ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 2อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 25 / 4อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อาการ ๓๒

               ๓. พรรณนาทวัตติงสาการ               
               พรรณนาการสัมพันธ์แห่งบท               

               กรรมฐาน คือกายคตาสตินี้ใดที่พวกเดียรถีย์ทั้งปวงไม่เคยให้เป็นไปแล้วนอกพุทธกาล เพื่อความบริสุทธิ์แห่งอาสยญาณ และเพื่อจิตตภาวนาของกุลบุตรผู้มีประโยชน์อันบริสุทธิ์ด้วยสิกขาบท ๑๐ อย่างนี้ ผู้ดำรงอยู่ในศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้โดยอาการเป็นอันมากในพระสูตรนั้นๆ อย่างนี้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อสังเวคะ [ความสลดใจ] ใหญ่ เป็นไปเพื่ออรรถะ [ประโยชน์] ใหญ่ เป็นไปเพื่อโยคักเขมะ [ความเกษมจากโยคะ] ใหญ่ เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ [ความระลึกรู้ตัว] ใหญ่ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ [ความรู้เห็น] เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร [อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน] เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งวิชชาวิมุตติและผลธรรมอย่างหนึ่ง คือกายคตาสติ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดไม่บริโภคกายคตาสติ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าไม่บริโภคอมตะ ภิกษุเหล่าใดบริโภคกายคตาสติ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าบริโภคอมตะ ภิกษุเหล่าใดไม่บริโภคกายคตาสติ ชื่อว่าไม่ได้บริโภคอมตะ ภิกษุที่บริโภคกายคตาสติ ชื่อว่าได้บริโภคอมตะ ภิกษุที่เสื่อมกายคตาสติ ชื่อว่าเสื่อมอมตะ ภิกษุที่ไม่เสื่อมกายคตาสติ ชื่อว่าไม่เสื่อมอมตะ ภิกษุที่พลาดกายคตาสติ ชื่อว่าพลาดอมตะ ภิกษุที่สำเร็จกายคตาสติ ชื่อว่าสำเร็จอมตะ.
____________________________
๑- อัง.เอก. ๒๐/ข้อ ๒๓๔-๒๓๘

               ดังนี้แล้วทรงแสดงไว้เป็นปัพพะ ๑๔ ปัพพะ คืออานาปานปัพพะ อิริยาปถปัพพะ จตุสัมปชัญญปัพพะ ปฏิกูลมนสิการปัพพะ ธาตุมนสิการปัพพะ สีวถิกาปัพพะ ๙ ปัพพะ โดยนัยว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุเจริญอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปป่าก็ดี ดังนี้เป็นต้น.
               บัดนี้ นิทเทสแห่งการเจริญกายคตาสติกรรมฐานนั้น มาถึงตามลำดับแล้ว ในนิทเทสนั้น ข้าพเจ้ากล่าวเป็นวิปัสสนาไว้ ๓ ปัพพะ นี้คือ อิริยาปถปัพพะ จตุสัมปชัญญปัพพะ ธาตุมนสิการปัพพะ กล่าวสีวถิกาปัพพะทั้ง ๙ เป็นอาทีนวานุปัสสนาไว้ในวิปัสสนาญาณ ส่วนสมาธิภาวนาในอุทธุมาตกอสุภเป็นต้น ในนิทเทสนั้นที่พึงปรารถนา ข้าพเจ้าก็ประกาศไว้พิศดารแล้วในอสุภภาวนานิทเทส คัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งนั้น. สองปัพพะนี้คืออานาปานปัพพะและปฏิกูลมนสิการปัพพะก็กล่าวเป็นสมาธิไว้แล้วในนิทเทสนั้น ใน ๒ ปัพพะนั้น อานาปานปัพพะเป็นกรรมฐานแผนกหนึ่งโดยแท้ โดยเป็นอานาปานัสสติ ส่วนกรรมฐานคือทวัตติงสาการนั้นใด เป็นปริยายแห่งภาวนาส่วนหนึ่งของกายคตาสติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสงเคราะห์มันสมองไว้ด้วยเยื่อในกระดูก ในบาลีประเทศนั้นๆ อย่างนี้ว่า๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้นี่แล ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้มี ผม ขน ฯลฯ มูตร ดังนี้
____________________________
๒- ม.อุปริ. ๑๔/ข้อ ๒๙๗.

               ข้าพเจ้าเริ่มไว้แล้ว กรรมฐานคือทวัตติงสาการนั้น จะพรรณนาความดังต่อไปนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถิ แปลว่า มีอยู่. บทว่า อิมสฺมึ ความว่า ที่กล่าวว่าตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ. บทว่า กาเย ได้แก่ ในสรีระ. จริงอยู่ สรีระ เรียกกันว่า กาย เพราะสะสมของไม่สะอาด หรือเพราะเป็นที่เจริญเติบโตของผมเป็นต้นที่น่าเกลียด และของโรคตั้งร้อยมี โรคตา เป็นต้น บทว่า เกสา ฯ เป ฯ มุตฺตํ คืออาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นเหล่านี้ ในทวัตติงสาการนี้ เป็นต้น. เป็นอันตรัสอะไรไว้ ด้วยทวัตติงสาการกรรมฐานนั้น เป็นอันตรัสไว้ว่า ใครๆ เมื่อพิจารณานั้นแม้โดยอาการทุกอย่างในกเฬวระ เรือนร่างขนาดวาหนึ่งนี้ คือประมาณเท่านี้คือ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องล่างตั้งแต่ปลายผมลงมา หุ้มด้วยหนังโดยรอบ ย่อมจะไม่เห็นอะไร ไม่ว่าแก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ กฤษณา จันทน์ หญ้าฝรั่น การบูร หรือผงอบเป็นต้นแม้ขนาดเล็กว่าสะอาด โดยที่แท้ ย่อมจะเห็นกาย ต่างโดยผมขนเป็นต้น ที่มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดอย่างยิ่ง ไม่มีสิริที่น่าดูเลยมีประการต่างๆ ว่าไม่สะอาดอย่างเดียว.
               พรรณนาโดยความสัมพันธ์แห่งบทในทวัตติงสาการกรรมฐานนี้เท่านี้ก่อน.

               อสุภภาวนา               
               พึงทราบการพรรณนาทวัตติงสาการกรรมฐานนั้นเป็นอสุภภาวนา ดังต่อไปนี้.
               ก่อนอื่น อันดับแรก กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญกรรมฐาน เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล ต่างโดยปาณาติปาตาเวรมณีสิกขาบทเป็นต้นอย่างนี้แล้ว มีประโยคอันบริสุทธิ์ ประสงค์จะประกอบเนืองๆ ซึ่งอนุโยคะคือ การบำเพ็ญกรรมฐานส่วนทวัตติงสาการ เพื่อบรรลุความบริสุทธิ์แห่งอาสยญาณ กุลบุตรนั้นย่อมมีกังวล ๑๐ ประการ คือ กังวลด้วยที่อยู่ ด้วยตระกูล ด้วยลาภ ด้วยคณะ ด้วยการงาน ด้วยการเดินทาง ด้วยญาติ ด้วยการเรียนคัมภีร์ ด้วยโรคและด้วยอิทธิฤทธิ์ หรือด้วยการกังวลด้วยเกียติ เมื่อเป็นดังนั้น กุลบุตรผู้นี้ก็ต้องตัดกังวล ๑๐ เหล่านั้นเสีย ด้วยวิธีอย่างนี้ คือ ด้วยการละความเกี่ยวข้องในอาวาส ตระกูล ลาภ คณะ ญาติและเกียรติเสีย ด้วยการไม่ขวนขวายในการงาน, การเดินทางและการเรียนคัมภีร์เสีย ด้วยการเยียวยาโรค เมื่อเป็นดังนั้น กุลบุตรผู้นี้ตัดกังวลได้แล้ว ไม่ตัดความยินดียิ่งในเนกขัมมะ กำหนดความปฏิบัติขัดเกลาอันถึงบั้นปลาย ไม่ละเลยอาจาระทางวินัยแม้เล็กน้อย ก็พึงเข้าไปหาพระอาจารย์ผู้ให้กรรมฐาน ซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยอาคม [การปริยัติ] และอธิคม [ปฏิบัติปฏิเวธ] หรือประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งจากอาคมและอธิคมนั้น ด้วยวิธีที่เหมาะแก่พระวินัย และพึงแจ้งความประสงค์ของตนแก่พระอาจารย์นั้น ซึ่งตนทำให้ท่านมีจิตยินดีด้วยข้อวัตรสัมปทา
               พระอาจารย์นั้นพึงรู้ความแตกต่างแห่งนิมิตอัธยาศัยจริยา และอธิมุตติของกุลบุตรผู้นั้น ผิว่า กรรมฐานนั้นเป็นของเหมาะ เมื่อเป็นดังนั้น กุลบุตรแม้ผู้นั้นประสงค์จะอยู่ในวิหารที่ตนอยู่ไซร้ แต่นั้น ก็พึงให้กรรมฐานโดยสังเขป ถ้ากุลบุตรนั้นประสงค์อยู่ในวิหารอื่น ก็พึงบอกกรรมฐานพิศดาร พร้อมทั้งข้อที่ควรทำก่อน โดยบอกข้อที่ควรละและข้อที่ควรกำหนดรู้เป็นต้น พร้อมทั้งประเภทจริตโดยบอกกรรมฐานที่เหมาะแก่ราคจริตเป็นต้น กุลบุตรผู้นั้นครั้นเรียนกรรมฐานพร้อมข้อที่ควรทำก่อน ทั้งประเภทนั้นแล้ว บอกลาอาจารย์ งดเว้นเสนาสนะ ๑๘ ประเภท ที่ท่านกล่าวว่าควรงดเว้น อย่างนี้ว่า
                                   อาวาสใหญ่ อาวาสใหม่ อาวาสเก่า อาวาสใกล้ทาง
                         อาวาสใกล้ตระพังหิน อาวาสมีใบไม้ อาวาสมีดอกไม้
                         อาวาสมีผลไม้ อาวาสที่คนปรารถนา อาวาสที่ใกล้นคร
                         อาวาสที่ใกล้คนเข้าไปตัดไม้ อาวาสที่ใกล้ไร่นา อาวาส
                         ที่มีอารมณ์เป็นข้าศึก อาวาสใกล้ท่าเรือ อาวาสใกล้ชาย
                         แดน อาวาสมีสีมา อาวาสที่เป็นอสัปปายะ อาวาสที่ไม่ได้
                         กัลยาณมิตร บัณฑิตรู้จักสถานที่ ๑๘ ประเภทนี้ดังนี้แล้ว
                         พึงเว้นเสียให้ห่างไกลเหมือนคนเดินทางเว้นทางมีภัย
                         เฉพาะหน้าฉะนั้น.
               แล้วเข้าไปยังเสนาสนะที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะประกอบด้วย
                         องค์ ๕ เป็นอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะใน
                         พระธรรมวินัยนี้ เป็นเสนาสนะที่ไม่ไกลนัก ที่ไม่ใกล้
                         นัก พรั่งพร้อมด้วยคมนาคม กลางวันผู้คนไม่พลุก
                         พล่าน กลางคืนเงียบเสียง ไม่อึกกะทึก ไม่มีเหลือบ-
                         ยุง ลม แดด งู รบกวน เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะนั้น
                         จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
                         แห่งผู้เจ็บไข้ เกิดขึ้นไม่ยาก ในเสนาสนะนั้นแล มี
                         ภิกษุผู้เถระ ผู้เป็นพหูสูต ผู้จบอาคม ทรงธรรม ทรง
                         วินัย ทรงมาติกาอยู่ ภิกษุเข้าไปหาภิกษุเถระเหล่านั้น
                         ตามสมควรแก่กาลสอบถามไล่เลียงว่า ท่านขอรับ ข้อ
                         นี้เป็นอย่างไร ข้อนี้มีความว่าอย่างไร ท่านเหล่านั้น
                         ย่อมจะเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผยแก่ภิกษุนั้น ทำข้อที่
                         ยากให้ง่ายเข้า บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอัน
                         เป็นที่ตั้งความสงสัยต่างๆ เสียได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
                         เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล.
               ดังนี้แล้วทำกิจทุกอย่างให้เสร็จแล้ว พิจารณาโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในเนกขัมมะ ทำจิตให้เลื่อมใส ด้วยการระลึกถึง [พระรัตนตรัย] โดยความที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ดีแล้ว โดยความที่พระธรรมเป็นธรรมอันดี และโดยความที่พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ไม่ละอุคคหโกศล ความฉลาดในทางเรียนรู้ ๗ ทาง ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                                   นักปราชญ์ฉลาดเรียนรู้ ๗ ทาง คือ โดยวาจา โดยใจ
                         โดยวรรณะ โดยสัณฐาน โดยทิศ โดยโอกาสและโดยปริเฉท.
               และมนสิการโกศล ความฉลาดใส่ใจ ๑๐ อย่างที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ คือ โดยลำดับ โดยไม่เร็วนัก โดยไม่ช้านัก โดยป้องกันความฟุ้งซ่าน โดยล่วงเลยบัญญัติ โดยปล่อยลำดับ โดยอัปปนา และสูตร ๓ สูตร จึงควรเริ่มเจริญทวัตติงสาการ
               จริงอยู่ การเจริญทวัตติงสาการโดยอาการทุกอย่างย่อมสำเร็จแก่ผู้เริ่มดังกล่าวมานี้ หาสำเร็จโดยประการอื่นไม่
               ในการเจริญทวัตติงสาการนั้น ภิกษุรับตจปัญจกกรรมฐานก่อนเป็นเบื้องต้น กล่าวโดยพระไตรปิฎก เมื่อตจปัญจกกรรมฐานคล่องแคล่วโดยอนุโลม ตามนัยว่า เกสา โลมา เป็นต้น คล่องแคล่วโดยปฏิโลม ตามนัยว่า ตโจ ทนฺตา เป็นต้น พึงเจริญเสียครึ่งเดือน ทางวาจาเพื่อตัดความวิตกที่ฟุ้งซ่านออกไปข้างนอกโดยอนุโลมและปฏิโลม ตามนัยทั้งสองนั้นแหละเพื่อให้คล่องบาลี และทางใจเพื่อกำหนดสภาวะแห่งส่วนร่างกายเป็นอารมณ์
               จริงอยู่ การเจริญทางวาจา ซึ่งตจปัญจกกรรมฐานนั้น ตัดวิตกที่ฟุ้งไปข้างนอกได้แล้ว ย่อมเป็นปัจจัยแก่การเจริญทางวาจา เพราะคล่องบาลีแล้ว การเจริญทางใจ ย่อมเป็นปัจจัยแก่การกำหนดอสุภะวรรณะ และลักษณะ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อเป็นดังนั้น โดยนัยนั้น ก็พึงเจริญวักกะปัญจกกรรมฐาน [หมวดที่มีวักกะเป็นที่ ๕] เสียครึ่งเดือน ต่อนั้น จึงเจริญตจะปัญจกกรรมฐานและวักกะปัญจกกรรมฐานทั้งสองนั้นเสียครึ่งเดือน ต่อนั้นจึงเจริญปับผาสะปัญจกะกรรมฐานเสียครึ่งเดือน ต่อนั้นก็เจริญทั้งสามปัญจกะนั้นเสียครึ่งเดือน เมื่อเป็นดังนั้น ก็พึงเพิ่มมัตถลุงคัง ที่มิได้ตรัสในตอนท้ายไว้ในสามหมวดนี้ เพื่อเจริญรวมกันไปกับอาการแห่งปฐวีธาตุทั้งหลาย แล้วเจริญมัตถลุงคังเสียครึ่งเดือน ต่อนั้นก็เจริญปัญจกะและจตุกกะเสียครึ่งเดือน เมทฉักกะครึ่งเดือน ต่อนั้นก็เจริญปัญจกะและจตุกกะร่วมกับเมทฉันกะครึ่งเดือน มุตตฉักกะครึ่งเดือน ต่อนั้นก็เจริญทวัตติงสาการทั้งหมดเสียครึ่งเดือน พึงเจริญกำหนดโดยวรรณะ สัณฐาน ทิศ โอกาสและปริเฉท ๖ เดือนดังกล่าวมาฉะนี้.
               ข้อนี้ท่านกล่าวหมายถึงบุคคลที่มีปัญญาปานกลาง ส่วนคนปัญญาทึบพึงเจริญตลอดชีวิต ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม การเจริญย่อมสำเร็จได้ไม่นานเลย.

               เกสา ผม               
               ในข้อนี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ภิกษุผู้เริ่มกรรมฐานผู้นี้ กำหนดทวัตติงสาการนี้โดยวรรณะเป็นต้นอย่างไร ความจริงภิกษุผู้เริ่มกรรมฐานนี้ เมื่อเจริญทวัตติงสาการโดยจำแนกเป็นตจปัญจกะเป็นต้น โดยนัยว่า มีอยู่ในกายนี้ ผมดังนี้เป็นต้น ย่อมกำหนดผมเป็นของเช่นที่ภิกษุนี้เห็นก่อนโดยวรรณะว่ามีสีดำ กำหนดผมที่เป็นเกลียวยาวโดยสัณฐานว่าเหมือนคันตาชั่ง แต่เพราะเหตุที่ในกายนี้ เหนือท้องขึ้นไปเรียกว่าทิศเบื้องบน ต่ำกว่าท้องลงมา เรียกว่าทิศเบื้องต่ำ ฉะนั้นจึงกำหนดโดยทิศว่า เกิดในทิศเบื้องบนแห่งกายนี้ กำหนดโดยโอกาสว่า เกิดที่หนังศีรษะ รอบกกหูและหลุมคอ กำหนดในเกสานั้นว่า ผมไม่รู้ว่าเราเกิดที่หนังศีรษะ แม้หนังศีรษะก็ไม่รู้ว่าผมเกิดที่เรา เปรียบเหมือนหญ้ากุณฐะที่เกิดบนยอดจอมปลวกไม่รู้ว่าเราเกิดบนยอดจอมปลวก แม้ยอดจอมปลวกก็ไม่รู้ว่า หญ้ากุณฐะเกิดบนเรา ฉะนั้น กำหนดว่าแท้จริงผมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา เป็นธรรมไม่มีเจตนา [ใจ] เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า ปฏิกูลด้วยกลิ่นเหม็นน่าเกลียดอย่างยิ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อว่าโดยปริเฉทตัดตอน การตัดตอนมี ๒ อย่าง คือ ตัดตอนโดยสภาคส่วนถูกกัน ตัดตอนโดยวิสภาคส่วนผิดกัน ในการตัดตอน ๒ อย่างนั้น กำหนดโดยการตัดตอนโดยสภาคอย่างนี้ว่า ผมถูกตัดตอนเบื้องล่างด้วยพื้นหนังที่ตั้งอยู่ และด้วยพื้นโคนของตนที่เข้าไปในพื้นหนังนั้น ประมาณปลายเมล็ดข้าวเปลือกตั้งอยู่ เบื้องบนด้วยอากาศ เบื้องขวาด้วยผมกันและกัน และกำหนดโดยตัดตอนโดยวิสภาคอย่างนี้ว่า ผมไม่ใช่อาการ ๓๑ ที่เหลือ อาการ ๓๑ ที่เหลือก็ไม่ใช่ผม กำหนดผมโดยวรรณะเป็นต้นมีประการดังกล่าวมาอย่างนี้ก่อน.

               โลมา ขน               
               ในอาการ ๓๑ ที่เหลือ ก็กำหนดขน อย่างที่ภิกษุนี้เห็นแล้ว โดยวรรณะ ส่วนมากว่ามีสีเขียว โดยสัณฐานว่ามีสัณฐานเหมือนคันธนูโค้ง หรือมีสัณฐานเหมือนเสี้ยนตาลงอ กำหนดโดยทิศทั้ง ๒ กำหนด โดยโอกาสว่า เกิดที่หนังแห่งสรีระที่เหลือเว้นฝ่ามือฝ่าเท้า.
               ในอาการ ๓๐ ที่เหลือนั้น กำหนดว่า ขนย่อมไม่รู้ว่าเราเกิดที่หนังแห่งสรีระ แม้หนังแห่งสรีระก็ไม่รู้ว่าขนเกิดที่เรา เปรียบเหมือนหญ้าทัพพะอันเกิด ณ สถานที่บ้านเก่า ย่อมไม่รู้ว่าเราเกิด ณ สถานที่บ้านเก่า แม้สถานที่บ้านเก่าก็ไม่รู้ว่าหญ้าทัพพะเกิดที่เรา ฉะนั้น ด้วยว่าขนเหล่านั้นเว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา เป็นธรรมหาเจตนามิได้ [ใจ] เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า ปฏิกูลด้วยกลิ่นเหม็นน่าเกลียดอย่างยิ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กำหนดโดยปริเฉทตัดตอนว่า ขนเบื้องล่างตัดตอนด้วยพื้นหนังที่ตั้งอยู่ และด้วยโคนของตนที่เข้าไปในพื้นหนังนั้น ประมาณตัวเหาตั้งอยู่ ขนเบื้องบนตัดตอนด้วยอากาศ ขนเบื้องขวางตัดตอนด้วยขนด้วยกันเอง นี่เป็นการกำหนดขนเหล่านั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล กำหนดขนโดยวรรณะเป็นต้นมีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               นขา เล็บ               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า ผู้มีเล็บครบก็มี ๒๐ เล็บ. เล็บเหล่านั้นทั้งหมด โดยวรรณะมีสีขาวในโอกาสที่พ้นเนื้อ มีสีแดงในโอกาสที่ติดกับเนื้อ โดยสัณฐานมีสัณฐานเหมือนโอกาสตามที่ตั้งอยู่ โดยมากมีสัณฐานเหมือนเมล็ดมะซาง หรือมีสัณฐานเหมือนเกล็ดปลา. โดยทิศตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๒. โดยโอกาสตั้งอยู่ปลายนิ้ว.
               ในเล็บนั้น กำหนดว่า เล็บย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่ปลายนิ้ว แม้นิ้วก็ไม่รู้ว่าเล็บตั้งอยู่ที่ปลายของเรา เปรียบเหมือนเมล็ดมะซางที่พวกเด็กชาวบ้านเสียบไว้ที่ปลายไม้ ไม่รู้ว่าเราถูกเสียบไว้ที่ปลายไม้ แม้ไม้ก็ไม่รู้ว่าเมล็ดมะซางถูกเสียบไว้ที่เรา ฉะนั้น. ด้วยว่าเล็บเหล่านั้น เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา เป็นธรรมไม่มีเจตนา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. กำหนดโดยบริเฉทว่า เล็บล่างถูกตัดตอนด้วยเนื้อนิ้วที่โคน หรือด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ที่โคนนั้น และเล็บบนตัดตอนด้วยอากาศที่ปลาย ด้วยหนังปลายสองข้างของนิ้วทั้งสองข้าง นี้เป็นการกำหนดเล็บเหล่านั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล กำหนดเล็บโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               ทนฺตา ฟัน               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า ผู้มีฟันครบ ก็มีฟัน ๓๒ ซี่ ฟันเหล่านั้นทั้งหมด โดยวรรณะ ก็มีสีขาว โดยสัณฐาน ฟันของผู้มีฟันเรียบ จะปรากฏเหมือนพื้นสังข์ตัดที่แข็ง และเหมือนพวกดอกไม้ขาวตูมที่ร้อยไว้เรียบ ฟันของผู้มีฟันไม่เรียบ มีสัณฐานต่างๆ กัน เหมือนลำดับตั่งบนหออันเก่า. ก็ในปลายแถวฟันสองข้างของฟันเหล่านั้น ฟัน ๘ ซี่ ข้างล่าง ๒ ซี่ ข้างบน ๒ ซี่ มีปลาย ๔ มีโคน ๔ มีสัณฐานเหมือน อาสันทิเก้าอี้ยาว. ฟัน ๘ ซี่ซึ่งตั้งอยู่ตามลำดับนั้น ข้างในฟันเหล่านั้น มีปลาย ๓ มีราก ๓ มีสัณฐานเหมือนกระจับ ฟัน ๔ ซี่ ข้างล่าง ๑ ซี่ ข้างบน ๑ ซี่ ตามลำดับนั้น ข้างในฟันเหล่านั้น มีปลาย ๒ มีราก ๒ มีสัณฐานเหมือนไม้ค้ำยาน [เกวียน] ฟันที่เป็นเขี้ยว ๔ ซี่ ซึ่งตั้งอยู่ตามลำดับนั้น ข้างในของฟันเหล่านั้น ข้างล่าง ๑ ซี่ ข้างบน ๑ ซี่ มีปลายเดียว รากเดียว มีสัณฐานเหมือนมะลิตูม แต่นั้นฟัน ๘ ซี่ ข้างล่าง ๔ ซี่ ข้างบน ๔ ซี่ ตรงกลางแถวฟัน ๒ ข้าง มีปลายเดียว รากเดียว มีสัณฐานเหมือนเมล็ดน้ำเต้า โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. โดยโอกาส ฟันบนตั้งอยู่ในกระดูกคางบน ปลายลง ฟันล่างตั้งอยู่ในกระดูกคางล่าง มีปลายขึ้น.
               ในฟันนั้น ก็กำหนดว่า ฟันไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในกระดูกคางล่าง ตั้งอยู่ในกระดูกคางบน แม้กระดูกคางล่างก็ไม่รู้ว่าฟันตั้งอยู่ในเรา กระดูกคางบนก็ไม่รู้ว่าฟันตั้งอยู่ในเรา เปรียบเหมือนเสาที่บุรุษช่างก่อสร้างตั้งเข้าไว้ในพื้นหินเบื้องล่าง สอดเข้าไว้ในพื้นหินเบื้องบน ย่อมไม่รู้ว่าเราถูกเขาตั้งไว้ในพื้นหินเบื้องล่าง ถูกสอดเข้าไว้ในพื้นหินเบื้องบน พื้นหินเบื้องล่างก็ไม่รู้ว่าเสาถูกเขาตั้งไว้ในเรา พื้นหินเบื้องบนก็ไม่รู้ว่าเสาถูกเขาสอดเข้าไว้ในเรา ฉะนั้น. ด้วยว่าฟันเหล่านั้น เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา เป็นธรรม ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. กำหนดโดยปริเฉทว่า ฟันล่างตัดตอนด้วยหลุม กระดูกคางสอดเข้ากระดูกคางตั้งอยู่ และด้วยพื้นรากของตน ฟันบนตัดตอนด้วยอากาศเบื้องขวาง กำหนดด้วยฟันซึ่งกันและกัน นี้เป็นการกำหนดฟันเหล่านั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดฟันโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               ตโจ หนัง               
               ต่อแต่นั้นไป สิ่งซึ่งปกปิดกองซากศพต่างๆ ในภายในสรีระ ชื่อว่าตโจ หนัง. กำหนดว่าหนังมีสีขาว ก็ถ้าหากว่าหนังนั้น ปรากฏเหมือนมีสีต่างๆ โดยเป็นสีดำสีขาวเป็นต้น ก็เพราะถูกย้อมด้วยเครื่องย้อมผิว ถึงเช่นนั้นก็ขาวอยู่นั่นแหละ โดยวรรณะที่เป็นสภาคกัน. ก็ความที่หนังนั้นมีสีขาวนั้นย่อมปรากฏโดยผิวถูกเปลวไฟลวก และถูกประหารด้วยเครื่องประหารเป็นต้น. กำหนดโดยสัณฐานโดยสังเขปว่ามีสัณฐานดุจเสื้อ โดยพิศดารว่ามีสันฐานต่างๆ. จริงอย่างนั้น หนังนิ้วเท้ามีสัณฐานเหมือนรังไหม หนังหลังเท้ามีสัณฐานเหมือนรองเท้าที่ห่อไว้ หนังแข้งมีสัณฐานเหมือนใบตาลห่อข้าว หนังขามีสัณฐานเหมือนถุงยาวมีข้าวสารเต็ม หนังตะโพกมีสัณฐานเหมือนผ้ากรองน้ำมีน้ำเต็ม หนังสันหลังมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มโล่ หนังท้องมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มรางพิณ หนังอกโดยมากมีสัณฐาน ๔ เหลี่ยม หนังแขนทั้งสองมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มแล่งธนู หนังหลังมือมีสัณฐานเหมือนผูกมีดโกน หรือมีสัณฐานเหมือนซองหวี หนังนิ้วมือมีสัณฐานเหมือนกล่องกุญแจ หนังคอมีสัณฐานเหมือนเสื้อมีคอ หนังหน้ามีสัณฐานเหมือนรังหนอน มีช่องเล็กช่องน้อย หนังศีรษะมีสัณฐานเหมือนถลกบาตร.
               ก็พระโยคาวจร ผู้กำหนดหนังเป็นอารมณ์ ส่งจิตเข้าไประหว่างหนังและเนื้อ ตั้งแต่ริมฝีปากบน กำหนดหนังหน้าก่อนเป็นอันดับแรก ต่อนั้นก็หนังศีรษะ หนังคอด้านนอก แต่นั้นก็พึงกำหนดหนังมือขวา ทั้งอนุโลมและปฏิโลม โดยลำดับต่อมาก็พึงกำหนดหนังมือซ้าย หนังสันหลัง หนังตะโพก ต่อนั้นก็หนังหลังเท้าขวา ทั้งอนุโลมและปฏิโลม หนังหลังเท้าซ้าย หนังกระเพาะปัสสาวะ ท้องน้อย หัวใจ คอด้านใน ต่อนั้นก็หนังคางล่าง หนังริมฝีปากล่าง กำหนดอย่างนี้อีกจนถึงริมฝีปากบน. กำหนดโดยทิศว่า เกิดในทิศทั้งสอง. กำหนดโดยโอกาสว่า ห่อหุ้มทั่วสรีระตั้งอยู่.
               ในหนังนั้น พระโยคาวจรกำหนดว่า หนังย่อมไม่รู้ว่าเราห่อหุ้มสรีระที่ประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ แม้สรีระที่ประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ก็ไม่รู้ว่าเราถูกหนังห่อหุ้มไว้ เปรียบเหมือนหีบหุ้มด้วยหนังสด หนังสดย่อมไม่รู้ว่าเราหุ้มหีบไว้ แม้หีบก็ไม่รู้ว่าเราถูกหนังสดหุ้มไว้ ฉะนั้น. ด้วยว่าหนังเหล่านั้น เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา เป็นธรรม ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. ท่านกล่าวไว้สิ้นเชิงว่า
                         อลฺลจมฺมปฏิจฺฉนฺโน               นวทฺวาโร มหาวโณ
               สมนฺตโต ปคฺฆรติ               อสุจิปูติคนฺธิโย.
                         ร่างกายนี้ หุ้มด้วยหนังสด มีทวาร ๙ มีแผลมาก
               ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ย่อมไหลออกโดยรอบ.
               กำหนดโดยปริเฉทตัดตอนว่า หนังเบื้องล่างตัดตอนด้วยเนื้อ หรือพื้นที่ตั้งอยู่ที่เนื้อนั้น หนังเบื้องบนตัดตอนด้วยผิว นี้เป็นการกำหนดหนังนั้นโดยสภาค. การกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดหนังโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               มํสํ เนื้อ               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดเนื้อ ที่ต่างโดยเนื้อ ๙๐๐ ชิ้นในสรีระ โดยวรรณะว่ามีสีแดงคล้ายดอกทองกวาว. โดยสัณฐานว่ามีสัณฐานต่างๆ กัน จริงอย่างนั้น เนื้อปลีแข้งของสรีระนั้น มีสัณฐานเหมือนข้าวสวยห่อใบตาล อาจารย์บางพวกกล่าวว่ามีสัณฐานเหมือนดอกลำเจียกตูมยังไม่บานดังนี้ก็มี เนื้อขามีสัณฐานเหมือนลูกหินบดปูนขาว เนื้อตะโพกมีสัณฐานเหมือนปลายก้อนเส้า เนื้อสันหลังมีสัณฐานเหมือนแผ่นก้อนน้ำตาลจากตาล เนื้อซี่โครงทั้งสองข้างมีสัณฐานเหมือนดินฉาบบางๆ ในที่พื้นท้องยุ้งซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ เนื้อนมมีสัณฐานเหมือนก้อนดินชุ่มที่ทำให้กลมแล้วโยนไป เนื้อแขนสองข้างมีสัณฐานเหมือนหนูใหญ่ที่เขาตัดหางหัวและเท้าไม่มีหนังตั้งไว้. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่ามีสันฐานเหมือนพวงเนื้อดังนี้ก็มี เนื้อแก้มมีสัณฐานเหมือนเมล็ดกุ่มที่เขาวางไว้ที่แก้ม. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่ามีสัณฐานเหมือนกบ ดังนี้ก็มี เนื้อลิ้นมีสัณฐานเหมือนกลีบบัว เนื้อจมูกมีสัณฐานเหมือนตู้หนังสือวางคว่ำหน้า เนื้อเบ้าตามีสัณฐานเหมือนผลมะเดื่อสุกครึ่งหนึ่ง เนื้อศีรษะมีสัณฐานเหมือนน้ำมันฉาบกะทะบางๆ ระบมบาตร
               ก็พระโยคาวจร ผู้กำหนดเนื้อเป็นอารมณ์ พึงกำหนดเนื้อส่วนหยาบๆ เหล่านี้นี่แล. โดยสัณฐาน ด้วยว่าพระโยคาวจรกำหนดอยู่อย่างนี้ เนื้อส่วนละเอียดก็จะปรากฏแก่ญาณ. กำหนดโดยทิศ เนื้อเกิดในทิศทั้งสอง. กำหนดโดยโอกาส เนื้อฉาบตามกระดูก ๓๐๐ ชิ้น ที่เป็นโครงตั้งอยู่.
               ในเนื้อนั้น ก็กำหนดว่า เนื้อ ๙๐๐ ชิ้นย่อมไม่รู้ว่าเราฉาบกระดูก ๓๐๐ ชิ้นไว้ แม้กระดูก ๓๐๐ ชิ้นก็ไม่รู้ว่าเราถูกเนื้อ ๙๐๐ ชิ้นฉาบไว้ เปรียบเหมือนฝาเรือนที่ถูกฉาบด้วยดินหยาบ ดินหยาบย่อมไม่รู้ว่าเราฉาบฝาเรือนไว้ แม้ฝาเรือนก็ไม่รู้ว่าเราถูกดินหยาบฉาบไว้. ด้วยว่าเนื้อเหล่านั้น เว้นจากความคิดคำนึงและพิจารณา เป็นธรรม ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล ท่านกล่าวไว้สิ้นเชิงว่า
                         นวเปสิสตา มํสา               อนุลิตฺตา กเฬวรํ
               นานากิมิกุลากิณฺณํ               มิฬฺหฏฺฐานํว ปูติกํ
                         เนื้อ ๙๐๐ ชิ้นฉาบกเฬวระเรือนร่าง อันคลาคล่ำ
               ด้วยหมู่หนอนชนิดต่างๆ เน่าเหม็นเหมือนคูถ.
               กำหนดโดยปริเฉทว่า เนื้อเบื้องล่างตัดตอนด้วยร่างกระดูก หรือพื้นที่ตั้งอยู่ที่ร่างกระดูกนั้น เนื้อเบื้องบนตัดตอนด้วยหนัง เนื้อเบื้องขวางตัดตอนด้วยเนื้อด้วยกันเอง นี้เป็นการกำหนดเนื้อนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล กำหนดเนื้อโดยวรรณะเป็นต้นมีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               นหารุ เอ็น               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า เอ็น ๙๐๐ ในสรีระ โดยวรรณะมีสีขาว. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสีเหมือนน้ำผึ้ง โดยสัณฐาน มีสัณฐานต่างๆ จริงอย่างนั้น บรรดาเอ็น ๙๐๐ นั้น เอ็นใหญ่ๆ มีสัณฐานเหมือนดอกกันทละตูม ที่ละเอียดกว่านั้น ก็มีสัณฐานเหมือนเชือกบ่วงคล้องหมู ที่เล็กยิ่งกว่านั้น ก็มีสัณฐานเหมือนเถาวัลย์เน่า ที่เล็กยิ่งกว่านั้นไปอีก ก็มีสัณฐานเหมือนสายพิณใหญ่ของชาวสิงหล ที่เล็กยิ่งกว่านั้นไปอีก ก็มีสัณฐานเหมือนด้ายหยาบ เอ็นที่หลังมือหลังเท้ามีสัณฐานเหมือนตีนนก เอ็นที่ศีรษะมีสัณฐานเหมือนผ้าบางๆ ที่วางไว้บนศีรษะของเด็กชาวบ้าน เอ็นหลังมีสัณฐานเหมือนแหจับปลาที่เปียกน้ำ แล้วคลี่ตากแดดไว้ เอ็นที่ไปตามอวัยวะใหญ่น้อยนั้นๆ ในสรีระนี้ มีสัณฐานเหมือนเสื้อตาข่ายอันสวมไว้ที่สรีระ โดยทิศ เอ็นเกิดในทิศทั้งสอง. บรรดาเอ็นเหล่านั้น เอ็นใหญ่มีชื่อว่ากัณฑระ มี ๕ ผูกตั้งแต่กกหูข้างขวามาข้างหน้า และข้างหลังถึงข้างซ้าย ผูกตั้งแต่กกหูข้างซ้ายมาข้างหน้าและข้างหลังถึงข้างขวา ผูกตั้งแต่หลุมคอข้างขวามาข้างหน้าและข้างหลังถึงข้างซ้าย ผูกตั้งแต่หลุมคอข้างซ้ายมาข้างหน้าและข้างหลังถึงข้างขวา ผูกมือข้างขวามาข้างหน้า ๕ ข้างหลัง ๕ รวมเอ็นใหญ่ ที่ชื่อว่ากัณฑระเป็น ๑๐ ล่ามไปทั่ว. มือข้างซ้าย เท้าข้างขวาและเท้าข้างซ้าย ก็เหมือนอย่างนั้น. รวมความว่า เอ็นใหญ่ ๖๐ ดังกล่าวมาเหล่านี้ ก็กำหนดว่าเป็นเครื่องช่วยทรงสรีระไว้ ช่วยกำหนดสรีระก็มี กำหนดโดยโอกาส เอ็นผูกล่ามกระดูกข้างในกระดูกกับหนัง และกระดูกกับเนื้อตั้งอยู่ทั่วสรีระ.
               ในเอ็นนั้น กำหนดว่า เอ็นย่อมไม่รู้ว่ากระดูก ๓๐๐ ชิ้นถูกเราผูกไว้ แม้กระดูก ๓๐๐ ชิ้นก็ไม่รู้ว่าเราถูกเอ็นผูกไว้ เปรียบเหมือนไม้คดๆ ที่ถูกเถาวัลย์พันล่ามไว้ เถาวัลย์ย่อมไม่รู้ว่าไม้คดถูกเราผูกไว้ แม้ไม้คดก็ไม่รู้ว่าเราถูกเถาวัลย์พันล่ามไว้ ฉะนั้น. ด้วยว่าเอ็นเหล่านั้น เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา เป็นธรรม ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล.
               ท่านกล่าวสรุปไว้ว่า
                         นวนหารุสตา โหนฺติ               พฺยามมตฺเต กเฬวเร
               พนฺธนฺติ อฏฺฐสงฺฆาฏํ               อคารมิว วลฺลิโย
                         เอ็น ๙๐๐ ย่อมผูกร่างกระดูก ในเรือนร่างประมาณ
               วาหนึ่งไว้ เหมือนเถาวัลย์ผูกเรือน ฉะนั้น.
               กำหนดโดยปริเฉทว่า เอ็นเบื้องล่างตัดตอนด้วยกระดูก ๓๐๐ ชิ้น หรือพื้นที่ตั้งอยู่ที่กระดูกนั้น เอ็นเบื้องบนตัดตอนด้วยหนังและเนื้อ เบื้องขวางตัดตอนเอ็นของกันและกัน นี้เป็นการกำหนดเอ็นเหล่านั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดเอ็นโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               อฏฺฐิ กระดูก               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดโดยวรรณะว่า กระดูกมีประเภทที่ท่านกล่าวไว้ โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า เพราะท่านถือเอากระดูกฟัน ๓๒ ซี่ แยกไว้ต่างหาก กระดูกที่เหลือในสรีระ คือกระดูกมือ ๖๔ กระดูกเท้า ๖๔ กระดูกอ่อนที่ติดเนื้อ ๖๔ กระดูกส้นเท้า ๒ กระดูกข้อเท้าเท้าหนึ่งๆ เท้าละ ๒ กระดูกแข้ง ๒ กระดูกเข่า ๑ กระดูกขา ๑ กระดูกสะเอว ๒ กระดูกสันหลัง ๑๘ กระดูกซี่โครง ๒๔ กระดูกอก ๑๔ กระดูกใกล้หัวใจ ๑ กระดูกไหปลาร้า ๒ กระดูกหลังแขน ๒ กระดูกแขน ๒ กระดูกปลายแขน ๒ กระดูกคอ ๗ กระดูกคาง ๒ กระดูกจมูก ๑ [กระดูกตา ๒ กระดูกหู ๒] กระดูกหน้าผาก ๑ [กระดูกหัว ๑] กระดูกกะโหลกศีรษะ ๙ กระดูกทั้งหมดนั่นแหละ มีสีขาว.
               กำหนดโดยสัณฐานว่ากระดูกมีสัณฐานต่างๆ กัน จริงอย่างนั้น บรรดากระดูกเหล่านั้น กระดูกปลายนิ้วเท้ามีสัณฐานเหมือนเมล็ดตุมกา ต่อจากนั้น กระดูกข้อกลางของนิ้วเท้ามีสัณฐานเหมือนเมล็ดขนุนที่ไม่เต็ม กระดูกข้อต้นมีสัณฐานเหมือนบัณเฑาะว์ อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่ามีสัณฐานเหมือนเกล็ดหางนกยูงดังนี้ก็มี กระดูกหลังเท้ามีสัณฐานเหมือนกองรากต้นกันทละตำ กระดูกส้นเท้ามีสัณฐานเหมือนเมล็ดผลตาลซึ่งมีเมล็ดเดียว กระดูกข้อเท้ามีสัณฐานเหมือนลูกกลมของเล่นที่ผูกรวมกัน กระดูกชิ้นเล็กในกระดูกแข้งมีสัณฐานเหมือนคันธนู กระดูกชิ้นใหญ่มีสัณฐานเหมือนเส้นเอ็นแห้งเพราะหิวระหาย ที่กระดูกแข้งตั้งอยู่ในกระดูกข้อเท้ามีสัณฐานเหมือนหน่อต้นเป้งลอกเปลือก ที่กระดูกแข้งตั้งอยู่ในกระดูกเข่ามีสัณฐานเหมือนยอดตะโพน กระดูกเข่ามีสัณฐานเหมือนฟองน้ำตัดข้างหนึ่ง กระดูกขาสัณฐานเหมือนด้ามมีดและขวานที่ถากเคร่าๆ ที่กระดูกขาตั้งอยู่ในกระดูกสะเอวมีสัณฐานเหมือนคันหลอดเป่าไฟของช่างทอง โอกาสที่กระดูกขาตั้งอยู่ในกระดูกสะเอวนั้นมีสัณฐานเหมือนผลบุนนาคตัดปลาย กระดูกสะเอวแม้มี ๒ ก็ติดเป็นอันเดียวกัน มีสัณฐานเหมือนเตาไฟที่ช่างหม้อสร้างไว้ อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสัณฐานเหมือนหมอนข้างของดาบสดังนี้ก็มี. กระดูกตะโพกมีสัณฐานเหมือนคราบงูที่เขาวางคว่ำหน้า กระดูกสันหลัง ๑๘ ชิ้นมีช่องเล็กน้อยในที่ ๗-๘ แห่ง ภายในมีสัณฐานเหมือนผืนผ้าโพกศีรษะที่วางซ้อนๆ กัน ภายนอกมีสัณฐานเหมือนแล่งกลม กระดูกสันหลังเหล่านั้นมีหนาม ๒-๓ อัน เสมือนฟันเลื่อย.
               บรรดากระดูกซี่โครง ๒๔ ชิ้น ส่วนที่บริบูรณ์มีสัณฐานเหมือนเคียวชาวสิงหลที่บริบูรณ์ ส่วนที่ไม่บริบูรณ์มีสัณฐานเหมือนเคียวชาวสิงหลที่ไม่บริบูรณ์ อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ทั้งหมดนั่นแลมีสัณฐานเหมือนปีกสองข้างของไก่ขาวที่คลีออก ดังนี้ก็มี กระดูกอก ๑๔ ชิ้นมีสัณฐานเหมือนแถวแผ่นไม้คานหามเก่าๆ กระดูกหัวใจมีสัณฐานเหมือนแผ่นทัพพี กระดูกไหปลาร้ามีสัณฐานเหมือนด้ามมีดโลหะเล็กๆ บรรดากระดูกไหปลาร้าเหล่านั้น กระดูกส่วนล่างมีสัณฐานเหมือนอัฒจันท์ [พระจันทร์ครึ่งซีก] กระดูกหลังแขน มีสัณฐานเหมือนใบขวาน อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่ามีสัณฐานเหมือนจอบชาวสิงหลตัดครึ่ง ดังนี้ก็มี กระดูกแขนมีสัณฐานเหมือนด้ามกระจกเงา อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่ามีสัณฐานเหมือนด้ามมีดใหญ่ ดังนี้ก็มี กระดูกปลายแขนมีสัณฐานเหมือนเง่าตาลคู่ กระดูกข้อมือมีสัณฐานเหมือนผืนผ้าโพกศีรษะที่เขาวางติดรวมกัน กระดูกหลังมือมีสัณฐานเหมือนกองเง่าต้นกันทละตำ กระดูกข้อต้นของนิ้วมือมีสัณฐานเหมือนบัณเฑาะว์ กระดูกข้อกลางมีสัณฐานเหมือนเมล็ดขนุนที่ไม่บริบูรณ์ กระดูกข้อปลายมีสัณฐานเหมือนเมล็ดตุมกา กระดูกคอ ๗ มีสัณฐานเหมือนชิ้นหน่อไม้ไผ่ที่เขาเจาะวางเรียงไว้ กระดูกคางล่างมีสัณฐานเหมือนเชือกผูกค้อนเหล็กของช่างทอง กระดูกคางบนมีสัณฐานเหมือนไม้ชำระ ๗ อัน กระดูกเบ้าตาและโพรงจมูกมีสัณฐานเหมือนลูกตาลอ่อนที่ยังไม่ลอกเยื่อ กระดูกหน้าผากมีสัณฐานเหมือนกะโหลกสังข์แตกที่เขาวางคว่ำหน้า กระดูกกกหูมีสัณฐานเหมือนกล่องมีดโกนของช่างแต่งผม บรรดากระดูกหน้าผากและกกหู กระดูกในโอกาสที่ติดกันเป็นแผ่นตอนบนมีสัณฐานเหมือนชิ้นผ้าเก่าปิดหม้อเต็มน้ำหนาๆ กระดูกหัวมีสัณฐานเหมือนมะพร้าว คดตัดปาก กระดูกศีรษะมีสัณฐานเหมือนกะโหลกน้ำเต้าเก่าแก่ที่เสียบวางไว้.
               โดยทิศ กระดูกทั้งหลายเกิดในทิศทั้งสอง.
               โดยโอกาส กระดูกทั้งหลายตั้งอยู่ทั่วสรีระไม่มีส่วนเหลือ แต่ว่าโดยพิเศษ กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอก็ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังก็ตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวก็ตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาก็ตั้งบนกระดูกเข่า กระดูกเข่าก็ตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งก็ตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าก็ตั้งอยู่บนกระดูกหลังเท้า กระดูกหลังเท้าก็ยกกระดูกข้อเท้าขึ้นตั้ง กระดูกข้อเท้าก็ยกกระดูกแข้งขึ้นตั้ง ฯลฯ กระดูกคอก็ยกกระดูกศีรษะขึ้นตั้ง. พึงทราบกระดูกส่วนที่เหลือโดยทำนองดังกล่าวมาฉะนี้.
               ในกระดูกนั้น กำหนดว่า กระดูกศีรษะย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกคอ ฯลฯ กระดูกข้อเท้าย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกหลังเท้า แม้กระดูกหลังเท้าก็ไม่รู้ว่าเรายกกระดูกข้อเท้าขึ้นตั้ง เปรียบเหมือนบรรดาทัพพสัมภาระ มีอิฐและไม้กลอน อิฐเป็นต้นตอนบนย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่บนอิฐเป็นต้นตอนล่าง อิฐเป็นต้นตอนล่างก็ไม่รู้ว่าเรายกอิฐเป็นต้นตอนบนตั้งขึ้น ฉะนั้น ด้วยว่า กระดูกเหล่านั้น เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา เป็นธรรม ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. ก็กระดูก ๓๐๐ ชิ้นที่เป็นโครงสร้างเหล่านี้ อันเอ็น ๙๐๐ และเนื้อ ๙๐๐ ชิ้นผูกและฉาบไว้ หนังหุ้มเป็นก้อนเดียวกัน ฉาบทาด้วยยางเหนียวไปตามประสาทรับรส ๗,๐๐๐ มีหยดเหงื่อกรองด้วยขุมขน ๙๙,๐๐๐ มีตระกูลหนอน ๘๐ ตระกูล นับได้ว่า กาย อย่างเดียว ซึ่งพระโยคาวจร เมื่อพิจารณาโดยสภาวะเป็นจริง ย่อมจะไม่เห็นสิ่งไรๆ ที่ควรเขาไปยึดถือ แต่จะเห็นร่างกระดูกอย่างเดียว ที่รัดรึงด้วยเอ็น คลาคล่ำด้วยซากศพต่างๆ ซึ่งครั้นเห็นแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นโอรสของพระทศพล เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                                   ปฏิปาฏิยฏฺฐีนี ฐิตานิ โกฏิยา
                         อเนกสนฺธิยมิโต น เกหิจิ
                         พทฺโธ นหารูหิ ชราย โจทิโต
                         อเจตโน กฏฺฐกลิงฺครูปโม

                         กระดูกทั้งหลายตั้งปลายเรียงกัน ในที่ต่อเป็นอัน
               มากจากกายนี้ อันสิ่งไรๆ มิได้ผูกไว้ กายนี้หากเอ็น
               ทั้งหลายผูกรัดไว้ อันชราเตือนแล้ว ไม่มีเจตนา [ใจ]
               อุปมาดังท่อนไม้.

                         กุณปํ กุณเป ชาตํ               อสุจิมฺหิ จ ปูตินิ
               ทุคฺคนฺเธ จาปิ ทุคฺคนฺธํ               เภทนมฺหิ จ วยธมฺมํ
                         อฏฺฐิปุเฏ อฏฺฐิปุโฏ               นิพฺพตฺโต ปูตินิ ปูติกายมฺหํ
               ตมฺหิ จ วิเนถ ฉนฺทํ               เหสฺสถ ปุตฺตา ทสพลสฺส.
                         ซากศพเกิดในซากศพ               ของเน่าเกิดในของไม่สะอาด
               ของเหม็นเกิดในของเหม็น               ของต้องเสื่อมสภาพ เกิดในของ
                         กองกระดูกเกิดในกองกระดูก               ของเน่าเกิดในกายเน่า
               เธอทั้งหลายจงกำจัดความพอใจในกายอันเน่านั้นเสีย ก็จักเป็นบุตรของตถาคตทศพล.
               โดยปริเฉท ก็กำหนดว่า ภายในกระดูกตัดตอนด้วยเยื่อในกระดูก ภายนอกตัดตอนด้วยเนื้อ ปลายและโคนตัดตอนด้วยกระดูกของกันและกันเอง นี้เป็นการกำหนดกระดูกเหล่านั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดกระดูกโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               อฏฺฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูก               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า เยื่อในกระดูก ซึ่งอยู่ภายในกระดูกทั้งหลายมีประเภทตามที่กล่าวแล้วในสรีระโดยวรรณะ มีสีขาว. โดยสัณฐานเหมือนโอกาสของตน คือเยื่อกระดูกที่อยู่ภายในกระดูกทั้งหลายขนาดใหญ่ๆ มีสัณฐานเหมือนหน่อหวายขนาดใหญ่ ซึ่งเขาสอดหมุนใส่ในข้อไม้ไผ่และอ้อขนาดใหญ่ เยื่อกระดูกที่อยู่ภายในกระดูกเล็กๆ มีสัณฐานเหมือนหน่อหวายขนาดเล็ก ซึ่งเขาสอดหมุนใส่ในข้อไม้ไผ่และอ้อขนาดเล็ก โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. โดยโอกาส ตั้งอยู่ในภายในกระดูกทั้งหลาย.
               ในเยื่อกระดูกนั้นก็กำหนดว่า เยื่อกระดูกย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ภายในกระดูก แม้กระดูกก็ไม่รู้ว่าเยื่อกระดูกอยู่ภายในเรา เปรียบเหมือนนมส้มและน้ำอ้อยอยู่ภายในไม้ไผ่และอ้อเป็นต้น ย่อมไม่รู้ว่าเราอยู่ภายในไม้ไผ่และอ้อเป็นต้น แม้ไม้ไผ่และอ้อเป็นต้นก็ไม่รู้ว่านมส้มและน้ำอ้อยอยู่ภายในเรา ฉะนั้น จริงอยู่ ธรรมเหล่านี้เว้นความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท เยื่อในกระดูกตัดตอนด้วยพื้นภายในกระดูกทั้งหลาย และด้วยส่วนแห่งเยื่อในกระดูก นี้เป็นการกำหนดเยื่อในกระดูกนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดเยื่อกระดูกโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้

               วกฺกํ ไต               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า วักกะ ไต ต่างโดยเป็นดังลูกกลม ๒ ลูกภายในสรีระ. โดยวรรณะมีสีแดงอ่อนมีสีเหมือนเมล็ดทองหลาง. โดยสัณฐานมีสัณฐานเหมือนลูกกลมเล่นร้อยด้ายของเด็กชาวบ้าน อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสัณฐานเหมือนมะม่วง ๒ ผลขั้วเดียวกันดังนี้ก็มี. โดยโอกาส ไตนั้นถูกเอ็นหยาบ ซึ่งออกมาจากหลุมคอมีโคนเดียวกันไปหน่อยหนึ่งแล้วแตกออก เป็นสองส่วนรัดรึงไว้แล้วล้อมเนื้อหัวใจตั้งอยู่.
               ในไตนั้น ก็กำหนดว่า ไตย่อมไม่รู้ว่า เราถูกเอ็นหยาบรัดไว้ แม้เอ็นหยาบก็ไม่รู้ว่า เรารัดไตไว้ เปรียบเหมือนมะม่วง ๒ ผลติดขั้วเดียวกัน ย่อมไม่รู้ว่า เราถูกขั้วรัดไว้ แม้ขั้วก็ไม่รู้ว่าเรารัดมะม่วง ๒ ผลไว้ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล โดยปริเฉทว่า ไตตัดตอนด้วยส่วนแห่งไต นี้เป็นการกำหนดไตนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล กำหนดไตโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               หทยํ หัวใจ               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า หทัย หัวใจ ภายในสรีระโดยวรรณะสีแดง มีสีเหมือนสีหลังกลีบปทุมแดง. โดยสัณฐานเหมือนดอกปทุมตูม ลอกกลีบนอกออกแล้ววางคว่ำหน้าลง. ก็หัวใจนั้นข้างหนึ่งเหมือนผลบุนนาคตัด ยอดข้างนอกเกลี้ยง ข้างในก็เหมือนข้างในผลบวบขม. ของคนปัญญามาก แย้มนิดหน่อย ของคนปัญญาอ่อน ตูมอย่างเดียว มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยรูปใดเป็นไป ถอดรูปนั้นออกไปแล้ว เลือดขังอยู่ประมาณครึ่งฟายมือ ภายในหัวใจกล่าวคือชิ้นเนื้อส่วนที่เหลือ เลือดนั้นของคนราคจริตสีแดง ของคนโทสจริต สีดำ ของคนโมหจิต สีเหมือนน้ำล้างเนื้อ ของคนวิตกจริต สีเหมือนน้ำเยื่อถั่วพู ของคนสัทธาจริต สีเหมือนดอกกรรณิการ์ ของคนปัญญาจริต ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ปรากฎว่าโชติช่วงเหมือนแก้วมณีโดยกำเนิดที่ชำระแล้ว โดยทิศเกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาสตั้งอยู่ตรงกลางราวนมทั้งสองภายในสรีระ.
               ในหัวใจนั้น ก็กำหนดว่า หัวใจย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่ตรงกลางราวนมทั้งสอง แม้ราวนมก็ไม่รู้ว่าหัวใจตั้งอยู่ตรงกลางเรา เปรียบเหมือนกลอนสลักตั้งอยู่กลางบานหน้าต่างและประตูทั้งสอง ย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งอยู่ตรงกลางบานหน้าต่างและประตูทั้งสอง แม้บานหน้าต่างและประตูก็ไม่รู้ว่ากลอนสลักตั้งอยู่กลางเรา ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านั้นเว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล โดยปริเฉท ก็กำหนดว่า หัวใจตัดตอนด้วยส่วนแห่งหัวใจ นี้เป็นการกำหนดหัวใจนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล กำหนดหัวใจโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               ยกนํ ตับ               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า ชิ้นเนื้อคู่ ที่เรียกกันว่ายกนะ ตับ ภายในสรีระ โดยวรรณะสีแดง มีสีเหมือนสีหลังกลีบนอกดอกกุมุทแดง โดยสัณฐานมีโคนเดียวกัน ปลายคู่ มีสัณฐานเหมือนดอกทองหลาง ก็ตับนั้นของคนปัญญาอ่อน มีแฉกเดียวแต่ใหญ่ ของคนมีปัญญามีแฉก ๒-๓ แฉก แต่เล็ก โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส อาศัยสีข้างด้านขวาตั้งอยู่ภายในราวนมทั้งสอง.
               ในตับนั้น ก็กำหนดว่า ตับย่อมไม่รู้ว่าเราอาศัยสีข้างด้านขวาตั้งอยู่ภายในราวนมทั้งสอง แม้สีข้างด้านขวาภายในราวนมทั้งสองก็ไม่รู้ว่าตับอาศัยเราตั้งอยู่ เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อซึ่งแขวนอยู่ที่ข้างกระเบื้องหม้อ ย่อมไม่รู้ว่าเราแขวนอยู่ที่ตั้งกระเบื้องหม้อ แม้ข้างกระเบื้องหม้อก็ไม่รู้ว่าชิ้นเนื้อแขวนอยู่ที่เรา ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. แต่โดยปริเฉท กำหนดว่า ตับตัดตอนด้วยส่วนแห่งตับ นี้เป็นการกำหนดตับนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาคก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดตับโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               กิโลมกํ พังผืด               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะพังผืดมี ๒ อย่าง คือ ชนิดปิดและชนิดไม่ปิด [เปิด] มีสีขาวสีเหมือนผ้าเก่า. โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนโอกาสของตน. โดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. โดยโอกาส พังผืดชนิดปิดล้อมหัวใจและไตตั้งอยู่ พังผืดชนิดไม่ปิด [เปิด] หุ้มเนื้อใต้หนังทั่วสรีระตั้งอยู่.
               ในพังผืดนั้น กำหนดว่า พังผืดย่อมไม่รู้ว่าเราล้อมหัวใจและไต และหุ้มเนื้อใต้หนังทั่วสรีระ แม้หัวใจและไต และเนื้อทั่วสรีระ ก็ไม่รู้ว่าเราถูกพังผืดหุ้ม เปรียบเหมือนที่เนื้ออันถูกผ้าเก่าหุ้ม ผ้าเก่าก็ไม่รู้ว่าเราหุ้มเนื้อ แม้เนื้อก็ไม่รู้ว่าเราถูกผ้าเก่าหุ้ม ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท ก็กำหนดว่า พังผืดเบื้องล่างตัดตอนด้วยเนื้อ เบื้องบนตัดตอนด้วยหนัง เบื้องขวางตัดตอนด้วยส่วนแห่งพังผืด นี้เป็นการกำหนดพังผืดนั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดพังผืดโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้

               ปิหกํ ม้าม               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ ม้าม ภายในสรีระมีสีเขียว มีสีเหมือนดอกคนทิสอแห้ง. โดยสัณฐาน โดยมากมีสัณฐานเหมือนลิ้นลักโคดำ ไม่พันกัน ประมาณ ๗ นิ้ว. โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ข้างซ้ายหัวใจ อาศัยข้างบนพื้นท้อง ซึ่งเมื่อออกมาข้างนอก เพราะถูกประหารด้วยเครื่องประหาร สัตว์ก็จะสิ้นชีวิต.
               ในม้ามนั้น ก็กำหนดว่า ม้ามย่อมไม่รู้ว่าเราอาศัยส่วนข้างบนของพื้นท้อง แม้ส่วนข้างบนของพื้นท้องก็ไม่รู้ว่าม้ามอาศัยเราตั้งอยู่ เปรียบเหมือนก้อนโคมัย [มูลโค] อาศัยส่วนข้างบนของท้องตั้งอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าเราอาศัยส่วนข้างบนของท้องตั้งอยู่ แม้ส่วนข้างบนของท้องก็ไม่รู้ว่า ก้อนโคมัยอาศัยเราตั้งอยู่ ฉะนั้น ด้วยว่า ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล. โดยปริเฉท กำหนดว่า ม้ามตัดตอนด้วยส่วนแห่งม้าม นี่เป็นการกำหนดม้ามนั้นโดยสภาค ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดม้ามโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               ปปฺผาสํ ปอด               
               ต่อแต่นั้นไป ก็กำหนดว่า โดยวรรณะ ปอดเป็นประเภทชิ้นเนื้อ ๓๒ ชิ้น ภายในสรีระ สีแดงเหมือนผลมะเดื่อสุกยังไม่จัด โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนขนมที่ตัดไม่เรียบ อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่ามีสัณฐานเหมือนกองชิ้นอิฐก่อกำแพงดังนี้ก็มี ปอดนั้นไม่มีรส ไม่มีโอชะ เหมือนชิ้นฟางที่สัตว์เคี้ยวแล้ว เพราะถูกกระทบด้วยไออุ่นไฟที่เกิดแต่กรรม ซึ่งพลุ่งขึ้น เพราะไม่มีอาหารที่เคี้ยวที่ดื่ม โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. โดยโอกาส ตั้งข้างบนห้อยคลุมหัวใจและตับระหว่างราวนมทั้งสอง.
               ในปอดนั้น ก็กำหนดว่า ปอดย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งห้อยอยู่ระหว่างราวนมทั้งสองภายในสรีระ แม้ระหว่างราวนมทั้งสองภายในสรีระ ก็ไม่รู้ว่าปอดตั้งห้อยอยู่ในเรา เปรียบเหมือนรังนกห้อยอยู่ภายในยุ้งเก่า ย่อมไม่รู้ว่าเราตั้งห้อยอยู่ภายในยุ้งเก่า แม้ภายในยุ้งเก่าก็ไม่รู้ว่ารังนกตั้งห้อยอยู่ในเรา ฉะนั้น ด้วยว่าธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดคำนึงและการพิจารณา ฯลฯ ไม่ใช่บุคคล นี้เป็นการกำหนดปอดนั้นโดยสภาค. ส่วนการกำหนดโดยวิสภาค ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล. กำหนดปอดโดยวรรณะเป็นต้น มีประการดังกล่าวมาฉะนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อาการ ๓๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 2อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 25 / 4อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=27&Z=32
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=726
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=726
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :