ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 25อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 26อ่านอรรถกถา 25 / 27อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปิยวรรคที่ ๑๖

               ๑๖. ปิยวรรควรรณนา               
               ๑. เรื่องบรรพชิต ๓ รูป [๑๖๕]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบรรพชิต ๓ รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อโยเค ยุญฺชมตฺตานํ" เป็นต้น

               ตระกูลที่มีลูกชายคนเดียวและหนีไปบวช               
               ได้ยินว่า มารดาบิดาในตระกูล ในกรุงสาวัตถี ได้มีบุตรน้อยคนเดียวเท่านั้น เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ. วันหนึ่ง บุตรน้อยนั้นฟังธรรมกถาของพวกภิกษุที่นิมนต์มาในเรือน ทำอนุโมทนาอยู่ อยากจะบวช จึงขอบวชกะมารดาบิดา. มารดาบิดาเหล่านั้นไม่อนุญาต ครั้งนั้น เขาได้มีความคิดขึ้นว่า "เมื่อมารดาบิดาไม่เห็นนั่นแล เราจัก (ออก) ไปข้างนอก แล้วบวชเสีย"
               ต่อมา บิดาของเขาเมื่อจะออกไปข้างนอก ได้มอบหมายกะมารดาว่า "เธอพึงรักษาบุตรน้อยนี้" มารดาเมื่อจะออกไปข้างนอก ก็มอบหมายกะบิดา (เช่นกัน).
               ภายหลังวันหนึ่ง เมื่อบิดาของเขาไปข้างนอก มารดาตั้งใจว่า "จักรักษาบุตร" พิงบานประตูข้างหนึ่ง (อีก) ข้างหนึ่งเอาเท้าทั้งสองยันไว้แล้ว นั่งลงที่แผ่นดินปั่นด้ายอยู่.
               เขาคิดว่า "เราจักลวงมารดานี้ แล้ว (หนี) ไป" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า "แม่จ๋า หลีกฉันหน่อยก่อนเถิด, ฉันจักถ่ายอุจจาระ" ครั้นมารดานั้นหดเท้าแล้ว ก็ออกไปสู่วิหารโดยเร็ว เข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย อ้อนวอนว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านบวชให้ผมเถิด" แล้วบรรพชาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น.

               บิดาออกบวชตามบุตร               
               ลำดับนั้น บิดาของเขา (กลับ) มาแล้ว ถามมารดาว่า "ลูกของเราไปไหน?" มารดาตอบว่า "นาย เมื่อกี้นี้อยู่ที่นี่" บิดานั้นก็ค้นดูเพื่อรู้ว่า "บุตรของเราอยู่ที่ไหนหนอแล?" ไม่เห็นเขาแล้ว คิดว่า "ลูกของเราจักไปวิหาร" จึงไปสู่วิหารแล้ว เห็นบุตรบวชแล้ว คร่ำครวญร้องไห้แล้ว กล่าวว่า "พ่อ ทำไมเจ้าจึงทำให้เราพินาศ?" ดังนี้แล้ว คิดว่า "ก็เมื่อบุตรของเราบวชแล้ว บัดนี้ เราจักทำอะไรในเรือน" ดังนี้ ตนเองก็บวชแล้วในสำนักของภิกษุทั้งหลาย.

               มารดาออกบวชตามบุตรและสามี               
               ลำดับนั้น มารดาของเขาคิดว่า "ทำไมหนอ ลูกและผัวของเราจึงชักช้าอยู่, จักไปวิหารบวชเสียแล้วกระมัง?" มองหาชนทั้งสองนั้นพลางไปวิหาร เห็นชนแม้ทั้งสองบวชแล้ว คิดว่า "ประโยชน์อะไรด้วยเรือนของเรา ในกาลแห่งชนทั้งสองนี้บวชแล้ว?" แม้ตนเองก็ไปสู่สำนักภิกษุณี บวชแล้ว.

               ชนทั้งสามแม้บวชก็ยังคลุกคลีกัน               
               ชนทั้งสามนั้นแม้บวชแล้ว ก็ไม่อาจจะแยกกันอยู่ได้, นั่งสนทนาร่วมกันเทียว ปล่อยวันให้ล่วงไปทั้งในวิหาร ทั้งในสำนักภิกษุณี. เหตุนั้นทั้งพวกภิกษุ ทั้งพวกภิกษุณี จึงเป็นอันถูกเบียดเบียนแล้ว.
               ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลการกระทำของชนทั้งสามนั้น แด่พระศาสดา.

               พระศาสดาตรัสเรียกมาเตือน               
               พระศาสดารับสั่งให้เรียกชนทั้งสามนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "ได้ยินว่า พวกเธอทำอย่างนั้นจริงหรือ?" เมื่อชนเหล่านั้นทูลว่า "จริง พระเจ้าข้า" ตรัสถามว่า "ทำไม พวกเธอจึงทำอย่างนั้น? เพราะว่า นั่นไม่ใช่ความเพียรของพวกบรรพชิต."
               ชนทั้งสามกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ไม่อาจจะอยู่แยกกัน."
               พระศาสดาตรัสว่า "ชื่อว่าการทำอย่างนี้ จำเดิมแต่กาลแห่งตนบวชแล้ว ไม่ควร เพราะว่า การไม่เห็นสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก และการเห็นสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์โดยแท้ เหตุนั้น การทำบรรดาสัตว์และสังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นที่รัก หรือไม่ให้เป็นที่รัก ย่อมไม่สมควร"
               ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๑. อโยเค ยุญฺชมตฺตานํ    โยคสฺมิญฺจ อโยชยํ
                         อตฺถํ หิตฺวา ปิยคฺคาหี    ปิเหตตฺตานุโยคินํ.
                         มา ปิเยหิ สมาคญฺฉิ    อปฺปิเยหิ กุทาจนํ
                         ปิยานํ อทสฺสนํ ทุกฺขํ    อปฺปิยานญฺจ ทสฺสนํ
                         ตสฺมา ปิยํ น กยิราถ    ปิยาปาโย หิ ปาปโก
                         คนฺถา เตสํ น วิชฺชนฺติ    เยสํ นตฺถิ ปิยาปฺปิยํ.
                                      บุคคล ประกอบตนไว้ในสิ่งอันไม่ควรประกอบและ
                         ไม่ประกอบไว้ในสิ่งอันควรประกอบ ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์
                         ถือเอาอารมณ์อันเป็นที่รัก ย่อมทะเยอทะยานต่อบุคคลผู้ตาม
                         ประกอบตน,
                                      บุคคลอย่าสมาคมกับสัตว์และสังขารทั้งหลายอันเป็น
                         ที่รัก (และ) อันไม่เป็นที่รักในกาลไหนๆ, (เพราะว่า) การไม่
                         เห็นสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก และการเห็นสัตว์และสังขารอัน
                         ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์;
                                      เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงกระทำสัตว์หรือสังขาร
                         ให้เป็นที่รัก. เพราะความพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก
                         เป็นการต่ำทราม, กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายของเหล่าบุคคล
                         ผู้ไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รัก และไม่เป็นที่รัก ย่อมไม่มี.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโยเค ความว่า ในสิ่งอันไม่ควรประกอบ คือการทำในใจโดยไม่แยบคาย. อธิบายว่า ก็การเสพอโคจร ๖ อย่าง ต่างโดยอโคจร มีอโคจร คือหญิงแพศยาเป็นต้น ชื่อว่าการทำในใจโดยไม่แยบคายในที่นี้, บุคคลประกอบตนในการทำในใจโดยไม่แยบคายนั้น.
               บทว่า โยคสฺมึ ความว่า และไม่ประกอบ (ตน) ในโยนิโสมนสิการอันผิดแผกจากอโยนิโสมนสิการนั้น.
               สองบทว่า อตฺถํ หิตฺวา ความว่า หมวด ๓ แห่งสิกขา มีอธิสีลสิกขาเป็นต้น จำเดิมแต่กาล [แห่งตน] บวชแล้ว ชื่อว่าประโยชน์. ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์นั้น.
               บทว่า ปิยคฺคาหี ความว่า ถือเอาอยู่ซึ่งอารมณ์อันเป็นที่รัก กล่าวคือกามคุณ ๕ เท่านั้น.
               บทว่า ปิเหตตฺตานุโยคินํ ความว่า บุคคลเคลื่อนแล้วจากศาสนา เพราะความปฏิบัตินั้น ถึงความเป็นคฤหัสถ์แล้ว ภายหลังย่อมทะเยอทะยานต่อบุคคลทั้งหลายผู้ตามประกอบตน ยังคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นให้ถึงพร้อมแล้ว. สักการะจากสำนักเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือย่อมปรารถนาว่า "โอหนอ แม้เราก็พึงเป็นผู้เช่นนี้."
               บทว่า มา ปิเยหิ ความว่า บุคคลไม่พึงสมาคมด้วยสัตว์หรือสังขารทั้งหลายอันเป็นที่รัก ในกาลไหนๆ คือแม้ชั่วขณะหนึ่ง, สัตว์หรือสังขารทั้งหลายอันไม่เป็นที่รัก ก็เหมือนกัน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะว่าการไม่เห็นสัตว์และสังขารทั้งหลายอันเป็นที่รัก ด้วยอำนาจความพลัดพราก และการเห็นสัตว์และสังขารทั้งหลายอันไม่เป็นที่รัก ด้วยอำนาจเข้าไปใกล้ เป็นทุกข์.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า และการเห็นและไม่เห็นทั้งสองนี้เป็นทุกข์. เหตุนั้น บุคคลไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารไรๆ ให้เป็นที่รักเลย.
               ความไปปราศ คือ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งหลายอันเป็นที่รัก ชื่อว่า ปิยาปาโย.
               บทว่า ปาปโก ได้แก่ ลามก.
                                   คนฺถา เตสํ น วิชฺชนฺตีติ: เยสํ
                         ปิยํ นตฺถิ, เตสํ อภิชฺฌา กายคนฺโถ ปหียติ; เยสํ อปฺปิยํ นตฺถิ,
                         เตสํ พฺยาปาโท กายคนฺโถ ปหียติ; เตสุ ปน ทฺวีสุ ปหีเนสุ
                         เสสคนฺถาปิ ปหีนา นาม โหนฺติ ตสฺมา ปิยํ วา อปฺปิยํ วา
                         น กาตพฺพนฺติ อตฺโถ ฯ

               บาทพระคาถาว่า คนฺถา เตสํ น วิชฺชนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดไม่มีอารมณ์เป็นที่รัก ชนเหล่านั้นย่อมละกิเลสเครื่องร้อยรัดทางกายคืออภิชฌาเสียได้. ชนเหล่าใดไม่มีอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก ชนเหล่านั้นย่อมละกายคันถะ คือพยาบาทเสียได้. ก็เมื่อละกิเลส ๒ อย่างนั้นได้แล้ว แม้กิเลสเครื่องร้อยรัดที่เหลือ ก็เป็นอันชื่อว่าละได้แล้ว (เหมือนกัน); เหตุนั้น บุคคลไม่พึงทำอารมณ์ให้เป็นที่รักหรือไม่ให้เป็นที่รัก.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
               ฝ่ายชนทั้งสามนั้นคิดว่า "พวกเราไม่อาจอยู่พรากกันได้" ดังนี้แล้ว ได้สึกไปสู่เรือนตามเดิม ดังนี้แล.

               เรื่องบรรพชิต ๓ รูป จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปิยวรรคที่ ๑๖
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 25อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 26อ่านอรรถกถา 25 / 27อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=830&Z=861
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=23&A=2756
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=23&A=2756
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :