ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 19อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 25 / 21อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐

หน้าต่างที่ ๖ / ๑๑.

               ๖. เรื่องอชครเปรต [๑๑๒]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภอชครเปรต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อถ ปาปานิ กมฺมานิ" เป็นต้น.

               พระมหาโมคคัลลานะเห็นเปรตถูกไฟไหม้               
               ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระลักขณเถระลงจากเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นสัตว์ชื่ออชครเปรต ประมาณ ๒๕ โยชน์ ด้วยจักษุทิพย์. เปลวไฟตั้งขึ้นแต่ศีรษะของเปรตนั้น ลามถึงหาง, ตั้งขึ้นแต่หาง ลามถึงศีรษะ. ตั้งขึ้นแต่ข้างทั้งสองไปรวมอยู่ที่กลางตัว.

               เล่าการเห็นเปรตให้พระลักขณเถระฟัง               
               พระเถระครั้นเห็นเปรตนั้นแล้วจึงยิ้ม อันพระลักขณเถระถามเหตุแห่งการยิ้มแล้ว ก็ตอบว่า "ผู้มีอายุ กาลนี้ ไม่ใช่กาลพยากรณ์ปัญหานี้ ท่านค่อยถามผมในสำนักพระศาสดาเถิด" เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์. ในกาลไปยังสำนักพระศาสดา พระลักขณเถระถามแล้ว จึงตอบว่า "ผู้มีอายุ ผมได้เห็นเปรตตนหนึ่งในที่นั้น. อัตภาพของมัน ชื่อว่ามีรูปอย่างนี้ ผมครั้นเห็นมันแล้ว ได้ทำการยิ้มให้ปรากฏ ก็ด้วยความคิดว่า อัตภาพเห็นปานนี้ เราไม่เคยเห็นเลย."

               พระศาสดาก็เคยทรงเห็นเปรตนั้น               
               พระศาสดา เมื่อจะตรัสคำเป็นต้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย สาวกของเรา เป็นผู้มีจักษุอยู่หนอ" ทรงรับรองถ้อยคำของพระเถระแล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เปรตนั่น แม้เราก็ได้เห็นแล้วที่โพธิมัณฑสถานเหมือนกัน แต่เราไม่พูด เพราะคิดเห็นว่า ‘ก็แลชนเหล่าใดไม่พึงเชื่อคำของเรา ความไม่เชื่อนั้นของคนเหล่านั้น พึงเป็นไปเพื่อหาประโยชน์เกื้อกูลมิได้’ บัดนี้ เราได้โมคคัลลานะเป็นพยานแล้วจึงพูดได้."
               อันภิกษุทั้งหลายทูลถามบุรพกรรมของเปรตนั้นแล้ว
               จึงทรงพยากรณ์ (ดังต่อไปนี้) ว่า

               บุรพกรรมของอชครเปรต               
               "ดังได้ยินมา ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ
               เศรษฐีชื่อว่าสุมงคล ปูพื้นที่ด้วยแผ่นอิฐทองคำ ให้สร้างวิหารในที่ประมาณ ๒๐ อุสภะ ด้วยทรัพย์ประมาณเท่านั้นแล้ว ก็ให้ทำการฉลองด้วยทรัพย์ประมาณเท่านั้นเหมือนกัน.
               วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีไปสู่สำนักพระศาสดาแต่เช้าตรู่ เห็นโจรคนหนึ่งนอนเอาผ้ากาสาวะคลุมร่างตลอดถึงศีรษะ ทั้งมีเท้าเปื้อนโคลน อยู่ในศาลาหลังหนึ่ง ใกล้ประตูพระนคร จึงกล่าวว่า "เจ้าคนนี้ มีเท้าเปื้อนโคลน คงจักเป็นมนุษย์ที่เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนแล้ว (มา) นอน."

               กรรมชั่วให้ผลชั่ว               
               โจรเปิดหน้าเห็นเศรษฐีแล้ว คิดในใจว่า "เอาเถอะน่ะ เราจักรู้กรรมที่ควรทำแก่มัน" ดังนี้แล้ว ก็ผูกอาฆาตไว้ ได้เผานา (ของเศรษฐี) ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคทั้งหลายในคอก ๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง เขาไม่อาจให้ความแค้นเคืองดับได้ แม้ด้วยทารุณกรรมมีประมาณเท่านั้น จึงทำการสนิทชิดเชื้อกับคนใช้ของเศรษฐีนั้นแล้ว ถามว่า "อะไรเป็นที่รักของเศรษฐี (นาย) ของท่าน?" ได้ฟังว่า "วัตถุเป็นที่รักยิ่งของเศรษฐีอื่นจากพระคันธกุฎี ย่อมไม่มี" คิดว่า "เอาละ เราจักเผาพระคันธกุฎี ยังความแค้นเคืองให้ดับ" เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาต จึงทุบหม้อน้ำสำหรับดื่มและสำหรับใช้ ได้จุดไฟที่พระคันธกุฎีแล้ว.
               เศรษฐีได้ทราบว่า "ข่าวว่า พระคันธกุฎีถูกไฟไหม้" เดินมาอยู่ ในเวลาพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้แล้ว จึงมาถึง แลดูพระคันธกุฎีที่ไฟไหม้ ก็มิได้ทำความเสียใจแม้สักเท่าปลายขนทราย คู้แขนข้างซ้ายเข้ามาปรบด้วยมือข้างขวาอย่างขนานใหญ่.
               ขณะนั้น ประชาชนยืนอยู่ ณ ที่ใกล้ ถามท่านเศรษฐีว่า "นายขอรับ เพราะเหตุไร ท่านจึงปรบมือ ในเวลาที่พระคันธกุฎีซึ่งท่านสละทรัพย์ประมาณเท่านี้สร้างไว้ถูกไฟไหม้เล่า?"
               เศรษฐีตอบว่า "พ่อแม่ทั้งหลาย ข้าพเจ้าทำกรรมประมาณเท่านี้ (ชื่อว่า) ได้ฝังทรัพย์ไว้ในพระศาสนาที่ไม่สาธารณะแก่อันตรายมีไฟเป็นต้น ข้าพเจ้าจึงมีใจยินดี ปรบมือด้วยคิดว่า ‘เราจักได้สละทรัพย์ประมาณเท่านี้ สร้างพระคันธกุฎี (ถวาย) พระศาสดาแม้อีก."
               ท่านเศรษฐีสละทรัพย์ประมาณเท่านั้น สร้างพระคันธกุฎีอีก ได้ถวายแด่พระศาสดา ซึ่งมีภิกษุ ๒ หมื่นรูปเป็นบริวาร.
               โจรเห็นกิริยานั้นแล้ว คิดว่า "เราไม่ฆ่าเศรษฐีนี้เสีย จักไม่อาจทำให้เก้อเขินได้ เอาเถอะ เราจักฆ่ามันเสีย" ดังนี้แล้ว จึงซ่อนกริชไว้ในระหว่างผ้านุ่ง แม้เดินเตร่อยู่ในวิหารสิ้น ๗ วัน ก็ไม่ได้โอกาส.
               ฝ่ายมหาเศรษฐีถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข สิ้น ๗ วัน ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้หนึ่งเผานาของข้าพระองค์ ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอก ๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง บัดนี้ แม้พระคันธกุฎี ก็จักเป็นเจ้าคนนั้นแหละเผา ข้าพระองค์ขอให้ส่วนบุญในทานนี้แก่เขาก่อน."

               ผู้ทำกรรมดีย่อมชนะผู้ทำกรรมชั่ว               
               โจรได้ยินคำนั้น ระทมทุกข์ว่า "เราทำกรรมอันหนักหนอ เมื่อเป็นอย่างนั้น บุรุษนี้ก็มิได้มีแม้สักว่าความแค้นเคืองในเราผู้ทำผิด, (ยังกลับ) ให้ส่วนบุญในทานนี้แก่เราก่อนเสียด้วย เราคิดประทุษร้ายในบุรุษนี้ (ไม่สมควรเลย) แม้เทวทัณฑ์พึงตกลงบนกระหม่อมของเราผู้ไม่ให้บุรุษผู้เห็นปานนี้อดโทษให้" ดังนี้แล้ว จึงไปหมอบลงที่ใกล้เท้าของเศรษฐี กล่าวว่า "นายขอรับ ขอท่านจงกรุณาอดโทษแก่ผมเถิด เมื่อเศรษฐีกล่าวว่า "อะไรกันนี่?" จึงเรียนว่า "นายขอรับ ผมได้ทำกรรมประมาณเท่านี้ๆ ขอท่านจงอดโทษนั้นแก่ผมเถิด"
               ทีนั้น เศรษฐีถามกรรมทุกๆ อย่างกะเขาว่า "เจ้าทำกรรมนี้ด้วยนี้ด้วย ประมาณเท่านี้แก่เราหรือ?" เมื่อเขารับสารภาพว่า ‘ขอรับ ผมทำ" จึงถาม (ต่อไป) ว่า "เราไม่เคยเห็นเจ้าเลย, เหตุไร เจ้าจึงโกรธได้ทำอย่างนั้นแก่เรา?"
               เขาเตือนให้เศรษฐีระลึกถึงคำที่ตนผู้ออกจากพระนครในวันหนึ่งพูดแล้ว ได้บอกว่า "ผมเกิดความแค้นเคืองขึ้นเพราะเหตุนี้."
               เศรษฐีระลึกถึงภาวะแห่งถ้อยคำที่ตนพูดได้แล้ว ให้โจรอดโทษให้ด้วยถ้อยคำว่า "เออพ่อ เราพูดจริง เจ้าจงอดโทษข้อนั้นแก่เราเถิด." แล้วกล่าวว่า ‘ลุกขึ้นเถิด เราอดโทษให้แก่เจ้าละ เจ้าจงไปเถิด."
               โจร. นายขอรับ ถ้าท่านอดโทษแก่ผมไซร้ ขอจงทำผมพร้อมทั้งบุตรและภริยา ให้เป็นทาส (ผู้รับใช้) ในเรือนของท่านเถิด.
               เศรษฐี. แน่ะพ่อ เมื่อเรากล่าวคำมีประมาณเท่านี้ เจ้าก็ได้ทำการตัดเห็นปานนี้ เราไม่อาจจะกล่าวอะไรๆ กับเจ้าผู้อยู่ในเรือนได้เลย. เราไม่มีกิจเกี่ยวด้วยเจ้าผู้จะอยู่ในเรือน เราอดโทษให้แก่เจ้า ไปเถิด พ่อ.
               โจรครั้นทำกรรมนั้นแล้ว ในกาลสิ้นอายุ บังเกิดแล้วในอเวจี ไหม้ในอเวจีสิ้นกาลนาน ในกาลบัดนี้ เกิดเป็นอชครเปรต ถูกไฟไหม้อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ด้วยวิบาก [แห่งกรรม] ที่ยังเหลือ.
               พระศาสดา ครั้นตรัสบุรพกรรมของเปรตนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาคนพาลทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้ แต่ภายหลัง เร่าร้อนอยู่เพราะกรรมอันตนทำแล้ว ย่อมเป็นเช่นกับไฟไหม้ป่า ด้วยตนของตนเอง" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ๖. อถ ปาปานิ กมฺมานิ    กรํ พาโล น พุชฺฌติ
                         เสหิ กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ    อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ.
                         อันคนพาล ทำกรรมทั้งหลายอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้ (สึก)
                         บุคคลมีปัญญาทราม ย่อมเดือดร้อน ดุจถูกไฟไหม้
                         เพราะกรรมของตนเอง.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อถ ปาปานิ ความว่า คนพาลหาใช่ทำบาปทั้งหลายด้วยสามารถแห่งความโกรธอย่างเดียวไม่ แม้ทำอยู่ก็ไม่รู้สึก แต่เมื่อทำบาปอยู่ จะชื่อว่าไม่รู้ว่า "เราทำบาป" ย่อมไม่มี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ย่อมไม่รู้" เพราะความไม่รู้ว่า "ผลของกรรมนี้ มีชื่อเห็นปานนี้."
               บทว่า เสหิ ความว่า เพราะกรรมอันเป็นของตนเหล่านั้น.
               บทว่า ทุมฺเมโธ ความว่า บุคคลผู้มีปัญญาทราม เกิดในนรก ย่อมเดือดร้อน เหมือนถูกไฟไหม้.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องอชครเปรต จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 19อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 25 / 21อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=618&Z=661
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=22&A=882
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=22&A=882
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :