ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 313อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 314อ่านอรรถกถา 25 / 315อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค
รตนสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจวาจาด้วยพุทธคุณอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะตรัสด้วยธรรมคุณคือพระนิพพาน จึงทรงเริ่มว่า ขยํ วิราคํ อมตํ ปณีตํ เป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้น ดังต่อไปนี้ :-
               เพราะเหตุที่กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นสิ้นไปแล้ว คือสิ้นไปรอบแล้ว เพราะกระทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือเพราะเหตุที่ว่า พระนิพพานนั้นเป็นธรรมชาติสักว่า ไม่บังเกิดขึ้น ดับและสิ้นไปแห่งกิเลสมีราคะเป็นต้นเหล่านั้น และเพราะเหตุที่พระนิพพานนั้นไม่ประกอบด้วยราคะเป็นต้น ทั้งโดยสัมปโยค ทั้งโดยอารมณ์ หรือเพราะเหตุที่ว่าพระนิพพานนั้นอันพระอริยบุคคลทำให้แจ้งแล้ว กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นก็พลัดพรากออกไปโดยส่วนเดียว คือสำรอกไป ได้แก่กระจัดกระจายไป ฉะนั้นพระนิพพานนั้น ท่านจึงเรียกว่า ขยํ ธรรมเป็นที่สิ้นไป และเรียกว่า วิราคํ ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส.
               อนึ่ง เพราะความเกิดขึ้นของพระนิพพานนั้นไม่ปรากฏ ความเสื่อมไปก็ไม่ปรากฏ การเป็นอย่างอื่นแห่งพระนิพพานนั้นซึ่งดำรงอยู่แล้ว ก็ไม่ปรากฏ ฉะนั้น พระนิพพานนั้น ท่านจึงเรียกว่า อมตํ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่าไม่เกิด ไม่แก่และไม่ตาย. ก็พระนิพพานนั้นชื่อว่า ปณีตํ เพราะอรรถว่าสูงสุด และเพราะอรรถว่าไม่เร่าร้อน.
               สองบทว่า ยทชฺฌคา ความว่า (พระศากยมุนี) ได้ทรงบรรลุแล้วคือว่าทรงประสบแล้ว ได้แก่ได้แล้ว คือทำให้แจ้งแล้ว ซึ่งพระธรรมใดด้วยกำลังแห่งญาณของพระองค์.
               บทว่า สกฺยมุนี ได้แก่ ที่ชื่อว่าสักยะ เพราะประสูติในศากยสกุล ชื่อว่ามุนี เพราะพระองค์ทรงประกอบด้วยโมเนยยธรรม ศากยะนั้นเองเป็นมุนี จึงชื่อว่า ศากยมุนี.
               บทว่า สมาหิโต ได้แก่ มีจิตตั้งมั่นด้วยอริยมรรคสมาธิ.
               บาทคาถาว่า น เตน ธมฺเมน สมตฺถิ กิญฺจิ ความว่า ธรรมชาติไรๆ ที่จะเสมอด้วยพระธรรมที่พระศากยมุนีทรงบรรลุแล้ว มีนามว่า ขยํ เป็นต้นนั้น ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ แม้ในระหว่างแห่งพระสูตร (ในตอนกลางของอัคคัปปสาทสูตร) ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายมีประมาณเท่าใดทั้งที่เป็นสังขตะก็ตาม เป็นอสังขตะก็ตาม วิราคะ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น๑- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๔

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่นิพพานธรรมเป็นธรรมไม่เสมอด้วยธรรมเหล่าอื่นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อความเข้าไปสงบแห่งอุปัทวะซึ่งบังเกิดขึ้นแล้วแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ทรงอาศัยความที่ธรรมรัตนะคือ นิพพานธรรม ไม่มีธรรมอื่นจะเหมือน ด้วยคุณทั้งหลาย คือความเป็นธรรมเป็นที่สิ้นกิเลส สำรอกกิเลส เป็นอมตธรรมและธรรมอันประณีต จึงทรงประกอบสัจจวาจาว่า
                                   อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ
                                   เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.

                         ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต
                         ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่
                         สัตว์เหล่านี้
ดังนี้.
               เนื้อความแห่งคาถานั้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในคาถาก่อนนั้นแล อาชญา (อำนาจป้องกัน) แห่งคาถาแม้นี้ อันอมนุษย์ทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาลได้รับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจวาจาด้วยธรรมคุณคือพระนิพพานอย่างนี้แล้ว แม้ในบัดนี้เมื่อจะตรัสธรรมคุณคือมรรค จึงทรงเริ่มว่า ยมฺพุทฺธเสฏฺโฐ ปริวณฺณยี สุจึ ดังนี้.
               ในพระคาถานั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า พุทธะ โดยนัยว่า พระองค์ทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายดังนี้เป็นต้น. ชื่อว่าประเสริฐที่สุด เพราะอรรถว่าพระองค์เป็นผู้สูงสุด หรือเป็นผู้ควรสรรเสริญ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วย เป็นผู้ประเสริฐด้วย เพราะเหตุนั้นจึงเชื่อว่า พุทฺธเสฏฺโฐ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด.
               อีกอย่างหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าประเสริฐที่สุดในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือพระอนุพุทธะและพระปัจเจกพุทธะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า พุทฺธเสฏฺโฐ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด. พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดพระองค์นั้น ย่อมยกย่องคือว่าย่อมสรรเสริญ ได้แก่ย่อมประกาศซึ่งพระธรรมใด ในที่นั้นๆ โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ก็ทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางเกษมกว่าทางทั้งหลาย เพราะเป็นทางเพื่อบรรลุพระนิพพาน.๒- และว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงสัมมาสมาธิซึ่งเป็นอริยะ ซึ่งมีทั้งเหตุมีทั้งบริขาร (เครื่องแวดล้อม).๓-
____________________________
๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๒๘๗ ๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๒๕๒

               บทว่า สุจึ ได้แก่ ผ่องแผ้วที่สุด เพราะกระทำการตัดมลทิน คือกิเลส.
               บาทคาถาว่า สมาธิมานนฺตริกญฺญมาหุ ความว่า ก็บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสมาธิใด ที่ว่าเป็นสมาธิที่ให้ผลในลำดับ เพราะให้ผลในลำดับแห่งการเป็นไปของตนอย่างแน่นอนทีเดียว ก็เมื่อมรรคสมาธิบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่มีอันตรายไรๆ ที่จะห้ามความบังเกิดขึ้นแห่งผลของมรรคสมาธินั้น
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า๔-
               ก็บุคคลนี้พึงปฏิบัติ เพื่อการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และพึงเป็นเวลาที่ไฟไหม้กัป๕- คือว่าบุคคลนี้ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ตราบใดกัปก็ยังไม่ไหม้ตราบนั้น บุคคลนี้เราเรียกว่าฐิตกัปปี ผู้มีกัปอันตั้งอยู่แล้ว บุคคลผู้เป็นมรรคสมังคีแม้ทั้งหมดชื่อว่า ฐิตกัปปี (เหมือนกัน)
____________________________
๔- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๓๓
๕- บาลีว่า อุทยฺหนเวลา ของ ยุ. เป็น อุฑฺฑหนเวลา

               บาทคาถาว่า สมาธินา เตน สโม น วิชฺชติ ความว่า รูปาวจรสมาธิ หรืออรูปาวจรสมาธิไรๆ ที่จะเสมอด้วยสมาธิที่ให้ผลในลำดับ (มรรคสมาธิ) อันสะอาด ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดทรงสรรเสริญแล้วนั้น ย่อมไม่มี
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะแม้ท่านผู้อุบัติแล้วในพรหมโลกนั้นๆ เพราะเหตุที่ได้เจริญรูปาวจร และอรูปาวจรสมาธิเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมาอุบัติในอบายภูมิทั้งหลายมีนรกเป็นต้นได้อีก และเพราะเหตุที่พระอริยบุคคลเป็นผู้เพิกถอนการเกิดในภพทั้งปวงเสียได้ เพราะท่านได้เจริญอบรมอรหัตตสมาธินี้แล้ว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้แม้ในระหว่างแห่งพระสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขตะมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ เรากล่าวว่าเป็นเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น.๖-
____________________________
๖- อฺง. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๔   ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗๐

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่อานันตริกสมาธิ (อรหัตตมรรคสมาธิ) เป็นสมาธิที่ไม่เสมอกับสมาธิเหล่าอื่นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยความที่ธรรมรัตนะคือมรรค เป็นรัตนะที่ไม่เสมอ (กับรัตนะเหล่าอื่น) โดยนัยก่อนนั้นแล จึงทรงประกอบสัจวาจาว่า
                                   อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ
                                   เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ

               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น อันบัณฑิตพึงทราบโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้นนั้นแล อาชญาแห่งพระคาถาแม้นี้ อันอมนุษย์ทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาลได้รับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสสัจวาจา แม้ด้วยธรรมคุณ คือมรรคอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงปรารภแม้เพื่อจะกล่าวซึ่งสังฆคุณ จึงตรัสว่า เย ปุคฺคลา เป็นต้น
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย เป็นบทตั้ง ซึ่งไม่กำหนดแน่นอน.
               คำว่า ปุคฺคลา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย.
               บทว่า อฏฺฐ เป็นการกำหนดนับจำนวนบุคคลเหล่านั้น. จริงอยู่ พระอริยบุคคลเหล่านั้นมี ๘ จำพวก คือท่านผู้ปฏิบัติแล้ว ๔ จำพวกและท่านผู้ตั้งอยู่แล้วในผล ๔ จำพวก.
               สองบทว่า สตํ ปสฏฺฐา (อันสัตบุรุษสรรเสริญ) ความว่า อันสัตบุรุษทั้งหลายคือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกทั้งหลายและเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่าอื่นสรรเสริญแล้ว.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะพระอริยบุคคล ๘ จำพวกเหล่านั้นประกอบด้วยคุณมีศีลที่เกิดพร้อมกันเป็นต้น ด้วยว่าพระอริยบุคคลเหล่านั้นมีคุณหลายประการมีศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดร่วมกันเป็นต้น ดุจดอกไม้ทั้งหลายมีดอกจำปา ดอกพิกุลและดอกโกสุมเป็นต้น ซึ่งมีคุณหลายอย่าง มีสีและกลิ่นที่เกิดพร้อมกันเป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระอริยบุคคลเหล่านั้นจึงเป็นที่รักที่พอใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และเป็นผู้ที่สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เย ปุคฺคลา อฏฺฐ สตํ ปสฏฺฐา


               อริยบุคคล ๘ จำพวก               
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เย เป็นอุทเทส (บทตั้ง) ที่ไม่กำหนดแน่.
               คำว่า ปุคฺคลา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย.
               คำว่า อฏฺฐสตํ ได้แก่ การกำหนดคุณของพระอริยบุคคลเหล่านั้นว่ามี ๑๐๘.
               จริงอยู่ พระอริยบุคคล ๘ จำพวกเหล่านั้น รวมเป็น ๕๔ จำพวก คือ พระโสดาบัน ๓ จำพวก คือเอกพิธี ๑ โกลังโกละ ๑ สัตตักขัตตุปรมะ ๑.
               พระสกทาคามี ๓ จำพวก คือ ผู้ได้บรรลุผลแล้วในกามภพ รูปภพ อรูปภพ พระโสดาบันและพระสกทาคามีเหล่านั้น แม้ทั้งหมดรวมเป็น ๒๔ จำพวกด้วยสามารถแห่งปฏิปทา ๔ (๔x๖).
               พระอนาคามี ๒๔ จำพวก คือ พระอนาคามีในชั้นอวิหาภูมิ ๕ จำพวก คือ อันตราปรินิพพายี ๑ อุปหัจจปรินิพพายี ๑ สสังขารปรินิพพายี ๑ อสังขารปรินิพพายี ๑ และอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ๑ ในอตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิก็เหมือนกัน (คือมีภูมิละ ๕ จำพวก) แต่ในอกนิฏฐภูมิมี ๔ จำพวกเว้นอุทธังโสโต.
               พระอรหันต์ ๒ จำพวก คือ สุกขวิปัสสกะ ๑ สมถยานิกะ ๑ และท่านผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ จำพวก (รวมเป็น ๕๔ จำพวก) พระอริยบุคคลทั้ง ๕๔ จำพวกเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเอา ๒ คูณด้วยอำนาจแห่งสัทธาธุระและปัญญาธุระ จึงรวมเป็นพระอริยบุคคล ๑๐๘ จำพวก.
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล.
               บาทคาถาว่า จตฺตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนฺติ ความว่า พระอริยบุคคลเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ซึ่งท่านแสดงไว้ว่า ๘ จำพวก หรือ ๑๐๘ จำพวกโดยพิศดาร แต่โดยสังเขปมี ๔ คู่ คือ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค และตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลคู่ ๑ จนถึงบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรคและตั้งอยู่ในอรหัตตผลคู่ ๑.
               คำว่า เต ในคำนี้ว่า เต ทกฺขิเณยฺยา เป็นการขยายความกำหนด ถึงพระอริยบุคคลตามที่ท่านแสดงไม่กำหนดไว้ในตอนต้น
               บุคคลเหล่าใด ซึ่งท่านกล่าวไว้โดยพิสดารว่ามี ๘ จำพวกหรือ ๑๐๘ จำพวก แต่โดยสังเขปมี ๔ คู่ ดังนี้ พระอริยบุคคลเหล่านี้แม้ทั้งหมด.
               พระอริยบุคคลทั้งหลายชื่อว่า ทกฺขิเณยฺยา เพราะอรรถวิเคราะห์ว่าย่อมควรซึ่งทักษิณา. ไทยธรรมที่บุคคลเชื่อกรรม และเชื่อผลของกรรมให้อยู่โดยไม่คำนึงถึงเหตุทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้จักทำเวชกรรมนี้แก่เรา จะทำการรับใช้เราดังนี้ ชื่อว่าทักษิณา. บุคคลทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ชื่อว่าย่อมควรซึ่งทักษิณา ก็พระอริยบุคคลเหล่านี้เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุนั้น พระอริยบุคคลเหล่านั้นท่านจึงเรียกว่า ทักขิเณยยบุคคล.
               สองบทว่า สุคตสฺส สาวกา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุคโต เพราะพระองค์ประกอบด้วยการเสด็จไปที่งดงาม เพราะพระองค์เสด็จถึงฐานะที่งาม เพราะพระองค์เสด็จไปดี และเพราะพระองค์เสด็จไปด้วยดีนั้นเอง บุคคลเหล่านั้นแม้ทั้งหมดย่อมฟัง (ซึ่งคำสอน) ของพระสุคตเจ้านั้น เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า สาวก (ผู้ฟังคำสอนของพระสุคต)
               ก็คนแม้เหล่าอื่นย่อมฟังคำสอนของพระสุคตก็จริง แต่ว่าฟังแล้วหาได้ กระทำกิจที่ตนจะพึงกระทำไม่ แต่สาวกทั้งหลายเหล่านี้ ฟังแล้วกระทำตามธัมมานุธัมมปฏิบัติที่ควรกระทำ บรรลุแล้วซึ่งมรรคและผลทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า สาวก.
               บาทคาถาว่า เอเตสุ ทินฺนานิ มหปฺผลานิ ความว่า ทานทั้งหลายแม้จะน้อยที่บุคคลให้แล้วในสาวกของพระสุคตเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่ามีผลมาก เพราะทักษิณาทานเข้าถึงความบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก (ผู้รับ) เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้แม้ในตอนกลางๆ แห่งอัคคัปปสาทสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย หมู่หรือคณะมีประมาณเท่าใด หมู่แห่งสาวกของพระตถาคต เรากล่าวว่าเลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ บุรุษบุคคล ๘ นี่คือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชนทั้งหลายเหล่าใดเลื่อมใสแล้วในสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมได้รับผลเลิศ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสถึงคุณของสังฆรัตนะด้วยสามารถบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคและผลแม้ทั้งปวงอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยคุณข้อนั้นประกอบสัจวาจาว่า อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ ดังนี้เป็นต้น.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น พึงทราบโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้นนั้นแล อาชญาแห่งพระคาถาเหล่านี้ อันอมนุษย์ทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาลรับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสัจวาจาด้วยคุณของสังฆรัตนะด้วยสามารถแห่งท่านผู้ตั้งอยู่ในมรรค และท่านผู้ตั้งอยู่ในผลอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ต่อแต่นั้นทรงปรารภจะตรัสสัจวาจาด้วยคุณแห่งพระขีณาสพทั้งหลายผู้เสวยความสุข อันเกิดจากผลสมาบัติบางจำพวกเท่านั้น จึงตรัสว่า เย สุปฺปยุตฺตา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย เป็นคำยกขึ้นแสดงโดยไม่กำหนด
               บทว่า สุปฺปยุตฺตา ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยดี. อธิบายว่า พระอริยบุคคลเหล่านั้นละอเนสนามีอย่างต่างๆ อาศัยการเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์ เริ่มประกอบตนไว้ด้วยวิปัสสนา.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สุปฺปยุตฺตา ได้แก่ ประกอบด้วยกายประโยคและวจีประโยคอันบริสุทธิ์. ด้วยบทว่า สุปฺปยุตฺตา นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงศีลขันธ์ของพระอริยบุคคลเหล่านั้น.
               สองบทว่า มนสา ทฬฺเหน ความว่าด้วยใจที่มั่นคง. อธิบายว่า ด้วยจิตที่ประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคง ด้วยบทว่า มนสา ทฬฺเหน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงสมาธิขันธ์ของพระอริยบุคคลเหล่านั้น.
               บทว่า นิกฺกามิโน ความว่า เป็นผู้ไม่อาลัยในกายและชีวิต คือไม่มีความห่วงใยด้วยกิเลสทั้งปวงที่ได้กระทำไว้ ด้วยความเพียรที่เป็นปัญญาธุระ ด้วยบทว่า นิกฺกามิโน นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงปัญญาขันธ์ที่ถึงพร้อมด้วยความเพียรของพระอริยบุคคลเหล่านั้น.
               บทว่า โคตมสาสนมฺหิ ความว่า ในศาสนาของพระตถาคตเจ้าพระนามว่า โคดม โดยพระโคตรนั้นเอง. ด้วยบทว่า โคตมสาสนมฺหิ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความไม่มีความไม่ห่วงใยกิเลสทั้งหลายที่กระทำไว้แล้ว เพราะความไม่มีแห่งคุณมีการพยายามดีเป็นต้นแห่งพระอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้กระทำความเพียรเพื่อความไม่ตายมีประการต่างๆ ในภายนอกจากศาสนาของพระสมณโคดมนี้.
               บทว่า เต เป็นคำแสดงถึงฐานะที่พระองค์ได้แสดงไว้ในตอนต้น.
               ในบทว่า ปตฺติปตฺตา นี้ มีวิเคราะห์ดังนี้.
               ที่ชื่อว่า ปตฺติ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า อันบุคคลพึงบรรลุ. พระอริยบุคคลเหล่านั้น ชื่อว่าควรบรรลุ ได้แก่ผู้ควรบรรลุ พระอริยบุคคลเหล่านั้นบรรลุผลใดแล้ว เป็นผู้มีความเกษมจากโยคะโดยส่วนเดียว.
               คำว่า ปตฺติปตฺตา นั้นเป็นชื่อแห่งพระอรหัตผล.
               พระอริยบุคคลบรรลุแล้วซึ่งพระอรหัตผลนั้น เพราะเหตุนั้น พระอริยบุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ปตฺติปตฺตา ผู้บรรลุผลที่ควรบรรลุ.
               บทว่า อมตํ ได้แก่ พระนิพพาน.
               บทว่า วิคยฺห ได้แก่ หยั่งลงแล้วด้วยอำนาจแห่งอารมณ์.
               บทว่า ลทฺธา ได้แก่ ได้แล้ว.
               บทว่า มุธา ได้แก่ โดยไม่เสื่อม คือว่าไม่กระทำให้เสียไปแม้ ๑ กากณิก.
               บทว่า นิพฺพุตึ ได้แก่ ผลสมาบัติ เป็นที่สงบระงับความกระวนกระวายแห่งกิเลส.
               บทว่า ภุญฺชมานา คือ เสวยอยู่.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายเหล่าใด ชื่อว่าประกอบแล้วด้วยดี เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีล ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเยื่อใย เพราะถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยจิตใจที่มั่นคง เพราะเหตุที่สมบูรณ์ด้วยสมาธิในศาสนาของพระโคดมนี้ พระอริยบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นหยั่งลงแล้วสู่อมตะด้วยสัมมาปฏิปทา ได้แล้วซึ่งความดับที่รู้กันว่าผลสมาบัติโดยไม่เสื่อม บริโภคอยู่ เป็นผู้ชื่อว่าได้บรรลุผลที่ควรบรรลุ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณแห่งพระสังฆรัตนะด้วยอำนาจบุคคลผู้เป็นขีณาสพซึ่งเสวยความสุขอันเกิดจากผลสมาบัติเท่านั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณนั้นเองประกอบสัจวาจาว่า อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ เป็นต้น.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น พึงทราบโดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในตอนต้นนั้นแล.
               อาชญาแห่งคาถาแม้นี้ อันอมนุษย์ทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาลรับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจะอันมีพระสงฆ์เป็นที่ตั้งด้วยคุณแห่งพระขีณาสพบุคคลทั้งหลายอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะกล่าวถึงคุณของพระโสดาบันอันประจักษ์แก่ชนจำนวนมากเท่านั้น จึงทรงเริ่มว่า ยถินฺทขีโล ปฐวึ สิโต สิยา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า ยถา เป็นคำอุปมา.
               คำว่า อินฺทขีโล นี้เป็นชื่อแห่งเสาไม้แก่นที่เขาขุดแผ่นดินตอกลงไปลึก ๘ ศอกหรือ ๑๐ ศอกที่ระหว่างประตู เพื่อป้องกันประตูพระนคร.
               บทว่า ปฐวึ ได้แก่ พื้นดิน.
               บทว่า สิโต ได้แก่ ฝังตั้งไว้ภายในดิน.
               บทว่า สิยา ได้แก่ พึงเป็น.
               สองบทว่า จตุพฺภิ วาเตภิ คือ เพราะลมที่มาจากทิศทั้งสี่.
               บทว่า อสมฺปกมฺปิโย ได้แก่ ไม่อาจจะให้หวั่นไหวหรือจะให้เคลื่อนได้.
               บทว่า ตถูปมํ ได้แก่ มีอย่างนั้น.
               บทว่า สปฺปุริสํ ได้แก่ บุรุษผู้สูงสุด.
               บทว่า วทามิ แปลว่า ย่อมกล่าว.
               บาทพระคาถาว่า โย อริยสจฺจานิ อเวจฺจ ปสฺสติ ความว่า ผู้ใดหยั่งลงด้วยปัญญาเห็นอริยสัจ ๔. อริยสัจในพระคาถานั้น พึงทราบโดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               แต่ในที่นี้ มีความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               เสาเขื่อนที่เขาฝังดินไว้ จะไม่พึงหวั่นไหวเพราะลมจากทิศทั้ง ๔ ได้เพราะเหตุที่มีโคนอยู่ลึกฉันใด ผู้ใดพิจารณาเห็นอริยสัจทั้งหลาย เราเรียกผู้นี้ว่าสัตบุรุษ ซึ่งมีอุปมาฉันนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะบุคคลแม้นี้เป็นผู้ไม่หวั่นไหวด้วยลม คือการกล่าวของพวกเดียรถีย์ทั้งปวง ดุจเสาเขื่อนไม่หวั่นไหว เพราะลมจากทิศทั้ง ๔ ฉะนั้น คือว่าเป็นผู้อันใครๆ ไม่อาจเพื่อจะให้หวั่นไหว หรือเพื่อจะให้เคลื่อนจากความเห็นนี้ได้
               เพราะฉะนั้น แม้ในพระสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนตะปูเหล็กหรือเสาเขื่อนซึ่งมีโคนอยู่ลึก ฝังไว้ดีแล้ว ไม่โอนเอน คือไม่หวั่นไหว แม้หากว่าจะมีลมฝนที่แรงกล้าพัดมาจากทิศตะวันออกก็ไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน ไม่เคลื่อน แม้หากว่าจะมีลมฝนแรงกล้าพัดมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ แม้ว่าจะมีลมฝนแรงกล้าพัดมาจากด้านทิศใต้ ฯลฯ แม้ว่าจะมีลมฝนแรงกล้าพัดมาจากด้านทิศเหนือ ตะปูเหล็กหรือเสาเขื่อนนั้นก็ไม่พัง ไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน ไม่เคลื่อน.
               ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่เสาเขื่อนนั้นมีโคนลึก ก็เพราะเหตุที่เสาเขื่อนเขาฝังไว้ดีแล้วแม้ฉันใด
               ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมทราบตามความเป็นจริงว่า นี่คือทุกข์ นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือความดับทุกข์ นี่คือทางให้ถึงความดับทุกข์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นหาได้มองดูหน้าสมณพราหมณ์เหล่าอื่นไม่ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้รู้อยู่ ย่อมรู้ เห็นอยู่ ย่อมเห็น.
               ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นเป็นเพราะว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้เห็นอริยสัจ ๔ แจ่มชัดแล้ว.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๒๓

               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสคุณแห่งพระสังฆรัตนะด้วยอำนาจแห่งพระโสดาบันซึ่งคนเป็นจำนวนมากเห็นได้ประจักษ์เท่านั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นเอง จึงทรงประกอบสัจวาจาว่า อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ ดังนี้.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น พึงทราบโดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในตอนต้นนั้นเอง.
               อาชญาแห่งคาถาแม้นี้ อันอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาลรับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจะซึ่งมีพระสงฆ์เป็นที่ตั้ง ด้วยคุณของพระโสดาบันโดยไม่แปลกกันอย่างนี้แล้ว บัดนี้ จึงตรัสว่า พระโสดาบัน ๓ จำพวกเหล่านั้น คือ เอกพิชี ๑ โกลังโกละ ๑ สัตตักขัตตุปรมะ ๑
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒-
               บุคคลบางพวกในโลกนี้บรรลุโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้ง ๓ บุคคลนั้นบังเกิดอีกชาติเดียวเท่านั้น ก็ทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลนี้ชื่อว่า เอกพีชี. อนึ่ง บุคคลใดท่องเที่ยวไปสู่สกุล ๒ หรือ ๓ สกุล (เกิด ๒ หรือ ๓ ชาติ) แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้ชื่อว่า โกลังโกละ. อนึ่ง บุคคลใดท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกสิ้น ๗ ครั้ง (ร่วมกัน) แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้ชื่อว่า สัตตักขัตตุปรมะ.
____________________________
๒- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๔๗

               เพื่อจะตรัสถึงคุณของพระโสดาบันผู้เป็นสัตตักขัตตุปรมะ อันเป็นผู้น้อยกว่าพระโสดาบัน ๓ จำพวกนั้น จึงทรงเริ่มว่า เย อริยสจฺจานิ วิภาวยนฺติ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำนี้ว่า เย อริยสจฺจานิ มีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล.
               บทว่า วิภาวยนฺติ ความว่า กำจัดความมืดคือกิเลสที่ปกปิดสัจจะด้วยโอภาส คือปัญญา กระทำประกาศของตนให้ปรากฏ.
               บทว่า คมฺภีรปญฺเญน ได้แก่ ด้วยปัญญาที่ประดิษฐานไว้ อันบุคคลไม่พึงได้ด้วยญาณของโลก แม้พร้อมทั้งเทวโลก เพราะเหตุที่เป็นผู้มีปัญญาไม่อาจจะประมาณได้. มีคำอธิบายว่า ด้วยสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า สุเทสิตานิ ความว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้วด้วยดี ด้วยนัยทั้งหลายเหล่านั้นๆ มีโดยย่อ โดยพิศดาร สากลและโดยรวบรัด เป็นต้น
               บาทคาถาว่า กิญฺจาปิ เต โหนฺติ ภุสปฺปมตฺตา ความว่า บุคคลทั้งหลายผู้มีอริยสัจอันทำให้แจ้งแล้วเหล่านั้น แม้บางคราวถึงฐานะเป็นที่ตั้งความประมาท เช่นเมื่อเป็นเทวราชหรือพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น เป็นผู้ประมาทอย่างยิ่งก็จริง ถึงกระนั้น พระอริยบุคคลเหล่าใดดำรงอยู่แล้วด้วยการดับอภิสังขารวิญญาณ ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณ จะพึงทำนามรูปให้เกิดขึ้นในสังสารวัฏอันมีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ไม่รู้แล้วสิ้น ๗ ภพ จะไม่ทำภพที่ ๘ ให้บังเกิดขึ้น เพราะดับนามรูปเหล่านั้นเสียได้ เพราะนามรูปถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ แต่ได้เจริญวิปัสสนาในภพที่ ๗ นั่นเองก็จะได้บรรลุพระอรหันต์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณแห่งสังฆรัตนะด้วยอำนาจแห่งพระโสดาบันผู้สัตตักขัตตุปรมะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยคุณนั้นนั่นเอง ทรงประกอบสัจวาจาว่า อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ ดังนี้.
               เนื้อความแห่งบาทคาถานั้น พึงทราบโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้นนั้นแล อาชญาแห่งคาถาแม้นี้ อมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาลได้รับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจะอันมีพระสงฆ์เป็นที่ตั้งด้วยคุณคือการไม่ทรงคำนึงถึงภพที่ ๘ ของพระโสดาบันผู้สัตตักขัตตุปรมะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสถึงคุณของพระโสดาบันนั้นนั่นเองแม้ผู้ยังต้องเกิดอยู่สิ้น ๗ ภพว่ายังพิเศษกว่าบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นซึ่งยังละความยึดมั่นในภพไม่ได้ จึงทรงเริ่มว่า สหาวสฺส ทสฺสนสมฺปทาย ดังนี้เป็นต้น.
               ในคาถานั้น ศัพท์ว่า สหาว ได้แก่ พร้อมนั้นเอง.
               บทว่า อสฺส ได้แก่ พระโสดาบันจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ในบรรดาพระโสดาบันทั้ง ๓ จำพวกซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า พระโสดาบันเหล่านั้นย่อมไม่ถือเอาภพที่ ๘ บังเกิดขึ้น.
               บทว่า ทสฺสนสมฺปทาย ได้แก่ ด้วยความถึงพร้อมด้วยโสดาปัตติมรรค.
               จริงอยู่ โสดาปัตติมรรค ท่านเรียกว่า ทัสสนะ เพราะเห็นพระนิพพานได้ก่อนกว่าพระอริยะทุกจำพวก เพราะความถึงพร้อมแห่งกิจอันท่านเห็นพระนิพพานแล้วจะพึงกระทำ ความที่โสดาปัตติมรรคนั้นปรากฏในตน ชื่อว่า ทสฺสนสมฺปทา ความถึงพร้อมด้วยทัสสนะ ด้วยความถึงพร้อมด้วยทัสสนสัมปทานั่นเอง.
               คำว่า สุ ในพระคาถานี้ว่า ตยสฺสุ ธมฺมา ชหิตา ภวนฺติ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถทำบทให้เต็ม เหมือนคำว่า สุ ในประโยคทั้งหลายมีประโยคอย่างนี้ว่า อิทํสุ เม สาริปุตฺต มหาวิกฏโภชนสฺมึ โหติ.๓-
____________________________
๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๘๒

               ในประโยคนี้มีเนื้อความเพียงนี้ว่า
               ก็เพราะพระโสดาบันนั้นละคือสละธรรม ๓ ประการเสียได้พร้อมด้วยทัสสนสัมปทานั้น เพื่อแสดงถึงธรรมที่พระโสดาบันละได้แล้วในบัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                                   สกฺกายทิฏฺฐิ วิจิกิจฺฉิตญฺจ
                                   สีลพฺพตํ วาปิ ยทตฺถิ กิญฺจิ

                         สักกายทิฏฐิ และวิจิกิจฉา หรือ
                         สีลัพพตปรามาส อันใดอันหนึ่งมีอยู่
ดังนี้.
               ในคาถานั้นพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ในกายที่มีอยู่ ได้แก่ในกาย กล่าวคืออุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ. อีกอย่างหนึ่ง แม้ทิฏฐิที่มีอยู่ในกาย ก็ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ. อธิบายว่า ทิฏฐิที่มีอยู่ในกายมีประการดังข้าพเจ้ากล่าวแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ ก็เพราะอรรถว่าเป็นทิฏฐิในกายที่มีอยู่นั่นเอง. อธิบายว่า ทิฏฐิที่เป็นไปอย่างนี้ว่า ตัวตน กล่าวคือ อรูปขันธ์เป็นต้นในกายที่มีอยู่มีประการตามที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ.
               ก็ทิฏฐิทุกประการเป็นอันพระโสดาบันนั้นละได้แล้ว ก็เพราะท่านละสักกายทิฏฐินั้นได้แล้วนั่นเอง ก็สักกายทิฏฐินั้นเป็นมูลรากแห่งทิฏฐิทั้งปวงเหล่านั้น.
               ปัญญา ท่านเรียกว่า จิกิจฺฉิตํ คุณชาตเครื่องเยียวยา เพราะเข้าไปสงบพยาธิ (คือกิเลส) ทั้งปวง ปัญญาที่เป็นตัวเยียวยานั้น ไปปราศจากคุณชาตนี้ หรือว่าคุณชาตนี้ ไปปราศจากปัญญาที่เป็นตัวเยียวยานั้น เพราะเหตุนั้น คุณชาตนั้นจึงชื่อว่า วิจิกิจฺฉิตํ (วิจิกิจฉา)
               คำว่า วิจิกิจฺฉิตํ นั้นเป็นชื่อแห่งความสงสัยในวัตถุ ๘ ประการตามที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยว่า๔- ความสงสัยในพระศาสดาดังนี้เป็นต้น ก็เพราะเหตุที่พระโสดาบันละความสงสัยนั้นเสียได้ ความสงสัยทุกอย่างจึงเป็นอันท่านละได้แล้ว เพราะความสงสัยนั้นเป็นมูลรากแห่งความสงสัยทั้งปวง.
               ศีลหลายประการมีศีลอย่างโค ศีลอย่างสุนัขเป็นต้น และวัตรมีวัตรของโคและวัตรของสุนัขเป็นต้น ซึ่งมาแล้วในสูตรทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า๕- "ความบริสุทธิของสมณพราหมณ์ ภายนอกศาสนานี้ ย่อมมีด้วยศีล (เช่นศีลอย่างโคเป็นต้น) ความบริสุทธิย่อมมีด้วยวัตร เช่นวัตรของโคเป็นต้น" ดังนี้. ท่านเรียกว่าศีลพรต เพราะละศีลพรตนั้นเสียได้ ตบะที่ไม่ตายแม้ทั้งปวงมีนัคคิยตบะ ตบะของคนเปลือย และมุณฑิยตบะ ตบะของคนโล้นเป็นต้น ก็เป็นอันพระโสดาบันละได้.
____________________________
๔- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๖๗๒   อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๓๒
๕- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๘๓   อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๖๒

               เพราะว่าศีลพรตนั้นเป็นมูลรากแห่งศีลพรตทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ในที่สุดแห่งคำทั้งปวง (ท้ายบทคาถา) ว่า ยทตฺถิ กิญฺจิ บัณฑิตพึงทราบว่า ก็สักกายทิฏฐิ ในคำว่า สกฺกายทิฏฺฐิ วิจิกิจฺฉิตญฺจ สีลพฺพตํ วาปิ นี้ อันพระโสดาบันละเสียได้ด้วยความถึงพร้อมแห่งการเห็นทุกข์ ละวิจิกิจฉาเสียได้ ด้วยความถึงพร้อมแห่งการเห็นสมุทัย ละสีลัพพตปรามาสเสียได้ด้วยการเห็นพระนิพพานด้วยมรรค.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการละกิเลสแห่งพระโสดาบันบุคคลอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงการละวิปากวัฏในเมื่อกิเลสวัฏยังมีอยู่ จึงตรัสว่า จตูหปาเยหิ จ วิปฺปมุตฺโต เป็นต้น.
               ในพระคาถานั้น นรก สัตว์เดรัจฉาน ปิตติวิสัยและอสุรกาย ชื่อว่าอบาย ๔. อธิบายว่า ก็พระอริยบุคคล (โสดาบัน) นี้แม้อุบัติอยู่ในภพ ๗ (๗ ชาติ) ก็พ้นแล้วจากอบายทั้ง ๔ เหล่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงการที่พระโสดาบันนั้นละวิปากวัฏได้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงการละแม้กรรมวัฏอันเป็นมูลรากของวิปากวัฏนี้ จึงตรัสว่า ฉ จาภิฐานานิ อภพฺโพ กาตุํ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำอภิฐาน ๖.
               กรรมที่หยาบช้าชื่อว่า อภิฐาน ก็พระโสดาบันนี้เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำอภิฐานเหล่านั้น ก็อภิฐาน ๖ เหล่านี้ ผู้ศึกษาพึงทราบว่า กรรมคือ มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต โลหิตุปบาท สังฆเภท และการถือศาสดาอื่น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์เอกนิบาต โดยนัยว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิจะพึงฆ่ามารดานี้ ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาส๖- ดังนี้เป็นต้น
____________________________
๖- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๕๖   ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๒๔๕

               แม้ว่าพระอริยบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิจะไม่พึงฆ่า แม้มดดำมดแดงก็จริง แต่ถึงกระนั้น อภิฐาน ๖ เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้เพื่อจะติเตียนความเป็นปุถุชน ด้วยว่าปุถุชนย่อมกระทำแม้ซึ่งอภิฐานอันมีโทษมากอย่างนี้ เพราะตนยังไม่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ แต่ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่ควรเพื่อจะทำอภิฐานเหล่านั้น.
               ก็ อภัพพ ศัพท์ ในบาทคาถาว่า ฉ จาภิฐานานิ อภพฺโพ กาตุํ นี้เป็นการแสดงถึงการไม่กระทำอภิฐาน ๖ แม้ในระหว่างภพเป็นอรรถ. จริงอยู่ แม้ในระหว่างภพ พระอริยบุคคลนี้แม้ไม่ทราบว่าตนเป็นพระอริยสาวกก็ย่อมไม่กระทำเวร ๕ มีการฆ่าสัตว์เป็นปกติเป็นต้น หรืออภิฐาน ๖ เหล่านี้พร้อมกับการนับถือศาสดาอื่น คือไม่กระทำฐานะ ๖ ซึ่งอาจารย์บางพวกกล่าวว่าอภิฐาน ๖ ดังนี้ก็มี. ก็ในข้อนี้มีเรื่องเด็กหญิงชาวบ้านผู้เป็นอริยสาวิกาซึ่งถือเอาปลาตายเป็นต้นเป็นตัวอย่าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสถึงคุณของพระอริยสาวกผู้แม้อุบัติแล้วสิ้น ๗ ภพ ซึ่งเป็นสังฆรัตนะด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้มีคุณพิเศษกว่าบุคคลทั้งหลายซึ่งยังละความยึดมั่นในภพไม่ได้เหล่าอื่นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงอาศัยคุณข้อนั้นนั่นเอง จึงทรงประกอบสัจวาจาว่า อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น พึงทราบโดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในตอนต้นนั้นแล
               อาชญาแห่งคาถาแม้นี้อันอมนุษย์ในแสนโกฏิจักรวาลรับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสสัจจะอันเป็นสังฆาธิษฐาน (มีพระสงฆ์เป็นที่ตั้ง) แห่งพระอริยบุคคลผู้แม้เกิดแล้วสิ้น ๗ ภพด้วยอำนาจผู้มีคุณพิเศษกว่าบุคคลทั้งหลายที่ยังละความยึดมั่นในภพไม่ได้เหล่าอื่นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสถึงบุคคลแม้ผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ แม้จะอยู่ด้วยความประมาท ด้วยคุณคือการไม่ปกปิดสิ่งที่ตนได้กระทำไปแล้วว่า พระโสดาบันผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ หาใช่เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะกระทำอภิฐาน ๖ อย่างเดียวไม่ แต่ท่านได้เคยทำแม้บาปเล็กน้อยไรๆ แล้ว ก็ไม่ควรแม้เพื่อจะปกปิดบาปนั้น ดังนี้ จึงได้ทรงเริ่มว่า กิญฺจาปิ โส กมฺมํ กโรติ ปาปกํ พระอริยบุคคลนั้นแม้จะทำบาปกรรมก็จริงดังนี้เป็นต้น.
               เนื้อความแห่งบาทพระคาถานั้นว่า
               พระอริยบุคคลนั้นผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะอาศัยความอยู่ด้วยความประมาท เพราะความหลงลืมสติบ้าง ก็งดเว้นการล่วงละเมิดด้วยการจงใจที่เป็นโลกวัชชะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาว่า สาวกทั้งหลายของเราย่อมไม่ก้าวล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้เพื่อสาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต๗- ดังนี้.
____________________________
๗- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๔๕๘   องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๐๙   ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๑๘

               ย่อมกระทำบาปกรรมอย่างอื่น มีกุฏิการสหไสยา (คือการนอนในกุฏิเดียวกันกับอนุปสัมบันเกิน ๓ คืน หรือในกุฏิเดียวกันกับมาตุคามแม้คืนเดียว) ด้วยกายหรือกระทำบาปกรรมมีการก้าวล่วงสิกขาบทที่เป็นปทโสธัมมะ (การสอนธรรมแก่อนุปสัมบันโดยว่าพร้อมกัน) อุตฺตรึฉปฺปญฺจวาจาธมฺมเทสนา (การแสดงธรรมแก่มาตุคาม ซึ่งไม่มีผู้ชายเป็นเพื่อนเกิน ๕-๖ คำ) การพูดเพ้อเจ้อ และการพูดส่อเสียดเป็นต้นด้วยวาจา หรือว่าทำบาปกรรมมีการไม่พิจารณาแล้วใช้สอยเป็นต้น ในการยินดีเงินและทองเป็นต้นซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโลภะโทสะและการใช้สอยจีวรเป็นต้น พระอริยบุคคลนั้นไม่ควรเพื่อจะปกปิดกรรมนั้น พระอริยบุคคลนั้นรู้ว่า กรรมนี้เป็นสิ่งไม่ควร ตนไม่ควรกระทำ แม้จะปกปิดไว้ครู่เดียวแต่ก็เปิดเผยเสียในศาสดา หรือในเพื่อนสพรหมจารีผู้รู้ ย่อมกระทำคืนเสียตามธรรม ในขณะนั้นนั่นเอง หรือว่าสำรวมในสิ่งที่ควรสำรวมอย่างนี้ว่า เราจักไม่ทำอีก.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่ควรกล่าวถึงทิฏฐบท.
               ตอบว่า เพราะความที่บุคคลผู้มีธรรมคือพระนิพพานอันตนเห็นแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะปกปิดกรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว.
               อธิบายว่า ความที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ ผู้มีบทคือพระนิพพานอันตนเห็นแล้ว กระทำบาปกรรมแม้ปานนั้น ไม่ควรเพื่อจะปกปิดกรรมนั้น.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ อย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๘-
               ภิกษุทั้งหลาย เด็กอ่อนยังเยาว์นอนหงาย ใช้มือหรือเท้าถูกถ่านเพลิง ก็จะพึงหดกลับได้เร็วพลันฉันใด ภิกษุทั้งหลายนี้เป็นธรรมดาของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระอริยบุคคลนั้นแม้จะต้องอาบัติก็จริง การออกจากอาบัติเห็นปานนั้นปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระอริยบุคคลนั้นก็แสดงเปิดเผยทำให้แจ้งในพระศาสดา หรือในเพื่อนสพรหมจารีผู้รู้ ครั้นแสดงเปิดเผยทำให้แจ้งแล้ว ก็สำรวมระวังต่อไปดังนี้.
____________________________
๘- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๔๖

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงคุณของพระสังฆรัตนะผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ แม้อยู่ด้วยความประมาท ด้วยคุณคือการไม่ปกปิดกรรมที่ตนทำแล้วอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณข้อนั้นนั่นเอง จึงทรงประกอบสัจวาจาว่า อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในตอนต้นนั้นเอง
               อาชญาแห่งคาถาแม้นี้ อันอมนุษย์ทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาลรับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัจจะอันเป็นสังฆาธิษฐานแห่งบุคคลทั้งหลายผู้นับเนื่องในพระสงฆ์ด้วยการประกาศคุณนั้นๆ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยแม้พระปริยัติธรรมที่พระองค์เมื่อทรงแสดงคุณของพระรัตนตรัยได้ทรงแสดงไว้โดยสังเขปในที่นี้และโดยพิสดารในที่อื่น เมื่อจะกล่าวสัจจะอันเป็นพุทธาธิษฐานมีพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง อาศัยปริยัติธรรมแม้นั้นจึงทรงเริ่มอีกว่า วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค เป็นต้น
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นดังต่อไปนี้ :-
               หมู่แห่งไม้ทั้งหลายซึ่งตั้งอยู่แล้ว คือตั้งขึ้นแล้ว ด้วยการขึ้นหนาแน่น ชื่อว่า วนํ ป่า.
               พุ่มไม้ซึ่งเจริญแล้วด้วยราก แก่น กระพี้ เปลือก กิ่งและใบทั้งหลาย ชื่อว่า ปคุมฺโพ พุ่มไม้.
               พุ่มไม้ในป่าชื่อว่า วนปฺปคุมฺโพ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า วนปฺปคุมฺโพ นี้นั้น. (เป็นสัตตมีวิภัตติ) ว่า วนปฺปคุมฺเพ ก็แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ใครๆ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า วนสณฺโฑ (ชัฏแห่งป่า) ไพรสณฑ์ เหมือนอย่างคำทั้งหลายมีคำเป็นต้นว่า อตฺถิ สวิตกฺกสวิจาเร อตฺถิ อวิตกฺกอวจารมตฺเต สุเข ทุกฺเข ชีเว ดังนี้.
               คำว่า ยถา เป็นคำอุปมา.
               ยอดของต้นไม้นั้นบานแล้ว เหตุนั้น ต้นไม้นั้นชื่อว่า ผุสิตคฺเค มียอดบานแล้ว. อธิบายว่า มีดอกเกิดแล้วที่กิ่งน้อยกิ่งใหญ่ทุกกิ่ง.
               คำว่า ผุสิตคฺโค นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ผุสิตคฺเค โดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้นนั้นแล.
               บาทพระคาถาว่า คิมฺหานมาเส ปฐมสฺมึ คิมฺเห ได้แก่ ในเดือนหนึ่ง บรรดาเดือนในฤดูร้อน ๔ เดือน ถ้าหากว่าจะกล่าวว่าในเดือนใดเดือนหนึ่ง ก็ต้องอธิบายว่า ในเดือนจิตรมาส (เดือน ๔) อันเริ่มฤดูร้อนแรก. จริงอยู่ เดือนจิตรมาสนั้น ท่านเรียกว่า ปฐมคิมฺโห (ฤดูร้อนเดือนแรก) และว่า พาลวสนฺโต (ฤดูใบไม้เริ่มผลิ).
               บทต่อแต่นั้นเนื้อความปรากฏชัดแล้วทั้งนั้น.
               ก็คำว่า ปฐมคิมฺเห นี้ ในคาถานี้มีการประมวลมาเป็นอรรถ
               กอไม้ซึ่งได้ปริยายนามว่า พุ่มไม้อ่อนๆ ที่มีกิ่งยอดผลิบานสะพรั่ง ในป่าอันหนาแน่นด้วยต้นไม้นานาชนิดในวสันตฤดูอ่อนๆ ซึ่งชื่อว่าปฐมคิมหะจัดว่าเป็นป่าที่สวยงามอย่างยิ่งฉันใด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงปริยัติธรรมอันประเสริฐที่ให้ถึงพระนิพพาน โดยทรงแสดงหนทางให้ถึงพระนิพพาน หาใช่แสดงเพราะเหตุแห่งลาภ หรือเพราะเหตุแห่งสักการะเป็นต้นไม่ แต่พระองค์เป็นผู้มีพระทัยประกอบด้วยอุตสาหะและเอ็นดูอย่างยิ่ง ได้ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาอย่างเดียว เพื่อประโยชน์สุขอย่างยิ่งแก่สัตว์ทั้งหลายมีอุปมาฉันนั้น เพราะความที่แห่งพระธรรมของพระองค์เป็นธรรมที่มีสิริ คือความงามอย่างยิ่งด้วยดอกอันต่างด้วยประโยชน์นานัปการมีขันธ์ อายตนะเป็นต้น หรือมีสติปัฏฐานและสัมมัปปธานเป็นต้น หรือมีศีลขันธ์และสมาธิขันธ์เป็นต้นฉันนั้นเหมือนกัน.
               ก็ในคำว่า ปรมํ หิตาย นี้ เป็นอนุนาสิก (นิคคหิต ออกเสียงขึ้นจมูก) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อสะดวกในการประพันธ์คาถา แต่เนื้อความมีดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดง (ธรรมอันประเสริฐ) เพื่อพระนิพพานอันมีประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงพระปริยัติธรรมอันเช่นกับพุ่มไม้ในป่าที่มียอดคือดอกบานสะพรั่งนี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณข้อนั้นนั่นเอง ทรงประกอบสัจวาจาเป็นพุทธาธิษฐานว่า อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น แต่ก็พึงประกอบบทอย่างเดียวอย่างนี้ว่า พุทธรัตนะ กล่าวคือพระปริยัติธรรมมีประการตามที่กล่าวแล้วแม้นั้น เป็นรัตนะอันประณีต อาชญาแห่งคาถาแม้นี้ อันอมนุษย์ทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาลรับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสัจจะเป็นพุทธาธิษฐานด้วยอำนาจพระปริยัติธรรมอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะตรัสด้วยโลกุตตรธรรมจึงทรงเริ่มว่า วโร วรญฺญู วรโท วราหโร ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วโร ความว่า ผู้อันชนทั้งหลาย ผู้มีอธิมุตติอันประณีต ปรารถนาแล้วว่า โอ! หนอ แม้พวกเราพึงเป็นเช่นนี้ อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า วโร ประเสริฐ เพราะประกอบด้วยคุณที่ประเสริฐ. อธิบายว่า เป็นผู้สูงสุด คือประเสริฐที่สุด.
               บทว่า วรญฺญู ได้แก่ รู้พระนิพพาน. จริงอยู่ พระนิพพาน ชื่อว่าประเสริฐ เพราะอรรถว่าสูงสุดกว่าธรรมทั้งปวง ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ทรงทราบพระนิพพานนั้นด้วยพระองค์เอง ที่ควงแห่งต้นโพธิ.
               บทว่า วรโท ความว่า ทรงประทานพระธรรมอันประเสริฐ อันเป็นส่วนแห่งธรรมเครื่องแทงตลอด หรืออันเป็นส่วนแห่งวาสนาแก่ภิกษุทั้งหลายมีพระปัญจวัคคีย์ ภัททวัคคีย์ และชฎิลทั้งหลายเป็นต้น และแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่าอื่น.
               บทว่า วราหโร ความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวโลกเรียกกันว่า ผู้นำมาซึ่งสิ่งอันประเสริฐ เพราะพระองค์นำมรรคอันประเสริฐมา.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นบำเพ็ญบารมี ๓๐ ถ้วน จำเดิมแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงนำมาซึ่งมรรคอันประเสริฐอันเป็นของเก่าซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ทรงดำเนินไปแล้ว เพราะเหตุนั้น ชาวโลกจึงเรียก (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ว่า วราหโร ผู้นำมาซึ่งมรรคอันประเสริฐ.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่าผู้ประเสริฐ เพราะได้เฉพาะซึ่งสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าทรงทราบสิ่งอันประเสริฐ เพราะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ชื่อว่าประทานสิ่งอันประเสริฐ เพราะทรงประทานสุขอันเกิดจากวิมุตติ แก่สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าทรงนำมาซึ่งสิ่งอันประเสริฐ เพราะนำข้อปฏิบัติอันสูงสุดมาให้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นชื่อว่า อนุตฺตโร เพราะไม่มีใครที่จะยิ่งกว่า (พระองค์) ด้วยโลกุตตรคุณทั้งหลายเหล่านี้.
               อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นชื่อว่า ประเสริฐ เพราะทำให้บริบูรณ์ในอุปสมาธิษฐาน ชื่อว่าทรงรู้สิ่งที่ประเสริฐ เพราะทำให้บริบูรณ์ในปัญญาธิษฐาน. ชื่อว่าทรงประทานสิ่งที่ประเสริฐ เพราะทำให้บริบูรณ์ในจาคาธิษฐาน. ชื่อว่าทรงนำสิ่งที่ประเสริฐมาให้ เพราะทำให้บริบูรณ์ในสัจจาธิษฐาน. ชื่อว่าผู้ทรงนำมาซึ่งมัคคสัจจะอันประเสริฐ.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นชื่อว่า ประเสริฐ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งบุญ ชื่อว่าทรงรู้สิ่งอันประเสริฐ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญา ชื่อว่าทรงประทานสิ่งอันประเสริฐ เพราะทรงประทานอุบายนั้นๆ แก่ชนทั้งหลายผู้ต้องการความเป็นพุทธะ ชื่อว่าทรงนำมาซึ่งสิ่งอันประเสริฐ เพราะทรงนำมาซึ่งอุบายนั้นๆ แก่ชนทั้งหลายผู้ต้องการเป็นพระปัจเจกพุทธะ ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ เพราะไม่มีใครจะเสมอเหมือนในคุณนั้นๆ หรือว่าเพราะพระองค์เป็นผู้ไม่มีอาจารย์หรือเพราะพระองค์เป็นอาจารย์ของชนเหล่าอื่น ชื่อว่าได้ทรงแสดงพระธรรมอันประเสริฐ เพราะทรงแสดงพระธรรมอันประเสริฐอันประกอบด้วยคุณมีความเป็นสวากขาตธรรมเป็นต้น เพื่อคุณนั้นๆ แก่ชนทั้งหลายผู้ต้องการเป็นสาวก
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแหละ ดังนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคุณของพระองค์ด้วยโลกุตตรธรรม ๙ อย่างอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยพระคุณข้อนั่นเอง จึงทรงประกอบสัจวาจาอันเป็นพุทธาธิษฐานว่า อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น อันผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวไว้ในตอนต้นนั้นแล แต่ในที่นี้พึงทราบโยชนาอย่างนี้อย่างเดียวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ได้ทรงทราบโลกุตตรธรรมอันประเสริฐใด ได้ทรงประทานโลกุตตรธรรม ๙ อันประเสริฐใด ได้ทรงนำมาซึ่งโลกุตตรธรรม ๙ อันประเสริฐใด และได้ทรงแสดงโลกุตตรธรรม ๙ อันประเสริฐใด พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ดังนี้ อาชญาแห่งคาถาแม้นี้ อันอมนุษย์ทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาลรับแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยพระปริยัติธรรมและโลกุตตรธรรม ตรัสสัจจะอันเป็นพุทธาธิษฐานด้วย ๒ พระคาถาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณคือการบรรลุอนุปาทิเสสนิพพานแห่งท่านทั้งหลายผู้ได้ฟังพระปริยัติธรรมนั้นแล้ว และได้ปฏิบัติตามกระแสแห่งธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว ก็ได้บรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการเพื่อจะตรัสสัจวาจาอันเป็นสังฆาธิษฐานอีก จึงทรงเริ่มว่า ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขีณํ ได้แก่ สิ้นรอบแล้ว หรือตัดได้เด็ดขาดแล้ว
               บทว่า ปุราณํ ได้แก่ เก่า.
               บทว่า นวํ ได้แก่ ซึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน.
               บทว่า นตฺถิสมฺภวํ ได้แก่ ความปรากฎว่าไม่มีอยู่.
               บทว่า วิรตฺตจิตฺตา ได้แก่ เป็นผู้มีจิตปราศจากราคะ.
               สองบทว่า อายติเก ภวสฺมึ ได้แก่ ในอนาคตกาล คือในภพใหม่.
               บทว่า เต ความว่า ท่านเหล่าใดมีกรรมเก่าสิ้นแล้ว กรรมใหม่ก็ไม่มี และท่านเหล่าใดมีจิตปราศจากราคะในภพต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่า ภิกษุขีณาสพ. อุปมาคำว่า กรรม เป็นเนื้อนา
               บทว่า ขีณพีชา ได้แก่ มีพืชตัดขาดแล้ว.
               บทว่า อวิรูฬฺหิฉนฺทา คือ เว้นจากความพอใจที่เจริญขึ้น.
               บทว่า นิพฺพนฺติ ได้แก่ ย่อมดับ.
               บทว่า ธีรา ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา.
               สองบทว่า ยถายมฺปทีโป ได้แก่ เปรียบเหมือนประทีปนี้.
               มีคำถามว่า ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               ตอบว่า ท่านอธิบายไว้ว่า กรรมใดซึ่งเป็นกรรมเก่า ได้แก่เป็นกรรมในอดีต แม้ซึ่งเกิดแก่สัตว์ทั้งหลายแล้วดับไป ชื่อว่าผลไม่สิ้นแล้วนั่นเอง เพราะสามารถจะนำปฏิสนธิมา เหตุที่ยังละยางเหนียวคือตัณหาไม่ได้ กรรมเก่านั้นของสัตว์เหล่าใด ชื่อว่าสิ้นแล้ว เพราะไม่สามารถจะให้วิบากต่อไปได้ เนื่องจากยางเหนียวคือตัณหาได้เหือดแห้งไปด้วยอรหัตมรรคญาณ เปรียบประดุจพืชที่ไฟไหม้แล้วฉะนั้น และกรรมอันใดของสัตว์เหล่านั้นซึ่งเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน ด้วยสามารถแห่งการบูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า กรรมใหม่ ก็กรรมใหม่นั้นของชนเหล่าใด ชื่อว่าไม่มีสมภพ เพราะไม่สามารถจะให้ผลต่อไปได้ เพราะประหาณตัณหาแล้วนั่นแหละ เปรียบประดุจดอกไม้ที่หลุดจากขั้วแล้วฉะนั้น และชนทั้งหลายเหล่าใด ชื่อว่ามีจิตคลายกำหนัดในภพต่อไปได้แล้ว เพราะละเสียได้ซึ่งตัณหานั้นเอง ชนทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นภิกษุขีณาสพ ชื่อว่ามีพืชสิ้นแล้ว เพราะสิ้นปฏิสนธิวิญญาณซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคาถานี้ว่า๙- กมฺมํ เขตฺตํ วิญฺญาณํ พีชํ กรรมเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นพืช ดังนี้เป็นต้น
____________________________
๙- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๑๗

               เพราะความสิ้นกรรมนั้นเอง. แม้ความพอใจด้วยอำนาจตัณหา กล่าวคือตัณหาในภพใหม่ซึ่งเจริญขึ้นแม้อันใด ได้มีแล้วในกาลก่อน เพราะตัณหาที่เจริญขึ้นแม้นั้นอันตนละเสียได้ ด้วยการละสมุทัยนั่นเอง พระอริยบุคคลเหล่านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีความพอใจอันไม่เจริญขึ้น เพราะไม่มีสมภพ (ความเกิด) ในเวลาจุติ เหมือนในกาลก่อน จึงชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ เพราะถึงพร้อมด้วยปัญญา ย่อมดับเสียได้ เพราะความดับแห่งวิญญาณดวงสุดท้าย เหมือนดวงประทีปนี้ที่ดับไปฉะนั้น ได้แก่ย่อมล่วงบทบัญญัติมีอาทิอย่างนี้ว่า เป็นรูปหรือเป็นอรูปอีก.
               เล่ากันมาว่า ในสมัยนั้นในบรรดาดวงประทีปทั้งหลายที่เขาจุดไว้เพื่อบูชาเทวดาประจำพระนคร ดวงประทีปดวงหนึ่งดับไป พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงถึงดวงประทีปที่ดับไปนั้นจึงตรัสว่า ยถายมฺปทีโป เหมือนดวงประทีปนี้ที่ดับไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสถึงคุณแห่งการบรรลุอนุปาทิเสสนิพพานของพระอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ได้สดับพระปริยัติธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยพระคาถา ๒ คาถาแรกนั้น แล้วปฏิบัติตามกระแสแห่งธรรมที่ตนได้ฟังมาแล้วนั้นแล ได้บรรลุโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ ประการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยคุณข้อนั้นนั่นเอง เพื่อจะทรงประกอบสัจวาจาเป็นสังฆาธิษฐาน จึงตรัสเทสนาว่า อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้น พึงทราบโดยนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้น แต่ก็พึงทราบวาจาประกอบความอย่างนี้อย่างเดียวว่า สังฆรัตนะกล่าวคือพระนิพพานของภิกษุขีณาสพทั้งหลายโดยประการตามที่เรากล่าวไว้แล้วแม้นี้ เป็นรัตนะอันประณีต อาชญาแห่งคาถาแม้นี้ อันอมนุษย์ทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาลรับแล้ว.
               ในที่สุดแห่งพระเทศนา ความสวัสดีได้มีแก่ราชสกุลแล้ว อุปัทวะทั้งปวงสงบแล้ว สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม.
               ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยคุณพระรัตนตรัยประกอบสัจวาจา ทำความสวัสดีแก่ชาวพระนครแล้ว แม้เราเองก็จะพึงอาศัยคุณพระรัตนตรัย กล่าวบางสิ่งบางอย่าง เพื่อความสวัสดีแก่ชาวพระนคร จึงได้ตรัส ๓ คาถาสุดท้ายว่า
                                   ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ
                                   ภุมฺมานิ วา ยานิ ว อนฺตลิกฺเข
                                   ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ
                                   พุทฺธํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุ
ดังนี้เป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัย ในพระคาถาทั้ง ๓ นั้นดังต่อไปนี้ :-
               เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าได้รับขนานนามว่าพระตถาคต ก็เพราะพระองค์ทรงถึงประโยชน์เหมือนอย่างบุคคลทั้งหลายผู้ขวนขวาย เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกจะพึงถึง เพราะพระองค์เสด็จไปโดยประการที่ชาวโลกผู้ขวนขวาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกเหล่านี้จะพึงไป เพราะพระองค์ทรงทราบถึงสิ่งที่ชาวโลกผู้ขวนขวาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกเหล่านี้จะพึงทราบ เพราะพระองค์ทรงรู้โดยประการที่ชนเหล่านี้จะพึงรู้และเพราะพระองค์เสด็จไปอย่างนี้ และเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชากันเหลือเกินด้วยวัตถุมีดอกไม้และของหอมเป็นต้น ซึ่งเกิดในภายนอก (ตน) และด้วยการปฏิบัติมีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นต้นซึ่งเกิดในตน เพราะฉะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพจึงได้ทรงรวบรวมเทวบริษัททั้งหมด พร้อมกับพระองค์ตรัสว่า
                                   ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ
                                   พุทฺธํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุ.

                         ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนมัสการพระพุทธเจ้า
                         ผู้ไปแล้วอย่างนั้น ผู้อันเทวดาและมนุษย์
                         บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่า
                         นั้น
ดังนี้.
               ก็เพราะในฝ่ายพระธรรม มรรคธรรมอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยกำลังแห่งสมถะและวิปัสสนาทั้งคู่ฉันใด นิพพานธรรมอันพระอริยบุคคลผู้ตัดธรรมอันเป็นฝ่ายกิเลส ก็ถึงได้ฉันนั้น. พระธรรมอันบุคคลถึงแล้วคือแทงตลอดแล้วด้วยปัญญาฉันใด นิพพานธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นต้นทรงบรรลุแล้วย่อมสำเร็จได้ ก็เพราะกำจัดทุกข์ทั้งปวงได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า ตถาคต พระธรรมที่บุคคลถึงแล้วอย่างนั้น.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่แม้พระสงฆ์ ท่านก็เรียกว่า ตถาคต ผู้ถึงเหมือนกัน เพราะท่านถึงความเป็นพระสงฆ์ได้ด้วยมรรคนั้นๆ เหมือนกับบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตนจะพึงถึง เพราะฉะนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสแม้ใน ๒ คาถาที่เหลือว่า
                         ข้าพเจ้าทั้งหลายจะนมัสการพระธรรมอันไปแล้วอย่างนั้น
                         ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย.
                         ข้าพเจ้าทั้งหลายจะนมัสการพระสงฆ์ผู้ไปแล้วอย่างนั้น
                         ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย ดังนี้.
               คำที่เหลือมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นแหละดังนี้แล.
               ท้าวสักกะจอมเทพ ครั้นตรัส ๓ คาถานี้อย่างนี้แล้ว ทรงกระทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้เสด็จไปยังเทพนครพร้อมด้วยเทพบริษัท.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงรตนสูตรนั้นนั่นแล แม้ในวันที่สอง สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ก็ได้บรรลุธรรมอีก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอยู่อย่างนี้จนถึงวันที่ ๗. การบรรลุธรรมก็ได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ทุกๆ วัน เหมือนอย่างนั้นนั่นเทียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ในเมืองเวสาลีเป็นเวลาครึ่งเดือน แล้วทรงประกาศว่า เราจักไปเมืองราชคฤห์ ต่อจากนั้นพระราชาทั้งหลายก็ได้นำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังฝั่งแม่น้ำคงคาด้วยใช้เวลา ๓ วันอีก พร้อมด้วยเครื่องสักการะที่จัดถวายเป็นสองเท่า (ของพระเจ้าพิมพิสาร).
               นาคราชทั้งหลายบังเกิดในแม่น้ำคงคาคิดกันว่า พวกมนุษย์กระทำสักการะแด่พระตถาคตเจ้า พวกเราจักไม่ทำอะไรกันหรือ. นาคราชทั้งหลายจึงได้เนรมิตเรือทั้งหลายซึ่งสำเร็จด้วยทอง เงินและแก้วมณี ให้ปูลาดบัลลังก์ทั้งหลายที่สำเร็จด้วยทอง เงินและแก้วมณีเหมือนกัน ได้กระทำน้ำให้ดารดาษไปด้วยดอกปทุม ๕ สี แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ขอพระองค์จงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว ครั้นทรงรับนิมนต์แล้วก็เสด็จลงเรือรัตนะ ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือของตนๆ. นาคราชทั้งหลายได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ากับภิกษุสงฆ์ให้เสด็จเข้าไปสู่นาคพิภพ.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่นาคบริษัทตลอดคืนทั้งสิ้น ณ นาคพิภพนั้น ในวันที่สอง นาคราชทั้งหลายได้ถวายมหาทานด้วยขาทนียะและโภชนียะอันเป็นทิพย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จออกจากนาคพิภพ.
               ภุมมัฏฐเทวดาคิดว่า พวกมนุษย์ทั้งหลายและนาคทั้งหลายย่อมกระทำสักการะแก่พระตถาคต พวกเราจักไม่ทำอะไรกันหรือ ดังนี้แล้วจึงได้ยกฉัตรซ้อนฉัตร ขึ้นที่ป่า พุ่มไม้ ต้นไม้และภูเขาเป็นต้น โดยอุบายนี้นั่นเอง มหาสักการะอันพิเศษบังเกิดขึ้นแล้วตราบถึงภพของอกนิษฐพรหม.
               แม้พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ทรงทำสักการะเป็นทวีคูณกว่าสักการะที่เจ้าลิจฉวีทั้งหลายกระทำ ในกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา พระองค์ได้นำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังกรุงราชคฤห์โดยใช้เวลา ๕ วัน โดยนัยที่กล่าวแล้วในตอนก่อนนั้นแล.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ โรงกลม ภายหลังภัต เกิดการสนทนากันในระหว่างดังนี้ว่า
               "โอ! อานุภาพของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ภูมิภาค ๘ โยชน์จากฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคาอันพระราชาและมหาชนกระทำภาคพื้นที่เป็นที่ลุ่มและที่ดอนให้เสมอกัน เกลี่ยด้วยทรายแล้วลาดด้วยดอกไม้ น้ำในแม่น้ำคงคาประมาณ ๑ โยชน์ก็ดาษดาไปด้วยดอกปทุมนานาพรรณ เทวดาทั้งหลายยกฉัตรซ้อนฉัตรขึ้นถึงชั้นอกนิษฐภพทีเดียว เจาะจง (อุทิศ) พระพุทธองค์" ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความเป็นไปนั้น เสด็จออกจากพระคันธกุฎีไปยังโรงกลม (หอประชุม) ด้วยปาฏิหาริย์ที่เหมาะสมในขณะนั้น ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้แล้ว ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นประทับนั่งแล้วแลได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ท่านทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย การบูชาพิเศษนี้หาได้เกิดขึ้นด้วยพุทธานุภาพของเราไม่ หาได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของนาค เทพและพรหมไม่ โดยที่แท้แล การบูชาพิเศษนี้ เกิดขึ้นแล้วด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อย.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่ทราบการบริจาคอันมีประมาณน้อยนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายขอพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย โดยประการที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงทราบเรื่องนั้นได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า สังขะ ในเมืองตักกสิลา มาณพชื่อว่าสุสิมะ ที่เป็นบุตรของพราหมณ์นั้นมีอายุราว ๑๖ ปี วันหนึ่งได้เข้าไปหาบิดา ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. บิดาพูดกับบุตรนั้นว่า พ่อสุสิมะ อะไรกัน. บุตรนั้นพูดว่า คุณพ่อครับ ผมต้องการจะไปศึกษาศิลปวิชาที่เมืองพาราณสี.
               บิดาพูดว่า "ลูกสุสิมะ ถ้าอย่างนั้น (เจ้าจงไปเถิด) เพื่อนของพ่อเป็นพราหมณ์ชื่อโน้น เจ้าไปยังสำนักของพราหมณ์นั้นแล้ว จงเรียนวิชาเถิด" ดังนี้ แล้วมอบทรัพย์ให้พันกหาปณะ สุสิมะมาณพนั้นรับทรัพย์ ๑ พันกหาปณะนั้นแล้ว ไหว้อำลามารดาบิดา ไปสู่เมืองพาราณสีโดยลำดับ เข้าไปหาอาจารย์ด้วยวิธีประกอบด้วยมรรยาทเรียบร้อย ไหว้แล้ว แนะนำตน. อาจารย์ทราบว่า เด็กหนุ่มนี้เป็นบุตรเพื่อนของเรา จึงรับมาณพ (นั้น) แล้วได้กระทำการต้อนรับทุกอย่าง.
               มาณพนั้นบรรเทาความเมื่อยล้าจากการเดินทางไกล (พักผ่อน) แล้ว ได้มอบทรัพย์ ๑ พันกหาปณะนั้นไว้ที่ใกล้เท้าอาจารย์ ขอโอกาสเรียนศิลปวิทยา อาจารย์ให้โอกาสแล้วก็ให้ศึกษา มาณพนั้นเรียนได้ไวด้วย เรียนได้มากด้วยและจดจำสิ่งที่เรียนไว้แล้วๆ ไม่ลืม เหมือนน้ำมันที่ใส่ไว้ในภาชนะทองฉะนั้น ได้เรียนศิลปวิทยาซึ่งคนทั่วไปใช้เวลาเรียน ๑๒ ปี (โดยใช้เวลาเรียน) เพียง ๒-๓ เดือนเท่านั้น.
               เขาเมื่อจะกระทำการสาธยาย ย่อมเห็นเบื้องต้นและท่ามกลางของศิลปะนั้นได้ แต่ไม่เห็นที่สุด. ครั้งนั้น เขาจึงเข้าไปหาอาจารย์แล้วเรียนว่า กระผมย่อมเห็นเบื้องต้นและท่ามกลางเท่านั้นของศิลปะนั้น แต่ไม่เห็นที่สุด.
               อาจารย์กล่าวว่า ดูก่อนพ่อ แม้เราเองก็ไม่เห็นเหมือนกัน.
               มาณพจึงเรียนถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าย่อมทราบที่สุดแห่งศิลปะนี้ได้. อาจารย์ตอบว่า ดูก่อนพ่อ ที่ป่าอิสิปตนะมีฤาษีทั้งหลายอยู่ ฤาษีเหล่านั้นพึงทราบได้. มาณพกล่าวว่า ท่านอาจารย์ กระผมเข้าไปหาฤาษีเหล่านั้นแล้วจักไต่ถาม. อาจารย์ตอบว่า เจ้าจงถามตามสบายเถิดพ่อ.
               มาณพนั้นไปยังป่าอิสิปตนะ เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว เรียนถามว่า ท่านทั้งหลายทราบเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด (ของศิลปะ) หรือ.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตอบว่า ดูก่อนอาวุโส ใช่แล้ว พวกเราทราบ.
               มาณพเรียนว่า ท่านทั้งหลายจะให้กระผมศึกษาบ้างได้ไหม.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตอบว่า อาวุโส ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบวช (เสียก่อน) ด้วยว่าผู้ที่ไม่บวชไม่อาจศึกษาได้. มาณพเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดีละ ท่านทั้งหลายจงให้กระผมบวช ท่านทั้งหลายกระทำสิ่งที่ท่านทั้งหลายปรารถนาแล้ว จงให้กระผมทราบที่สุดแห่งศิลปะเถิด.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้มาณพนั้นบวชแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะสั่งสอนในกัมมัฏฐานได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้ศึกษาอภิสมาจาริกวัตร โดยนัยเป็นต้นว่า ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ ท่านพึงห่มอย่างนี้.
               ก็สุสิมะนั้นศึกษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนะนั้น ได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณโดยไม่นานเลย เพราะ (ความที่ตน) สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ท่านจึงได้ปรากฏในเมืองพาราณสีทั้งสิ้นว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะเกิดขึ้นแล้ว ท่านถึงความเลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศ มีบริวารพรั่งพร้อม.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะนั้นไม่นานเลยก็ปรินิพพาน เพราะท่านได้ทำกรรมที่เป็นเหตุให้มีอายุน้อยไว้. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และหมู่มหาชนกระทำซึ่งสรีรกิจของพระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะนั้น ถือเอาแล้วซึ่งพระธาตุทั้งหลายให้ประดิษฐานไว้ในพระสถูปที่ประตูพระนคร.
               ครั้งนั้นแล สังขพราหมณ์คิดว่า บุตรของเราไปนานแล้ว และเราก็ไม่ทราบความเป็นไปของบุตรนั้นดังนี้ ต้องการที่จะพบบุตร จึงออกจากเมืองตักกสิลาไปถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ เห็นหมู่มหาชนประชุมกันอยู่ จึงดำริว่าในบรรดาหมู่ชนเป็นอันมากคงจะมีใครสักคนหนึ่งทราบความเป็นไปแห่งบุตรของเราบ้างเป็นแน่ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปในที่นั้นถามว่า เด็กหนุ่มชื่อว่าสุสิมะ มาในที่นี้มีอยู่ พวกท่านทราบความเป็นไปของเขาบ้างแหละหรือ.
               มหาชนตอบว่า ใช่แล้วพราหมณ์ เราทั้งหลายทราบอยู่ สุสิมะมาณพเป็นผู้จบไตรเพทในสำนักของพราหมณ์ในนครนี้ บวชในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ สถูปองค์นี้ มหาชนให้สร้างประดิษฐานไว้เพื่อสุสิมะปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
               สังขพราหมณ์นั้นใช้มือทุบแผ่นดินร้องไห้คร่ำครวญ ไปยังลานเจดีย์นั้น ถอนหญ้าทั้งหลายขึ้นแล้ว ใช้ผ้าห่ม (ห่อ) ขนทรายมา แล้วเกลี่ยลงที่ลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ประพรมด้วยน้ำจากคณโฑ (ลักจั่น) กระทำบูชาด้วยดอกไม้ป่าทั้งหลาย ใช้ผ้าห่มยกทำเป็นธงปฏากขึ้น ผูกร่มของตนไว้เบื้องบนสถูป แล้วหลีกไป.
               ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำอดีตนิทานมาอย่างนี้แล้วเมื่อทรงสืบต่ออนุสนธิชาดกนั้นให้เชื่อมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน จึงตรัสธรรมกถาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
               ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายไม่พึงเห็นข้อนั้นอย่างนี้ว่า คนอื่นจะพึงมีได้แล สังขพราหมณ์ได้มีแล้วในสมัยนั้นแน่แท้ เราเองได้เป็นสังขพราหมณ์โดยสมัยนั้น เราได้ถอนหญ้าที่ลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุสิมะ ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายได้กระทำหนทางประมาณ ๘ โยชน์ให้ปราศจากตอและหนาม แล้วกระทำพื้นที่ให้เสมอสะอาด เราได้เกลี่ยทรายลงที่ลานพระเจดีย์นั้น ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายได้เกลี่ยทรายในหนทางประมาณ ๘ โยชน์ เราได้ทำการบูชาด้วยดอกไม้ป่าที่พระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายได้ทำการลาดดอกไม้ ด้วยดอกไม้นานาชนิดทั้งบนบกและในน้ำในหนทางประมาณ ๘ โยชน์ เราได้ทำการประพรมภาคพื้นด้วยน้ำที่ลานพระเจดีย์นั้นด้วยน้ำในคนโฑ ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงในเมืองเวสาลี เราได้ยกธงปฏากและผูกฉัตรไว้ที่เจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้ยกธงปฏากและยกฉัตรซ้อนฉัตรขึ้นจนถึงอกนิษฐภพ.
               ภิกษุทั้งหลาย การบูชาพิเศษเพื่อเรานี้ มิได้บังเกิดขึ้นด้วยพุทธานุภาพ มิได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งนาค เทพและพรหม แต่ได้บังเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคอันมีประมาณน้อย (ของเรา) ดังกล่าวมานี้แล.
               ในที่สุดแห่งพระธรรมกถา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   มตฺตาสุขปฺปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
                                   จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ

                         ถ้าหากว่า บุคคลพึงเห็นความสุขอันไพบูลย์
                         เพราะการสละความสุขอันพอประมาณไซร้
                         (ก็พึงสละความสุขพอประมาณเสีย)
                         นักปราชญ์เมื่อเห็นความสุขอันไพบูลย์
                         ก็พึงละความสุขพอประมาณเสีย.

               จบอรรถกถารตนสูตร               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค รตนสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 313อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 314อ่านอรรถกถา 25 / 315อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=7662&Z=7746
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :