ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 22อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 23อ่านอรรถกถา 25 / 24อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โลกวรรคที่ ๑๓

หน้าต่างที่ ๕ / ๑๑.

               ๕. เรื่องพระสัมมัชชนเถระ [๑๔๑]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสัมมัชชนเถระ
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา" เป็นต้น.

               ผู้ไม่ประมาทย่อมยังโลกให้สว่าง               
               ได้ยินว่า พระเถระนั้นไม่ทำเวลาให้เป็นประมาณว่า "เช้าหรือเย็น" ย่อมเที่ยวกวาดอยู่เนืองๆ. วันหนึ่ง พระเถระนั้นถือไม้กวาดไปสู่สำนักของพระเรวตเถระ ผู้นั่งในที่พักกลางวันแล้ว กล่าวว่า
               "พระเถระนี้เป็นผู้เกียจคร้านมาก บริโภคของที่ชนถวายด้วยศรัทธา แล้วมานั่งอยู่ การที่พระเถระนั่นถือเอาไม้กวาดแล้วกวาดที่แห่งหนึ่ง จะไม่ควรหรือ?"
               พระเถระคิดว่า "เราจักให้โอวาทแก่เธอ" ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า "มานี่แน่ะ คุณ."
               พระสัมมัชชนเถระ. อะไร? ขอรับ.
               พระเรวตเถระ. ท่านจงไปอาบน้ำแล้วจงมา.
               พระสัมมัชชนเถระนั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว.
               ลำดับนั้น พระเถระให้เธอนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่งแล้ว เมื่อจะกล่าวสอน จึงกล่าวว่า "คุณ ธรรมดาภิกษุเที่ยวกวาดอยู่ตลอดทุกเวลา ไม่ควร, ก็การที่ภิกษุกวาดแต่เช้าตรู่แล้ว เที่ยวบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตแล้ว มานั่งในที่พักกลางคืน หรือในที่พักกลางวัน สาธยายอาการ ๓๒ เริ่มตั้งความสิ้นความเสื่อมในอัตภาพแล้ว ลุกขึ้นกวาดในเวลาเย็น จึงควร, อันภิกษุไม่กวาดตลอดกาลเป็นนิตย์ แล้วพึงทำโอกาส ชื่อแม้แก่ตน."
               พระสัมมัชชนเถระนั้นตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระแล้ว ไม่นานเท่าไรก็บรรลุพระอรหัต. ที่นั้นๆ ได้รกรุงรังแล้ว.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะพระสัมมัชชนเถระนั้นว่า "สัมมัชชนเถระผู้มีอายุที่นั้นๆ รกรุงรัง เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่กวาด?"
               พระสัมมัชชนเถระ. ท่านผู้เจริญ กระผมทำแล้วอย่างนั้นในเวลาประมาท บัดนี้ กระผมเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "พระเถระนี้พยากรณ์อรหัตผล."
               พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราเที่ยวกวาดอยู่ในเวลาประมาทในก่อน แต่บัดนี้ บุตรของเรายับยั้งอยู่ด้วยความสุขซึ่งเกิดแต่มรรคผล จึงไม่กวาด."
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๕. โย จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา    ปจฺฉา โส นปฺปมชฺชติ
                         โส อิมํ โลกํ ปภาเสติ    อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา.
                         ก็ผู้ใดประมาทในก่อน ภายหลังไม่ประมาท,
                         ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างได้ เหมือนดวงจันทร์
                         พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า :-
               บุคคลใด ประมาทแล้วในก่อน ด้วยการทำวัตรและวัตรตอบ หรือด้วยการสาธยายเป็นต้น ภายหลังยับยั้งอยู่ด้วยสุขซึ่งเกิดแต่มรรคผล ชื่อว่าย่อมไม่ประมาท,
               บุคคลนั้น ย่อมยังโลกมีขันธ์เป็นต้นนี้ให้สว่าง คือย่อมทำให้แสงสว่างเป็นอันเดียวกันได้ด้วยมรรคญาณ เหมือนดวงจันทร์พ้นแล้วจากหมอกเป็นต้น ยังโอกาสโลกให้สว่างอยู่ ฉะนั้น."
               ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องพระสัมมัชชนเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โลกวรรคที่ ๑๓
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 22อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 23อ่านอรรถกถา 25 / 24อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=721&Z=747
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=23&A=542
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=23&A=542
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :