ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค
ขัคควิสาณสูตร

หน้าต่างที่ ๓ / ๕.

               วรรคที่ ๒               
               คาถาที่ ๑๑-๑๒               
               คาถาว่า สเจ ลเภถ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระปัจเจกโพธิสัตว์ ๒ องค์บวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป. บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรตลอด ๒๐,๐๐๐ ปีแล้วบังเกิดในเทวโลก เคลื่อนจากเทวโลกนั้นแล้ว คนพี่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี คนน้องเป็นบุตรของปุโรหิต.
               ทั้งสองนั้นถือปฏิสนธิในวันเดียวกัน ออกจากครรภ์มารดาในวันเดียวกัน เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน. บุตรปุโรหิตเป็นคนมีปัญญา เขาได้ทูลพระราชบุตรว่า ข้าแต่พระสหาย พระองค์จักได้ราชสมบัติโดยล่วงไปแห่งพระบิดา ข้าพระองค์จักได้ตำแหน่งปุโรหิต พระองค์ได้รับการศึกษาดีแล้ว ควรเพื่อครอบครองราชสมบัติให้เป็นสุข มาเถิด พวกเราจักเรียนศิลป์ด้วยกัน.
               แต่นั้น ท่านแม้ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมได้สั่งสมแล้วในชาติก่อนเที่ยวหาภิกษาในคามและนิคมเป็นต้น ไปสู่บ้านในชนบทชายแดน.
               ก็พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเข้าไปสู่บ้านนั้น ในเวลาภิกขาจาร. ลำดับนั้น มนุษย์ทั้งหลายเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วเกิดความอุตสาหะย่อมปูอาสนะ น้อมขาทนียะโภชนียะอันประณีตถวาย นับถือบูชา.
               สหายทั้งสองนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า มนุษย์ผู้มีตระกูลสูงเช่นพวกเราไม่มี เออก็มนุษย์เหล่านี้ผิปรารถนาก็ให้ภิกษาแก่พวกเรา ถ้าไม่ปรารถนาก็ไม่ให้ แต่ย่อมกระทำสักการะเห็นปานนี้แก่บรรพชิตเหล่านี้ บรรพชิตเหล่านี้คงรู้ศิลป์บางอย่างแน่นอน เอาเถิด พวกเราจะเรียนศิลปะในสำนักของบรรพชิตเหล่านั้นดังนี้.
               สหายทั้งสองนั้น ครั้นมนุษย์ทั้งหลายกลับแล้ว ได้โอกาสจึงอ้อนวอนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายย่อมรู้ศิลปะใด โปรดให้พวกกระผมศึกษาศิลปะนั้นด้วย.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า ผู้ยังไม่ได้บวชไม่อาจศึกษาได้.
               สหายทั้งสองนั้นจึงขอบรรพชาแล้วบวช.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายได้บอกอภิสมาจาริกวัตรแก่บรรพชิตทั้งสองนั้น โดยนัยมีอาทิว่า ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ แล้วมอบบรรณศาลาให้รูปละหลังว่า ความยินดียิ่งในความเป็นผู้อยู่คนเดียว เป็นความสำเร็จแห่งศิลปะนี้ เพราะฉะนั้น พึงนั่งคนเดียวเท่านั้น พึงจงกรม พึงยืน พึงนอนคนเดียว.
               แต่นั้นบรรพชิตทั้งสองนั้นเข้าสู่บรรณศาลาของตนๆ แล้วนั่ง.
               บุตรปุโรหิตได้ความตั้งมั่นแห่งจิต จำเดิมแต่เวลานั่งแล้วได้ฌาน. ราชบุตรกระสันโดยครู่เดียวเท่านั้นก็มาสู่สำนักของบุตรปุโรหิตนั้น. บุตรปุโรหิตนั้นเห็นราชบุตรนั้น จึงถามว่า อะไร เพื่อน.
               ร. ผมกระสัน
               ปุ. ถ้าเช่นนั้น จงนั่ง
               ราชบุตรนั้นนั่งในที่นั้นชั่วครู่แล้วกล่าวว่า สหาย! ได้ยินว่า ความยินดียิ่งในความเป็นผู้อยู่คนเดียว เป็นการสำเร็จแห่งศิลปะนี้. บุตรปุโรหิตกล่าวว่า อย่างนั้น เพื่อน! ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปสู่โอกาสที่ตนนั่งนั้นแล เราจักเรียนความสำเร็จแห่งศิลปะนี้. ราชบุตรนั้นไปแล้วโดยครู่เดียวเท่านั้นก็กระสันอีกจึงมาถึง ๓ ครั้งโดยนัยก่อนนั่นแล. แต่นั้นบุตรปุโรหิตก็ส่งราชบุตรกลับเหมือนอย่างนั้น. ครั้นราชบุตรไปแล้วคิดว่า ราชบุตรนี้ประกาศกรรมของตนและของเรา จึงมาในที่นี้เนืองๆ. ท่านจึงออกจากบรรณศาลาเข้าสู่ป่า.
               ฝ่ายราชบุตรนั่งในบรรณศาลาของตน เป็นผู้กระสันแม้อีกโดยครู่เดียวเท่านั้น จึงมาสู่บรรณศาลาของบุตรปุโรหิตนั้น แม้ค้นหาทางนี้และทางโน้นก็ไม่พบบุตรปุโรหิตนั้น จึงคิดว่า ผู้ใดแม้ในเวลาเป็นคฤหัสถ์นำบรรณาการมา ก็ไม่ได้เพื่อเห็นเรา ผู้ชื่อนั้น เมื่อเรามาแล้ว ก็ไม่ประสงค์เพื่อจะให้เห็นเลย ก็หลีกไปเสีย โอ! แน่ะจิต เจ้าช่างไม่ละอาย เจ้านำเราใดมาในที่นี้ถึงสี่ครั้ง บัดนี้ เรานั้นจักไม่เป็นไปในอำนาจของเจ้า แต่จักให้เจ้าเท่านั้นเป็นไปในอำนาจของเราแน่นอนดังนี้ แล้วเข้าไปสู่เสนาสนะของตน ปรารภวิปัสสนา กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว เหาะไปสู่เงื้อมเขานันทมูลกะ
               ฝ่ายบุตรปุโรหิตนอกจากศาลานี้เข้าป่าแล้ว ปรารภวิปัสสนา กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ ได้ไปเหมือนอย่างนั่นเทียว.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้ทั้งสองนั้นนั่งบนพื้นมโนศิลาแล้ว ได้กล่าวอุทานคาถาเหล่านี้รูปละ ๑ คาถาว่า
                                   สเจ ลเภถ นิปกํ สหายํ
                                   สทฺธึจรํ สาธุวิหาริ ธีรํ
                                   อภิภุยฺย สพฺพานิ ปริสฺสยานิ
                                   จเรยฺย เตนตฺตมโน สตีมา

                         ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญาเครื่องรักษาตน
                         ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็น
                         นักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็น
                         ผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น.

                                   โน เจ ลเภถ นิปกํ สหายํ
                                   สทฺธึจรํ สาธุวิหาริ ธีรํ
                                   ราชาว รฎฺฐํ วิชิตํ ปหาย
                                   เอโก จเร มาตงฺครญฺเญว นาโค

                         หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน
                         ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนัก
                         ปราชญ์ไซร้ พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว ดุจพระราชาทรงละ
                         แว่นแคว้นอันพระองค์ทรงชนะแล้วเสด็จไปแต่ผู้เดียว
                         ดุจพญาช้างชื่อมาตังคะละโขลง เที่ยวอยู่ในป่าแต่ตัว
                         เดียว ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในคาถานั้น บทว่า นิปกํ ได้แก่ บัณฑิตผู้รอบคอบโดยปกติ คือฉลาดในกสิณบริกรรมเป็นต้น. บทว่า สาธุวิหารึ ได้แก่ ผู้ประกอบพร้อมด้วยอัปปนาวิหารหรืออุปจาร. บทว่า ธีรํ ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยธิติ.
               ในคาถานั้น ท่านกล่าวถึงความถึงพร้อมด้วย ธิติ ด้วยอรรถว่า นิปกะ. แต่ในอรรถกถานี้ อธิบายว่าผู้ถึงพร้อมด้วยธิตินั่นเอง. ความบากบั่นไม่ท้อถอยชื่อว่า ธิติ. คำว่า ธิติ นั่นเป็นชื่อแห่งความเพียรอันเป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า กามํ ตโจ จ นหารู จ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธีระ แม้เพราะอรรถว่ามีบาปอันลอยแล้ว.
               บาทคาถาว่า ราชาว รฏฺฐํ วิชิตํ ปหาย ความว่า พระราชาผู้ปรปักษ์ทรงทราบว่า แว่นแคว้นที่ชนะแล้วนำความฉิบหายมาให้ ทรงสละราชสมบัติ ทรงเที่ยวไปแต่พระองค์เดียวฉันใด บุคคลละสหายที่เป็นพาลแล้ว พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียวฉันนั้น.
               อีกประการหนึ่ง บทว่า ราชาว รฏฺฐํ ความว่า พระเจ้าสุตตโสมทรงละแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้ว เสด็จเที่ยวไปแต่พระองค์เดียวฉันใด และพระมหาชนกทรงละแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้ว เสด็จเที่ยวไปแต่พระองค์เดียวฉันใด บุคคลพึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียวฉันนั้น.
               เนื้อความแห่งคาถานั้นมีเท่านี้.
               ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญาเครื่องรักษาตนผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น.
               บทที่เหลืออาจเพื่อรู้ได้ด้วยทำนองที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้อธิบายให้พิสดาร.
               สหายคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๑๓               
               คาถานี้ว่า อทฺธา ปสํสาม ดังนี้ มีอุบัติตั้งแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้วในพื้นระเบียง เป็นเช่นกับอุบัติในจาตุททิสคาถานั่นแล.
               ส่วนความแปลกกันมีดังนี้ :-
               พระราชาพระองค์นั้นทรงสะดุ้งในราตรีถึง ๓ ครั้งฉันใด พระราชานี้หาเป็นฉันนั้นไม่ ทั้งยัญก็ไม่ปรากฏแก่พระองค์ ท้าวเธอทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ที่พื้นระเบียงแล้ว ตรัสถามว่า พวกท่านชื่ออะไร?
               ป. มหาบพิตร พวกอาตมาชื่อว่าผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษ
               ร. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คำว่าผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษนี้ มีประโยชน์อย่างไร?
               ป. พวกอาตมาได้สิ่งที่ดีหรือไม่ดี ก็ไม่มีอาการผิดแปลกบริโภค มหาบพิตร.
               พระราชาทรงสดับเช่นนั้นแล้ว ทรงพระราชดำรินี้ว่า เอาเถิด เราจะพิจารณาสมณะเหล่านี้ว่า เป็นเช่นนี้หรือไม่. ในวันนั้นทรงอังคาสด้วยข้าวปลายเกรียนกับส้มผักดอง. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็บริโภคไม่แสดงอาการผิดแปลกเหมือนบริโภคอมตะ.
               พระราชาทรงพระราชดำริว่า สมณะเหล่านี้เป็นผู้ไม่แสดงอาการผิดแปลก เพราะได้ปฏิญญาแล้วในวันที่หนึ่ง เราจักรู้ในพรุ่งนี้ จึงทรงนิมนต์เพื่อบริโภคในวันพรุ่งนี้. แม้ในวันที่ ๒ จากนั้นก็ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้น. พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้เหล่านั้นก็บริโภคเหมือนเดิม.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงพระราชดำริว่า บัดนี้ เราจักถวายสิ่งที่ดีกว่าทดลองดู ดังนี้แล้วทรงนิมนต์อีก ทรงกระทำสักการะใหญ่ตลอดสองวัน ทรงอังคาสด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต. พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้เหล่านั้นก็บริโภคไม่แสดงอาการผิดแปลกเหมือนเดิม กล่าวมงคลถวายพระราชาแล้วหลีกไป.
               พระราชาครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นหลีกไปไม่นาน จึงทรงพระราชดำริว่า พระสมณะเหล่านั้นบริโภคโภชนะไม่มีโทษ โอหนอ! แม้เราก็พึงบริโภคโภชนะไม่มีโทษดังนี้แล้ว ทรงสละมหาราชสมบัติ สมาทานบรรพชา ปรารภวิปัสสนา เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงยังอารมณ์ของพระองค์ให้แจ่มแจ้งในท่ามกลางพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่โคนต้นไม้รกฟ้า ตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   อทฺธา ปสํสาม สหายสมฺปทํ
                                   เสฏฺฐา สมา เสวิตพฺพา สหายา
                                   เอเต อลทฺธา อนวชฺชโภชี
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น
                         พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้
                         สหายผู้ประเสริฐสุดและเสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็น
                         ผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอ
                         แรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               คาถานั้นว่าโดยอรรถแห่งบทตื้นทั้งนั้น.
               ก็สหายทั้งหลายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้นที่เป็นอเสขะ ในบทนี้ สหายสมฺปทํ นี้อย่างเดียวเท่านั้นพึงทราบว่า สหายผู้ถึงพร้อม.
               ส่วนโยชนาในบทนี้ มีดังนี้
               สหายผู้ถึงพร้อมนี้ใดที่กล่าวแล้ว เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมนั้นแน่แท้. อธิบายว่า เราชื่นชมโดยส่วนเดียวเท่านั้น.
               อย่างไร. คือ พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน.
               เพราะเหตุอะไร.
               เพราะเมื่อกุลบุตรคบสหายผู้ประเสริฐสุดด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้นของตน ธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นต้นที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.
               เมื่อคบสหายผู้เสมอกัน ธรรมทั้งหลายที่ได้แล้วย่อมไม่เสื่อม เพราะทรงความเสมอกันและกัน และเพราะกำจัดความรังเกียจ แต่กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ ไม่ได้คบสหายผู้ประเสริฐสุด และผู้เสมอกันเหล่านั้น เว้นมิจฉาชีพมีการหลอกลวงเป็นต้น บริโภคโภชนะที่เกิดขึ้นโดยธรรมและโดยเสมอ และไม่ให้ปฏิฆานุสัยในโภชนะนั้นเกิดขึ้น เป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น เพราะแม้เราเที่ยวไปอย่างนี้ จึงบรรลุสมบัตินี้แล.
               อนวัชชโภชิคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๑๔               
               คาถาว่า ทิสฺวา สุวณฺณสฺส ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่งเสร็จเข้าที่บรรทมในกลางวันในคิมหสมัย และในพระราชสำนักของพระองค์ นางวรรณทาสีกำลังบดจันทร์เหลืองอยู่ ในแขนข้างหนึ่งของนางมีกำไลทองหนึ่งวง ในแขนอีกข้างหนึ่งมีกำไลทองสองวงกระทบกัน กำไลทองหนึ่งวงนอกนี้ไม่กระทบ.
               พระราชาทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงทรงแลดูนางทาสีบ่อยๆ พลางทรงพระราชดำริว่า ในการอยู่เป็นหมู่ย่อมมีการกระทบกัน ในการอยู่คนเดียวย่อมไม่มีการกระทบเหมือนอย่างนั้นแล.
               โดยสมัยนั้น พระเทวีผู้ทรงประดับประดาด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ์ ประทับยืนถวายงานพัดอยู่ พระนางทรงดำริว่า พระราชาชะรอยจะมีพระหทัยปฏิพัทธ์ในนางวรรณทาสี ทรงให้นางทาสีนั้นลุกออกไป ทรงปรารภเพื่อจะทรงบดด้วยพระองค์เอง ในพระพาหาทั้งสองข้างของพระนางมีกำไลทองหลายวงกระทบกันเกิดเสียงดังมาก.
               พระราชาทรงเอือมระอายิ่งขึ้น ทั้งที่บรรทมด้วยปรัศว์เบื้องขวา ทรงปรารภวิปัสสนา ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระปัจเจกโพธิญาณ.
               พระเทวีทรงถือจันทน์ เสด็จเข้าเฝ้าพระราชาพระองค์นั้น ซึ่งบรรทมเป็นสุขด้วยความสุขอันยอดเยี่ยม ทูลว่า มหาราช หม่อมฉันจะไล้ทา. พระราชาตรัสว่า ออกไป อย่าไล้ทา. พระนางทูลว่า อะไร มหาราช!. พระราชาตรัสว่า เราไม่ใช่ราชา.
               อำมาตย์ทั้งหลายฟังการสนทนานั้นของพระราชาและพระเทวีนั้นอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้า. พระราชาผู้อันอำมาตย์เหล่านั้นทูลเรียกด้วยวาทะว่า มหาราช จึงตรัสว่า แน่ะพนาย เราไม่ใช่ราชา.
               บทที่เหลือเป็นเช่นกับคำที่กล่าวแล้ว ในคาถาต้นนั้นแล.
               ส่วนคาถาวัณณนามีดังนี้ว่า
                                   ทิสฺวา สุวณฺณสฺส ปภสฺสรานิ
                                   กมฺมารปุตฺเตน สุนิฏฺฐิตานิ
                                   สงฺฆฏฺฏมานานิ ทุเว ภุชสฺมึ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลแลดูกำไลทองสองอันงามผุดผ่องที่
                         บุตรแห่งนายช่างทองให้สำเร็จด้วยดีแล้ว
                         กระทบกันอยู่ในข้อมือ พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรดฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา ได้แก่ แลดูแล้ว.
               บทว่า สุวณฺณสฺส ได้แก่ ทองคำ.
               บาลีที่เหลือว่า วลฺยานิ เป็นคำที่นำมาเพิ่มเข้า เพราะอรรถของคำที่เหลือ มีเนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปภสฺสรานิ ได้แก่ อันแพรวพราวเป็นปกติ. อธิบายว่า มีแสงรุ่งเรือง.
               บทที่เหลือเป็นบทมีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               ส่วนโยชนาดังนี้ว่า
               เราแลดูกำไรทองกระทบกันอยู่ในข้อมือ จึงคิดว่า เมื่อมีการอยู่เป็นหมู่ย่อมมีการกระทบกัน เมื่อมีการอยู่คนเดียว หากระทบกันไม่ จึงปรารภวิปัสสนา ได้บรรลุแล้ว.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               สุวัณณนาคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๑๕               
               คาถาว่า เอวํ ทุติเยน ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่งยังทรงพระเยาว์ มีพระประสงค์จะทรงผนวช จึงตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงรับพระเทวีปกครองราชสมบัติเถิด เราจักบวช. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ก็ราชสมบัติที่ไม่มีพระราชาอันพวกข้าพระองค์ไม่สามารถเพื่อจะรักษาได้ พระราชาในประเทศใกล้เคียงทั้งหลายจะมาแย่งชิงราชสมบัติไป ขอพระองค์จงทรงรอจนกว่าพระโอรสองค์หนึ่งทรงเกิดก่อน ดังนี้แล้ว ทูลให้พระราชาทรงยินยอม.
               พระราชาทรงมีพระทัยอ่อน จึงทรงรับ.
               ต่อมา พระเทวีทรงพระครรภ์. พระราชาตรัสสั่งอำมาตย์เหล่านั้นแม้อีกว่า พระเทวีทรงครรภ์แล้ว พวกท่านจงอภิเษกบุตรที่เกิดแล้วไว้ในราชสมบัติ ปกครองราชสมบัติเถิด เราจักบวช. พวกอำมาตย์ทูลให้พระราชาทรงยินยอมแม้อีกว่า ข้าแต่มหาราช ข้อนั่นเป็นการรู้ได้ยากว่า พระเทวีจักประสูติพระโอรส หรือพระธิดา ขอพระองค์จงทรงรอประสูติกาลก่อนเถิด. ต่อมา พระนางก็ประสูติพระโอรส. แม้ในกาลนั้น พระราชาก็ตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายเหมือนอย่างนั้น. พวกอำมาตย์ก็ทูลให้พระราชาทรงยินยอมแม้อีก ด้วยเหตุเป็นอันมากว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงรอจนกว่าพระโอรสทรงมีพระกำลังแข็งแรงก่อนเถิด.
               แต่นั้น เมื่อพระกุมารทรงมีพละกำลังแข็งแรงแล้ว พระราชาจึงตรัสให้ประชุมอำมาตย์ทั้งหลายแล้ว ตรัสว่า กุมารนี้มีกำลังแข็งแรงแล้ว พวกท่านจงอภิเษกกุมารนั้นในราชสมบัติ ปฏิบัติเถิด ดังนี้ ไม่ทรงประทานพระวโรกาสให้แก่พวกอำมาตย์ ตรัสสั่งให้นำบริขารทั้งปวงมีผ้ากาสวพัสตร์เป็นต้นมาจากภายในตลาด ทรงผนวชในภายในเมืองนั่นเอง แล้วเสด็จออกไปเหมือนพระเจ้ามหาชนก.
               บริชนทั้งปวงคร่ำครวญนานัปการ ติดตามพระราชา. พระราชาเสด็จไปจนถึงปลายเขตแดนของพระองค์ ทรงทำรอยขีดด้วยไม้ธารพระกร ตรัสว่า อย่าพึงข้ามรอยขีดนี้. มหาชนนอนบนพื้นเอาศีรษะจรดที่รอยขีดคร่ำครวญอยู่ ทูลว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า บัดนี้พระราชาทรงวางอาชญาแก่พระองค์ พระราชาจักทรงทำอย่างไร แล้วให้พระกุมารนั้นเสด็จข้ามรอยขีดไป. พระกุมารทรงร้องว่า เสด็จพ่อ! เสด็จพ่อ! แล้วทรงวิ่งไปทันพระราชา. พระราชาทรงพระราชดำริว่า เราปกครองมหาชนนั่นเสวยราชสมบัติ บัดนี้ เราไม่อาจเพื่อจะปกครองเด็กคนเดียวหรือไร ทรงพาพระกุมารเสด็จเข้าป่า ทรงเห็นบรรณศาลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าในปางก่อนอยู่ในป่านั้น จึงประทับอยู่พร้อมกับพระราชโอรส.
               ลำดับนั้น พระกุมารทรงเคยชินแต่ในที่บรรทมอันประเสริฐเป็นต้น แต่เมื่อบรรทมในที่ลาดด้วยหญ้า หรือบนพระแท่นที่ถักด้วยเชือก ถูกหนาวและลมเป็นต้นกระทบก็ทรงกันแสงทูลว่าหนาวเสด็จพ่อ ร้อนเสด็จพ่อ แมลงวันตอมเสด็จพ่อ หม่อมฉันหิวเสด็จพ่อ กระหายเสด็จพ่อ ดังนี้.
               พระราชาต้องทรงปลอบโยนพระกุมารนั้น ยังราตรีให้ผ่านไป แม้ในกลางวันก็ต้องเสด็จเที่ยวบิณฑบาตนำภัตไปมอบให้พระกุมารนั้น ภัตนั้นเป็นภัตปนคละกัน มากด้วยข้าวฟ่าง ลูกเดือยและแกงถั่วเป็นต้น พระกุมารทรงหิวก็เสวยภัตแม้นั้น ด้วยอำนาจความหิว ต่อกาลไม่นานนักก็ทรงผ่ายผอม เหมือนดอกประทุมที่วางไว้ในที่ร้อนฉะนั้น.
               ส่วนพระปัจเจกโพธิสัตว์ไม่ทรงแสดงอาการผิดแปลกเลย ทรงเสวยด้วยกำลังแห่งการพิจารณา แต่นั้น พระองค์ก็ทรงให้พระกุมารยินยอมตรัสว่า แน่ะพ่อ! อาหารอันประณีตย่อมได้ในพระนคร พวกเราจะไปในพระนครนั้น. พระกุมารทูลว่า ตกลง เสด็จพ่อ. แต่นั้น ก็ทรงนำพระกุมารนั้นเสด็จกลับตามทางที่เสด็จกลับมานั่นเทียว.
               ฝ่ายพระเทวีพระมารดาของพระกุมาร ทรงดำริว่า บัดนี้ พระราชาทรงพาพระกุมารไปประทับอยู่ในป่าคงไม่นานนัก คงจักเสด็จกลับโดยกาล ๒-๓ วันเท่านั้นจึงทรงให้ล้อมรั้วในสถานที่ทรงขีดด้วยไม้ธารพระกรนั่นแล แล้วประทับอยู่.
               ลำดับนั้น พระราชาประทับยืนในที่ไม่ไกลจากรั้วนั้น ทรงส่งไปว่า แน่ะพ่อ มารดาของเจ้านั่งอยู่ในที่นั่น เจ้าจงไป ดังนี้ และประทับยืนดูอยู่จนกว่าพระกุมารนั้นเสด็จถึงที่นั้น ด้วยพระดำริว่า ใครๆ ไม่พึงเบียดเบียนกุมารนั้น.
               พระกุมารได้เสด็จไปสู่สำนักของพระมารดา ก็บุรุษผู้อารักขาทั้งหลายเห็นพระกุมารนั้นแล้วทูลบอกแด่พระเทวี พระเทวีทรงมีสตรีนักฟ้อนรำ ๒๐,๐๐๐ นางแวดล้อมแล้วเสด็จไปรับ และตรัสถามเรื่องราวของพระราชา ครั้นทรงสดับว่าจักเสด็จมาภายหลัง จึงทรงส่งมนุษย์ทั้งหลาย.
               ฝ่ายพระราชาก็เสด็จไปสู่ที่อยู่ของพระองค์ในทันทีทันใดนั่นเอง.
               มนุษย์ทั้งหลายไม่เห็นพระราชาก็กลับมา แต่นั้นพระเทวีทรงปราศจากความหวัง ทรงพาพระราชโอรสกลับถึงพระนคร ทรงอภิเษกพระกุมารนั้นไว้ในพระราชสมบัติ.
               ฝ่ายพระราชาเสด็จถึงที่อยู่ของพระองค์แล้ว ประทับนั่งในที่อยู่นั้น ทรงเห็นแจ้ง ทรงทำให้แจ้งซึ่งพระปัจเจกโพธิญาณ ตรัสอุทานคาถานี้ในท่ามกลางแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่โคนต้นไม้รกฟ้าว่า
                                   เอวํ ทุติเยน สหา มมสฺส
                                   วาจาภิลาโป อภิสชฺชนา วา
                                   เอตํ ภยํ อายตึ เปกฺขมาโน
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         การที่เราจะพึงพูดจากับพระกุมารที่สอง
                         หรือการข้องอยู่ด้วยอำนาจแห่งความเยื่อใย
                         พึงมีได้อย่างนี้ บุคคลเล็งเห็นภัยนี้ในอนาคต
                         พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               คาถานั้น โดยอรรถแห่งบทตื้นทั้งนั้น
               ส่วนอธิบายในคาถานั่นมีดังนี้
               การพูดจาของเราให้พระกุมารนั้นยินยอมอยู่ กับพระกุมารที่สองนั่นผู้เสวยหนาวและร้อนเป็นต้นนี้ใด การข้องอยู่ด้วยอำนาจแห่งความเยื่อใยพึงมีได้ในการพูดจานั้น ถ้าเราไม่สละการพูดจาและการข้องอยู่นี้เสีย ต่อแต่นั้น การที่เราจะพึงพูดจากับพระกุมารที่สอง หรือการข้องอยู่ในอนาคตก็จะเป็นเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราเมื่อเล็งเห็นภัยในอนาคตนี้ว่า การพูดจาและการข้องอยู่ทั้งสองนั่น เป็นเหตุทำอันตรายแก่การบรรลุคุณวิเศษดังนี้ จึงทิ้งการพูดจาและข้องอยู่นั้นเสีย ปฏิบัติโดยแยบคายแล้ว ก็ได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               อายติภยคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๑๖               
               คาถาว่า กามาหิ จิตฺรา ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสี เศรษฐีบุตรยังหนุ่มได้ตำแหน่งเศรษฐี เศรษฐีบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลังสำหรับ ๓ ฤดู.
               เศรษฐีบุตรนั้นบำรุงบำเรอด้วยสมบัติทั้งปวงเหมือนเทพ กุมารทั้งที่ยังหนุ่มอยู่ได้ปรึกษากับมารดาและบิดาว่า ลูกจักบวช.
               มารดาบิดาเหล่านั้นก็ห้ามเขา เศรษฐีบุตรนั้นก็ยืนยันเหมือนเดิมนั้นแล มารดาและบิดาก็ห้ามเขาอีกว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าเป็นผู้ละเอียดอ่อน การบรรพชาทำได้ยาก เป็นเช่นกับเดินไปมาบนคมมีดโกน. เขาก็ยืนยันเช่นเดิมนั้นแล.
               มารดาบิดาเหล่านั้นคิดว่า ถ้าบุตรนี้บวช พวกเราก็เสียใจ ถ้าห้ามเขา เขานั่นก็จะเสียใจ ช่างเถิด ความเสียใจจงมีแก่พวกเรา และอย่ามีแก่บุตรนั่นดังนี้แล้ว ก็อนุญาต.
               แต่นั้น เศรษฐีบุตรนั้นไม่คำนึงถึงบริชนทั้งหมดที่คร่ำครวญอยู่ ไปสู่ป่าอิสินะ บวชในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เสนาสนะอันโอฬารย่อมไม่ถึงแก่เขา เขาต้องปูเสื่อลำแพนบนเตียงแล้วนอน เขาเคยชินแต่ในที่นอนอันประเสริฐ เป็นทุกข์อย่างยิ่งตลอดคืน ทำบริกรรมสรีระแม้แต่เช้าแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตพร้อมกับพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ในพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ท่านผู้แก่ย่อมได้อาสนะที่เลิศและบิณฑะที่เลิศ ผู้ใหม่ย่อมได้อาสนะตามมีตามเกิดและโภชนะอันเลว. เศรษฐีบุตรนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แม้ด้วยโภชนะอันเลวนั้น โดยล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้นก็ผ่ายผอม มีวรรณะเศร้าหมอง เบื่อหน่ายในสมณธรรม ซึ่งยังไม่ถึงความแก่รอบตามที่ควร ต่อแต่นั้นก็ส่งทูตไปบอกแก่มารดาบิดาแล้วสึก.
               เศรษฐีบุตรนั้นได้กำลังต่อกาลเล็กน้อยเท่านั้นก็ใคร่เพื่อจะบวชอีก ต่อแต่นั้นก็บวชแล้วสึก แม้โดยทำนองนั้นเทียว ในวาระที่ ๓ บวชแล้วปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้วกล่าวอุทานคาถานี้ กล่าวแม้พยากรณ์คาถานี้แล ในท่ามกลางของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแม้อีกว่า
                                   กามา หิ จิตฺรา มธุรา มโนรมา
                                   วิรูปรูเปน มเถนฺติ จิตฺตํ
                                   อาทีนวํ กามคุเณสุ ทิสฺวา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         ก็กามทั้งหลายงามวิจิตร มีรสอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ
                         ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ บุคคลเห็นโทษในกามคุณ
                         ทั้งหลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

                         ดังนี้.
               ในคาถานั้น บทว่า กามา ได้แก่ กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.
               ในกาม ๒ อย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นที่รักของใจเป็นต้น ชื่อว่าวัตถุกาม. ธรรมทั้งหลายอันเป็นประเภทแห่งราคะแม้ทั้งหมด เรียกว่ากิเลสกาม.
               ก็ในคาถานี้ ท่านประสงค์เอาวัตถุกาม.
               กามทั้งหลายชื่อว่างามวิจิตร ด้วยอำนาจแห่งประการหลายอย่างมีรูปเป็นต้น. ชื่อว่ามีรสอร่อย ด้วยอำนาจแห่งความยินดีของชาวโลก. ชื่อว่าเป็นที่รื่นรมย์ใจ เพราะอรรถว่ายังใจของปุถุชนคนโง่ให้รื่นรมย์.
               บทว่า วิรูปรูเปน ความว่า ด้วยรูปแปลกๆ. มีอธิบายว่า ด้วยสภาพหลายอย่าง.
               จริงอยู่ กามเหล่านั้นชื่อว่างามวิจิตร ด้วยอำนาจแห่งรูปเป็นต้น. ชื่อว่ามีรูปแปลกๆ ด้วยอำนาจแห่งสีมีสีเขียวเป็นต้น แม้ในรูปเป็นต้นแสดงความพอใจด้วยรูปแปลกๆ นั้น หรือโดยประการนั้นๆ ย่อมย่ำยีจิต คือไม่ให้เพื่ออภิรมย์ในบรรพชาด้วยประการอย่างนั้น.
               บทที่เหลือในคาถานั้นปรากฏชัดแล้ว.
               แม้คำนิคมอันบัณฑิตประกอบด้วยบท ๒ บท หรือ ๓ บท ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในคาถาต้นๆ นั่นแล.
               กามคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๑๗               
               คาถาว่า อีตี จ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ฝีได้บังเกิดแก่พระราชาในกรุงพาราณสี เวทนากล้าเป็นไปอยู่ แพทย์ทั้งหลายกราบทูลว่า เว้นจากการผ่าตัดแล้วจะไม่มีความผาสุก. พระราชาทรงให้อภัยแก่แพทย์เหล่านั้นแล้ว ตรัสสั่งให้ทำการผ่าตัด.
               แพทย์เหล่านั้นผ่าตัดแล้ว นำพระปุพโพและพระโลหิตออก กระทำให้หมดเวทนาแล้วพันผ้าพันแผล ทูลตักเตือนโดยชอบในเนื้อและอาหารเศร้าหมอง.
               พระราชาทรงมีพระสรีระผอม เพราะโภชนะเศร้าหมอง และฝีของพระองค์ก็แห้ง พระองค์ทรงสำคัญว่าหายแล้ว จึงเสวยพระกระยาหารที่รสเลิศ และแผลซึ่งเกิดจากพระกระยาหารนั้นก็กำเริบเช่นนั้นอีก ฝีของพระองค์ก็ถึงซึ่งสภาพเช่นเดิมอีกนั้นเทียว พระองค์ทรงให้ทำการผ่าตัดอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ถูกแพทย์ทั้งหลายทูลบอกเลิกแล้ว ทรงเบื่อหน่าย สละราชสมบัติอันใหญ่ ทรงเห็นแจ้งในป่า ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ โดย ๗ ปี ได้ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   อีตี จ คณฺโฑ จ อุปทฺทโว จ
                                   โรโค จ สลฺลญฺจ เมตํ
                                   เอตํ ภยํ กามคุเณสุ ทิสฺวา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลเห็นภัย คือจัญไร ฝี อุปัทวะ โรค ลูกศร
                         และความน่ากลัวนี้ ในกามคุณทั้งหลายแล้ว
                         พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.

               ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปยังเงื้อมภูเขานันทมูลกะ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอติ ได้แก่ ความจัญไร.
               คำว่า อีติ นี้เป็นชื่อแห่งเหตุของความพินาศอันเป็นส่วนของอกุศลที่จรมา. เพราะฉะนั้น แม้กามคุณเหล่านั้นก็ชื่อว่าจัญไร เพราะอรรถว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความพินาศหลายอย่าง และเพราะเป็นเหตุให้ตกต่ำอย่างหนัก.
               แม้ฝีย่อมหลั่งออกซึ่งของไม่สะอาด คือบวมขึ้นและแก่จัดก็แตกออก เพราะฉะนั้น กามคุณเหล่านั้นชื่อว่าฝี เพราะเป็นที่ไหลออกแห่งของไม่สะอาดคือกิเลส และเพราะความเป็นของแตกออก เพราะความเป็นของบวมขึ้นแล้วแก่จัดด้วยความเกิด ความแก่และความแตกสลาย.
               ชื่อว่าอุปัทวะ เพราะอรรถว่าประทุษร้าย. อธิบายว่า ยังความฉิบหายให้เกิด ย่อมย่ำยีคือครอบงำ.
               คำว่า อุปทฺทโว นั่นเป็นชื่อแห่งอาชญากรรมทั้งหลายมีราชทัณฑ์เป็นต้น เพราะฉะนั้น แม้กามคุณเหล่านั้นชื่อว่าอุปัทวะ เพราะเป็นเหตุไม่ให้ก้าวลงสู่พระนิพพานที่ตนยังไม่รู้ และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งอุปัทวะทั้งปวง.
               ก็เพราะกามคุณเหล่านั้นยังความเดือดร้อนคือกิเลสให้เกิดขึ้น ยังความไม่มีโรค กล่าวคือศีลให้ถึงความเหลาะแหละ ย่อมปล้นความไม่มีโรคตามปกตินั้นเสีย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าโรค เพราะอรรถว่าปล้นความไม่มีโรคนี้.
               แต่ชื่อว่าลูกศร เพราะอรรถว่าตามเข้าไปในภายใน เพราะอรรถว่ากระทำความเดือดร้อนในภายใน และเพราะอรรถว่าเป็นของที่นำออกได้แสนยาก.
               ชื่อว่าภัย เพราะนำมาซึ่งภัยในทิฏฐธรรมและในสัมปรายิกภพ.
               สองบทว่า เม เอตํ สนธิเป็น เมตํ แปลว่า ของเรานี้.
               บทที่เหลือในคาถานี้ปรากฏชัดแล้ว
               แม้คำนิคมก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วแล.
               อีติคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๑๘               
               คาถาว่า สีตญฺจ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
               ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสี พระราชาพระนามว่า สีตาลุกพรหมทัต ท้าวเธอทรงผนวชแล้ว ประทับอยู่ในกุฏิป่า ก็ครั้นประเทศนั้นหนาวก็มีความหนาว เมื่อร้อนก็มีความร้อนเท่านั้น เพราะเป็นประเทศตั้งอยู่ในที่โล่ง ภิกษาในโคจรคามก็ไม่ได้ตามความต้องการ แม้น้ำดื่มสำหรับผู้ดื่มก็หาได้ยาก แม้ลมเหลือบสัตว์เลื้อยคลานก็เบียดเบียน.
               พระองค์ทรงพระราชดำริดังนี้ว่า ในที่ประมาณกึ่งโยชน์จากนี้มีประเทศที่สมบูรณ์ อันตรายทางสรีระเหล่านั้นแม้ทั้งหมดย่อมไม่มีในประเทศนั้น อย่าเลย เราพึงไปในประเทศนั้น เมื่ออยู่เป็นผาสุกก็อาจบรรลุสุขได้.
               พระองค์ทรงมีพระราชดำริอีกว่า ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายไม่ควรตกอยู่ในอำนาจปัจจัย และย่อมยังจิตเห็นปานนั้นให้เป็นไปในอำนาจ จะไม่เป็นไปในอำนาจของจิต เราจักไม่ไปละ. ครั้นทรงพิจารณาแล้ว ไม่เสด็จไป ทรงพิจารณาจิตที่เกิดแล้วอย่างนี้ถึงสามครั้งแล้ว เสด็จกลับ ตั้งแต่นั้นก็ประทับอยู่ในป่านั้นเทียวตลอด ๗ ปี ทรงปฏิบัติชอบอยู่ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   สีตญฺจ อุณฺหญฺจ ขุทํ ปิปาสํ
                                   วาตาตเป ฑํสสิรึสเป จ
                                   สพฺพานิเปตานิ อภิสมฺภวิตฺวา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลพึงครอบงำอันตรายเหล่านี้แม้ทั้งปวง
                         คือ หนาว ร้อน หิว ระหาย ลม แดด เหลือบ
                         และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรด ฉะนั้น.

               ดังนี้แล้ว เสด็จไปสู่เงื้อมแห่งภูเขานันทมูลกะ.
               ในคาถานั้น บทว่า สีตญฺจ ได้แก่ หนาว ๒ ชนิด คือ ธาตุในภายในกำเริบเป็นปัจจัย ๑ ธาตุในภายนอกกำเริบเป็นปัจจัย ๑. ร้อนก็เหมือนกัน.
               บทว่า ฑํสา ได้แก่ แมลงสีเหลือง.
               บทว่า สิรึสปา ความว่า ทีฆชาติเหล่าใดเหล่าหนึ่งเสือกคลานไป.
               บทที่เหลือปรากฏชัดแล้ว.
               แม้คำนิคมก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.
               สีตาลุกคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๑๙               
               คาถาว่า นาโค ว ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสี พระราชาพระองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติเป็นเวลา ๒๐ ปี สวรรคตแล้วไหม้อยู่ในนรกตลอด ๒๐ ปีเหมือนกัน เกิดในกำเนิดช้าง ในหิมวันตประเทศ มีขันธ์เกิดดีแล้ว มีร่างกายทั้งสิ้นมีสีเหมือนดอกปทุม โอฬารเป็นจ่าโขลง เป็นช้างใหญ่. ลูกช้างทั้งหลายแลย่อมเคี้ยวกินกิ่งไม้ที่พญาช้างนั้นหักแล้ว แม้ในเวลาก้าวลงสู่น้ำ ช้างพังทั้งหลายก็ลูบไล้พญาช้างด้วยเปือกตม
               เรื่องทั้งหมดเป็นเหมือนเรื่องของพญาช้างปาลิไลยกะ.
               พญาช้างนั้นเบื่อหน่ายหลีกออกจากโขลง แต่นั้นโขลงช้างก็ติดตามพญาช้างนั้นอีก ตามรอยเท้า. พญาช้างหลีกไปอย่างนี้ถึง ๓ ครั้งก็ถูกติดตามอีก จึงคิดต่อไปว่า บัดนี้ พระนัดดาของเราเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี เอาเถิด เราพึงไปสู่อุทยานแห่งชาติก่อนของตน พระนัดดานั้นจักรักษาเราในอุทยานนั้น.
               ครั้นโขลงช้างหลับในกลางคืนแล้ว จึงละโขลงไปสู่อุทยานนั้นนั่นแล.
               คนรักษาพระราชอุทยานเห็นแล้ว ทูลบอกแด่พระราชา. พระราชาทรงดำริว่าเราจักจับช้างดังนี้แล้ว ทรงแวดล้อมด้วยเสนาเสด็จไป ช้างก็เดินมุ่งหน้าต่อพระราชานั่นเทียว.
               พระราชาทรงพระราชดำริว่าช้างนี้เดินมามุ่งหน้าเรา จึงผูกสอดลูกธนู ประทับยืนอยู่
               แต่นั้นช้างคิดว่า พระราชานั่นพึงยิงเราแน่ จึงพูดด้วยวาจามนุษย์ว่า พรหมทัต! อย่ายิงเรา เราเป็นปู่ของท่าน. พระราชาตรัสว่า ท่านพูดอะไร จึงตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด แม้พญาช้างก็บอกเรื่องราวเกี่ยวกับราชสมบัติ ความเป็นไปในนรกและในกำเนิดช้างทั้งหมด
               ส่วนพระราชาทรงประเล้าประโลมว่า อย่ากลัว อย่าให้ใครๆ สะดุ้ง ดังนี้แล้ว ทรงให้บำรุงอาหาร เครื่องลาด และเครื่องช้างแก่พญาช้าง.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปประทับบนคอช้าง ทรงพระราชดำริว่า ช้างนี้เคยเสวยราชสมบัติเป็นเวลา ๒๐ ปี ตกนรกแล้วเกิดในกำเนิดดิรัจฉานด้วยวิบากที่ยังเหลือนั่นแล เมื่อไม่อดกลั้นซึ่งการกระทบกระทั่งกันในเพราะอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ จึงมาในที่นี้ โอ! การอยู่เป็นหมู่เป็นทุกข์ ส่วนการอยู่คนเดียวเท่านั้นเป็นสุข ดังนี้ จึงทรงปรารภวิปัสสนาในที่นั้นแหละ ทรงกระทำให้แจ้ง ซึ่งปัจเจกโพธิญาณ.
               อำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระราชาพระองค์นั้นผู้เป็นสุขด้วยโลกุตรสุข ประนมมือกราบทูลว่า ได้เวลาเสด็จสู่พระยานแล้ว มหาราช.
               ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสว่า เราไม่ใช่ราชา แล้วตรัสพระคาถานี้โดยนัยก่อนนั่นแลว่า
                                   นาโคว ยูถานิ วิวชฺชยิตฺวา
                                   สญฺชาตกฺขนฺโธ ปทุมี อุฬาโร
                                   ยถาภิรนฺตํ วิหรํ อรญฺเญ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลพึงเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                         เปรียบเหมือนช้างใหญ่ที่เกิดในตระกูลปทุม
                         มีขันธ์เกิดดีแล้ว ละโขลงอยู่ในป่าตามอภิรมย์
                         ฉะนั้น
ดังนี้
               คาถานั้นโดยอรรถแห่งบทปรากฏชัดแล้ว แต่การประกอบอธิบายในคาถานั่นมีดังนี้ ก็คาถานั้นแลปรากฏแล้วด้วยอำนาจแห่งยุติ แต่ไม่ปรากฏชัดด้วยอำนาจแห่งการตามสดับ.
               อธิบายว่า ช้างนี้ชื่อว่า นาค เพราะอรรถว่าไม่มาสู่พื้นที่ที่ไม่ได้ฝึก เพราะความที่ตนฝึกดีแล้วในศีลทั้งหลายที่มนุษย์พอใจ หรือเพราะความที่ตนมีร่างกายใหญ่ฉันใด แม้เราก็พึงเป็นนาค เพราะไม่มาสู่พื้นที่ที่ยังไม่ได้ฝึก เพราะความที่ตนฝึกดีแล้วในศีลทั้งหลายที่พระอริยเจ้าพอใจ เพราะไม่ทำบาป และเพราะไม่กลับมาสู่ความเป็นเช่นนี้อีก หรือเพราะความที่ตนมีสรีระคือคุณใหญ่ ชื่อในกาลไรหนอฉันนั้น.
               อนึ่ง ช้างนั้นละโขลงแล้วอยู่ในป่าตามอภิรมย์ด้วยความสุขที่เที่ยวไปโดดเดี่ยว พึงเที่ยวไปตัวเดียวเหมือนนอแรดฉันใด ชื่อในกาลไหนหนอ แม้เราก็ฉันนั้น อยู่ในป่าตามอภิรมย์ด้วยวิหารสุขโดยส่วนเดียว ได้แก่ด้วยความสุขที่เกิดจากฌาน คืออยู่ในป่าโดยประการที่ตนจะมีความสุข หรือเท่าที่เราปรารถนา พึงเที่ยวไปผู้เดียวคือพึงประพฤติเหมือนนอแรด.
               อนึ่ง ช้างนั่นชื่อว่ามีขันธ์เกิดดีแล้ว เพราะมีขันธ์ตั้งดีแล้วฉันใด ชื่อในกาลไหนหนอ แม้เราก็พึงชื่อว่ามีขันธ์เกิดดีแล้ว เพราะความเป็นผู้ใหญ่ด้วยศีลขันธ์อันเป็นอเสกขะฉันนั้น.
               อนึ่ง ช้างนั้นชื่อว่าปทุมี เพราะมีร่างกายเช่นกับดอกปทุม หรือเพราะเกิดแล้วในตระกูลช้างปทุมฉันใด ชื่อกาลไหนหนอ แม้เราก็พึงชื่อว่าปทุม เพราะความเป็นผู้มีกายตรงเหมือนดอกปทุม หรือเพราะเกิดแล้วในดอกปทุม คืออริยชาติฉันนั้น.
               อนึ่ง ช้างนั้นโอฬารด้วยเรี่ยวแรงกำลังและเชาว์เป็นต้น ชื่อในกาลไหนหนอ แม้เราก็พึงโอฬารด้วยคุณธรรมมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์เป็นต้น หรือด้วยศีล สมาธิและปัญญาเป็นเครื่องแทงตลอดเป็นต้น เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเมื่อคิดอย่างนี้จึงปรารภวิปัสสนา ได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล.
               นาคคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๐               
               คาถาว่า อฏฺฐาน ตํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชบุตรของพระเจ้าพาราณสี ยังทรงพระเยาว์ มีพระประสงค์จะทรงผนวช จึงทรงปรึกษาพระมารดาและพระบิดา พระมารดาและพระบิดาทรงห้ามพระองค์. พระราชบุตรนั้นแม้ถูกห้ามอยู่ ก็ทรงยืนยันว่าหม่อมฉันจักบวช.
               แต่นั้นพระมารดาและพระบิดาตรัสเรื่องทั้งหมดเหมือนเรื่องเศรษฐีบุตรที่กล่าวแล้วในกาลก่อน ทรงอนุญาตแล้ว แต่ทรงให้ปฏิญญาว่าก็ครั้นบวชแล้วพึงอยู่ในอุทยานเท่านั้น.
               พระองค์ทรงกระทำตามปฏิญญา.
               พระมารดาของพระองค์มีหญิงนักฟ้อนรำ ๒๐,๐๐๐ นางแวดล้อมแล้วเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ทรงให้พระราชบุตรดื่มยาคู ทรงให้เคี้ยวของขบเคี้ยวเป็นต้น ทรงสนทนากับพระราชบุตรนั้น จนถึงสมัยเที่ยงวัน ทรงจัดพวกบุรุษคอยปฏิบัติแล้ว เสด็จสู่พระนคร.
               ส่วนพระบิดาเสด็จมาในเวลาเที่ยงวัน ทรงให้พระราชบุตรเสวยแล้ว แม้พระองค์ก็ทรงเสวย สนทนากับพระราชบุตรนั้นตลอดวัน ในเวลาเย็นทรงจัดพวกบุรุษคอยปฏิบัติ แล้วเสด็จเข้าพระนคร.
               พระราชบุตรนั้นไม่สงัดตลอดคืนและวันอย่างนี้อยู่.
               ก็โดยสมัยนั้นแล พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าอาทิจจพันธุ์ อยู่ที่เงื้อมภูเขานันทมูลกะ ท่านระลึกถึงอยู่ได้เห็นพระราชบุตรนั้นว่า พระกุมารนี้ทรงอาจเพื่อจะผนวช แต่ไม่อาจเพื่อจะตัดความเกี่ยวข้องได้ ต่อนั้นก็นึกว่าพระกุมารนี้จักเบื่อหน่ายด้วยธรรมดาของตนหรือไม่ ในลำดับนั้นก็รู้ว่าเมื่อทรงเบื่อหน่ายด้วยธรรมดา จักมีช้านานอย่างยิ่ง คิดว่าเราจักแสดงอารมณ์แก่พระกุมารนั้น จึงมาจากพื้นมโนศิลา โดยนัยที่กล่าวแล้วในกาลก่อนนั่นเทียว อยู่ที่พระราชอุทยาน.
               ราชบุรุษเห็นแล้วทูลพระราชาว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระเจ้าข้า. พระราชาทรงมีพระทัยยินดีแล้วว่า บัดนี้ บุตรของเราไม่กระสันแล้ว จักอยู่พร้อมด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยเคารพ ทรงร้องขอให้อยู่ในพระราชอุทยานนั้นแล ทรงให้ทำสิ่งทั้งปวงมีบรรณศาลา ที่พักกลางวัน และที่จงกรมเป็นต้น ทรงนิมนต์ให้อยู่.
               พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นอยู่ในพระราชอุทยานนั้น ในวันหนึ่งได้โอกาสแล้ว ทูลถามพระกุมารว่า พระองค์เป็นอะไร?
               ก. เราเป็นบรรพชิต
               ป. ชื่อว่า บรรพชิตทั้งหลายไม่เป็นเช่นนี้.
               เมื่อพระกุมารทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้นบรรพชิตทั้งหลายเป็นเช่นไร อะไรไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า. พระปัจเจกพุทธเจ้าทูลว่า พระองค์ไม่เพ่งดูสิ่งที่ไม่สมควรแก่พระองค์ พระมารดาของพระองค์เสด็จมาในเวลาเช้า พร้อมกับสตรี ๒๐,๐๐๐ นาง ทรงทำให้พระราชอุทยานไม่สงัด. พระบิดาเสด็จมาในเวลาเย็น พร้อมกับพลกายมาก บุรุษผู้ปรนนิบัติทั้งหลายมาตลอดคืนทั้งสิ้น ทำพระราชอุทยานไม่สงัดมิใช่หรือ ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายไม่เป็นเช่นกับพระองค์ แต่เป็นเช่นนี้ แล้วแสดงวิหารแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศด้วยฤทธิ์ แก่พระกุมารที่ประทับยืนอยู่ในที่นั้นนั่นแล.
               พระกุมารนั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายในวิหารนั้น ยืนห้อยแขน กำลังเดินจงกรม และกำลังทำการย้อมและการเย็บเป็นต้น จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายอย่ามาในที่นี้ และบรรพชาท่านทั้งหลายก็อนุญาตแล้ว. พระอาทิจจพันธุ์ปัจเจกพุทธเจ้านั้นทูลว่า ถูกแล้ว การบรรพชาอนุญาตแล้ว ชื่อว่าสมณะทั้งหลาย จำเดิมแต่กาลที่ตนบวชแล้ว ย่อมได้เพื่อทำการสลัดออกจากทุกข์เพื่อตน และเพื่อไปสู่ประเทศที่ตนต้องการและปรารถนา เหตุมีประมาณเท่านี้ย่อมควรดังนี้แล้ว ยืนในอากาศได้กล่าวกึ่งคาถานี้ว่า
                                   อฏฺฐาน ตํ สงฺคณิการตสฺส
                                   ยํ ผุสฺสเย สามยิกํ วิมุตฺตึ

                         การที่บุคคลผู้ยินดีแล้วด้วยการคลุกคลีด้วยคณะ
                         จะพึงบรรลุวิมุตติอันมีในสมัยนั้น ไม่เป็นฐานะ
                         ที่จะมีได้
ดังนี้แล้ว
               เมื่อโอกาสปรากฏอยู่ จึงไปยังเงื้อมแห่งภูเขานันทมูลกะ.
               เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปแล้วอย่างนี้ พระกุมารนั้นเสด็จเข้าบรรณศาลาของพระองค์แล้วทรงบรรทม. ฝ่ายบุรุษผู้อารักขาประมาทว่า บัดนี้ พระกุมารทรงบรรทมแล้ว จักเสด็จไปไหน จึงก้าวสู่ความหลับ. พระกุมารทรงทราบว่า บุรุษผู้อารักขานั้นประมาทแล้ว ก็ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าสู่ป่า และทรงสงัดในป่านั้น ทรงปรารภวิปัสสนา กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว เสด็จไปสู่สถานของพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าในที่นั้นทูลถามว่าพระองค์ทรงบรรลุได้อย่างไร ก็ได้ตรัสกึ่งคาถาที่พระอาทิจจพันธุ์กล่าวแล้วทำให้บริบูรณ์.
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า บทว่า อฏฺฐาน ตํ ความว่า นั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. อธิบายว่า มิใช่เหตุ.
               ท่านทำการลบนิคหิตเสีย ดุจในประโยคว่า อริยสจฺจานทสฺสนํ แปลว่า การเห็นอริยสัจทั้งหลาย๑- เป็นต้น.
____________________________
๑- ขุ. ขุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๖

               บทว่า สงฺคณิการตสฺส ได้แก่ ผู้ยินดียิ่งแล้วด้วยคณะ.
               บทว่า ยํ นั่นเป็นตติยาวิภัตติ ดุจในประโยคว่า ยํ หิริยติ หิริยิตพฺเพน๒- เป็นต้น.
               บทว่า ผุสฺสเย ความว่า พึงบรรลุ.
               บทว่า สามยิกํ วิมุตฺตึ ได้แก่ โลกิยสมาบัติ.
____________________________
๒- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๘๐๐

               จริงอยู่ โลกิยสมาบัตินั้น เรียกว่าวิมุตติอันมีในสมัย เพราะพ้นจากอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึก ในสมัยที่ได้สมาธิยังไม่แนบแน่นและแนบแน่นนั่นเอง.
               พระกุมารตรัสว่า เราใคร่ครวญคำของพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าอาทิจจพันธุ์ อย่างนี้ว่า การที่บุคคลผู้ยินดีแล้วด้วยการคลุกคลีด้วยคณะ จะพึงบรรลุวิมุตติอันมีในสมัยนั้น นั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ คือนั้นไม่เป็นเหตุที่จะมีได้ ดังนี้แล้ว ละความยินดีด้วยการคลุกคลีด้วยคณะ ปฏิบัติโดยแยบคายอยู่ จึงได้บรรลุดังนี้.
               บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อัฏฐานคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               
               วรรคที่ ๒ จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6971&Z=7101
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=1095
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=1095
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :