ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค
ขัคควิสาณสูตร

               อรรถกถาขัคควิสาณสูตร               
               วรรคที่ ๑               
               คาถาที่ ๑               
               ขัคควิสาณสูตรเริ่มต้นว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร.
               พระสูตรทั้งปวงมีอุบัติ ๔ อย่าง คือ
                         เพราะอัธยาศัยของตน ๑
                         เพราะอัธยาศัยของผู้อื่น ๑
                         เพราะการเกิดขึ้นแห่งเรื่อง ๑
                         เพราะอำนาจแห่งคำถาม ๑.
               จริงอยู่ สูตรทั้งหลายมีทวยตานุปัสสนาสูตรเป็นต้น มีอุบัติเพราะอัธยาศัยของตน. สูตรทั้งหลายมีเมตตาสูตรเป็นต้นมีอุบัติเพราะอัธยาศัยของผู้อื่น. สูตรทั้งหลายมีอุรคสูตรเป็นต้นมีอุบัติเพราะการเกิดขึ้นแห่งเรื่อง. สูตรทั้งหลายมีวัมมิกสูตรเป็นต้นมีอุบัติเพราะอำนาจแห่งคำถาม.
               ในสูตรเหล่านั้น ขัคควิสาณสูตรมีอุบัติเพราะอำนาจแห่งคำถามโดยไม่แปลกกัน แต่โดยแปลกกัน เพราะในขัคควิสาณสูตรนี้บางคาถาพระปัจเจกสัมพุทธะนั้นๆ ถูกถามจึงกล่าว บางคาถาไม่ถูกถาม จึงเปล่งอุทานอันสมควรแก่นัยที่ตนสักว่าบรรลุแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้น บางคาถามีอุบัติเพราะอำนาจแห่งคำถาม บางคาถามีอุบัติเพราะอัธยาศัยของผู้อื่น บางคาถามีอุบัติเพราะอัธยาศัยของตน.
               ในอุบัติเหล่านั้น อุบัติเพราะอำนาจแห่งคำถามโดยไม่แปลกกันนี้นั้น พึงทราบอย่างนี้จำเดิมแต่ต้น.
               ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี.
               ครั้งนั้นแล พระอานนท์ผู้มีอายุไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ได้เกิดปริวิตกในใจอย่างนี้ว่า ความปรารถนาและอภินิหารย่อมปรากฏแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย หาปรากฏแก่พระสาวกทั้งหลาย แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างนั้นไม่ ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปเฝ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า. ท่านพระอานนท์ออกจากที่หลีกเร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามเรื่องนี้ตามลำดับ.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสปุพพโยคาวจรสูตรแก่ท่านพระอานนท์ว่า
               ดูก่อนอานนท์ อานิสงส์ ๕ เหล่านี้ คือ บุคคลย่อมบรรลุอรหัตผลในทิฏฐธรรมในเพราะปุพพโยคาวจรก่อนทีเดียว ถ้าไม่บรรลุอรหัตผลในทิฏฐธรรมก่อนทีเดียว ต่อมาก็บรรลุอรหัตผลในเวลาตาย ฯลฯ ต่อมาเป็นเทวบุตรก็บรรลุอรหัตผล ต่อมาก็เป็นขิปปาภิญญบุคคล ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ต่อมาก็ย่อมเป็นพระปัจเจกสัมพุทธะในกาลภายหลัง.
               ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสอีกว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร มีปุพพโยคาวจรธรรม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธะ และสาวกทั้งหลาย พึงประสงค์ความปรารถนาและอภินิหาร.
               ท่านพระอานนท์นั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายควรนานเท่าไร.
               พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายควรนานโดยการกำหนดอย่างต่ำที่สุดถึงสี่อสงไขยและแสนกัป โดยกำหนดปานกลาง แปดอสงไขยและแสนกัป. โดยการกำหนดอย่างสูง สิบหกอสงไขยและแสนกัป. ประเภททั้ง ๓ นั้น พึงรู้ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธเจ้าผู้ปัญญาธิกะ ผู้สัทธาธิกะและผู้วิริยาธิกะ.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าผู้ปัญญาธิกะมีศรัทธาน้อย แต่มีปัญญามาก. ผู้สัทธาธิกะมีปัญญาปานกลาง แต่มีศรัทธามาก. ผู้วิริยาธิกะมีศรัทธาและปัญญาน้อย แต่มีความเพียรมาก.
               ก็ข้อที่ บุคคลให้ทานเช่นกับด้วยทานของพระเวสสันดรทุกๆ วันก็ดี สั่งสมบารมีธรรมมีศีลเป็นต้น อันสมควรแก่ญาณนั้นก็ดี ยังไม่ถึงสี่อสงไขยแสนกัปแล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้าในระหว่าง นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
               เพราะเหตุไร
               เพราะญาณยังไม่ตั้งท้อง ยังไม่ถึงความไพบูลย์ ยังไม่ถึงความแก่รอบ เปรียบเหมือนข้อที่ข้าวกล้าจะออกรวงได้ โดยล่วงไป ๓ เดือน ๔ เดือน หรือ ๕ เดือน ไม่ถึงกาลนั้นๆ แล้ว บุคคลจะปรารถนาวันละแสนครั้งทุกๆ วันก็ดี รดน้ำวันละแสนครั้งทุกๆ วันก็ดี จะให้ออกรวงได้โดยภายใน ๑ ปักษ์ หรือ ๑ เดือน นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
               เพราะเหตุไร
               เพราะข้าวกล้ายังไม่ตั้งท้อง ยังไม่ถึงความไพบูลย์ ยังไม่ถึงความแก่รอบ ชื่อฉันใด.
               ข้อที่บุคคลให้ทานเช่นกับด้วยทานของพระเวสสันดรทุกๆ วันก็ดี สั่งสมบารมีธรรมมีศีลเป็นต้น อันสมควรแก่ญาณนั้นก็ดี ยังไม่ถึงสี่อสงไขยแสนกัปแล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้าในระหว่าง นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
               เพราะเหตุไร
               เพราะญาณยังไม่ตั้งท้อง ยังไม่ถึงความไพบูลย์ ยังไม่ถึงความแก่รอบฉันนั้นเหมือนกัน.
               เพราะฉะนั้น พึงทำการบำเพ็ญบารมีตลอดกาลตามที่กล่าวนั่นเทียว เพื่อประโยชน์แก่ความแก่รอบแห่งญาณ. ก็เมื่อบุคคลปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าโดยกาลแม้ประมาณเท่านี้ ก็พึงปรารถนาสมบัติ ๘ ประการ ในการสร้างอภินิหาร.
               จริงอยู่
                         อภินิหารนี้ย่อมสำเร็จได้ ก็เพราะการประชุมธรรม ๘ ประการ
                         คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ความถึงพร้อมด้วยเพศ ๑ เหตุ ๑
                         การเห็นพระศาสดา ๑ การบรรพชา ๑ ความถึงพร้อมแห่งคุณ ๑
                         อธิการ ๑ ความพอใจ ๑.

               คำว่า อภินิหาร นั่นเป็นชื่อแห่งมูลปณิธาน.
               ในการประชุมธรรม ๘ ประการนั้น คำว่า ความเป็นมนุษย์ ได้แก่ มนุษยชาติ. ด้วยว่านอกจากมนุษยชาติแล้ว ปณิธานของบุคคลผู้ดำรงอยู่ในชาติที่เหลือทั้งหลาย แม้ในชาติเทวดาก็ตาม ก็ย่อมสำเร็จไม่ได้ เพราะบุคคลที่ดำรงอยู่ในมนุษยชาตินั้น เมื่อปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ทำบุญกรรมทั้งหลายมีทานเป็นต้นแล้ว พึงปรารถนาความเป็นมนุษย์เท่านั้น ผู้ดำรงอยู่ในมนุษยชาตินั้นพึงตั้งปณิธาน ด้วยว่าอภินิหารย่อมสำเร็จอย่างนี้.
               คำว่า ความถึงพร้อมด้วยเพศ ได้แก่ ความเป็นบุรุษ.
               ก็ปณิธานของสตรี กะเทยและอุภโตพยัญชนก แม้ดำรงอยู่ในมนุษยชาติ ก็ย่อมสำเร็จไม่ได้ ด้วยว่าบุคคลผู้ดำรงอยู่ในมนุษยชาตินั้น เมื่อปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ทำบุญกรรมทั้งหลายมีทานเป็นต้นแล้ว พึงปรารถนาความเป็นบุรุษเท่านั้น ผู้ดำรงอยู่ในความเป็นบุรุษนั้น พึงตั้งปณิธาน อภินิหารย่อมสำเร็จได้ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า เหตุ ได้แก่ ความถึงพร้อมแห่งอุปนิสัยแห่งพระอรหัต.
               ก็บุคคลใดพยายามอยู่ในอัตภาพนั้น สามารถเพื่อบรรลุพระอรหัตได้ อภินิหารย่อมสำเร็จแก่บุคคลนั้น หาสำเร็จแก่บุคคลนอกนี้ไม่ เหมือนสำเร็จแก่สุเมธบัณฑิต ฉะนั้น ด้วยว่าสุเมธบัณฑิตนั้น บรรพชาที่บาทมูลของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร ได้เป็นผู้สามารถเพื่อบรรลุพระอรหัตโดยอัตภาพนั้นได้.
               คำว่า การเห็นพระศาสดา ได้แก่ การเห็นเฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
               ด้วยว่าอภินิหารย่อมสำเร็จด้วยประการนี้ หาสำเร็จโดยประการอื่นไม่ เหมือนสำเร็จแก่สุเมธบัณฑิตฉะนั้น เพราะสุเมธบัณฑิตนั้นเห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร เฉพาะพระพักตร์แล้ว ได้ตั้งความปรารถนา.
               คำว่า การบรรพชา ได้แก่ ความเป็นอนาคาริก.
               ก็ความเป็นอนาคาริกนั้นแล ย่อมควรในศาสนา หรือในนิกายของดาบสและปริพาชกผู้เป็นกรรมวาทีและกิริยวาที เหมือนควรแก่สุเมธบัณฑิตฉะนั้น ด้วยว่าสุเมธบัณฑิตนั้นเป็นดาบส ชื่อสุเมธ จึงตั้งปณิธาน.
               คำว่า ความถึงพร้อมแห่งคุณ ได้แก่ การได้คุณธรรมมีฌานเป็นต้น.
               ก็อภินิหารย่อมสำเร็จแก่บุคคลแม้บวชแล้ว ผู้ถึงพร้อมด้วยคุณเท่านั้น ย่อมไม่สำเร็จแก่บุคคลนอกนี้ เหมือนสำเร็จแก่สุเมธบัณฑิตฉะนั้น ด้วยว่าสุเมธบัณฑิตนั้นได้อภิญญา ๕ และได้สมาบัติ ๘ แล้ว จึงตั้งปณิธาน.
               คำว่า อธิการ ได้แก่ การกระทำที่ยิ่ง. อธิบายว่า การบริจาค.
               จริงอยู่ อภินิหารย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้ทำการบริจาควัตถุมีชีวิตเป็นต้น แล้วตั้งปณิธานไว้เท่านั้น หาสำเร็จแก่บุคคลนอกนี้ไม่เหมือนสำเร็จแก่สุเมธบัณฑิตฉะนั้น.
               ก็สุเมธบัณฑิตนั้นทำการบริจาคชีวิตแล้วตั้งปณิธานอย่างนี้ว่า
                                   ขอพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย
                         จงทรงเหยียบข้าพเจ้าไป อย่าได้ทรงเหยียบเปือก
                         ตมเลย ขอการกระทำยิ่งนี้จักเป็นเพื่อประโยชน์
                         เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า.

____________________________
๑- ขุ. พุทฺธ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๒

               คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะทำ ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะทำนั้นของบุคคลใดมีกำลัง อภินิหารย่อมสำเร็จแก่บุคคลนั้น.
               ก็ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะทำนั้น พึงทราบว่า ถ้าบางคนพึงกล่าวว่าใครเล่าไหม้ในนรกตลอดสี่อสงไขยและแสนกัปแล้ว ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าดังนี้ไซร้ บุคคลใดได้ฟังคำนั้นแล้วย่อมอุตสาหะเพื่อจะกล่าวว่าเรา ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะทำของบุคคลนั้นชื่อว่ามีกำลัง.
               อนึ่ง ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะทำนั้น พึงทราบว่า ถ้าบางคนพึงกล่าวว่าใครเล่าเหยียบข้ามสกลจักรวาลอันเต็มด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวแล้ว ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ใครเล่าเหยียบข้ามสกลจักรวาลอันเกลื่อนกล่นด้วยหอกและหลาวแล้ว ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ใครเล่าลุยข้ามสกลจักรวาลอันเต็มด้วยน้ำปริ่มฝั่งแล้ว ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ใครเล่าย่ำยีก้าวล่วงสกลจักรวาลซึ่งดารดาษด้วยกอไผ่ชั่วนิรันดร์แล้ว ย่อมปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้ไซร้ บุคคลใดได้ฟังคำนั้นแล้วย่อมอุตสาหะเพื่อจะกล่าวว่าเรา ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะทำของบุคคลนั้นชื่อว่ามีกำลัง.
               สุเมธบัณฑิตประกอบพร้อมด้วยฉันทะ คือความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะทำเห็นปานนี้ ได้ตั้งปณิธานแล้วแล.
               พระโพธิสัตว์ผู้มีอภินิหารสำเร็จแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่ถึงอภัพฐานะ ๑๘ ประการ.
               จริงอยู่ พระโพธิสัตว์นั้น จำเดิมแต่นั้นย่อมไม่เป็นคนบอดแต่กำเนิด ๑ ไม่เป็นคนหนวกแต่กำเนิด ๑ ไม่เป็นคนบ้า ๑ ไม่เป็นคนใบ้ ๑ ไม่เป็นคนแคระ ๑ ไม่เกิดในชนชาติมิลักขะ ๑ ไม่เกิดในท้องของนางทาสี ๑ ไม่เป็นคนนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๑ ไม่เป็นคนกลับเพศ ๑ ไม่ทำอนันตริยกรรมห้าอย่าง ๑ ไม่เป็นคนโรคเรื้อน ๑ อัตภาพสุดท้ายไม่เวียนมาในกำเนิดดิรัจฉาน ๑ ไม่มีอัตภาพใหญ่กว่าช้าง ๑ ไม่เกิดในขุปปิปาสิกเปรตและนิชฌามตัณหิกเปรต ๑ ไม่เกิดในจำพวกกาลกัญชิกาสูรทั้งหลาย ๑ ไม่เกิดในอเวจีนรก ๑ ไม่เกิดในโลกันตริกนรก ๑ ไม่เป็นมารในสวรรค์ชั้นกามาวจร ไม่เกิดในอสัญญีภพในรูปาวจรภูมิ ไม่เกิดในภพสุทธาวาส ไม่เกิดในอันติมภพ ไม่ก้าวไปสู่จักรวาลอื่น ๑.
               ก็พุทธภูมิ ๔ เหล่านี้ใด คือ อุตสาหะ ๑ อุมมัคคะ ๑ อวัฏฐานะ ๑ หิตจริยา ๑. พระโพธิสัตว์เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพุทธภูมิเหล่านั้น. ในพุทธภูมิ ๔ ประการนั้น ความเพียรเรียกว่า อุตสาหะ. ปัญญาเรียกว่า อุมมัคคะ. อธิษฐานเรียกว่า อวัฏฐานะ. เมตตาภาวนาเรียกว่า หิตจริยา.
               ก็อัธยาศัย ๖ ประการ แม้เหล่านี้ใด คือ อัธยาศัยเพื่อเนกขัมมะ อัธยาศัยเพื่อปวิเวก อัธยาศัยเพื่อความไม่โลภ อัธยาศัยเพื่อความไม่โกรธ อัธยาศัยเพื่อความไม่หลง อัธยาศัยเพื่อความสลัดออก ย่อมเป็นไปเพื่อบ่มโพธิญาณ เพราะพระโพธิสัตว์ทั้งหลายประกอบพร้อมด้วยอัธยาศัยเหล่าใด.
               พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยเพื่อเนกขัมมะ เรียกว่ามีปกติเห็นโทษในกาม. ผู้มีอัธยาศัยเพื่อปวิเวก เรียกว่ามีปกติเห็นโทษในการคลุกคลี. ผู้มีอัธยาศัยเพื่อความไม่โลภ เรียกว่ามีปกติเห็นโทษในโลภะ. ผู้มีอัธยาศัยเพื่อความไม่โกรธ เรียกว่ามีปกติเห็นโทษในโทสะ. ผู้มีอัธยาศัยเพื่อความไม่หลง เรียกว่า มีปกติเห็นโทษในโมหะ และผู้มีอัธยาศัยเพื่อความสลัดออก เรียกว่ามีปกติเห็นโทษในภพทั้งปวง.
               สุเมธบัณฑิตผู้โพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบด้วยอัธยาศัยเหล่านั้น.
               ถามว่า ก็การปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายควรนานเท่าไร?
               ตอบว่า การปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายควรนานถึงสองอสงไขยและแสนกัป ต่ำกว่านั้นไม่ควร พึงทราบเหตุในการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านี้โดยนัยที่กล่าวแล้วในบทก่อนนั่นแล. ก็เมื่อบุคคลปรารถนาความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า โดยกาลแม้มีประมาณเท่านี้ พึงปรารถนาสมบัติ ๕ ประการในการสร้างอภินิหาร.
               จริงอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมีเหตุแห่งอภินิหารเหล่านี้ คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ความถึงพร้อมด้วยเพศ ๑ การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ ๑ อธิการ ๑ ความพอใจ ๑.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ ได้แก่ การเห็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสาวกองค์ใดองค์หนึ่ง.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               ถามว่า ก็การปรารถนาเป็นพระสาวกทั้งหลายควรนานเท่าไร.
               ตอบว่า การปรารถนาเป็นพระอัครสาวกทั้งสอง ควรนานหนึ่งอสงไขยและแสนกัป การปรารถนาเป็นพระอสีติมหาสาวกควรนานแสนกัป ความปรารถนาเป็นพระมารดาพระบิดา อุปัฏฐากและพระโอรสของพระพุทธเจ้า ควรนานแสนกัปเหมือนกัน ต่ำกว่านั้นไม่ควร เหตุในการปรารถนานั้นมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นเทียว.
               ก็พระสาวกเหล่านั้นทั้งหมดมีอภินิหารสมบูรณ์ด้วยองค์ ๒ อย่าง คือ อธิการ ๑ ความพอใจ ๑ เท่านั้น.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลายตลอดกาลมีประเภทตามที่กล่าวแล้ว ด้วยการปรารถนานี้ ด้วยอภินิหารนี้นั้นแลอย่างนี้ เมื่อจะทรงอุบัติในโลก ก็ทรงอุบัติในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมอุบัติในตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ หรือตระกูลคหบดี ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง. ส่วนพระอัครสาวกทั้งหลายย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ หรือตระกูลพราหมณ์เท่านั้น เหมือนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               พระพุทธเจ้าทั้งปวงย่อมไม่ทรงอุบัติในกัปกำลังเสื่อม ย่อมทรงอุบัติในกัปกำลังเจริญ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่พบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมอุบัติในกาลอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น. พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้เองด้วย ทรงสอนให้คนเหล่าอื่นรู้ด้วย. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้เอง แต่ไม่อาจสอนให้คนเหล่าอื่นรู้ ย่อมแทงตลอดอรรถรสเท่านั้น ย่อมไม่แทงตลอดธรรมรส เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นย่อมไม่สามารถเพื่อจะยกโลกุตรธรรมเป็นบัญญัติขึ้นแสดงได้. การบรรลุธรรมย่อมมีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เหมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน และเหมือนกับรสแห่งกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบรรลุธรรมทั้งหมดอันต่างโดยอิทธิ สมาบัติและปฏิสัมปทา แต่เพราะมีคุณพิเศษจึงต่ำกว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่เหนือพระสาวกทั้งหลาย ย่อมยังบุคคลเหล่าอื่นบรรพชา ให้ศึกษาอภิสมาจาร ด้วยอุเทศนี้ว่า พึงทำความขัดเกลาจิต ไม่พึงท้อถอย หรือย่อมทำอุโบสถ ด้วยเหตุเพียงพูดว่า วันนี้ อุโบสถ และเมื่อจะทำอุโบสถย่อมประชุมกันทำที่รัตนมาลา โคนต้นไม้มัญชุสะ ในภูเขาคันธมาทน์แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสการปรารถนาและอภินิหาร อันบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แก่ท่านพระอานนท์แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นๆ แล ผู้ถึงพร้อมด้วยการปรารถนานี้และอภินิหารนี้ จึงตรัสขัคควิสาณสูตรนี้ โดยนัยมีอาทิว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ.
               นี้อุบัติแห่งขัคควิสาณสูตร เพราะอำนาจแห่งคำถาม โดยไม่แปลกกันก่อน.
               บัดนี้ พึงทราบอุบัติโดยแปลกกัน ในขัคควิสาณสูตรนั้น พึงทราบอุบัติแห่งคาถานี้อย่างนี้ก่อน.
               ได้ยินว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านี้หยั่งลงสู่ปัจเจกโพธิสัตวภูมิ บำเพ็ญบารมีทั้งหลายตลอดสองอสงไขยแสนกัป บวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป เป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตร บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร ได้ทำสมณธรรม.
               ได้ยินว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่บำเพ็ญวัตรนั่นแล้ว ชื่อว่าบรรลุปัจเจกโพธิ ไม่มี. ก็วัตรนั้นเป็นอย่างไร. การนำกรรมฐานไปและการนำกรรมฐานกลับมา ชื่อว่าคตปัจจาคตวัตร.
               ข้าพเจ้าพึงกล่าวคตปัจจาคตวัตรนั้นโดยประการแจ่มแจ้ง.
               ภิกษุในศาสนานี้บางรูปนำไปแต่ไม่นำกลับ บางรูปนำกลับแต่ไม่นำไป บางรูปทั้งไม่นำไปทั้งไม่นำกลับ บางรูปนำไปด้วยนำกลับด้วย.
               ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดตื่นแต่เช้าตรู่ ทำเจติยังคณวัตรและโพธิยังคณวัตร รดน้ำที่ต้นโพธิ์ ตักน้ำเต็มหม้อน้ำดื่ม ยืนที่โรงน้ำดื่ม ทำอาจาริยวัตร อุปัชฌายวัตร สมาทานประพฤติวัตรเล็ก ๘๒ วัตรใหญ่ ๑๔ ภิกษุนั้นทำบริกรรมร่างกายเข้าไปสู่เสนาสนะ ยังเวลาให้ล่วงไปในอาสนะสงัดจนถึงเวลาภิกขาจาร รู้เวลา นุ่ง คาดประคดเอว ห่มอุตราสงค์ พาดสังฆาฏิ สะพายบาตร ใส่ใจกรรมฐาน ถึงลานเจดีย์แล้วไหว้เจดีย์และต้นโพธิ์ ห่มในที่ใกล้บ้าน อุ้มบาตรเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑะ และภิกษุเข้าไปอย่างนี้แล้วได้ลาภ มีบุญอันอุบาสกอุบาสิกาสักการะเคารพแล้ว กลับในตระกูลอุปัฏฐาก หรือในศาลาพัก ถูกอุบาสกอุบาสิกาถามปัญหานั้นๆ อยู่ ทิ้งมนสิการนั้นด้วยการแก้ปัญหา และด้วยฟุ้งซ่านในการแสดงธรรมแก่อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นแล้วออกไป แม้กลับมาสู่วิหารแล้ว ถูกภิกษุทั้งหลายถามปัญหาแล้วกล่าวแก้ แสดงธรรมถึงความขวนขวายนั้นๆ ต้องเนิ่นช้ากับภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ตลอดปัจฉาภัตรบ้าง ปุริมยามบ้าง มัชฌิมยามบ้าง ถูกความประพฤติชั่วหยาบทางกายครอบงำ ย่อมนอนแม้ในปัจฉิมยาม ย่อมไม่มนสิการซึ่งกรรมฐานเลย. ภิกษุนี้เรียกว่า นำไปแต่ไม่นำกลับ.
               ส่วนภิกษุใดมากด้วยพยาธิ ฉันอาหารแล้ว ย่อมไม่ย่อยไปโดยชอบ ในสมัยใกล้รุ่ง ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ไม่อาจเพื่อทำวัตรตามที่กล่าวแล้ว หรือเพื่อมนสิการกรรมฐาน ปรารถนายาคู หรือเภสัชเท่านั้น ถือบาตรและจีวรเข้าบ้านตามกาลนั้นเทียว ได้ยาคูหรือเภสัช หรือภัตรในบ้านนั้นแล้ว ล้างบาตรนั่งในอาสนะที่ปูแล้วมนสิการกรรมฐาน บรรลุคุณวิเศษหรือไม่บรรลุ กลับวัดอยู่ด้วยมนสิการนั้นเท่านั้น. ภิกษุนี้เรียกว่า นำกลับแต่ไม่นำไป.
               ก็ภิกษุทั้งหลายผู้เช่นนี้ ดื่มยาคู ปรารภวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัตในพระพุทธศาสนา นับไม่ถ้วน. ภิกษุดื่มยาคูแล้วบรรลุพระอรหัตไม่มีในอาสนะใด อาสนะนั้นไม่มีในอาสนศาลา ในบ้านนั้นๆ ในเกาะลังกา.
               ส่วนภิกษุใดเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท ทอดทิ้งธุระ ทำลายวัตรทุกอย่าง มีจิตพัวพันด้วยธรรมดุจตะปูตรึงจิต ๕ อย่าง ไม่ตามประกอบกรรมฐานมนสิการ เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตแล้ว ถูกความเนิ่นช้าเพราะคฤหัสถ์ให้เนิ่นช้าแล้ว เป็นผู้เปล่ากลับออกมา. ภิกษุนี้เรียกว่า ทั้งไม่นำไป ทั้งไม่นำกลับ.
               ส่วนภิกษุใดลุกขึ้นแต่เช้าตรู่แล้ว บำเพ็ญวัตรทุกอย่างโดยนัยก่อนนั่นเทียว นั่งขัดสมาธิ มนสิการกรรมฐานอยู่จนถึงเวลาภิกขาจาร.
               ชื่อว่ากรรมฐานมี ๒ อย่าง คือ สัพพัตถกกรรมฐาน ๑ ปาริหาริยกรรมฐาน ๑.
               เมตตาและมรณสติ ชื่อว่าสัพพัตถกกรรมฐาน กรรมฐานนั้นเรียกว่าสัพพัตถกะ เพราะเป็นกรรมฐานอันพึงปรารถนาในที่ทั้งปวง. ชื่อว่าเมตตา พึงปรารถนาในที่ทั้งปวงมีอาวาสเป็นต้น.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตาในอาวาส ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของสพรหมจารีทั้งหลาย อันเพื่อนพรหมจารีนั้นไม่กระทบกระทั่งถึงผาสุกอยู่. ผู้อยู่ด้วยเมตตาในเทวดาทั้งหลายอันเหล่าเทวดารักษาคุ้มครองแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข. ผู้อยู่ด้วยเมตตาในพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้นอันท่านเหล่านั้นนับถือแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข. ผู้อยู่ด้วยเมตตาในบ้านนิคมเป็นต้นอันมนุษย์ทั้งหลายในที่ทั้งปวงมีที่เป็นที่เที่ยวไปเพื่อภิกขาเป็นต้นสักการะเคารพแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข. ผู้ละความใคร่ในชีวิตด้วยการเจริญมรณานุสติ ไม่ประมาทอยู่.
               ก็กรรมฐานใดอันภิกษุพึงบริหารทุกเมื่อ ยึดถือแล้วโดยสมควรแก่จริตหรือจตุธาตุววัฏฐานกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ และอนุสติ ๑๐ เป็นต้น กรรมฐานนั้นเรียกว่าปาริหาริยะ เพราะเป็นกรรมฐานอันภิกษุพึงบริหาร พึงรักษาและพึงเจริญทุกเมื่อ. ปาริหาริยกรรมฐานนั้นนั่นแลเรียกว่ามูลกรรมฐาน ดังนี้บ้าง.
               ในกรรมฐานทั้ง ๒ อย่างนั้น ภิกษุมนสิการสัพพัตถกกรรมฐานก่อน แล้วมนสิการปาริหาริยกรรมฐานใดในภายหลัง ข้าพเจ้าจักแสดงปาริหาริยกรรมฐานนั้นโดยจตุธาตุววัฏฐานเป็นประธาน.
               ด้วยว่า ภิกษุนี้พิจารณากายตามที่ดำรงอยู่ ตามที่ตั้งอยู่ โดยความเป็นธาตุ มนสิการกรรมฐานโดยเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดอย่างนี้ว่า ธาตุใดแข้นแข็งใน ๒๐ ส่วนซึ่งมีอยู่ในกายนี้ ธาตุนั้นชื่อว่าปฐวีธาตุ. ธาตุใดทำหน้าที่เอิบอาบถึงความเป็นของเหลวใน ๑๒ ส่วน ธาตุนั้นชื่อว่าอาโปธาตุ. ธาตุใดทำความอบอุ่น ถึงความเป็นไออุ่นใน ๔ ส่วน ธาตุนั้นชื่อว่าเตโชธาตุ. ส่วนธาตุใดทำการค้ำจุนมีลักษณะพัดไปมาใน ๖ ส่วน ธาตุนั้นชื่อว่าวาโยธาตุ.
               ก็ในกายนี้ ธาตุใดอันมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้อง เป็นช่องว่าง ธาตุนั้นชื่อว่าอากาสธาตุ. จิตซึ่งเป็นตัวรู้นั้น ชื่อว่าวิญญาณธาตุ. สัตว์หรือบุคคลอื่นที่นอกเหนือไปจากธาตุทั้ง ๖ นั้น หามีไม่ สัตว์หรือบุคคลนี้ก็คือกองแห่งสังขารล้วนๆ เท่านั้น ดังนี้ รู้กาล ลุกขึ้นจากอาสนะ นุ่งแล้วไปบ้านเพื่อบิณฑบาต โดยนัยที่กล่าวแล้วในตอนต้นนั้นแล. ก็เมื่อจะไปไม่หลงงมงาย เหมือนปุถุชนคนบอดทั้งหลายหลงงมงายอยู่ว่าในการก้าวไปเป็นต้น ตนย่อมก้าวไป การก้าวไปของตนเกิดแล้วดังนี้ หรือว่าเราย่อมก้าวไป การก้าวไปอันเราให้เกิดแล้วดังนี้ ย่อมไปมนสิการอยู่ซึ่งกรรมฐานอันบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงอย่างนี้ว่า
               ธาตุทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละประการ บรรดาประการทั้งหลายมีการยกเท้าขึ้นแต่ละข้างเป็นต้นอย่างนี้ว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นว่าเราย่อมก้าวไป วาโยธาตุพร้อมทั้งสัมภาระซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับจิตนั้น วาโยธาตุนั้นย่อมแผ่ทั่วร่างกระดูกซึ่งสมมติกันว่ากายอันเป็นธาตุซึ่งสั่งสมมาจากปฐวีธาตุเป็นต้นนี้ ต่อจากนั้น ร่างกระดูกซึ่งสมมติว่ากายนี้ก็ก้าวไปด้วยการแผ่ไปแห่งจิตกิริยาวาโยธาตุ เมื่อร่างกระดูกนั้นก้าวไปอยู่อย่างนี้.
               ในการยกเท้าแต่ละข้างขึ้น ในบรรดาธาตุสี่ เตโชธาตุซึ่งร้อนไปตามวาโยธาตุ ก็มีพลังยิ่งขึ้น ธาตุนอกนี้อ่อน แต่ในการนำไป การนำมาและการนำออกทั้งหลาย วาโยธาตุซึ่งพัดไปตามเตโชธาตุ ก็มีกำลังยิ่งเกิดขึ้น ธาตุนอกนี้ก็มีกำลังอ่อน. แต่ในการลง อาโปธาตุซึมซาบไปตามปฐวีธาตุ มีกำลังยิ่งเกิดขึ้น ส่วนธาตุนอกนี้อ่อน. ในการคู้เข้าและการเหยียดออก ปฐวีธาตุซึ่งได้รับการอุดหนุนจากอาโปธาตุ มีกำลังยิ่งเกิดขึ้น ธาตุนอกนี้มีกำลังอ่อน. ธาตุเหล่านั้นย่อมแตกไปในที่นั้นๆ นั่นแล พร้อมกับจิตที่ทำตนให้เกิดขึ้นนั้นๆ ด้วยประการฉะนี้
               ในธาตุทั้งสี่นั้น ใครคนหนึ่งย่อมก้าวไป หรือการก้าวไปของใครดังนี้ และรูปธรรมที่เหลือ ซึ่งถูกธาตุทั้งสี่นั้นครอบงำ จิตซึ่งยังรูปธรรมนั้นให้บังเกิดขึ้น และอรูปธรรมที่เหลือซึ่งสัมปยุตด้วยจิตนั้น. รวมความว่า รูปธรรมและอรูปธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงประการอื่นในอาการทั้งหลายมีการนำไปและการนำมาเป็นต้น ซึ่งนอกเหนือไปจากรูปธรรมและอรูปธรรมนั้น ย่อมแตกทำลายไปในที่นั้นๆ นั่นเทียว เพราะฉะนั้น ธาตุทั้งหลายจึงไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ดังนี้.
               ก็กุลบุตรทั้งหลายผู้ใคร่ประโยชน์บวชในศาสนาแล้ว อยู่รวมกันตลอด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ๖๐ ปีบ้าง ๗๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง กระทำกติกวัตรอยู่ว่า อาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีหนี้สิน ไม่มีภัย ไม่ได้บวชเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต บวชเพื่อประสงค์จะพ้นจากทุกข์ เพราะฉะนั้น กิเลสเกิดแล้วในการไป ก็จงข่มในการไปนั้นเทียว กิเลสเกิดแล้วในการยืนในการนั่ง ก็จงข่มในการยืนการนั่งนั่นแล กิเลสเกิดแล้วในการนอน ก็จงข่มในการนอนนั่นแหละ.
               กุลบุตรเหล่านั้นกระทำกติกวัตรอย่างนี้แล้วไปภิกขาจาร ในระหว่างที่ห่างกันกึ่งอุสุภะ กึ่งคาวุต และคาวุตหนึ่ง มีพลาญหิน ก็มนสิการกรรมฐานตามสัญญานั้นแลไปอยู่ ถ้าในการไปกิเลสเกิดขึ้นแก่ใคร ผู้นั้นย่อมข่มกิเลสนั้นในการไปนั้น เมื่อไม่อาจอย่างนั้นก็ยืนอยู่.
               ลำดับนั้น ผู้แม้มาภายหลังเขาก็ยืนอยู่ เธอก็เตือนตนว่า ภิกษุนี้รู้วิตกอันเกิดขึ้นแก่เจ้าแล้ว เจ้าทำกรรมอันไม่สมควรดังนี้ จึงเจริญวิปัสสนาหยั่งลงสู่อริยภูมิในที่นั้นแหละ เมื่อไม่อาจอย่างนั้นก็นั่ง. ลำดับนั้น แม้ผู้มาภายหลังเขาก็นั่งลง มีนัยนั้นเหมือนกัน. แม้เมื่อไม่อาจเพื่อหยั่งลงสู่อริยภูมิ ก็ข่มกิเลสนั้น มนสิการกรรมฐานไปอยู่ย่อมไม่ยกเท้าขึ้นด้วยจิตปราศจากกรรมฐาน ถ้ายกขึ้นก็ต้องกลับมาสู่ประเทศก่อนนั่นแล เหมือนพระมหาปุสสเทวเถระผู้อยู่ที่อาลินทกะในเกาะลังกา ฉะนั้น.
               ได้ยินว่า พระเถระนั้นบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรอยู่อย่างนี้ถึง ๑๙ ปี. ข่าวว่า แม้พวกมนุษย์เมื่อหว่านและนวดข้าวทำการงานอยู่ในระหว่างทาง เห็นพระเถระไปอย่างนั้น ก็พูดกันว่า พระเถระนี้กลับไปบ่อยๆ คงจะหลงทางหรือลืมอะไรหนอแล. ท่านไม่สนใจเรื่องนั้น กระทำสมณธรรมด้วยจิตที่ประกอบด้วยกรรมฐานเท่านั้น ก็บรรลุพระอรหัตในภายใน ๒๐ พรรษา ก็ในวันที่บรรลุพระอรหัต เทวดาผู้สิงสถิตที่สุดท้ายที่จงกรมของพระเถระนั้น ยืนส่องประทีปด้วยนิ้วมือทั้งหลาย มหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะจอมเทวินท์ และสหัมบดีพรหมก็ได้ไปสู่ที่บำรุง และพระติสสเถระผู้อยู่ในป่าเห็นแสงสว่างนั้น จึงถามพระเถระนั้นในวันที่สองว่า ในส่วนราตรีได้มีแสงสว่างในสำนักของท่านผู้มีอายุ นั้นแสงสว่างอะไร. เถระทำไม่สนใจ กล่าวคำมีอาทิว่า ธรรมดา แสงสว่างอาจเป็นแสงประทีปก็ได้ แสงแก้วมณีก็ได้. พระติสสเถระนั้นเรียนว่า ท่านปกปิดหรือ. พระมหาปุสสเทวเถระปฏิญาณว่า ไม่ปกปิดครับ แล้วได้บอก.
               และเหมือนพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาลวัลลิมณฑป. ได้ยินว่า พระเถระนั้นบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร คิดว่าเราจะบูชามหาปธานของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งแรกก่อนแล้ว อธิษฐานการเดินจงกรมตลอด ๗ ปี บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรตลอด ๑๖ ปีอีก ได้บรรลุพระอรหัต เมื่อยกเท้าขึ้นด้วยจิตประกอบด้วยกรรมฐานอย่างนี้แล เมื่อยกเท้าขึ้นด้วยจิตปราศจากกรรมฐาน ก็จะกลับไปที่ใกล้บ้าน ยืนอยู่ในประเทศที่พึงรังเกียจว่า แม่โคหรือหนอ บรรพชิตหรือหนอ ห่มสังฆาฏิอุ้มบาตร ถึงประตูบ้านแล้ว ตักน้ำจากหนองน้ำ อมน้ำเข้าบ้านด้วยตั้งใจว่า ขอความฟุ้งซ่านในกรรมฐาน อย่าได้มีแก่เรา แม้ด้วยเหตุสักว่าพูดกะมนุษย์ทั้งหลายผู้เข้ามาเพื่อถวายภิกษา หรือไหว้ว่า ขอท่านทั้งหลายจงมีอายุยืน ดังนี้. ก็ถ้ามนุษย์ทั้งหลายถามถึงวันว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ วันนี้เป็นวัน ๗ ค่ำหรือวัน ๘ ค่ำ ท่านก็จะบ้วนน้ำแล้วบอก ถ้าไม่มีผู้ถามถึงวัน ในเวลาออกไปก็จะบ้วนที่ประตูบ้านไป.
               เหมือนภิกษุ ๕๐ รูปผู้เข้าจำพรรษาในกลัมพติตถวิหาร ในเกาะลังกานั้นแหละ. ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นได้ทำกติกวัตรในวันวัสสูปนายิกาอุโบสถว่า พวกเรายังไม่บรรลุพระอรหัตแล้วจักไม่พูดกัน เมื่อเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต ก็จะอมน้ำที่ประตูบ้านแล้วเข้าไป เมื่อเขาถามถึงวัน ก็จะกลืนน้ำบอก เมื่อไม่มีใครถามถึงวัน ก็จะบ้วนที่ประตูบ้านแล้วมาวัด มนุษย์ทั้งหลายในที่เหล่านั้น เห็นสถานที่บ้วนน้ำ ก็รู้ว่าวันนี้พระมาหนึ่งรูป วันนี้พระมาสองรูปดังนี้ และคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านั้นไม่พูดกับพวกเราเท่านั้น หรือว่าไม่พูดแม้กะกันและกัน ผิว่า ไม่พูดแม้กะกันและกันไซร้ จักเป็นผู้ทะเลาะกันแน่ เอาเถิด พวกเราจักให้ภิกษุเหล่านั้นขอขมากะกันและกันดังนี้ ทั้งหมดพากันไปวัด.
               ครั้นภิกษุ ๕๐ รูปจำพรรษาในวัดนั้นแล้ว ภิกษุ ๒ รูปไม่อยู่ร่วมในโอกาสเดียวกัน แต่นั้น บรรดามนุษย์เหล่านั้น บุรุษผู้มีปัญญาจึงเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โอกาสสำหรับผู้ทะเลาะกันย่อมไม่เป็นเช่นนี้ ลานเจดีย์ ลานโพธิ์ก็สะอาดดี ไม้กวาดทั้งหลายก็เก็บไว้ดี น้ำดื่มน้ำใช้ก็ตั้งไว้ดี ดังนี้ มนุษย์เหล่านั้นจึงพากันกลับจากวัดนั้น. ภิกษุเหล่านั้นปรารภวิปัสสนาในภายในพรรษานั้นแหละก็บรรลุพระอรหัต ปวารณาวิสุทธิปวารณาในวันมหาปวารณา.
               ภิกษุพึงเป็นดุจพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาลวัลลิมณฑป และดุจพวกภิกษุผู้จำพรรษาในกลัมพติตถวิหารอย่างนี้ ย่างเท้าด้วยจิตอันประกอบด้วยกรรมฐานเท่านั้น ไปถึงที่ใกล้บ้าน อมน้ำ สังเกตถนน ดำเนินไปสู่ถนนที่ไม่มีพวกทะเลาะเบาะแว้งกัน มีพวกนักเลงสุราเป็นต้น หรือไม่มีพวกสัตว์มีช้างและม้าที่ดุร้ายเป็นต้น และเมื่อไปบิณฑบาตที่ถนนนั้น ก็ไม่ไปโดยรีบด่วนเหมือนคนรีบร้อน ชื่อว่าปิณฑปาติกธุดงค์ โดยรีบด่วนหามีไม่ แต่ย่อมเดินไปไม่หวั่นไหว เหมือนกับเกวียนที่บรรทุกน้ำเต็ม ถึงสถานที่ซึ่งขรุขระฉะนั้น. ภิกษุนั้นเข้าไปตามลำดับเรือนแล้ว รอเวลาที่สมควรแก่เรือนนั้น เพื่อสังเกตุผู้ประสงค์จะถวาย หรือไม่ประสงค์จะถวาย รับภิกษาแล้วนั่งในโอกาสอันสมควร มนสิการกรรมฐาน เข้าไปตั้งปฏิกูลสัญญาในอาหาร พิจารณาด้วยอำนาจแห่งอุปมาด้วยน้ำมันหยอดเพลา ผ้าพันแผลและเนื้อบุตร ฉันอาหารอันประกอบด้วยองค์แปด ไม่ฉันอาหารเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา ฯลฯ และฉันแล้ว ก็ทำกิจด้วยน้ำ บรรเทาความกระวนกระวายด้วยภัตสักครู่หนึ่ง มนสิการกรรมฐานในภายหลังภัตตลอดปฐมยามและมัชฌิมยามเหมือนในเวลาก่อนภัต.
               ภิกษุนี้เรียกว่า นำไปและนำกลับ.
               การนำกรรมฐานไปและการนำกรรมฐานกลับนั่น เรียกว่า คตปัจจาคตวัตร ด้วยประการฉะนี้.
               ภิกษุเมื่อบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรอย่างนี้ ถ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสสัยก็จะบรรลุพระอรหัตในปฐมวัยนั้นแล ถ้าไม่บรรลุในปฐมวัยไซร้ก็จะบรรลุในมัชฌิมวัย. ถ้าไม่บรรลุในมัชฌิมวัยไซร้ก็จะบรรลุในมรณสมัย. ถ้าไม่บรรลุในมรณะสมัยไซร้ก็จะเป็นเทพบุตรแล้วบรรลุ ถ้าไม่เป็นเทพบุตรบรรลุไซร้ก็จะเป็นพระปัจเจกสัมพุทธะแล้วจะปรินิพพาน ถ้าไม่เป็นพระปัจเจกสัมพุทธะแล้วจะปรินิพพานไซร้ก็จะเป็นผู้มีขิปปาภิญญา เหมือนพระพาหิยเถระบ้าง หรือเป็นผู้มีปัญญามาก เหมือนพระสารีบุตรเถระบ้าง ในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ก็พระปัจเจกโพธิสัตว์นี้บวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป. เป็นผู้อยู่ในป่าเป็นวัตร บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรนั่นตลอดสองหมื่นปีทำกาละแล้ว อุบัติในเทวโลกชั้นกามาวจร จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี หญิงทั้งหลายผู้ฉลาดย่อมรู้ฐานะที่ตนมีครรภ์ในวันนั้นนั่นเอง และพระอัครมเหสีนั้นก็เป็นหญิงพระองค์หนึ่ง บรรดาหญิงเหล่านั้นแล. เพราะฉะนั้น พระอัครมเหสีแม้นั่น ครั้นทราบแล้วก็ทรงทูลการตั้งพระครรภ์นั้นแด่พระราชา.
               การที่มาตุคาม เมื่อสัตว์ผู้มีปัญญาเกิดในครรภ์แล้ว ย่อมได้การบริหารครรภ์นั่นเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระราชาจึงทรงพระราชทานการบริหารพระครรภ์แก่พระนาง. จำเดิมแต่นั้น พระนางย่อมไม่ได้เพื่อจะทรงกลืนพระกระยาหารบางอย่างซึ่งร้อนจัด เย็นจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด ขมจัด เพราะเมื่อมารดากลืนอาหารอันร้อนจัด สัตว์ที่อยู่ในครรภ์ก็เป็นดุจอยู่ในโลหกุมภี เมื่อกลืนอาหารเย็นจัดก็เป็นดุจอยู่ในโลกันตนรก เมื่อบริโภคอาหารที่เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัดและขมจัด อวัยวะทั้งหลายของสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์ก็มีเวทนากล้า เหมือนถูกศัสตราผ่าแล้วราดด้วยน้ำเปรี้ยวเป็นต้นฉะนั้น
               ราชบุรุษทั้งหลายจึงห้ามพระนางจากแม้การจงกรม การยืน การนั่งและการนอนเกินไปว่า ขอสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์อย่ามีทุกข์ เพราะการเคลื่อนไหว พระนางย่อมได้เพื่อทรงกระทำการจงกรมเป็นต้นบนพื้นดินพอประมาณ เพื่อประโยชน์แก่การทำให้อ่อน ย่อมทรงได้ข้าวและน้ำที่ดี สบายสมบูรณ์ด้วยสีกลิ่นเป็นต้น.
               ราชบุรุษ ครั้นกำหนดแล้วจึงให้พระนางจงกรมให้ลุกขึ้น. พระนางได้รับบริหารพระครรภ์อย่างนี้ ในกาลมีพระครรภ์แก่ก็เสด็จสู่เรือนประสูติ ประสูติพระโอรสในสมัยใกล้รุ่ง ซึ่งถึงพร้อมด้วยธัญลักษณะ บุญลักษณะเช่นกับก้อนมโนศิลาที่ทาด้วยน้ำมันสุก. ต่อจากนั้น ในวันที่ห้า ราชบุรุษทั้งหลายก็นำพระโอรสนั้นซึ่งประดับประดาตกแต่งแล้วถวายแด่พระราชา.
               พระราชาทรงยินดี ทรงให้พระพี่เลี้ยง ๖๖ คนเลี้ยงดู พระกุมารทรงเจริญด้วยสมบัติทั้งปวง ต่อกาลไม่นานนัก ก็ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา พระราชาทรงอภิเษกพระกุมารนั้นซึ่งมีพระชันษา ๑๖ ปีเท่านั้นไว้ในราชสมบัติ และทรงให้นักฟ้อน ๓ ประเภทบำรุงเลี้ยงดูพระกุมารนั้น.
               พระราชโอรสได้อภิเษกแล้ว ทรงครองราชสมบัติโดยพระนามว่า พรหมทัต ในพระนครสองหมื่นนคร ในชมพูทวีปทั้งสิ้น. ก็ในกาลก่อน ชมพูทวีปมีพระนครถึงแปดหมื่นสี่พันนคร พระนครเหล่านั้นเมื่อเสื่อมก็เหลือสี่หมื่นนคร แต่ในกาลที่มีความเสื่อมทุกอย่างก็เหลือสองหมื่นนคร. พระเจ้าพรหมทัตนี้ทรงอุบัติในกาลที่มีความเสื่อมทุกอย่าง เพราะฉะนั้น พระเจ้าพรหมทัตนั้นทรงมีพระนครสองหมื่นนคร ปราสาทสองหมื่นองค์ ช้างสองหมื่นเชือก ม้าสองหมื่นตัวรถสองหมื่นคัน ทหารเดินเท้าสองหมื่นคน นางสนมและหญิงนักฟ้อนสองหมื่นนาง และอำมาตย์สองหมื่นคน.
               พระเจ้าพรหมทัตนั้นทรงเสวยมหาราชสมบัติอยู่ทรงทำกสิณบริกรรมอย่างนี้ ทรงยังอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น ก็เพราะธรรมดาพระราชาที่ได้อภิเษกแล้ว พึงประทับนั่งในที่ทำการวินิจฉัยคดีแน่แท้ เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งทรงเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ประทับนั่งในโรงวินิจฉัย ในที่นั้น มหาชนได้ทำเสียงดังกึกก้อง พระองค์ทรงพระราชดำริว่าเสียงนี้เป็นอุปกิเลสแก่สมาบัติดังนี้ เสด็จขึ้นสู่พื้นปราสาท ประทับนั่งด้วยพระราชดำริว่าเราจะเข้าสมาบัติ ก็ไม่อาจเพื่อจะเข้าได้ สมาบัติเสื่อมแล้ว เพราะความฟุ้งซ่านในราชสมบัติ แต่นั้น ทรงพระราชดำริว่าราชสมบัติประเสริฐ หรือว่าสมณธรรมประเสริฐ. ต่อจากนั้น ทรงทราบว่าความสุขในราชสมบัติมีนิดหน่อย มีโทษมาก ส่วนความสุขในสมณธรรม มีอานิสงส์มากไพบูลย์ และอันอุดมบุรุษซ่องเสพ แล้วตรัสสั่งอำมาตย์คนหนึ่งว่า เจ้าจงปกครองราชสมบัตินี้โดยราชธรรมโดยสม่ำเสมอ อย่าได้ทำการอันไม่เป็นธรรม ทรงมอบราชสมบัติทั้งหมด เสด็จขึ้นสู่ปราสาท ประทับอยู่ด้วยความสุขในสมาบัติ ใครๆ ไม่ได้เพื่อเข้าเฝ้า นอกจากมหาดเล็กผู้ถวายน้ำล้างพระพักตร์ ไม้ชำระพระทนต์ และผู้นำพระกระยาหารเป็นต้น.
               ต่อมา พอประมาณกึ่งเดือนผ่านไป พระมเหสีตรัสถามว่า พระราชาไม่ทรงปรากฏในที่ใดเลย บรรดาการเสด็จไปอุทยาน การตรวจพล และการดูการฟ้อนรำเป็นต้น พระองค์เสด็จไป ณ ที่ไหน ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระนาง พระนางส่งข่าวสารถึงอำมาตย์ว่า เมื่อเจ้ารับราชสมบัติแล้ว แม้ตัวฉันเองก็เป็นอันเจ้ารับด้วย เพราะฉะนั้น เจ้าจงมา จงสำเร็จการอยู่ร่วมกับฉัน.
               อำมาตย์นั้นปิดหูทั้งสองข้างแล้วทูลปฏิเสธว่า ขออย่าได้ยินเรื่องนั่น พระนางก็ส่งข่าวสารไปอีกถึง ๒-๓ ครั้ง ทรงคุกคามอำมาตย์ผู้ไม่ปรารถนาว่า ถ้าท่านไม่ยอมกระทำ เราจะถอดท่านจากตำแหน่งเสีย หรือจะฆ่าท่านเสีย. อำมาตย์นั้นกลัวคิดว่า ธรรมดามาตุคามมีความปรารถนารุนแรง พึงให้กระทำแม้อย่างนี้ ในกาลบางคราวก็ได้ดังนี้. ในวันหนึ่งได้ไปในที่ลับสำเร็จการอยู่ร่วมกับพระนางบนที่บรรทมอันทรงสิริ. พระนางทรงมีบุญ มีสัมผัสอันเป็นสุข. อำมาตย์นั้นถูกราคะอันเกิดจากสัมผัสของพระมเหสีนั้นย้อมแล้ว ก็ได้แอบไปบ่อยๆ ที่พระตำหนักของพระนางนั้น เขาหมดความระแวงเริ่มเข้าไป ดุจเป็นเจ้าของเรือนของตนโดยลำดับ.
               ต่อแต่นั้นมา พวกราชบุรุษก็กราบทูลเรื่องเป็นไปนั้นแด่พระราชา พระราชาไม่ทรงเชื่อ ก็กราบทูลครั้งที่ ๒ บ้าง ครั้งที่ ๓ บ้าง. ลำดับนั้น พระองค์ประทับนั่งทรงเห็นด้วยพระองค์เอง ได้ตรัสสั่งให้ประชุมอำมาตย์ทุกคน แล้วตรัสบอกเรื่องเป็นไปนั้น. อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า อำมาตย์นี้มีความผิดต่อพระราชา สมควรตัดมือ สมควรตัดเท้า ดังนี้ ได้แสดงกรรมกรณ์ทั้งหมด ตั้งแต่ให้นอนหงายบนหลาว.
               พระราชาตรัสว่า เราพึงเกิดความเบียดเบียนในเพราะฆ่า จองจำ และเฆี่ยนตีอำมาตย์นั่น จะพึงมีปาณาติบาตในเพราะปลงชีวิต จะพึงมีอทินนาทานในเพราะริบทรัพย์ พอละด้วยกรรมเห็นปานนี้ที่อำมาตย์นี้ทำแล้ว เราจะปลดอำมาตย์นี้จากราชสมบัติของเราเสีย อำมาตย์ทั้งหลายได้เนรเทศอำมาตย์นั้นแล้ว. อำมาตย์นั้นถือเอาทรัพย์สมบัติและบุตรภรรยาของตนไปสู่ต่างประเทศ. พระราชาในประเทศนั้นทรงสดับแล้วตรัสถามว่า เจ้ามาทำไม.
               อ. ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะบำรุงพระองค์ พระเจ้าข้า.
               พระราชาพระองค์นั้นทรงรับอำมาตย์นั้น อำมาตย์ได้รับความไว้วางพระหฤทัยโดยกาลล่วงไปเล็กน้อย ได้ทูลเรื่องนั้นกะพระราชานั้นว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระพุทธเจ้าเห็นน้ำผึ้งซึ่งไม่มีตัว ผู้กินน้ำผึ้งนั้นก็ไม่มี. พระราชาทรงพระราชดำริว่า อำมาตย์ประสงค์จะล้อเล่น จึงกล่าวเรื่องนั้น ทำไมเล่า แล้วไม่ทรงฟัง.
               อำมาตย์นั้นได้โอกาสพรรณนาให้ดีกว่าเดิมแล้ว ทูลบอกอีก. พระราชาตรัสถามว่า นั่นอะไร. นั่นคือราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า เธอประสงค์จะนำฉันไปตายหรือ. อำมาตย์นั้นทูลว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ พระองค์อย่าได้ตรัสอย่างนั้น ถ้าไม่ทรงเชื่อก็จงทรงส่งคนทั้งหลายไป. พระราชาพระองค์นั้นทรงส่งคนทั้งหลายไปแล้ว คนเหล่านั้นไปแล้ว ขุดซุ้มประตู ขึ้นทางพระตำหนักบรรทมของพระราชา. พระราชาทรงเห็นแล้วตรัสถามว่า พวกเจ้ามาเพื่ออะไร. พวกคนเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์เป็นโจร. พระราชาจึงตรัสสั่งให้ประทานทรัพย์แก่พวกโจรเหล่านั้น แล้วโอวาทว่า พวกเจ้าอย่าได้ทำอย่างนี้อีก แล้วก็ทรงปล่อยไป. พวกคนเหล่านั้นมาทูลแด่พระราชาของตนนั้น พระราชานั้นทรงทดลองเหมือนอย่างนั้นแหละ ๒-๓ ครั้ง ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าพรหมทัตทรงมีศีล แล้วก็ทรงตระเตรียมจตุรงคเสนา เสด็จเข้าสู่นครหนึ่งในระหว่างเขตแดน ทรงส่งพระราชสาส์นให้แก่อำมาตย์ในนครนั้นว่า ท่านจะให้นครแก่เรา หรือว่าจะรบ.
               อำมาตย์นั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระเจ้าพรหมทัตว่า ขอพระองค์จงสั่งว่า ข้าพเจ้าจะรบหรือจะให้นคร. พระราชาทรงส่งไปว่า เราไม่พึงรบ เจ้าให้นครแล้ว จงมาในที่นี้. อำมาตย์นั้นได้กระทำอย่างนั้น.
               ฝ่ายพระราชาผู้ปฏิปักษ์ทรงยึดนครนั้นแล้วก็ส่งทูตไปสู่นครอื่น แม้ในนครที่เหลือทั้งหลายก็เหมือนอย่างนั้น.
               อำมาตย์แม้เหล่านั้นทูลบอกแด่พระเจ้าพรหมทัตเหมือนอย่างนั้น ถูกท้าวเธอตรัสว่าไม่พึงรบ พึงมาในที่นี้ แล้วมาสู่พระนครพาราณสี. แต่นั้น อำมาตย์ทั้งหลายทูลแด่พระเจ้าพรหมทัตว่า ข้าแต่มหาราช พวกข้าพระองค์จะรบกับพระราชาผู้ปฏิปักษ์นั้น. พระราชาตรัสห้ามว่าปาณาติบาตจักมีแก่เรา อำมาตย์ทั้งหลายทูลให้พระราชาทรงยินยอมด้วยอุบายต่างๆ ว่า ข้าแต่มหาราช พวกข้าพระองค์จักจับพระราชานั้นทั้งเป็นแล้วนำมาในที่นี้ แล้วทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงเสด็จมาดังนี้ ก็เริ่มเพื่อจะไป.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าพวกเจ้าจะไม่ทำการนำศัตราไป การประหารด้วยศัสตราและการปล้นสดมภ์ เราจะไป. อำมาตย์ทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ พวกข้าพระองค์จะไม่ทำ จะแสดงภัยแล้วให้หลบหนีไปดังนี้แล้ว จึงเตรียมจตุรงคเสนา ตามประทีปทั้งหลายไว้ในหม้อทั้งหลายแล้ว ไปในราตรี. พระราชาผู้ปฏิปักษ์ทรงยึดพระนครพาราณสีได้ในวันนั้น ทรงพระราชดำริว่า บัดนี้ เราจะเตรียมพร้อมเพื่ออะไรดังนี้ แล้วจึงให้เลิกการเตรียมพร้อมเสียในราตรี ทรงประมาท หลับสนิทพร้อมด้วยพลนิกาย.
               ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายนำพระเจ้าพาราณสีไปสู่ค่ายของพระราชาผู้ปฏิปักษ์ แล้วก็ให้ดับประทีปจากหม้อทุกใบเสีย แล้วได้ทำเสียงแห่งกองทัพซึ่งโชติช่วงพร้อมกัน. อำมาตย์ของพระราชาผู้ปฏิปักษ์เห็นพลมีกำลังมาก ตกใจกลัว เข้าไปเฝ้าพระราชาของตนแล้วทำเสียงดังว่า ขอพระองค์จงลุกขึ้น จงเสวยน้ำผึ้งที่ไม่มีตัวผึ้ง. อำมาตย์คนที่ ๒ -ที่ ๓ ก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน.
               พระราชาผู้ปฏิปักษ์ทรงตื่นขึ้นด้วยเสียงนั้น ทรงถึงความกลัวความสะดุ้ง เสียงกึกก้องดังขึ้นตั้งร้อย พระราชาผู้ปฏิปักษ์นั้นทรงพระราชดำริว่า เราเชื่อคำพูดของคนอื่นจึงถึงเงื้อมมือของศัตรู ทรงบ่นเพ้อถึงคำนั้นๆ ตลอดทั้งคืน. ในวันที่ ๒ จึงทรงคิดได้ว่า พระเจ้าพรหมทัตทรงเป็นพระราชาทรงธรรมไม่พึงลงโทษ เราจะไปขอโทษพระองค์ดังนี้แล้ว จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระราชา ทรงคุกพระชานุทั้งสองลงแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงอดโทษต่อความผิดของข้าพระองค์เถิด.
               พระราชาทรงโอวาทพระราชาผู้ปฏิปักษ์นั้นแล้วตรัสว่า ท่านจงลุกขึ้น ข้าพเจ้ายกโทษให้แก่ท่าน. พระราชาผู้ปฏิปักษ์นั้นพอพระราชาตรัสเท่านั้น ก็ทรงถึงความโล่งพระทัยอย่างยิ่ง ทรงได้ราชสมบัติในชนบทซึ่งใกล้เคียงพรหมแดนของพระเจ้ากรุงพาราณสี ทั้งสองพระองค์นั้นได้เป็นพระสหายกันและกัน.
               ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงเห็นเสนาทั้งสองฝ่ายต่างชื่นชมยืนร่วมกันอยู่ จึงทรงพระราชดำริว่า หยดโลหิตแม้เพียงแมลงวันตัวเล็กๆ ดื่มได้ก็ไม่บังเกิดในหมู่มหาชนนี้ เพื่อประโยชน์แก่การตามรักษาจิตของเราคนเดียว โอ! ดีจริงหนอ โอ! ดีนักแล ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุขเถิด จงอย่ามีเวร จงอย่าเบียดเบียนกันดังนี้แล้ว ทรงยังเมตตาฌานให้เกิดขึ้น ทรงทำเมตตาฌานนั้นแลให้เป็นบาท พิจารณาสังขารทั้งหลาย กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ ทรงบรรลุความเป็นสยัมภู.
               อำมาตย์ทั้งหลายได้ประชุมกันกราบทูลพระเจ้าพรหมทัตนั้นผู้มีความสุขด้วยมรรคสุข ผลสุข ประทับนั่งบนคอช้างว่า ข้าแต่มหาราช กาลนี้เป็นการเสด็จขึ้นสู่พระยาน ขอพระองค์พึงกระทำสักการะแก่หมู่พลผู้ชนะ พึงพระราชทานอาหารและเสบียงแก่หมู่พลผู้แพ้.
               พระเจ้าพรหมทัตนั้นตรัสว่า ดูก่อนพนาย เราไม่ใช่พระราชา เราชื่อว่า พระปัจเจกสัมพุทธะ. อำมาตย์ทั้งหลายทูลว่า พระองค์ตรัสอะไร พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เป็นเช่นนี้.
               พระราชาตรัสถามว่า ดูก่อนพนาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเช่นไร. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ธรรมดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีผมและหนวดประมาณ ๒ องคุลี ทรงบริขาร ๘.
               พระองค์ทรงลูบพระเศียรด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา ทันใดนั้น เพศคฤหัสถ์ก็อันตรธานไป เพศบรรพชิตเข้ามาแทนที่ พระองค์ทรงมีพระเกสาและพระมัสสุประมาณ ๒ องคุลี ประกอบพร้อมด้วยบริขาร ๘ เป็นเช่นกับพระเถระมีพรรษา ๑๐๐ พรรษา พระองค์ทรงเข้าจตุตถฌาน ทรงเหาะขึ้นจากคอช้างไปสู่เวหาส ประทับนั่งบนดอกปทุม.
               อำมาตย์ทั้งหลายไหว้แล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงบำเพ็ญกรรมฐานอะไร ทรงบรรลุอย่างไร.
               พระองค์ทรงเห็นแจ้งวิปัสสนา ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้เมตตาฌานกรรมฐานและบรรลุ เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนั้น จึงตรัสอุทานกถา พยากรณกถา และคาถานี้ว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ แปลว่า บุคคลวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเสสุ ได้แก่ ที่เหลือลง.
               บทว่า ภูเตสุ ได้แก่ ในสัตว์ทั้งหลาย.
               ความสังเขปในคาถานี้มีเพียงเท่านี้
               ส่วนความพิสดาร ข้าพเจ้าจักกล่าวในรัตนสุตตวัณณนา.
               บทว่า นิธาย ได้แก่ วางแล้ว. บทว่า ทณฺฑํ ได้แก่ อาชญาทางกาย วาจาและใจ. คำว่า ทณฺฑํ นั่นเป็นชื่อของทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น.
               จริงอยู่ กายทุจริต ชื่อว่าทัณฑ์ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้ลงโทษ. อธิบายว่า เบียดเบียน คือให้ถึงความพินาศ.
               วจีทุจริต และมโนทุจริตก็เหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง การลงโทษด้วยการประหารนั่นเทียว ชื่อทัณฑ์. อธิบายว่า วางทัณฑ์นั่นแล้วดังนี้บ้าง.
               บทว่า อวิเหฐยํ คือ ไม่เบียดเบียน.
               บทว่า อญฺญตรมฺปิ ได้แก่ แม้ผู้ใดผู้หนึ่ง. บทว่า เตสํ ได้แก่ บรรดาสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น.
               บทว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย ความว่า ไม่พึงปรารถนาบุตรคนใดเลย ในบุตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ บุตรเกิดจากตน ๑ บุตรเกิดในเขต ๑ บุตรบุญธรรม ๑ บุตรคือลูกศิษย์ ๑.
               บทว่า กุโต สหายํ ความว่า จะพึงปรารถนาสหายนั่น แต่ที่ไหน ด้วยหวังว่าพึงปรารถนาสหาย.
               บทว่า เอโก ความว่า ผู้เดียวด้วยเพศ กล่าวคือบรรพชา ผู้เดียวด้วยอรรถว่าไม่มีเพื่อน ผู้เดียวด้วยการละตัณหา ผู้เดียวด้วยอรรถว่ามีกิเลสปราศไปแล้วโดยส่วนเดียว ผู้เดียวด้วยอรรถว่าตรัสรู้ชอบโดยเฉพาะซึ่งปัจเจกโพธิญาณแต่ผู้เดียว.
               จริงอยู่ บุคคลเป็นไปในท่ามกลางสมณะตั้งพัน ชื่อว่าผู้เดียว เพราะตัดความเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์เสียได้ ผู้เดียวด้วยเพศกล่าวคือบรรพชาอย่างนี้. ชื่อว่าผู้เดียว ด้วยอรรถว่ายืนคนเดียว นั่งคนเดียว นอนคนเดียว เปลี่ยนอิริยาบถคนเดียว เป็นไปคนเดียว ผู้เดียวด้วยอรรถว่าไม่มีเพื่อนอย่างนี้. ชื่อว่าผู้เดียว ด้วยอรรถว่าละตัณหาอย่างนี้ว่า
                         คนมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวอยู่สิ้นกาลนาน
                         ไม่ก้าวล่วงสังสาร ซึ่งมีความเป็นอย่างนี้ ไม่มี
                         ความเป็นอย่างอื่น ภิกษุมีสติ ปราศจากตัณหา
                         ไม่ยึดมั่น รู้โทษนั้นแล้ว พึงละเว้นตัณหา อัน
                         เป็นแดนเกิดของทุกข์เสีย ดังนี้.
๒-
____________________________
๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๙

               ชื่อว่าผู้เดียว ด้วยอรรถว่ามีกิเลสปราศไปแล้วโดยส่วนเดียวอย่างนี้ว่า กิเลสทั้งปวงอันภิกษุนั้นละแล้ว มีรากเหง้าถูกตัดขาดแล้ว เป็นดุจต้นตาล ฯลฯ มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา. ชื่อว่าผู้เดียว ด้วยอรรถอย่างนี้ว่าเป็นผู้ไม่มีอาจารย์ รู้เอง ตรัสรู้ชอบเฉพาะซึ่งปัจเจกโพธิญาณได้ด้วยตนเองนั้นแล. ผู้เดียว ด้วยอรรถว่าตรัสรู้ชอบเฉพาะซึ่งปัจเจกโพธิญาณอย่างนี้.
               บทว่า จเร ได้แก่ จริยา ๘ เหล่านี้ คือ
               ๑. อิริยาปถจริยา ในอิริยาบถ ๔ สำหรับผู้ถึงพร้อมด้วยปณิธิ
               ๒. อายตนจริยา ในอายตนะภายใน สำหรับผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย
               ๓. สติจริยา ในสติปัฏฐาน ๔ สำหรับผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท
               ๔. สมาธิจริยา ในฌาน ๔ สำหรับผู้ตามประกอบซึ่งอธิจิต
               ๕. ญาณจริยา ในอริยสัจ ๔ สำหรับผู้ถึงพร้อมด้วยพุทธิ
               ๖. มรรคจริยา ในอริยมรรค ๔ สำหรับผู้ปฏิบัติชอบ
               ๗. ปกติจริยา ในสามัญผล ๔ สำหรับผู้บรรลุผล
               ๘. โลกัตถจริยา ในสัตว์ทั้งหลาย สำหรับพระพุทธเจ้าทั้ง ๓.
               ในพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ นั้น พระปัจเจกพุทธะและพระสาวกมีโลกัตถจริยาเพียงบางส่วน. สมดังที่ท่านกล่าวว่า คำว่า จริยา ได้แก่ จริยา ๘ ความพิสดารก็คือ อิริยาปถจริยา.๓- อธิบายว่า พึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจริยาเหล่านั้น.
____________________________
๓- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๖๖๗

               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า จริยา ๘ แม้อื่นเหล่านี้ใด คือ
               บุคคลเมื่อน้อมใจเชื่อย่อมประพฤติด้วยศรัทธา. เมื่อประคองย่อมประพฤติด้วยวิริยะ. เมื่อเข้าไปตั้งมั่นย่อมประพฤติด้วยสติ ผู้ไม่ฟุ้งซ่านย่อมประพฤติด้วยสมาธิ เมื่อรู้ชัดย่อมประพฤติด้วยปัญญา เมื่อรู้แจ้งย่อมประพฤติวิญญาณ. กุศลธรรมทั้งหลายย่อมสืบต่อสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าประพฤติอายตนจริยา บุคคลปฏิบัติอย่างนี้ย่อมบรรลุถึงคุณวิเศษ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าประพฤติด้วยจริยาพิเศษ พึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจริยาเหล่านั้น.
               นอของแรดชื่อว่าขัคควิสาณ ในบทว่า ขคฺควิสาณกปฺโป นี้ ข้าพเจ้าจักประกาศเนื้อความแห่งกัปปศัพท์โดยพิสดารในมงคลสุตตวัณณนา แต่ในขัคควิสาณสุตตวัณณนานี้ บัณฑิตพึงทราบการเปรียบเทียบ ดุจในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลนี้ปรึกษาอยู่กับสาวกผู้สมควรแก่พระศาสดาหนอ.๔- อธิบายว่า ผู้เป็นเช่นกับนอแรด.
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๐๐

               การพรรณนาเนื้อความตามบทในคาถานี้เพียงเท่านี้ก่อน แต่บัณฑิตพึงทราบโดยอนุสนธิแห่งการอธิบายอย่างนี้ อาชญามีประการดังกล่าวนี้ใดอันบุคคลให้เป็นไป คือไม่วางในสัตว์ทั้งหลาย ครั้นเมื่ออาชญานั้นอันเราไม่ให้เป็นไปในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เราชื่อว่าวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ด้วยเมตตาอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออาชญานั้น และด้วยการนำเข้ามาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่คนอื่น และเพราะวางอาชญาได้แล้วนั้นแล ชื่อว่าไม่เบียดเบียนบรรดาสัตว์เหล่านั้นแม้ผู้ใดผู้หนึ่งให้ลำบาก เหมือนสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่วางอาชญาย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยท่อนไม้บ้าง ศาสตราบ้าง ฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้างฉะนั้น อาศัยเมตตากรรมฐานนี้แล้วพิจารณาเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณในสัตว์เหล่านั้น และสังขตธรรมอื่นจากนั้น ตามกระแสแห่งเมตตากรรมฐานนั้นแล จึงได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณนี้. คำอธิบายเพียงเท่านี้ก่อน.
               ส่วนอนุสนธิดังนี้ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสดังนี้แล้ว อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระองค์จะเสด็จไป ณ ที่ไหน. ลำดับนั้น ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงระลึกว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ อยู่ที่ไหน ครั้นทรงรู้แล้วจึงตรัสว่าที่ภูเขาคันธมาทน์. จึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โอ! บัดนี้ พระองค์ทรงทอดทิ้ง ไม่ทรงปรารถนาพวกข้าพระองค์ดังนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้ตรัสว่า บุคคลไม่พึงปรารถนาบุตร.
               อธิบายในคาถานั้นดังนี้
               บัดนี้ เราไม่พึงปรารถนาบุตรแม้คนใดเลย ในบรรดาบุตรที่เกิดจากตนเป็นต้น แต่จะพึงปรารถนาสหายผู้เช่นท่านแต่ที่ไหน เพราะฉะนั้น แม้ในพวกท่านทั้งหลาย ผู้ใดต้องการเพื่อจะไปพร้อมกับเรา หรือเพื่อเป็นเช่นเรา ผู้นั้นพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้นผู้อันอำมาตย์เหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระองค์ทรงทอดทิ้งไม่ทรงปรารถนาพวกข้าพระองค์เลย จึงตรัสว่า เราไม่พึงปรารถนาบุตร จะพึงปรารถนาสหายแต่ที่ไหน. ทรงเห็นคุณแห่งการเที่ยวไปแต่ผู้เดียวของพระองค์ โดยเนื้อความตามที่กล่าวแล้ว ทรงพระปราโมทย์ ทรงเกิดปีติโสมนัส จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า
               พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เมื่อมหาชนเพ่งดูอยู่นั่นเอง ก็ได้เหาะขึ้นทางอากาศ เสด็จไปสู่ภูเขาคันธมาทน์ ชื่อว่า ภูเขาคันธมาทน์ อยู่เลยภูเขา ๗ ลูก (ในหิมวันตประเทศ) คือ จูฬกาลบรรพต มหากาฬ บรรพต นาคปลิเวฏฐนาบรรพต จันทสัมภรบรรพต สุริยสัมภรบรรพต สุวัณณปัสสบรรพต และหิมวันตบรรพต.
               ที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นมีเงื้อมผา ชื่อว่านันทมูลกะ เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และมีคูหา ๓ คูหา คือ สุวรรณคูหา มณิคูหา รชตคูหา. ที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นมีต้นไม้ ชื่อมัญชุสกะ ที่ประตูมณิคูหา สูง ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ ต้นไม้นั้นบานสะพรั่งทั่วไปในน้ำ หรือบนบก โดยพิเศษในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ข้างหน้าต้นไม้นั้นมีโรงรัตนะทุกอย่าง ในโรงรัตนะนั้น ลมสำหรับกวาดย่อมพัดหยากเยื่อ ลมสำหรับเกลี่ยพื้นย่อมพัดทรายที่แล้วด้วยแก้วทุกอย่างให้ราบเรียบ ลมสำหรับรดย่อมพัดเอาน้ำจากสระอโนดาตมารด ลมสำหรับทำกลิ่นหอมย่อมพัดเอากลิ่นหอมของต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งหมดมาจากภูเขาหิมวันต์ ลมสำหรับโปรยย่อมพัดเอาดอกไม้ทั้งหลายมาโปรยลง ลมสำหรับปูลาดย่อมปูลาดในที่ทั้งปวง ในวันที่พระปัจเจกพุทธะเกิดขึ้นและในวันอุโบสถ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงนั่งประชุมในที่เหล่าใด อาสนะทั้งหลายเป็นอันปูแล้วในที่เหล่านั้นทุกเมื่อ นี้เป็นปกติในภูเขาคันธมาทน์นั้น พระปัจเจกพุทธะผู้ตรัสรู้ชอบเอง โดยเฉพาะได้เสด็จไปในภูเขาคันธมาทน์นั้น ประทับนั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดแล้ว.
               แต่นั้น ถ้าในเวลานั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้เหล่าอื่นมีอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้เหล่านั้น ก็ประชุมในขณะนั้น ย่อมนั่งบนอาสนะที่ปูแล้ว และครั้นนั่งแล้ว ก็เข้าสมาบัติบางอย่างแล้วก็ออก ต่อจากนั้น สังฆเถระก็ถามกรรมฐานกะพระปัจเจกพุทธเจ้าที่มาใหม่ว่า บรรลุได้อย่างไร เพื่อประโยชน์แก่อนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวง.
               แม้ในกาลนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็ตรัสอุทานคาถาและพยากรณคาถาของพระองค์นั้นแล.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าอันท่านพระอานนท์ทูลถาม ก็ตรัสคาถานั้นอีกเหมือนกัน
               และพระอานนท์ก็ได้กล่าวในคราวทำสังคายนา.
               คาถาแต่ละคาถาได้กล่าวถึง ๔ ครั้ง คือ ในฐานะที่พระเจ้าพรหมทัตตรัสรู้โดยชอบเฉพาะซึ่งปัจเจกสัมโพธิญาณ ๑ ที่มัญชุสกมาลา ๑ ในกาลที่พระอานนท์ทูลถาม ๑ ในสังคีติกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้แล.
               ปฐมคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6971&Z=7101
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=1095
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=1095
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :