาวกทั้งปวงมีพระมหาโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นต้นก็บังเกิดในสวรรค์เหมือนอย่างนั้น ชนทั้งหลายบางพวกซึ่งเป็นสาวกของสุเนตตศาสดาเท่านั้น บังเกิดแล้วในพรหมโลก บางพวกถึงความเป็นสหายของเทพทั้งหลายชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ฯลฯ หรือบางพวกถึงแล้วซึ่งความเป็นสหายของคหบดีมหาศาล.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภัยย่อมไม่มีแต่บัณฑิต อุปัทวะย่อมไม่มีแต่บัณฑิต อุปสรรคย่อมไม่มีแต่บัณฑิต.
               อีกประการหนึ่ง บัณฑิตเช่นกับภัณฑะแห่งของหอมมีกฤษณาและดอกไม้เป็นต้น บุคคลที่คบบัณฑิตนั้น เป็นเช่นกับด้วยใบไม้ที่ห่อของหอมมีกฤษณาและดอกไม้เป็นต้น ย่อมถึงความเป็นผู้อันวิญญูชนทั้งหลายพึงสรรเสริญ และความเป็นผู้เป็นที่ฟูใจแห่งวิญญูชนทั้งหลาย
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑๒-
                                   ก็นรชนใดย่อมใช้ใบไม้ห่อกฤษณา
                         แม้ใบไม้ทั้งหลาย ก็หอมฟุ้งขจรไปฉันใด
                         การคบนักปราชญ์ก็ฉันนั้น.
____________________________
๑๒- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๑๕๒   ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๘๖๒

               ก็แม้อกิตติบัณฑิต เมื่อท้าวสักกะจอมเทพประทานพรอยู่ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า
                                   บุคคลพึงเห็นนักปราชญ์ พึงฟังนักปราชญ์
                         พึงอยู่ร่วมกับนักปราชญ์ พึงกระทำการสนทนา
                         ปราศรัยกับนักปราชญ์นั้น และพึงชอบใจในการ
                         สนทนากับนักปราชญ์นั้น.
               (ท้าวสักกะตรัสถามว่า)
                                   ดูก่อนกัสสปะ นักปราชญ์ได้ทำอะไรให้แก่
                         ท่านหรือหนอ ท่านจงบอกถึงเหตุ ดูก่อนกัสสปะ
                         เพราะเหตุไร ท่านจึงปรารถนาเห็นนักปราชญ์.
               (อกิตติดาบสทูลว่า)
                                   เพราะนักปราชญ์เป็นผู้มีปัญญา ย่อมแนะนำ
                         อุบายที่ควรแนะนำ นักปราชญ์นั้นย่อมประกอบใน
                         สิ่งที่เป็นธุระ การแนะนำดีเป็นความดีของนักปราชญ์
                         นั้น นักปราชญ์นั้น เขาพูดชอบก็ไม่โกรธ นักปราชญ์
                         นั้นย่อมรู้จักอุบายเครื่องแนะนำ การสมาคมกับนัก
                         ปราชญ์นั้นจึงเป็นความดี.๑๓-
____________________________
๑๓- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๘๑๙

               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงสรรเสริญการคบหาบัณฑิตโดยประการทั้งปวง จึงตรัสว่า การเสพบัณฑิตทั้งหลายเป็นมงคล ดังพรรณนามาฉะนี้. บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญการบูชาปูชนียบุคคลทั้งหลายผู้เข้าถึงแล้วซึ่งภาวะที่ควรบูชาโดยลำดับ ด้วยการไม่เสพคนพาลทั้งหลาย และด้วยการเสพบัณฑิตทั้งหลายนั้น จึงตรัสว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การบูชาปูชนียบุคคลทั้งหลาย นี้เป็นอุดมมงคล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็น พุทธะ เพราะเว้นจากโทษทั้งปวง และเพราะประกอบด้วยพระคุณทั้งปวง พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายผู้มาในภายหลังแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ชื่อว่าปูชนียบุคคลในพระคาถานั้น ด้วยว่าการบูชาพระทักขิเณยยบุคคลเหล่านั้นแม้จะน้อย ก็ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขตลอดกาลนาน ก็ในข้อนี้มีนายสุมนมาลาการเป็นต้นเป็นตัวอย่าง. ในเรื่องการบูชาบุคคลที่ควรบูชานำความสุขมาให้ตลอดกาลนานนั้น ข้าพเจ้าจะยกเรื่องเพียงเรื่องเดียวเป็นตัวอย่าง.
               ดังได้สดับมา ในเวลาเช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่ง (สบง) เรียบร้อยแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต. ครั้งนั้น นายสุมนมาลาการถือดอกไม้ทั้งหลายเพื่อพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแคว้นมคธ กำลังไปอยู่ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ยังผู้อื่นให้เลื่อมใส ผู้ควรเลื่อมใส ผู้ประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการและอนุพยัญชนะ ๘๐ ทรงรุ่งเรืองอยู่ด้วยพุทธสิริ ผู้เสด็จถึงประตูพระนคร (พอดี).
               นายสุมนมาลาการนั้น ครั้นเห็นแล้วก็ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า พระราชาทรงรับดอกไม้ทั้งหลายแล้วจะพึงประทานทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะหรือ ๑,๐๐๐ กหาปณะ (แก่เรา) ก็ทรัพย์นั้นพึงเป็นความสุขยิ่งกว่าในโลกนี้ แต่การบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้ามีผลประมาณมิได้ นับมิได้ ย่อมนำความสุขมาสิ้นกาลนาน เอาเถิด เราจะบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               นายสุมนมาลาการนั้นมีใจเลื่อมใส ถือดอกไม้กำมือหนึ่ง ซัดไปแล้วเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดอกไม้ทั้งหลายไปทางอากาศได้เป็นเพดานดอกไม้ ดำรงอยู่แล้วเบื้องบนของพระผู้มีพระภาคเจ้า นายมาลาการเห็นอานุภาพนั้นแล้วย่อมมีใจเลื่อมใสยิ่งขึ้น ได้ซัดดอกไม้ไปอีกกำมือหนึ่ง ดอกไม้เหล่านั้นไปเป็นเกราะดอกไม้ดำรงอยู่แล้ว นายมาลาการซัดดอกไม้ไปถึง ๘ กำมือด้วยอาการอย่างนี้ ดอกไม้เหล่านั้นไปเป็นเรือนยอด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทับอยู่แล้วภายในเรือนยอด หมู่มหาชนประชุมกันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสรรเสริญนายมาลาการ จึงได้ทรงกระทำการแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ. พระอานนทเถระคิดว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทำการแย้มทั้งหลายให้ปรากฏ เพราะเรื่องมิใช่เหตุ มิใช่ปัจจัย ดังนี้แล้ว จึงทูลถามถึงเหตุที่ทำให้แย้มพระโอษฐ์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ นายมาลาการนี้ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสิ้นแสนกัป ในที่สุดก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่า สุมนิสสระ ด้วยอานุภาพแห่งการบูชานี้.
               ก็ในที่สุดแห่งพระวาจาเพื่อจะแสดงพระธรรมเทศนา จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
                         กรรมนั้นแลที่บุคคลทำแล้วเป็นกรรมดี๑๔-
                         นายสุมนมาลาการเอิบอิ่มแล้วด้วยกรรมใด
                         ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมใด (กรรมนั้นแล)
                         อันบุคคลทำแล้วเป็นกรรมดี ดังนี้.
____________________________
๑๔- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๕

               ในที่สุดแห่งคาถา สัตว์ทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม.
               การบูชาปูชนียบุคคลเหล่านั้นแม้จะน้อยอย่างนี้ ก็พึงทราบว่าย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน ก็การบูชานั้นเป็นอามิสบูชาเท่านั้น (ยังให้ผลถึงเพียงนี้) จะป่วยกล่าวไยถึงการปฏิบัติบูชา เพราะกุลบุตรเหล่าใดย่อมบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยการถึงรัตนะ ด้วยการรับสิกขาบท ด้วยการสมาทานองค์อุโบสถ และด้วยคุณทั้งหลายของตนมีปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น ใครเล่าจักพรรณนาผลแห่งการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นได้. ก็ชนทั้งหลายเหล่านั้น ท่านกล่าวว่า ย่อมบูชาพระตถาคตเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า อานนท์ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี คนใดแลปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมปฏิบัติสมควร มีปกติประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมสักการะเคารพ นับถือบูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง.๑๕-
____________________________
๑๕- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๒๙

               แม้การบูชาพระปัจเจกพุทธะและพระอริยสาวกทั้งหลาย ก็พึงทราบว่านำประโยชน์สุขมาให้เช่นกัน โดยทำนองเดียวกับการบูชานี้.
               อีกอย่างหนึ่ง (พึงทราบบุคคลผู้ควรบูชาในข้อนี้อย่างนี้ว่า) พี่ชายก็ดี พี่หญิงก็ดี ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ควรบูชาของน้องชายหรือน้องหญิง สำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลาย, บิดามารดาเป็นบุคคลผู้ควรบูชาสำหรับบุตร, สามี แม่ผัว พ่อผัว เป็นบุคคลผู้ควรบูชาสำหรับหญิงสาวในสกุลทั้งหลาย ด้วยว่าการบูชาแม้ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นมงคลเหมือนกัน เพราะการบูชานั้น ท่านนับว่าเป็นกุศลธรรม และเพราะการบูชานั้นเป็นเหตุแห่งความเจริญแห่งอายุเป็นต้น.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ชนเหล่าใดแลจักเป็นผู้เกื้อกูลแก่มารดา เป็นผู้เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ จักสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้อยู่ เพราะเหตุแห่งการสมาทานกุศลธรรมเหล่านั้น ชนเหล่านั้นจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง๑๖- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑๖- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๔๗

               ด้วยพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๓ ประการคือ การไม่คบคนพาลทั้งหลาย ๑ การคบบัณฑิตทั้งหลาย ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชาทั้งหลาย ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ในมงคลทั้ง ๓ ประการนั้น การไม่คบคนพาลทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะป้องกันอันตรายมีภัยเป็นต้นเสียได้ เนื่องจากการคบคนพาลเป็นปัจจัย และเพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์เกื้อกูลในโลกทั้งสอง การคบบัณฑิตทั้งหลาย และการบูชาทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งนิพพานและสุคติโดยนัยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ด้วยการพรรณนาผลและสมบัติของการบูชานั้น.
               แต่ว่าต่อจากนี้ไป ข้าพเจ้าจักไม่ได้แสดงมาติกาเลย กำหนดมงคลได้ ณ ที่ใด ก็จักพรรณนาความเป็นมงคล ณ ที่นั้น.
               จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น.

               คาถาที่ ๒ (มี ๓ มงคล)               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้อันเทวดาทูลเชื้อเชิญเพื่อให้ตรัสมงคลเดียวว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกมงคลอันสูงสุดดังนี้อย่างนี้ ก็ตรัสถึง ๓ มงคลด้วยคาถาเดียว เหมือนบุรุษที่มีจิตใจกว้างขวาง เขาขอน้อยก็ให้มากฉะนั้น เพราะเหตุที่พระองค์ทรงปรารถนาจะให้เทวดาทั้งหลายได้สดับแม้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น และเพราะมงคลมีอยู่หลายอย่าง พระองค์จึงเริ่มตรัสถึงมงคลทั้งหลายเป็นอเนกแม้อีก ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ ดังนี้เป็นต้น เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ปรารถนาจะชักนำสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นไว้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลนั้นๆ อันเป็นมงคล.
               ในพระคาถาที่ ๒ นั้น ข้าพเจ้าจะได้พรรณนาบทคาถาที่ ๑ ก่อน.
               คำว่า ปฏิรูโป แปลว่า สมควร. บ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ชนบทก็ดี หรือโอกาสเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลายแห่งใดแห่งหนึ่ง ชื่อว่าเทสะ. การอยู่ในประเทศนั้นชื่อว่าวาสะ.
               บทว่า ปุพฺเพ ได้แก่ กาลก่อน คือในชาติทั้งหลายที่ล่วงมาแล้ว.
               ความเป็นผู้มีกุศลอันสั่งสมไว้แล้วชื่อว่า กตปุญฺญตา.
               จิตท่านเรียกว่า อัตตา อีกอย่างหนึ่ง อัตภาพทั้งสิ้น ท่านก็เรียกว่าอัตตา.
               การตั้งความปรารถนา อธิบายว่า การประกอบไว้ คือการวางไว้ซึ่งตนนั้นโดยชอบ ชื่อว่า สัมมาปณิธิ.
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นแหละดังนี้แล. นี่คือการพรรณนาเฉพาะบทในคาถานี้ ส่วนการพรรณนาเนื้อความ พึงทราบดังต่อไปนี้.
               ที่ชื่อว่า ปฏิรูปเทส ได้แก่ ประเทศใดที่บริษัททั้ง ๔ เที่ยวไป ประเทศที่บุญกิริยาวัตถุทั้งหลายมีทานเป็นต้นย่อมเป็นไป ประเทศที่นวังคสัตถุศาสน์ย่อมรุ่งเรือง การอยู่ในปฏิรูปเทสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งการบำเพ็ญบุญของสัตว์ทั้งหลาย.
               ก็ในข้อนี้มีเรื่องของชาวประมงผู้เข้าไปสู่เกาะสิงหลเป็นต้นเป็นตัวอย่าง.
               อีกนัยหนึ่ง ที่ชื่อว่าปฏิรูปเทส ได้แก่ประเทศ คือ (โพธิมณฑล) ควงแห่งต้นโพธิเป็นที่ตรัสรู้แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงพระธรรมจักร ประเทศคือควงแห่งต้นคัณฑามพพฤกษ์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ทรงทำลายความมัวเมาของเดียรถีย์ทั้งปวง ในท่ามกลางบริษัท (ซึ่งมาประชุมกันในเนื้อที่) ถึง ๑๒ โยชน์ ประเทศที่เสด็จลงจากเทวโลก (ที่สังกัสสนคร) ก็แม้หรือว่า ประเทศอื่นใดอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีเมืองสาวัตถีและเมืองราชคฤห์เป็นต้น การอยู่ในปฏิรูปเทสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็น มงคล เพราะเป็นปัจจัยให้ได้อนุตตริยะ ๖ ประการ.
               อีกนัยหนึ่ง (ที่ชื่อว่าปฏิรูปเทส) ได้แก่ ประเทศในทิศตะวันออก มีนิคมชื่อว่า กชังคละ ต่อจากนิคมนั้นไปเป็นบ้านมหาสาลา ต่อจากบ้านมหาสาลานั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ.๑-
               ในทิศอาคเนย์ (ปุรตฺถิมทกฺขิณาย อนุทิสาย) มีแม่น้ำชื่อว่าสัลลวดี ต่อจากแม่น้ำสัลลวดีนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ
               ในทิศใต้ (ทกฺขิณาย ทิสาย) มีนิคมชื่อว่าเสตะกัณณิกะ ถัดจากนิคมนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ
               ในทิศตะวันตก (ปจฺฉิมาย ทิสาย) มีบ้านพราหมณ์ชื่อถูนะ ถัดจากบ้านพราหมณ์ชื่อถูนะไปเป็นปัจจันชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ.
               ในทิศอุดร (เหนือ) (อุตฺตราย ทิสาย) มีภูเขาชื่อว่าอุสีรัทธชะ ต่อจากภูเขานั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ.
               มัชฌิมประเทศนี้ยาว ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๒๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์ มัชฌิมประเทศนี้ ชื่อว่า ปฏิรูปเทส.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๒๓

               พระเจ้าจักรพรรดิ ผู้เป็นอิสริยาธิบดี แห่งทวีปใหญ่ ๔ ทวีปและทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีป ก็ทรงอุบัติในมัชฌิมประเทศนี้ พระมหาสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์เป็นต้น ซึ่งบำเพ็ญบารมีหนึ่งอสงไขยแสนกัป ก็บังเกิดขึ้นในมัชฌิมประเทศนี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยกับแสนกัป ก็อุบัติขึ้นในมัชฌิมประเทศนี้ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้บำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยหรือ ๘ อสงไขยหรือ ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป ก็บังเกิดขึ้นในมัชฌิมประเทศนี้.
               ในมัชฌิมประเทศนั้น สัตว์ทั้งหลายรับโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วดำรงอยู่ในเบญจศีล ก็มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ดำรงอยู่ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็เหมือนกัน แต่ดำรงอยู่ในโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายแล้ว มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วย มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วย การอยู่ในประเทศนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งสมบัติทั้งหลายเหล่านี้ด้วย.
               การสั่งสมกุศลปรารภพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระขีณาสพทั้งหลายในชาติที่ล่วงมาแล้ว ชื่อว่า ปุพฺเพ กตปุญฺญตา แม้ปุพเพกตปุญญตานั้นก็ชื่อว่าเป็นมงคล.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะคำอธิบายว่า บุคคลย่อมบรรลุพระอรหันต์ได้ ในที่สุดแห่งคาถาแม้ประกอบด้วยบท ๔ อันท่านแสดงแล้วต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งตนฟังแล้วเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือเฉพาะหน้าของพระพุทธสาวก.
               ก็มนุษย์ผู้ใดได้สั่งสมบุญไว้ในปางก่อน เป็นผู้มีมูลแห่งกุศลอันหนาขึ้นแล้ว มนุษย์ผู้นั้นเจริญวิปัสสนาแล้วย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะได้ ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นเอง เหมือนอย่างพระเจ้ามหากัปปินะและอัครมเหสีของพระองค์ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา มงฺคลํ.
               ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงการตั้งตนไว้ชอบต่อไป คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำตนซึ่งเป็นผู้ทุศีล ให้ตั้งอยู่ในศีล ทำตนซึ่งไม่มีศรัทธาให้ตั้งอยู่ในศรัทธาสัมปทา ทำตนซึ่งเป็นคนตระหนี่ให้ตั้งอยู่ในจาคะสัมปทา นี้ท่านเรียกว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ. การตั้งตนไว้ชอบนี้จัดว่าเป็นมงคล.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะเป็นเหตุให้ละเวรที่เป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพและให้บรรลุอานิสงส์ต่างๆ ด้วยคาถาแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคล ๓ มงคลเท่านั้น คือ การอยู่ในปฏิรูปเทส ๑ การกระทำบุญไว้ในปางก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ ดังพรรณนามาฉะนี้ ก็ความที่แห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าอธิบายให้แจ่มแจ้งแล้วในมงคลนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้แล.
               จบการพรรณนาเนื้อความแห่งพระคาถานี้ว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ ดังนี้เป็นต้น

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค มงคลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 316อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 317อ่านอรรถกถา 25 / 319อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=7825&Z=7857
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=1484
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=1484
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :