ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 2อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 25 / 4อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อาการ ๓๒

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อนฺตํ ไส้ใหญ่               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ ไส้ใหญ่ขดอยู่ในที่ ๒๑ ขด ของบุรุษขนาด ๓๒ ศอก ของสตรีขนาด ๒๘ ศอก สีขาวเหมือนสีน้ำตาลกรวดและปูนขาว. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนงูเรือนที่เขาตัดหัววางขดไว้ในรางเลือด. โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. โดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในสรีระ ซึ่งมีหลุมคอและทางเดินกรีส [อุจจาระ] เป็นที่สุด เพราะโยงกับเบื้องบนที่หลุมคอ และเบื้องล่างที่ทางเดินกรีส.
               ในไส้ใหญ่นั้น ก็กำหนดว่า ไส้ใหญ่ย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่ภายในสรีระ แม้ภายในสรีระก็ไม่รู้ว่าไส้ใหญ่ตั้งอยู่ในเรา เปรียบเหมือนเรือนร่างงูเรือนศีรษะขาด ที่ถูกวางไว้ในรางเลือด ย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่ในรางเลือด แม้รางเลือดก็ไม่รู้ว่า เรือนร่างงูศีรษะขาดตั้งอยู่ในเราฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท ก็กำหนดว่าไส้ใหญ่ตัดตอนด้วยส่วนแห่งไส้ใหญ่. นี้เป็นการกำหนดไส้ใหญ่โดยสภาค. ส่วนกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล.

               อนฺตคุณํ ไส้น้อย               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ ไส้น้อยในระหว่างไส้ใหญ่ภายในสรีระ สีขาวเหมือนสีรากจงกลนี. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนรากจงกลนีนั่นแหละ. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสัณฐานเหมือนเยี่ยวโค ดังนี้ก็มี โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. โดยโอกาส พันปลายปากขนดไส้ใหญ่รวมกันเหมือนแผ่นกระดานยนต์ พันเชือกเวลาที่คนทำ จอบและขวานเป็นต้นชักยนต์ ตั้งอยู่ระหว่างขนดใส้ใหญ่ ๒๑ ขด เหมือนเชือกที่ร้อยขดเชือกเช็ดเท้า ตั้งอยู่ในระหว่างเชือกเช็ดเท้านั้น
               ในไส้น้อยนั้น ก็กำหนดว่า ไส้น้อยย่อมไม่รู้ว่า เราพันไส้ใหญ่ภายในไส้ใหญ่ ๒๑ ขนดไว้ แม้ไส้ใหญ่ก็ไม่รู้ว่า ไส้น้อยพันเราไว้ เปรียบเหมือนเชือก [เล็ก] ร้อยขดเชือกเช็ดเท้า [เชือกใหญ่] ย่อมไม่รู้ว่าเราร้อยขดเชือกเช็ดเท้าไว้ แม้ขดเชือกเช็ดเท้าก็ไม่รู้ว่าเชือก [เล็ก] ร้อยเราไว้ ฉะนั้น. ด้วยว่าธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท ก็กำหนดว่า ไส้น้อย ตัดตอนด้วยส่วนแห่งไส้น้อย. นี้เป็นการกำหนดไส้น้อยนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. การกำหนดไส้น้อยโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               อุทริยํ อาหารใหม่               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ อาหารใหม่มีสีเหมือนอาหารที่กลืนเข้าไป โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนข้าวสารที่ผูกหย่อนๆ ในผ้ากรองน้ำ โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. โดยโอกาส ตั้งอยู่ในท้อง ธรรมดาว่าท้อง เป็นพื้นของไส้ใหญ่ เสมือนโป่งลมที่เกิดเองตรงกลางผ้าเปียก ซึ่งถูกบีบทั้งสองข้าง ภายนอกเกลี้ยงเกลา ภายในพัวพันด้วยกองขยะเนื้อ เสมือนผ้าซับระดู เขรอะคล่ำคล่า อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่าเสมือนข้างในของผลขนุนต้ม ดังนี้ก็มี. ในท้องนั้น มีหนอนต่างด้วยหนอน ๓๒ ตระกูลอย่างนี้ คือ ตระกูลตักโกลกะ [ขนาดผลกระวาน] กัณฑุปปาทกะ [ขนาดไส้เดือน] ตาลหิรกะ [ขนาดเสี้ยนตาล] เป็นต้น คลาคล่ำ ไต่กันยั้วเยี้ย อาศัยอยู่ประจำ ซึ่งเมื่อไม่มีอาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้น ก็โลดแล่นร้องระงมชอนไชเนื้อหัวใจ และเวลาคนกลืนกินอาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้นลงไป ก็เงยหน้าตาลีตาลานแย่งอาหาร ๒-๓ คำที่คนกลืนลงไปครั้งแรก [ท้อง] จึงกลายเป็นบ้านเกิด เป็นส้วมเป็นโรงพยาบาล และเป็นป่าช้าของหนอนเหล่านั้น เป็นที่เปรียบเหมือนในฤดูสารท ฝนเม็ดหยาบๆ ตกลงมาในบ่อโสโครกใกล้ประตูหมู่บ้านคนจันฑาล ซากต่างๆ ตั้งแต่ปัสสาวะ อุจจาระ ชิ้นหนัง กระดูก เอ็น น้ำลาย น้ำมูก และเลือดเป็นต้น ถูกน้ำพัดพา รวมคลุกเคล้ากับตมและน้ำ ก็มีหนอนตระกูลน้อยใหญ่เกิดเอง ล่วงไป ๒-๓ วัน ก็เดือดด้วยแรงแสงแดดและความร้อน พ่นฟองฟอดปุดขึ้นข้างบน มีสีเขียวจัด ไม่สมควรที่จะเข้าใกล้หรือมองดู ไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะสูดดมหรือลิ้มรส ฉันใด น้ำและข้าวเป็นต้นมีประการต่างๆ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันสากคือฟันบดละเอียดแล้ว อันมือคือลิ้นตวัดกลับไปมาแล้ว คลุกเคล้าด้วยน้ำลาย ปราศจากความพร้อมด้วยสีกลิ่นรสเป็นต้นไปทันใด เสมือนรากสุนัขในรางสุนัข รวมกันคลุกเคล้าด้วยดีเสลด เดือดด้วยแรงไฟในท้องและความร้อน มีหนอนตระกูลใหญ่น้อยปล่อยฟองฟอดขึ้นเบื้องบน จะกลายเป็นกองขยะมีกลิ่นเหม็นและน่าเกลียดอย่างยิ่ง ซึ่งฟังแล้วทำให้ไม่อยากดื่มน้ำกินข้าวเป็นต้น อย่าว่าถึงจะตรวจดูด้วยจักษุคือปัญญาเลย ซึ่งเป็นที่ๆ น้ำและข้าวเป็นต้นตกลงไปแล้ว จะแบ่งเฉลี่ยเป็น ๕ ส่วน คือ ส่วนหนึ่ง สัตว์ [ในท้อง] จะกิน ส่วนหนึ่ง ไฟในท้องจะเผาไฟไหม้ ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นปัสสาวะ ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นอุจจาระ ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นรส [โอชะ] บำรุงเพิ่มเลือดและเนื้อ.
               ในอาหารใหม่นั้น ก็กำหนดว่า อาหารใหม่ ย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ในท้องที่มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดอย่างยิ่งนี้ แม้ท้องก็ไม่รู้ว่า อาหารใหม่อยู่ในเรา เปรียบเหมือนรากสุนัขที่อยู่ในรางสุนัข แม้รางสุนัขก็ไม่รู้ว่ารากสุนัขอยู่ในเรา ฉะนั้น ด้วยว่าธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท ก็กำหนดรู้ว่าอาหารใหม่ตัดตอนด้วยส่วนแห่งอาหารใหม่ นี้เป็นการกำหนดอาหารใหม่นั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั้นแล. กำหนดอาหารใหม่ โดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               กรีสํ อาหารเก่า [อุจจาระ]               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ อาหารเก่า ภายในสรีระโดยมาก ก็มีสีเหมือนอาหารที่กลืนกินเข้าไป โดยสัณฐาน ก็มีสัณฐานเหมือนโอกาส. โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องล่าง. โดยโอกาส ตั้งอยู่ในที่อาหารอันย่อยแล้วอยู่อาศัย ธรรมดาประเทศที่อาหารอันย่อยแล้วอยู่อาศัย ก็เป็นประเทศเสมือนภายในปล้องไม้ไผ่และอ้อ สูงประมาณ ๘ นิ้ว อยู่ปลายลำไส้ใหญ่ระหว่างโคนท้องน้อยและสันหลังเบื้องล่าง เปรียบเหมือนน้ำฝนตกในที่เบื้องบน [สูง] ก็ไหลลงทำที่เบื้องล่าง [ต่ำ] ให้เต็มขังอยู่ ฉันใด น้ำและข้าวเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ตกลงในที่อยู่ของอาหารสด [ใหม่] อันไฟในท้องเผาให้สุกเดือดปุดเป็นฟอง กลายเป็นของละเอียดไปเหมือนแป้ง เพราะไฟธาตุทำให้ละเอียดแล้วก็ไหลไปตามช่องลำไส้ใหญ่ บีบรัดสะสมขังอยู่เหมือนดินเหลืองที่เขาใส่ในปล้องไม้ไผ่และต้นอ้อ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ในอาหารเก่านั้น ก็กำหนดว่า อาหารเก่าย่อมไม่รู้ว่า เราอยู่ในที่อยู่ของอาหารที่ย่อยแล้ว แม้ที่อยู่ของอาหารที่ย่อยแล้ว ก็ไม่รู้ว่าอาหารเก่าอยู่ในเรา เปรียบเหมือนดินเหลืองที่เขาขยำใส่ลงในปล้องไม้ไผ่และไม้อ้อ ย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ในปล้องไม้ไผ่และไม้อ้อ แม้ปล้องไม้ไผ่และไม้อ้อก็ไม่รู้ว่าดินเหลืองอยู่ในเรา ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า อาหารเก่าตัดตอนด้วยส่วนแห่งอาหารเก่า นี้เป็นการกำหนดอาหารเก่านั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดอาหารเก่าโดยวรรณะเป็นต้นมีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               มตฺถลุงคํ มันในสมอง               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ มันในสมองภายในกะโหลกศีรษะในสรีระ มีสีขาวเหมือนสีเห็ด. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสีเหมือนสีน้ำนมเดือด ดังนี้ก็มี. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส. โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. โดยโอกาส เป็นประเภทก้อนมันสมอง ๔ ก้อน ที่อาศัยร้อยเอ็น ๔ รอย ภายในกะโหลกศีรษะในสรีระ รวมกันตั้งอยู่เหมือนก้อนแป้ง ๔ ก้อนที่เขารวมกันตั้งไว้. ในมันสมองนั้น ก็กำหนดว่า มันในสมองย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ในกะโหลกศีรษะ แม้กะโหลกศีรษะก็ไม่รู้ว่ามันในสมองอยู่ในเรา เปรียบเหมือนก้อนแป้งที่เขาใส่ไว้ในกะโหลกน้ำเต้าเก่า หรือน้ำนมเดือด ย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ในกะโหลกน้ำเต้าเก่า แม้กะโหลกน้ำเต้าเก่า ก็ไม่รู้ว่าก้อนแป้ง หรือน้ำนมเดือดอยู่ในเรา ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า มันในสมองตัดตอนด้วยส่วนแห่งมันในสมอง นี้เป็นการกำหนดมันในสมองนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดมันในสมอง โดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               ปิตฺตํ ดี               
               ต่อแต่นี้ไป กำหนดว่า ดี แม้สองชนิด คือดีนอกถุงและดีในถุง มีสีเหมือนน้ำมันมะซางขัน อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ดีนอกถุงมีสีเหลือนดอกพิกุลแห้งดังนี้ก็มี โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. โดยโอกาส ดีนอกถุง เว้นที่ของผมขนเล็บและฟันอันพ้นจากเนื้อ และหนังที่แข็งและแห้ง เอิบอาบสรีระส่วนที่เหลืออยู่ เหมือนหยาดน้ำมัน เอิบอาบน้ำ ซึ่งเมื่อกำเริบแล้ว ดวงตาจะเหลือง เวียนศีรษะ ตัวสั่นและคัน ดีในถุงตั้งอยู่ในถุงน้ำดี ซึ่งเมื่อกำเริบแล้ว สัตว์ทั้งหลายจะเป็นบ้ามีจิตวิปลาส ทิ้งหิริโอตตัปปะ ทำการที่ไม่ควรทำ พูดคำที่ไม่ควรพูด คิดข้อที่ไม่ควรคิด.
               ในดีนั้น ก็กำหนดว่า ดีนอกถุงย่อมไม่รู้ว่า เราเอิบอาบตลอดสรีระอยู่ แม้สรีระก็ไม่รู้ว่าดีนอกถุงเอิบอาบเราอยู่ เปรียบเหมือนน้ำมันเอิบอาบน้ำอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าเราเอิบอาบน้ำอยู่ แม้น้ำก็ไม่รู้ว่า น้ำมันเอิบอาบเราอยู่ ฉะนั้น ดีในถุงย่อมไม่รู้ว่า เราอยู่ในถุงน้ำดี แม้ถุงน้ำดีก็ไม่รู้ว่า ดีในถุงอยู่ในเรา เปรียบเหมือนน้ำฝน ที่อยู่ในรังบวบขม ย่อมไม่รู้ว่า เราอยู่ในรังบวบขม แม้รังบวบขมก็ไม่รู้ว่าน้ำฝนอยู่ในเรา ฉะนั้น. ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล.โดยปริเฉท ก็กำหนดว่า ดีตัดตอนด้วยส่วนแห่งดี นี้เป็นการกำหนดดีนั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล กำหนดดีโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               เสมฺหํ เสลด               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่าโดยวรรณะ เสมหะมีประมาณบาตรหนึ่งภายในสรีระ มีสีขาวเหมือนสีน้ำในมะเดื่อ โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส. โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ในท้อง ซึ่งในเวลากลืนกินอาหารมีน้ำและโภชนะเป็นต้น เมื่อน้ำและโภชนะเป็นต้นตกลง ก็จะแตกออกเป็นสองส่วนแล้วจะกลับมาคลุมอีก ซึ่งเมื่อมีน้อย พื้นท้องจะมีกลิ่นเหมือนซากศพน่าเกลียดอย่างยิ่ง เหมือนหัวฝีสุก เหมือนไข่ไก่เน่า เปรียบเหมือนสาหร่ายในน้ำ เมื่อชิ้นไม้หรือกระเบื้องตกก็จะขาดเป็นสองส่วนแล้วก็กลับมาคลุมอีก ฉะนั้น การเรอก็ดี ปากก็ดี จะมีกลิ่นเหม็นเสมือนซากศพเน่าด้วยกลิ่นที่พุ่งขึ้นจากท้องนั้น และคนผู้นั้นก็จะถูกเขาพูดไล่ตะเพิดว่า ออกไปเจ้าส่งกลิ่นเหม็น และเสมหะพอกพูนหนาแน่นขึ้น ก็ช่วยระงับกลิ่นเหม็น ตั้งอยู่ภายในพื้นท้องนั่นแหละ เหมือนแผ่นกระดานปิดส้วม.
               ในเสมหะนั้น ก็กำหนดว่า เสมหะย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ที่พื้นท้อง แม้พื้นท้องก็ไม่รู้ว่าเสมหะอยู่ในเรา เปรียบเหมือนแผ่นฟองบนบ่อโสโครก ย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ในบ่อโสโครก แม้บ่อโสโครกก็ไม่รู้ว่า แผ่นฟองอยู่ในเราฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท ก็กำหนดว่า เสมหะตัดตอนด้วยส่วนแห่งเสมหะ. นี้เป็นการกำหนดเสมหะนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดเสมหะโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               ปุพฺโพ หนอง               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ หนองมีสีเหมือนใบไม้เหลือง โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส โดยทิศเกิดในทิศทั้งสอง โดยโอกาส ธรรมดาโอกาสของน้ำเหลือง ตั้งอยู่ประจำไม่มี จะตั้งอยู่ในตำแหน่งสรีระที่น้ำเหลืองสะสมตั้งอยู่ ที่เมื่อถูกตอหนามเครื่องประหารและเปลวไฟเป็นต้นกระทบแล้วห้อเลือด หรือเกิดฝีและต่อมเป็นต้น.
               ในหนองนั้น ก็กำหนดว่า หนองย่อมไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ถูกตอและหนามเป็นต้นกระทบ หรือในตำแหน่งที่เกิดฝีและต่อมเป็นต้น ณ ที่นั้นๆ แห่งสรีระ แม้ตำแหน่งสรีระก็ไม่รู้ว่า น้ำเหลืองอยู่ในเรา เปรียบเหมือนยางไม้ที่ไหลออกตั้งอยู่ในที่ๆ ถูกคมขวานเป็นต้นเฉพาะในที่นั้นๆ ของต้นไม้ ย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่ในที่ๆ ถูกเฉพาะของต้นไม้ แม้ที่ๆ ถูกเฉพาะของต้นไม้ก็ไม่รู้ว่า ยางไม้ตั้งอยู่ในเราฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมดาเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า หนองตัดตอนด้วยส่วนแห่งน้ำเหลือง นี้เป็นการกำหนดหนองนั้น โดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดหนองโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               โลหิตํ เลือด               
               ต่อแต่นั้นไป ในเลือด ๒ อย่าง คือ เลือดขังและเลือดเดิน ก็กำหนดเลือดขังก่อน โดยวรรณะมีสีเหมือนน้ำครั่งเดือดข้น เลือดเดินมีสีเหมือนน้ำครั่งใส. โดยสัณฐาน เลือดทุกอย่าง มีสัณฐานเหมือนโอกาสของตน. โดยทิศ เลือดขังเกิดในทิศเบื้องบน เลือดเดินเกิดในทิศทั้งสอง โดยโอกาส เลือดเดินจะกระจายไปตลอดสรีระทุกส่วนของสัตว์เป็นๆ เว้นที่ๆ ผมขนเล็บและฟันที่พ้นจากเนื้อ และหนังที่กระด้างและแห้ง เลือดขังทำส่วนล่างของตับให้เต็มแล้ว ทำหยดเลือดให้ตกลงทีละน้อยๆ บนม้ามหัวใจตับและปอดประมาณเต็มฟายมือหนึ่ง ทำม้ามหัวใจตับและปอดให้ชุ่มอยู่ ซึ่งเมื่อไม่ทำม้ามและหัวใจเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ สัตว์ทั้งหลายก็จะกระหายน้ำ.
               ในเลือด ก็กำหนดว่า เลือดย่อมไม่รู้ว่า เราทำม้ามและหัวใจเป็นต้นให้ชุ่ม ตั้งอยู่ส่วนล่างของตับ แม้ที่ส่วนล่างของตับหรือม้ามและหัวใจเป็นต้น ก็ไม่รู้ว่าเลือดตั้งอยู่ในเรา หรือทำเราให้ชุ่มตั้งอยู่ เปรียบเหมือนน้ำที่อยู่ในภาชนะเก่าๆ ทำก้อนดินเป็นต้นข้างล่างให้ชุ่มอยู่ ย่อมไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในภาชนะเก่าๆ ทำก้อนดินเป็นต้นข้างล่างให้ชุ่มอยู่ แม้ภาชนะเก่าๆ หรือก้อนดินเป็นต้นข้างล่าง ก็ไม่รู้ว่า น้ำตั้งอยู่ในเรา หรือทำเราให้ชุ่มตั้งอยู่ ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า เลือดตัดตอนด้วยส่วนแห่งเลือด. นี้เป็นการกำหนดเลือดนั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดเลือดโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               เสโท เหงื่อ               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ เหงื่อ ในสรีระมีสีเหมือนน้ำมันงาใส. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส โดยทิศเกิดในทิศทั้งสอง โดยโอกาส ธรรมดาเหงื่อจะออกอยู่เป็นนิจ หามีไม่ หากแต่เหงื่อมีอยู่ทุกเมื่อ หรือเพราะเหตุที่เวลาใด สรีระเร่าร้อน เพราะร้อนไฟแสงแดดและฤดูวิปริตเป็นต้น เวลานั้น เหงื่อจะไหลออกจากทุกรูผมและขุมขน เหมือนน้ำในกำเหง้าบัวและก้านบัวที่ตัดไม่เรียบพอยกขึ้นพ้นน้ำ ฉะนั้น พระโยคาวจรจึงกำหนดเหงื่อนั้น โดยสัณฐาน ด้วยรูผมและขุมขนเหล่านั้น ท่านบุรพาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า อันพระโยคาวจรผู้กำหนดเอาเหงื่อเป็นอารมณ์ พึงมนสิการใส่ใจเหงื่อ โดยที่เหงื่อทำรูผมและขุมขนให้เต็มแล้วตั้งอยู่.
               ในเหงื่อนั้น กำหนดว่า เหงื่อย่อมไม่รู้ว่า เราไหลออกจากรูผมและขุมขน แม้รูผมและขุมขนก็ไม่รู้ว่าเหงื่อไหลออกจากเรา เปรียบเหมือนน้ำที่ไหลออกจากช่องกำเหง้าบัวและก้านบัว ย่อมไม่รู้ว่าเราไหลออกจากช่องเหง้าบัวและก้านบัว แม้ช่องเหง้าบัวและก้านบัว ก็ไม่รู้ว่าน้ำไหลออกจากเราฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล โดยปริเฉทกำหนดว่า เหงื่อตัดตอนด้วยส่วนแห่งเหงื่อ นี้เป็นกำหนดเหงื่อนั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดเหงื่อโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               เมโท มันข้น               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ มันข้นระหว่างหนังและเนื้อในสรีระ มีสีเหมือนขมิ้นผ่า โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส. จริงอย่างนั้น สำหรับคนตัวอ้วนมีสุข มันข้นที่แผ่ไประหว่างหนังและเนื้อ มีสัณฐานเหมือนผ้าเปลือกไม้เก่าย้อมขมิ้น สำหรับคนตัวผอม มันข้นอาศัยเนื้อแข้ง เนื้อขา เนื้ออาศัยสันหลังและเนื้อหลังและเนื้อพื้นท้องรวมไว้ มีสัณฐานเหมือนผ้าเปลือกไม้เก่าย้อมขมิ้นที่เขารวบวางไว้. โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง โดยโอกาส มันข้นสำหรับคนอ้วนแผ่ไปทั่วสรีระ สำหรับคนผอม อาศัยเนื้อแข็งเป็นต้นอยู่ ซึ่งก็คือมันเหนียว มิใช่รวมไว้เพื่อเป็นน้ำมันในสมอง มิใช่เพื่อเป็นน้ำมันในคำข้าว มิใช่เพื่อตามประทีป [จุดตะเกียง] เพราะเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่ง.
               ในมันข้นนั้น กำหนดว่า มันข้นย่อมไม่รู้ว่า เราอาศัยทั่วสรีระหรือเนื้อที่แข้งเป็นต้นตั้งอยู่ แม้ทั่วสรีระหรือเนื้อที่แข้งเป็นต้นก็ไม่รู้ว่า มันข้นอาศัยเราตั้งอยู่ เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้เก่าย้อมขมิ้นที่วางพิงกองเนื้อ ย่อมไม่รู้ว่า เราวางพิงกองเนื้อ แม้กองเนื้อก็ไม่รู้ว่าผ้าเปลือกไม้เก่าย้อมขมิ้นวางพิงเรา ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า มันข้นเบื้องล่างตัดตอนด้วยเนื้อ เบื้องบนตัดตอนด้วยหนัง โดยรอบตัดตอนด้วยส่วนแห่งมันข้น. นี้เป็นการกำหนดมันข้นนั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดมันข้น โดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               อสฺสุ น้ำตา               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ น้ำตา มีสีเหมือนน้ำมันงาใส. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส. โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ในเบ้าตา ก็น้ำตานั้นหาขังตั้งอยู่ในเบ้าตาทุกเมื่อเหมือนน้ำดีในถุงน้ำดีไม่. มีได้อย่างไรเล่า. เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเกิดโสมนัสดีใจ ก็หัวเราะดังลั่น เกิดโทมนัสเสียใจ ก็ร้องไห้คร่ำครวญ หรือกลืนกินอาหารเผ็ดก็เหมือนกัน และเมื่อใด ตาทั้งสองข้างของสัตว์เหล่านั้น ถูกควันละอองและฝุ่นเป็นต้นกระทบ เมื่อนั้น น้ำตาเกิดขึ้นเพราะโสมนัส โทมนัสและอาหารเผ็ดเป็นต้น ก็จะขัง เอ่อออกเต็มเบ้าตา ท่านบุรพาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า อันพระโยคาวจร ผู้กำหนดเอาน้ำตาเป็นอารมณ์ พึงมนสิการใส่ใจน้ำตานั้นโดยที่น้ำตาขังเต็มเบ้าตานั่นแล.
               ในน้ำตานั้น กำหนดว่า น้ำตาย่อมไม่รู้ว่าเราขังอยู่ในเบ้าตา แม้เบ้าตาก็ไม่รู้ว่าน้ำตาขังอยู่ในเรา เปรียบเหมือนน้ำที่ขังอยู่ในเมล็ดลูกตาลรุ่นที่ตัดปลายย่อมไม่รู้ว่าเราขังอยู่ในเบ้าเมล็ดลูกตาลรุ่นที่ตัดปลาย แม้เบ้าเมล็ดลูกตาลรุ่นตัดปลาย ก็ไม่รู้ว่าน้ำขังอยู่ในเรา ฉะนั้น ด้วยว่าธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า น้ำตาตัดตอนด้วยส่วนแห่งน้ำตา นี้เป็นการกำหนดน้ำตานั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. ก็กำหนดน้ำตาโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               วสา มันเหลว               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ มันเหลว คือมันที่ละลายอยู่ในสรีระ มีสีเหมือนน้ำมันที่ราดในข้าวตัง. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. โดยโอกาส ตั้งอยู่ที่ฝ่ามือหลังมือฝ่าเท้าหลังเท้า ดั้งจมูก หน้าผากและจะงอยบ่า แต่มันเหลวนั้นหาละลายตั้งอยู่ในโอกาสเหล่านั้นทุกเมื่อไม่. อย่างไรเล่า. เมื่อใด ประเทศที่เหล่านั้นเกิดไออุ่น เพราะไม่ถูกกันกับความร้อนของไฟ แสงแดด ฤดูและธาตุที่ไม่ถูกกัน เมื่อนั้น มันเหลวก็จะละลายซ่านไปในประเทศที่เหล่านั้น เหมือนน้ำค้างในบ่อน้ำที่มีน้ำใส.
               ในมันเหลว กำหนดว่า มันเหลวย่อมไม่รู้ว่าเราท่วมอยู่ตลอดฝ่ามือเป็นต้น แม้ฝ่ามือเป็นต้นก็ไม่รู้ว่ามันเหลวท่วมเราอยู่ เปรียบเหมือนน้ำค้างที่ท่วมบ่อน้ำอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าเราท่วมบ่อน้ำ แม้บ่อน้ำก็ไม่รู้ว่า น้ำค้างท่วมเราอยู่ ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า มันเหลวตัดตอนด้วยส่วนแห่งมันเหลว นี้เป็นการกำหนดมันเหลวนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล กำหนดมันเหลวโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               เขโฬ น้ำลาย               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ น้ำลายภายในปากในสรีระ สีขาวสีเหมือนฟองน้ำ. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสัณฐานเหมือนฟองน้ำทะเลดังนี้ก็มี โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. โดยโอกาส ไหลลงจากแก้มสองข้าง ตั้งอยู่ที่ลิ้น แต่น้ำลายนั้น หาสะสมตั้งอยู่ที่แก้มนั้นทุกเมื่อไปไม่ เป็นอย่างไรเล่า. เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเห็น หรือระลึกถึงอาหารเช่นนั้น หรือวางของร้อนของรสขมเผ็ดเค็มและเปรี้ยวบางอย่างลงในปาก และเมื่อใด หัวใจของสัตว์เหล่านั้น ไม่สบาย หรือเกิดหิวขึ้นในบางครั้ง เมื่อนั้น น้ำลายจะเกิดไหลลงจากแก้มทั้งสองข้างตั้งอยู่ที่ลิ้น แต่ที่ปลายลิ้นน้ำลายนั้นจะบาง ที่โคนลิ้นจะหนา ก็ข้าวเม่า ข้าวสาร หรือของเคี้ยวอื่นๆ บางอย่างที่เขาใส่ลงในปาก จะยังไม่ละลายไปเหมือนน้ำในบ่อที่ขุดบนทรายริมแม่น้ำ เมื่อนั้น น้ำลายจะสามารถทำของเคี้ยวให้เปียกชุ่ม.
               ในน้ำลายนั้น กำหนดว่า น้ำลายย่อมไม่รู้ว่าเราไหลลงจากแก้มทั้งสองข้างตั้งอยู่ที่พื้นลิ้น แม้พื้นลิ้นก็ไม่รู้ว่าน้ำลายไหลลงจากแก้มทั้งสองข้างตั้งอยู่ในเรา เปรียบเหมือนน้ำที่ตั้งอยู่ที่พื้นบ่อซึ่งเขาขุดบนทรายริมแม่น้ำ ย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่ที่พื้นบ่อ แม้พื้นบ่อก็ไม่รู้ว่าน้ำตั้งอยู่ในเรา ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่าน้ำลายตัดตอนด้วยส่วนแห่งน้ำลาย. นี้เป็นการกำหนดน้ำลายนั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดน้ำลายโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               สิงฺฆาณิกา น้ำมูก               
               ตั้งแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ น้ำมูก สีขาวเหมือนสีเยื่อตาลรุ่น. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสัณฐานเหมือนหน่อหวายที่เขาใส่ติดต่อกัน คืบๆ เข้าไปในโพรงจมูก ดังนี้ก็มี โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. โดยโอกาส ขังอยู่เต็มจมูก แต่ว่าน้ำมูกนั้น หาสะสมขังอยู่ในโพรงจมูกนั้นทุกเมื่อไปไม่. เป็นอย่างไรเล่า บุรุษห่อนมส้มไว้ในใบบัว เอาหนามเจาะใบบัวตอนล่าง ทีนั้น ก้อนนมส้มก็จะไหลออกจากช่องนั้นตกลงไปภายนอก ฉันใด เมื่อใดสัตว์ทั้งหลายร้องไห้หรือเกิดธาตุกำเริบ โดยอาหารและฤดูที่ไม่ถูกกัน เมื่อนั้น มันในสมองที่กลายเป็นเสมหะเสีย ไหลออกจากภายในศีรษะ ลงทางช่องบนเพดานปาก ขังอยู่เต็มจมูกฉันนั้นเหมือนกัน.
               ในน้ำมูกนั้น กำหนดว่า น้ำมูกย่อมไม่รู้ว่าเราขังอยู่ในโพรงจมูก แม้โพรงจมูกก็ไม่รู้ว่าน้ำมูกขังอยู่ในเรา เปรียบเหมือนนมส้มเสียที่เขาใส่ไว้ในหอยโข่ง ย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ในหอยโข่ง แม้หอยโข่งก็ไม่รู้ว่า นมส้มเสียอยู่ในเรา ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า น้ำมูก ตัดตอนด้วยส่วนแห่งน้ำมูก นี่เป็นการกำหนดน้ำมูกนั้น. โดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดน้ำมูกโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               ลสิกา ไขข้อ               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า ซากศพที่ลื่นเป็นมันในภายในที่ต่อแห่งสรีระ ภายในสรีระ ชื่อไขข้อ. โดยวรรณะ ไขข้อนั้นมีสีเหมือนยางต้นกรรณิการ์. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาส. โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. โดยโอกาส ให้สำเร็จกิจคือหน้าที่หยอดน้ำมันที่ต่อแห่งกระดูกทั้งหลาย ตั้งอยู่ภายในที่ต่อ ๑๘๐ แห่ง ไขข้อนั้นของผู้ใดมีน้อย ผู้นั้นลุกขึ้น นั่งลงก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง งอแขนเหยียดแขน กระดูกทั้งหลายก็จะลั่นกุบกับเดินไปก็เหมือนทำเสียงดีดนิ้ว เดินทางไกลไปได้แม้เพียงโยชน์หนึ่งสองโยชน์ วาโยธาตุก็กำเริบ [เป็นลม] ตัวก็ลำบาก. ส่วนไขข้อของผู้ใดมีมาก ผู้นั้น กระดูกทั้งหลายก็ไม่ลั่นกุบกับ ในขณะลุกขึ้นและนั่งลงเป็นต้น แม้เดินทางนานๆ วาโยธาตุก็ไม่กำเริบ ตัวก็ไม่ลำบาก.
               ในไขข้อนั้น กำหนดว่า ไขข้อย่อมไม่รู้ว่าเราหยอดน้ำมันที่ต่อ ๑๘๐ แห่งอยู่ แม้ที่ต่อ ๑๘๐ แห่งก็ไม่รู้ว่าไขข้อหยอดน้ำมันเราอยู่ เปรียบเหมือนน้ำมันหยอดเพลารถ ย่อมไม่รู้ว่าเราหยอดน้ำมันเพลารถอยู่ แม้เพลารถก็ไม่รู้ว่า น้ำมันหยอดน้ำมันเราอยู่ ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า ไขข้อตัดตอนด้วยส่วนแห่งไขข้อ นี้เป็นการกำหนดไขข้อนั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดไขข้อโดยวรรณะเป็นต้นมีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               มุตฺตํ มูตร [ปัสสาวะ]               
               ต่อแต่นั้นไป กำหนดว่า โดยวรรณะ มูตรภายในสรีระมีสีเหมือนน้ำด่างถั่วทอง โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนน้ำที่อยู่ภายในหม้อน้ำที่เต็มน้ำซึ่งเขาวางคว่ำปาก. โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องล่าง โดยโอกาส ตั้งอยู่ในกะเพาะปัสสาวะ. ถุงปัสสาวะ ท่านเรียกชื่อว่ากะเพาะปัสสาวะ ซึ่งเปรียบเหมือนรสน้ำโสโครก ย่อมเข้าไปในหม้อซึ้งที่ไม่มีปาก ซึ่งเขาวางไว้ในบ่อโสโครก ทางเข้าไปของรสน้ำโสโครกนั้นไม่ปรากฏ ฉันใด มูตรเข้าไปทางสรีระ แต่ทางเข้าไปของมูตรนั้นไม่ปรากฏ ส่วนทางออกเท่านั้นปรากฏอยู่.
               ในมูตรนั้น กำหนดว่า มูตรย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่ในกะเพาะปัสสาวะ แม้กะเพาะปัสสาวะก็ไม่รู้ว่ามูตรตั้งอยู่ในเรา เปรียบเหมือนรสน้ำโสโครกในหม้อซึ้งที่ไม่มีปาก ซึ่งเขาวางไว้ในบ่อน้ำโสโครก ย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ในหม้อซึ้งที่ไม่มีปาก แม้หม้อซึ้งก็ไม่รู้ว่ารสน้ำโสโครกตั้งอยู่ในเรา ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า มูตรตัดตอนด้วยภายในกระเพาะปัสสาวะ และด้วยส่วนแห่งมูตร นี้ เป็นการกำหนดมูตรนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดมูตร โดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.
               พระโยคาวจรกำหนดทวัตติงสาการนี้โดยวรรณะเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
               เพราะอาศัยการประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนาการเจริญทวัตติงสาการนั้นๆ ทวัตติงสาการมีผมเป็นต้น ก็ย่อมจะคล่องแคล่ว ปรากฏชัดโกฏฐาสเป็นส่วนๆ แก่พระโยคาวจรนั้น ผู้กำหนดทวัตติงสาการนี้ โดยวรรณะเป็นต้นด้วยประการฉะนี้ ตั้งแต่นั้นไป เมื่อบุรุษมีดวงตา ตรวจดูพวงมาลัยแห่งดอกไม้ทั้งหลาย ซึ่งมี ๓๒ สี อันร้อยไว้ด้วยด้ายเส้นเดียวกัน ดอกไม้ทุกดอกก็ย่อมเป็นอันปรากฏไม่ก่อนไม่หลัง ฉันใด เมื่อพระโยคาวจร สำรวจกายนี้ด้วยสติว่า ในกายนี้มีเกสาผมเป็นต้น ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นอันปรากฏไม่ก่อนไม่หลัง ฉันนั้นเหมือนกัน สติที่ตั้งขึ้นในผมทั้งหลายที่นึกถึง ย่อมจะเป็นไปจนถึงมูตร ตั้งแต่นั้นไป มนุษย์และเดียรฉานเป็นต้น ที่เดินไปมา จะละอาการว่าสัตว์ ปรากฏชัดแต่กองแห่งโกฏฐาสเป็นส่วนๆ เท่านั้นแก่พระโยคาวจรนั้น และน้ำและโภชนะเป็นต้น ที่สัตว์เหล่านั้นกลืนกิน ก็จะปรากฏชัดเหมือนใส่ลงไปในกองโกฏฐาส.
               ในข้อนี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น พระโยคาวจรผู้นี้จะพึงทำอะไร ต่อแต่นั้นไป.
               ขอกล่าวชี้แจงดังนี้ นิมิตนั้นนั่นแล อันพระโยคาวจรพึงเสพ พึงเจริญ พึงทำให้มาก พึงกำหนด ให้เป็นอันกำหนดด้วยดี
               ถามว่า ก็พระโยคาวจรนี้เสพ เจริญนิมิตนั้น ทำให้มาก กำหนดให้เป็นอันกำหนดด้วยดีอย่างไร.
               ตอบว่า ความจริง พระโยคาวจรนี้เสพนิมิตที่ทวัตติงสาการนี้ ผมเป็นต้นปรากฏเป็นโกฏฐาสส่วนๆ นั้น ย่อมผูก คบ เข้าไปใกล้ด้วยสติ ให้ใจยึดห้องคือสติ หรือทำสติที่ได้ในนิมิตนั้นให้งอกงาม ท่านเรียกว่าเจริญนิมิตนั้น.
               ข้อว่า ทำให้มาก ได้แก่ทำนิมิตนั้นบ่อยๆ ให้ประกอบด้วยสติ อันวิตกและวิจารเข้ากระทบแล้ว.
               ข้อว่า กำหนดให้เป็นอันกำหนดด้วยดี ได้แก่นิมิตเป็นอันกำหนดด้วยดี ไม่หายไปอีก โดยประการใด พระโยคาวจรย่อมกำหนดเข้าไปรองรับเข้าไปผูกนิมิตนั้นไว้ด้วยสติ โดยประการนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง มนสิการโกศล ความฉลาดในมนสิการอันใด ที่กล่าวไว้แต่ก่อน ๑๐ ข้ออย่างนี้คือ โดย
                         ๑. โดยลำดับ ๒. โดยไม่เร่งนัก ๓. โดยไม่ช้านัก
                         ๔. โดยป้องกันความฟุ้งซ่าน ๕. โดยล่วงบัญญัติเสีย
                         ๖. โดยปล่อยลำดับ ๗. โดยลักษณะ ๘. ๙. ๑๐. สูตรทั้ง ๓.
               ในมนสิการโกศลนั้น พึงทราบว่า พระโยคาวจรมนสิการใส่ใจโดยลำดับ ชื่อว่า เสพ. มนสิการโดยไม่เร่งนัก และโดยไม่ช้านัก ชื่อว่า เจริญ มนสิการโดยป้องกันความฟุ้งซ่าน ชื่อว่า ทำให้มาก มนสิการโดยล่วงบัญญัติเป็นต้น ชื่อว่า กำหนดให้เป็นอันกำหนดด้วยดี.
               ในข้อนี้ผู้ทักท้วงกล่าวว่า พระโยคาวจรนี้มนสิการธรรมเหล่านี้ โดยมนสิการโกศลมีโดยลำดับเป็นต้นอย่างไร.
               ขอกล่าวชี้แจงดังนี้ ความจริง พระโยคาวจรนี้ ครั้นมนสิการผมแล้ว ลำดับจากนั้น ก็มนสิการขน ไม่มนสิการเล็บ. ในอาการทุกอย่างก็นัยนี้ เพราะเหตุไร. เพราะว่า พระโยคาวจร เมื่อมนสิการผิดลำดับ ก็มีจิตลำบาก ตกไปจากทวัตติงสาการภาวนา เจริญภาวนาไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้อัสสาทะความสดชื่นที่ควรได้โดยภาวนาสมบัติ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ไม่ฉลาดขึ้นบันได ๓๒ ขั้น ผิดลำดับ ก็ลำบากกายย่อมตกบันไดนั้น ขึ้นบันไดไม่สำเร็จ ฉะนั้น.
               อนึ่ง พระโยคาวจรแม้มนสิการโดยลำดับ ก็มนสิการไม่เร็วเกินไปว่า เกสา โลมา. เพราะว่า พระโยคาวจรเมื่อมนสิการเร็วเกินไป ก็ไม่อาจกำหนดสีและสัณฐานเป็นต้น ที่พ้นจากทวัตติงสาการ แต่นั้น ก็จะไม่ฉลาดในทวัตติงสาการ และกรรมฐานก็จะเสื่อมเสียไป เปรียบเหมือนบุรุษกำลังเดินทางไกล ไม่อาจกำหนดทางเรียบทางขรุขระ ต้นไม้ ที่ดอนที่ลุ่ม ทางสองแพร่งเป็นต้น ที่พ้นไปจากหนทาง แต่นั้น ก็จะไม่ฉลาดในหนทาง การเดินทางไกลก็จะสิ้นไป ฉะนั้น.
               อนึ่ง พระโยคาวจร มนสิการโดยไม่เร่งนัก ฉันใด ก็มนสิการ แม้โดยไม่ชักช้านัก ฉันนั้น เพราะว่า พระโยคาวจร เมื่อมนสิการชักช้านัก ก็จะไม่ถึงความสำเร็จทวัตติงสาการภาวนา แต่จะถึงความย่อยยับด้วยกามวิตกเป็นต้น ในระหว่าง เพราะขาดภาวนา เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล ถูกหน่วงเหนี่ยวอยู่ที่ต้นไม้ ภูเขา และหนองน้ำเป็นต้นในระหว่างทาง ก็ไม่ถึงถิ่นที่ประสงค์ แต่จะถึงความย่อยยับด้วยสิงโตและเสือเป็นต้น ในระหว่างทางนั่นเอง ฉะนั้น.
               อนึ่ง พระโยคาวจรแม้มนสิการโดยไม่ชักช้านัก ก็มนสิการแม้โดยป้องกันความฟุ้งซ่านเสีย พระโยคาวจรย่อมมนสิการ โดยประการที่จะไม่ฟุ้งซ่าน เพราะงานอื่นๆ มีงานนวกรรม การก่อสร้างเป็นต้น พระโยคาวจร ผู้มีจิตฟุ้งซ่านไปภายนอก มีความตรึกแห่งจิตไม่ตั้งมั่นในทวัตติงสาการมีผมเป็นต้น ก็ไม่ถึงความสำเร็จแห่งภาวนา จะถึงความย่อยยับเสียในระหว่างนั้นเอง เหมือนสหายของพระโพธิสัตว์ย่อยยับเสียในการเดินทางไปกรุงตักกสิลา ส่วนพระโยคาวจรผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีความตรึกแห่งจิตตั้งมั่นในทวัตติงสาการ มีผมเป็นต้น ก็ถึงความสำเร็จแห่งภาวนา เหมือนพระโพธิสัตว์ถึงความสำเร็จแห่งราชสมบัติในกรุงตักกสิลา ธรรมเหล่านั้นย่อมปรากฏโดยอสุภะ โดยสีหรือโดยความว่างเปล่าด้วยอำนาจบารมี จริยาและความน้อมใจเชื่อแก่พระโยคาวจรนั้น ผู้มนสิการโดยป้องกันความฟุ้งซ่าน ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พระโยคาวจรมนสิการธรรมเหล่านั้น โดยล่วงบัญญัติ.
               ข้อว่า โดยล่วงบัญญัติ ได้แก่มนสิการล่วงเลยสละเสียซึ่งโวหารเป็นต้นอย่างนี้ว่า เกสา โลมา โดยเป็นอสุภเป็นต้นตามที่ปรากฏแล้ว.
               มนสิการอย่างไร.
               เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลายที่เข้าไปอาศัยอยู่ในป่า ทำเครื่องหมายหักกิ่งไม้เป็นต้น เพื่อจำสถานที่มีน้ำไว้เพราะเป็นภูมิภาคที่ไม่คุ้นเคย ไปตามแนวเครื่องหมายนั้น ย่อมบริโภคน้ำได้ แต่เมื่อใด คุ้นเคยภูมิภาคแล้ว ก็ปล่อยไม่สนใจเครื่องหมายนั้นเข้าไปยังสถานที่มีน้ำ บริโภคน้ำได้ ฉันใด พระโยคาวจรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มนสิการธรรมเหล่านั้น โดยโวหารนั้นๆ มีเกสา โลมาเป็นต้นไปก่อน เมื่อธรรมเหล่านั้น ปรากฏชัดโดยอารมณ์มีอสุภเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ล่วงเลยปล่อยโวหารนั้น มนสิการโดยอารมณ์มีอสุภเป็นต้นแล.
               ในข้อนั้น ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ธรรมเหล่านั้นปรากฏโดยความเป็นอสุภะเป็นต้นแก่พระโยคาวจรนั้นอย่างไร โดยวรรณะอย่างไร หรือโดยความเป็นของว่างเปล่าอย่างไร. อนึ่ง พระโยคาวจรนี้ มนสิการธรรมเหล่านี้โดยอสุภะอย่างไร โดยวรรณะอย่างไร หรือโดยความว่างเปล่าอย่างไร.
               ก่อนอื่น ผมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้นโดยอสุภะ เป็น ๕ ส่วน คือ วรรณะ สี สัณฐาน ทรวดทรง คันธะกลิ่น อาสยะที่อยู่และโอกาสที่เกิด พระโยคาวจรนี้ก็มนสิการธรรมเหล่านี้เป็น ๕ ส่วนนั่นแล โดยอสุภะ.
               อย่างไรเล่า.
               ธรรมดา ผมเหล่านี้โดยวรรณะ ไม่งาม เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดอย่างยิ่ง.
               จริงอย่างนั้น มนุษย์ทั้งหลายเห็นเปลือกไม้หรือเส้นด้าย มีสีเหมือนผม ซึ่งตกลงไปในน้ำ และข้าวเวลากลางวัน ย่อมทิ้งหรือเกลียดน้ำและข้าว แม้เป็นของชอบใจ ด้วยสำคัญว่าผม. แม้โดยสัณฐาน ก็ไม่งาม
               จริงอย่างนั้น มนุษย์ทั้งหลายกระทบเปลือกไม้หรือเส้นด้าย ซึ่งมีสัณฐานเหมือนผม ซึ่งตกลงไปในน้ำข้าว เวลากลางคืน ย่อมทิ้งหรือเกลียดน้ำข้าวแม้เป็นของชอบใจ ด้วยสำคัญว่าผม. แม้โดยกลิ่นก็ไม่งาม.
               จริงอย่างนั้น ผมทั้งหลายที่เว้นการตกแต่งมีทาน้ำมัน ติดดอกไม้ รมควันเป็นต้น กลิ่นน่ารังเกียจอย่างยิ่ง คนสูดกลิ่นผมที่โยนใส่ในไฟ ต้องปิดจมูก เบือนหน้าหนี. แม้โดยที่อยู่ก็ไม่งาม.
               จริงอย่างนั้น ผมเหล่านั้นสะสมแล้ว ก็เพิ่มพูนไพบูลย์ด้วยการไหลมาคั่งกันของดี เสมหะ น้ำเหลืองและเลือด เหมือนต้นกะเพราเป็นต้นในกองขยะ ด้วยการไหลมาคั่งกัน ของสิ่งไม่สะอาดของมนุษย์นานาชนิด. แม้โดยโอกาส ก็ไม่งาม.
               จริงอย่างนั้น ผมเหล่านั้นเกิดในหนังอ่อน ที่คลุมศีรษะของมนุษย์ทั้งหลาย เหนือยอดกองซากศพ ๓๑ มีขนเป็นต้น ซึ่งน่าเกลียดอย่างยิ่งเหมือนต้นกระเพราเป็นต้นในกองขยะ.
               ในซากศพ ๓๑ มีขนเป็นต้น ก็นัยนี้. พระโยคาวจรนี้มนสิการธรรมเหล่านี้ที่ปรากฏโดยอสุภะ โดยความเป็นของไม่งาม ด้วยประการอย่างนี้ก่อน.
               ถ้าหากว่า ธรรมเหล่านี้ปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้นโดยวรรณะ เมื่อเป็นดังนั้น ผมทั้งหลายก็ปรากฏโดยเป็นนีลกสิณ. ขน ฟัน ก็อย่างนั้น ย่อมปรากฏโดยเป็นโอทาตกสิณ ในทวัตติงสาการทุกอย่าง ก็นัยนี้. พระโยคาวจรนี้ ย่อมมนสิการธรรมเหล่านี้ โดยเป็นกสิณนั้นๆ นั่นแล. ธรรมที่ปรากฏโดยวรรณะอย่างนี้ พระโยคาวจรก็มนสิการโดยวรรณะ ก็ถ้าหากว่า ธรรมเหล่านั้นปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้น โดยความเป็นของว่างเปล่า เมื่อเป็นดังนั้น ผมทั้งหลายย่อมปรากฏ โดยเป็นการประชุมวินิพโภครูปที่มีโอชะครบ ๘ ด้วยการกำหนดแยกออกจากกลุ่มก้อน. ขนเป็นต้น ก็ปรากฏเหมือนอย่างที่ผมปรากฏ. พระโยคาวจรนี้ย่อมมนสิการธรรมเหล่านี้ อย่างนั้นเหมือนกัน. ธรรมที่ปรากฏโดยความเป็นของว่างเปล่าอย่างนี้ ก็มนสิการโดยความเป็นของว่างเปล่า.
               พระโยคาวจรนี้มนสิการอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามนสิการธรรมเหล่านั้นโดยลำดับ.
               ข้อว่า โดยปล่อยลำดับ อธิบายว่า พระโยคาวจรปล่อยผมที่ปรากฏโดยเป็นอสุภะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง และมนสิการขน เป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ในผมทั้งหลายแล้วมนสิการขนทั้งหลาย เมื่อตั้งมนสิการในขนทั้งหลาย ก็ชื่อว่าปล่อยผม เปรียบเหมือนปลิง เพ่งเฉยอยู่ที่ประเทศอันจับไว้ด้วยหาง ปล่อยประเทศอื่นทางจะงอยปาก เมื่อจับประเทศนั้นไว้ ก็ชื่อว่าปล่อยประเทศนอกนี้ฉะนั้น. ในทวัตติงสาการทุกอย่าง ก็นัยนี้. ก็ธรรมเหล่านั้น เมื่อปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้น ผู้มนสิการโดยปล่อยลำดับอย่างนี้ ย่อมปรากฏไม่เหลือเลย ทั้งปรากฏว่าปรากฏชัดกว่า.
               เมื่อเป็นดังนั้น ธรรมเหล่าใดปรากฏโดยความเป็นของไม่งามแก่พระโยคาวจรใด ทั้งปรากฏว่าปรากฏชัดกว่า เปรียบเหมือนลิงถูกพรานไล่ตะเพิดไปในดงตาล ๓๒ ต้น ไม่หยุดอยู่แม้แต่ต้นเดียว โลดโผไป เมื่อใดกลับก็ล้า เมื่อนั้นจึงหยุดอิงตาลอ่อนอันสะอาด ที่หุ้มห่อด้วยใบตาลทึบต้นหนึ่งเท่านั้น ฉันใด ลิงคือจิตของพระโยคาวจรนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันพระโยคาวจรนั้นนั่นแหละไล่ตะเพิดไปอยู่ในกายนี้ที่มี ๓๒ โกฏฐาส คือส่วนไม่หยุดอยู่แม้แต่ส่วนหนึ่ง โลดไป เมื่อใดกลับเพราะไม่มีความปรารถนาในอันแล่นไปสู่อารมณ์เป็นอันมาก ก็เหน็ดเหนื่อย [ล้า] เมื่อนั้น ธรรมใดของพระโยคาวจรนั้น คล่องแคล่วหรือเหมาะแก่จริตกว่าในส่วน ๓๒ มีผมเป็นต้น หรือเป็นผู้บำเพ็ญบารมีไว้ก่อนในธรรมใด ก็อิงธรรมนั้นหยุดอยู่โดยอุปจารสมาธิ เมื่อเป็นดังนั้น พระโยคาวจรทำนิมิตนั้นนั่นแล ให้เป็นอันถูกความตรึก จรดถูกวิตกจรดบ่อยๆ ก็จะทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นตามลำดับ ตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้นแล้ว เริ่มวิปัสสนา ย่อมบรรลุอริยภูมิได้.
               อนึ่ง ธรรมเหล่านั้น ย่อมปรากฏโดยวรรณะแก่พระโยคาวจรใด เปรียบเหมือนลิงถูกพรานไล่ตะเพิดไปในดงตาล ๓๒ ต้น ไม่หยุดอยู่แม้แต่ต้นเดียว เมื่อใดกลับก็เหนื่อยล้า เมื่อนั้นจึงหยุดอิงตาลอ่อนอันสะอาด ที่หุ้มห่อด้วยใบตาลทึบต้นหนึ่งเท่านั้นฉันใด ลิงคือจิตของพระโยคาวจรนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันพระโยคาวจรนั้นนั่นแหละไล่ตะเพิดไปอยู่ในกายนี้ที่มี ๓๒ ส่วนไม่หยุดอยู่แม้แต่ส่วนหนึ่ง โลดไป เมื่อใดกลับเพราะไม่มีความปรารถนาแล่นไปในอารมณ์เป็นอันมาก ก็เหนื่อยล้า เมื่อนั้น ธรรมใดของพระโยคาวจรนั้น คล่องแคล่วหรือเหมาะแก่จริตกว่า ใน ๓๒ ส่วนมีผมเป็นต้น หรือเป็นผู้บำเพ็ญบารมีมาแต่ก่อนในธรรมใด ก็อิงธรรมนั้น หยุดอยู่โดยอุปจารสมาธิ เมื่อเป็นดังนั้น พระโยคาวจรทำนิมิตนั้นนั่นแล ให้เป็นอันถูกความตรึกจรด ถูกวิตกจรดบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดรูปาวจรฌานแม้ทั้ง ๕ โดยนีลกสินหรือโดยปิตกสิณ ตามลำดับ และตั้งอยู่ในรูปาวจรฌานนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เริ่มเจริญวิปัสสนา ก็จะบรรลุอริยภูมิได้.
               อนึ่ง ธรรมเหล่านั้นปรากฏโดยความเป็นของว่างเปล่าแก่พระโยคาวจรใด พระโยคาวจรนั้นย่อมมนสิการโดยลักษณะ เมื่อมนสิการโดยลักษณะ ย่อมบรรลุอุปจารฌาน โดยกำหนดธาตุในธรรมเหล่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น เมื่อมนสิการ ก็มนสิการธรรมเหล่านั้น โดยสูตรทั้ง ๓ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. นี้เป็นวิปัสสนานัยของพระโยคาวจรนั้น. พระโยคาวจรเริ่มเจริญวิปัสสนานี้และปฏิบัติไปตามลำดับ ก็ย่อมบรรลุอริยภูมิแล.
                ก็คำใดข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ก็พระโยคาวจรนี้ มนสิการธรรมเหล่านี้ อย่างไร คำนั้นก็เป็นอันข้าพเจ้าพยากรณ์แล้วด้วยกถามีประมาณเพียงเท่านี้. อนึ่งเล่า คำใดข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า พึงทราบการพรรณนาปาฐะนั้นอย่างนี้ โดยภาวนา. ความของคำนั้นก็เป็นอันข้าพเจ้าประกาศแล้วแล.

               ปกิณณกนัย นัยเบ็ดเตล็ด               
               บัดนี้ พึงทราบปกิณณกนัยนี้ เพื่อความชำนาญและความฉลาด ในทวัตติงสาการนี้ว่า
                         นิมิตฺตโต ลกฺขณโต               ธาตุโต สุญฺญโตปิ จ
               ขนฺธาทิโต จ วิญฺเญยฺโย               ทฺวตฺตึสาการนิจฺฉโย.
                         พึงทราบการวินิจฉัยทวัตติงสาการ โดยนิมิต โดย
               ลักษณะ โดยธาตุ โดยความว่างเปล่า และโดยขันธ์เป็นต้น.

               บรรดาข้อปกิณณกะนั้น ข้อว่าโดยนิมิต ความว่า ในทวัตติงสาการนี้มีประการดังกล่าวมาแล้วนี้ มีนิมิต ๑๖๐ ซึ่งพระโยคาวจร สามารถกำหนดทวัตติงสาการได้โดยโกฏฐาสคือเป็นส่วนๆ คือ ผมมีนิมิต ๕ คือ วรรณะ สี สัณฐาน ทรวดทรง ทิสา ทิศ โอกาส ที่เกิด ปริเฉท ตัดตอน ในขนเป็นต้นก็อย่างนี้.
               ข้อว่า โดยลักษณะ ความว่า ในทวัตติงสาการมีลักษณะ ๑๒๘ ซึ่งพระโยคาวจรสามารถทำมนสิการทวัตติงสาการได้โดยลักษณะ คือ ผมมี ๔ ลักษณะ คือ ลักษณะแข้น ลักษณะเอิบอาบ ลักษณะร้อน ลักษณะพัด ในขนเป็นต้น ก็อย่างนี้.
               ข้อว่า โดยธาตุ ความว่า ในทวัตติงสาการ ในธาตุทั้งหลายที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในบาลีนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลนี้ มีธาตุ ๖ ดังนี้
               ธาตุมี ๑๒๘ ซึ่งพระโยคาวจร สามารถกำหนดทวัตติงสาการได้โดยธาตุ คือ ในผมมีธาตุ ๔ คือ ส่วนที่แข็งเป็นปฐวีธาตุ ส่วนที่เอิบอาบเป็นอาโปธาตุ ส่วนที่ร้อนเป็นเตโชธาตุ ส่วนที่พัดเป็นวาโยธาตุ. ในขนเป็นต้นก็อย่างนี้
               ข้อว่า โดยความว่างเปล่า ความว่า ในทวัตติงสาการมีสุญญตา ๑๒๘ ซึ่งพระโยคาวจร สามารถพิจารณาเห็นทวัตติงสาการ โดยความว่างเปล่า คือในผมก่อน มีสุญญตา ๔ คือ ปฐวีธาตุว่างจากอาโปธาตุเป็นต้น อาโปธาตุเป็นต้นก็อย่างนั้น ว่างจากปฐวีธาตุเป็นต้น. ในขนเป็นต้นก็อย่างนี้.
               ข้อว่า โดยขันธ์เป็นต้น ความว่า ในทวัตติงสาการเมื่อผมเป็นต้น ท่านสงเคราะห์โดยขันธ์เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัย โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผมทั้งหลายมีขันธ์เท่าไร มีอาตนะเท่าไร มีธาตุเท่าไร มีสัจจะเท่าไร มีสติปัฏฐานเท่าไร กายย่อมปรากฏประหนึ่งกองหญ้าและไม้แก่พระโยคาวจรนั้น ผู้พิจารณาเห็นอย่างนี้ เหมือนอย่างท่านกล่าวไว้ว่า
                         นตฺถิ สตฺโต นโร โปโส ปุคฺคโล นูปลพฺภติ
               สุญฺญภูโต อยํ กาโย               ติณกฏฺฐสมูปโม.
                         ไม่มี สัตว์ นระ               บุรุษ ไม่ได้บุคคล
               กายนี้มีสภาพว่างเปล่า เปรียบเสมอด้วยหญ้าและไม้.

               อนึ่งเล่า ความยินดีนั้นใด อันมิใช่ของมนุษย์ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         สุญฺญคารํ ปวิฏฺฐสฺส สนฺตจิตฺตสฺส ตาทิโน
               อมานุสี รติ โหติ               สมฺมา ธมฺมํ วิปสฺสโต.
                         ท่านผู้เข้าไปยังเรือนว่าง มีจิตสงบ คงที่ พิจารณา
               เห็นธรรมโดยชอบ ย่อมมีความยินดี ที่ไม่ใช่ของมนุษย์

               ความยินดีนั้นอยู่ไม่ไกลเลย ต่อแต่นั้น อมตะคือ ปีติและปราโมชนั้นใด ที่สำเร็จมาแต่วิปัสสนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า
                         ยโต ยโต สมฺมสติ ขนฺธานํ อุทยพฺพยํ
               ลภตี ปีติปาโมชฺชํ               อมตํ ตํ วิชานตํ.
                         พิจารณาเห็นความเกิดและดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย
               โดยประการใดๆ ปีติและปราโมชอันเป็นอมตะย่อมได้
               แก่ผู้พิจารณาเห็นความเกิดดับนั้น โดยประการนั้นๆ.

               พระโยคาวจร เมื่อเสวยปีติและปราโมชอันเป็นอมตะนั้นไม่นานเลย ก็จะทำให้แจ้งอมตะคือพระนิพพานที่ไม่แก่ไม่ตาย อันอริยชนเสพแล้วแล.

               จบกถาพรรณนาทวัตติงสาการ               
               แห่ง               
               อรรกถาขุททกปาฐะ ชื่อปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อาการ ๓๒ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 2อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 25 / 4อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=27&Z=32
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=726
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=726
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :