ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 19อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 25 / 21อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐

หน้าต่างที่ ๙ / ๑๑.

               ๙. เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ [๑๑๕]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสันตติมหาอำมาตย์
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อลงฺกโต เจปิ สมญฺจเรยฺย" เป็นต้น.

               สันตติมหาอำมาตย์ได้ครองราชสมบัติ ๗ วัน               
               ความพิสดารว่า ในกาลครั้งหนึ่ง สันตติมหาอำมาตย์นั้นปราบปรามปัจจันตชนบท ของพระเจ้าปเสนทิโกศล อันกำเริบให้สงบแล้วกลับมา. ต่อมา พระราชาทรงพอพระหฤทัย ประทานราชสมบัติให้ ๗ วัน ได้ประทานหญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนและการขับนางหนึ่งแก่เขา. เขาเป็นผู้มึนเมาสุราสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างแล้ว ขึ้นสู่คอช้างตัวประเสริฐไปสู่ท่าอาบน้ำ เห็นพระศาสดากำลังเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่ระหว่างประตู อยู่บนคอช้างตัวประเสริฐนั่นเอง ผงกศีรษะ ถวายบังคมแล้ว.
               พระศาสดาทรงทำการแย้ม พระอานนท์ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล? เป็นเหตุให้ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ"
               เมื่อจะตรัสบอกเหตุแห่งการแย้ม จึงตรัสว่า "อานนท์ เธอจงดูสันตติมหาอำมาตย์ ในวันนี้เอง เขาทั้งประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างเทียว มาสู่สำนักของเรา จักบรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาอันประกอบด้วยบท ๔ แล้ว นั่งบนอากาศ ชั่ว ๗ ลำตาล จักปรินิพพาน."
               มหาชนได้ฟังพระดำรัสของพระศาสดา ผู้กำลังตรัสกับพระเถระอยู่.

               คน ๒ พวกมีความคิดต่างกัน               
               บรรดามหาชนเหล่านั้น พวกมิจฉาทิฏฐิคิดว่า "ท่านทั้งหลายจงดูกิริยาของพระสมณโคดม, พระสมณโคดมนั้นย่อมพูดสักแต่ปากเท่านั้น ได้ยินว่า ในวันนี้ สันตติมหาอำมาตย์นั่นมึนเมาสุราอย่างนั้น แต่งตัวอยู่ตามปกติ ฟังธรรมในสำนักของพระสมณโคดมนั้นแล้ว จักปรินิพพานในวันนี้ พวกเราจักจับผิดพระสมณโคดมนั้นด้วยมุสาวาท."
               พวกสัมมาทิฏฐิคิดกันว่า "น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมาก ในวันนี้เราทั้งหลายจักได้ดูการเยื้องกรายของพระพุทธเจ้า และการเยื้องกรายของสันตติมหาอำมาตย์."
               ส่วนสันตติมหาอำมาตย์เล่นน้ำตลอดวันที่ท่าอาบน้ำแล้ว ไปสู่อุทยาน นั่งที่พื้นโรงดื่ม.

               หญิงฟ้อนเป็นลมตาย               
               ฝ่ายหญิงนั้นลงไปในท่ามกลางที่เต้นรำ เริ่มจะแสดงการฟ้อนและการขับ เมื่อนางแสดงการฟ้อนการขับอยู่ในวันนั้น ลมมีพิษเพียงดังศัสตราเกิดขึ้นแล้วในภายในท้อง ได้ตัดเนื้อหทัยแล้ว เพราะความที่นางเป็นผู้มีอาหารน้อยถึง ๗ วัน เพื่อแสดงความอ้อนแอ้นแห่งสรีระ. ในทันทีทันใดนั้นเอง นางมีปากอ้าและตาเหลือก ได้กระทำกาละแล้ว.

               โศกเพราะภรรยาตาย               
               สันตติมหาอำมาตย์กล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย จงตรวจดูนางนั้น" ในขณะสักว่าคำอันชนทั้งหลายกล่าวว่า "หญิงนั้นดับแล้ว นาย" ดังนี้ ถูกความโศกอย่างแรงกล้าครอบงำแล้ว. ในขณะนั้นเอง สุราที่เธอดื่มตลอด ๗ วัน ได้ถึงความเสื่อมหายแล้ว ประหนึ่งหยาดน้ำในกระเบื้องที่ร้อนฉะนั้น.
               เธอคิดว่า "คนอื่น เว้นพระตถาคตเสีย จักไม่อาจเพื่อจะยังความโศกของเรานี้ให้ดับได้" มีพลกายแวดล้อมแล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดาในเวลาเย็น ถวายบังคมแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความโศกเห็นปานนี้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์, ข้าพระองค์มาแล้ว ก็ด้วยหมายว่า ‘พระองค์จักอาจเพื่อจะดับความโศกของข้าพระองค์นั้นได้’ ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด."

               พระศาสดาระงับความโศกของบุคคลได้               
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "ท่านมาสู่สำนักของผู้สามารถเพื่อดับความโศกได้แน่นอน อันที่จริง น้ำตาที่ไหลออกของท่านผู้ร้องไห้ในเวลาที่หญิงนี้ตาย ด้วยเหตุนี้นั่นแล มากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้ง ๔" ดังนี้แล้ว
               จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   "กิเลสเครื่องกังวลใด มีอยู่ในกาลก่อน เธอจงยังกิเลส
                         เครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวล จงอย่ามีแก่
                         เธอในภายหลัง, ถ้าเธอจักไม่ยึดถือขันธ์ ในท่ามกลาง จักเป็น
                         ผู้สงบระงับ เที่ยวไป."

               ในกาลจบพระคาถา สันตติมหาอำมาตย์บรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาดูอายุสังขารของตน ทราบความเป็นไปไม่ได้แห่งอายุสังขารนั้นแล้ว จึงกราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตการปรินิพพานแก่ข้าพระองค์เถิด."
               พระศาสดา แม้ทรงทราบกรรมที่เธอทำแล้ว ก็ทรงกำหนดว่า "พวกมิจฉาทิฏฐิประชุมกัน เพื่อข่มขี่ (เรา) ด้วยมุสาวาท จักไม่ได้โอกาส, พวกสัมมาทิฏฐิประชุมกัน ด้วยหมายว่า ‘พวกเราจักดูการเยื้องกรายของพระพุทธเจ้า และการเยื้องกรายของสันตติมหาอำมาตย์’ ฟังกรรมที่สันตติมหาอำมาตย์นี้ทำแล้ว จักทำความเอื้อเฟื้อในบุญทั้งหลาย" ดังนี้แล้ว
               จึงตรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงบอกกรรมที่เธอทำแล้วแก่เรา, ก็เมื่อจะบอก จงอย่ายืนบนภาคพื้นบอก จงยืนบนอากาศชั่ว ๗ ลำตาลแล้ว จึงบอก."

               แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในอากาศ               
               สันตติมหาอำมาตย์นั้นทูลรับว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว จึงถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ขึ้นไปสู่อากาศชั่วลำตาลหนึ่ง ลงมาถวายบังคมพระศาสดาอีก ขึ้นไปนั่งโดยบัลลังก์บนอากาศ ๗ ชั่วลำตาลตามลำดับแล้ว ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงสดับบุรพกรรมของข้าพระองค์"
               (ดังต่อไปนี้) :-

               บุรพกรรมของสันตติมหาอำมาตย์               
               ในกัลป์ที่ ๙๑ แต่กัลป์นี้ ครั้งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ข้าพระองค์บังเกิดในตระกูลๆ หนึ่ง ในพันธุมดีนคร คิดแล้วว่า ‘อะไรหนอแล? เป็นกรรมที่ไม่ทำการตัดรอนหรือบีบคั้น ซึ่งชนเหล่าอื่น’ ดังนี้แล้ว
               เมื่อใคร่ครวญอยู่ จึงเห็นกรรม คือการป่าวร้องในบุญทั้งหลาย
               จำเดิมแต่กาลนั้น ทำกรรมนั้นอยู่ ชักชวนมหาชนเที่ยวป่าวร้องอยู่ว่า ‘พวกท่านจงทำบุญทั้งหลาย จงสมาทานอุโบสถ ในวันอุโบสถทั้งหลาย จงถวายทาน จงฟังธรรม ชื่อว่า รัตนะอย่างอื่นเช่นกับพุทธรัตนะเป็นต้นไม่มี พวกท่านจงทำสักการะรัตนะทั้ง ๓ เถิด."

               ผลของการชักชวนมหาชนบำเพ็ญการกุศล               
               พระราชาผู้ใหญ่ทรงพระนามว่าพันธุมะ เป็นพระพุทธบิดา ทรงสดับเสียงของข้าพระองค์นั้น รับสั่งให้เรียกข้าพระองค์มาเฝ้าแล้ว ตรัสถามว่า ‘พ่อ เจ้าเที่ยวทำอะไร?’
               เมื่อข้าพระองค์ทูลว่า ‘ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์เที่ยวประกาศคุณรัตนะทั้ง ๓ ชักชวนมหาชนในการบุญทั้งหลาย.’ จึงตรัสถามว่า ‘เจ้านั่งบนอะไรเที่ยวไป?’
               เมื่อข้าพระองค์ทูลว่า ‘ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์เดินไป’ จึงตรัสว่า ‘พ่อ เจ้าไม่ควรเพื่อเที่ยวไปอย่างนั้น จงประดับพวงดอกไม้นี้แล้ว นั่งบนหลังม้าเที่ยวไปเถิด’ ดังนี้แล้ว ก็พระราชทานพวงดอกไม้ เช่นกับพวงแก้วมุกดา ทั้งได้พระราชทานม้าที่ฝึกแล้วแก่ข้าพระองค์.
               ต่อมา พระราชารับสั่งให้ข้าพระองค์ ผู้กำลังเที่ยวประกาศอยู่อย่างนั้นนั่นแล ด้วยเครื่องบริหารที่พระราชาพระราชทาน มาเฝ้า แล้วตรัสถามอีกว่า ‘พ่อ เจ้าเที่ยวทำอะไร?' เมื่อข้าพระองค์ทูลว่า ‘ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทำกรรมอย่างนั้นนั่นแล’ จึงตรัสว่า ‘พ่อ แม้ม้าก็ไม่สมควรแก่เจ้า เจ้าจงนั่งบนรถนี้เที่ยวไปเถิด’ แล้วได้พระราชทานรถที่เทียมด้วยม้าสินธพ ๔.
               แม้ในครั้งที่ ๓ พระราชาทรงสดับเสียงของข้าพระองค์แล้ว รับสั่งให้หา ตรัสถามว่า ‘พ่อ เจ้าเที่ยวทำอะไร’ เมื่อข้าพระองค์ทูลว่า ‘ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทำกรรมนั้นแล’ จึงตรัสว่า ‘แน่ะพ่อ แม้รถก็ไม่สมควรแก่เจ้า’ แล้วพระราชทานโภคะเป็นอันมาก และเครื่องประดับใหญ่ ทั้งได้พระราชทานช้างเชือกหนึ่งแก่ข้าพระองค์.
               ข้าพระองค์นั้นประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง นั่งบนคอช้าง ได้ทำกรรมของผู้ป่าวร้องธรรมสิ้นแปดหมื่นปี กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกายของข้าพระองค์นั้น กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปาก ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้
               นี้เป็นกรรมที่ข้าพระองค์ทำแล้ว."

               การปรินิพพานของสันตติมหาอำมาตย์               
               สันตติมหาอำมาตย์นั้น ครั้นทูลบุรพกรรมของตนอย่างนั้นแล้ว นั่งบนอากาศเทียว เข้าเตโชธาตุ ปรินิพพานแล้ว. เปลวไฟเกิดขึ้นในสรีระไหม้เนื้อและโลหิตแล้ว. ธาตุทั้งหลายดุจดอกมะลิเหลืออยู่แล้ว.
               พระศาสดาทรงคลี่ผ้าขาว ธาตุทั้งหลายก็ตกลงบนผ้าขาวนั้น.
               พระศาสดาทรงบรรจุธาตุเหล่านั้นแล้ว รับสั่งให้สร้างสถูปไว้ที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง ด้วยทรงประสงค์ว่า "มหาชนไหว้แล้ว จักเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ."

               สันตติมหาอำมาตย์ควรเรียกว่าสมณะหรือพราหมณ์               
               พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุ สันตติมหาอำมาตย์บรรลุพระอรหัตในเวลาจบพระคาถาๆ เดียว ยังประดับประดาอยู่นั่นแหละ นั่งบนอากาศปรินิพพานแล้ว, การเรียกเธอว่า ‘สมณะ’ ควรหรือหนอแล? หรือเรียกเธอว่า ‘พราหมณ์’ จึงจะควร."
               พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ? เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลว่า "พวกข้าพระองค์นั่งประชุมกันด้วยกถาชื่อนี้"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย การเรียกบุตรของเรา แม้ว่า ‘สมณะ’ ก็ควร, เรียกว่า ‘พราหมณ์’ ก็ควรเหมือนกัน" ดังนี้
               เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
                               ๙. อลงฺกโต เจปิ สมํ จเรยฺย๑-         
                               สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี
                               สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ
                               โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ.
                         แม้ถ้าบุคคลประดับแล้ว พึงประพฤติสม่ำเสมอ
                         เป็นผู้สงบ ฝึกแล้ว เที่ยงธรรม มีปกติประพฤติ
                         ประเสริฐ วางเสียซึ่งอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก,
                         บุคคลนั้น เป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ.
____________________________
๑- อรรถกถาเป็น สมญฺจเรยฺย

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลงฺกโต ได้แก่ ประดับด้วยผ้าและอาภรณ์.
               บัณฑิตพึงทราบความแห่งพระคาถานั้นว่า
               "แม้หากว่าบุคคลประดับด้วยเครื่องอลังการมีผ้าเป็นต้น พึงประพฤติสม่ำเสมอด้วยกายเป็นต้น
                         ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะความสงบระงับแห่งราคะเป็นต้น,
                         ชื่อว่าเป็นผู้ฝึก เพราะฝึกอินทรีย์,
                         ชื่อว่าเป็นผู้เที่ยง เพราะเที่ยงในมรรคทั้ง ๔,
                         ชื่อว่าพรหมจารี เพราะประพฤติประเสริฐ,
                         ชื่อว่าวางอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก เพราะความเป็นผู้วางเสียซึ่งอาชญาทางกายเป็นต้นแล้ว,
               ผู้นั้น คือผู้เห็นปานนั้น อันบุคคลควรเรียกว่า ‘พราหมณ์’ เพราะความเป็นผู้มีบาปอันลอยแล้ว ก็ได้,
                         ว่า ‘สมณะ’ เพราะความเป็นผู้มีบาปอันสงบแล้ว ก็ได้,
                         ว่า ‘ภิกษุ’ เพราะความเป็นผู้มีกิเลสอันทำลายแล้ว ก็ได้โดยแท้."
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 19อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 25 / 21อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=618&Z=661
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=22&A=882
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=22&A=882
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :