ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 30อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 25 / 32อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑

หน้าต่างที่ ๔ / ๙.

               ๔. เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ [๒๑๗]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา" เป็นต้น.

               อาคันตุกภิกษุเข้าเฝ้าพระศาสดา               
               ความพิสดารว่า วันหนึ่งภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดาผู้ประทับนั่ง ณ ที่ประทับกลางวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง. ขณะนั้น พระลกุณฏกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระศาสดาทรงทราบวารจิต (คือความคิด) ของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือ? ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้ว เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่"
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นมองดูหน้ากันและกันแล้ว แล่นไปสู่ความสงสัยว่า "พระศาสดา ตรัสอะไรหนอแล?" จึงกราบทูลว่า "พระองค์ตรัสคำนั่นชื่ออะไร?"
               เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๔. มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา    ราชาโน เทฺว จ ขตฺติเย
                         รฏฺฐํ สานุจรํ หนฺตฺวา    อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ.
                         บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้งสอง
                         และฆ่าแว่นแคว้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วยแล้ว
                         เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สานุจรํ ได้แก่ ผู้เป็นไปกับด้วยผู้จัดการส่วยให้สำเร็จ คือเจ้าพนักงานเก็บส่วย.
               ก็ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยว่า ตัณหา ชื่อว่ามารดา เพราะให้สัตว์ทั้งหลายเกิดในภพ ๓ เพราะบาลีว่า "ตัณหายังบุรุษให้เกิด."
               อัสมิมานะ๑- ชื่อว่าบิดา เพราะอัสมิมานะอาศัยบิดาเกิดขึ้นว่า "เราเป็นราชโอรสของพระราชาชื่อโน้น หรือเป็นบุตรของมหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อโน้น" เป็นต้น.
               ทิฏฐิทุกชนิด ย่อมอิงสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิทั้งสอง เหมือนชาวโลกอาศัยพระราชาฉะนั้น เพราะฉะนั้น สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ จึงชื่อว่าพระราชาผู้กษัตริย์สองพระองค์.
               อายตนะ ๑๒#- ชื่อว่าแว่นแคว้น เพราะคล้ายคลึงกับแว่นแคว้น โดยอรรถว่ากว้างขวาง. ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี ซึ่งอาศัยอายตนะนั้น ดุจบุรุษเก็บส่วย จัดการส่วยให้สำเร็จ ชื่อว่าเจ้าพนักงานเก็บส่วย.
               บทว่า อนีโฆ ได้แก่ ไม่มีทุกข์.
               บทว่า พฺราหฺมโณ ได้แก่ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว.
               ในพระคาถานี้ มีอธิบายดังนี้ "ผู้ชื่อว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว เพราะกิเลสเหล่านั้นมีตัณหาเป็นต้น อันตนกำจัดได้ด้วยดาบ คืออรหัตมรรคญาณ จึงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่."
               ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว.
____________________________
๑- การถือว่าเป็นเรา.
#- อายตนะภายใน ๖ มีจักษุเป็นต้น. ภายนอก ๖ มีรูปเป็นต้น.

               (พระคาถาที่ ๒)               
               แม้ในพระคาถาที่ ๒ เรื่องก็เหมือนกับเรื่องก่อนนั่นเอง.
               แม้ในกาลนั้น พระศาสดาทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระเหมือนกัน
               เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                            มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา    ราชาโน เทฺว จ โสตฺถิเย
                         เวยฺยคฺฆปญฺจมํ หนฺตฺวา    อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ.
                         บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสองได้แล้ว
                         และฆ่าหมวด ๕ แห่งนิวรณ์มีวิจิกิจฉานิวรณ์ เช่นกับหนทางที่
                         เสือโคร่งเที่ยวไปเป็นที่ ๕ แล้ว เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า เทฺว จ โสตฺถิเย คือ ผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสองด้วย.
               ก็ในพระคาถานี้ พระศาสดาตรัสสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิให้เป็นพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสอง เพราะพระองค์เป็นใหญ่ในพระธรรมและเพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในวิธีเทศนา.
               บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ ในบท เวยฺยคฺฆปญฺจมํ นี้ว่า
               หนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไป มีภัยรอบด้าน เดินไปลำบาก ชื่อว่าทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้ว. แม้วิจิกิจฉานิวรณ์ ชื่อว่าเป็นดุจทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้ว เพราะความที่วิจิกิจฉานิวรณ์นั้น คล้ายกับหนทางอันเสือโคร่งเที่ยวไปแล้วนั้น, วิจิกิจฉานิวรณ์เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วนั้น เป็นที่ ๕ แห่งหมวด ๕ แห่งนิวรณ์นั้น เพราะฉะนั้น หมวด ๕ แห่งนิวรณ์ จึงชื่อว่ามีวิจิกิจฉานีวรณ์ เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วเป็นที่ ๕.
               ในพระคาถาที่ ๒ นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า "ก็บุคคลฆ่าหมวด ๕ แห่งนีวรณ์มีวิจิกิจฉานีวรณ์ เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วเป็นที่ ๕ นี้ไม่ให้มีส่วนเหลือ ด้วยดาบคืออรหัตมรรคญาณ เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ เที่ยวไปอยู่."
               บทที่เหลือ เป็นเช่นกับบทที่มีในก่อนนั่นแล ดังนี้แล.

               เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 30อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 25 / 32อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1035&Z=1079
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=1721
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=1721
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :