ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 29อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 25 / 31อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐

หน้าต่างที่ ๒ / ๑๐.

               ๒. เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูปอื่นอีก [๒๐๕]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๕๐๐ รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺเพ สงฺขารา" เป็นต้น.

               ภิกษุเรียนกัมมัฏฐาน               
               ดังได้สดับมา ภิกษุเหล่านั้นเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้ว แม้พากเพียรพยายามอยู่ในป่า ก็ไม่บรรลุพระอรหัต จึงคิดว่า "เราจักเรียนกัมมัฏฐานให้วิเศษ" ดังนี้แล้ว ได้ไปสู่สำนักพระศาสดา.

               ทางแห่งความหมดจด               
               พระศาสดาทรงพิจารณาว่า "กัมมัฏฐานอะไรหนอแล เป็นที่สบายของภิกษุเหล่านี้?" จึงทรงดำริว่า "ภิกษุเหล่านี้ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ตามประกอบแล้วในอนิจจลักษณะ สิ้นสองหมื่นปี, เพราะฉะนั้น การแสดงคาถาด้วยอนิจจลักษณะนั้นแลแก่เธอทั้งหลาย สัก ๑ คาถาย่อมควร" ดังนี้แล้ว
               ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สังขารแม้ทั้งปวงในภพทั้งหลายมีกามภพเป็นต้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเลย เพราะอรรถว่ามีแล้วไม่มี"
               ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
               ๒. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ    ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
               อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข    เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.
               เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง'
               เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทาง
               แห่งความหมดจด.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า สพฺเพ สงฺขารา เป็นต้น ความว่า เมื่อใดบัณฑิตย่อมเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า "ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในภพทั้งหลายมีกามภพเป็นต้น ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะต้องดับในภพนั้นๆ เอง" เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์อันเนื่องด้วยการบริหารขันธ์นี้, เมื่อหน่ายย่อมแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งกิจ มีการกำหนดรู้ทุกข์เป็นต้น.
               บาทพระคาถาว่า เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ความว่า ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด คือแห่งความผ่องแผ้ว.
               ในเวลาจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นตั้งอยู่ในพระอรหัตผลแล้ว.
               เทศนาได้สำเร็จประโยชน์แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

               เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูปอื่นอีก จบ.               

               แม้ในพระคาถาที่ ๒ เรื่องก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               ก็ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความที่ภิกษุเหล่านั้นทำความเพียรในอันกำหนดสังขารโดยความเป็นทุกข์แล้ว
               ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ขันธ์แม้ทั้งปวงเป็นทุกข์แท้ เพราะอรรถว่าถูกทุกข์บีบคั้น"
               ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
               สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ    ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
               อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข    เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.
               เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์'
               เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทาง
               แห่งความหมดจด.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺขา ความว่า ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าถูกทุกข์บีบคั้น.
               บทที่เหลือ ก็เช่นกับบทอันมีในก่อนนั่นแล.

               แม้ในพระคาถาที่ ๓ ก็มีนัยเช่นนั้นเหมือนกัน.
               ก็ในพระคาถาที่ ๓ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความที่ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ตามประกอบแล้วในอันกำหนดสังขาร โดยความเป็นอนัตตา ในกาลก่อนอย่างสิ้นเชิงแล้ว
               ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ขันธ์แม้ทั้งปวงเป็นอนัตตาแท้ เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ"
               ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
               สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ    ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
               อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข    เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.
               เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า ‘ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา’
               เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทาง
               แห่งความหมดจด.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า สพฺเพ ธมฺมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาขันธ์ ๕ นี้เอง.
               บทว่า อนตฺตา ความว่า ชื่อว่า อนัตตา คือว่างเปล่า ไม่มีเจ้าของ ได้แก่ไม่มีอิสระ เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ เพราะใครๆ ไม่อาจให้เป็นไปในอำนาจว่า "ธรรมทั้งปวงจงอย่าแก่ จงอย่าตาย."
               บทที่เหลือ ก็เช่นกับบทที่มีแล้วในก่อนนั่นเอง ดังนี้แล.

               เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูปอื่นอีก จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 29อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 25 / 31อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=986&Z=1034
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=1155
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=1155
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :